ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
ตอนที่ ๑๘๗
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๙
ท่านอาจารย์ อกุศลจิตกับกุศลจิตสลับกับวิบากจิต กิริยาจิต ทั้ง ๔ ชาติอยู่ตลอดเวลา อย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงต้องเป็นลำดับจริงๆ ต้องรู้ว่า กำลังศึกษาเรื่องราวของจิต กำลังเป็นเรื่องราว แต่ว่าถ้าขณะนี้สติระลึกลักษณะของจิต จึงจะทราบความจริงว่า จิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เวลาที่เกิดโทสะ รู้ว่าเป็นอกุศล แต่เวลาที่ไม่เป็นโทสะอย่างอื่นอาจจะรู้ยาก เช่น โลภะ ตื่นมาจะรู้หรือว่ามีโลภะแล้ว เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่กุศล และไม่ใช่โทสะ หรือไม่ใช่โมหมูลจิต ก็ต้องเป็นโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่าแต่ หมายความว่าที่จะรู้ได้จริงๆ ต้องเป็นการศึกษา แล้วก็มีความเข้าใจขั้นการศึกษาพอที่สติจะระลึกแล้วก็ค่อยๆ รู้ขึ้นอีก เพราะเหตุว่า ในขณะที่สติเกิด จะให้รู้ว่าเป็นอกุศลจิต บางคนชำนาญชื่อ พอเห็นดอกไม้สวยๆ บอกแล้ว โลภะๆ เรียกชื่อ แต่ว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะสภาพจิตที่ติดข้อง ก่อนเห็นดอกไม้สวย มีโลภะหรือเปล่า กำลังเดินเล่นอยู่ในสวน ยังไม่เห็นดอกไม้สวยที่ถูกใจ แต่กำลังเดินด้วยความพอใจ เป็นโลภะหรือเปล่า แต่ไม่ได้รู้สึกเลย แต่ว่าพอเห็นดอกไม้สวยๆ เรียกชื่อถูกว่า โลภะ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเรียกชื่อ หรือว่ารู้ลักษณะของโลภะ
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นไม่ใช่ไปรู้ลักษณะของกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่ต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วเราใช้ชื่อตลอดเวลา โดยที่ไม่รู้ว่าจิตเป็นนามธรรม โลภะขณะนั้นก็เป็นนามธรรม เรียกชื่อถูกแต่ว่าไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมของโลภะ
ผู้ฟัง แต่เขาก็มีอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ แน่นอน คือ ไม่มีใครเลยนอกจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่าง
ผู้ฟัง อกุศลจิต กุศลจิต เกิดในชีวิตประจำวัน มีท่านผู้ใดมีคำถามท่านวิทยากรไหม
ท่านอาจารย์ ประเด็นนี้คิดว่า ต้องแยก คือ คนรู้กับคนไม่รู้ ถ้าพูดถึงการสะสมแล้วก็ต้องสะสมต่างกัน คือ คนที่สะสมโทสะก็เป็นโทสะ คนจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม คนรู้มีโทสะก็สะสมโทสะ คนไม่รู้มีโทสะก็สะสมโทสะ คนรู้มีโลภะก็สะสมโลภะ คนไม่รู้มีโลภะก็สะสมโลภะ แต่ว่าคนไม่รู้ไม่ได้สะสมความรู้
ผู้ฟัง ไม่มีปัญญา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องแยกละเอียดว่า ถ้าพูดถึงโทสะ ถ้าเกิดก็สะสมด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าใคร ถ้าโลภะก็สะสมด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าใคร แต่คนที่ศึกษา สะสมความรู้ ในขณะที่คนไม่ได้ศึกษาไม่ได้สะสมความรู้เลย เขาก็มีโลภะ มีโทสะ แต่ไม่มีความรู้ แต่ส่วนคนที่รู้ก็มีโลภะ มีโทสะ แต่มีความรู้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องแยก
ผู้ฟัง อันนี้ก็คงไปเกี่ยวกับญาณวิปปยุตต์ และ ญาณสัมปยุตต์
ผู้ฟัง รู้ว่าเขามีโทสะ แล้วจะมีผลร้ายแก่ตัวเอง แต่ไม่กล้าเตือน เพราะว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ ทีนี้ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรให้เขารู้ได้
ท่านอาจารย์ เรื่องของแต่ละบุคคล คือว่าทุกคนมีความปรารถนาดี ไม่ใช่แต่เฉพาะกับญาติ ถ้าเป็นความปรารถนาดีจริงๆ แล้วสำหรับทุกคน อยากให้ทุกคนมีความสนใจที่จะศึกษาพระธรรม ที่จะให้เข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อเจริญกุศลยิ่งขึ้น ไม่ว่าญาติหรือไม่ใช่ญาติก็ตาม แต่ว่าใครก็ตาม ต่างคนก็ต่างเกิดมาตามการสะสม แม้ว่าจะเป็นญาติสนิท แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง คงจะทราบจากประวัติของพระญาติของพระองค์ ซึ่งแต่ละท่านก็ไปอบายภูมิบ้าง อะไรบ้าง ทั้งๆ ที่เป็นพระญาติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ไม่มีคำตอบสำหรับที่ว่าทำอย่างไร แต่ว่าเป็นผู้ที่มีความหวังดีต่อทุกคนเสมอ พร้อมที่จะช่วย ถ้าคนนั้นเกิดมีความสนใจที่จะเข้าใจธรรมหรือที่จะฟัง เราก็สามารถที่จะช่วยแนะนำทั้งหนังสือ ทั้งวิทยุ หรืออะไรก็เปิดให้ท่านฟัง หรือแนะนำอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นการที่จะทำให้ท่านสนใจขึ้น แต่ถ้าใครก็ตาม ยังไม่แสดงความสนใจ เขาจะรำคาญ อันนี้คงจะจริง เพราะว่าเสียเวลาของเขา ที่เขาจะทำอย่างอื่นที่เขาพอใจ
ผู้ฟัง ผมเคยเปิด แล้วก็พยายามแนะนำให้เขาฟัง เขาบ่นว่าฟังยาก ไม่รู้จะว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ พระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ง่ายไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่พระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ก็ง่ายได้ แต่ถ้าเป็นพระธรรมจริงๆ ไม่มีทางที่จะง่ายเลย
ผู้ฟัง ทำอย่างไรดี มัจฉริยะเกิดอยู่เรื่อยเลย
ท่านอาจารย์ อยากจะมีกุศลมากๆ แน่ๆ เลยใช่ไหม ถามอย่างนี้ ไม่มีใครที่อยากจะมีอกุศล แต่ก็ต้องทราบตามความเป็นจริงว่า ต้องเป็นผู้ที่อบรม ต้องมีขันติ มีความอดทน และมีความเพียร มีความตั้งใจมั่น คือ บารมีทั้ง ๑๐ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ในการที่เราจะเจริญกุศล แม้แต่เรื่องของเมตตา ไม่ใช่เป็นเพียงแต่เพียงคำ แต่ต้องเป็นสภาพของจิต คือเรื่องของธรรมต้องเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ อย่าผิวเผิน อย่าคิดว่าเข้าใจแล้ว หรือว่าได้ยินชื่อ แล้วก็เหมือนกับรู้แล้ว ไม่ต้องรู้กว่านั้นอีก แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว เรื่องของการที่จะเข้าใจสภาพธรรมมีมาก และละเอียดขึ้นด้วย จึงจะเป็นประโยชน์จริงๆ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีอวิชชา ที่จะไม่ให้เกิดอกุศล เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่อวิชชาจะน้อยลง หรือว่าอกุศลจะน้อยลง มีทางเดียว คือ อบรมเจริญวิชชาหรือความรู้
ผู้ที่ใฝ่ในการที่จะเข้าใจพระธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ฟัง แต่ว่าฟังแล้วก็พิจารณา ให้เข้าใจเหตุผลจริงๆ ขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว ไม่ใช่คิดว่า ไม่มีกุศลขณะที่กำลังฟัง มีศรัทธา แล้วก็มีสติ แล้วก็เห็นประโยชน์ แล้วขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพระเหตุว่ากุศลไม่ใช่แค่ทาน ที่กล่าวว่ามีแต่มัจฉริยะ กุศลอื่นก็มีด้วย เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาว่า สะสมอุปนิสัยอย่างไรมา และอุปนิสัยทั้งหลายที่เป็นอุปนิสัยทางฝ่ายอกุศลจะลดลงได้ แต่ไม่ใช่เราเลือกว่าเราสะสม มัจฉริยะมาแล้ววันนี้ เรากลายเป็นคนที่ใจบุญสุนทานมหาศาล แต่ว่าเราอาจจะฝึกสละสิ่งซึ่งเราคิดว่า เราไม่เคยสละได้แต่ก่อน แต่ว่าถ้าจะเป็นประโยชน์แก่คนอื่น ทั้งๆ ที่อยู่กับเราก็ไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์ อย่างบางคนอาจจะมีเสื้อผ้ามากมาย ไม่ค่อยได้ใช้เลย เก็บไว้ในตู้ สักวันลองคิดดูว่า พรุ่งนี้เราอาจจะตายแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับใคร แล้วค่อยๆ คิดว่า สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับใครบ้าง สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับใครบ้าง แต่ก็ไม่ใช่กฎ แต่ให้ทราบว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งซึ่งจะเกื้อกูลมาก คือ ปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นโอกาสที่มีโอกาสจะให้คนเกิดปัญญา เพราะเหตุว่าเรื่องของความยากจน ความทุกข์ ความเดือดร้อน ความพิการต่างๆ จะต้องเป็นผลของกรรม และมีมากมายเหลือเกิน คนทุกข์ยากในโลกนี้ ในกรุงเทพ ต่างจังหวัดมีมาก แต่ว่าคนยากจนคนขัดสนที่มีโอกาสจะได้ฟังธรรมด้วยจิตศรัทธาย่อมจะเป็นประโยชน์แก่เขามาก เพราะเหตุว่าชาตินี้เขาอาจจะเป็นคนขัดสนพิการ ชาติหน้าเขาอาจจะเป็นมหาเศรษฐี เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นอะไรก็ได้ ซึ่งมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่สิ่งหนึ่งไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมี หรือคนจน คือเขามีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมไหม ไม่ว่าใครก็ตาม เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นคนยากไร้ที่กรุงเทพ ที่พนมเปญ ที่ประเทศเขมร หรือที่ไหนก็ตาม ถ้าเขาสะสมมาที่จะได้ฟังพระธรรม อันนั้นจะเป็นประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าการช่วยทางวัตถุ ถึงแม้ว่าจะช่วยสักเท่าไร ชาติหน้าก็ไม่สามารถจะติดตามไปได้ แต่ว่าถ้าช่วยให้เขาเกิดปัญญา ก็ยังมีโอกาสที่ว่า เขาจะได้เจริญกุศลยิ่งขึ้นต่อไป เพราะฉะนั้น ไม่ไปกะเกณฑ์เรื่องอุปนิสัย หรือว่าที่สะสมมาแล้ว แต่ให้ทราบว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถ้าปราศจากบารมีแล้ว เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ใช่มุ่งหน้าที่จะศึกษา หรือไม่ใช่มุ่งหน้าที่จะทำแค่ทาน หรือคิดว่าอยากจะมีกุศลมากๆ โดยที่ไม่มีปัญญา อย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์เลย
เพราะฉะนั้น หนทางจริงๆ คือให้เข้าใจพระธรรมขึ้น แล้วแต่กรรมใดจะให้ผลขณะใดซึ่งเป็นสิ่งซึ่งใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติต่อไป
ผู้ฟัง เหตุใดอกุศลจิตจึงเป็นจิตอยู่ในระดับขั้นกามาวจรจิต
อ. สมพร กามาวจรจิตเป็นจิตชั้นต่ำอยู่แล้ว อกุศลจิตจะเป็นจิตที่ดีไม่มี มีแต่ของที่เสียที่เลว เรียกว่า หีนจิต กามาวจรจิตที่เป็นอกุศล หีนะ แปลว่าต่ำ แปลว่าเลว เลวทราม
ท่านอาจารย์ คงต้องแยกเรื่องชาติกับภูมิ อย่างอกุศลจิตเป็นชาติอกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใครที่ไหน ภูมิไหนก็ต้องเป็นอกุศล ไม่เปลี่ยน เวลาที่พูดถึงกามาวจรภูมิ แสดงให้เห็นว่า เป็นภูมิของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในภูมินี้ซึ่งพูดถึงกามภูมิ ซึ่งเป็นที่อยู่หรือที่เกิด เป็นภูมิซึ่งเต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เช่น ในสวรรค์ก็ดี มนุษย์ก็ดี อบายภูมิก็ดี ทั้งหมดที่เป็นกามภูมิ แต่พอถึงรูปาวจรจภูมิ เป็นภูมิที่อบรม ความสงบของจิต จนกระทั่งละความติดข้องในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังมีกามาวจรจิตบางประเภทเกิดได้ตามสมควร รวมทั้งอกุศลจิตด้วย
เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่าอกุศลจิตโดยชาติ เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน โดยภูมิ คือ ระดับขั้นของจิต เป็นกามาวจรจิต
ผู้ฟัง หมายความว่า แม้นเขาไปอยู่ภูมิโน้น ชาตินั้นเขาอาจจะเกิดได้บางขณะจิตด้วย อกุศลอาจจะเกิดได้
อ. สมพร เราเข้าใจคำว่าภูมิอีกอย่างหนึ่ง จะได้เข้าใจง่ายๆ คำว่า ภูมิ เป็นที่เกิดของจิต จัดเป็น ๔ ระดับด้วยกัน ภูมิเป็นที่เกิดของสัตว์มี ๓๑ ภูมิ หมายความว่า สัตว์ทั้งหมดที่ไปเกิด สัตว์ คือ จิตกับรูปนั่นเองไปเกิด ถ้าภูมิเป็นที่เกิดกับจิต ท่านจัดเป็น ๔ ขั้น กามาวจรภูมิ อกุศลเป็นกามาวจรภูมิอย่างเดียว ไม่เป็นรูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ หรือโลกุตตรภูมิ นี่เฉพาะภูมิ ซึ่งแปลว่า เป็นที่เกิดของจิตอย่างเดียว หมายความว่าระดับของจิตต่างกัน ต่ำที่สุด คือ กามาวจรจิตเป็นอกุศลจิต แต่ภูมิอีกอย่างอย่างหนึ่ง หมายความว่าที่เกิดของสัตว์ เช่น สัตว์เกิดที่เป็นในกามาวจรภูมิ ที่มีขันธ์ ๕ มีขันธ์ ๔ มีขันธ์ ๑ หมายความว่า ที่เป็นที่เกิดของสัตว์ อันนี้ก็ภูมิเหมือนกัน แต่ว่ามีความหมายต่างกัน แต่ที่กล่าวหมายถึงภูมิเป็นที่เกิดของจิต จึงกล่าวว่าอกุศลเป็นกามาวจรจิตเท่านั้น
ผู้ฟัง อย่างนักมวยที่ต่อยได้เหรียญทองโอลิมปิค เวลาเขาดีใจเขาน้ำตาไหล อันนี้แปลว่า เขามีโทสะหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เขาพอใจ
ท่านอาจารย์ เรื่องของจิตก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะว่าหลายคนจะคิดว่า เวลาที่ดีใจแล้วมีน้ำตาไหล หรือว่าบางคนก็อาจจะคิดว่า ได้รับความเมตตากรุณาจากใครจนมีความรู้สึกแบบที่ว่าทำให้น้ำตาไหล จะด้วยประการใดๆ ก็ตาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดแล้วระลึกรู้ในขณะนั้น จะรู้สึกว่าไม่ใช่มีแต่เฉพาะความดีใจอย่างเดียว จะต้องมีความรู้สึกอื่น ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้น้ำตาไหลด้วย อย่างเวลาที่เราหัวเราะมากๆ อันนั้น แน่นอน คือว่า หัวเราะแล้วมีน้ำตาออกมาได้ แต่ไม่ใช่ในลักษณะของแบบน้ำตาไหล แบบร้องไห้ จะเห็นได้ว่า นั่นเป็นจิตที่ทำให้รูปชนิดนั้นเกิดขึ้น เวลาที่ดีใจมากๆ แต่ถ้าในบางครั้งที่เรารู้สึกเหมือนกับว่า มีความดีใจด้วย แต่ทำไมปลาบปลื้ม ถ้าปลาบปลื้มแท้ๆ ก็คงจะไม่ถึงกับน้ำตาจะไหลออกมาอย่างนั้น แต่อาจจะมีความรู้สึกบางอย่าง ซึ่งเหมือนกับว่าเราไม่เคยจะได้ แล้วเกิดได้ขึ้นมา มีความรู้สึกเหมือนว่า ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเฉพาะความดีใจอย่างเดียว อันนั้นก็อาจจะเป็นเหตุให้น้ำตาไหลได้ บางคนเวลาที่คิดถึงความดีที่คนอื่นทำต่อเขา เขามีน้ำตาไหล เพียงแค่ระลึกถึง แต่ก็มีน้ำตาซึมๆ ออกมาได้ แสดงให้เห็นว่า เขาอาจจะคิดว่า ไม่คิดเลยที่จะมีใครที่จะดีต่อเขาอย่างนั้นก็ได้ อันนี้จะเห็นได้ว่า ในเหตุการณ์อย่างเดียวกันจะมีทั้งปีติ แล้วก็อาจจะมีความรู้สึกบางอย่าง ซึ่งเป็นเหตุให้ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ หรือว่าน้ำตาไหล หรือน้ำตาซึม ได้ทั้งนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ เราจะใช้ความรู้ทางปริยัติไปวัดไม่ได้
ผู้ฟัง สรุปไม่ได้ว่าเป็นโทสะหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ต้องมีลักษณะที่ไม่ใช่ติดข้องซึ่งเป็นโลภะ
ท่านอาจารย์ อย่าไปพยายามจับใครกำลังรู้สึกอย่างไร เพราะถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก่อน ไม่มีทางที่จะรู้ความละเอียดเลยว่า ลักษณะของนามชนิดนั้นต่างประเภทกันอย่างไร เพราะว่าเราเพียงแต่คิดหรือวัด เราจะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะว่าเราเพียงอ่านจากตำรา แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมเกิดขึ้นจริงๆ จะเห็นได้ อย่างบางคนไปนมัสการสังเวชนียสถาน แล้วมีน้ำตาไหล ทั้งๆ ที่ที่นั่นไม่ใช่สถานที่ปรินิพพาานหรืออะไร เป็นที่ตรัสรู้ แต่ก็สามารถที่จะมีคนที่น้ำตาไหล ที่ถ้ำสุกรขาตา หรือไม่ก็ที่ต้นพระศรีมหาโพธิที่ตรัสรู้ แล้วแต่ว่าขณะนั้น แม้แต่ผู้นั้นเองยังบอกไม่ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ว่าความรู้สึกขณะนั้นต้องเกิดพร้อมจิตประเภทต่างๆ ไม่ใช่จิตประเภทเดียว แล้วขณะนั้นไม่ใช่ความติดข้องซึ่งเป็นโลภะ เป็นกุศล แต่ว่าขณะที่เป็นกุศลก็ไม่ใช่กุศลนั้นจะตั้งเป็นประเภทเดียวกัน อาจจะมีการระลึกถึงเรื่องราวต่างๆ แทรก และทำให้เกิดความรู้สึกซึ่งทำให้มีน้ำตาไหล โดยที่ตัวเองก็ไม่สามารถจะแจกแจงได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว
ผู้ฟัง วันนั้นไปเข้ากรรมฐาน และอาจารย์ให้กรรมฐานแล้ว กราบไหว้พระรัตนตรัย ทีนี้นึกถึงคุณพระพุทธเจ้าแล้วน้ำตาไหล ปีติหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ นี่ก็จะมีคำถามว่า ปีติหรือเปล่า คนที่มีน้ำตาไหลเอง จะต้องตอบ แล้วไปเข้ากรรมฐานอย่างไร
ผู้ฟัง อยู่ข้างนอกก็ไปวุ่นกับงาน ทั้งนั้น มันก็ไม่ได้กำหนด
ท่านอาจารย์ กำหนดอะไร
ผู้ฟัง กำหนดอิริยาบถ ๔ นั่ง นอน ยืน เดิน
ท่านอาจารย์ แล้วปัญญารู้อะไร
ผู้ฟัง ปัญญารู้อิริยาบถ
ท่านอาจารย์ เรื่องของการอบรมเจริญภาวนาเป็นเรื่องของความรู้ เป็นเรื่องของความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรม คือ ภาวนา เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการฟังเข้าใจ ไม่มีทางเลยที่ปัญญาจะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องเริ่มจากการฟัง แม้แต่การที่สติจะเกิดแต่ละขณะก็เพื่อรู้ถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง อาจารย์เห็นใจพูดบอกว่า ไม่จำเป็นต้องไปเข้า เพราะว่าชีวิตประจำวันนี้ ปฏิบัติได้แต่ว่าสติไม่ค่อยเกิด
ท่านอาจารย์ อยากให้สติเกิดจึงไปเข้า ใช่ไหม อยากให้สติเกิดจึงไปเข้า ใช่ไหม
ผู้ฟัง คล้ายๆ มีอาจารย์บอกว่าจะไปฝึกปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ นั่นสิ ไปเพื่ออยากให้สติเกิด ใช่หรือไม่ใช่ เพราะฉะนั้น สติจะไม่เกิดเพราะความอยาก แต่เกิดเพราะเข้าใจ มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย เป็นปัจจัยให้สติระลึกถูก
ผู้ฟัง ธรรมก็ยาก
ท่านอาจารย์ ยากมาก เพระเหตุว่าเป็นพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
ผู้ฟัง ยากที่จะเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ทรงแสดง ต้องยาก
ผู้ฟัง บางทีเห็นนิโกรดำๆ เขาทำอะไรมา ทำบุญทำเหตุอะไร ถึงได้ผิวพรรณเป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เรื่องของกรรมทั้งหมด
ผู้ฟัง ชวนะเสพโทสะมากๆ เกิดไปชาติหน้า ผิวพรรณจะทราม จริงไหม
ท่านอาจารย์ เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่วิจิตร ค่อยๆ ฟัง ถ้าเกิดเป็นคนผิวดำรูปชั่ว กับเกิดในอบายภูมิ อย่างไหนจะดีกว่ากัน
ผู้ฟัง ผิวดำดีกว่า
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดเป็นลำดับ กุศลก็ประณีตต่างๆ กัน
ผู้ฟัง เรื่องปีติแล้วน้ำตาไหล ให้ระลึกอยู่เสมอว่า นี่ไม่ใช่เราน้ำตาไหลก็พอ ถ้ามีสติอย่างนี้ ผมคิดว่า มันก็ยับยั้งความรู้สึกที่น้ำตาไหลได้ แต่โดยมากทั่วไป ตามโลกียะ มันก็เป็นลักษณะความปลื้มไปด้วยกัน ไม่ได้โทษอะไร ถ้าลงสติปัฏฐาน ควรจะคล้ายๆ มองให้เห็นว่ามันกระทบถึงรูปอย่างไร
ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นถึงความเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิตว่า ไม่ใช่มีแต่โลภะ ความติดข้อง ความปลาบปลื้ม ดีใจ แต่ต้องมีส่วนอื่นที่ทำให้น้ำตาไหล
ผู้ฟัง ราคะมีโทษน้อย คลายช้า โทสะมีโทษมาก คลายเร็ว ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ วันนี้คุณสุนานมีโลภะมากหรือโทสะมาก
ผู้ฟัง น่าจะมีโลภะมาก
ท่านอาจารย์ จริงๆ เอาจริงๆ โดยการศึกษาพอจะทราบได้
ผู้ฟัง โลภะมากกว่า
ท่านอาจารย์ โลภะมีมากกว่า หายช้าแน่นอน แต่ว่าไม่ได้เห็นคุณสุนานทำอะไรที่เป็นโทษ ใช่ไหม ทั้งๆ ที่มีโลภะมาก
ผู้ฟัง เป็นโทษหมายความถึงว่า เบียดเบียนเลยหรือ
ท่านอาจารย์ ธรรมดาทุกคน ถ้าไม่มีโลภะแล้ว ก็คงจะไม่เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าผู้ที่ไม่มีโลภะ คือ พระอรหันต์เท่านั้น ใช้คำว่าเท่านั้น หมายความ รวมถึงอกุศลทั้งหมดด้วย ถ้าไม่มีโลภะแล้ว อกุศลธรรมทั้งหลายก็ไม่มี อวิชชา โทสะ อะไรๆ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าทุกคนมีโลภะแบบสมะโลภะ โลภะปกติธรรมดา ลืมตาตื่นขึ้นมาก็ติดข้องในสิ่งที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในเรื่องราวที่คิดนึก นี่เป็นเรื่องของโลภะประจำทีเดียว นานๆ ก็แทรกด้วยโทสะ คือความขุ่นเคืองใจ แล้วแต่ระดับขั้นของความขุ่นเคืองใจ แต่ว่าถ้ามีมาก คงจะทำให้เกิดโทษ คือ เกิดความไม่สบายใจของตัวเองนี้ประการหนึ่ง แล้วยังทำให้คนอื่นพลอยไม่สบายใจด้วย ด้วยกาย ด้วยวาจาของตน แล้วถ้ามีกำลังมาก ก็เป็นเหตุให้เกิดทุจริตกรรมได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าโทสะก็มีโทษมาก แต่ว่าวันหนึ่งๆ โทสะอย่างนั้นแม้ว่าจะแรงมาก ในวันหนึ่งๆ มีจำนวน หรือปริมาณไม่เท่ากับ โลภะ เพราะเหตุว่าจะสังเกตได้ว่า ถ้าเราโกรธมากแล้ววันหนึ่งเราเป็นอย่างนั้นทั้งวันหรือเปล่า แต่ว่าโลภะทั้งวัน เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าโทสะโทษมาก แต่ว่าคลายเร็ว มากกว่าโลภะซึ่งมีโทษน้อย จริงๆ ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่ว่ามีประจำ ยากที่จะดับได้ จึงเรียกว่าคลายช้า
ผู้ฟัง โทสะมีโทษมากคลายเร็ว โลภะมีโทษน้อยคลายช้า โมหะมีโทษมากคลายช้า
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240