พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 493
ตอนที่ ๔๙๓
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
อ.อรรณพ ในขณะที่เป็นผลของกรรม จิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นก็รู้กาม โดยนัยของ "โลกามิส" ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์ กรรมเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเห็นสิ่งที่ดีบ้าง สิ่งที่ไม่ดีบ้าง สีที่ปรากฏทางตาทั้งน่าพอใจ และไม่น่าพอใจก็เป็นกาม เป็นโลก เป็นอามิสทางโลกทางตา เป็นเหยื่อเหมือนกัน ชอบ ไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าในขณะที่เพียงเห็น ไม่มีโลภะเกิด เพียงเห็นสี สีนั้นจะน่าพอใจอย่างไร จิตเห็นเป็นเพียงผลของกรรมที่เพียงรู้สิ่งนั้น รู้แจ้งสิ่งนั้นเท่านั้นเอง ยังไม่มีความพอใจติดข้องเกิดกับจิตเห็นเลย แต่เมื่อจิตเห็นดับไปแล้ว ก็มีจิตต่างๆ เกิดขึ้น จนถึงชวนะที่จะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือเป็นกุศล หรือเป็นสติปัฏฐาน ก็คนละขณะกัน
เพราะฉะนั้น กามอารมณ์ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏ คือ กามอารมณ์สำหรับพวกเรา เพราะปัจจุบันเราไม่ได้อยู่ในพรหมโลก
ผู้ฟัง ความเข้าใจในขั้นการฟัง ก็เป็นจริงอย่างนี้ แม้กระทั่งหัวข้อเดียว กามคืออะไร
ท่านอาจารย์ กามคืออะไร ตอนนี้ทราบหรือยัง
ผู้ฟัง ทราบแล้วคือ เป็นนามธรรมประเภทหนึ่งซึ่งติดข้อง
ท่านอาจารย์ สภาพที่ใคร่พอใจติดข้อง ใช้คำว่า กาม แล้วอะไรอีก กามอื่นมีไหม
ผู้ฟัง ต้องมีแน่นอน เช่น ในขณะที่ไม่พอใจ
ท่านอาจารย์ คำอื่นที่เป็นกาม แต่ไม่ใช่ความใคร่ที่เป็นนามธรรม ที่เป็นโลภเจตสิก คุณประทีปว่ามีความหมายอื่นด้วย ใช่หรือไม่ หรือมีความหมายเดียว คือ สภาพที่ใคร่ เป็นโลภเจตสิก การศึกษาธรรมต้องชัดเจน ถ้ายังไม่ชัดเจนก็จะสับสน แล้วก็มีคำถามประเภทกันนี้อีกเรื่อยๆ เพราะความสับสน แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ เป็นลำดับตั้งแต่ต้น ก็ไม่สับสน
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินคำว่า “กาม” ก็เข้าใจความหมายหนึ่ง กาม หมายความถึง ใคร่ พอใจ ติดข้อง เป็นเจตสิกที่เป็นโลภะ เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง เพราะว่าความพอใจ ความติดข้อง กับความที่ไม่เกิดความติดข้องเลย ลองคิดดู อย่างไหนจะดีกว่ากัน ไม่ว่าอะไรจะปรากฏทางตา เพชรนิลจินดา ไม่ได้ติดข้อง เห็นก็เห็น แต่ติดข้อง อยากได้ พอใจ ขวนขวาย อย่างไหนจะดีกว่ากัน จะ ละ หรือจะติด
เพราะฉะนั้นเข้าใจความหมายของกามซึ่งเป็นความใคร่ เป็นสภาพที่ใคร่ พอใจติดข้อง เป็นกิเลส กับขณะที่ไม่ติดข้อง "อโลภะ" ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น ถ้ายังไม่เห็นความต่างอย่างนี้ พระอรหันต์ดับกิเลสจะมีประโยชน์อะไร พระอนาคามีดับ "กามราคานุสัย" จะมีประโยชน์อะไร การฟังพระธรรม เพื่อให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่คุณประทีปกำลังฟัง แต่ขณะนี้แม้ฟังก็เป็นธรรม และขณะใดที่ฟังเข้าใจก็ไม่ใช่คุณประทีป แต่เป็นปัญญา ความเห็นถูก คือทั้งหมดเพื่อละคลายความเป็นเรา ซึ่งจะวกกลับไปหาเราตลอดเวลาที่ความรู้ไม่พอ ยังไม่สามารถที่จะดับ "อัตตานุทิฏฐิ" หรือ "สักกายทิฏฐิ" การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และโดยเฉพาะเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา
เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นธรรมที่กำลังปรากฏ และกำลังพูดถึงสภาพธรรมซึ่งมี แม้ไม่เรียกชื่อใดๆ เลยก็ตาม ก็มี แต่ว่าธรรมก็หลากหลายมาก จึงใช้ชื่อต่างๆ เพื่อให้รู้ลักษณะต่างๆ ที่เป็นธรรมต่างๆ เพื่อจะรู้ว่า ธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เรา
ที่ใช้คำว่า “กาม” เป็นสภาพที่มีจริง หรือไม่จริง คือ การฟังธรรมต้องพิจารณาจนกระทั่งเป็นปัญญา หรือความเข้าใจถูกของตัวเอง กาม ความใคร่ ความพอใจ ติดข้องมีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ เป็นคุณประทีปหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เป็นกาม ความติดข้องในอะไร นี่คือความละเอียด มิฉะนั้นแล้วปัญญาเราจะเจริญได้ไหม เพียงแค่รู้ว่าติดข้อง แต่ไม่รู้ว่าติดข้องในอะไร แต่ถ้าเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังเป็นอย่างนี้ด้วย ที่กำลังปรากฏให้เห็นด้วย เพราะฉะนั้น ความพอใจ ความติดข้อง ความใคร่มีในอะไร
ผู้ฟัง ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ท่านอาจารย์ เรียกว่า กามอารมณ์ ได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ เพราะว่าสิ่งใดก็ตามที่สามารถจะปรากฏให้เห็น ก็เป็นกาม เป็นสิ่งที่น่าใคร่ น่าพอใจ แม้ว่าสิ่งนั้นไม่ได้ต้องการให้ใครใคร่เลย แต่เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วจึงมีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏได้ ถ้าไม่ปรากฏให้เห็น จะไปเที่ยวพอใจในสิ่งที่ไม่ปรากฏได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า แม้สิ่งที่ปรากฏให้เห็น คุณประทีปจะได้ยินคำว่า อารมณ์ และอารมณ์หลายอย่างด้วย แต่ก็มีคำว่า กามอารมณ์ด้วย เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรม อย่าเพิ่งข้ามไปหมดเลย แม้แต่ละคำ ก็ควรเข้าใจเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์อธิบายอย่างนี้แล้ว ก็ยิ่งรู้สึกว่า ถ้าไม่เข้าใจพื้นฐานสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เองแล้วไม่รู้ จะไม่สามารถเข้าใจเรื่องกามได้เลย ซึ่งขณะนี้มีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส กระทบสัมผัส และคิดนึก ถ้าหากมีธรรมที่ปรากฏแล้วไม่รู้ ขณะนั้นฟังเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นวิถีจิต ธาตุ อายตนะ ก็เพียงแต่ฟังชื่อ และเรื่องราว
ท่านอาจารย์ ต้องค่อยๆ เข้าใจพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่จากการฟังทำให้จำ และไตร่ตรองในภายหลังก็ได้ ทบทวนสิ่งที่ได้ฟัง ไม่ได้คิดเรื่องอื่น แต่คิดถึงสิ่งที่ฟังแล้ว ในขณะที่คิดพิจารณาด้วยความเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะจะมีคำอื่นด้วย มีคำว่า “กาม” “กามอารมณ์” “กามาวจรจิต” “กามภูมิ”
ผู้ฟัง ก็ต้องเข้าใจทีละอย่าง ทีละลักษณะจริงๆ
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ต้องเป็นความเข้าใจที่มั่นคง ไม่ว่าจะพบข้อความใดในพระไตรปิฎก ความละเอียดเพิ่มขึ้น แต่จากความเข้าใจพื้นฐานที่เข้าใจแล้ว จึงสามารถเข้าใจได้
อ.วิชัย กามอารมณ์ อารมณ์ คือกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านี้เป็นกาม ซึ่งถ้าศึกษาขั้นแรกๆ ก็จะทราบว่า กามมี ๒ อย่าง คือ "กิเลสกาม" อย่างหนึ่ง และ "วัตถุกาม" อย่างหนึ่ง "กิเลสกาม" หมายถึง โลภะ ความยินดี ความใคร่ ความติดข้อง ก็คือลักษณะที่สามารถพิจารณาได้ในชีวิตประจำวันว่า ขณะใดก็ตามที่เกิดความพอใจ ยินดี ติดข้องในสิ่งนั้น โดยสภาพขณะนั้นเป็นกิเลสกาม เป็นกาม อีกอย่างหนึ่งคือวัตถุกาม คือ สิ่งที่เป็นที่น่าใคร่ น่าพอใจ หมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ขณะใดก็ตามที่จิตเกิดขึ้นมีสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเป็นกามอารมณ์ และส่วนหนึ่งก็มีกามาวจรจิต
ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงกามอารมณ์แล้ว เป็นเพียงลักษณะของรูปธรรม และนามธรรม
อ.วิชัย ถ้าพิจารณาโดยสภาพของวัตถุกาม จริงๆ แล้วกว้างกว่านั้น คือ สิ่งใดเป็นน่ายินดีพอใจ แต่กล่าวในเบื้องต้นที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
อ.ธีรพันธ์ "กามอารมณ์" ก็คือ กามนั้นเป็นอารมณ์ ให้แก่จิต จิตรู้กาม สิ่งที่จิตรู้ในขณะนั้นก็คือกามอารมณ์ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ในขณะนี้แม้จะไม่มีความติดข้อง ในขณะนั้นก็เป็นกามอารมณ์ ยังเป็นไปในกามอยู่ คือ เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความหมายกว้างๆ คำว่า "กามอารมณ์" ไม่ได้หมายความว่า อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของกาม ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ขณะนั้นจะมีโลภะเกิดพอใจในสิ่งนั้น อย่างเช่นจักขุวิญญาณ มีรูปที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ ขณะนั้นก็มีรูปนั้นที่เป็น กามอารมณ์ แต่ขณะใดที่วัตถุกาม ที่กล่าวถึงเป็นที่ตั้ง ก็คือเป็นที่ตั้งให้โลภะยินดีพอใจ ขณะนั้นอารมณ์นั้นคือ วัตถุกาม
"วัตถุกาม" ก็คือ สิ่งใดก็ตามที่เป็นที่ยินดีพอใจของโลภะ นั่นคือ "วัตถุกาม" เว้น "โลกุตตรธรรม" แต่ถ้าเป็นกามอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นกามอารมณ์ ได้ ในขณะที่ไม่มีโลภะ อย่างเช่น พระอรหันต์มีกามอารมณ์ไหม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเห็นหรือไม่ เห็น ขณะนั้นมีกามอารมณ์ไหม
ผู้ฟัง แน่นอนก็ต้องมี
อ.ธีรพันธ์ เป็นกามหรือไม่ สีที่ท่านเห็น เสียงที่ท่านได้ยิน เป็นกามอารมณ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง ใช่
อ.ธีรพันธ์ เข้าใจแค่นี้ก่อน เพราะกามอารมณ์ มีความหมายกว้าง
ผู้ฟัง ฟังตอนนี้รู้สึกว่า เข้าใจ แต่ไม่ทราบว่า ต่อไปจะลืมอีกหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ ฟัง แล้วค่อยๆ เข้าใจ เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ตอนนี้เข้าใจคำว่า “กาม” ในความหมายที่เป็นธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นเจตสิกที่ติดข้อง ได้แก่ โลภเจตสิก คำนี้ไม่เปลี่ยน ลักษณะของโลภเจตสิกเป็นสภาพที่ใคร่ พอใจ ติดข้องในอะไรก็ได้ทั้งหมด ตัวกามคือโลภเจตสิก เป็นกามกิเลส แล้วสิ่งที่มีความติดข้องต้องการ มากมาย หมดเลยทุกอย่าง เป็นที่ตั้งที่พอใจของโลภะขณะไหน ก็เป็นวัตถุกาม นี่คือการแยก เมื่อมีกาม ก็ต้องมีวัตถุกาม ถ้ากล่าวถึง "วัตถุกาม" ต้องหมายความว่า เพราะมีความใคร่คือกาม สิ่งนั้นเป็นที่พอใจ จึงเป็น "วัตถุกาม" แต่วัตถุกามก็มีมากมายหลายอย่าง สิ่งใดก็ตามที่เป็นโลก กามโลก หรือที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งที่ปรากฏได้ทางตามีรูปเดียว คือ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางหูก็คือเสียงเท่านั้น อย่างอื่นปรากฏไม่ได้เลย สิ่งที่ปรากฏทางจมูกก็คือกลิ่น จะมีอ่อนแข็ง เย็นร้อน ไปปนอยู่ในกลิ่นที่กำลังปรากฏไม่ได้ แม้มีก็ไม่ได้กระทบกับกายปสาท เพราะว่าเฉพาะกลิ่นเท่านั้นที่กระทบกับฆานปสาท จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่ง คือ ขณะนั้นฆานวิญญาณรู้เฉพาะกลิ่น ไม่ได้รู้อารมณ์อื่นเลย
รสก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาพธรรมที่สามารถปรากฏได้ เมื่อชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น ม ถ้ากายวิญญาณเกิด จะไปรู้รสไม่ได้ จักขุวิญญาณเกิดจะไปรู้รสก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น รสก็เป็นสภาพที่มีจริงที่สามารถปรากฏได้ว่ามี เมื่อชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น นี่คือความน่าอัศจรรย์ไหม สิ่งนั้นก็มี แต่จะปรากฏเมื่อไร เมื่อมีธาตุรู้เฉพาะที่จะรู้สิ่งนั้นเท่านั้นเกิด สิ่งนั้นจึงจะปรากฏได้
สำหรับกายวิญญาณก็ซึมซาบอยู่ทั่วตัวที่สามารถกระทบกับเย็นบ้าง ร้อนบ้าง แข็งบ้าง อ่อนบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง คือ กระทบกับธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ไม่ได้กระทบกับธาตุน้ำ
เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นความละเอียดที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตจริงที่ดำรงอยู่เพียงชั่ว ๑ ขณะจิตเท่านั้น เมื่อจิตขณะนั้นดับไป รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็มีจิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ แล้วก็รู้สิ่งอื่นต่อไป แล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลย หมดเลยทั้งนามธรรม และรูปธรรมนั้น แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ ก็ไม่สามารถรู้ความหลากหลายของธรรม แม้แต่กามที่กล่าวถึง และวัตถุกาม และกำลังพูดถึงกามอารมณ์ วัตถุกาม มีมากมายหลายอย่าง แต่ที่เป็นกามอารมณ์ ได้แก่ สีเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ด้วยเหตุนี้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกามอารมณ์หรือไม่ จักขุวิญญาณของพระองค์เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นกาม คนอื่นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดกามกิเลส
ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นกามหรือไม่
ท่านอาจารย์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นกามอารมณ์ พอแยกอารมณ์แล้ว เป็นกามอารมณ์ มีกาม วัตถุกาม และมีกามอารมณ์
นิพพานเป็นกามอารมณ์หรือเปล่า แสดงให้เห็นว่า แม้เราจะกล่าวถึง วัตถุกาม แต่ก็ต้องรู้ว่าวัตถุกามนั้นมีอะไรบ้าง ไม่มีอย่างเดียว มีมากมายหลายอย่าง นิพพานเป็นวัตถุกามไม่ได้เลย โลภะไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ ต้องเป็นปัญญาที่ได้อบรมเจริญแล้ว
การฟังธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียด แล้วเข้าใจธรรม อย่ามาคิดว่า เราเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เมื่อไรเราจะรู้อย่างนี้ นั่นคือไม่ได้ฟังธรรม ก็ไม่เข้าใจธรรม แต่เมื่อฟังธรรม เข้าใจธรรม ก็รู้ว่าธรรมเป็นอย่างนี้ เข้าใจเมื่อไรก็คือเมื่อนั้น เข้าใจแค่ไหนก็คือแค่นั้น เข้าใจอีกก็คือไม่ได้เข้าใจอย่างอื่น นอกจากเข้าใจธรรมจริงๆ ว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง จิต ๑ ขณะเกิดขึ้น จะต้องรู้อารมณ์ ปกติแล้วผัสสะ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะ ผัสสะก็มีหน้าที่กระทบอารมณ์ที่จิตรู้ในขณะนั้นหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ผัสสะกระทบอารมณ์ ผัสสะจะรู้ไหมว่า จิตกำลังรู้อารมณ์นั้น
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ เพราะว่าผัสสะเป็นนามธรรมที่กระทบ จิตเกิดพร้อมผัสสะ รู้อารมณ์เดียวกับสิ่งที่ผัสสะกระทบ จะรู้อารมณ์อื่นไม่ได้ เมื่อผัสสะกระทบอารมณ์ใด จิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันก็รู้อารมณ์เดียวกัน
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้ ก็คืออารมณ์ที่จิตขณะนั้นรู้ โดยสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นความรู้สึก เมื่อเกิดขึ้น ทุกคนก็จะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นความรู้สึก หมายถึงจิตขณะนั้นมีผัสสะกระทบอารมณ์ในขณะนั้น ก็คือความรู้สึกหรือ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ผัสสะเป็นเจตสิกหนึ่ง เวทนาเป็นเจตสิกหนึ่ง เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท ไม่ปะปนกันเลย
ผู้ฟัง จิต เมื่อเกิดขึ้นต้องมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย และจิตเมื่อเกิดขึ้นก็จะต้องรู้อารมณ์ และอารมณ์ไม่ใช่จะมีรูปธรรมอย่างเดียว นามธรรมก็จะเป็นอารมณ์ของจิตด้วย ในขณะที่จิตนั้นรู้อารมณ์ที่เป็นลักษณะของนามธรรม ผัสสะที่เกิดกับจิตในขณะนั้นกระทบอารมณ์นั้นที่จิตรู้ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง ก็ผัสสะที่กระทบ ที่กำลังกระทบ คือผัสสะ แต่จะรู้ลักษณะที่กระทบไหม
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ แต่มีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นเจตสิกก็เกิดกับจิต และต่างก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ เจตสิกจะทำหน้าที่ของจิตไม่ได้ และจิตทำหน้าที่ของเจตสิกไม่ได้ เวทนาเจตสิกจะทำหน้าที่ของผัสสเจตสิกก็ไม่ได้ จิต ๑ ขณะ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ต่างก็เป็นอย่างละหนึ่งๆ ๗ ประเภท
ผู้ฟัง ลักษณะของนามธรรมที่ปรากฏกับจิต
ท่านอาจารย์ เป็นอย่างไร
ผู้ฟัง อย่างเช่นความรู้สึก
ท่านอาจารย์ ความรู้สึกเกิดแล้ว ปรากฏแล้ว ดับหรือเปล่า ดับ เป็นเราหรือเปล่า ไม่ใช่ แล้วมีสภาพธรรมอื่นเกิดต่อหรือเปล่า มี ก็เป็นธรรมทั้งหมด
อ.วิชัย กาม วัตถุกาม และกามอารมณ์ หมายถึงเป็นอารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ ก็ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ส่วนกามาวจรจิตคือจิตที่ท่องเที่ยวหรือเป็นไปในในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอยู่ อย่างเช่นอกุศลจิต ซึ่งในชีวิตประจำวันก็พิจารณาความพอใจความยินดี หรือสภาพที่ไม่พอใจ ไม่ยินดี ก็เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งก็ยังเป็นไปในกามอยู่
แม้"มหัคคตจิต" ก็ตาม เพราะเหตุว่า สภาพของจิตที่สามารถละความติดข้อง หรือความพอใจที่มีระดับที่สูงขึ้นไปเหนือกามาวจรจิต ก็คือจิตที่เป็น "มหัคคตจิต" คือ "รูปาวจรจิต" และ "อรูปาวจรจิต" และ "โลกุตตรจิต" เพราะว่าจิตแต่ละประเภทแบ่งเป็น ๔ ภูมิด้วยกัน ก็คือ เป็น "กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ" ซึ่งถ้าพิจารณาว่าจิตเหล่านี้ที่เป็นไปในขณะนี้ ยังเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอยู่ จิตเหล่านี้ก็เป็นกามาวจรจิต อย่างเช่น มหากุศลจิต ขณะที่ฟังธรรมขณะนี้ ก็ยังเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่ใช่จิตระดับที่เป็น "รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต หรือโลกุตตรจิต" จิตนั้นก็เป็นกามาวจรจิตอยู่
อ.กุลวิไล ตามที่ "นิพเพทกสูตร" ที่กล่าวว่า รู้ชัดในกาม ซึ่งกาม ก็คือขณะนี้เอง ถ้าเราศึกษาพระธรรม ไม่ใช่แต่ชื่อ แต่กามก็มีจริง ขณะใดที่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สภาพธรรมที่ติดข้องเป็นกิเลสกาม แต่สิ่งที่กำลังติดข้องขณะนั้น เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ จึงเป็นวัตถุกาม และแน่นอนสิ่งนี้จึงเป็นกามอารมณ์ด้วย และทั้งหมดปรากฏได้เพราะว่ามีกามาวจรจิต
ผู้ฟัง จากพระสูตรที่แสดงว่า "ธรรมรสเป็นรสเลิศ" เป็นสภาพธรรมที่ทำให้มีปัญญา และเข้าใจความจริง และเป็นชีวิตประจำวัน
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 481
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 482
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 483
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 484
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 485
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 486
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 487
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 488
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 489
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 490
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 491
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 492
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 493
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 494
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 495
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 496
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 497
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 498
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 499
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 500
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 501
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 502
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 503
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 504
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 505
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 506
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 507
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 508
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 509
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 510
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 511
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 512
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 513
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 514
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 515
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 516
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 517
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 518
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 519
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 520
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 521
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 522
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 523
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 524
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 525
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 526
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 527
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 528
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 529
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 530
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 531
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 532
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 533
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 534
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 535
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 536
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 537
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 538
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 539
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 540