ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240


    ตอนที่ ๒๔๐

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ การที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ประโยชน์เพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญาของตัวเอง อย่างไรๆ ก็ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ที่เราเคยใช้หรือว่าเคยได้ยินบ่อยๆ อริยสัจธรรม ต้องเป็นปัญญา จึงจะสามารถรู้แจ้งได้

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟัง ขอเริ่มตั้งแต่คำว่า “ธรรม” เป็นสิ่งที่มีจริง มีจริงเมื่อไร จริงเมื่อเกิดขึ้นปรากฏ ถ้าไม่เกิดขึ้นไม่มีอะไรปรากฏเลย สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สิ่งนั้นต้องเกิดขึ้นจึงได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น เสียงมีจริงเมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อเราพูด

    ท่านอาจารย์ เมื่อเสียงเกิดขึ้น แล้วปรากฏแล้วหมดไป นี่คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งใดที่เกิด เกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดแล้วจะพ้นจากลักษณะที่ไม่เที่ยงไม่ได้เลย ไตรลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้น เสียงมีเมื่อไร มีเมื่อเสียงเกิดขึ้น และเสียงก็ดับไป ทุกอย่างมี เมื่อเกิดขึ้น แล้วที่จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ที่เคยเป็นเราตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นสภาพธรรมที่เกิด แต่ว่าจากการตรัสรู้ ทรงแสดงว่า ธรรมที่เกิดแล้วต้องดับอย่างเร็วมาก จนกระทั่งไม่ปรากฏการดับเลย ตั้งแต่เราเกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ จิตของเราเปลี่ยนแปลงไปมากมายนับไม่ถ้วนหรือเปล่า เวลาที่โกรธ ไม่ใช่เวลาที่กำลังติดข้อง เวลาที่เมตตา ก็ไม่ใช่เวลาที่กรุณา สภาพธรรมทุกอย่างเกิดเมื่อมีปัจจัยแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับสืบต่อกัน ซึ่งนามธรรมหรือนามธาตุมี ๒ อย่าง เมื่อกี้นี้รูป รูปธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สภาพรู้ ส่วนนามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม ทุกคนจะพูดเรื่องจิตเพียงคร่าวๆ แต่จะไม่มีคำว่า “เจตสิก” เลย เจตสิกเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นนามธรรมเกิดกับจิต ทุกครั้งที่จิตเกิดมีเจตสิกปรุงแต่งให้เกิดด้วย

    ขณะใดที่จิตเกิด ต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดด้วย จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ จิตไม่ทำอะไรเลย แต่เป็นใหญ่ในการรู้ เช่นขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ คนตายมีรูปครบตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่ไม่เห็น เพราะไม่มีจิต เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เช่นในขณะนี้เสียงปรากฏ ถ้าไม่มีจิต เสียงปรากฏไม่ได้เลย เสียงเกิดแล้วก็ดับไป เพราะว่าเสียงจะเกิด เมื่อมีสิ่งที่แข็งกระทบกัน ก็ทำให้เสียงเกิดขึ้น แล้วเสียงก็ดับไป แต่เสียงที่ปรากฏขณะนี้ เพราะมีสภาพได้ยิน หรือสภาพที่รู้ลักษณะของเสียง เสียงขณะนี้ มีตั้งหลายเสียง สภาพที่รู้เสียงแต่ละเสียง คือ จิต แต่ว่าจิตหนึ่งก็รู้เสียงหนึ่ง ก็อีกจิตหนึ่งก็รู้เสียงหนึ่ง เพราะว่าจิตจะเกิดพร้อมกัน ๒ ขณะไม่ได้เลย

    สภาพของจิตเป็นธาตุที่น่าอัศจรรย์ เพราะว่าจิตเหมือนอย่างไฟ เรารู้ได้ว่าไฟร้อน สามารถที่จะเผา ให้ความอบอุ่น ทำลายก็ได้ สร้างให้เจริญก็ได้ นั่นเป็นลักษณะของธาตุไฟ แต่สำหรับจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ และตัวจิตเองเป็นสภาพธรรมที่น่าอัศจรรย์ คือ เป็นปัจจัยที่ทำให้เมื่อจิตเกิด และดับไป จิตขณะอื่นต้องเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย

    จิตจะเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ แล้วจิตนั้นต้องดับไปเสียก่อน จึงจะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นได้ คนไทยทุกคนต้องเคยไปงานศพ ที่งานศพมีอะไร ที่วัด มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วพอทำบุญหมายความว่าอะไร เลี้ยงพระก็เลี้ยง ทำบุญด้วยทาน อาหาร แล้วก็มีการสวดพระอภิธรรม อันนี้ขาดไม่ได้เลยสักงานศพงานใด ถึงแม้ในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ธรรมเนียมไทยก็ยังมีการสวดพระอภิธรรมอยู่ อภิธรรมคืออะไร เราได้ยินคำนี้ แต่เราไม่เข้าใจ แต่จากการศึกษาพระธรรมจะทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่เป็นความจริงในชีวิตของเรา ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นปรมัตถธรรม มาจากคำว่า ปะ-ระ-มะ ที่ภาษาไทยใช้คำว่า บรม อัตถ หมายความถึง ความหมาย ซึ่งหมายความว่า ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเอง เพราะถ้าสภาพนั้นไม่มีลักษณะ เราจะใช้คำที่แสดงความหมาย ที่แสดงลักษณะของสิ่งนั้นก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมก็คือ ธรรมที่มีลักษณะที่เป็นใหญ่ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วพระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดมาก เป็น อภิธรรม อภิ แปลว่า ละเอียด ยิ่ง แม้แต่จิต ก็แสดงโดยหลายชื่อ ตามความหมายของจิตนั้นๆ เป็นความละเอียดที่จะให้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีอยู่กับเรา และทุกคนว่าเป็นธรรม แล้วก็เป็นปรมัตถธรรม แล้วก็เป็นอภิธรรม

    ตอนนี้รู้จักธรรมแล้วใช่ไหม เป็นสิ่งที่มีจริง ใช่ไหม เป็นปรมัตถธรรม หรือเปล่า สิ่งที่มีจริง

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ บังคับใจบังคับได้ไหม จะตื่น จะหลับ จะเห็นอะไร จะไม่ให้รัก ไม่ให้ชัง บังคับได้ไหม เมื่อมีเหตุปัจจัย บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้น เรารู้จักธรรม แล้วรู้จักปรมัตถธรรม แล้วก็กำลังฟังอภิธรรม คือ ความละเอียดของธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมตามที่ได้ทรงแสดงไว้ เช่น ลักษณะของจิตต่างกับเจตสิก แม้ว่าเจตสิก ความหมายคือเป็นสภาพนามธรรมที่เกิดกับจิต จะไม่เกิดที่อื่นเลย ต้องเกิดกับจิต โดยพยัญชนะ บางแห่งหมายความถึงเกิดในจิต คือเกิดร่วมกับจิต แล้วก็ดับพร้อมจิต เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย ใช่ไหม จะมีแต่สภาพรู้ แล้วไม่มีสิ่งที่ถูกจิตรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้เกิดขึ้นต้องมีสิ่งซึ่งถูกจิตรู้ทุกครั้ง ภาษาบาลีใช้คำเรียกสิ่งที่ถูกจิตรู้ว่า “อารัมมณะ” หรือ “อาลัมพนะ” ภาษาบาลีเรียกว่า อารัมมณะ ภาษาไทยจะเรียกว่าอะไร เพราะว่าภาษาไทยชอบตัดคำ อย่าง ทุกขะ ภาษาไทยก็บอกว่าทุกข์ สุขะ ภาษาไทยก็บอกว่า สุข จิตตะ ภาษาไทยก็ จิต เจ-ตะ-สิ-กะ ภาษาไทยก็บอกว่า เจตสิก คือตัดหมดเลย เพราะฉะนั้น คำว่า อารัมมณะ ในภาษาบาลี ภาษาไทยจะเป็นคำอะไร “อารมณ์” ไม่เหมือนกับในทางพระพุทธศาสนาที่ทรงแสดง เพราะว่าคนไทยเราใช้คำว่าอารมณ์ในอีกความหมายหนึ่ง วันนี้อารมณ์ดีไหม

    ผู้ฟัง อารมณ์ดี

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร ทราบไหม

    ผู้ฟัง เพราะว่าตั้งใจจะมาฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะตาเห็นสิ่งที่ดี ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดี อารมณ์ไม่ดีแล้ว ได้ยินเสียงที่ดี เราภาษาไทยบอกว่าอารมณ์ดี แต่ความจริงเพราะจิตรู้หรือได้ยินเสียงที่ดี เมื่อเช้านี้จิตเกิดมาเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ลิ้มรสที่ดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดี คิดนึกเรื่องที่น่าสบายใจ ไม่มีเรื่องเดือดร้อน เราก็บอกว่าวันนี้อารมณ์ดี แต่ในทางธรรม อารัมมณะ หมายความถึงสิ่งที่ถูกจิตรู้ ไม่ใช่ตัวจิตที่กำลังรู้ แต่หมายความถึงสิ่งที่ถูกรู้ ที่จิตกำลังรู้ อย่างขณะที่กำลังได้ยินเสียง อะไรเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน

    นี่ใหม่มาก เหมือนกับพลิกโลกอีกโลกหนึ่งมาเป็นโลกของธรรมล้วนๆ เลย เพราะว่าธรรมล้วนๆ จะเรียกชื่อก็ได้ ไม่เรียกชื่อก็ได้ แต่ว่าใครก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย ไม่มีใครสักคน แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงของธรรม และเคารพในธรรมด้วย เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะเปลี่ยนลักษณะของธรรมได้ แต่ว่าเป็นโลกที่เคยเป็นเรา แต่พอแตกย่อยความเป็นเราออกมา เป็นทีละ ๑ ขณะจิต จะเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นเราเลย ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไป อย่างเห็นเกิดแล้วก็ดับ ได้ยินเกิดแล้วก็ดับ สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว จะเป็นเราได้ไหม เกิดแล้วดับแล้ว ไม่มีแล้ว ยังจะเป็นเราอยู่อีกได้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดแล้วดับแล้ว ก็เป็นเราไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จึงเป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง อะไรเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน เข้าใจคำว่า “อารมณ์” แล้วใช่ไหม อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ จิตรู้อะไร สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต ขณะที่ได้ยินเสียง แต่ก่อนนี้เป็นเรา แต่สภาพธรรมมี ๒ อย่าง นามธรรมกับรูปธรรม ที่ยึดถือว่าเป็นเรา คือ ยึดถือทั้งนามธรรมกับรูปธรรมว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา หรือว่าเป็นตัวเรา เพราะฉะนั้น เพียงขณะนี้ที่กำลังได้ยิน มีจริงๆ เป็นธรรม ได้ยินมีจริงๆ ไหม ได้ยินมีจริงๆ ไหม เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ได้ยิน

    ผู้ฟัง ได้ยินเสียงเป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ สภาพได้ยิน เสียงไม่รู้อะไรเลย กลิ่นไม่รู้อะไรเลย รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ แต่มีจริง แล้วก็เกิดขึ้นมาด้วย แต่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ หิวไม่ได้ โกรธไม่ได้ ดีใจไม่ได้ คิดไม่ได้ นั่นคือรูปธรรม

    ในขณะนี้มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม ถ้ามีแต่รูปธรรมโดยไม่มีนามธรรมเลย อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ ไม่มีใครเดือดร้อนอะไร ไฟจะไหม้ ฝนจะตก น้ำจะท่วม ไม่มีสภาพรู้ ก็เป็นแต่เพียงไฟก็ไหม้ไป ไม่มีใครเดือดร้อนปวดเจ็บ ถูกไหม้ ไม่มี ใช่ไหม น้ำจะท่วม น้ำก็ท่วมไป ไม่มีใครรู้อะไร แต่มีธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้ ได้แก่ จิต และเจตสิก เกิดขึ้นเมื่อไรต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้ไม่ได้เลย ขณะที่กำลังเห็นก็เป็นจิตที่เห็น คือจิตรู้ว่าขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้แหละทางตา คนตายไม่มีทางที่จะรู้เลย ว่าขณะนี้มีสิ่งนี้ที่กำลังปรากฏอย่างนี้แหละให้เห็น แต่ว่าคนเป็นมีจิต เพราะฉะนั้น จิตก็ทำหน้าที่เห็น คือรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ถูกเห็น กำลังปรากฏอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น นี่คือขณะที่จิตกำลังเห็น

    ทีนี้พูดถึงจิตที่ได้ยินเสียง มีนามธรรมกับรูปธรรม อันนี้ต้องเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการที่จะฟังธรรมที่จะรู้ว่า ธรรมคืออะไร ขณะที่จิตกำลังได้ยินเสียง อะไรเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน

    ผู้ฟัง เสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน เข้าใจมากเลย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าไม่คิดเอง จะไม่ใช่ปัญญาของเรา

    ผู้ฟัง นี่คิดเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดเองแล้วเราจะไม่ลืมเลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกๆ ๆ ไปโดยที่ไม่คิด จะไม่มีประโยชน์เลย แต่ถ้าคิดเอง แล้วก็จะจำได้ แล้วจะเข้าใจความหมายด้วย แล้วเวลาที่กำลังได้กลิ่น สภาพที่ได้กลิ่นสามารถที่จะรู้กลิ่น เวลาที่กลิ่นปรากฏ มีสภาพที่รู้กลิ่น กลิ่นจึงปรากฏ สภาพรู้เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ไม่รู้เลยจริงๆ ถ้าไม่มีนามธรรม รูปไม่ปรากฏ เพราะไม่มีใครรู้ลักษณะของรูปแต่ละรูป แต่ที่รูปแต่ละรูปปรากฏเพราะมีนามธรรม นามธรรมคือจิต และเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน ถ้าเป็นกลิ่น นามธรรมนั้นก็กำลังได้กลิ่น หรือรู้กลิ่นนั่นเอง ที่เคยเป็นเราทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ก็มีนามธรรมกับรูปธรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่กำลังได้กลิ่น กลิ่นปรากฏกับอะไร

    ผู้ฟัง จมูก

    ท่านอาจารย์ จมูก เวลานอนหลับก็มีจมูก ได้กลิ่นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตัวรู้ ก็ตัวฆานวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จมูกเป็นรูป จมูกเป็นรูป แต่จิตที่อาศัยจมูกเป็นทางรู้กลิ่น เป็นนามธรรม

    ต้องขอทบทวนนิดหนึ่ง แต่ความจริงคงยังไม่ได้กล่าวโดยลำดับ แต่ว่าข้ามๆ ไป คือว่า สิ่งซึ่งมีจริงๆ เป็นธรรม แล้วก็ธรรมที่มีจริงมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างเป็นปรมัตถธรรม คือ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ มีลักษณะเฉพาะๆ ของตนๆ แล้วการที่ทรงแสดงเรื่องธรรมโดยละเอียด ในส่วนของปิฎกนี้ ชื่อ อภิธรรม เพราะเหตุว่าแสดงเรื่องของปรมัตถธรรมล้วนๆ สำหรับพระไตรปิฎกมี ๓ ไตรคือ ๓

    ปิฎกที่ ๑ พระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการประพฤติของพระภิกษุเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเรื่องราวไม่มีธรรมอะไรเลย มีอยู่ในพระวินัยด้วย ก็แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุ

    สำหรับปิฎกที่ ๒ เป็นเรื่องการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับบุคคลไหน ในที่ใด แต่ก็เป็นธรรมทั้งหมด แต่ทรงแสดงหลากหลายโดยนัยประการต่างๆ มีแสดงแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าพิมพิสาร วิสาขามิคารมารดา อนาถบิณฑิกะ นี้เป็นส่วนของพระสูตร

    แต่สำหรับส่วนของพระอภิธรรมปิฎกที่ ๓ ไม่มีชื่อใดๆ ที่เป็นสัตว์บุคคลใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องของสภาพธรรมล้วนๆ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมมี ๔

    ตอนนี้ต้องฟังดีๆ แล้วนะ

    ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ ได้ทราบว่า คนสมัยก่อนท่านย่อ สำหรับจิต เป็น จิ เจตสิกก็เป็น เจ รูปก็เป็น รุ นิพพานก็เป็น นิ เพราะฉะนั้น ท่านจะพูด จิ เจ รุ นิ หมายความว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่ถ้าเราไม่รู้ว่า มีจิต เจตสิก มีรูป มีนิพพาน แล้วมีคนบอกเราว่า จิ เจ รุ นิ เราก็ไม่รู้ว่าอะไร เราก็ว่า จิ เจ รุ นิ ไปเรื่อยๆ แต่ถ้ารู้ว่ามี จิต เจตสิก รูป นิพพาน เรารู้เลยว่า จิ คือจิต เจ คือเจตสิก รุคือรูป และ นิคือนิพพาน

    นี่เป็นปรมัตถธรรม ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ปรมัตถธรรม จะไม่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าแม้ว่าสภาพนั้นมีจริง แต่ว่าต้องอาศัยปัญญาที่ได้อบรมจึงสามารถประจักษ์ว่าเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เป็นเราอีกต่อไป แต่ว่ากว่าจะถึงวันนั้น สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ต้องอาศัยการบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยิ่งด้วยปัญญา แต่ถ้ายิ่งด้วยศรัทธา ๘ อสงไขยแสนกัป ถ้ายิ่งด้วยวิริยะ ๑๖ อสงไขยแสนกัป กัปหนึ่งไม่ใช่ชาติหนึ่ง ไม่ใช่ ๑๐ ชาติ ไม่ใช่ร้อยชาติ กัปหนึ่งก็มีพระภิกษุกราบทูลถามพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า จะทรงอุปมากัปหนึ่งได้อย่างไร ก็ทรงแสดงว่า มีเกวียนที่บรรทุกเมล็ดงาเต็มเลย แล้วร้อยปี เมล็ดงาก็ตกไปเมล็ดหนึ่ง จนกว่าจะหมดงาที่อยู่ในเกวียนนั้น ก็จะนานสักเท่าไร เราคงไม่ต้องมานั่งคำนวณว่า มีเลข ๑ แล้วมีเลข ๐๐ ร้อยกว่าหรือเท่าไร เพราะถึงอย่างไรเราก็ไม่สามารถที่จะอายุยืนยาวไปจนกระทั่งถึงไปประจักษ์ว่า กัปหนึ่งได้ผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เพียงแต่ให้เห็นว่า เป็นคำอุปมาว่ายากมากว่า การที่จะรู้ความจริงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทรงพระมหากรุณาแสดงธรรมให้บุคคลอื่นได้ฟังด้วย สิ่งนั้นต้องยาก เพราะอะไร กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ แต่ไม่มีใครสามารถจะรู้ความจริงได้ ถ้าไม่ฟังพระธรรมที่ทรงแสดง

    เราเคยรู้จักพระพุทธเจ้าโดยรูปที่เราสมมติเป็นตัวแทน เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณมากน้อยแค่ไหน จนกว่าเราจะได้ฟังพระธรรม ถ้าจะเห็นความบริสุทธิ์ของพระองค์ก็ในพระวินัยปิฎก เพราะว่าพระวินัยสำหรับพระภิกษุ ทรงบัญญัติด้วยพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านพระสารีบุตรก็ไม่ได้บัญญัติสิกขาบท ไม่สามารถที่จะเห็นความลึกซึ้งของกิจน้อยกิจใหญ่ของบรรพชิตได้ ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสามารถที่จะบัญญัติว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควรสำหรับเพศบรรพชิต จะเห็นพระมหากรุณาคุณในพระสูตร เพราะว่าแม้ว่าบุคคลหนึ่งจะอยู่ไกลแสนไกล แต่ได้อบรมเจริญปัญญาที่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็เสด็จไปโปรดทรงแสดงธรรม เพราะเหตุว่าการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย แล้วสำหรับปิฎกที่ ๓ ก็เห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะแม้แต่จะทรงแสดงว่า ปรมัตถธรรม มี ๔ เราก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม ธรรมนั้นก็เป็นปรมัตถธรรม แล้วก็เป็นอภิธรรมด้วย มี ๔ อย่างคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ขณะนี้มีใครมีปรมัตถธรรมอะไรบ้าง ทุกคน

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก รูป ๓ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ไม่มีนิพพาน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีปรมัตถธรรม ๓ เท่านั้น แต่ไม่เอาขันธ์ ๕ มาพูดขันธ์ ๕ โดย นัยของปรมัตถธรรม ๓ ขันธ์อะไรเป็นปรมัตถธรรมอะไร ทุกคน รู้จักขันธ์ ๕ แล้ว ใช่ไหม รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ ทราบใช่ไหม ขันธ์ ๕ เพราะว่าถ้าไปวัดได้ยินแน่เลย ได้ยินขันธ์ ๕ มากกว่าปรมัตถธรรม แต่ความจริงทุกอย่างที่มีจริง ไม่ว่าจะขันธ์ ๕ หรืออะไรก็ตาม ต้องเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มี แม้ไม่เรียกชื่อ สภาพธรรมนั้นก็ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะได้

    ถ้าจะกล่างถึงขันธ์ ๕ โดยนัยของปรมัตถธรรมว่าขันธ์ไหนเป็นปรมัตถธรรมอะไร รูปขันธ์หมายความถึงลักษณะที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เป็นรูป สี เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ในอดีตเป็นรูปขันธ์หรือเปล่า หลายวันก่อนก็มีรูป หลายปีก่อนก็มีรูป รูปนั้นเป็นรูปขันธ์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง รูปก็ยังเป็นรูปขันธ์อยู่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง รูปต้องเป็นรูป เปลี่ยนแปลงลักษณะของรูปให้เป็นนามธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ รูปต้องเป็นรูปเสมอไป รูปในอดีต นานแสนนานมาแล้ว หรือรูปในข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น ก็คงเป็นรูปนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น รูปทุกกชนิดเป็นรูปขันธ์ ไม่ว่ารูปในอดีต รูปขณะนี้ หรือรูปในอนาคตข้างหน้า ก็เป็นรูปขันธ์

    จิตทุกชนิด ทุกประเภทซึ่งทรงแสดงไว้ว่ามีจิต ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ จิตทั้งหมดทุกชนิดเป็นวิญญาณขันธ์ ไม่เว้นเลย ขณะนี้จิตกำลังเห็น เป็นวิญญาณขันธ์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่แน่นอน

    ท่านอาจารย์ จิตที่ได้ยินเป็นวิญญาณขันธ์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็เป็นวิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ จิตที่คิด

    ผู้ฟัง ก็เป็นวิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ จิตที่เกิดร่วมกับโลภะ

    ผู้ฟัง ก็ใช่

    ท่านอาจารย์ ใช่ แปลว่าไม่เว้นเลย จิตในอดีต จิตปัจจุบัน หรือจิตข้างหน้า ก็เป็นวิญญาณขันธ์ ๕ ขันธ์นี่ รูปเป็นรูปขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เหลืออีก ๓ ขันธ์ คือ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เวทนาขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร ขันธ์ ๕ ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไรแต่ละขันธ์ อย่างรูปขันธ์ ได้แก่รูป วิญญาณขันธ์ได้แก่จิต เพราะฉะนั้น อีก ๓ ขันธ์

    ผู้ฟัง ก็นามขันธ์ทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ นามขันธ์ทั้งหมด คือนามขันธ์ประเภทไหน

    ผู้ฟัง เวทนาขันธ์

    ท่านอาจารย์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เหลืออยู่ ๓ ขันธ์ ปรมัตถธรรม ก็มีจิต เจตสิก รูป นิพพานไม่ใช่ขันธ์แน่นอน เพราะว่าไม่เกิดดับ เพราะฉะนั้น เมื่อจิต เจตสิก รูป ๓ อย่างแล้วก็มีขันธ์ ๕ รูปขันธ์ ได้แก่รูป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    14 ต.ค. 2567