พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 481


    ตอนที่ ๔๘๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง ลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ เช่น เห็น หรือ สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือสิ่งที่ปรากฏให้จิตเห็น ลักษณะปรมัตถธรรมเหล่านั้นจะเป็นอย่างหนึ่งเหมือนกัน หรือไม่ หมายถึงอย่างเดียว หมายถึงไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ไม่ว่าลักษณะปรมัตถธรรมเหล่านั้นจะเกิดเมื่อไร

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง เปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่าคือรูปารมณ์

    ท่านอาจารย์ เป็นชื่ออีก

    ผู้ฟัง ใช่ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ที่เรายังไม่เข้าถึงลักษณะของปรมัตถ์ จะมีสีที่แตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปคิดถึงว่า แตกต่าง ขณะนี้อะไรปรากฏทางตา ยังไม่เคยรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจะกล่าวว่า นี้ทุกข์ไม่ได้ กำลังเห็น ยังไม่รู้ความจริงว่า ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แต่เห็น มีแน่นอน เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้วรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะเห็นแจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏ เห็นที่เกิดขึ้นเพียงเห็น ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้คิด จะไปทำบุญทำทานที่ไหนก็ไม่ได้ เพียงแต่เกิดแล้วเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏแล้วก็ดับไป ถ้าเข้าใจอย่างนี้จึงจะรู้ว่า เห็นนี้เอง นี้ทุกข์ เพราะเกิดเห็นแล้วดับ ยังไม่ต้องไปถึงสมุทัย ยังไม่ถึงนิโรธ เพราะเหตุว่าจะต้องมีความรู้ความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สิ่งที่กำลังเห็นไม่ใช่สิ่งที่ถูกเห็น แล้วมีอะไรนอกจากนี้ในขณะที่เห็น

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังเห็นไม่ใช่สิ่งที่ถูกเห็น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น

    ผู้ฟัง แต่ว่าแต่ละอย่างก็ต้องเป็นลักษณะเป็นธาตุอย่างหนึ่งเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นธาตุเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นธาตุที่ปรากฏให้เห็นได้

    ผู้ฟัง เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป

    ท่านอาจารย์ ทั้ง ๒ อย่าง ทั้งหมด

    ผู้ฟัง แล้วเกิดขึ้นใหม่จะเหมือนเดิม หรือไม่ เพราะลักษณะของปรมัตถธรรมคือไม่เปลี่ยน จิตเห็นเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่า “ใหม่” หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่ของเก่า

    ท่านอาจารย์ หมดแล้ว ดับแล้ว เพราะฉะนั้นเข้าใจความหมายของคำว่า “ดับ” ไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว จะไม่กลับมาอีกเลย

    ผู้ฟัง ลักษณะของปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมคือ

    ผู้ฟัง สิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ซึ่งใครก็เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้

    ผู้ฟัง เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ คือสามารถจะปรากฏให้เห็นได้

    ผู้ฟัง เช่น จิตเห็น มีความสามารถแค่เห็นเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เป็นจักขุวิญญาณธาตุ ชอบชื่อ หรือไม่ อยากรู้จักชื่อ ก็ได้ชื่อ คือ จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ที่อาศัยตา หมายความถึงเห็นขณะนี้

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตาแต่ละลักษณะ แต่ละสัณฐานจะแตกต่างกัน หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เวลารับประทานอาหารมีรสเดียว หรือหลายรส

    ผู้ฟัง เวลารับประทานอาหารมีหลายรส

    ท่านอาจารย์ ทุกรสปรากฏเมื่อมีจิตที่ลิ้มรส โดยอาศัยลิ้น ใช่ หรือไม่ ใช่ ต่อให้เป็นรสอะไรต่างๆ อย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏได้ ต่อเมื่อมีจิตที่อาศัยลิ้นเป็นทางที่จะรู้รสในขณะนั้น ฉันใด ทางตา ไม่ว่าจะเป็นรูปใดเกิดแล้วดับแล้ว ปรากฏอย่างไร ก็คือเป็นสิ่งที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง แต่เหตุใดทางกาย กายวิญญาณที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่เป็นปฐวีธาตุ จึงมีลักษณะของแข็ง หรือลักษณะของอ่อน

    ท่านอาจารย์ ความจริงเป็นอย่างนั้น หรือว่ามาเรียกเอง

    ผู้ฟัง ความจริงเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนความจริงนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง แต่ทางหู จิตที่ได้ยินเสียง ก็มีเสียงสูง เสียงต่ำ แต่สิ่งที่ปรากฏทางหูก็มีอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ปรากฏทางกายไม่ได้ เพราะฉะนั้น อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน ปรากฏทางหูได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ความจริงของเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็คือปรากฏทางกายได้เท่านั้น เช่นเดียวกับเสียง ปรากฏทางหูได้เท่านั้น เช่นเดียวกับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้ขณะนี้ ก็ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น

    ผู้ฟัง เวลารับประทานอาหาร ลิ้มรสอาหาร มีเปรี้ยว มีเค็ม แต่ว่าไม่ได้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่ละลักษณะว่า รสนี้เป็นอย่างนี้ๆ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า “รส” ให้ละเอียดด้วย

    ท่านอาจารย์ คุณบุษกรจะแยก หรือกำลังรับประทานอาหารจริงๆ รสปรากฏจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง รสปรากฎจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ต้องไปแยกไหมว่า นี่เผ็ด นั่นเค็ม ในเมื่อรสนั้นๆ กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ไม่ต้องแยก ก็รู้โดยธรรมชาติ

    ท่านอาจารย์ ที่บอกว่าให้แยก หรือจะแยก เมื่อไร เมื่อรสปรากฏ หรือไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เมื่อรสปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เมื่อรสปรากฏ หรือต้องแยกเมื่อรสนั้นๆ ปรากฏตามความเป็นจริงอย่างนั้น

    ผู้ฟัง รสนั้นๆ ปรากฏตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ รสหวานจะเป็นรสเปรี้ยวได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ รสเค็มจะเป็นรสเผ็ดได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีรสต่างๆ ต้องไปคิดไหมว่า จะไปแยกในเมื่อปรากฏความต่าง

    ผู้ฟัง ไม่ต้องคิด

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อสักครู่จะแยกอะไร

    ผู้ฟัง แยกไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ แยกไม่ได้ แต่จะแยก หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จะแยกก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่มีเรื่องแยก

    ผู้ฟัง แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงลักษณะของรส

    ท่านอาจารย์ คุณบุษกรเข้าถึง หรือความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม หรือเป็นธาตุ

    ผู้ฟัง ต้องฟังให้เข้าใจ แล้วก็ค่อยๆ เข้าถึงความเป็นธาตุ ตรงนี้ก็พอจะเข้าใจ ก็สงสัยเรื่องที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า สมุทัยเป็นโลภะ เป็นโลภะเท่านั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความไม่รู้ จะมีความติดข้อง หรือไม่ ไม่มี แต่เพียงไม่รู้ จะเป็นความติดข้อง หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เพียงไม่รู้ ก็ไม่รู้แล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้กับติดข้อง เป็นอย่างเดียวกัน หรือต่างกัน

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่รู้ ต้องติดข้อง ใช่ หรือไม่ ถ้ารู้แล้วจะติดข้องไหม

    ผู้ฟัง ไม่ติดข้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะกล่าวถึงอย่างหนึ่ง หมายถึงอีกอย่างหนึ่งด้วย หรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้ามีแต่เพียงความไม่รู้ ไม่มีความติดข้องก็ได้ แต่เมื่อไรที่มีความติดข้อง เมื่อนั้นมีความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จะกล่าวถึงเพียงความติดข้อง ก็รวมถึงความไม่รู้ด้วย ไม่ใช่หมายความว่า มีความรู้แล้วติดข้อง แต่ขณะใดที่ติดข้อง ให้ทราบว่า ขณะนั้นเพราะไม่รู้

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็หมายความว่า คำว่า “สมุทัย” ก็เป็นโมหะ และโลภะเกิดพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จะมีโลภะโดยไม่มีโมหะไม่ได้

    ผู้ฟัง คำว่า “นี้ทุกข์” นี้ทุกข์ก็คือทุกๆ ขณะจิตที่เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดดับ และลักษณะที่เกิดดับเป็นทุกข์

    ผู้ฟัง ขณะเห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นแล้ว ใช่ หรือไม่ เกิดแล้วดับแล้ว

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะ “นี้ทุกข์” กล่าวได้เต็มความเข้าใจจริงๆ เมื่อกระทบแข็ง ประจักษ์การเกิดขึ้นแล้วดับไป “นี้ทุกข์” คือ แข็งนี้ทุกข์

    เสียง จริงๆ เสียงปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ปัญญาไม่สามารถละการยึดถือว่า เสียงนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะไม่ได้เข้าใจว่า เป็นธรรม เมื่อกล่าวถึงเสียง ทุกคนเข้าใจ แล้วก็รู้ด้วยว่า เสียงเกิดแล้วดับ แต่รู้ หรือไม่ว่า เสียงเป็นธรรม เป็นเพียงธาตุอย่างหนึ่งที่มีจริง เมื่อไม่รู้จึงพอใจที่จะได้ยินเสียงอยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง แล้วชีวิตประจำวันก็เป็นอย่างนั้นเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ แล้วก็เป็นธรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สาระอยู่ตรงไหน ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ ไม่มีใครจะบังคับบัญชาได้ แล้วสาระอยู่ที่ไหน แค่เกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไป มีสาระ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่ติด เพราะไม่รู้ จนกว่าจะฟังแล้วเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม เมื่อไรเป็นธรรม คือไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ที่ว่าทุกสิ่งเป็นธรรม เกิดแล้วดับแล้ว ที่เกิดใหม่ไม่ใช่ของเก่า ตรงที่ว่าเราต้องพยายามเข้าถึงสภาพของธรรม ขณะที่ไม่เข้าใจในการฟังคำนี้ เราก็จะยึดถือด้วยความเป็นตัวตนที่พยายามเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็มีอุปสรรคมากมายหลายอย่าง ทั้งหมดก็มาจากชื่อบ้าง ทั้งหมดก็มาจากความไม่รู้ แต่ลองคิดว่า ถ้าเราไม่ใช้ชื่อ เพราะว่าเราจะเรียกธรรมภาษาอะไรดี ภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น แล้วแต่ว่าใครใช้ภาษาอะไร ก็เรียกภาษานั้น แต่ตัวธรรมจริงๆ มีชื่อ หรือเปล่า มีชื่อประจำ หรือเปล่า หรือว่าต้องอาศัยคำในภาษาหนึ่งภาษาใดเพื่อให้รู้ว่า หมายความถึงธรรมอะไร เพราะฉะนั้น ที่เราไม่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะเราจำชื่อเท่านั้นเอง เช่น จำชื่อ “นามธรรม” จำชื่อ “รูปธรรม” แล้วก็จำความหมายของธรรมว่า สิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่สามารถรู้อะไรได้เลย เป็นรูปธรรม เราจำอย่างนี้ ส่วนนามธรรมก็เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับรูป เพราะเหตุว่าไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แม้เป็นธรรม มีจริงๆ และตรงกันข้าม คือ เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้ โดยที่ไม่มีรูป แต่เป็นธาตุที่เกิดขึ้นแล้วรู้

    เพราะฉะนั้น ลองคิดถึงธาตุ ธรรมอย่างหนึ่งขณะนี้กำลังเป็นจริงอย่างนั้น น่าอัศจรรย์มาก เอารูปออกหมดไม่เหลืออะไรเลย ก็มีธาตุรู้เกิดขึ้น ใครจะรู้ในความเป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แต่กำลังรู้ ถ้ามีความเข้าใจลักษณะของธรรมโดยที่ไม่ต้องนึกถึงชื่อ ไม่ต้องมานั่งตอบว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นวัณณรูป เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ แล้วไม่ต้องไปคิดว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรมซึ่งเกิดขึ้นรู้ แต่ขณะนี้มีเห็น หรือไม่ ยังไม่ต้องคิดถึงชื่อเลย ชาติใด ภาษาใด คนใด ถามว่า ขณะนี้มีเห็น หรือเปล่า แล้วมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีเห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะนี้ก็มีสิ่งที่กำลังเห็นด้วย ถ้าเข้าใจอย่างนี้ คือ ตรงลักษณะของธรรม ขณะนี้ลักษณะของธรรมแท้ๆ กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะปรากฏทางตา กำลังปรากฏให้เห็น ถ้าปรากฏทางกาย ก็กำลังปรากฏให้รู้ว่า แข็ง หรืออ่อน ไม่ต้องเรียกเลย นั่นคือตัวธรรมจริงๆ ไม่ต้องใช้ชื่อใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ว่ามีจริงๆ แล้วไม่ต้องนึกถึงคำด้วย เพราะฉะนั้น ที่ตอบว่า ขณะนี้มีเห็น หรือไม่ ก็ตอบว่า มี เพราะกำลังเห็น ขณะนี้มี สิ่งที่ปรากฏทางตาไหม ก็มี เพราะมีสิ่งที่ปรากฏ นั่นแหละคือตัวธรรม ทั้ง ๒ อย่าง ใช้ภาษาอะไรก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ เริ่มเข้าใจว่า ตัวธรรมคือสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ คือ ฟังแล้ว ไม่ใช่ไม่คิด หรือพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ หรือในสิ่งที่มีจริงๆ เสียงเดี๋ยวนี้ เป็นเสียงเก่า หรือเปล่า เสียงที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ เป็นเสียงที่เพิ่งได้ยินเมื่อสักครู่นี้ หรือเปล่า ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่มีปรากฏ นิดเดียวแล้วหมดแล้ว เป็นสิ่งเก่า หรือเป็นสิ่งใหม่ เกิดใหม่เพราะเหตุปัจจัยใหม่ นี่คือฟังธรรม มีสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็เข้าใจตัวจริงๆ ไม่ต้องไปนั่งจำเป็นคำ เป็นเรื่อง แล้วตัวจริงก็คือคำทั้งหมดที่กล่าวถึง ก็กล่าวถึงเพื่อให้เข้าใจลักษณะที่มีจริงๆ ของสิ่งนี้

    ผู้ฟัง ก็เกิดการลวงตัวเราอยู่เรื่อยๆ เพราะศึกษาแล้วคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นดับไป สิ่งที่เกิดใหม่แล้วแต่เหตุ และปัจจัย เกิดตัวลวงขึ้นมาทำให้รู้สึกว่า เริ่มปล่อยวาง ทุกอย่างแล้วแต่เหตุ และปัจจัย

    ท่านอาจารย์ คือฟังแค่นี้ยังไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏมีจริงๆ อย่างหนึ่ง เมื่อคิด ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่เห็น เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง กลายเป็นเรา เห็น หรือไม่ ฟังธรรมกว่าจะเข้าใจว่า เป็นธรรมแต่ละอย่างมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง เพียงฟังนิดหนึ่ง เข้าใจตรงนั้น แล้วเราคิดจะละวาง

    ผู้ฟัง มาจากการที่เราสะสมมา

    ท่านอาจารย์ คิดเป็นธรรม ก็ไม่รู้แล้ว คิดไม่ใช่เห็น เกิดแล้วดับแล้ว ก็ไม่รู้อีก ธรรมก็เป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป ทุกๆ ขณะ แต่ก็ไม่รู้ไปทุกขณะ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ยังสงสัยเรื่องของเสียง เสียงเป็นรูปธรรม แต่จิตได้ยินเป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ทุกครั้งที่ใช้คำว่า “วิบาก” คือผลของกรรม

    ผู้ฟัง เพราะว่าทุกครั้งที่เราชอบ ไม่ชอบ จะเป็นคำพูดไปหมดเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่า “วิบาก” หมายความว่า ใครก็บันดาลให้เกิดไม่ได้ แม้แต่จิตเองก็ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดวิบาก ในขณะที่จิตที่เป็นวิบากเกิดต้องเป็นผลของกรรม จิตจึงมีหลายประเภท กุศลจิตเกิดทำให้เกิดวิบากทันที หรือเปล่า ถ้าศึกษาต่อไป จะละเอียดมากจนกระทั่งว่ามีกุศล ๑ ประเภทเท่านั้นที่สามารถทำให้เกิดวิบากได้ทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย คือ โลกุตตรกุศล ไม่ต้องคอยกาลเวลาเลย เมื่อโลกุตตรจิต คือ โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ ดับความสงสัย ความไม่รู้การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ทันทีที่ดับไป เป็นเหตุให้เกิดวิบาก คือ ผลจิต เป็นโลกุตตรวิบาก ก็จะเห็นได้ว่า ความละเอียดของธรรม ไม่ใช่เพียงแต่เราจะรู้ทั้งหมดในขั้นต้น เพียงแต่ให้ทราบว่า ได้ยินคำว่า “วิบาก” เมื่อไร ที่แน่นอนที่สุดคือ มีกรรมเป็นปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิด โดยที่สิ่งอื่นไม่สามารถทำให้เกิดได้ ที่กล่าวว่า แม้จิตก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิด เพราะเหตุว่ากรรมได้แก่เจตนาเจตสิก นี่คือความละเอียดของธรรมที่จะแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน จิตไม่ใช่เจตนาเจตสิก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ เท่านั้นเอง แต่ จตสิกที่เกิดร่วมกันก็ทำหน้าที่เฉพาะอย่าง โดยเฉพาะ เจตนาเป็นสภาพที่ขวนขวาย จงใจที่จะกระตุ้นสหชาตธรรมที่เกิดร่วมกันให้กระทำกิจนั้นๆ ลักษณะของกรรมจึงได้แก่เจตนาเจตสิก ไม่ใช่จิต

    ผู้ฟัง สีลปาสูตร ที่เราทราบว่า เปรียบสิ่งที่ตรัสรู้มีมาก เหมือนใบไม้บนต้น ให้ประโยชน์อย่างไรกับเรา

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีกับทุกคน เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทรงแสดงความจริงของสิ่งนั้นโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ที่จะให้มีความเข้าใจ แต่ยังอยากรู้อย่างอื่นนอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือเปล่า แล้วจะรู้ได้ หรือไม่ และทรงแสดง หรือไม่ทรงแสดงในเมื่อรู้ว่า สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถจะอบรมจนกระทั่งถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ประเสริฐ เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับเท่าที่จะสามารถรู้ได้ พระอรหันต์ก็มีที่เป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศในทางต่างๆ เหนือพระมหาสาวกทั่วๆ ไป พระมหาสาวกก็ยังเลิศกว่าพระอรหันต์สาวกธรรมดาทั่วๆ ไป และผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นต่ำลงมา ก็มีปัญญาเพียงจะรู้ตามความเป็นจริง แม้อย่างนั้นแต่ละท่านก็เป็นเอตทัคคะในแต่ละทาง แต่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทรงแสดงก็เพียงสิ่งที่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถจะรู้ได้ แต่แม้กระนั้นรู้ หรือยัง เห็น หรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ จากพระสูตรนี้ก็ทำให้เราคิดได้ว่า แม้แค่ใบไม้ ๒ – ๓ ใบในกำมือ ก็หมายถึงพระธรรมคำสั่งสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา พระธรรมวินัยที่ท่านทรงแสดง ทรงแสดงเพียงเล็กน้อยสำหรับที่ท่านรู้ เพราะการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านรู้ทุกๆ อย่าง แต่ที่ท่านแสดงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการนำสัตว์ออกจากทุกข์ ก็เพียงใบไม้แค่ ๒ – ๓ ใบเท่านั้นเอง แต่ก็เป็นพระธรรมทั้ง ๓ ปิฎก แล้วก็เป็นสิ่งที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยากต่อการที่จะศึกษา และเข้าใจ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด ก็คือ การศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง คราวนี้ในการเริ่มสนใจศึกษา สำหรับการตั้งต้นก็ไม่ง่ายว่า อะไรเป็นหนทางที่ถูกที่จะให้เข้าใจความจริงกับอะไรที่หลงทาง

    ท่านอาจารย์ ฟังไม่เท่าไร ก็อยากจะรู้ว่า หนทางไหนถูก เดี๋ยวก็ถูกเขาบอกว่า ทางนี้ถูก ทางนั้นถูก เพราะว่าฟังน้อย เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงก็คือว่า ฟังธรรมแล้วไม่ได้หวังอะไร เพราะถ้าหวังว่า กำลังป่วยไข้ได้เจ็บ กำลังมีความทุกข์สาหัส เดือดร้อนใจ อยากจะฟังธรรมเพื่อให้หมดความทุกข์นั้นๆ ถูก หรือผิด เป็นไปได้ หรือไม่ มีความเข้าใจธรรมระดับไหน ที่เพียงเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็สามารถหมดทุกข์ได้เลย สะสมความเห็นถูกมามาก พอที่จะได้ยินพระธรรม แล้วก็รู้ความจริงว่า เป็นธรรม แล้วก็หมดการยึดถือขณะนั้นว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น วันนี้กล่าวเรื่องอริยสัจธรรม ๔ ขณะที่กำลังฟัง มีขณะไหนบ้างไหม ที่นี้ทุกข์ ยังไม่ไปไหนเลย ธรรมก็มี แล้วก็ฟังเรื่องธรรมด้วย และเมื่อฟังเรื่องทุกขอริยสัจจะ ทุกข์นี้มีแน่นอน และรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนี้ต่างหากที่เกิดแล้ว เป็นทุกข์เพราะดับ ไม่ใช่ให้ไปคิดเรื่องอื่นว่า ทำอย่างไร เมื่อไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เกิดแล้วกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ทุกคนจะข้ามไปเรื่อยๆ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่า แท้ที่จริงสิ่งนี้เกิดแล้ว เป็นขันธ์ที่เกิดแล้ว ไม่มีใครไปทำได้เลย และดับ ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ จะไปอาศัยธรรมข้อใดที่จะทำให้ดับทุกข์ได้

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟัง ลืมแล้วใช่ หรือไม่ว่า นี้ทุกข์ ไม่มีสักนี้ ทั้งๆ ที่กำลังเป็นนี้ นี้เห็น นี้ได้ยิน นี้คิด นี้เสียง นี้สิ่งที่ปรากฏทางตา นี้ทั้งนั้น เกิดดับทั้งนั้น เป็นทุกข์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นทุกขสมุทัยได้ หรือไม่ ในเมื่อยังไม่รู้จักตัว “นี้ทุกข์” และจริงๆ ขณะที่สภาพธรรมปรากฏ เพราะไม่รู้ว่า “นี้” คือสิ่งที่เกิดแล้วดับเป็นทุกข์ มีความติดข้องทันทีในสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไปหาสมุทัย หาใหญ่เลย สมุทัยอยู่ที่ไหน แล้วสมุทัยกั้นอย่างไร โดยไม่รู้ว่า เมื่อทันทีที่มีเห็น หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ สมุทัยคือขณะที่กำลังติดข้อง กั้นพื่อไม่ให้รู้ความจริงว่า สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้ว เพราะความติดข้องที่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่รู้ว่า สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้ว เป็นทุกข์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    29 ก.ค. 2567