พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 501


    ตอนที่ ๕๐๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ก็ขอถามคำถามเดียวกับที่ถามคุณวิชัย กับคุณอรรณพ อะไรเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง

    อ.อรรณพ สิ่งที่กำลังปรากฏ และเคยยึดถือมานานว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนในขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏแล้วเราก็เคยยึดถือ สีปรากฏก็ไม่ได้รู้ แต่ก็ยึดถือว่าเป็นคน เห็น ก็ไม่เคยรู้ว่า เป็นเพียงสภาพเห็น แต่เป็นเราที่เห็น ก็เป็นทั้งสิ่งภายนอกที่เป็นตัวตน แล้วเป็นสิ่งภายในที่เป็นตัวตน ถ้าไม่ควรรู้อย่างยิ่งในสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริงแล้ว จะไปรู้อะไร ที่ว่าสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ไม่ใช่เรื่องราวที่ควรรู้ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ปัจจัยหลัก ปัจจัยย่อย โดยเพียงชื่อ เพียงเรื่องเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ก็ชี้ให้เราเห็นความลึกซึ้งของสภาพธรรม และไม่ใช่เป็นเพียงเราฟังธรรมแล้ว เราก็คิดว่าเรารู้ธรรม แต่จริงๆ เราฟังธรรมแล้ว เราไม่ได้รู้สภาพธรรม เพียงแต่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น ฟังไปแล้ว ปัญญาเจริญหรือเปล่า หรือเราคิดว่าพอฟังแล้วเราคิดว่า เราเข้าใจ เราคิดว่าเรารู้แล้ว รู้ยิ่งแล้ว แต่ถ้าจะเป็นรู้ยิ่ง ก็คือ เป็นปัญญาที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะถึงความรู้ชัดต่อไป

    ธรรมลึกซึ้ง ที่ท่านอาจารย์ท่านกล่าว ที่ลึกซึ้งไม่ได้ลึกซึ้งโดยเรื่องราวลึกซึ้ง แต่ลึกซึ้งเพราะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น ไม่ได้ปรากฏกับสติ ไม่ได้ปรากฏกับปัญญา แต่ปรากฏกับโลภะ ซึ่งยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

    เพราะฉะนั้น จึงควรรู้ยิ่งในสิ่งที่กำลังปรากฏนี้ จึงจะค่อยๆ รู้ในความลึกซึ้งของธรรม ที่ว่าธรรมลึกซึ้ง เพราะเห็นได้ยาก เห็นได้ยาก เพราะปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ธรรมเป็นเรื่องของความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องของคำ ที่เราเพียงจำไว้ แล้วแต่ละคำก็มีความละเอียด เช่น อะไรเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เพราะว่าความรู้ก็มีหลายอย่าง แต่สิ่งที่ควรรู้ยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้นคืออะไร ทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ ก็มีความรู้ต่างๆ กัน คุณสุรีย์ก็มีความรู้อย่างหนึ่ง คุณหมอทั้งหลายก็มีความรู้ แต่ละท่านก็มีความรู้ในแต่ละวิชาที่ได้ศึกษามา แต่ทั้งหมดก็เพียงนำมาซึ่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ปรารถนาที่ต้องการ ซึ่งไม่มีวันหยุด ไม่มีวันจบ และไม่มีวันพอ มีใครบ้างที่พอแล้ว โลภะทั้งหลาย อาหารเช้าอร่อยไหม อาหารกลางวันเป็นอย่างไร พอหรือยัง อาหารเย็นก็อร่อย ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยุดยั้งการสืบต่อของธรรมซึ่งสะสม เกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีก ไม่ได้ไปไหนเลย สะสมอยู่ในจิตนั่นเอง

    ในอดีตกาลก็มีวิชาการมากมาย แม้ปัจจุบัน และอนาคตต่อๆ ไป แต่อะไรเป็นสิ่งเป็นควรรู้ยิ่ง ที่เป็นประโยชน์ยิ่งแก่ชีวิตจริงๆ ถ้าไม่เข้าใจว่า ขณะนี้เอง สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ก็ไม่สามารถกลับมาให้ความจริงได้ และสิ่งที่ยังไม่เกิด ใครจะไปรู้ว่าอะไรจะเกิด แล้วจะไปรู้ความจริงของสิ่งที่ยังไม่เกิดก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ลืม คือ ขณะนี้เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้นก็ตาม ขณะที่โกรธ มีจริงๆ เกิดแล้วด้วย เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่งหรือไม่ หรือไม่ได้ ต้องสงบๆ ไปรู้สงบ นั่นก็คือไม่เข้าใจว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง สิ่งที่ควรรู้ยิ่งก็คือสิ่งที่มีจริงๆ และกำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้รู้ความจริงของสิ่งนั้น เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ โดยที่ยังไม่เห็นโทษเลย ใช่หรือไม่ มีแต่ความพอใจ มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ว่า ทุกข์ทั้งหมดมาจากความยินดี ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ และจะไม่ให้ยินดีติดข้องในสิ่งที่ปรากฏก็ไม่ได้ เพราะสิ่งนั้นมีจึงปรากฏ ใครจะไปห้ามไม่ให้สิ่งนั้นปรากฏ ใครจะไปห้ามไม่ให้จิตขึ้น เกิดขึ้น รู้สิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเมื่อมีการยินดีติดข้องในสิ่งที่ปรากฏไม่มีวันหยุด ไม่มีวันจบ จนกว่าจะเห็นโทษว่า แล้วได้อะไรจากสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เพียงแค่ปรากฏให้เห็นได้อะไร สิ่งนั้นหมดไปแล้วดับแล้ว ได้อะไรจากสิ่งนั้น นอกจากโลภะ และความไม่รู้ ซึ่งติดข้องเพิ่มขึ้นมากมาย ที่เกิดมาแล้วนับไม่ถ้วน ก็ติดข้องมาแล้วนับไม่ถ้วน และขณะนี้ถ้าเป็นผู้ตรงก็จะต้องเป็นการรู้จริงๆ ว่า ทันทีที่เห็น ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง จะไม่รู้จักสภาพธรรม ยึดถือว่าเป็นเรา และยังคงมีความต้องการในสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป โดยไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นกระแสของธรรม ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องเป็นไปตามการสะสม จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ได้ถ้าฟังบ่อยๆ ก็จะรู้ว่า คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ และเป็นผู้ที่ตรงว่า กำลังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และจะรู้ได้ต่อเมื่อฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ความเข้าใจก็มีหลายระดับ ความเข้าใจเรื่องสิ่งที่ปรากฏ เช่นเห็น ทั้งๆ ที่เห็นก็กำลังเกิดดับ เห็นไหมกว่าจะรู้เห็น โดยไม่ใช่เป็นการคิดนึก ไม่ใช่เป็นขณะอื่น แต่ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจ นั่นคือ สติสัมปชัญญะ แล้วก็เป็นหนทางเดียวที่ทำให้รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ ทุกชาติ เป็นสังสารวัฏฏ์ ก็ไม่พ้นจากสิ่งที่กำลังเป็นจริงในขณะนี้ได้

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังแล้วรู้ว่า ตนกำลังสังเกตพิจารณาการฟังสิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยินว่าเป็นธรรมอย่างไร ขณะนั้นประเสริฐที่สุด

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็เป็นเรา แต่ถ้าขณะนี้ มีทั้งแข็ง มีทั้งเห็น มีทั้งได้ยิน มีทั้งคิด แล้วรู้ตรงลักษณะนั้น เกิดแล้วโดยที่ไม่ใช่เป็นเราไปสังเกต จึงจะรู้ความต่างกันของสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นอนัตตา แม้เพียงชั่ว ๑ ขณะ ก็เกิด โดยที่ว่าเป็นอนัตตาจริงๆ เพราะไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมใด เพราะขณะนี้เป็นสภาพธรรมทั้งหมด แต่ยังไม่ถึงเวลาที่สติสัมปชัญญะ สามารถจะเกิดขึ้นรู้ตรงนั้นได้ แต่ว่าจากการฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนยาก แน่นอน เพราะไม่คุ้นชินกับการรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าเหมือนมีเห็นเหมือนทั้งวัน แล้วก็เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างรวดเร็ว แต่จากการฟังค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วขณะที่ไม่นึกถึงอย่างอื่น แต่กำลังเริ่มรู้ว่า มีสิ่งนี้ แล้วก็เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่คือการเริ่มที่จะรู้ ซึ่งเป็นสติสัมปชัญญะ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียกว่า ขณะนั้นเป็นสติสัมปชัญญะ หรือว่าเป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติมีองค์ ๕

    ผู้ฟัง กราบอนุโมทนาที่ท่านอาจารย์ให้ความละเอียด แม้การสังเกต การไตร่ตรอง ตรงนั้นก็เป็นโลภะแล้ว เป็นตัวตนแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่มาเรียนทางธรรมก็ติดข้อง อยากได้ซี ๕ ซี ๖ เป็นถึงซี ๑๒ เลย คือไปทางโน้นเลย ท่านชี้ไว้เลยว่า สิ่งนี้เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าติดข้อง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ก็น่าติดข้องใช่ไหม เมื่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจปรากฏ จะไม่ติดข้องได้ไหมถ้าไม่ใช่บัณฑิต เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่รู้ก็ติดข้อง แต่ผู้ที่รู้ก็ศึกษาเพื่อควรรู้ยิ่งว่า เราติดข้องในอะไร ลองคิดถึงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แค่นี้เอง แต่สามารถทำให้โลภะเกิดขึ้นได้มากมาย นาฬิกาสวยๆ เพชรนิลจินดา เสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชอบ ติดข้องต้องการ ควรจะรู้ความจริงของสิ่งที่ทำให้ติดข้องเกิดขึ้นว่า แท้ที่จริงสิ่งนั้นควรที่จะติดข้องหรือไม่ควรที่จะติดข้อง ในเมื่อจริงๆ แล้ว ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ชั่วขณะที่ปรากฏ ลองคิดดู บัณฑิตหรือเปล่าที่ติดข้อง ในสิ่งที่เพียงปรากฏเกิดแล้วดับไป

    ผู้ที่ไม่ใช่บัณฑิตย่อมต้องติดข้องแน่นอนในสิ่งที่น่าพอใจ ทางตาปรากฏให้เห็น แล้วจะไม่ยินดี แล้วจะให้ไปยินดีในสิ่งอื่น เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นเสียงที่น่าพอใจเกิดแล้ว จะไม่ให้ติดข้องในเสียงที่น่าพอใจที่ปรากฏ จะให้ไปติดข้องในอย่างอื่นก็ไม่ได้ ก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏนั่นเอง ที่ทำให้เกิดความติดข้อง เพราะความไม่รู้ จึงไม่ใช่บัณฑิต ติดข้องในเพียงสิ่งที่ปรากฏ ฟังไปบ่อยๆ จนกว่าจะคุ้นหู จนกว่าจะเข้าใจว่า เพียงปรากฏเท่านั้นเอง ไม่ว่าอะไร ก็เพียงปรากฏ กลิ่นหอม ชอบมากใช่หรือไม่บางคน สรรหานานากลิ่น เพียงปรากฏ ติดข้องในสิ่งที่เพียงปรากฏ ที่มีลักษณะชั่วคราว คือ เพียงปรากฏว่าเป็นอย่างนั้นแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ความเป็นบัณฑิต คือ ผู้ที่เข้าใจจริงๆ ถึงสภาพธรรม โดยการที่รู้ว่า ติดข้องในอะไร ถ้าจะใช้คำธรรมดา ก็คือ โง่หรือฉลาด

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่เรียนลึกซึ้ง เราจะนึกว่าเป็นบัณฑิตเหมือนกับทางโลก ซึ่งไม่เหมือนจริงๆ เลย ดำขาว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ควรจะศึกษาจนกว่าจะไม่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏตามกำลังของปัญญา ซึ่งยากไหม จะไม่ติดข้องจริงๆ ดับสนิท คือ พระอนาคามีบุคคล

    อ.กุลวิไล อิงสุขสูตรที่ ๘ จากพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรโดยนัยพระอภิธรรม จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรมก็ไม่พ้นสภาพธรรมที่เป็นจริง ที่เป็นธรรมนั่นเอง ซึ่งในพระสูตร ก็กล่าวถึงเหตุแห่งทัสนะที่บริสุทธิ์ด้วยดี เพราะเป็นการที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ถึงความดับกิเลสได้หมดเป็นพระอรหันต์ ซึ่งพระภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ เมื่อท่านจะบอกเหตุแห่งทัสนะที่บริสุทธิ์ด้วยดี ท่านก็บอกตามมรรคที่ตนบรรลุ ซึ่งพระอรหันต์ทั้ง ๔ รูป เป็นผู้ที่เจริญกัมมัฏฐาน มีสังขารธรรมเป็นอารมณ์ที่ต่างๆ กัน มีการพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม จนได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์

    รูปที่ ๑ มีการพิจารณาอายตนะ ๖ เป็นอารมณ์ รูปที่ ๒ มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ รูปที่ ๓ มีมหาภูตรูป ๔ เป็นอารมณ์ รูปที่ ๔ มีธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ เป็นอารมณ์

    ดูเหมือนว่าจะแตกต่างกัน แต่โดยสภาพธรรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผัสสายตนะ ๖ ขันธ์ ๕ มหาภูตรูป ๔ และธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ก็คือ สังขารธรรมนั่นเอง เป็นสภาพธรรมที่ควรรู้ เพราะว่าเป็นทุกขสัจ ขอเริ่มจากผัสสายตนะ ๖ ที่สามารถจะเป็นอารมณ์ทำให้ผู้นั้นสามารถเข้าใจถูกในสภาพที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมได้ ขอให้คุณคำปั่นให้ความหมายของคำว่า “ผัสสายตนะ” ด้วย

    อ.คำปั่น เป็นอีกพระสูตรหนี่ง ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสิ่งที่มีจริง โดยปรารภภิกษุปุถุชนที่ไปถามปัญหากับภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ทั้ง ๔ รูป ซึ่งทั้ง ๔ รูปก็ตอบตามความเป็นจริงที่ตนเองได้บรรลุ ซึ่งทั้ง ๔ รูปแสดงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น แล้วไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สำหรับภิกษุรูปที่ ๑ ซึ่งเมื่อถูกภิกษุปุถุชนถามว่า ทัสนะของภิกษุเป็นอันหมดจดด้วยดี ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ซึ่งท่านก็ตอบว่า ทัสนะของภิกษุเป็นอันหมดจดด้วยดี เพราะเหตุที่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ผัสสายตนะมีเหตุเกิดอย่างไร และความดับนั้นคืออย่างไร ก็คือรู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมที่ประชุมรวมกันเกิดขึ้นเป็นไป

    สำหรับคำว่า "ผัสสายตนะ" ก็มีคำ ๒ คำรวมกัน คือ "ผัสสะ" เป็นนามธรรม เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกประเภท และ "อายตนะ" ก็คือ สภาพธรรมที่ประชุม เป็นบ่อเกิด เป็นเหตุ ฉะนั้น "ผัสสายตนะ" โดยศัพท์ก็คือ เหตุเกิดแห่งผัสสะ เพราะเหตุว่ามีอายตนะภายใน คือ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย และมีใจ ผัสสะจึงมีได้ แต่ถ้าไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ไม่มีใจ ผัสสะก็มีไม่ได้ ถ้ากล่าวถึงอายตนะ ก็คือสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทีละขณะๆ นี้คือความหมายของคำว่า อายตนะ

    อ.กุลวิไล ผัสสายตนะ เป็นสิ่งที่ควรรู้อย่างไรในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องคิดถึงเฉพาะคำนี้คำเดียว แต่ควรที่จะเข้าใจธรรม จากภิกษุรูปที่ ๑ ไปถึงรูปที่ ๒ ไปถึงรูปที่ ๓ ไปถึงรูปที่ ๔ ยังคงไม่พอใจ แม้ว่าจะได้ยินคำใดๆ ก็ตามฉันใด แม้ขณะเดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ได้ยินคำว่า “ผัสสายตนะ” ก็จำเท่านั้นเอง โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นผัสสายตนะจริงๆ แทนที่จะไปคิดถึงคำ แล้วสงสัย แล้วพยายามอยู่เฉพาะตรงนั้น ให้เข้าใจเฉพาะคำนั้น ก็ควรเข้าใจธรรมก่อน ถ้าไม่เข้าใจธรรม จะพูดว่า อะไรเป็นผัสสายตนะ อายตนะมี ๖ และผัสสะได้แก่เจตสิก ก็คือ ขณะนี้เดี๋ยวนี้ทั้งหมด แต่ไม่มีความเข้าใจในความเป็นธรรมก่อน ก็จะเป็นแต่เพียงชื่อ ด้วยเหตุนี้ ก็ควรจะไปถึงภิกษุรูปที่ ๔ หรือไม่

    ผู้ฟัง คำว่า ผัสสา หรือผัสสะ คือ ที่ประชุม ที่ต่อ คำว่า อารมณ์ในที่นี้ คืออะไร เพราะเมื่อประชุมต่อแล้ว จะมีธรรมหลากหลายอย่างที่สัมปยุตอยู่ในนั้น ในขณะที่ผัสสะ คำว่า อารมณ์ ในขณะที่ผัสสะเกิด ช่วยขยายความ

    ท่านอาจารย์ ถ้าสรุป คือ มีความเข้าใจจริงๆ ก็คือว่า ไม่ว่าอะไรที่ปรากฏ แล้วสามารถรู้ที่จะรู้ความจริงของสิ่งนั้น โดยไม่ต้องไปใช้คำ หรือไปติดที่คำว่า ผัสสายตนะ ได้ไหม และถ้ามีความเข้าใจอย่างนั้น คือ สิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏ แล้วเข้าใจขึ้น หมดจดในความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงในสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นต้องเรียกอะไรหรือเปล่า แม้จะใช้คำว่า ผัสสายตนะ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ว่า หมายความถึง สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เป็นอายตนะ และทุกอย่างที่ปรากฏในขณะนั้น ก็เป็นอายตนะด้วย เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ เป็นอายตนะภายนอกที่กระทบกับจักขุปสาท ซึ่งจักขุปสาทก็ต้องมีในขณะนั้น ก็ต้องเป็นอายตนะ แล้วต้องมีเจตสิก และจิตเกิดในขณะนั้น จึงกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ความรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ต้องเลือกว่า จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ได้ยินคำว่า จักขุปสาท อยากจะรู้ไหม แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ ไม่ใช่จักขุปสาทปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้ หากเข้าใจจริงๆ ว่าทุกอย่างที่มีเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสัจจะ แต่ไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้เลย เป็นผู้เขลา แล้วข้อความที่แสดงไว้ก็มีหลายประการสำหรับลักษณะของผู้เขลา หมายความว่า ขณะนั้นไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป ตราบใดที่ไม่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่รู้มานานมาก แต่เริ่มจะอบรมความรู้ให้มีขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏจากการฟังตัวธรรม ไม่ว่าจะกล่าวโดยนัยของผัสสายตนะ โดยนัยของขันธ์ โดยนัยใดๆ ก็ตาม ก็คือ สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ฟัง เป็นพื้นฐานที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น คือ รู้จักสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งไม่เคยรู้จักเลย จะกล่าวว่ารู้จักไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีจริง และกำลังปรากฏ ก็ไม่เคยรู้จักตัวจริงหรือสภาพธรรมจริงๆ นั้นเลย

    ด้วยเหตุนี้จะใช้คำอะไร ก็ต้องตรง ถ้าจะใช้คำว่า ขณะนี้กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอายตนะหรือเปล่า จะใช้คำว่า ผัสสายตนะ หรือจะใช้คำอะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็คือสิ่งนั้นกำลังมี และสิ่งใดปรากฏต้องเป็นอายตนะ เป็นจิต เป็นปัญญา สภาพธรรมทั้งหลายค่อยๆ อบรม จนกระทั่งสามารถเข้าใจธรรม ถ้าเข้าใจสภาพธรรมแล้ว จะสงสัยคำว่า ผัสสายตนะ หรือไม่ ไม่ว่าจะทรงจำแนกโดย ๖ ทวาร ก็คือ ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่ตรง สภาพธรรมกำลังปรากฏเข้าใจหรือยัง เหมือนเดิมหรือเปล่า ต่างกับเดิมหรือเปล่า ถ้าเหมือนเดิม คือ ไม่รู้เลยว่า สิ่งนี้เป็นอะไร ไม่มีการได้ยินได้ฟังเลย ต่างจากเดิม คือ แม้สิ่งนี้มีแล้วไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็กำลังได้ยินได้ฟัง ได้เริ่มที่จะเข้าใจ แม้ว่ายังไม่ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่ทรงแสดง อุปการะแก่สัตว์โลก โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง แต่ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏนี่เองเป็นเครื่องยืนยัน เป็นเครื่องทดสอบว่า การฟังมีความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้แค่ไหน หรือว่าจะไปเข้าใจอื่น หรือว่าจะไปรู้อื่น

    นี่ก็คือปัญญาที่มั่นคงขึ้น ที่จะรู้ว่า สิ่งอื่นเมื่อไม่ปรากฏ จะรู้ความจริงของสิ่งนั้นได้อย่างไร สิ่งที่ดับไปแล้ว หมดไปแล้ว ไม่เหลือเลย ใช้คำว่า ดับ ไม่ได้กลับมาเกิดอีกเลย จะไปรู้ความจริงของสิ่งนั้นได้อย่างไร และสิ่งที่ยังไม่ปรากฏในขณะนี้ ยังไม่เกิดขึ้นปรากฏ จะไปรู้ความจริงของสิ่งนั้นๆ ก็ไม่ได้ แม้แต่ความจริงหรือธรรม ก็คือ สิ่งที่กำลังเผชิญหน้าในขณะนี้ ที่อาศัยการเข้าใจขึ้น และจึงจะเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยนัยประการต่างๆ ได้

    ผู้ฟัง การเข้าใจสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ก็มีการกล่าวว่า อาจจะต้องใช้เวลา ๑๐ ปี หรืออาจจะขณะต่อไปก็ได้ กราบเรียนอาจารย์นิภัทรเกี่ยวกับประสบการณ์ว่า ตอนที่ฟังไม่เข้าใจเป็นอย่างไร และจะอธิบายอย่างไรให้เข้าใจได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    19 ส.ค. 2567