พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 513


    ตอนที่ ๕๑๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    อ.วิชัย เรื่องของอุปธิก็เคยฟังผ่านๆ มา หมายถึง ธรรม ที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ แสดงไว้หลายอย่างทั้งกิเลสก็มี ทั้งร่างกายต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเราพิจารณาถึงสภาพที่กำลังมีในขณะนี้ เข้าใจว่า ที่กล่าวไว้ว่า เป็นอุปธิ หมายถึง สภาพธรรมใด ก็จะเป็นสิ่งที่ให้เข้าใจในลักษณะของสิ่งนั้นมากขึ้น เช่น กิเลสทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นทำให้มีความเดือดร้อนต่างๆ และเป็นเหตุให้เมื่อถึงกรรมที่จะทำให้ล่วงกรรมบถ ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่ใช้ก็ส่องถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้น เช่น ใช้คำว่า วิตักกะ ก็ไม่กล่าวถึงใครสักคนเดียว แต่หมายความถึง สภาพธรรมที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดง ถ้าอ่านด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องหรือฟังด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะรู้ว่า ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงของธรรม เวลาที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะที่เข้าใจ ก็ไม่ใช่ใคร ก็เป็นธรรม ทั้งหมดต้องเป็นธรรม ฟังแล้วความเข้าใจหมดไป อกุศลจิตเกิดก็เป็นธรรม หรืออกุศลวิตกจะเกิดก็เป็นธรรม คือ ให้รู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ฟังแล้วให้เป็นเราที่ต้องการให้กุศลวิตกเกิด

    ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คือไม่เข้าใจธรรม หรือเข้าใจเพียงเล็กน้อย คือ ขณะที่ฟัง เข้าใจได้ แต่แล้วก็ลืม พอลืมก็มีความจำที่ว่าเป็นเราเกิดขึ้น มีความตั้งใจจงใจที่จะให้เป็นกุศลเกิดขึ้น แม้แต่คิดก็จะให้คิดเป็นกุศล คิดดูว่ายังไม่รู้เลยว่า เป็นธรรมหรือเปล่า ในขณะที่ทำอย่างนั้นก็ด้วยความเป็นตัวตน ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจที่ได้ฟังมาแล้วว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ธรรมละเอียดลึกซึ้ง แต่ละคำที่ทรงใช้ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ต้องท่อง เพราะขณะนั้น สัญญาเจตสิกจำ พร้อมกับความเข้าใจถูก เมื่อมีความเข้าใจถูกแล้วจำไว้ จะเข้าใจผิดได้อย่างไร แต่การที่วิตก จะตรึกหรือระลึกถึงสิ่งที่ได้ฟังมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะให้วิตกเจตสิกตรึกหรือจรดในอารมณ์ใด ก็เกิดแล้วในขณะนี้ โดยไม่รู้ว่า ในขณะนั้นไม่ใช่เราต้องการหรือจงใจให้เป็นอย่างนั้น

    ด้วยเหตุนี้แต่ละคำ อย่าเพิ่งรีบร้อนคิดว่าเข้าใจแล้ว หรือว่าอยากจะเข้าใจทั้งหมดทุกประการในความลึกซึ้งของสภาพธรรมนั้น แต่ต้องเข้าใจตามลำดับ เช่น คำว่า “อุปธิ” ภาษาบาลี ทรงแสดงไว้ว่า หมายความถึง สภาพธรรม ซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์ ยากใช่ไหม แปลมาจากภาษาบาลี และจะให้รู้ว่า สภาพธรรมซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์ หมายความว่า สภาพธรรมนี้ไม่มีอื่น นอกจากเป็นทุกข์ เกิดเมื่อไร เป็นเมื่อไร ก็เป็นทุกข์แน่นอน จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ กามูปธิ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งปรากฏเพียงชั่วคราวเป็นทุกข์ไหม เพราะว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป ด้วยเหตุนี้ ธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดดับเป็นอุปธิ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์ ทุกข์นั้นก็เกิดแล้วจะไม่ดับ เป็นไปไม่ได้ เกิดแล้วก็ต้องดับไป เพราะฉะนั้น ทุกข์จริงๆ ก็คือสภาพธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์แน่นอน ทรงไว้ซึ่งความเป็นทุกข์ จะเป็นอื่นไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิด แล้วเรายินดีพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะว่าทรงแสดงไว้ว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตาเป็นที่น่าพอใจ แต่ลักษณะแท้ๆ ก็เป็นกามูปธิ เพราะเหตุว่า เกิดแล้วก็ดับไป ไม่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ มีใครบ้างที่รู้สภาพธรรมนี้ และสภาพธรรมนี้ไม่ดับ แต่ดับโดยไม่รู้ว่าดับ เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว กิเลสูปธิ สภาพที่เป็นกิเลส ทรงไว้ซึ่งทุกข์ไหม จะนำสุขมาให้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจในความหมายของคำว่า “อุปธิ” คือ สภาพซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์ ก็จะมีความเข้าใจ ไม่ว่าจะได้ยินพยัญชนะอะไร ก็ไม่พ้นจากที่ว่าสภาพธรรมนั้น เพราะไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป ก็ต้องทรงไว้ซึ่งทุกข์นั่นเอง ไม่เป็นอย่างอื่น

    "ขันธูปธิ" กล่าว อย่างนี้ได้ไหม เพราะว่าขันธ์ก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ขันธ์ไหนที่ไม่เป็นอุปธิ ไม่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ก็ไม่มี แต่เวลาที่ได้ยินคำนี้ในที่อื่นๆ ก็แสดงความละเอียด เช่น อุปธิสมบัติ อุปธิวิบัติ ก็แสดงให้เห็นว่า หมายความถึงอะไร เพราะการใช้คำแต่ละคำ ก็แล้วแต่ว่าจะมุ่งที่จะกล่าวถึงสภาพธรรมใด เพราะเหตุว่า ทุกอย่างเป็นอุปธิ เมื่อเกิดก็ต้องดับ สภาพธรรมที่เกิดดับทั้งหมดเป็นอุปธิ แต่ทำไมกล่าวถึง อุปธิสมบัติกับอุปธิวิบัติ มุ่งอะไร มุ่งที่จะแสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม เมื่อเกิดในภพภูมิที่มีรูป ทุกคนไม่รู้หรอก ว่ารูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต มีกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดขึ้น ไม่ใช่รูปอื่น เพราะเหตุว่า แม้แต่กรรมที่หลากหลายก็เป็นปัจจัยให้รูปเกิดพร้อมปฏิสนธิจิต ตามการสะสม ตามความวิจิตร ตามการประมวลมา เพราะเหตุว่า โดยลักษณะแท้ๆ ของกลาป หรือกลุ่มของรูปซึ่งเกิดพร้อมปฏิสนธิจิตในขณะแรกก็มี กายทสกะ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งก็ต้องมีสิ่งที่สามารถกระทบตาที่ใช้คำว่า รูปารมณ์ หรือสีสันวัณณะ วัณโณ แล้วกลิ่น รส โอชา รวมอยู่ด้วย ๘ รูป แล้วก็มีกายปสาทรูปด้วย และต้องมี ชีวิตินทรียรูปด้วย นี่คือความต่างของรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน แม้ว่าจะมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชาเหมือนกัน แล้วก็มีกายปสาท และชีวิตินทรียะเกิดร่วมด้วยเป็น ๑๐ หรือ ๑ กลาป สำหรับที่เกิดของจิตก็ต้องมีรูป เพราะว่าเกิดพร้อมกันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ขณะแรกที่กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็มี "ปฏิสนธิกัมมชรูป" คือ รูปที่เกิดในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด โดยเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นที่เกิดของจิต เพราะว่าแยกกันไม่ได้เลย ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกัมมชรูป รูปหนึ่งซึ่งเป็นกัมมชรูปเป็นที่เกิดของจิต ต้องเกิดโดยอาศัยรูปด้วย

    นี่คือความละเอียด แต่ให้เห็นความละเอียดว่า กรรมที่ทำมาแล้ว แม้จิตขณะแรกก็จะไม่มีความต่างกันมาก แต่ประมวลมาซึ่งกรรม ซึ่งเมื่อธาตุไฟซึ่งมีอยู่ในกลุ่มของแต่ละรูปนั้นซึ่งเกิดเพราะกรรม เกิดเพิ่มขึ้น ดับแล้วก็เกิดต่อๆ กันมา ตามความวิจิตร ทำให้รูปต่างกัน ผิวพรรณต่างกัน แม้แต่ตา หู จมูก ลิ้น โดยละเอียด ก็คือต่างกันไปตามกรรม ทำให้เมื่อปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานก็เป็นความวิจิตร เป็นอุปธิสมบัติ หรืออุปธิวิบัติ ถ้าเป็นอุปธิสมบัติ ก็คือว่า รูปนั้นน่าดู ใครทำให้ คิ้วสวย ตาสวย หน้าสวย รูปร่างสวย ทั้งหมดนี้ใครทำให้ ถ้าไม่ใช่กรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นอุปธิสมบัติ มุ่งถึงรูป เพราะเหตุว่า ถ้าจะกล่าวถึงอุปธิก็ทั้งหมดทั้งนามธรรม และรูปธรรม แต่เวลาพูดถึงสมบัติ รูปสมบัติก็มี และรูปวิบัติก็มี เกิดมาแล้ว ตาไม่เป็นปกติ หูแหว่ง ขาอะไรก็แล้วแต่ที่จะผิดปกติไป ก็เป็นอุปธิวิบัติ เพราะฉะนั้น ผลของอุปธิสมบัติ ซึ่งกรรมเป็นปัจจัยก็มีส่วนที่จะทำให้ได้สิ่งที่น่าพอใจ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พอใจ ถ้ามีการแข่งขันการประกวด ก็เป็นผู้ชนะ เป็นนางงาม แล้วแต่หญิงชาย นั่นก็คืออุปธิสมบัติ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความหมายของคำว่า อุปธิ ตั้งแต่ความหมายเดิมทีเดียว ก็คือ หมายความถึง สภาพธรรมซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดดับเป็นอุปธิ แล้วแต่ว่าจะจำแนกไปเป็นกิเลสูปธิ กามูปธิ หรือสังขารูปธิ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นความละเอียดของธรรม ที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ต้องลืมว่า คำว่า “อุปธิ” หมายความถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์

    อ.กุลวิไล ก็ไม่พ้นจิต เจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ธรรมทุกอย่างที่เกิดแล้วก็ดับ เป็นอุปธิทั้งหมด สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ เป็นอุปธิทั้งหมด

    ผู้ฟัง อุปธิสมบัติ และอุปธิวิบัติ ถ้าตรงนี้ก็เน้นถึงรูปที่เกิดจากกรรม สมัยนี้จะมีศัลยกรรมตบแต่ง จมูกบี้ก็ไปทำให้โด่ง หรือตาชั้นเดียวก็ไปทำเป็นสองชั้น กรามใหญ่ก็ไปทำให้เล็กลง สรุปแล้วมีศัลยกรรมตกแต่งให้เปลี่ยนจากตอนเกิดจากดูไม่ดีเป็นดูดี ตรงนี้สงสัยเป็นอุปธิอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าที่ตัวของแต่ละคนไม่ใช่มีรูปที่เกิดจากกรรม มีรูปที่เกิดจากจิต มีรูปที่เกิดจากอุตุ และมีรูปที่เกิดจากอาหาร ไม่ว่าเกิดมากรรมทำให้รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร อดอาหารมากๆ เป็นอย่างไร ผอมแห้งแรงน้อยหมดสวยหมดงามไปเลยก็ได้ ป่วยไข้ได้เจ็บก็เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างเลยก็ได้ หรือว่าจะทำอะไรก็ตาม เป็นเรื่องของอุตุ และอาหาร แต่ไม่ใช่เรื่องของกรรม ถ้ากรรมก็ทำให้รูปนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ชีวิตินทรียรูป แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีรูปอื่นเกิดร่วมด้วย ก็เพิ่มรูปนั้นเข้าไปอีกเท่านั้นเอง

    อ.กุลวิไล บางคนศัลยกรรมแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็มาก บางคนหน้าตาก็เปลี่ยนไปเลย

    ท่านอาจารย์ แทนที่จะสวย กลายเป็นยิ่งแย่

    อ.คำปั่น กามูปธิก็เป็นเรื่องที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เรื่องของขันธ์ ขันธ์ ๕ ขันธ์ เรื่องของกิเลสประการต่างๆ และเรื่องของเจตนาที่เป็นไปในอกุศล เป็นไปในกามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล และอรูปาวจรกุศล ทั้งหมดนี้จุดประสงค์ที่แท้จริงที่แสดงอย่างนี้ เพื่อประสงค์อะไร

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า อุปธิทั้งหมดเป็นสภาพซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทไหนก็ตาม เป็นอรูปาวจรจิต เป็นกุศลจิตที่เป็นฌานจิต ก็เป็นอุปธิ

    อ.คำปั่น เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ

    ท่านอาจารย์ ทรงไว้ซึ่งทุกข์ คือการเกิดขึ้นแล้วดับไป

    กุล. ผู้ที่จะไม่มีอุปธิอีก คือ พระอรหันต์นั่นเอง สามารถดับขันธปรินิพพานได้เลย

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เห็นอะไร หรือไม่เห็นเลย

    ผู้ฟัง เห็นท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ทำไมรู้ว่า เป็นใคร

    ผู้ฟัง เพราะคิดว่าเป็นท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ และถ้าไม่คิด มีอะไรปรากฏให้เห็นหรือเปล่า ถ้าไม่คิดจะรู้ไหมว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นอะไร ถ้าไม่คิดจะรู้หรือไม่ว่าเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ ถ้าไม่คิด

    ท่านอาจารย์ ต้องคิด คิดก็ไม่รู้ว่าคิด เพราะจำ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ระหว่างนั้นก็มีคิดกับจำตามที่อ่านมา

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แล้วทำกิจแต่ละอย่างไม่สับสนกันเลย จิตคิด ไม่ใช่จิตเห็น เวลานี้คุณชมชื่นเห็น แต่คิดเรื่องอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ จึงไม่รู้ว่าเห็นอะไรก็ได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง แต่ต้องเห็นก่อน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ใครไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เห็นเกิดขึ้นแล้วเป็นเห็น จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ไม่ได้คิดตามสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็ได้ คิดเรื่องอื่นก็ได้

    ผู้ฟัง คิดว่าเป็นท่านอาจารย์ ก็คิดตามที่เห็นไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ คิดเรื่องอื่นได้ไหม คิดถึงบ้านได้ไหม

    ผู้ฟัง ทันทีเลย

    ท่านอาจารย์ คิดถึงลูกสุนัขที่บ้านได้ไหม

    ผู้ฟัง ที่บ้านไม่มีลูกสุนัข

    ท่านอาจารย์ คิดถึงโต๊ะ เก้าอี้ที่บ้าน ก็คิดได้ทั้งนั้น กำลังเห็น บางทีก็ไม่รู้ว่าเห็นอะไรด้วยซ้ำ มัวคิดอย่างอื่น สิ่งนั้นหมดไปแล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร ผ่านไปแล้ว ถามว่าเห็นไหม บอกว่าไม่เห็น ความจริงเห็น แต่ไม่ได้คิดเลยไม่รู้ว่าเห็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เลยยังไม่ทราบว่า จริงๆ แล้วเห็นจริงๆ เป็นอย่างไร ก็เลยไม่รู้อะไรสักอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เห็นเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ จะบอกว่าไม่เห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ไม่ต้องไปเรียกอะไรทั้งหมดเลย เห็นอะไร ก็สิ่งนั้นมีจริงๆ ปรากฏให้เห็นแล้ว ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็จะค่อยๆ คลายความติดข้องว่า เห็นอะไร ถูกไหม หรืออยากไปรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะเหตุว่า เพียงเห็นแล้วก็หมดแล้ว ถ้าไม่สนใจก็เพียงเห็น ก็กำลังเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วจะเป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ ก็เป็นอย่างนี้ มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง

    คืนนี้ไม่เห็น จะคิดอะไรดี ก็คิดได้ ใช่ไหม คิดได้ เพราะฉะนั้น เห็นเป็นอย่างหนึ่ง และคิดเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่พอเห็นแล้วคิดตามสิ่งที่เห็น ก็เลยเข้าใจว่า เห็นสิ่งที่คิด แต่ความจริงเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ในฝันมีเรื่องมากมาย แล้วมีเห็นไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่มีจำสิ่งที่เคยเห็น แล้วนึกถึงสิ่งที่เคยเห็น ก็เป็นเรื่องของสิ่งที่เคยเห็น แต่เห็นไม่มี ไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเหมือนเดี๋ยวนี้ ในฝันไม่มีอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เห็นก็คือเห็น คิดก็คือคิด ฝันก็คือคิด แต่ไม่ใช่เห็น เห็นพัดลมไหม

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ ทำไมว่าเป็นพัดลม

    ผู้ฟัง ก็เขาเรียกกันว่าพัดลม

    ท่านอาจารย์ เพียงเห็น แล้วทำไมรู้ว่าเป็นพัดลม ทำไมรู้ว่าเป็นเก้าอี้

    ผู้ฟัง จำ

    ท่านอาจารย์ จำอะไร

    ผู้ฟัง จำคำ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คำ

    ผู้ฟัง รูปร่างสัณฐาน

    ท่านอาจารย์ สีดำ สีขาวเท่านั้นเอง ลองดูคุณสุกัญญา ทำไมรู้ว่าเป็นคุณสุกัญญา

    ผู้ฟัง จำรูปร่างสัณฐานว่า เป็นคุณสุกัญญา

    ท่านอาจารย์ ต้องมีสีต่างๆ ปรากฏ แล้วถึงจะจำได้ว่า สิ่งที่ปรากฏ ถ้าเราไม่รู้เลยว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร เพียงแค่เห็นดำขาว ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำ ว่าเป็นเก้าอี้ แต่เพราะเคยกระทบสัมผัส เคยนั่ง ก็เลยจำรูปร่างสีสันที่ตัดกันเป็นส่วนต่างๆ มีขา มีที่นั่ง เป็นพนักว่าเป็นเก้าอี้ ไม่เรียกว่าเก้าอี้ ก็ยังเป็นเก้าอี้ในความคิดหรือเปล่า เพราะจำเพียงสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาหลากหลายด้วยสัณฐาน ด้วยสีสัน ซึ่งต่างกัน และตัดกัน ทำให้เกิดความคิดความจำในส่วนต่างๆ พอเห็นสีดำ สีขาว ก็ทำไมเป็นพัดลม ไม่ใช่เป็นเก้าอี้ ทั้งๆ ที่สีก็เหมือนเดิม คือแค่ดำขาว แต่ส่วนสัดของสิ่งที่ดำ และขาวนั้นก็ต่างกัน ก็จำไว้ว่า สิ่งนั้นเมื่อกระทบสัมผัสก็จะเกิดเย็น ก็เลยเรียกว่า พัดลม แต่จริงๆ แล้วต้องแยกสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เพราะมีสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นสีเดียวล้วนหมดเลย จะรู้ไหมว่าเป็นอะไร ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ ใช่ไหม ในสีเดียวที่ปรากฏ ในความมืด มีโต๊ะ มีเก้าอี้ มีรองเท้า มีถุงเท้าหรือเปล่า ก็ไม่มี เพราะไม่มีสีที่ปรากฏที่ทำให้จำได้ว่า เป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น แต่ละขณะจิตก็เป็นความละเอียดว่า เห็นต้องเป็นเห็นแน่นอน โดยที่ยังไม่ต้องคิดถึงรูปร่างสัณฐานสีสันที่ต่างกันเลย แต่มีเห็น แต่เห็นบ่อยๆ ก็จำส่วนสัดของสิ่งที่ปรากฏได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างคน ไม่มีใครไปจำว่าเป็นสุนัข เป็นแมว แต่คนก็ยังต่างกันหลากหลาย เพราะสีสันที่ต่างกัน ทำให้มีความคิด มีความจำหลากหลายออกไป เพราะจำสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่จำ จะไม่รู้เลยว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร

    แต่เพราะเหตุว่ามีการจำในสิ่งที่ปรากฏที่หลากหลายต่างๆ กันไป จึงทำให้ความจำมากมาย เพราะฉะนั้น สัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพจำ เกิดกับจิตทุกขณะ ไม่ว่าจิตกำลังรู้อะไร ขณะนั้นที่รู้เพราะสัญญาจำ อย่างกลิ่นปรากฏ มีดอกไม้หลายชนิด กลิ่นดอกแก้ว กลิ่นดอกกุหลาบ แค่กลิ่น แต่กลิ่นต่างกัน เพราะฉะนั้น จึงทำให้นึกถึงที่มาของกลิ่น ซึ่งกลิ่นมีอยู่ในที่นั้น ว่าเป็นกลิ่นนี้ รูปร่างสัณฐานของดอกไม้ชนิดนี้ที่ทำให้มีกลิ่นอย่างนี้ รูปร่างอย่างไร

    นี่แสดงให้เห็นว่า สัญญาเจตสิกไม่ได้จำแต่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้กลิ่นก็จำ และเพราะเคยเห็นสัณฐานของดอกไม้ที่ทำให้กลิ่นต่างกัน ก็จำไปถึงที่มาของกลิ่นว่า กลิ่นนั้นอยู่ที่ไหน และดอกกุหลาบก็มีตั้งหลายชนิด ดอกกุหลาบมอญ ดอกกุหลาบไทย ดอกกุหลาบต่างประเทศ ก็จำไปหมดเลย

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จะมีสภาพนามธรรมที่เกิดกับจิตนั้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติใช้คำที่มีสภาพที่จำนั้นว่า สัญญาเจตสิก ซึ่งต่างกับที่เรามาบอกกันในภาษาไทยว่า ต้องทำสัญญากันก่อน หรือสัญญากัน ก็หมายความว่า จะได้จำไว้ไม่ลืมเพราะสัญญา แต่จริงๆ แล้ว สัญญา ก็คือ สภาพธรรมที่จำ แล้วใครจะบังคับไม่ให้สัญญาเกิดก็ไม่ได้ สัญญาเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่จะจำสิ่งที่ปรากฏทางตาหลากหลายอย่างไรก็จำ จนกระทั่งคนที่ชำนาญก็สามารถรู้ถึงความต่างกัน เพชรแท้ เพชรเทียม หรือแม้แต่เพียงการสัมผัสหยก เขาก็บอกได้ นั่นเป็นเรื่องความจำทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า เวลารู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เพราะจำ แม้ในขณะที่มีสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง แต่สัญญาก็จำจนกระทั่งรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั้นเป็นอะไร เป็นคนที่ต่างกัน ชื่อ เรื่องต่างกันหมดเลย เพราะจำ

    เพราะฉะนั้น เข้าใจได้ใช่ไหมว่า มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นกับจิตเห็น แต่จิตเห็นไม่ได้คิด สัญญาที่เกิดกับจิตเห็น เพียงจำสิ่งที่ปรากฏ และถึงแม้เห็นคราวต่อไป ก็เพราะสัญญาเคยจำสิ่งที่ปรากฏ จึงสามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นอะไร ก็เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นธาตุซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วไม่กลับมาอีก สมควรที่จะเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงหรือเปล่า ในเมื่อเพียงเกิดปรากฏแล้วหมดไป แล้วไม่เหลือเลยด้วย แล้วไม่กลับมาเลยด้วย กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่ไหม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แล้วมันจะค่อยๆ แค่ไหน ค่อยๆ จนกระทั่งไม่รู้อะไรเลยว่า เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ วัดการได้ยินได้ฟังมา กี่ครั้งต้องนับไหม นับถ้วนหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ถ้วน

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะนี้ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย อย่าประมาทความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย เข้าใจอีกบ่อยๆ ให้ตรง ก็ค่อยๆ คลายการที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วจะเข้าใจพระพุทธพจน์ที่ทรงแสดงในพระไตรปิฎกละเอียดยิ่งขึ้น เช่น เดี๋ยวนี้อยู่คนเดียวหรืออยู่กับใครหลายคน

    ผู้ฟัง อยู่คนเดียว

    ท่านอาจารย์ ตอบได้เลยว่า อยู่คนเดียว เกิดคนเดียว เห็นคนเดียว คิดคนเดียว สุขคนเดียว ทุกข์คนเดียว ตายคนเดียว แต่ความคิดจำโลกทั้งโลก และทุกคนที่เคยพบ และเรื่องราวทั้งหมด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    1 ก.ย. 2567