พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 492


    ตอนที่ ๔๙๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่มีปัญญาแล้วจะไปรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนสามารถประจักษ์การเกิดดับ ซึ่งเป็นอริยสัจจะได้อย่างไร เพราะฉะนั้นทุกคนข้ามปัญญา บอกได้เลยว่า ข้ามปัญญา ไปหวังสติ หวังสมาธิ หวังผลใดๆ ก็ตาม แต่ไม่เข้าใจเลยว่า ปัญญา คืออะไร ปัญญา คือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก แม้ไม่ใช้คำว่า “ปัญญา” ถ้าขณะนี้สามารถเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง นั่นก็คือปัญญาแม้จะไม่ใช้คำว่าปัญญา แต่ถ้าใช้คำว่าปัญญา แต่ไม่รู้ว่า ปัญญาคืออะไร ก็คือไม่ได้เข้าใจอะไรเลย

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่า ปัญญายังไม่เจริญ และมีกำลังพอที่จะประจักษ์สิ่งที่เกิดขึ้นที่เป็นรูป และเป็นนาม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เหตุกับผลต้องตรงกันใช่หรือไม่ ตอนนี้คุณชุนห์ไม่สงสัยเลยว่า ทำไมไม่ประจักษ์

    ผู้ฟัง สงสัยว่า วิถีจิตแรกที่เกิดทางมโนทวาร ทำไมถึงต้องมีโลภมูลจิตเกิดขึ้นทันที ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คุณบุษกร หมายความถึงในชาติหนึ่งๆ ใช่หรือไม่ หรือตอนไหน

    ผู้ฟัง ขณะที่เกิด

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เกิด หมายความถึงปฏิสนธิจิตเกิด แล้วดับไป แล้วต่อจากนั้นก็จะเป็น "มโนทวารวิถีจิต" ซึ่งเป็นโลภมูลจิตทุกภพชาติ จะไม่มีวิถีที่เป็นอย่างอื่นเกิดได้เลย

    ผู้ฟัง หมายความว่า ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับไปแล้ว ต่อจากนั้นต้องเป็นภวังค์ จิตอื่นเกิดสืบต่อไม่ได้ หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับ ภวังคจิตเกิดสืบต่อ ต่อจากนั้น "มโนทวารวิถีจิต" เกิด ไม่ใช่ปัญจทวารวิถี และเมื่อ "มโนทวารวิถีจิต" เกิด โลภมูลจิตเกิดสืบต่อ ลองคิดดู คุณบุษกรหมดโลภะหรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ มากไหม

    ผู้ฟัง มาก

    ท่านอาจารย์ โลภะในอะไร ทุกสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้ไม่เห็น คิดไหม คิด คิดมากกว่าที่เห็นด้วยซ้ำไป และมากกว่าได้ยินด้วย มากกว่ากลิ่น มากกว่ารส ซึ่งเกิดแล้วจริงๆ ปรากฏจริงๆ ดับไปแล้วจริงๆ เป็นแต่ละทวารจริงๆ ก็เป็นโลกของความคิด แล้วก็เป็นโลกของความติดข้องอย่างมาก เมื่อคืนนี้ก่อนจะหลับ มีใครรู้บ้างหรือไม่ว่าคิดเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้ ไม่ได้สนใจ

    ท่านอาจารย์ คนที่รู้ มีหรือไม่

    ผู้ฟัง น่าจะมี

    ท่านอาจารย์ บางคนก็มีเรื่องที่กังวลมาก คิดแล้วหลับไปเมื่อไรก็ไม่รู้ ใช่ไหม บางคนอาจจะโกรธ ขุ่นเคืองใจ มีแต่เรื่องแค้นใจ คิดนั่นคิดนี่ หลับไปเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ก่อนจะหลับจริงๆ ก็ไม่รู้ แต่ว่าการสะสมที่ทุกคนมี แน่นอนที่สุด คือ ความยินดีในภพชาติ เพราะฉะนั้น ตราบใดก็ตามที่ยังมีการเกิดอยู่ หลังจากที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ จะเกิดภพไหน ภูมิไหนก็ตาม ปฏิสนธิจิตไม่ใช่วิถีจิต เป็นจิตขณะแรกซึ่งกรรมเป็นปัจจัยให้เกิด ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย แต่ว่ารับอารมณ์สืบต่อจากจิตใกล้จะจุติ แล้วแต่ว่าจิตใกล้จะจุติมีอะไรเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปกติธรรมดา หลังจากที่ "ปัญจทวาราวัชชนจิต" ดับไปแล้ว "มโนทวารวิถีจิต" จิตที่เกิดสืบต่อทางใจ แม้ไม่มีสิ่งนั้นแล้ว ก็ยังรู้สิ่งนั้นสืบต่อเหมือนในขณะนี้เลย ไม่ใช่มีแต่เห็น ยังมีการรู้อารมณ์ต่อจากขณะที่เห็น เหมือนกันเลย ทำให้แยกไม่ออกว่า ขณะไหนเป็น "จักขุทวารวิถี" และขณะไหนเป็น "มโนทวารวิถี" เพราะเป็นอารมณ์เดียวกัน เหมือนกันทุกประการ เพียงแต่ว่า สำหรับทาง "ปัญจทวารวิถี" นั้นต้องเป็นอารมณ์ที่ยังไม่ดับ แต่ความรวดเร็วแม้มีภวังค์คั่น "มโนทวารวิถี" ทางใจ ไม่ต้องมีใครไปบอกอะไรเลย เกิดขึ้นรับรู้ต่อเหมือนกันกับอารมณ์นั้นเลย

    ด้วยเหตุนี้ปฏิสนธิจิตจึงมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน ซึ่งปกติถ้าจุติจิตไม่เกิด ก็จะเป็นจิตที่รู้อารมณ์นั้นต่อทางใจ แต่เมื่อจุติจิตเกิด ดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่มีอารมณ์ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เป็นอารมณ์ใกล้จุติของชาติก่อน ใครรู้ได้ ถ้ารู้ได้ ก็รู้ว่าชาติก่อนเป็นใครอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร มีอารมณ์อะไร เห็น หรือได้ยิน หรือคิดนึก แต่จุติจิตก็เหมือนประตูที่ปิดสนิท ทำให้ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าชาติก่อนมีอะไรบ้าง สุข ทุกข์ เหมือนชาตินี้ไหม เมื่อถึงชาติหน้าก็ไม่รู้เลย ชาตินี้กำลังเป็นอย่างนี้ สุขทุกข์แค่ไหน กำลังคิดเรื่องอะไร มีอะไรต่างๆ ก็ไม่รู้เลย

    เพราะฉะนั้น หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ จิตที่เกิดสืบต่อก็เป็นผลของกรรมเดียวกัน ที่ทำให้เป็นจิตประเภทเดียวกันเกิดดับดำรงภพชาติ จนกว่ามีการรู้สึกตัว เป็น "มโนทวาราวัชชนจิต" เป็นวิถีจิตแรกเกิดขึ้น เร็วแสนเร็ว ก็คือความติดข้องในภพ ในความมี ในความเป็น ไม่ว่าจะเป็นภพไหนก็ตาม ต่อจากนั้นก็แล้วแต่ว่าจะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้อะไรเกิดดับสืบต่อไป แต่ที่แสดงไว้ก็คือว่า วาระแรกที่เป็นวิถีจิตทางมโนทวาร หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ก็คือโลภะ ไม่ต้องใช้คำว่า “ชวนะ” ได้หรือไม่ ไม่ต้องใช้คำว่า วิถี ได้ไหม ก็รู้อยู่แล้ว ฟังแล้วต้องเข้าใจ แล้วก็ไม่ทิ้ง ไม่ลืมสิ่งที่ได้เข้าใจแล้วด้วย เมื่อกล่าวถึงโลภะเป็นชวนวิถี เป็นวิถีนี่รู้แน่ แต่ “ชวนะ” ถ้าไม่ได้ศึกษาเรื่องวิถีจิต ก็คือการเกิดดับสืบต่อของจิตที่รู้อารมณ์เดียวกันทางหนึ่งทางใดนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น จิตแต่ละขณะซึ่งทำกิจแต่ละอย่าง ก็มีชื่อ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นเป็นจิตขณะไหน เช่น ถ้าใช้คำว่า "สัมปฏิจฉันนะ" เป็นวิถีจิตหรือเปล่า เป็น ไม่ใช่คำว่า วิถีได้ไหม ได้ และ "สัมปฏิจฉันนะ" ไม่ใช่ภาษาไทย แต่ว่าเมื่อจิตเห็นดับแล้ว มีจิตเกิดต่อไหม มี จิตนั้นรู้อารมณ์เดียวกับจิตเห็นไหม รู้อารมณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้น ภาษาบาลีใช้คำว่า "สัมปฏิจฉันนะ" จะใช้คำว่า รู้ต่อ คือรับรู้ก็ได้ ขณะต่อไปใช้คำว่า "สัมปฏิจฉันนะ" ก็ไม่จำเป็น ถ้าไม่อยากจำชื่อ แต่ให้รู้ความเป็นจริงว่า จิตเกิดดับเร็วมาก แล้วใครก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเกิดขึ้นเป็นไป "ปวัตติ" ของจิตได้เลย ทุกขณะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยมากมายหลายขณะ ซึ่งไม่มีใครไปบังคับบัญชา หรือไปเปลี่ยนแปลงได้ "สัมปฏิจฉันนจิต" ที่เกิดต่อจาก "จักขุวิญญาณ" หรือ "โสตวิญญาณ" ก็ดับแล้ว มีจิตเกิดต่อหรือไม่ มี รู้อารมณ์เดียวกันหรือเปล่า รู้อารมณ์เดียวกัน แต่ไม่ได้รับต่อจาก "จักขุวิญญาณ" หรือ "โสตวิญญาณ"

    เพราะฉะนั้น เมื่อ "สัมปฏิจฉันนจิต" รับต่อแล้ว จิตที่เกิดต่อก็รู้ แต่ใช้คำว่า พิจารณา ในภาษาไทยเราเวลาใช้คำว่า พิจารณา เหมือนนานมาก แต่ว่า ๑ ขณะจิตที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่รับต่อจากจักขุวิญญาณ แต่เกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ เพราะฉะนั้น ก็ใช้คำว่า พิจารณาต่อ รู้ว่าอารมณ์เดียวกัน และต่อจากนั้น ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิดได้ จะต้องมีจิตซึ่งไม่ใช่วิบาก และไม่ใช่กุศล เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณเป็นวิบากจิต "สัมปฏิจฉันนะ" เป็นวิบากจิต "สันตีรณะ" เป็นวิบากจิต กรรมทำให้จิตเหล่านี้ที่จะรู้อารมณ์เดียวกัน เกิดสืบต่อกัน หมดแล้วแค่นั้นของวิบาก ต่อจากนั้น กุศล และอกุศลก็ยังเกิดไม่ได้ เป็นคนละชาติ ก็มีจิตที่เกิดคั่น คือ หลังจากที่ "สันตีรณจิต" เกิดแล้ว จิตที่เกิดต่อ ใช้คำว่า จิตที่เกิดต่อ ไม่ได้เกิดความยินดีพอใจทันที เป็นโลภะหรือโทสะทันที แต่ว่าเป็นจิตที่เป็นปัจจัย ที่จะให้กุศล และอกุศลที่สะสมมามากมายของแต่ละคน ไม่สามารถรู้ได้ว่า จะปรุงแต่งให้จิตขณะต่อไป หลังจากจิตที่เกิด ที่ไม่ใช่กุศล อกุศล ใช้คำว่า "โวฏฐัพพนจิต" แปลตรงก็เหมือนกับตัดสิน ตามภาษาบาลี คุณคำปั่นกรุณาแปลด้วย

    อ.คำปั่น คำว่า "โวฏฐัพพนะ" ในรูปของภาษาบาลี ตามศัพท์แปลว่า ตัดสิน แต่จริงๆ โดยสภาพธรรมแล้วก็เป็นจิตประเภทหนึ่งที่เป็นกิริยาจิต ซึ่งกระทำทางให้ชวนจิตเกิดขึ้นเป็น "ชวนปฏิปาทกมนสิการ" ซึ่งโดยสภาพธรรมแล้วก็คือ "มโนทวาราวัชชนจิต" ซึ่งทำ "โวฏฐัพพนกิจ" ทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วคนที่ไม่ได้เรียนมาก่อน ไม่รู้จักชื่อต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเราใช้ภาษาไทยให้เข้าใจก่อน แล้วให้รู้ภาษาบาลีภายหลัง เพราะเหตุว่าถ้าสามารถเข้าใจแต่ละคำ ก็ไม่ลืม เช่นที่คุณคำปั่น ใช้คำว่า "ชวนปฏิปาทกมนสิการ" ไม่ใช่ภาษาไทยเลย แต่แสดงให้เห็นแต่ละคำ "ชวนะ" คือ จิตซึ่งเกิดรู้อารมณ์นั้น โดยไม่ต้องมาเห็น มารับเลย พอใจ ไม่พอใจในสิ่งนั้นที่จิตก่อนๆ รับแล้ว รู้แล้ว

    เพราะฉะนั้น เราค่อยๆ พูดตามลำดับว่า เวลาที่ "จักขุวิญญาณ" หรือ "โสตวิญญาณ" ดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อ รับรู้ต่อขณะหนึ่ง ชื่อว่า "สัมปฏิจฉันนจิต" และเมื่อดับไปแล้ว ก็มีจิตที่เกิดต่อสืบต่อเป็นวิบากอีกขณะหนึ่ง เป็น "สันตีรณจิต" จะจำก็ได้ ไม่จำก็ได้ ต่อจากนั้นที่กุศลหรืออกุศลที่สะสมมาจะเกิดได้ จึงเป็นเหตุที่ต้องรู้ชาติของจิต จิตต่างกันเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี ซึ่งเป็นเหตุ และเป็นผลคือวิบาก ก็มี และเป็นจิตที่ไม่ใช่เหตุ คือไม่ใช่กุศล อกุศล ไม่ใช่วิบาก จิตนั้นเป็นกิริยา

    นี่คือสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด แต่โดยนัยของพระสูตรที่เรากล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ ไม่ได้พูดถึงเลย เพราะเหตุว่าแม้ขณะนี้เป็นอย่างนี้ก็เร็วแสนเร็ว ที่ทรงแสดงให้เห็นก็คือ พระปัญญาคุณที่ทรงอุปการะเพื่อให้เห็นว่า อย่าเข้าใจว่า ทันทีที่เห็นแล้วก็เป็นโลภะ โทสะได้ แต่ต้องมีจิตอื่นเกิดคั่น แต่เมื่อไม่ปรากฏไม่รู้ ก็สามารถที่จะกล่าวได้เฉพาะสิ่งที่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิดได้ต้องมีจิต ๑ ขณะซึ่งเกิดก่อน คือ "ชวนปฏิปาทกมนสิการ" จิตนี้เกิดก่อนโลภะ โทสะ โมหะ หรือกิริยาจิต ซึ่งไม่ใช่วิบาก เริ่มเป็นเหตุ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ผลแล้ว ผล หมดเพียงแค่จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต หมดสภาพธรรมที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ทำให้รู้รูปหรือเสียงที่ปรากฏ ต่อจากนั้นจะมีความยินดีติดข้องพอใจ หรือว่าเป็นกุศล ก็แล้วแต่ หรือจะเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีกุศล และอกุศลแล้ว แต่ก่อนจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีกิริยาจิตเกิดก่อน ภาษาบาลีคือ "ชวนปฏิปาทกมนสิการ" จิตนี้ทำอะไร "ปฏิปาทกะ" "ปฏิ" แปลว่าเฉพาะ "ปาทกะ" แปลว่า เป็นบาท หมายความว่า เป็นเบื้องต้น เป็นบาทเฉพาะที่จะให้กุศลจิต และอกุศลจิตที่สะสมมาเกิดขึ้นได้ เพราะว่าถ้าจิตนี้ไม่เกิด กุศลจิต และอกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ แม้ว่ามีสะสมมาด้วยเหตุนี้จิตนี้ที่ทำกิจนี้ที่จะต้องเกิดก่อน เป็นบาทเฉพาะของกุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิต จึงมีชื่อว่า "ชวนะ" ซึ่งหมายความถึงกุศล อกุศล กิริยา ถ้าเป็นกุศล อกุศล ก็เป็นเหตุใหม่ ไม่ใช่ผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วที่ทำให้สิ่งนี้ปรากฏ "ชวนปฏิปาทกมนสิการ" จิตนี้เกิดเป็นบาทเฉพาะ เหมือนกับกระทำทาง เป็นทางที่จะให้กุศลจิต และอกุศลจิตที่สะสมมาเกิดได้ จึงเป็น "ชวนปฏิปาทกมนสิการ" มนสิการก็กล่าวถึงแล้ว ๓ ประการ ขณะนี้คุณบุษกรมีอกุศลหรือกุศลจิต

    ผู้ฟัง ขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่า เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ แต่มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่กุศลจิต อกุศลจิตจะเกิดได้ ต้องมีอะไรเกิดก่อน

    ผู้ฟัง ชวนะ

    ท่านอาจารย์ จิต ๑ ขณะที่ใช้คำว่า "ชวนปฏิปาทกมนสิการ" เพราะชวนะ หมายความถึงกุศลจิต หรืออกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุใหม่ หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์ ซึ่งไม่ใช่เหตุที่จะให้เกิดผลเกิดขึ้น แต่เป็นโสภณ หรือแล้วแต่ว่าจะเป็นอเหตุกะ ก็แล้วแต่ ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของจิต ซึ่งใช้อีกชื่อหนึ่งก็คือ "โวฏฐัพพนจิต" ทางปัญจทวาร เหมือนตัดสิน แต่เป็นการทำทาง หรือเป็นบาทเฉพาะที่จะให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดได้สืบต่อ เพราะฉะนั้น เป็นเรา หรือว่าเป็นธรรม ศึกษาธรรมขณะนี้ ไม่ลืมเลย ถ้าฟังเข้าใจธรรม ก็คือรู้ว่า ขณะนี้เป็นอย่างนี้ จะรู้หรือไม่รู้ ชื่อไม่ต้องจำก็ได้ แต่เข้าใจว่า การสืบต่อเป็นอย่างนั้น ตรงกับที่คุณอรวรรณถามหรือเปล่า วิถีจิตแรกไม่ว่าจะภพไหนทั้งสิ้น มีความยินดีในภพในความเป็นทันทีที่รู้สึกตัว ยังไม่มีอารมณ์ใดๆ กระทบตา หู จมูก ลิ้น กายเลย แต่ "ภวังคจลนะ" ก็ไหวเพื่อที่จะรู้อารมณ์ของโลกนั้นที่เกิดแล้ว โดยการสะสมมาในความติดข้องยินดีในภพ เมื่อ "ภวังคจลนะ" ดับ "ภวังคุปัจเฉทะ" ดับ จิตที่เกิดก่อน โลภชวนะซึ่งเป็นวิถีชวนะแรกของทุกภพ ก็ต้องเป็น "มโนทวาราวัชชนจิต" ขณะนี้มีหรือไม่ "มโนทวาราวัชชนจิต"

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่วิถีจิตแรกต่อจากปฏิสนธิ แต่ก็เป็นอะไร หลากหลาย แล้วแต่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือว่ากุศลจิต ซึ่งมาจากไหน เกิดได้อย่างไร ถ้าไม่มีการสะสมมาพร้อมที่จะเกิดเมื่อไร เกิดได้ทันที เร็วแสนเร็วในขณะนี้ เพราะฉะนั้น การพูดถึงธรรม พูดถึงสภาพธรรมซึ่งใครจะรู้ได้หรือ ในเมื่อเกิดดับเร็วสุดจะประมาณได้ ปรากฏให้เห็นเป็นเพียงนิมิตของทุกอย่าง จึงเป็นรูปนิมิต คือนิมิตของรูป นิมิตของความรู้สึก คือเวทนานิมิต นิมิตของสัญญา คือความจำ ทุกอย่างเป็นนิมิตหมด เพราะว่าเกิดดับเร็ว แล้วก็เหลือแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏเหมือนเที่ยง ไม่ดับเลย

    อ.กุลวิไล เมื่อพูดถึงความยินดีในภพ จาก "นิพเพทิกสูตร" ที่ท่านกล่าวว่า "ผัสสะ เป็นเหตุแห่งกาม" ซึ่งกามในที่นี้ก็คือ ความใคร่นั่นเอง เพราะฉะนั้น ผัสสะกระทบอารมณ์ แล้วก็เป็นปัจจัยให้โลภะ ที่มีความติดข้องในอารมณ์นั้น ก็ยังมีบุคคลที่เมื่อผัสสะกระทบกับอารมณ์แล้ว ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส อย่างที่สนทนากันมาคราวที่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ผัสสะกระทบกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือเปล่า ไม่ว่าใคร

    อ.กุลวิไล กระทบ

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่มีกิเลสหรือไม่มีกิเลส ผัสสะก็กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในกามภูมิจะปราศจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อผัสสะเกิดก็กระทบกับรูปที่กระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย และกระทบใจต่างหาก ทางมโนทวาร

    อ.กุลวิไล เหตุของการเกิด ของเวทนา สัญญา เจตนาก็เกิดจากผัสสะ ซึ่งนัยที่ว่า ผัสสะเป็น "สัมปยุตตธรรม" กับเวทนา เจตนา และสัญญา เพราะฉะนั้น แน่นอนผัสสะกระทบอารมณ์ใดก็ต้องมีสภาพธรรมทั้ง ๓ นั้นเกิดร่วมด้วย แต่ว่ากล่าวแยกได้ อย่างผัสสะกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เวทนาเป็นไปตามนั้นหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่จะแสดงให้เห็นความเป็นจริงว่า เวทนาไม่ได้มาจากอื่นเลย แต่เกิดกับจิตตามผัสสะที่จิตรู้อารมณ์นั้น แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกเกิดทุกขณะ แล้วแต่ประเภทของความรู้สึกนั้น ถ้าเกิดกับ "จักขุวิญญาณ" ก็เป็นอุเบกขา "โสตวิญญาณ" ก็เป็นอุเบกขา "ฆานวิญญาณ" ก็เป็นอุเบกขา "ชิวหาวิญญาณ" ก็เป็นอุเบกขา แต่กายจะให้เป็นอุเบกขาได้ไหม ไม่ได้ ก็ต้องเป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา แต่ต่อจากนั้น สำคัญที่สุดที่ไม่รู้ คือ อาสวะ โลภะก็เป็นอาสวะ อวิชชาก็เป็นอาสวะ มีพร้อมที่จะกระทำกรรม แล้วกรรมเมื่อมีแล้วก็พร้อมที่จะให้เกิดทุกข์ คือ ปฏิสนธิ นำมาซึ่งชาติ ชรา พยาธิ โสกะ มรณะ ประจวบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ พลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ

    อ.กุลวิไล ท่านจึงแสดงว่า เหตุเกิดแห่งอาสวะก็คือ อวิชชานั่นเอง เพราะเมื่อยังไม่รู้ธรรมที่เป็นจริง ก็ย่อมเป็นไปปัจจัยให้เป็นไปกับอกุศลธรรมมากมาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมโดยนัยต่างๆ ที่แสดงนัยของผัสสะ เวทนา อาสวะ เตือนแล้วใช่หรือไม่ กระทบตา มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น สิ่งที่ปรากฏก็สีบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง จะให้ปราศจากความรู้สึกในสิ่งนั้นๆ เป็นไปไม่ได้ ดีไหม ที่มีความรู้สึกอย่างนั้นๆ แต่ให้รู้ว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส ขณะนั้นก็เป็นอาสวะ เตือนทันทีให้รู้ว่า อาสวะมากแค่ไหน เพราะฉะนั้น คำถามของท่านที่ว่า แล้วเมื่อไรจะรู้ ก็คงตัดไปได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจจริงๆ ซึ่งหมายความถึงปัญญานั่นเอง

    ผู้ฟัง ตามที่กล่าวว่า อารมณ์เป็นนามธรรม ซึ่งติดข้องในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เนื่องจากสภาพธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็วมากทีละขณะ ก็มีความสงสัยว่า ในขณะใดก็ตามที่เป็นวิบากจิต แล้วขณะใดที่เป็นกามอารมณ์ มีความต่างกันอย่างไร ความต่างกันตรงนี้ว่า วิบากจิตกับกามอารมณ์ ต่างกันอย่างไร กรุณาอธิบายให้เข้าใจลักษณะ ทีละลักษณะ

    อ.อรรณพ อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ทั้งปรมัตถอารมณ์ และบัญญัติอารมณ์ ปรมัตถธรรมก็มีทั้งนามธรรม และรูปธรรมที่เป็นอารมณ์ได้ ถ้าพูดถึง "กามอารมณ์" ก็คืออารมณ์ที่เป็นกาม ได้แก่ รูป คือ สี สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็น "กามอารมณ์" เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ก็เป็น "กามอารมณ์" ที่เป็นรูป ที่ปรากฏอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งที่เป็นกาม ก็คือสิ่งที่ยังเป็นไปในภพภูมิที่เราอยู่อย่างนี้ ถ้าจะพูดถึงรูป ที่เป็น "กามอารมณ์" ก็คือ สี เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ในขณะที่เป็นผลของกรรม จิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นรู้กาม โดยนัยของ "โลกามิส" ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    9 ส.ค. 2567