พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 490
ตอนที่ ๔๙๐
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นหรือไม่
ผู้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ท่านอาจารย์ ว่าเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่ปรากฏ สามารถจะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏได้ไหม หรือไม่อยากจะเห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏ หรืออยากจะไปเห็นถูกในสิ่งอื่นที่ไม่ปรากฏ ธรรมต้องไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความจริงใจ
ผู้ฟัง คือจะหมกมุ่นในอารมณ์ที่ปรากฏแต่ละอย่าง
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นปกติ แต่ยังไม่เป็นธรรมดา คือ เดือดร้อนต่ออารมณ์เหล่านั้น ทั้งดี และไม่ดี
ท่านอาจารย์ หมายความว่า ถ้าเดือดร้อนเมื่อไร ไม่ธรรมดา ผิดปกติหรืออย่างไร หรือเป็นปกติที่มีปัจจัยก็เกิด ใครบ้างไม่มี เห็นก็เกิดแล้ว คิดนึกก็เกิดแล้ว ทุกอย่างก็เกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ความหมายของ " ปกต" คือ เกิดแล้ว แต่ความหมายที่เป็น ปกตูปกนิสสยปัจจัย ความหมายว่า สิ่งที่เกิดแล้วนี่แหละเป็นปัจจัย ที่อาศัย "นิสย" ที่มีกำลัง คือ "อุป" แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดแล้วขณะนี้ จริงๆ แล้วแม้จิตแต่ละขณะจะดับไป แต่ก็สืบต่อความเป็นปัจจัยในจิตต่อๆ ไป เพราะอะไร เพราะเกิดแล้ว ไม่ใช่ไปสืบต่อสิ่งที่ยังไม่เกิด และสิ่งที่เกิดแล้วนี่แหละที่จะสะสมสืบต่อไปในจิตขณะต่อไป
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า เมื่อเห็นดับไปแล้ว ถ้าเราไม่พูดโดยละเอียดถึงจิตที่เป็นจักขุวิญญาณดับแล้ว "สัมปฏิจฉันนวิบาก" เกิดต่อ "สันตีรณวิบาก" เกิดต่อ "โวฏฐัพพนกิริยา" เกิดต่อ ให้เห็นความรวดเร็วของสิ่งที่เกิดแล้ว ที่เป็นปัจจัยที่มีกำลังทำให้อกุศลเกิดทันที เป็นปกติ เพราะว่าเกิดแล้วเป็นปกติมานานแสนนาน
เพราะฉะนั้น การสะสมที่มีกำลัง ไม่รู้ก็ไม่รู้ แต่ถ้ารู้ จะรู้ว่า มีกำลังระดับไหน ระดับเพียงเห็นก็เป็นอกุศลแล้ว แล้วแต่จะเป็นประเภทของโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต แสดงถึงกำลังของแต่ละ ๑ ขณะ ณ ขณะนี้ และทุกขณะที่เกิดแล้ว สะสมสืบต่อ จะเป็นปัจจัยที่มีกำลัง โดยเกิดแล้วนั่นแหละ ไม่ใช่โดยยังไม่เกิด
เพราะฉะนั้น เวลาที่ใช้ความหมายในภาษาไทย ก็จะมีคำบาลีซึ่งไม่ได้เข้าใจความหมาย แต่ก็ไม่ผิดจากความหมาย เช่น เป็นปกติ ก็คือมีปัจจัยเกิดแล้ว ธรรมดา เกิดแล้วในขณะนี้ทั้งหมด เกิดแล้วทั้งนั้นด้วย "ธรรมตา" ความหมายภาษาบาลี คืออย่างไร
อ.คำปั่น จริงๆ ก็คือธรรม ความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็คือ "ธรรมตา"
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เกิดเป็นอย่างนี้ จะให้เป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ โทสะเกิดแล้ว ธรรมดาไหม เกิดแล้วเป็นลักษณะนั้น เปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้
ผู้ฟัง ที่ใช้คำว่า ปกติ หรือ ธรรมดา ไม่ได้มีความรู้สึกหรือเข้าใจว่า จะเป็นศัพท์บาลี แต่พยายามใช้คำที่อธิบายถึงความรู้สึกจริงๆ ในชีวิตประจำวันว่า เมื่อสภาพธรรมเกิดอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้ว่า สิ่งที่เกิดเป็นธรรม เรียนถามว่า สภาพธรรมที่เกิดอยู่ตลอดเวลาเป็นธรรม เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีอะไรปรากฏ
ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้มีได้ยิน
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นธรรมดา
ท่านอาจารย์ เพราะไม่เป็นอื่น ได้ยินเป็นได้ยิน เป็นธรรมดา ความจริงของสภาพได้ยิน คือ ขณะนี้ได้ยิน
ผู้ฟัง แต่คิดออกไปว่าเป็นคำอะไร อันนี้ก็เป็นธรรมดาเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ทั้งหมด เป็นความจริงของธรรมนั้นๆ คือ คิดเป็นคิด เห็นเป็นเห็น จำเป็นจำ ทุกอย่างก็เป็นลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั่นเอง
ผู้ฟัง คือขั้นเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ ปัญญาจะเจริญขึ้นได้หรือไม่ และปัญญาที่เจริญแล้วมาจากไหน ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ในขั้นต้น
ผู้ฟัง แต่ในสภาพจริงๆ ของชีวิตประจำวันก็คือ พอได้ยินเป็นเสียง ก็คิดต่อเป็นเรื่องราวทุกอย่างเลย
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาหรือไม่ เห็นหรือไม่ว่า ใช้คำว่า “ธรรมดา” แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมดา เป็นอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ จะให้เป็นอย่างอื่นได้อย่างไร เห็นแล้วคิด จะไม่ให้คิดได้ไหม ไม่ได้ แล้วคิดจะให้เป็นเห็นได้ไหม ก็ไม่ได้ ความจริง เป็นความจริงของเห็นก็คือเห็น จริงของสิ่งนั้นก็ต้องจริงอย่างนั้น จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้
ผู้ฟัง พอคิดนึกเสร็จก็เดือดร้อน เดือดร้อนก็ธรรมดาอีก
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จนกว่าทุกอย่างเป็นธรรมเมื่อไร ก็จะเข้าใจการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเห็นความจริง ซึ่งคนอื่นมองไม่เห็นเลยว่า ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมดแต่ละลักษณะ เกิดดับสืบต่อเร็วมาก จนเป็นนิมิต ลวงให้เห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ไม่ได้ดับไปเลย ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนแทงตลอดความจริงของสิ่งที่ปรากฏ นี่คือผลของการฟัง แล้วเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง
อ.กุลวิไล คำว่า "ธรรมตา" เป็นภาษาบาลี เป็นความจริงของสิ่งที่เป็นธรรม ธรรมก็เป็นธรรมดานั่นเอง
ผู้ฟัง ความเดือดร้อนซึ่งเกิดจากความคิดนึก เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องเป็นธรรมอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง มีความรุ่มร้อน หรืออยู่ในอารมณ์นั้นนานๆ มีความเป็นตัวตนที่เสพอารมณ์นั้นนานๆ เป็นปกติที่ไม่รู้ความจริง
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้แล้วก็ไม่ฟังอีก ถ้ารู้แล้ว ก็ไม่ฟังอีก ใช่หรือไม่ รู้แล้วจะฟังอะไรอีก แต่เมื่อไม่รู้ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อฟังจนกว่าจะเข้าใจ
ผู้ฟัง สภาพเดือดร้อน หรือสภาพที่เกิดจริงๆ ซึ่งเป็นธรรมดา ไม่ได้มีความรู้สึกรุ่มร้อนหรือเร่าร้อน เพราะว่าสภาพธรรมนั้นไม่ได้เกิด เพียงแต่คิดถึงสภาพนั้นที่เกิดขึ้น แต่โดยสภาพจริงๆ ที่เวลาเกิดขึ้นไม่ได้เป็นอย่างนี้ คือไม่ได้รู้
ท่านอาจารย์ เพราะว่า ธรรมนั้นเป็นจริงของธรรมนั้น ธรรมนี้เป็นจริงของธรรมนี้ จะเหมือนกันได้อย่างไร เวลานี้ไม่เดือดร้อน ถูกต้องไหม ก็เป็นธรรมที่ไม่เดือดร้อน ความจริงของธรรมที่ไม่เดือดร้อน จะให้เดือดร้อนก็ไม่ได้ ความจริงของธรรมที่ไม่เดือดร้อนก็ต้องไม่เดือดร้อน เวลาที่เดือดร้อนเกิดขึ้น ความจริงของธรรมที่เดือดร้อน จะเปลี่ยนเป็นธรรมที่ไม่เดือดร้อนก็ไม่ได้ เป็นความจริงของธรรมแต่ละอย่าง เกิดต่างขณะ ไม่ปะปนกัน เมื่อไรจะเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ฟังนานมาก อาจจะไม่ใช่เพียงชาตินี้ แต่ก็ไม่พอที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมจริงๆ แสดงว่าต้องฟังอีก เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก หนทางเดียว
อ.กุลวิไล ที่เดือดร้อนเพราะว่า เราไม่รู้จักธรรมตามความเป็นจริง และยึดถือธรรมที่ปรากฏว่าเป็นเรา ของเรา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจ จะไปทำอย่างอื่นได้หรือไม่
ผู้ฟัง เดิมที่ไม่ได้ฟังเลย ก็นึกว่า มีตัวเราจริงๆ คิดว่าเห็น ได้ยินเป็นเราที่เห็น ได้ยิน จะไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรม และนึกว่าธรรมเป็นอะไรที่ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน ต้องไปหา ไปทำ แต่เมื่อฟัง ก็เริ่มเข้าใจว่า จริงๆ แล้วปัจจุบันนี้ ขณะนี้มีธรรมอยู่ตลอดเวลา ถ้ารู้ ก็คือเข้าใจ ถ้าไม่รู้ ก็คือไม่รู้ มืดบอดอยู่ ถ้าฟังแล้วค่อยๆ รู้ ก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้ไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ตอบได้แล้วใช่ไหม รู้ธรรมหรือยัง รู้ธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง
ผู้ฟัง ถ้ารู้ขั้นตรงลักษณะก็ยัง ถ้าขั้นฟังก็พอได้
ท่านอาจารย์ ก็เป็นผู้ตรง ถ้าตรงอย่างนี้ก็ค่อยๆ รู้ขึ้น
อ.วิชัย ในวินัย ๒ อย่าง คือ "สังวรวินัย" อย่างหนึ่ง และ "ปหานวินัย" อย่างหนึ่ง สังวรวินัยก็แสดงไว้ ๕ อย่าง "ปาติโมกข์สังวร สติสังวร วิริยะสังวร ขันติ และญาณสังวร" ส่วนปหานวินัย เข้าใจว่าเป็นส่วนของปัญญาทั้งหมด หมายถึง ปัญญาในขั้นของญาณสังวร ยังไม่ถึงระดับที่เป็นปหานวินัย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด มีปัญญาไหม
อ.วิชัย มี
ท่านอาจารย์ สังวรหรือไม่ แต่ปัญญายังไม่ถึงระดับที่จะเป็นปหาน
อ.วิชัย เข้าใจว่า วินัย ในขั้นของวิปัสสนาญาณเอง ในส่วนของที่เป็น "ตรุณวิปัสสนา" ก็ยังไม่ถึง เป็นการรู้แจ้ง แต่ยังไม่ถึง "ปหาน"
ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า “ตทังคปหาน” ได้ เพราะขณะนั้น พ้นจากความเห็นผิดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ยังไม่ใช่สมุจเฉท
อ.วิชัย ซึ่ง "ตทังคปหาน" ก็มีหลายระดับ
อ.กุลวิไล พูดถึง การสังวร การสำรวม ก็คือ ขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้เอง เพราะว่าก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าหลงลืมสติ ขณะนั้นก็ไม่ได้สังวร เพราะว่าเป็นไปกับอกุศล แต่ว่าขณะใดที่รู้ธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดได้ ก็เป็นความเห็นถูก
ท่านอาจารย์ แต่จะเป็นสังวรอื่นได้หรือไม่ เพราะว่าสังวรมีหลายอย่าง
อ.คำปั่น "สังวร" ก็คือ ปิดกั้น หรือสำรวม โดยศัพท์จะเป็นลักษณะอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ก็เป็นชีวิตประจำวัน ไม่เรียกชื่อก็มี แต่เรียก เพื่อให้รู้ความต่างกันของแม้แต่สังวร ซึ่งเข้าใจได้ว่า สังวรที่เป็นปาติโมกขสังวรศีล ไม่ใช่แต่เฉพาะบรรพชิต เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของกาย วาจาด้วย ถ้าสิ่งใดที่ดีงามที่บรรพชิตควรประพฤติ คฤหัสถ์ไม่ควรประพฤติหรือ หรือว่าพระท่านประพฤติไป เราไม่ต้องหรืออย่างไร
นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้เข้าใจความจริงว่า เมื่อเป็นสิ่งที่ดีงามแล้ว ควรประพฤติไม่ว่าใคร ใครจะประพฤติได้มากน้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่เพศ อย่างเพศบรรพชิตก็จะประพฤติขัดเกลาได้มากกว่าคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่า ทรงบัญญัติสิ่งที่เหมาะควร ซึ่งพระภิกษุทั้งหลายท่านก็รับรองว่า เป็นสิ่งที่เหมาะสมแก่เพศของบรรพชิต
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วเป็นพระภิกษุ ก็ต้องประพฤติตามพระวินัยบัญญัติด้วย จึงจะเหมาะสมแก่การเป็นบรรพชิต เพราะเป็นความประพฤติทางกาย ทางวาจา ถ้าอ่านดูพระวินัยบัญญัติ จะไม่เห็นข้อความใดซึ่งไม่น่าจะกระทำตาม เพียงแต่จะกระทำตามได้มากน้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่ว่า มีความเข้าใจสิ่งที่ดีงามทางกาย ทางวาจามากขึ้น ก็ประพฤติปฏิบัติตามได้มากขึ้น เพราะว่าเห็นประโยชน์ แต่ว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องโทษถ้าไม่ประพฤติ เพราะเหตุว่าไม่ใช่บรรพชิต
แต่ถ้าเป็นบรรพชิตไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ต้องอาบัติ หมายความว่าเป็นโทษ ที่จะต้องระลึกได้ แล้วมีความตั้งใจที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัยต่อไป ไม่ใช่เมื่อระลึกได้แล้วก็ปล่อยไป แล้วก็ปลงอาบัติอีกแล้วก็เรื่อยๆ อย่างนั้น ไม่ใช่ นั่นไม่ได้หมายความว่า มีความสำนึก หรือมีความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น กายวาจาที่ดีเหมาะสำหรับคฤหัสถ์ด้วยหรือเปล่า อยากดีมากๆ ก็อ่านพระวินัย แล้วจะรู้ "อภิสมาจาร" ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาที่น่าประพฤติตามอย่างยิ่ง แล้วก็ค่อยๆ ประพฤติตามด้วย เป็นชีวิตจริงทั้งหมดที่ได้กล่าวถึง เพียงแต่ไม่ได้ยกมากล่าวเป็นหัวข้อ แต่ให้ทราบว่า ทั้งหมดของกุศลที่จะเจริญขึ้นต้องตามลำดับที่มีความเข้าใจถูกด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ที่ละเว้น มุ่งแต่จะอบรมเจริญปัญญา แต่ไม่มีความรู้ถูก ความเห็นถูกในกาย วาจา ซึ่งกำลังเป็นอกุศล อย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง
นอกจากปาติโมกขสังวรศีล ก็ยังมีอินทรียสังวรศีล เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ทุกคนมี เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน ตามฉันทะ ความพอใจที่จะเป็นอกุศลมากขึ้น หรือเพื่อที่จะเป็นอกุศลน้อยลง เพราะรู้ว่า ถ้าสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย กุศลก็เกิด หลายท่านก็บอกว่า ท่านเว้นไม่ฟังเรื่องอกุศลสักพักหนึ่ง จิตใจของท่านปลอดโปร่ง รู้สึกว่าสบายขึ้นเวลาที่ฟังธรรม นี่แสดงให้เห็นว่าเพราะอะไร อินทรีย์ คือ ตา เห็น อ่าน คิดเรื่องที่ทำให้จิตกังวลเดือดร้อน กับตาก็มี แล้วก็เห็น หรืออ่านสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขณะนั้นก็จะเห็นได้ว่าทำให้จิตใจต่างกัน เป็นผลของการสำรวมตา เห็นว่า ควรอ่านอะไร ควรดูอะไร ควรคิดอะไรที่เป็นประโยชน์ เพราะถ้าไม่เข้าใจประโยชน์ มีเรื่องมากมายที่จะทำให้อกุศลเกิดมากมาย ทางตา ก็มีทั้งรูปภาพซึ่งบางคนอยากจะเห็น อยากจะดูสิ่งที่ไม่ควรจะดู แต่ก็สะสมมาที่จะไม่เห็นโทษว่า ถ้าไม่ดู "อินทรียสังวร" ทางตา ขณะนั้นจิตก็หันมา สะสมมาที่จะเป็นกุศลมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เป็นความละเอียด แม้แต่การพบปะบุคคล หรือหนังสือ สิ่งใดๆ ก็ตามที่จะทำให้เป็นโทษ เพราะเหตุว่าไม่เห็นอันตรายของการเห็น หรือการดูสิ่งต่างๆ เหล่านั้นซึ่งไม่เป็นประโยชน์ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ผู้ฟัง ตาเราไม่อยากดู เราปิดได้ เหม็น ก็อุดจมูกได้ แต่หู มันอุดไม่ได้ ได้ยินก็ต้องได้ยิน จะสังวรทางหูได้อย่างไร ความจริงไม่อยากได้ยิน แต่ก็ต้องได้ยิน
ท่านอาจารย์ แต่บางครั้งไม่ได้ยินก็ยังอยากได้ยิน ไปตามหาให้ได้ยิน สังวรหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เวลาที่ถึงแม้ไม่ได้ไปตามหาสิ่งที่ไม่ควรเห็น ไม่ควรได้ยิน แต่ก็มีการเห็น มีการได้ยินเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย จึงมีสติสังวร เพราะฉะนั้น ก็เป็นไปตามลำดับขั้น ไม่ใช่เพียงแค่ "ปาติโมกขสังวรศีล" ก็พอแล้ว "อินทรียสังวรศีล" ก็พอแล้ว แต่เมื่อกำลังเผชิญกับสิ่งนั้น แล้วก็ขาดสติ ขณะนั้นก็เป็นไปตามกำลังของอกุศล
ผู้ฟัง ในขณะที่เราได้ยินสิ่งที่เราไม่อยากได้ยิน แต่ถ้าสติเกิด คือสังวรใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ได้ยินแล้ว ไม่เป็นอกุศล เพราะอะไร
ผู้ฟัง เป็นอกุศล เพราะจิตคิดนึก
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสติ จะเป็นกุศลได้ไหม
ผู้ฟัง เขาดับไปแล้ว
ท่านอาจารย์ ใครว่าเรา โกรธไหม หูมาแล้ว ได้ยินแล้วเสียงอย่างนี้ ไม่อยากได้ยินเลย โกรธไหม แล้วเวลาไม่โกรธเพราะอะไร
ผู้ฟัง สติเกิด
ท่านอาจารย์ ต่อไปเป็นอะไร
อ.กุลวิไล ญาณสังวร
ท่านอาจารย์ ถ้าสติเกิด จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นบ้างไหม ถ้าสติไม่เกิด จะเอาความเข้าใจมาจากไหน
อ.กุลวิไล นัยของ "ขันติสังวร" และ "วิริยสังวร"
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่เห็นว่า ขันติ ความอดทน ไม่ใช่ตัวปัญญา แต่ว่า เวลาใดที่เป็นสังวร เป็นฝ่ายโสภณ เวลาที่ใครกำลังว่า ว่า ว่า ขันติมีหรือเปล่า ก็ต้องมีกับสติด้วย แล้วจริงๆ ขณะนั้นปัญญายังสามารถที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่เกิดแล้วก็หมดไป เป็นธรรม ก็เป็นเรื่องที่ต้องอบรมเจริญขึ้น ด้วยความเห็นถูก ความเข้าใจถูก
ผู้ฟัง เรื่องวิถีจิต เมื่อทราบว่า เราไม่สามารถรู้ขณะจิตขณะนั้นได้ ว่าตอนไหนเป็นปัญจทวารวิถี ตอนไหนเป็นมโนทวารวิถี หรือในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร การศึกษาตรงนี้ สำหรับพวกเราที่ศึกษาก็ยากแล้ว การเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จริงๆ วิถีจิตก็เป็นขณะนี้ แต่เหมือนกับยังไม่เข้าใจตรงนี้ ขอท่านอาจารย์ขยายความว่า วิถีจิตไม่ใช่อื่นเลย เป็นขณะนี้ แล้วก็เป็นชีวิตประจำวัน
ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม อย่ากังวลเรื่องชื่อ แต่ให้มีความเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมมีจริงๆ กำลังปรากฏ ซึ่งน้อยคนที่จะมีโอกาสได้ฟัง ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าไม่เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม จะไม่รู้เลยว่า การศึกษาคือการฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในภาษาหนึ่งภาษาใดก็ได้ เพราะว่าขณะนี้ยังไม่มีคำเลย มีธรรมหรือไม่ มี เห็นไหม แต่ว่าทำไมถึงต้องใช้คำ เพราะว่าธรรมก็มีหลากหลาย เสียงเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม คิดนึกเป็นธรรม เป็นธรรมโดยไม่มีโอกาสจะเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังธรรม เพราะฉะนั้น การได้ยินได้ฟังสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถกล่าวถึงได้เลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยละเอียด โดยถ่องแท้ โดยประจักษ์แจ้ง โดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ทรงแสดงไม่พ้นจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย
เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ไม่ใช่ฟังแล้วจะรู้แจ้งสภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟังเมื่อไร นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ จุดประสงค์ คือ รู้ว่าไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังเพื่อที่จะเข้าใจธรรม คิดถึงตัวเราหรือเปล่า กำลังฟังธรรม คิดถึงตัวเรา หรือว่ากำลังมีธรรมปรากฏ แล้วกำลังฟังเพื่อให้เข้าใจถูก มีความเห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น การฟังจึงต้องละเอียด ไม่ใช่ไปคิดเรื่องอื่น หรือไปคิดเรื่องเรา หรือไปคิดเรื่องเมื่อไรจะรู้สภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟัง นั่นคือไม่ได้ฟังธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟังเลย แต่การเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังที่กำลังปรากฏ ก็เป็นแต่ละคนที่จะรู้ว่า มีความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้นหรือเปล่า แค่ไหน หรือไปนั่งคิดว่า เราฟังแล้วเมื่อไรจะเข้าใจ หรือเมื่อไรจะรู้อย่างนั้น อย่างนี้ นั่นคือไม่ได้เข้าใจธรรม และไม่ได้ฟังธรรมด้วย เพราะเหตุว่าการฟังธรรมเพื่อรู้จักธรรม เพื่อละความไม่รู้ ละความติดข้องที่เคยยึดถือธรรมทั้งหมดที่ปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นอัตตา หรือว่าเป็นอัตสัญญาที่จำไว้มั่นคงมานานแสนนาน เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาจะค่อยๆ ซึมเข้าไปจนกระทั่งถึงอนุสัยกิเลสที่ติดแน่นอยู่ในจิต ก็ไม่ต้องไปนึกถึงชื่อต่างๆ มรรค อะไรต่ออะไร เพราะขณะนี้ฟังธรรมก็ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าทรงแสดงธรรมโดยนัยของพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรมก็ตาม ก็คือสิ่งที่มีจริง พระสูตรเมื่อวานนี้กล่าวถึงอะไร
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 481
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 482
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 483
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 484
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 485
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 486
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 487
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 488
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 489
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 490
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 491
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 492
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 493
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 494
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 495
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 496
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 497
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 498
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 499
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 500
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 501
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 502
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 503
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 504
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 505
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 506
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 507
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 508
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 509
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 510
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 511
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 512
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 513
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 514
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 515
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 516
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 517
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 518
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 519
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 520
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 521
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 522
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 523
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 524
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 525
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 526
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 527
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 528
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 529
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 530
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 531
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 532
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 533
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 534
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 535
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 536
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 537
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 538
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 539
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 540