พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 517


    ตอนที่ ๕๑๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ จากปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น คือ พระโสดาบัน ไม่ใช่ถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง ละทิ้งความเห็นผิด ความเข้าใจผิด

    ท่านอาจารย์ ต้องมีความเห็นถูกต้องว่า เป็นธรรม ไม่ลืม ฟังธรรมเพื่อมีการระลึกได้ ว่าเป็นธรรม แล้วเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะคลายการยึดถือว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง เป็นปกติ

    ผู้ฟัง ขออนุญาตย้อนไปที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงเรื่องสติ สติที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงกับสติในความเข้าใจของหนู หนูมานั่งพิจารณาว่า การที่เราไม่โกรธเขาเลย และสามารถให้คำปรึกษาเขาได้จนจบชั่วโมง เป็นเพราะเรามีสติหรือเปล่า หรือเรามีเมตตาจิต จริงๆ ไม่อยากนึกถึงคำ แต่เพื่อความเข้าใจถูก

    ท่านอาจารย์ ก็คิดไปเรื่อยๆ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ให้คิดไปเรื่อยๆ ก่อน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้คิด คิดไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็คิด เมื่อสักครู่คิดเรื่องนั้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องอื่น ห้ามความคิดไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า จะคิดอะไร แต่คิดก็มีปัจจัยที่เกิดขึ้นจะคิด

    ผู้ฟัง ถ้าหากมีปัจจัยที่จะให้คิด เราก็ห้ามความคิดไม่ได้ นั่นก็เป็นสภาพธรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ห้ามอะไรไม่ได้เลย เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะปัจจัย เป็นธรรม ซึ่งไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ลืมอีกแล้ว คุณนฤภัคก็คิดถึงอดีต คิดไปแล้ว แล้วก็ไม่มีใครสามารถที่จะประกันได้ว่า จะไม่คิดถึงอีก เพราะความคิดไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถรู้ได้ว่า ขณะต่อไปจะคิดถึงอะไร แต่เวลาฟังธรรมแล้ว อยากเข้าใจสิ่งที่ผ่านไปแล้ว โดยลืมว่า ศรัทธาที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า แทนที่จะไปคิดว่า อยากจะรู้ ว่าที่ผ่านไปแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ทำไมไม่ศรัทธาที่จะเข้าใจสภาพที่กำลังคิดขณะนั้นว่าเป็นธรรม นี่คือการที่จะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป

    อ.อรรณพ ที่กล่าวว่าจิตวิจิตร โดยความต่างของอารมณ์ หมายความว่า คือเป็นอรรถของจิตที่ว่า จิตรู้แจ้งอารมณ์ จึงสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ต่างๆ กันไป จึงมีการจำแนกจิตไปตามความต่างของอารมณ์ แต่ที่แท้คือสภาพของจิตที่สามารถรู้แจ้งอารมณ์ต่างๆ ลักษณะต่างๆ หรือต่างกันที่ตัวสิ่งที่จะเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพรู้ต่างกับรูปซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ที่ใช้คำว่า “วิจิตร” หมายความว่า ต่างๆ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ก็จริง แต่จิตก็หลากหลายต่างๆ กันไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น ขณะนี้เป็นธาตุรู้หรือเป็นจิตซึ่งกำลังเห็น เฉพาะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ จะไม่รู้อย่างอื่นเลยทั้งสิ้น แม้ว่าจิตซึ่งเกิดขึ้นแต่ละขณะ เป็นสภาพรู้ และต้องรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ด้วย คำว่า “รู้แจ้ง” คือ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่เพียงไม่เห็นแล้วคิดเอา ถ้าไม่เห็นแล้วคิด จะแจ้งเหมือนเห็นไหม ก็ไม่เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตมีปัจจัยเกิดขึ้นเห็น เป็นสภาพธรรมหนึ่งไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น และเวลาที่ขณะนี้เสียงปรากฏ เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่มีปัจจัยเกิดขึ้นได้ยิน เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยินกับขณะที่เห็นก็เป็นจิตที่ต่างประเภทกัน เพราะเหตุว่า แม้จิตเป็นสภาพรู้ แต่ก็ต่างกันมาก ประมาณไม่ได้เลย เพราะว่าจะมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เช่น จิตเห็นขณะนี้ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตคิดนึก ทั้งๆ ที่ก็เป็นจิต แต่หลากหลายตามปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น

    ธรรม เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ ขณะนี้มีเห็น และขณะที่กำลังได้ยินก็ไม่ใช่ขณะที่เห็น มีปัจจัยทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น จิตจึงเกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น เสียงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น ซึ่งต่างกับเวลาที่จิตเห็นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ความหลากหลายก็มีมาก แม้แต่ขณะที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังได้ยิน กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก ก็เป็นจิตแต่ละประเภท วิจิตร คือ ต่างๆ ตามอารมณ์ที่ปรากฏ และตามเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย เพราะว่าบางขณะก็เป็นโลภะ ติดข้อง บางขณะก็เป็นโทสะ ก็ต่างกันแล้ว

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ช่วยขยายความคำว่า “พิสูจน์” ว่าอย่างไรที่ว่าพิสูจน์ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้พูดถึงจิตเห็น โดยไม่มีจิตที่กำลังเห็น ใช่ไหม เพราะว่าขณะนี้มีเห็น แต่จะเข้าใจเห็นไหม ว่าเห็นเกิดเพราะเป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้จึงปรากฏ แข็ง มีไหม มี ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้แข็ง แข็งจะปรากฏไหม

    นี่คือธรรมที่มีจริงๆ ถ้าไม่รู้ความจริงของธรรม ขณะที่ธรรมเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถรู้ธรรมได้เลย ก็ได้ยินแต่ชื่อธรรม

    ผู้ฟัง เราก็ไม่รู้ปัจจัยต่อไปอีก อาจารย์จะช่วยเหลืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้จิตหรือยัง แล้วจะไปรู้ปัจจัยได้ไหม

    ผู้ฟัง ดิฉันต้องการถามว่า พิสูจน์ได้อย่างไร ก็หมายความว่า จิตนี้ต่างๆ กันตามเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็นเป็นจิตประเภทหนึ่ง ได้ยินเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ปัจจัยที่ให้เกิดต่างกัน เพราะว่าถ้าไม่มีโสตปสาท จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีจักขุปสาท คือ รูปที่สามารถกระทบสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ จิตเห็นสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ขณะนี้ก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง คำว่า “จิตวิจิตร”กว้างขวางขนาดไหน

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้คุณบุษกรเห็นแล้วเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง เห็นแล้วก็หมดแล้ว

    ท่านอาจารย์ ตอนเช้า กลางวันเห็นอีก เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต่างกันแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วตอนเย็นเห็นอีกเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต่างกันอีก

    ท่านอาจารย์ ตอนกลางคืนเห็นอีกเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ วันนี้เห็นอีกเป็นอย่างไร นี่คือต่างกันไป นับประมาณไม่ได้

    ผู้ฟัง หนูเข้าใจว่า จิตวิจิตร มีพวกปลา อะไรพวกนี้ จิตเขาวิจิตรไปถึงพิสดารไปเกิดเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ปลาเห็นไหม

    ผู้ฟัง ปลาก็มีเห็น

    ท่านอาจารย์ ปลาได้ยินไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบ เพราะบางคนบอกว่าไม่ได้เกิดเป็นปลา จะรู้ได้อย่างไร สื่อสารกันได้ทางเสียงก็มี เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ธรรมเป็นธรรม ถ้าเราพูดถึงสภาพธรรมหนึ่ง ควรที่จะเข้าใจสภาพธรรมนั้นจริงๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งหมดความสงสัย เพราะเหตุว่าถ้าเราพูดเรื่องนามธรรม สภาพที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่รูปใดๆ เลยทั้งสิ้น ก็พอจะรู้ได้ กำลังเห็นมีสิ่งที่ปรากฏ และสภาพที่รู้คือเห็น ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย เป็นแต่เพียงลักษณะที่รู้เกิดขึ้นก็เห็นสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงนามธรรม ไม่เอารูปธรรมมาเจือปนเลย จึงสามารถที่จะเข้าถึงสภาพที่เป็นนามธรรมล้วนๆ เวลาพูดถึงเห็น ปลาเห็นหรือคนเห็น หรือนกเห็น หรือว่าเห็นไม่ใช่ปลา ไม่ใช่นก แต่เป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดเมื่อไร ที่ไหน เกิดขึ้นก็เห็นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง อย่างจิตคิดที่จะให้ พอมาสังเกตดูแล้วเหมือนกับเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ให้ไปนั่งสังเกตแล้วเรียกชื่อ ก็เป็นเราทั้งหมดเลย โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นสภาพของธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้น ไม่ลืมว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่ว่าจะทำ จะพูด จะคิดใดๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เหมือนอย่างคำถามของคุณบุษกร ขณะนั้นไม่รู้ว่าเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มาคิดว่าเป็นโลภะด้วย ใช่ไหม ก็เป็นเรื่องของความคิด โดยที่ไม่ใช่การรู้ลักษณะจริงๆ ของธรรมว่า ไม่ใช่คุณบุษกรคิด คิดเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่สะสมมาแล้วก็ดับไป คิดแล้วให้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ โลภะเกิดเป็นโลภะ เปลี่ยนโลภะให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ผู้ฟัง บางครั้งเหมือนกับต้องฝืนตัวเองหรือบังคับตัวเอง เหมือนมีตัวตนที่ไปสร้างขึ้นมาหรือทำขึ้นมา แล้วได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ เป็นประโยชน์อะไรที่จะมีตัวตนคิด และทำขึ้นมาให้รู้ เพราะว่า ขณะกำลังฟังธรรม กำลังคิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง กำลังคิด

    ท่านอาจารย์ คิดเรื่องธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟัง ที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยิน หรือคิดเรื่องว่าเราจะต้องไปทำให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังไม่ได้คิด

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ฟังเข้าใจว่า ธรรมมีจริงๆ เกิดแล้วด้วย ไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะที่ปรากฏ เพราะเกิดแล้วปรากฏตามที่ได้เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างนั้นๆ ไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้นมาได้ แล้วก็ดับไปแล้วด้วย ฟังให้เข้าใจอย่างนี้ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ต้องไปทำอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ต้องทำ แต่ไม่ชิน เหมือนดื้อมาก

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังบ่อยๆ ค่อยๆ ชินไหม

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจว่า ต้องใจเย็นๆ แต่ว่าอดถามไม่ได้ เหมือนกับว่าวันไหนได้ฟังท่านอาจารย์กล่าวถึงเรื่องแข็ง เรื่องเห็น รู้สึกว่าเข้าใจเพิ่มขึ้น ถ้าหากไม่ฟัง เหมือนกับ

    ท่านอาจารย์ พอเข้าใจแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วโลภะเกิดไหม

    ผู้ฟัง ก็เกิด

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรมดา

    ท่านอาจารย์ เป็นคุณบุษกรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง บางครั้งก็เป็น บางครั้งก็ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงว่า จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ว่า ธรรมเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย ธรรมไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถจะไม่มีตัวตนทันที แต่จากการที่ฟัง และเริ่มมีความเข้าใจสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความจริงเป็นอะไร นี่คือปัญญาที่สามารถที่จะเห็นถูกในสิ่งที่มี และไม่เคยรู้มาก่อน ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าจะหมดความเข้าใจผิดว่าเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง จึงจะเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้อย่างนี้เมื่อไร ระลึกได้ทันทีในพระกรุณาคุณ ในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ที่ทรงแสดงธรรมเพื่อให้บุคคลอื่นมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นใดเลยทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง พระสูตรเมื่อวานนี้มีคำว่า เจ้าชื่อผัสสะ รู้สึกว่า

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีธรรมเกิดดับ เจ้าอะไรบ้างหรือเปล่า แล้วชื่ออะไรบ้าง แล้วก็ไปถามใครบ้าง เห็นเกิดแล้ว ได้ยินเกิดแล้ว คิดนึกเกิดแล้ว ชอบเกิดแล้ว ขุ่นใจเกิดแล้ว แข็งเกิดแล้ว คิดนึกเรื่องอื่นเกิดแล้ว ต้องมานั่งถามไหมว่า แต่ละเจ้านั้นชื่ออะไร

    ผู้ฟัง รู้สึกติดใจตรงที่ เจ้าชื่อผัสสะ

    ท่านอาจารย์ เป็นเพียงตัวอย่างให้รู้ว่า ธรรมมีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อเลยก็เป็นธรรม แต่ละลักษณะซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ธรรมหลากหลายมาก ถ้าไม่ใช้ชื่อจะรู้ไหมว่า หมายความถึงธรรมอะไร อย่างเสียงกับกลิ่น ไม่ใช้ชื่อ ทั้งๆ ที่เสียงก็เป็นเสียง กลิ่นก็เป็นกลิ่น แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าหมายความถึงอะไร

    ด้วยเหตุนี้ ชื่อทุกชื่อเป็นสิ่งที่ให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมอะไร เช่น ใช้คำว่า “เสียง” เข้าใจทันทีว่า หมายความถึงอะไร เมื่อพูดถึงกลิ่นก็เข้าใจทันที ว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร จึงต้องใช้คำเพื่อให้เข้าใจถูก ว่าลักษณะนั้นมีจริงๆ และเข้าใจได้ทางไหน ปรากฏแล้วก็หมดไป มีอะไรบ้างที่เกิดปรากฏแล้วไม่หมดไป

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่ยังไม่รู้อย่างนั้นก็ฟังไปจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง สืบเนื่องจากพระสูตรเมื่อวานที่เราได้คุยกันมาก เรื่องโยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการ เพราะว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้อกุศลธรรม ๓ เกิด คือ อโยนิโสมนสิการ สรุปก็คือ เมื่อโยนิโสมนสิการ ก็หมายความถึง ขณะที่เป็นกุศล ยังไม่ชัดเจน ไม่แจ่มแจ้งว่า ขณะที่เป็นอกุศล ก็อโยนิโสมนสิการ คือ กระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ถ้าเป็นกุศล ก็จะมีกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา และไม่ประกอบด้วยปัญญา คำถามคือว่า แล้วมีจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แล้วมนสิการเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีจิต จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง อย่างน้อยที่สุดต้องมีเจตสิก ๗ ประเภทเกิดกับจิตทุกขณะไป ไม่ขาดเจตสิก ๗ ประเภทนี้เลย

    มนสิการเป็นเจตสิกหนึ่ง ใช้ภาษาบาลี เพราะว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมด้วยภาษามคธ ซึ่งเป็นภาษาที่ดำรงพระศาสนาไว้ จึงใช้คำว่า ภาษาบาลี เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงเจตสิกหนึ่ง ใช้คำว่า “มนสิการ” เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต โลกุตตรจิต จิตเกิดเมื่อไรต้องมีเจตสิกที่เป็นมนสิการ ๑ ใน ๗ ประเภทนั้นเกิดร่วมด้วย แล้วเข้าใจมนสิการเจตสิกหรือยัง เห็นไหม ถ้าเรายังไม่เข้าใจมนสิการเจตสิก แล้วเราไปคิดถึงมนสิการ โยนิโส อโยนิโส โดยที่เราไม่รู้เลยว่า มนสิการเจตสิกนั้นคืออะไร

    ขณะใดก็ตามที่จิตเกิดขึ้น ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ สิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้คืออารมณ์ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตเกิด แต่เวลาที่จิตเกิดขึ้นจะมีเจตสิกซึ่งใส่ใจในอารมณ์ที่กำลังรู้ด้วย เพราะว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์นั้น แต่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ๗ ประเภทก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ แต่ละเจตสิก สับสนกันไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ทำกิจนั้น ก็ใช้คำเรียกเจตสิกนั้นๆ ว่าอย่างนั้น แล้วจะไปทำอย่างอื่นได้ไหม ในเมื่อเกิดเป็นอย่างนั้น ก็ทำหน้าที่อย่างนั้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น มนสิการเจตสิกก็เป็นเจตสิกหนึ่งซึ่งใส่ใจในอารมณ์ เราไม่รู้สึกตัวเลยเพราะอะไร เพราะจิตเกิดดับเร็วมาก แต่เราจะรู้เมื่อจิตเกิดดับซ้ำๆ กัน หลายขณะก็พอจะรู้ได้ ใครทำอะไรที่ไหน แต่เราไม่ใส่ใจเลย ใครจะทำอะไรก็ทำไป มีไหมอย่างนั้น เมื่อลักษณะนั้นต่างกับขณะที่กำลังใส่ใจ คนนั้นกำลังทำอะไร อย่างเขากำลังเย็บผ้า เขาใช้อะไร สีอะไร อย่างไร ขณะนั้นก็กำลังใส่ใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ว่ามนสิการเจตสิกจะเกิดกับจิตทุกขณะก็จริง แต่ไม่ได้แสดงว่า เมื่อจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ ลักษณะของเจตสิกทั้ง ๗ จะปรากฏให้รู้

    เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จะรู้เพียง ๑ อารมณ์ ทีละหนึ่ง เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็น ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ไม่ใช่หน้าที่ของจิต หน้าที่ของจิตคือรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สำหรับมนสิการที่เกิดพร้อมจิตก็ใส่ใจในสิ่งที่ปรากฏ จะไปทำหน้าที่ของจิตไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้ง ๗ ก็มีลักษณะเฉพาะ และกิจเฉพาะของตน แต่เมื่อไม่สามารถจะรู้ได้ ในวันหนึ่งๆ ก็มีบางขณะซึ่งพอจะเทียบเคียงให้เห็นลักษณะของเจตสิก เช่น ความใส่ใจ บางครั้งไม่ใส่ใจ แต่ไม่ได้หมายความว่า ขณะนั้นไม่มีมนสิการเจตสิกเกิดกับจิต ต้องมีมนสิการที่เกิดกับจิตทุกขณะไป แต่เวลาที่จิตเกิดดับสืบต่อในอารมณ์หนึ่งมากๆ ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างก็จะปรากฏพอให้เห็นว่า เป็นลักษณะที่ต่างกัน เช่น ความตั้งใจมั่นก็ต่างกับขณะที่ใส่ใจ

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ซึ่งใครสามารถที่จะรู้ได้ ถ้าเป็นวัตถุ เราก็ยังสามารถแยกสิ่งที่ปนกันได้ แต่เมื่อเป็นนามธรรมไม่มีรูปใดๆ เลย จะไปแยกออกได้อย่างไร ในเมื่อเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน และรู้อารมณ์เดียวกันด้วย แต่อาศัยการฟัง เริ่มเข้าใจมนสิการ เป็นสภาพที่ใส่ใจ บางครั้งเราใส่ใจในสิ่งหนึ่ง แต่ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจสิ่งอื่นเลย

    เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ขณะนั้นมีปัจจัยอะไรที่จะทำให้รู้ว่า ขณะนั้นสภาพธรรมใดกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน เพราะจริงๆ แล้วขณะนี้จิตเกิดพร้อมเจตสิกก็ยังไม่รู้ จิตก็ยังไม่รู้ เจตสิกสักอย่างก็ไม่รู้ พอได้ยินคำว่า มนสิการ แล้วก็มีโยนิโสมนสิการ และ อโยนิโสมนสิการ ก็เลยอยากจะรู้ อยากจะเข้าใจ แต่คำแปลก็คือ ขณะใดก็ตามที่ใส่ใจในความเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็เป็นโยนิโสมนสิการ เพราะขณะนั้นกุศลจิตเกิด ปัญญาของเราพอจะรู้ได้เพียงว่า จิตต่างกันเป็นกุศลจิต และอกุศลจิต เพราะเจตสิกที่เกิดกับจิต ถ้าอกุศลเจตสิกเกิดกับจิต จิตเป็นอกุศล และเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ แต่เกิดกับจิตที่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย สภาพของเจตสิกนั้นก็เป็นอกุศลด้วย

    เพราะฉะนั้น มนสิการที่เกิดกับอกุศลจิต จะพิจารณาธรรมโดยแยบคาย โดยถูกต้อง เป็นไปไม่ได้เลย ภาษาบาลีก็ต้องเป็นอโยนิโสมนสิการ เท่าที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ ขณะที่อกุศลจิตเกิด เมื่อไรก็ตาม ระดับไหนก็ตาม โลภะ โทสะ โมหะ ก็เพราะเหตุว่ามนสิการขณะนั้นใส่ใจไม่ถูกต้อง จึงเป็นปัจจัยให้อกุศลนั้นๆ เกิดขึ้น จึงเป็นอโยนิโสมนสิการ

    ผู้ฟัง ก็ในการศึกษาแบบเรื่องราว ก็จะสงสัย

    ท่านอาจารย์ ขณะที่สงสัยมีมนสิการเกิดหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรืออกุศล จึงสงสัย

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็อโยนิโสมนสิการ

    ผู้ฟัง ก็สงสัยว่า ถ้าพูดถึงอกุศลเป็นอโยนิโสมนสิการ ถ้าเป็นกุศลก็เป็นโยนิโสมนสิการ ทำให้คิดถึงถ้าเป็นวิบากจิต กิริยาจิต โสภณจิต อเหตุกจิต จึงอยากรู้หรือสงสัยว่า จะเป็นโยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการ

    ท่านอาจารย์ จะเรียกชื่อหรือเดี๋ยวนี้มีมนสิการก็ไม่รู้ เพราะยังรู้ไม่ได้ แต่อยากจะเรียกชื่อ เรียกชื่อไปทำไม

    ผู้ฟัง แต่ศึกษาขั้นเรื่องราว ถ้ายังไม่ประจักษ์ความจริง ไม่รู้ตรง ก็ต้องรู้เรื่องราวไปก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ว่า เราสามารถจะรู้อะไรได้แค่ไหน เวลานี้เราสามารถที่จะรู้ความหมายของโยนิโสมนสิการกับอโยนิโสมนสิการ ซึ่งแม้ขณะนี้ กุศลจิตเกิดก็เป็นโยนิโสมนสิการ ใครก็ทำอะไรไม่ได้ เวลาที่อกุศลจิตเกิด ก็เป็นอโยนิโสมนสิการ แล้วหมดแล้วด้วย เพราะฉะนั้น อะไรที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ แต่สามารถจะรู้ได้ไหม

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีที่จะรู้ได้ ถ้าสามารถรู้ได้จะเข้าใจสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังได้หรือไม่ เมื่อความรู้นั้นเพิ่มขึ้น ถ้าจำแต่ชื่อ ชาติหน้าก็ลืมแล้ว พูดภาษาอะไรก็ไม่รู้ ใครเคยพูดภาษาบาลีบ้าง ภาษามคธแคล่วคล่อง ชำนาญ ไม่ต้องใช้ภาษาอื่น เพราะว่าไม่เคยได้ยินภาษาอื่น เกิดมาใช้ภาษานั้นก็เข้าใจแล้ว ไม่ต้องเรียนไวยากรณ์ต่างๆ ถึงจะออกมาเป็นคำๆ ได้ เพราะเป็นภาษาที่พูด ฉันใด เดี๋ยวนี้ ณ บัดนี้ ทำไมพูดไม่ได้ ทำไมคิดไม่ออก ทำไมจำไม่ได้ ทำไมไม่รู้สักความหมายเดียว

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้ภาษา แล้วติดที่ภาษา โดยที่ไม่รู้ว่า ความจริงแล้ว การฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจว่า ธรรมเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ค่อยๆ สะสมความเห็นถูก จนกระทั่งเมื่อฟังธรรมก็เข้าถึงความเป็นอนัตตา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    8 ก.ย. 2567