พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 503
ตอนที่ ๕๐๓
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จริงเมื่อเกิดแล้ว ตั้งใจว่าจะไม่โกรธ แล้วถึงเวลาจริงๆ เป็นอย่างไร โกรธ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะบังคับบัญชาไม่ได้
ท่านอาจารย์ เป็นอิสระไหม
ผู้ฟัง ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ เพราะต้องเป็นไปตามปัจจัย แม้เป็นอนัตตาก็ต้องเป็นไปตามปัจจัย ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นหลายอย่างมากมาย ไม่ใช่ปัจจัยเดียว
ผู้ฟัง แล้วความไม่เที่ยงของสภาพธรรม กับความเป็นอนัตตาต่างกันไหม
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับทั้งหมด จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ขณะนี้ก็พูดเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องผัสสะ เรื่องอายตนะ เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เกิดแล้วโดยไม่มีใครรู้ แล้วก็ดับไป เมื่อสักครู่นี้คิดอะไร
ผู้ฟัง คิดถึงคำว่า “อนัตตา”
ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับแล้ว รู้ไหมว่า ขณะนั้นมีจิตเจตสิกอะไรเกิด
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ สภาพธรรมเพียงชั่วขณะที่ผ่านไป ก็เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย จะไม่ให้มีผัสสเจตสิก ไม่ให้มีเวทนาเจตสิก ไม่ให้มีสัญญาเจตสิก ไม่ให้มีเจตนาเจตสิก ไม่ให้มีเจตสิกที่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดแล้วดับ ก็เป็นอนัตตา และแม้สิ่งอื่นซึ่งไม่มีปัจจัยเกิดจึงไม่ดับ คือ นิพพาน ก็เป็นอนัตตาด้วย นิพพานเป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เป็นของเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นอะไร
ผู้ฟัง ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นอะไรด้วย
ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นธรรมแล้ว ต้องเป็นอะไร ต้องเป็นอนัตตา ถ้ากล่าวว่าเป็นธรรม ก็คือเป็นอนัตตา
ผู้ฟัง หมายถึง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา
ท่านอาจารย์ แต่เป็นธรรมจริงๆ มีจริงๆ แต่ไม่เป็นของใครเลยสักคน
ผู้ฟัง พูดถึงลักษณะของสภาพธรรม ถ้าหากรู้สึกว่า วันไหนมีจิตใจที่ไม่ขุ่นเคืองมาก หรือว่าอารมณ์ดีอย่างนี้ ก็พอจะค่อยๆ เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมได้บ้างเล็กน้อย แต่เมื่อมีจิตใจขุ่นเคือง หรือคิดถึงธุรกิจการงานที่ทำให้วุ่นวาย ดูเหมือนว่า ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ลักษณะของสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ๆ
ท่านอาจารย์ อยากจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือรู้ว่าเป็นอนัตตา
ผู้ฟัง จริงๆ แล้วรู้ว่าเป็นอนัตตา ทำอะไรไม่ได้ บังคับบัญชาอะไรไม่ได้
ท่านอาจารย์ แต่เป็นเรารู้ ว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นธรรม จึงเป็นอนัตตา
ผู้ฟัง แล้วถ้าหากว่า วันไหนอารมณ์ดีอย่างนี้
ท่านอาจารย์ อารมณ์ดีเป็นธรรม หรือเป็นเรา
ผู้ฟัง เป็นธรรม แต่พอที่จะระลึกได้ พิจารณาได้
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอย่างนั้น จะมีวันไหนที่จะรู้ว่า ขณะที่ขุ่นเคืองก็เป็นธรรม
ผู้ฟัง ขณะที่ขุ่นเคือง จะหลงลืมเลย
ท่านอาจารย์ วันไหนที่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ลักษณะที่ขุ่นเคืองนั้นไม่ใช่เราเลย เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งต่างกับความสบายใจ เพราะว่าทั้งหมดเป็นธรรม แสดงให้เห็นว่า กว่าปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกจะเจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมโดยสติสัมปชัญญะมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา จะเป็นไปได้ไหม
ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจเป็นไปได้
ท่านอาจารย์ ต้องเริ่มจากการเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ถ้ายังไม่เข้าใจเลย ก็จะไม่มีวันไหนที่จะรู้ว่าลักษณะที่กำลังขุ่นเคืองนั้นก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ยากจริงๆ ตรงขณะที่ เช่น ไม่ต้องมาก คิดถึงเรื่องจะแต่งตัว ก็แย่แล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้นเลยสักอย่าง ทางตาก็เห็นเสื้อผ้าก็มีตั้งหลายชิ้น จะเลือกชุดไหน ใส่แล้วไม่สบาย ก็ถอดออกไป ใช่หรือไม่ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้นเลย นี่คือธรรมที่เป็นชีวิตจริงๆ ธรรมไม่ใช่ชีวิตอื่น นอกจากชีวิตจริงๆ ทั้งหมดเป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจว่า ไม่ว่าขณะไหน กาลไหน เมื่อไร จะอิ่ม จะปวด จะเมื่อย จะหลับก็ตามแต่ แม้ขณะที่หลับ เมื่อไรที่ตื่นก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่หลับ ก็เป็นธรรมประเภทหนึ่งซึ่งต่างกับขณะที่ตื่น จนกระทั่งหมดความสงสัย เพราะว่าปัญญาสามารถที่จะดับอนุสัยกิเลส วิจิกิจฉานุสัย ตราบใดยังสงสัย ก็แสดงว่า ปัญญาไม่พอ ตราบใดที่ยังเห็นว่าเป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นปัญญาไม่พอ
ผู้ฟัง ดูเหมือนว่า จะรบกับตัวเองอยู่เรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ รบกับตัวเองนี่อะไรรบ
ผู้ฟัง กิเลส
ท่านอาจารย์ กิเลสรบกับกิเลส ใช่ไหม
ผู้ฟัง น่าจะใช่
ท่านอาจารย์ แล้วจะชนะอะไร ใครชนะ กิเลสชนะแน่นอน เพราะกิเลสรบกับกิเลส อะไรแพ้ ก็กิเลสอีก เพราะว่ากิเลสรบกับกิเลส
เพราะฉะนั้น ปัญญาเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นแสดงให้เห็นว่า เริ่มเข้าใจว่า ธรรมมีทั้งฝ่ายที่เป็นกุศล และอกุศล ไม่ใช่แต่มีเฉพาะกุศล หรือไม่ใช่มีแต่เฉพาะอกุศลเท่านั้น และการฟังธรรมเข้าใจ ก็จะต้องรู้ว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มีความเห็นถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม แต่ยังไม่ใช่นักรบ เห็นไหม กว่าจะเป็นนักรบได้ ไม่ว่าชีวิตของนักรบก็ต้องผ่านการศึกษาให้เข้าใจในความเป็นนักรบ ในการฝึกหัด แต่มีอาวุธหรือยัง ผู้ที่กำลังศึกษาวิชาการรบหรือเปล่า ยังเลย เพียงแต่ว่า มีความเข้าใจขึ้น
เพราะฉะนั้น อาวุธจริงๆ ต้องเป็นปัญญาที่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม นั่นเป็นอาวุธ แต่ว่าจะรบได้หรือไม่ กับสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังง่วงมากๆ จะหลับดีหรือว่าจะเข้าใจธรรมที่กำลังง่วง อยากหลับพักผ่อน เมื่อไรก็ไม่เป็นไร ขอหลับไว้ก่อน พักผ่อนไว้ก่อน หรือว่าขณะนั้นมีกำลังที่จะรู้ว่า หลับหรือตื่นเป็นธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลยจริงๆ เพราะเหตุว่าทุกอย่างถ้าเข้าใจโดยละเอียด ภวังคจิตมีปัจจัยเกิดขึ้นทำกิจภวังค์ เพราะเป็นวิบาก เมื่อถึงกาลที่วิบากนั้นจะเกิด ทำกิจอื่นไม่ได้เลย ยังไม่ทันอยากจะหลับ บางคนก็หลับแล้ว แม้กำลังฟังธรรมก็เป็นไปได้ แม้กำลังทำอะไรก็แล้วแต่ เมื่อมีปัจจัยที่สภาพธรรมจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร ก็ต้องเป็นธรรมที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง แต่ตัวตน ต้องการอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ต้องการเข้าใจลักษณะของธรรม อยากพักผ่อน อยากนอน ขณะนั้นมีอาวุธหรือเปล่า แม้ว่าฟังแล้วก็มีความเข้าใจ แต่ยังไม่มีอาวุธเลยจริงๆ ต่อเมื่อใดที่มีปัจจัยที่มีสติสัมปชัญญะเกิด แล้วรู้ลักษณะที่เป็นปกติอย่างนี้ ซึ่งปกติธรรมดาเกิดแล้วก็ดับไป เร็วมาก เหมือนไม่ปรากฏ
เช่นเมื่อสักครู่นี้ถามว่า มีอะไรแข็งบ้าง หรืออ่อนบ้าง หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงเป็นอย่างไร ก็ผ่านไป โดยไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้วก็เป็นลักษณะของธรรมที่ปรากฏเพียงเล็กน้อย จนไม่ได้จำ หรือสังเกต แต่ความจริงแล้ว ลักษณะของเจตสิกที่จำ จำแล้ว โดยที่เราไม่รู้เลยว่า ทั้งหมดเกิดทำหน้าที่แล้วก็ดับไป สภาพธรรมทั้งหมด เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย จะหลับหรือจะตื่น เมื่อสักครู่หลับ บังคับไม่ได้ใช่ไหม ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ขณะที่รสปรากฏ ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดนึก แต่ขณะนั้นกรรมทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจ โดยไม่รู้ตัว เหมือนกับตื่น มีใครบังคับได้ไหม เพราะคิดว่าจะบังคับ คิดไว้ก่อน แต่ถึงเวลาจริงๆ ตื่นเมื่อไร ใครรู้ มีปัจจัยที่จะเห็น เห็นเกิด มีปัจจัยที่จะคิด คิดเกิด มีปัจจัยที่จะได้ยิน ได้ยินเกิด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน เป็นชีวิตของแต่ละคนในลักษณะใดก็ตาม เป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้
เพราะฉะนั้น ต้องมีความมั่นคง และทุกคำไม่ใช่เป็นคำลอยๆ แต่เป็นคำที่แสดงถึงความเป็นจริงของธรรม ไม่ว่าจะเป็นเห็น หรือได้ยิน หรืออายตนะ หรือขันธ์ หรือแม้แต่การที่ภิกษุท่านหนึ่ง จะมีความเห็นหมดจดด้วยการรู้ลักษณะของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แล้วแต่ว่าท่านจะรู้ทางทวารไหน ก็เป็นเรื่องที่สิ่งนั้นกำลังมีจริงๆ บางคนอาจจะสงสัยว่า ก็แค่อ่อนๆ แข็งๆ แล้วภิกษุรูปนั้นจะไปรู้จนกระทั่งยิ่งขึ้น โดยละเอียด โดยสามารถที่จะหมดจดจากการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้อย่างไร แต่ลืมว่า ยุคนี้ชอบทำอานาปานสติ เห็นหรือไม่ ไปที่ไหนก็ลมหายใจ ระลึกรู้ลมหายใจ แล้วลมหายใจจริงๆ ที่ไม่ได้เรียกชื่อว่า ลมหายใจ ลักษณะนั้นมีให้รู้ได้หรือเปล่า ถ้าลักษณะนั้นมีให้รู้ ตรงไหน จึงชื่อว่า ลมหายใจ และลักษณะของลมหายใจจะพ้นจากลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ซึ่งหมายความถึงลักษณะที่เบาก็ได้ ตึงหรือไหว เย็นหรือร้อนบ้าง ก็คือลมหายใจ
อานาปานสติที่กล่าวว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ ผู้ที่สามารถที่จะรู้ลักษณะของธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม หรือจะรวมธาตุน้ำทางมโนทวารได้ ก็เป็นผู้ที่มีปัญญาระดับไหน เพราะว่าปกติพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอยู่ด้วยวิหารธรรม คือ อานาปานสติ
เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราฟังธรรมเพียงผิวเผิน เหมือนไม่มีอะไร บางคนก็บอกว่า ทำไมจะต้องรู้เย็นๆ ร้อนๆ อ่อนๆ แข็งๆ แต่ไม่คิดถึงว่าทำไมชอบทำลมหายใจ ที่ไปนั่งทำลมหายใจกัน เพราะอะไร ก็ไม่มีเหตุผล เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรม แม้ว่าจะเป็นเพียงธาตุก็ละเอียด แม้ว่าจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การระลึกรู้ลักษณะของกาย ส่วนที่ละเอียดที่สุด ก็คือลมหายใจ ขณะนี้ปรากฏหรือเปล่า เห็นไหม ต่างกับขณะที่กระทบแข็งหรืออ่อนทางกายส่วนอื่นๆ
นี่แสดงให้เห็นถึงส่วนละเอียดของธรรมว่า ต้องเป็นความรู้จริงๆ เพราะเหตุว่าแม้ขณะที่กำลังมีลมหายใจเป็นอารมณ์ ความรู้สึกเป็นอย่างไร ยับยั้งได้ไหม ไม่ได้เลย ปีติเกิด หรือไม่เกิด ยับยั้งได้ไหม แม้มีสติสัมปชัญญะ จะระลึกหรือไม่ระลึกที่ลักษณะนั้นๆ บังคับได้ไหม ก็ไม่ได้
ทั้งหมดแสดงความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น เมื่อมีปัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะเหตุว่าปัญญาต้องเห็นถูกตามความเป็นจริง
ด้วยเหตุนี้แม้แต่ลมหายใจที่ปรากฏกับสติ โดยไม่เลือก ไม่ใช่การเจาะจง ใครก็ตามที่ตั้งใจจะรู้ลักษณะของลมหายใจ ไม่รู้ความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ความละเอียดของธรรมก็คือ รู้ว่าเป็นธรรม จึงละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ถ้าบางขณะลมหายใจปรากฏ ต้องการรู้มากกว่านั้น หรือละ แสดงให้เห็นว่า ขึ้นอยู่กับปัญญา ถ้ามีความต้องการที่จะให้สงบ ขณะนั้นเพราะไม่รู้ความจริง ขณะนั้นที่ต้องการ เป็นลักษณะของความติดข้อง ซึ่งเกิดดับเร็วมากจนเหมือนไม่ปรากฏให้รู้ว่า เป็นความติดข้อง
นี่คือการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญามั่นคงเหมือนอย่างอื่น ขณะอื่น ปรากฏที่อื่นส่วนอื่นของกายหรือไม่ ก็เป็นแต่เพียงธาตุเท่านั้นเอง จะเป็นลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง คือเบามาก เบาน้อยก็ตามแต่ หรือว่าเย็นหรือร้อนระดับไหนก็ตามแต่ เพราะว่าลมหายใจร้อนๆ ก็มี เวลาป่วยไข้ใช่ไหม หรือว่ากำลังเหน็ดเหนื่อย หายใจแรง ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏกระทบ แต่ส่วนที่เป็นลมหายใจจริงๆ ต้องเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน
นี่ก็แสดงให้เห็นการเกิดดับของสภาพธรรมเร็วมาก จนกระทั่งถ้าไม่ใช่ปัญญาก็แยกไม่ออก เข้าใจว่าทั้งหมดเป็นลมหายใจ
นี่คือการที่จะละความไม่รู้ การยึดถือว่าเป็นตัวตน ปัญญาจะต้องถึงระดับที่เห็นความไม่มีสาระ เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นเพียงอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ปรากฏแล้วก็หมดไปตลอดชีวิตในสังสารวัฏฏ์ ทุกขณะ มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับหมดไป
เพราะฉะนั้นสาระอยู่ที่ไหน ได้อะไรจากการที่ไม่รู้ลักษณะของธรรม แล้วมีความติดข้อง มีความต้องการ สิ่งที่มีความติดข้องต้องการกันทุกชาติ ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะแม้รูปอื่นมี แต่ก็ไม่ปรากฏให้รู้ มีใครติดข้องหัวใจบ้าง ทุกคนบอกว่า หัวใจสำคัญมาก ถ้าไม่มีหัวใจ หรือหัวใจหยุดเต้น หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็บอกว่าเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก ขณะนี้กำลังเห็น ติดข้องในหัวใจหรือเปล่า เพราะจริงๆ มีหัวใจหรือเปล่า หรือว่ามีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน รูปใดๆ ก็มีไม่ได้เลยทั้งสิ้น แต่รูปใดไม่ปรากฏ ขณะนั้นไม่เป็นที่ตั้งของความติดข้อง
สิ่งที่ปรากฏเหมือนธรรมดา เพราะว่า เห็นเมื่อไรก็มีสิ่งที่ปรากฏเมื่อนั้น แต่ไม่รู้เลยว่า เพียงเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็เป็นเครื่องผูก โลภะถูกผูกไว้กับอะไร ชอบอะไร ต้องการอะไร ไม่พ้นจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้ แล้วแต่จะสมมติเรียกสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นเสื้อผ้า เป็นเพชรนิลจินดา เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ก็แล้วแต่จะคิดนึก แต่ความจริงก็คือ มีสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ผูกพันให้จิตอยู่กับสิ่งนั้น เป็นธาตุของความต้องการสิ่งนั้นๆ เมื่อมีการเห็น เมื่อมีการได้ยิน เมื่อมีการได้กลิ่น เมื่อมีการลิ้มรส เมื่อมีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
เพราะเหตุนี้เอง พระอนาคามีบุคคลจึงเป็นผู้ที่สามารถที่จะดับความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอีกเลย แต่ว่าผู้ที่ไม่รู้ความจริง จะไม่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และคิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงสิ่งเล็กน้อยที่ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่งหมดจด คือ มีความเห็นถูกต้องจนกระทั่งดับกิเลสได้ เพราะรู้มหาภูตรูป ๔ ก็จะต้องรู้ว่า แม้มหาภูตรูปเป็นรูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นธรรมดา ทุกคนกระทบสัมผัส แต่ความลึกซึ้งหรือความละเอียดซึ่งเป็นเครื่องผูก หรือสภาพที่จิตผูกพันติดข้องในรูปนั้นก็มากมาย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวัน หรือว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนพยายามนักหนา คือไปทำ ลมหายใจ หรือไปรู้ที่ลมหายใจ แต่ขณะนั้นเป็นความติดข้อง เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เหมือนทุกอย่าง เกิดขึ้นเพียงให้เห็น ให้ได้ยิน ให้ได้กลิ่น แล้วก็หมด ไม่กลับมาอีกเลย
ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องอานาปานสติ ถ้าหากสติไม่สามารถที่จเข้าใจได้ ก็ไม่สามารถระลึกถึงลมหายใจได้ ต้องเป็นผู้มีปัญญาเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ผู้มีปัญญา ก็ต้องอย่าลืมว่า ต้องผู้มีปัญญา
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวเสมอว่า ต้องเฉพาะทีละอย่างๆ แต่ละทาง แต่จริงๆ แล้ว มาสังเกตแล้ว เฉพาะทีละอย่างๆ ตรงนี้
ท่านอาจารย์ คุณบุษกรจะสังเกตหรือจะเข้าใจ
ผู้ฟัง จะเข้าใจ แต่ก็กลายเป็นอยากเข้าใจทีละอย่างๆ
ท่านอาจารย์ แล้วจะอยากจะเข้าใจได้อย่างไร
ผู้ฟัง ก็ต้องฟังให้เข้าใจ เช่น เห็น เห็นก็ดับไปแล้ว แล้วมีเสียงเกิดอีก มารู้เสียง เสียงก็ดับ มีแข็งอีก ก็ดูเหมือนว่า ทั้งมีเห็น มีเสียง มีแข็ง เลยวุ่นวายไปหมด
ท่านอาจารย์ มีทุกอย่างรวมกัน ก็ไม่ใช่ความรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ทีละอย่าง ถ้าทีละอย่าง จะรู้ลักษณะของมโนทวารวิถี ขณะนี้เห็นกับได้ยิน พร้อมกันหรือไม่พร้อมกัน
ผู้ฟัง ไม่พร้อมกัน
ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือ ว่าขณะที่ได้ยินไม่มีเห็น เดี๋ยวนี้
ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้พร้อมกันหมด
ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้รู้เฉพาะลักษณะของธรรมจริงๆ ทีละอย่าง ไม่ใช่ปัญญาที่สามารถระลึกได้ ลักษณะของสิ่งที่มีจริงขณะนี้เป็นอย่างหนึ่ง แต่ละอย่าง ทีละอย่างก่อน ยังไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้อย่างนี้ แล้วจะประจักษ์ว่า โลกจริงๆ ที่ใช้คำว่า “โลก” หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะมีอะไรที่ไม่เกิดดับ ไม่ว่าจะใช้คำว่า “โลก” ใช้คำว่า “จักรวาล” ใช้คำว่า ภูเขา อะไรก็ตามแต่ ต้นไม้ ใบหญ้า ทั้งหมด ที่กล่าวว่ามีในโลก หรือเป็นโลก ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ
เวลาที่จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ ทีละ ๑ ขณะ เพราะว่าจิตจะเกิดขึ้นซ้อนกัน พร้อมกัน ๒ ขณะไม่ได้ จิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น อย่างเสียง เสียงนี้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เสียงอื่น สิ่งที่ปรากฏทางตาแต่ละอย่างก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่างจริงๆ แต่ขณะนี้ทราบไหมว่า จิตเกิดดับรวดเร็วมากมายขนาดไหน เห็น กี่วาระ โดยมีมโนทวารวิถีคั่น จึงสามารถที่จะจำนิมิต คือ การเกิดดับสืบต่อของจิตที่เกิดดับเร็ว จิตที่กำลังกล่าวถึงก็ดับไปแล้ว แม้แต่ที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานเหมือนเป็นคน แท้ที่จริงก็เป็นรูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ ทยอยกันเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แล้วก็มีสมุฏฐานให้เกิดอีกๆ จนกระทั่งเป็นนิมิต ตัวสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดดับเร็วมาก ดับหมดแล้ว แต่ที่ปรากฏก็คือ นิมิตของรูป ของเวทนา คือ ความรู้สึก ของสัญญา คือความจำ ของสังขารขันธ์ ของวิญญาณขันธ์
เพราะฉะนั้น ให้เห็นการเกิดดับซึ่งเร็วเหมือนมายากลที่หลอกลวงให้เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ความจริงจิตเกิด ๑ ขณะ และรู้เฉพาะสภาพธรรมทีละอย่าง จะไปสังเกตอะไร หรือจะเข้าใจว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปกังวล จิตที่ดับแล้วก็ดับแล้ว รูปที่ดับแล้ว ก็ดับแล้ว แต่ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจความต่างกัน
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 481
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 482
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 483
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 484
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 485
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 486
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 487
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 488
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 489
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 490
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 491
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 492
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 493
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 494
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 495
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 496
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 497
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 498
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 499
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 500
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 501
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 502
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 503
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 504
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 505
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 506
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 507
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 508
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 509
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 510
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 511
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 512
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 513
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 514
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 515
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 516
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 517
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 518
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 519
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 520
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 521
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 522
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 523
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 524
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 525
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 526
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 527
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 528
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 529
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 530
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 531
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 532
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 533
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 534
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 535
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 536
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 537
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 538
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 539
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 540