พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 507


    ตอนที่ ๕๐๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ บางคนก็อ่านเรื่องของ "กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน" แล้วก็สงสัยตรงนั้น สงสัยตรงนี้ แต่ไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็มีแต่เพียงการอ่านได้ จำคำได้ แต่รู้หรือไม่ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจถูกต้อง ถ้ามีความเข้าใจได้ ไม่ต้องไปหา หรือไปแสวงหาอะไรเลย ลองพิจารณาดูตั้งแต่เกิดมา มีทั้งหมดเลย สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพียงแต่ว่าใครมีโอกาสจะได้ฟังให้เข้าใจ สิ่งซึ่งไม่ต้องทำให้เกิดเลย มีปัจจัยเกิดแล้วทั้งนั้น ผ่านไปแล้วทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ความจริง ก็คือว่า ผู้ที่ได้สะสมศรัทธามาแล้ว และสะสมกุศลทั้งหลายที่เป็นบารมีมาบ้าง ก็สามารถเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แต่แค่นี้พอไหม ต้องละเอียดขึ้นอย่างมาก แม้แต่บารมีแต่ละข้อ ขาดไม่ได้เลย อย่างทานบารมี การให้ ทุกคนรู้สึกว่า ไม่สงสัยเลย ใช่หรือไม่ ไม่เห็นจะมีอะไรแปลก มีอะไรก็ให้ไปที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น คิดเพียงเท่านั้น แต่จิตที่ให้ละเอียดหรือไม่ ในการให้ บางคนอาจจะสะสมทานบารมี พร้อมที่จะให้ พร้อมที่จะช่วยเหลือคนยากจน หรือคนที่กำลังลำบาก เดือดร้อน เป็นโรคภัยไข้เจ็บ แต่จะให้คนที่ไม่ชอบแม้แต่ข้าวสักจานหนึ่งได้ไหม บางคนก็ไปเปรียบกับน้ำปลาสักขวดหนึ่ง แล้วแต่จะคิดว่า ถ้าขณะนั้น ยังคงโกรธ แล้วก็ไม่ลืม แล้วก็ผูกโกรธ แล้วก็มีการให้ทานมากมายกับคนอื่น แต่พอถึงความไม่ชอบหรือคนที่ไม่ชอบซึ่งยังคงไม่ชอบอยู่ แม้แต่ข้าวหนึ่งจาน หรือน้ำปลาก็ให้ไม่ได้ แล้วก็ลองย่อลงมาถึงจานหนึ่งก็มากไป ข้าวเม็ดหนึ่งให้ได้ไหม จิตของคนที่ละเอียด จะต้องรู้ได้ว่า แม้อกุศลเพียงเล็กน้อยที่มี ก็เป็นเครื่องกั้นกุศลอื่นอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแต่ทานการให้ รู้กันอยู่แล้ว ก็ให้ไป แต่ว่าความจริงแค่ทานการให้ที่สะสมมานั้นไม่พอ เพราะเหตุว่ายังมีความเป็นเรา แล้วยังมีความเป็นเขา และการให้ก็ไม่ได้ให้แต่เฉพาะวัตถุ แม้อภัยทานมีไหม ถ้าไม่มีแล้วจะไปรู้อะไร ในเมื่อยังเป็นเรา ที่ยังมีสิ่งนั้นอยู่

    ด้วยเหตุนี้ โลกตามความเป็นจริงขณะนี้ก็ไม่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏ และหมดแล้ว แต่ก็ยังจำ แล้วปรุงแต่ง คิดนึกไม่จบ เพราะฉะนั้น ก็เพิ่มพูนอกุศลซึ่งไม่มีทางที่เพียงแต่ฟังธรรม แต่ว่าไม่ได้คิดจะประพฤติปฏิบัติตาม เพราะเหตุว่า ยากไหม ฟังเพื่อรู้แล้วละ โอกาสไหนที่กุศลจิตจะเกิด มีเกือบจะตลอดเวลา ถ้าเห็น เราก็เห็นกันอยู่ เมตตา มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดีขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว ไม่ยากเลย แต่เป็นได้ไหม หรือยังโกรธอยู่ หรือว่ายังไม่ให้อภัย

    นี่แสดงให้เห็นว่า การที่จะละอกุศล แม้ขั้นการฟัง ต้องฟังเพื่อประโยชน์ คือ เพื่อการขัดเกลา เพื่อการละ มิฉะนั้นแล้ว จะหมดความสงสัยในสภาพธรรม ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วยังมีคำอธิบายว่า เป็นรูป รูปะ ในภาษาบาลี เป็นสิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย แค่นี้ จะสามารถมั่นคงในความเข้าใจที่จะรู้ว่า ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามขณะนี้ แม้เป็นคนที่เราเห็นว่า กำลังทุกข์ยาก เรากำลังช่วยเหลือ แต่ปัญญาก็สามารถที่จะมีความเข้าใจเกิดขึ้น ในขณะที่สิ่งนั้นก็ยังปรากฏ แล้วก็ยังจำว่าเป็นคน แต่ก็ยังมีการเกิดด้วยความเข้าใจว่า ขณะนั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง นี่คือการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งต้องละเอียด และต้องมีความเข้าใจ และเพื่อประโยชน์สูงสุด คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่ออนุเคราะห์ให้คนอื่นดับกิเลสหมดเช่นเดียวกับพระองค์ด้วย คนที่ยังมีกิเลสอยู่สบาย เป็นสุขไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็นสุขเลย

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือ โลภะเกิดขึ้นสนุกมาก ต้องการ ติดข้อง แต่ขณะนั้นไม่ใช่ความสงบ เพราะถ้าไม่ติดข้องในสิ่งนั้นจะสงบกว่าแน่นอน นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งอาศัยการฟังแล้วพิจารณา และประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น ที่จะทำให้เป็นบารมีได้ จนกระทั่งสามารถเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ ยังไม่ต้องไปคิดเรื่องการดับกิเลส หรือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ว่าเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ฟังจะมากน้อยสักเท่าไร ฟังพระสูตรหลายพระสูตรก็เพื่อถึงการเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าจะปรากฏอยู่เรื่อยๆ ตราบใดที่มีการเห็น ไม่ว่าจะภพไหน ชาติไหนก็ปรากฏ แต่ว่าจะสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ก็เมื่อมีการฟังอย่างละเอียด

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าเสบียงในการเดินทางไกลมากในสังสารวัฏฏ์ ท่านอาจารย์ก็พูดไปแล้วว่า เริ่มต้นที่ฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ ซึ่งผู้ที่มาฟังขณะนี้ก็เหมือนเตรียมเสบียงเดินทาง เป็นความดี ในความดีเป็นกุศลกรรมหรือกุศลจิต ซึ่งประกอบด้วยปัญญา และไม่ประกอบด้วยปัญญา ขอเรียนให้ท่านอาจารย์ขยายความ ว่ากุศลขั้นทาน ขั้นศีล แม้จะทำให้สามารถออกจากวัฏฏะได้ แต่ถ้าไม่สามารถเข้าใจความจริงขณะนี้ได้ ก็ไม่สามารถเป็นเสบียงให้หยุดเดินทางได้ ก็จะต้องเดินอยู่เรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณเป็นคนดีไหม

    ผู้ฟัง ก็สลับ มีทั้งดี และไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ปัญญาใช่ไหมที่รู้ แล้วปัญญาที่รู้ว่าดีหรือไม่ดี แต่เป็นเรา พอไหม

    ผู้ฟัง ไม่พอ

    ท่านอาจารย์ ต่อให้คุณอรวรรณจะรู้จักตัวเองขึ้น ตอนนั้นเราไม่ดี ตอนนี้เราดี แต่ก็เป็นเรา เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้จะดีถึงอรูปฌานกุศล เป็นจิตที่สงบมาก ไม่ติดข้องในสิ่งที่เคยติดข้องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะว่าเห็นทุกวัน ได้ยินทุกวัน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะไม่ให้ติดข้องอย่างมากมายได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้ซึ่งการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากมายมหาศาล จึงไม่ใช่กุศลจิตที่ถึงระดับสงบจากความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่ต้องถึงนิพพาน ยังไม่ต้องอะไรเลย เพียงแต่สละหรือเบาบางจากการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ละคนก็รู้ ก็ต้องรู้จักตัวเอง จนกระทั่งคนในยุคก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็บำเพ็ญกุศลถึงระดับที่สงบจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถึงขั้นที่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์ มีรูปฌานกุศลเกิดขึ้น ซึ่งต่างกับขณะที่เรากำลังติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และจากนั้นยังเห็นโทษภัยแม้ของรูปนิมิต หรือว่ารูปฌานกุศล ซึ่งใกล้ต่อการที่ยังคงตรึกนึกถึง สามารถจะมีรูปเป็นอารมณ์ง่ายๆ และติดข้องง่ายๆ โดยอบรมเจริญกุศลที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ถึงขั้นอรูปฌาน แต่ไม่ใช่ธรรมเตชะ ไม่ใช่พระพุทธพจน์ ไม่ใช่คำสอนที่ทำให้พ้นจากการติดข้อง ซึ่งออกจากสังสารวัฏฏ์

    เพราะฉะนั้น แค่เราดีหรือเราไม่ดีในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นเรา ก็จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ ความเห็นที่ถูกต้อง ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม และอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ไม่พ้นจากสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ว่ากำลังมีสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ ซึ่งเหมือนกับครั้งก่อนไหม ก็กำลังปรากฏ เวลาที่เรานั่งอยู่ที่นี่ เดือนก่อนๆ ก็ปรากฏเหมือนกับที่เรานั่งอยู่ที่นี่ แต่ปัญญา ความเข้าใจของเราไปทางอื่น หรือว่ากำลังเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    นี่คือประโยชน์ของการฟัง ฟังเพื่อรู้ว่า ปัญญารู้อะไร และทำไมรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่า สิ่งอื่นไม่ปรากฏ สิ่งที่ดับไปแล้วไม่ปรากฏ สิ่งที่ยังไม่มาถึง ยังไม่ปรากฏ แม้สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ความจริงก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้มากสักแค่ไหน กว่าจะมีโอกาสได้ความรู้ทีละเล็กทีละน้อยจนสามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เป็นลาภอันประเสริฐ

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็คือ เป็นธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วปรากฏ มีใครสามารถรู้การสะสมของอกุศลที่ผ่านมาในสังสารวัฏฏ์บ้าง ยังมีความริษยาไหม เหมือนไม่เกิด เหมือนไม่มี วันหนึ่งๆ ก็มีเมตตา มีกรุณา มีการช่วยเหลือคนอื่น ความริษยาแทบจะไม่ปรากฏ แต่ไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้ว แม้เพียงเล็กน้อย ความริษยาคงจะไม่ต้องรุนแรงมากมาย เพียงแต่ใช้คำว่า อิจฉานิดๆ ได้หรือไม่ ก็เป็นลักษณะของอกุศล เกิดแล้วไปไหน ดับแล้วก็จริง สะสมสืบต่ออยู่ในจิต เพราะว่าภาวะหรือสภาพของจิต คือ สะสมกรรม กิเลส วิบาก ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปเอาจากที่อื่นมาเลย มีพร้อมอยู่ในจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดแล้วดับแล้วก็จริง แต่ก็สะสมสืบต่อ เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่เราได้ยินในพระไตรปิฎก การละสัญโยชน์ หรือสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ เบื้องสูง ๕ ก็ไม่พ้นจากเดี๋ยวนี้เลย ความเห็นผิด สักกายทิฏฐิ เป็นสัญโยชน์ ผูกไว้ ไปไหนไม่ได้เลย อยู่กับความเห็นผิดนั้นแหละ จนกว่าจะมีปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังพระธรรม ไม่รู้จักพระธรรม ไม่รู้ว่ามีพระธรรม และก็ไม่รู้ว่า พระธรรมละเอียด และลึกซึ้งแค่ไหน แต่ยิ่งฟัง ก็คือ ปัญญานั่นแหละที่เข้าใจ ไม่ใช่ให้ไปนั่งกายานุปัสสนาเป็นอะไร เมื่อไร อย่างไร มีกี่บรรพ โดยไม่รู้ลักษณะของธรรม ใช้คำว่า “ธรรม” เพราะกายานุปัสสนา หรือข้อความใดๆ ทั้งหมด ก็กล่าวถึงลักษณะของธรรมนั่นเอง ถ้าสามารถเข้าใจธรรมขณะนี้ ไม่ต้องเรียกเลยว่าอะไร เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ใช้ชื่อเพื่อให้รู้ว่า หมายความถึง สภาพธรรมอะไร

    ด้วยเหตุนี้ ทุกคำในพระไตรปิฎก "ธรรมเตชะ" สามารถที่จะเป็นกำลังที่สะสมจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ ซึ่งถ้าไม่ใช่คำที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ ไม่สามารถที่จะนำไปสู่ปัญญาที่เห็นถูก ที่ดับกิเลสได้เลย

    อ.อรรณพ โทสะก็ละยาก จะต่างระดับอย่างไรกับโทสะที่พระโสดาบันมีกับความผูกโกรธเลือกปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ มีอยู่แน่นอน เพราะยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล แต่จะรู้ได้ไหมว่าเป็นธรรม รู้ได้ แต่ถ้ายังมีความผูกโกรธอย่างมาก บ่อยๆ ไม่ลืมเลย จะรู้ได้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก็มีหลายระดับขั้น แม้แต่ความโกรธ เกิดแล้ว หมดแล้ว ไม่ได้ผูกไว้ ลืมแล้ว พบกันใหม่ ก็คือใหม่ ลืมเรื่องเก่าไปแล้ว นั่นคือไม่ได้ผูกโกรธ แต่เวลาที่สะสมมาที่จะเป็นบุคคลที่ผูกโกรธ ความผูกโกรธก็ผูกโกรธ ฟังแล้ว เดี๋ยวก็พูดถึงคนที่โกรธนั้นอีก ไม่เห็นลืมเลยสักทีหนึ่ง ก็แสดงว่าต้องผูกโกรธ แต่ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจว่า เป็นธรรม แต่สำหรับคนที่อาจจะมีอุปนิสัยหรืออัธยาศัยอย่างนั้น เมื่อฟังธรรม เริ่มเห็นประโยชน์ เห็นคุณของกุศล และเห็นโทษของอกุศล ก็จะมีการระลึกรู้ลักษณะแม้ขณะนั้นได้ แม้ระลึกแล้ว รู้แล้ว เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังมีโทสะ แต่ไม่มีความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา

    ด้วยเหตุนี้ ไม่ใช่ไปบังคับธรรมเลย แต่ทำไมทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา แล้วไม่ได้ทรงแสดงเฉพาะมหาสติปัฏฐานเท่านั้น ไม่ว่าธรรมอะไรทั้งหมด แม้เล็กน้อย สักเท่าไร ก็ทรงแสดงเพื่อที่จะให้บุคคลที่กำลังได้ยินได้ฟังเกิดความเข้าใจในขณะนั้นได้ แล้วก็สะสมความเข้าใจนั้นไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเห็นโทษ แม้ความผูกโกรธหรือความโกรธเกิดขึ้น ก็สามารถที่จะรู้ในลักษณะนั้นได้ ตามความเป็นจริง

    อ.อรรณพ พระองค์ท่านทรงเปรียบเทียบ เหมือนรอยขีดบนพื้นน้ำ พื้นดิน หรือว่าบนแผ่นหิน ก็หมายถึง แม้ความโกรธจะเกิดขึ้น ก็ดับแล้วก็ดับไป เหมือนรอยขีดบนพื้นน้ำ กับการฝังลึกเหมือนการผูกโกรธเหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน ต่างกันตรงที่ว่า จะมีปัญญารู้ว่าเป็นธรรมหรือเปล่า ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นไม่เห็นโทษก็ผูกเอาไว้อีก ผูกไปเรื่อยๆ ที่จะไม่ผูก ก็เพราะปัญญา ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับปัญญา อกุศลทั้งหลายที่จะค่อยๆ ละคลายจางลงไปได้ จนกระทั่งสามารถที่จะดับหมดไม่เหลือเลย ก็เพราะปัญญา

    ผู้ฟัง บุญกุศลที่เราทำไป บุญจะเกิดขึ้นก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ ถ้าเราทำไปแล้ว หากเรานึกถึงบุญนี้ กุศลก็เพิ่มขึ้นอีก ถ้าเราระลึกถึงบุญ ก็เหมือนไม่ใช่เป็นการละ

    อ.ธิดารัตน์ ที่เรียกว่า บุญ หมายถึง ต้องเป็นกุศลจิต และจะสำเร็จเป็นบุญก็ต้องมีการกระทำด้วย เช่น มีการให้ทาน รักษาศีล หรือการฟังธรรม ก็เป็นบุญ การฟังธรรม การสนทนาธรรม ก่อนทำก็ต้องมีเจตนาเกิดกับกุศลจิต เช่นที่จะมามูลนิธิเพื่อฟังธรรม มีกุศลเจตนาก่อนจะมา และมาฟัง และขณะที่ฟังมีกุศลจิตเกิด มีความเข้าใจ หลังจากนั้นแล้วคิดถึงความเข้าใจ หรือมีการไตร่ตรองธรรม หรือทานเมื่อทำสำเร็จแล้ว ก็มีการคิดถึงกุศลที่ทำด้วยกุศล เพียงแต่เป็นการระลึกถึงกุศลที่เคยทำแล้วในอดีต แล้วก็มีกุศลจิตเกิดขึ้นอีก ไม่ใช่คิดด้วยโลภะ รู้ว่ากุศลที่ทำสำเร็จไปแล้ว คิดถึงก็เป็นกุศลอีก แล้วก็มีโลภะอยากได้กุศล แล้วก็เลยคิดถึงบ่อยๆ ด้วยความต้องการผล เช่นนั้นก็ไม่ใช่กุศลจิต คือ กุศลจิตเป็นเรื่องที่บังคับบัญชาไม่ได้ แม้จะพยายามจะให้กุศลนั้นเกิดก็ไม่ได้ แต่กุศลนั้นเกิดขึ้นเอง จะต้องเป็นกุศล ก่อนทำ กำลังทำ หรือ หลังทำ ก็คือขณะที่กุศลจิตเกิดเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเหมือนว่า พอได้ยินธรรมอะไรก็อยากจะไปทำ เป็นกรอบ เป็นแผนการ หรือเตรียมพร้อมที่จะมีระบบระเบียบที่จะทำ แต่ความจริง ธรรมเป็นการที่ทรงแสดงให้รู้สิ่งที่มีจริงที่เกิดแล้ว ซึ่งไม่เคยรู้เลย เกิดมาแล้ววันนี้ รู้อะไรตั้งแต่เช้าบ้างว่า เป็นธรรม เมื่อไม่รู้ ก็ทรงแสดงว่า ทั้งหมดที่มีก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่ให้เราไปเตรียมทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะขณะนั้นเพียงคิด แม้คิดขณะนั้นก็เกิดแล้วด้วย ที่จะคิดอย่างนั้น แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรม

    ด้วยเหตุนี้ ไม่ใช่ให้เราไปทำอะไรเลย แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ที่มีแต่ละขณะที่เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย และเป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ให้เราไปย้อนระลึกว่า เราทำดีอะไรบ้าง นั่งนับ วันนี้เท่าไร เมื่อวานนี้เท่าไร วันก่อนน้อยกว่าวันนี้ หรือมากกว่าเมื่อวานนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ให้เข้าใจถูกว่า ไม่ใช่เราเลยสักขณะเดียว เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องของธรรมแล้ว พอจะตอบได้ไหมว่า คิดถึงกุศลหรือเปล่า ที่ทำแล้ว

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังไม่ได้นึกถึงกุศล

    ท่านอาจารย์ แล้วคิดเมื่อไร

    ผู้ฟัง ยังไม่ได้คิดเพียงแต่ได้ยิน ได้เห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วเคยคิดไหม

    ผู้ฟัง ต่อจากนี้ไปจะคิด คือ หมายถึงว่า เช่นเรานั่งรถเมล์กลับ ก็ทบทวนที่อาจารย์บรรยาย ก็เกิดปีติ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือชีวิตประจำวันที่เกิดแล้ว รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่จะออกจากที่นี่แล้วจะไปคิด เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ลองดูก็ได้ ถามอย่างนี้แล้วพรุ่งนี้ตอบว่า คิดแล้ว ทำอย่างที่คิดหรือเปล่า ถ้าทำเพราะอะไร มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกไหมว่า ไม่ใช่เพราะเราเลย ไม่ว่าจะคิดหรือไม่คิด เพราบางทีก็คิด บางทีก็ไม่คิด เพราะเหตุปัจจัย ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ไม่ใช่ไปตั้งเป็นกรอบขึ้นมาว่า จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะนั่นเป็นเพียงคิด แต่สิ่งที่เกิดแล้วเดี๋ยวนี้ ทำไมไม่รู้

    พระธรรมที่ทรงแสดง คือ ให้รู้สิ่งที่มีจริง ที่เกิดแล้ว ที่ดับไปแล้ว ก็หมดไปแล้ว แล้วก็ไม่เยื่อใยด้วย เพราะเป็นธรรมที่เกิดแล้วดับแล้ว นี่จึงจะตรงกับลักษณะที่มี ที่สติกำลังรู้ ถ้าสติกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ห่วงใยสิ่งที่หมดแล้วหรือเปล่า หรือว่าคำนึงถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ ใช่ไหม แล้วถ้ามีการสะสม การรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเห็นความไม่มีสาระของสิ่งที่หมดไปแล้ว ซึ่งก่อนนั้นสาระมาก สิ่งที่หมดไปแล้ว เป็นเราทำกุศลวันนั้น เป็นอกุศลวันนี้ นั่นคือ การยังคงมีความเป็นเรา เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น เมื่อไรจะรู้ได้เลย สิ่งที่ผ่านไปแล้วทั้งหมดในชาตินี้ด้วย และยังในชาติก่อนๆ นั้นด้วย จะเยื่อใยทำไม ในเมื่อก็คือธรรมที่เกิดแล้ว ดับแล้วทั้งหมดนั่นเอง ไม่ใช่เรา ถ้าไม่ใช่เรา ก็คือ ไม่ต้องมีการผูกพัน แต่ที่ยังคงผูกพัน คิดถึงชาติก่อนเราเป็นใคร เราทำความดีไว้มากน้อยแค่ไหน หรือว่าเมื่อวานนี้เป็นอย่างไร ก็คือ ยังไม่หมดความเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงทุกประการที่ว่าจะทำให้ผู้อบรมเจริญสามารถรู้ได้ว่าตรงตามที่ทรงแสดง การที่ละเยื่อใยความเป็นเราทำกุศล อกุศลใดๆ ชาติไหนก็ตาม ไม่มีสาระอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะว่าหมดแล้วจริงๆ แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นที่จริง แล้วก็หมดแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ทุกขณะก็เพียงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเรา ได้ยินอะไรแล้วก็เหมือนเข้าใจ หรือจะใช้คำว่า “ทำเป็นเข้าใจ” ก็ได้ เพราะว่าความจริงไม่ได้เข้าใจว่า จริงๆ แล้วคำนั้นหมายความว่า อะไร แล้วเป็นความเข้าใจธรรมหรือเปล่า นี่แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้ความจริงของคำที่เราพูด และเราไม่รู้ความจริงของชีวิตทั้งหมด แม้ไม่ได้พูด คือ เกิดมาก็ไม่รู้ทั้งหมดเลยว่า คืออะไร เป็นอะไร หรือใครรู้ถ้าไม่ได้ฟังธรรม

    อ.กุลวิไล ท่านผู้ถามอาจจะศึกษาเรื่องเจตนา ๓ กาล

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    22 ส.ค. 2567