พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 494


    ตอนที่ ๔๙๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง จากพระสูตรที่ได้แสดงว่า "ธรรมรสเป็นรสเลิศ" เป็นสภาพธรรมที่ทำให้สามารถมีปัญญา และเข้าใจความจริง หรือเป็นชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียด และก่อนอื่น ควรจะทราบความหมายของคำที่เราใช้ รส ที่คุ้นหู ที่ทุกคนรู้ก็คือ รสที่ปรากฏเมื่อกระทบกับลิ้น ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความหมายของคำว่า “รสะ” หรือ “รส” ด้วย

    อ.คำปั่น คำว่า "รส หรือ รสะ" ออกเสียงตามภาษาบาลี มีความหมายที่กว้างขวาง แต่ความหมายหนึ่งที่ชัดเจน ก็คือ หมายถึง นำมาซึ่งความยินดี นำมาซึ่งความชื่นใจ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจ อันนี้โดยความหมายของคำว่า “รสะ” ในความหมายหนึ่ง ส่วนอีกความหมายหนึ่ง หมายถึง กิจหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ เมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจหน้าที่ของตนๆ ฉะนั้นแล้ว คำว่า “รส” หรือ “รสะ” ก็ครอบคลุมสภาพธรรมทั้งหลาย

    ท่านอาจารย์ แม้แต่คำเดียว ถ้าเข้าใจขึ้น ก็จะทำให้เราเป็นผู้ที่ ไม่สงสัยในสิ่งที่เข้าใจแล้ว ไม่ว่าจะไปพบคำนี้ในพระสูตร พระอภิธรรม หรือในที่ไหนๆ ก็ตาม ถ้ามีเข้าใจความละเอียด ความกว้างขวางของคำนี้ ก็จะทำให้เข้าใจได้

    อย่างสักครู่ ที่คุณคำปั่นพูดถึง รสนำมาซึ่งความยินดี ต้องเป็นรสที่ดีใช่หรือไม่ ธรรมรส มีไหม รสของพระธรรม ต่างกับรสที่ไม่ใช่ธรรมหรือเปล่า รสของสัจจะ ความจริง ต่างกับรสที่ไม่ใช่ความจริง ความเท็จหรือเปล่า ก็ต้องต่างกัน

    นี่ก็เป็นความละเอียดที่จะต้องรู้ว่า บางครั้งกล่าวถึงหมายถึง รสซึ่งนำมาซึ่งความยินดี แต่ถ้ากล่าวถึงธรรมแต่ละอย่างซึ่งหลากหลายกันไป ธรรมแต่ละอย่างก็มีรสเฉพาะของธรรมนั้นๆ ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ อย่างรสของความทุกข์ เปลี่ยนให้เป็นความสุขได้หรือไม่ แต่รสนั้นเปลี่ยนให้รสสุขไม่ได้ แต่รสของทุกข์ก็มี ถ้าไม่มีคนที่เป็นทุกข์ จะรู้รสนั้นหรือไม่ว่า ทุกข์แค่ไหน ทุกข์อย่างไร ทรมานสักแค่ไหนก็ตาม

    แม้ว่ารสเป็นสิ่งที่มีจริง และธรรมทุกอย่างมีรส แต่เมื่อกล่าวเฉพาะ รสที่นำมาซึ่งความยินดี ก็ต้องแยกเป็นแต่ละรสไป ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏอย่างนี้ มีจริงๆ ใช่ไหม มีรสของสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า แต่ไม่บอกว่า หวาน ไม่บอกว่าเค็ม แต่พอสิ่งที่ปรากฏทางลิ้นก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏทางลิ้น แต่หวานบ้าง เค็มบ้าง เปรี้ยวบ้าง ก็เป็นแต่ละรสไป

    นี่แสดงให้เห็นว่า ความต่างของรสารมณ์กับสิ่งที่ปรากฏทางอื่น เช่น รสของสิ่งที่ปรากฏทางตา รสของเสียง รสของกลิ่น รสของเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว แข็งมีรสหรือไม่ รสของแข็งเหมือนกันหมดทุกครั้งที่แข็งปรากฏ หรือว่าต่างๆ กันไป รสของธาตุดิน บางรสก็นุ่ม สบาย นำมาซึ่งความสุข ก็เป็นรสหนึ่งของธาตุนั้นที่กำลังปรากฏ ถ้าแข็งมากๆ ทำให้เกิดความทุกข์ อย่างเวลาที่ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกแทง หรือจะถูกกัดด้วยอะไรก็ตามแต่ ขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ ไม่มีมด ไม่มีผึ้งที่จะต่อย จะกัด แต่ถ้าขณะนั้นธาตุไฟที่ร้อนปรากฏ ก็มีรสของธาตุนั้นที่ทำให้รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ซึ่งร้อนอื่นจะเหมือนร้อนของผึ้งกัด งูกัด ยุงกัดหรือเปล่า แต่ละขณะของธาตุนั้นๆ ก็มีรสเฉพาะของธาตุนั้นๆ

    ด้วยเหตุนี้จึงควรที่จะได้เข้าใจความหมายของรส ทุกอย่างมีรส ไม่ว่าสิ่งที่เราเรียกว่า หวาน เค็ม ก็เป็นรสที่เราใช้เฉพาะทางลิ้น แต่จริงๆ แม้ไม่ใช่รสหวานเค็มที่ปรากฏเฉพาะทางลิ้น สิ่งอื่นที่ปรากฏทางอื่นก็ต้องมีรส เพียงแต่เราไม่เค็มหวานกับสิ่งนั้น ก็เลยไม่ใช่คำว่า เค็มหรือหวาน

    เวลาที่เข้าใจความหมายของรสแล้ว ก็จะรู้ได้ว่า ไม่ว่าจะกล่าวถึงธรรมรส สัจจรส ก็ต้องมี รสของความจริง หรือว่าทุกอย่างก็มีรสทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่ผ่านข้อความในพระไตรปิฎก ความกว้างขวางของพระธรรม บางครั้งทรงแสดงโดยนัย ๔ อย่างนี้ บางครั้งทรงแสดงโดยนัยอื่นๆ ก็ได้ แต่ไม่ควรจำกัดเฉพาะความหมายนั้น แต่ควรจะรู้ว่า แม้อายตนะ ก็ต้องหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นอายตนะทั้งนั้น มิฉะนั้นแล้วรสจะมีปรากฏได้อย่างไร ถ้าไม่มีอายตนะ

    เพราะฉะนั้น บางครั้งแม้ศัพท์ ภาษา จะใช้คำว่า รสายตนะ หรือรสที่เป็นอายตนะก็ตาม แต่ความจริงถ้าคิดถึงความหมายของข้อความอื่นประกอบด้วย เช่น "ธรรมรส" ที่หมายความถึง มรรคจิต "อรรถรส" ซึ่งหมายความถึง ผลจิต "วิมุติรส" ซึ่งหมายความถึงนิพพาน แล้ว "รสารส" จะหมายความเฉพาะหวาน เค็ม เปรี้ยว ก็รู้สึกจะแคบไปมาก เพราะว่าเราไปติดพยัญชนะที่ว่า อายตนะ และรสายตนะ หรือรสที่เป็นอายตนะ แต่ถ้าเราคิดถึงความหมายที่กว้างของคำว่า รส ทุกอย่างก็ต้องเป็นอายตนะ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีธรรมฝ่ายไม่นำมาซึ่งความยินดี แต่ก็เป็นรสของธรรมนั้น คือเป็นกิจรส และเมื่อเวลาที่สภาพธรรมนั้นสามารถทำกิจสำเร็จได้ ก็เป็นสัมปัตติรส

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้แต่สิ่งที่แข็งเป็นรูปกลาปเล็กๆ ซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ แม้ว่าจะแยกกันไม่ได้เลย ใน ๑ กลาป ก็ต้องมีทั้งธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คิดถึงความจริงของธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ สิ่งซึ่งใน ๑ กลาปที่ละเอียดมาก ก็มีความต่างของธาตุ คือ ที่เป็นธาตุดินก็อย่างหนึ่ง ธาตุไฟก็อย่างหนึ่ง ธาตุน้ำก็อย่างหนึ่ง ธาตุลมก็อย่างหนึ่ง แต่ละธาตุก็มีลักษณะ และมีกิจของธาตุนั้นๆ ด้วย และแม้แต่สัมปัตติรส ซึ่งมักจะไม่แสดง ส่วนที่แสดงคือ ลักขณะทิจตุกะ ก็กล่าวเฉพาะถึง กิจรส มากกว่าสัมปัตติรส

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏให้เห็นการถึงพร้อมของสภาพธรรมนั้น เราก็ลืมว่า แท้ที่จริงก็คือลักษณะของสภาพธรรมที่มีกิจอย่างนั้น เช่น อย่างธาตุดิน แข็งหรืออ่อน แล้วก็มีธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลม รวมอยู่ด้วย กิจของธาตุดิน ปฐวีธาตุที่แข็งหรืออ่อน ก็เป็นที่รองรับ สามารถรองรับธาตุอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกัน แยกกันไม่ออก อย่างนั้นก็เป็นกิจรสของธาตุดิน แต่เวลาที่เราคิดถึงว่า จะเอาอะไรรองรับอะไร เราใช้อะไร เราใช้สิ่งที่แข็ง แล้วสิ่งใดก็ตามก็ตั้งลงบนสิ่งที่แข็ง ถ้าไม่ใช่สิ่งที่แข็งไปตั้งบนไฟ ก็คงไม่ได้ เช่นนี้ก็เป็นเพียงเรื่องที่เกิดจากการเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมอย่างเร็วมาก จนปรากฏให้เห็นความเป็นไปสืบต่อ ซึ่งเป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราว เป็นนิมิต แต่ก็มาจากความจริงของธาตุซึ่งมีลักษณะต่างๆ กันแต่ละธาตุ ซึ่งเกิดดับเร็วมาก แต่สืบต่อจนกระทั่งไม่ปรากฏลักษณะที่เกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว และละเอียด จนกระทั่งปรากฏเหมือนสิ่งหนึ่งซึ่งใหญ่ และสามารถรู้ได้ จับต้องได้

    เพราะฉะนั้นก็เป็นความละเอียดของธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อเข้าใจความจริงว่าเป็นธรรม จนกว่าขณะนี้รู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่กล่าวถึงหรือเปล่า เดี๋ยวนี้เอง เป็นผู้ที่ตรง ขณะที่ไม่รู้ คือ หลับ จริงๆ เวลาหลับรู้อะไรหรือเปล่า ไม่รู้ นี่คือหลับในความหมายหนึ่ง หลับสนิท ไม่รู้เลย ใครมาที่ไหน พูดอะไร ทำอะไร ไม่รู้เลย นี่คือ หลับกับตื่น ที่เราเข้าใจ แต่ หลับในสังสารวัฏฏ์ เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม แม้ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี เสียงก็มี แล้วก็ดับไปแล้วด้วย แสดงความจริงของธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ โดยไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ กำลังคิดใช่หรือไม่ คิดเกิดแล้ว ใครไปทำให้คิดเกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วก็ดับ หมดไปแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ความจริงของสภาพธรรมก็คือ มีปัจจัยที่ทำให้สภาพนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไป แล้วก็มีสภาพธรรมที่เกิดเพราะมีปัจจัยสืบต่ออยู่เรื่อยๆ

    สัจธรรม ความจริงนี้ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่แม้อย่างนั้น ได้ฟังอย่างนี้ก็ยังไม่ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏแต่ละทาง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สัจธรรมมีรสไหม ฟังแล้วได้รสของสัจธรรมหรือไม่ ต่างกับรสอื่น นำมาซึ่งความยินดีตามควรแก่ความเข้าใจ แต่ลองคิดถึง ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ อบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะไม่มีใครสามารถไปบันดาลให้ความเข้าใจเพียงเล็กน้อยให้มากพอที่จะดับกิเลส และเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตนได้ จนกว่าจะรู้ความต่างกันของขณะที่ฟังเข้าใจ แต่ยังไม่รู้ลักษณะของธรรม เพราะฉะนั้น ยังไม่ตื่น แต่ทั้งๆ ที่ฟังอย่างนี้ มีลักษณะของสภาพธรรม ตื่น คือ เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะรู้ได้เลยว่า ตื่นมานิดเดียว แล้วก็หลับต่อไปอีก แล้วจะหลับต่อไปอีกนานเท่าไร ก็ตื่นขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง แล้วสามารถรู้ความต่างของขณะที่หลับกับขณะที่ตื่นได้ ด้วยเหตุนี้ การฟังธรรมเพื่อมีความเห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ปรากฏจริงๆ ที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วก็รู้ความต่างกันว่า ขณะใดถึงจะฟังแต่ไม่รู้ลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็หลับ และจะรู้ความต่างว่า ตื่น คือรู้ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังธรรม ไม่ใช่ฟังเพียงเข้าใจคำจากพระสูตรนั้น พระสูตรนี้ แต่อย่างไรก็ตามแม้อรรถพยัญชนะจะเป็นอย่างไร ก็เพื่อให้มีความเห็นถูกในความเป็นจริงของสภาพธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ไปพบหรือได้ยินคำว่า รสะ ที่ไหน จะมีความเข้าใจความหมายของคำว่า รสะ นั้นหรือไม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องท่อง ไม่จำเป็นต้องจำกัดว่า เฉพาะตรงนี้เท่านั้น แม้สภาพธรรมอื่นก็เป็นอย่างนี้ด้วย

    ผู้ฟัง รส ในความหมายว่า นำมาซึ่งความยินดี ชื่นใจ ปลื้มใจ ถ้าเป็นเรื่องธรรม ก็หมายความว่า ตรงนี้ก็จะมีทั้งสิ่งที่เป็นทั้งกุศล และอกุศล

    ท่านอาจารย์ เวลาไม่เข้าใจ มีรสอย่างไร งุนงง สงสัย รสอะไรก็ไม่รู้ แต่เวลาที่เข้าใจ คนละรสแล้วใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้น รสซึ่งนำมาซึ่งความยินดี ก็ต้องรู้ว่า รสอะไร แม้ทุกอย่างจะมีรสก็ตามแต่ คือ การฟังเข้าใจธรรม ไม่ใช่ฟังแล้วไปติดที่ตัวหนังสือ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็หมายความว่า รส เป็น ๑ ในอวินิพโภครูป ๘ ก็หมายถึงสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จะเอาธรรมรสไปรวมอยู่ตรงนั้นได้หรือไม่ ความปลาบปลื้มสัมผัสได้ทางลิ้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง และส่วนโอชารูป

    อ.ธิดารัตน์ อาหารที่เรารับประทาน ต้องมี ๘ รูป และมีโอชารูป เมื่อกินเข้าไปแล้ว ได้รับการย่อย ก็สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดรูปใหม่ เรียกว่า "อาหารชรูป" หรือบางทีก็เรียกโอชารูปว่า "อาหารรูป" ก็คือ โอชา สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดรูปใหม่ได้ โอชาไม่ใช่ความอร่อยที่เราคิดกัน ส่วนมากคิดว่า อาหารอร่อย หรือโอชารส ซึ่งเอาคำว่า โอชา ไปใช้อีกความหมายหนึ่ง จริงๆ แล้ว "โอชา" หมายถึง รูปที่สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดรูปใหม่ได้ เป็นอาหารรูป นำมาซึ่งผล คือให้เกิดรูปกลุ่มใหม่ได้ เรียกว่า อาหารชรูป คือ รูปปรมัตถ์ ๑ รูป ที่เรียกว่า โอชารูป รสไม่ว่าจะเป็นรสเปรี้ยว รสหวาน ที่กระทบกับลิ้น และจิตนั้นสามารถรู้รสได้ ก็คือรส ก็คือรูปๆ หนึ่งใน ๒๘ รูป โอชารูป ก็คือรูปๆ หนึ่งใน ๒๘ รูป แยกเป็นแต่ละรูป

    ผู้ฟัง คำว่า รส ในความหมายที่กล่าวนี้ ก็คือไม่ใช่รูป เช่น รสของพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็กล่าวเป็นแต่ละรสไป รสที่กระทบลิ้น แล้วจิตเกิดขึ้นรู้ก็มี ว่าหวาน หรือเปรี้ยว ไม่ต้องใช้คำเลย แต่ใช้เพื่อแยกความต่างของรส ให้รู้ว่าเป็นรสอะไร แต่ถึงไม่เรียก จิตก็กำลังรู้หรือลิ้มรสนั้นแล้ว รสนั้นจึงปรากฏได้ คุณสุกัญญา รู้จักรสอะไรบ้างเวลารับประทานอาหาร

    ผู้ฟัง ทุกรสเลย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง หมายความถึง รสที่กระทบลิ้น แล้วมีจิตเกิดขึ้นรู้เป็นรสนั้นๆ ในความหมายหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะปรากฏให้รู้ได้ ต่อเมื่อชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ปรากฏได้ว่าเป็นอย่างนี้ เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้นเท่านั้น

    ผู้ฟัง แต่ถ้าจะกล่าวในความหมายนี้ ก็หมายถึงรสที่เป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงรส ที่หมายถึง รูปที่เกิดร่วมกับมหาภูตรูป ก็ต้องเป็นรูปธรรม ๘ รูป รสเป็นโอชา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ รสเป็นเพียงรส แต่ก็ติด รสทำให้เกิดรูปอื่นๆ ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ โอชาทำให้เกิดรูปได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือความต่างกัน

    ผู้ฟัง แต่ในความหมายของ "รส หรือว่า รสา" ก็ยังมีความหมายอื่นอีก

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เมื่อสักครู่ที่เรากล่าวถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความยินดี

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่รูป เป็นนามธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง อย่างมรรคจิต ผลจิต ก็ไม่ใช่รูปธรรม เป็นอายตนะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง แล้วรสที่เป็นนามธรรม สามารถรู้ได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมแล้วเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้สึกอย่างไร ทุกข์โศกไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทุกข์

    ท่านอาจารย์ ตรงกันข้ามหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตรงกันข้าม

    ท่านอาจารย์ เป็นรสหนึ่งใช่หรือไม่ ซึ่งเกิดแล้วจะใช้คำว่าอะไร ความเบิกบาน ความยินดี ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ทำให้เห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรมได้ รสนี้ ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม จะมีรสนี้ได้ไหม จะรู้ความหมายของรสนี้ได้หรือเปล่า หรือต้องไปรู้ทางลิ้น

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ เพราะว่าธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก เมื่อท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้ ก็มีความรู้สึกว่า นามธรรมจะแยกออกจากความรู้สึก ค่อนข้างยาก เพราะว่าความเบิกบาน โดยทั่วๆ ไปตามความคิดหรือว่าอย่างที่เราฟังธรรม ก็เหมือนเป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังธรรมแล้ว คิดต่ออีกยาว คิดเองอีกเยอะ แล้วก็สงสัย

    ผู้ฟัง ก็คือถ้าสิ่งไหนเกิด ก็คือแค่สิ่งนั้นเกิดเท่านั้นเอง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วไม่ต้องเรียกชื่อ

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเรียก ก็เพื่อให้เข้าใจว่า หมายความถึงอะไร แต่ขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏจริงๆ เรียกชื่อได้ไหม ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ จะเรียกชื่อด้วยได้ไหม อย่างเห็น ขณะเรียกไม่ใช่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจด้วย ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ ไม่เห็นต้องเรียกชื่ออะไร ก็ปรากฏแล้วทั้งนั้น แต่เมื่อมุ่งหมายจะให้รู้ว่าเป็นสิ่งใด ก็ต้องใช้คำให้รู้ว่า หมายความถึงอะไร

    ผู้ฟัง ในขณะที่รสที่เป็นนามธรรมปรากฏ ก็มีความรู้สึกต่อรสนั้น

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องไปแยกนามธรรมอะไรต่างๆ เรากำลังพูดถึงรสซึ่งมีหลายอย่าง

    ผู้ฟัง แล้วจะแยกจากเวทนาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จะแยกเพื่ออะไร เวทนาก็เป็นเวทนา จะไปแยกอะไร ทำไม รสก็รส เวทนาก็เวทนา เวทนามีรสหรือไม่ เห็นไหม ในเมื่อตอนต้นเราพูดแล้วว่าทุกอย่างมีรสของสภาพธรรมนั้นๆ

    อ.กุลวิไล ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า ทุกอย่างมีรสของสภาพธรรมนั้นๆ อย่างลักษณะของแข็ง ซึ่งเป็นธาตุดิน ก็คือลักษณะแข็ง แต่โดย "กิจรส" ก็คือ แข็ง แต่ถ้า "สัมปัตติรส" คือ ความถึงพร้อมของกิจหน้าที่อันนั้น ก็คือสภาพที่รองรับ ซึ่งก็มีจริงๆ เพราะว่าต้องมีธาตุดินแน่นอน ที่รู้ได้ทางกาย และก็ลักษณะแข็ง แต่ธาตุดินก็ต้องมีที่รองรับด้วย เพราะว่าเป็นที่ตั้งของธาตุที่เห็น อย่างทางตา กิจของสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่จะเป็นกิจรสเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนลักษณะ ถ้าเราจะไปตามรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ปัญญาของเราพอไหม แต่สิ่งใดก็ตามที่สามารถจะเข้าใจได้ และค่อยๆ เข้าใจขึ้น เราก็จะรู้ได้ว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น แต่ใครสามารถรู้ได้แค่ไหน อย่างธาตุไฟ เวลานี้ใครไม่มีบ้างที่ตัว มีใช่หรือไม่ มี รู้สึกหรือเปล่า ไม่รู้สึก แต่ถ้ากำลังเป็นไข้ ตัวร้อน รู้สึกไหม รู้สึก สัมปัตติรสของธาตุไฟ สำเร็จที่จะให้มีอาการที่เป็นอย่างนั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มี แล้วเราจะไปนั่งนึก พยายามไปหาสิ่งที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยลึกซึ้ง โดยที่ว่า แม้แต่สิ่งที่ปรากฏก็ยังไม่รู้ แล้ววันไหนจะรู้ได้

    ด้วยเหตุนี้เวลาศึกษาพระไตรปิฎก ก็รู้เลยว่า ผู้ที่ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด โดยประการทั้งปวโดยลึกซึ้ง ก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่ออนุเคราะห์ให้ผู้ที่สามารถเข้าใจได้ พิจารณาเห็นความเป็นธรรม ความเป็นอนัตตา จนกระทั่งสามารถคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ แต่ยังหลับอยู่หรือเปล่า หรือว่าตื่น ก็ต้องเข้าใจด้วย

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับ รส สัมปัตติรส อันนี้ไม่เข้าใจ ช่วยอธิบายให้ทราบด้วย

    อ.ธีรพันธ์ "รสะ" ก็คือ กิจของสภาพธรรมนั้น เช่น ธาตุดินมีลักษณะแข็ง ถ้าเป็น "สัมปัตติ" ก็คือ ความถึงพร้อมในลักษณะที่ว่า สามารถที่จะรองรับสิ่งใดๆ ก็ได้ ถ้าเราจะพูดว่า สิ่งที่สามารถรองรับสิ่งใดได้ว่า เป็นธาตุน้ำ ได้หรือไม่ เอาน้ำมารองรับได้ไหม เอาไฟ มารองรับได้ไหม นอกจากสภาพที่แข็ง แข็งนั่นเอง คือลักษณะของธาตุดิน แต่ความถึงพร้อมของธาตุดิน คือ เป็นที่รองรับ ธาตุนี่เอง เป็นที่รองรับ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    12 ส.ค. 2567