พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 505


    ตอนที่ ๕๐๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ หลังจากที่ได้รับคำพยากรณ์ จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งแล้ว แต่ละท่านที่อบรมมา ถ้ายิ่งด้วยปัญญาก็ ๔ อสงไขยแสนกัป ถ้ายิ่งด้วยศรัทธาก็ ๘ อสงไขยแสนกัป ถ้ายิ่งด้วยวิริยะก็ ๑๖ อสงไขยแสนกัป แล้วเราฟังธรรมนานเท่าไร แต่ว่าเริ่มจะเข้าใจได้ เหมือนท่านทั้งหลายซึ่งก่อนที่จะเป็นพระอริยสาวก ท่านก็เหมือนธรรมดา เกือบจะเหมือนว่า ท่านจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร อย่างพระสูตรที่เคยได้กล่าวถึงแล้ว เพียงฟัง ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ด้วย แต่ก่อนนั้นเป็นปกติธรรมดา ใครจะรู้ว่า บุคคลนี้สะสมปัญญาที่สามารถจะละความไม่รู้ เพราะว่าปัญญาไม่ได้แสดงออกมาที่จะให้เห็นชัดเจนได้ ไม่เหมือนกับการกระทำทางกาย ทางวาจา แล้วมีสภาพธรรมซึ่งสะสมมาที่ยังไม่ได้ดับไปด้วย แต่ก็มีการอบรมของปัญญาที่จะดับกิเลสได้ กิเลสจึงดับได้

    ผู้ฟัง ขณะที่ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่ฟังอยู่ หมายความว่าเราจะต้องมุ่งเน้นถึงความเข้าใจที่เกิดก่อนที่ยังไม่มี เป็นแค่วิญญาณนิมิต แล้วถึงเข้าใจวิญญาณนิมิตที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตรงนี้จะข้ามตอนไปสู่ความคิดนึกแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจคำว่านิมิต แล้วก็ผ่านไปได้ ไม่ต้องไปนั่งคิดถึงอะไรเป็นนิมิตอีก เพราะเข้าใจแล้ว ที่จะกล่าวว่า ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ชัดเจนไหม ไม่ใช่สิ่งอื่น ไม่ใช่ไปนึกว่า อยู่หน้านั้น เล่มนี้ สอดคล้องกับตอนนั้นตอนนี้ ไม่ได้ฟังสิ่งที่กำลังฟังเลย แต่ถ้ากำลังฟังสิ่งที่กำลังได้ยินจริงๆ จะนึกถึงอย่างอื่นไหม แล้วจะสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังได้ไหม อย่างท่านที่ฟังธรรม แล้วคุยกัน พูดเรื่องอื่น เพียงขณะที่พูดเรื่องอื่น หรือคุยกันก็ไม่ได้ยินสิ่งที่ได้ยินแล้ว แล้วจะเข้าใจไหม ก็หมดโอกาสแล้ว นี่แสดงให้เห็นถึงว่า ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ไม่ใช่หมายความว่า เราจะต้องเตรียมตัวว่า วันนี้เราจะฟังสิ่งที่กำลังได้ฟัง แต่เพราะรู้ว่า ฟังเพื่อเข้าใจใช่ไหม หรือเพื่ออย่างอื่น หรือว่าฟังเพลินๆ ฟังให้ไม่รู้เรื่อง ฟังไม่ต้องคิดถึงสิ่งที่กำลังฟัง ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่ตรง ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง แล้วจะได้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังด้วย

    ผู้ฟัง แล้วคล้ายกับว่าบังคับหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ใครบังคับ "สภาพความเข้าใจ' ได้

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมที่เกิดความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าบังคับได้ เข้าใจกันให้หมด เพราะฉะนั้น คำว่าบังคับ ก็คือ ขณะนั้นลืมความเป็นอนัตตา ที่มั่นคงจริงๆ ไม่ว่าจะฟังพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรมละเอียดลึกซึ้งมากเท่าไรก็ตาม ด้วยความรู้ถูกต้องว่า เป็นอนัตตา เพราะทุกอย่างก็หมดแล้ว แต่ความเป็นอนัตตาจะมั่นคงขึ้น จะทำให้รู้ว่า ขณะใดก็ตามสิ่งที่จริงคือสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏขณะนี้เท่านั้น

    ผู้ฟัง ไม่แน่ใจว่า เมื่อฟังแล้ว สังเกตดูตัวเอง จะมีลักษณะที่ใส่ใจในลักษณะของสภาพธรรมของเสียง ของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือของจิตคิดมากขึ้น จะแยกระหว่างตัวตนที่ไปจดจ้อง ไปทำ กับสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่ง คำถามว่า ถ้าเข้าใจผิดตรงนี้ จะทำให้ปัญญาไม่สามารถเจริญขึ้น ก็กลายเป็นว่า มีตัวตนไปจดจ้องขัดขวางปัญญาไม่ให้เจริญต่อไป

    ท่านอาจารย์ การฟังคือความมั่นคงขึ้นของความเห็นถูก ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่นเลย แต่อยากจะไปทำกันมากเลย จะไปสังเกต จะไปอะไรก็แล้วแต่ แต่จริงๆ ก็คือ การฟังเพื่อให้เข้าใจมั่นคงขึ้นในความเป็นอนัตตา ในความเป็นธรรมของทุกอย่าง ขณะสงสัย แสดงว่าไม่มั่นคงว่าขณะนั้นเป็นธรรม มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม เวลาตอบ ตอบได้ แต่พอสงสัยต้องถามว่าเป็นธรรมหรือเปล่า เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจะทำอย่างไร แล้วใครจะตอบได้ นอกจากรู้ว่า สิ่งนั้นหมดแล้วกลับมาอีกไม่ได้เลย มีสิ่งที่กำลังปรากฏ คิดดู ไปนึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้น การฟังจนกว่าจะมีปัจจัยที่จะให้รู้ลักษณะที่เกิดแล้ว คือ เดี๋ยวนี้ ซึ่งความไม่รู้จะพาไปที่อื่นหมดเลย เร็วด้วย และก็ลืมว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริง คือ สิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ

    ผู้ฟัง แล้วปัญญาของผู้นั้นเท่านั้นที่รู้ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไปขอพระพุทธเจ้าได้ไหม ให้ปัญญามากได้ไหม

    ผู้ฟัง ขอไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง แต่ทรงแสดงแล้วแสดงอีกให้เห็นตามความเป็นจริง ว่าความเห็นถูกคืออย่างนี้ อบรมให้เพิ่มขึ้นได้

    ผู้ฟัง ตามที่เรียนมาว่า กัมมปัจจัย คือ เจตนาเจตสิก โดยกัมมปัจจัย มี ๒ อย่าง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภทก็เป็นสหชาตกัมมปัจจัย คือเกิดพร้อมกับธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นผล และอีกประเภทคือเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เป็นเจตนาที่ให้ผลต่างขณะ หมายถึง ให้ผลในอนาคต แต่ก่อนหน้านี้เคยเข้าใจว่า เจตนาที่เกิดกับอกุศลจิต หรือกุศลจิตก็เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย แต่เมื่อสอบถามก็ไม่ใช่ เพราะปัจจัยเป็นเรื่องเหตุให้เกิดผล ฉะนั้น เจตนาในกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่จะเป็นกัมมปัจจัย จะต้องมีวิบาก คือ ผลของปัจจัยเกิดก่อน ซึ่งตรงนี้ยังไม่เข้าใจชัดเจนว่า นานักขณิกกัมมปัจจัย เป็นผลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีคำว่า “ปัจจัย” ซึ่งเป็นเหตุ ก็ต้องมีปัจจยุปบันซึ่งเป็นผล จะมีเหตุลอยๆ ไม่ได้ หรือเมื่อกล่าวถึงผล ก็ต้องรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ถ้ากล่าวว่า นานักขณิกกัมมปัจจัยก็ต้องมีผล เช่น จิตเห็นขณะนี้ เป็นวิบากจิต ก็ต้องเป็นผลของนานักขณิกกัมมปัจจัยในอดีต

    ท่านอาจารย์ ของเจตนาซึ่งเกิดแล้วก่อนนั้น ถึงความเป็นปัจจัยได้ที่จะทำให้วิบากเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ซึ่งเจตนาในกุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าไม่ได้ให้ผลเกิด ก็ยังไม่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย

    ท่านอาจารย์ โดยกัมมปัจจัย แต่โดยปกตูปนิสสยปัจจัยก็มี การศึกษาของเรายังไม่ครบถ้วน ยังไม่ละเอียดพอ แต่ถ้ารู้ว่า สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดแล้ว ไม่ได้สูญหาย สะสมเป็นปัจจัยโดยละเอียดเป็น "ปกตูปนิสสยปัจจัย" หมายความถึง เป็นธรรมที่เกิดแล้วนั่นเอง เป็นปัจจัยได้ เช่น ถ้าไม่เคยมีศรัทธาเลย แล้วจะมีการฟังธรรมไหม แล้วศรัทธานั้นมาจากไหน เพราะว่าวิบากจิต โดยจำนวนก็จำกัดไว้แล้ว จิตเห็น ๒ ขณะ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้กระทบสัมผัส รวม ๑๐ แล้วยังมีอเหตุกะที่เป็นอกุศลวิบากทั้งหมด ๗ และอเหตุกะที่เป็นกุศลวิบากทั้งหมด ๘ ก็ทำหน้าที่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ยังมีผลของกุศลซึ่งทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นในขณะปฏิสนธิ ในขณะที่เป็นภวังค์ ขณะจุติ ก็เป็นหน้าที่ของวิบากจิต ซึ่งเราไม่สับสน เมื่อวิบากเกิดแล้วตามปัจจัย คือ กรรม แต่ว่ากุศลจิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดต่อจากจิตเห็นบ้าง จิตได้ยินบ้าง ไม่ใช่วิบาก แล้วมาจากไหน ก็ต้องมาจากการสะสม ก็คือปกตูปนิสสยปัจจัย คือเจตนาซึ่งไม่ถึงการกระทำกรรมที่ทำให้ผลนั้นเกิด แต่ก็สะสมสืบต่อเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยด้วย

    ผู้ฟัง จะเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย ก็ต่อเมื่อมีผลเกิดเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เมื่อวิบากจิตเกิด อะไรเป็นปัจจัย ถ้าใช้คำว่ากรรม กรรมที่เกิดพร้อมวิบากจิต หรือกรรมก่อนนั้น ถ้ากล่าวถึง กรรมก่อนนั้นที่ทำให้วิบากเกิด วิบากนั้นเกิดต่างขณะกับกรรมที่ได้กระทำแล้ว จึงใช้คำว่า นานักขณิกกัมมะ แต่ถ้าหมายถึง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบาก ก็เป็นกรรม แต่เป็นสหชาตกัมมะ เพราะว่าเกิดกับวิบากจิต ทำกิจของเจตนาที่เกิดกับวิบาก ขวนขวาย จงใจ ตั้งใจตามกำลังของสภาพธรรมที่เป็นชาตินั้นๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เจตนาที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต เมื่อล่วงเป็นกรรมบถ จะให้ผล ซึ่งเมื่อศึกษาวิถีจิตก็จะทราบว่า เจตนา คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรมไม่ได้ให้ผลหมด เพราะว่าอาจจะเป็นอโหสิกรรม คือ กรรมไม่ให้ผลก็ได้ ถ้าตรงนั้น หมายถึงว่า เจตนาที่เกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่ไม่ให้ผลเป็นวิบากก็ไม่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย

    ท่านอาจารย์ คำว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย” หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เป็นปัจจัยที่ให้ผลเกิด

    ท่านอาจารย์ ต่างขณะ และผลเกิดแล้ว เป็นวิบาก วิบากนั้นมาจากเจตนาไหน

    ผู้ฟัง มาจากนานักขณิกกัมมปัจจัย

    ท่านอาจารย์ มาจากเจตนาซึ่งได้กระทำแล้ว

    ผู้ฟัง จากพื้นฐานของกระผม คงจะสะสมมามาก เมื่อใดก็ตามที่เอ่ยชื่อ หรือพูดเรื่องราวไป เป็นเพียงขั้นคิดนึก ขั้นเรื่องราว แต่ไม่รู้ตรงลักษณะของที่เป็นอารัมมณปัจจัยเลย แม้ขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องใช้คำว่า “ปัจจัย” ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่เกือบจะเรียกว่าทุกครั้งก็ได้ แม้แต่รู้ และเข้าใจลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหูบ้าง ทุกครั้งที่เลยมาถึงเรื่องปัจจัย ก็คิดว่า นี่กำลังเอาเรื่องราวมาคุย

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคิด

    ผู้ฟัง แม้ในขณะนั้นก็คิดต่อ นี่คือ ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็เป็นเราคิด

    ผู้ฟัง ฟังแล้ว ถ้าอารัมมณปัจจัยอาจจะฟังมามาก ฟังมานาน เมื่อท่านอาจารย์เอ่ย แม้ไม่ได้ท่อง ไม่ได้จำมาเลย แต่ก็สามารถที่จะตรึกนึกถึงเรื่องนี้ได้ ก็เป็นเพียงความเข้าใจขั้นการฟังเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นการฟังก่อน สามารถจะรู้หรือไม่ว่า จิตขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นอารัมมณปัจจัย

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีความเข้าใจในขั้นการฟัง

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีความเข้าใจขั้นการฟัง แล้วจิตเกิดขึ้นเห็น ต้องพูดชื่อไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้องพูด แต่อดไม่ได้ที่จะกล่าว

    ท่านอาจารย์ แสดงความเป็นอนัตตาใช่ไหม “อดไม่ได้” รู้ไหมที่กล่าวนี่คืออนัตตา

    ผู้ฟัง ก็มารู้ทีหลัง นานแล้วกว่าจะรู้ อย่างนี้ก็อดไม่ได้ ทั้งๆ ที่

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ให้อด ไม่เคยให้อด เพราะอดไม่ได้ เพราะมีปัจจัยก็เกิด ไม่ใช่ไปให้อด แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดก็ตามเกิดแล้วเดี๋ยวนี้จริง เพราะมีปัจจัย แต่ละปัจจัยมากมาย เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่พอจะรู้ได้ เห็นไหม เรามีปัญญาระดับไหน เราจะไปรู้ปัจจัยอะไรมากมาย แต่ปัจจัยที่พอจะเข้าใจได้ในขั้นการฟัง แล้วเวลาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็เริ่มที่จะเข้าใจในขณะนั้นโดยไม่ต้องเรียกอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ต้องเอ่ยเป็นคำ เพราะขณะใดที่เอ่ยคำว่า อา-รัม-มะ-ณะ-ปัจจัย ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะของธรม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ศึกษาธรรมให้ถูกต้อง ตามความเข้าใจถึงลักษณะของธรรมที่ยังไม่กล่าวถึงชื่อนั้นเป็นอย่างไร ตามลำดับ ตามขั้น ตามตอน ความเข้าใจของผู้ฟัง หรือปัญญาน้อยๆ ที่กระผมได้อบรมศึกษามา จะสามารถเข้าใจลักษณะของวิปัสสนาญาณ หรือ..

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่วิปัสสนาญาณ จะเข้าใจลักษณะของวิปัสสนาญาณได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่อัธยาศัยที่สะสมมา พอพูดถึงวิปัสสนาญาณ มันเหมือนว่า นี่กำลังพูดชื่อ พูดบัญญัติต่างๆ ทำไมเลยตัวจริงมา

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ายังไม่เกิดขึ้น ก็จะต้องพูดแต่ชื่อ

    ผู้ฟัง ก็เป็นลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เกิดเมื่อไร ไม่ต้องเรียกชื่อ ก็เป็นปัญญาระดับนั้น เมื่อสักครู่นี้คุณประทีปมีจิตไหม

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ก็มี

    ท่านอาจารย์ ถามถึงเมื่อสักครู่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้ มีจิต เดี๋ยวนี้ก็มีจิต และจิตเดี๋ยวนี้มาจากไหน

    ผู้ฟัง จากการฟังในเบื้องต้นมา

    ท่านอาจารย์ จิตเดี๋ยวนี้มาจากไหน

    ผู้ฟัง สืบต่อมา

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ และจิตเดี๋ยวนี้มาจากไหน

    ผู้ฟัง ถ้าจะพูด ก็คือ มีปัจจัยที่สืบต่อมา

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตขณะก่อน จะมีจิตขณะนี้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตขณะนี้ต้องมาจากจิตขณะก่อน แสดงว่า เมื่อจิตขณะก่อนดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะนี้เกิดได้ ใช้คำว่า “อนันตรปัจจัย” ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เราต้องเข้าใจสิ่งที่สามารถจะเข้าใจได้ ไม่ใช่ไปเอาชื่อมาแล้วก็ไม่เข้าใจ แล้วเมื่อไรเราจะรู้จักปัจจัยนั้นๆ แต่ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็เป็นปัจจัยนั้นๆ เพราะฉะนั้น ฟัง เข้าใจความเป็นปัจจัย แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ตัวเราไปรู้ปัจจัย ๒๔ ปัจจัย ที่ได้ยินชื่อทั้งหมด แต่ขณะนี้สามารถเข้าใจปัจจัยอะไรได้ เริ่มจากต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ จึงสามารถรู้ว่า อะไรเป็นปัจจัย ถ้ากล่าวถึงสิ่งที่ปรากฏทางตากับจิตเห็น จะพูดถึงอนันตรปัจจัยไหม หรือพูดถึงอารัมมณปัจจัย ก็คือ เริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริง เพียงแต่ใส่ชื่อปัจจัยว่า แต่ละขณะสภาพธรรมใดก็ตาม ไม่ว่านามธรรม และรูปธรรม ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด เกิดไม่ได้เลย จะปรากฏไม่ได้เพราะไม่เกิด

    เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้ว ขั้นฟังพื้นฐานขั้นต้น คือเข้าใจให้ถูกต้องว่า ต้องมีปัจจัยทำให้เกิดธรรมหลากหลาย เพราะฉะนั้น ปัจจัยก็ต้องหลากหลายด้วย แต่สามารถเข้าใจปัจจัยอะไรได้ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่หมายความว่า เราจะไปเข้าใจปัจจัยได้ทั้งหมด เพราะแม้แต่อารัมมณปัจจัย ขณะที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา รู้หรือเปล่าว่า จิตเห็นเป็นอย่างไร ที่จะกล่าวว่า เป็นอารัมมณปัจจัยของจิตเห็น ถ้าไม่รู้ลักษณะของจิตที่กำลังเห็น จะรู้ไหมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารัมมณปัจจัยของจิตเห็น ไม่ใช่เสียง เพราะขณะนี้กำลังเห็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏขณะนี้เป็นอารัมมณปัจจัย เป็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้นรู้ ถ้าจิตเกิด รู้สิ่งอื่น สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ก็ปรากฏไม่ได้ เพราะจิตขณะนั้นเกิดขึ้นรู้สิ่งอื่น แต่เพราะเหตุว่า ขณะนี้จิตเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นปัจจัย โดยเป็นอารมณ์ เมื่อเป็นปัจจัยโดยอารมณ์ ก็ใช้คำว่า “อารัมมณปัจจัย” ถ้าปัจจัยนี้เข้าใจ ปัจจัยอื่นก็ค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ขณะนี้พอจะเข้าใจ อนันตรปัจจัย กับ อารัมมณปัจจัยใช่ไหม หรือจะไปอยากรู้ปัจจัยอื่นที่ยังไม่สามารถรู้ได้

    ผู้ฟัง พอเข้าใจ แต่อยากรู้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้เพราะอยากหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ อยากเท่าไร ก็อยากไป แล้วจะรู้เพราะอยากหรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ ความเข้าใจความเป็นปัจจัยในขณะนั้นจะต้องมีทั้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏตามความเป็นจริงด้วย และสภาพรู้ ซึ่งเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ก็ต้องปรากฏก่อนด้วย ถึงจะเข้าใจถึงความเป็นปัจจัยนั้นๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าธรรมไม่เกิด จะรู้ได้หรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ธรรมใดก็ตามที่เกิด จากการฟัง ฟังแล้วฟังอีก เป็นปกติธรรมดาก็คือว่า ต้องมีปัจจัย นี้แน่นอน แต่รู้ขณะที่กำลังเกิดหรือเปล่า จะได้กล่าวว่า รู้ปัจจัย นี่แสดงให้เห็นว่า การที่จะรู้ความจริงจากสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งฟังจริงๆ เข้าใจจริงๆ มีจริงๆ ก็ต้องรู้จริงๆ ด้วย ถึงสามารถที่จะเข้าใจแต่ละคำ ที่เคยได้ยินว่า เป็นความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ปัจจยปริคหญาณ ต้องเป็นนามรูปปริจเฉทญาณก่อน ไม่ใช่จะข้ามขั้น ขณะนี้ฟังเป็นพื้นฐานให้เข้าใจที่มั่นคง เพื่อที่จะไม่ใช่เรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็เป็นธรรม นี่คือฟังจนกว่าจะถึงลักษณะธรรมที่เกิดจริงๆ และขณะนั้น แม้ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ขณะนั้นตรัสรู้ความจริงของธรรม ไม่ได้ไปนึกถึงชื่อสักชื่อเดียว แต่พระปัญญาที่ทรงบำเพ็ญบารมีมาจนถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถที่จะใช้คำหลากหลายมากมาย ตลอด ๔๕ พรรษา ให้เข้าใจความจริง ซึ่งไม่ต้องมีชื่อ แต่ต้องอาศัยชื่อ จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ลักษณะเป็นอย่างไร เช่น ขณะที่กำลังเห็น มีจริง ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย แต่ต้องใช้คำให้หมายรู้ว่า หมายความถึง เห็น หรือหมายความถึง สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็มีปัจจัยที่ทำให้เห็นเกิดขึ้นด้วย แม้แต่สิ่งที่ปรากฏก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ปราศจากสิ่งที่เป็นอารัมมณปัจจัยไม่ได้เลย ไม่ว่าจิตขณะใดทั้งสิ้น เมื่อเป็นจิตเกิด ต้องมีอารัมมปัจจัย แต่ไม่จำเป็นต้องเรียกว่า อารัมมณปัจจัย เพราะเหตุว่า จิตอะไรเกิดขึ้นรู้อะไร ขณะนั้นสิ่งที่ถูกจิตรู้ ก็เป็นอารัมมณปัจจัย

    เพราะฉะนั้น การฟังเข้าใจ เวลาที่จิตเกิดจะรู้ไหม ที่จะละว่าไม่ใช่เรา เพราะรู้ว่ามีปัจจัย แล้วปัจจัยอะไร ถ้าเป็นจิตได้ยิน ก็รู้เลยว่า ไม่ใช่ปัจจัยอื่น ปัจจัย คือ เสียงนั่นเองเป็นปัจจัย จิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า การฟังสะสมความรู้ความเข้าใจ เพื่อจะรู้ลักษณะจริงๆ ซึ่งไม่ต้องใช้ชื่อ

    ผู้ฟัง เวลาเรียนธรรม ประเด็นที่ ๑ ต้องใช้เวลา ประเด็นที่ ๒ ต้องซ้ำๆ การใช้เวลา และซ้ำๆ นั้น คือ พิจารณาตัวเอง ใช่หรือไม่ แล้วจะพิจารณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีอย่างไร หรือฟังแล้วก็เข้าใจว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจริงหรือเปล่า ตรงหรือเปล่า เราได้ยินบ่อยๆ ใช่ไหม สภาพธรรมมีปัจจัยเกิด ถ้ายังไม่เกิด ก็เพราะเหตุว่า ขณะนั้นไม่มีปัจจัยที่สิ่งนั้นจะเกิด ฟังดูธรรมดา ซ้ำไปซ้ำมา แต่ขอคิดถึงคำอื่นอีกก็ได้ เพราะว่าธรรมหลากหลายมาก “ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่” แค่นี้เองใช่ไหม เมื่อสักครู่ไม่มีเสียง เพราะเงียบ เสียง มีแล้วหามีไม่ หายไปไหน ตรงกับปัจจัยหรือไม่ เพราะเหตุว่า ขณะใดก็ตามที่เพียงฟังเข้าใจ ไม่เหมือนกับขณะที่กำลังรู้ภาวะที่ไม่มีสิ่งนั้น แล้วสิ่งนั้นเกิดทันทีเลย แสดงว่า ขณะนั้นสติสัมปชัญญะรู้การเกิดขึ้นของสิ่งนั้น เพราะว่าสิ่งนั้นไม่มีมาก่อน ขณะนี้เราพูดเหมือนธรรมดาต่อไปเรื่อยๆ แต่เวลาที่เป็สติสัมปชัญญะ ก็จะมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดเป็นขณะที่เป็นสติสัมปชัญญะที่รู้สภาวะที่ไม่มีสิ่งนั้น แล้วก็มีสิ่งนั้นเกิดขึ้น ก็จะรู้ได้เลยว่า สิ่งนั้นคือเสียง เพราะฉะนั้น จิตได้ยินขณะนั้นรู้เสียง ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ความเข้าใจการเกิดขึ้นของธรรมที่เกิด ตอนแรกจะไม่รู้ลักษณะที่ดับ แต่จะมีการเกิดขึ้น เกิดขึ้น เกิดขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    20 ส.ค. 2567