พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 518
ตอนที่ ๕๑๘
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒
ท่านอาจารย์ ถ้าใช้ภาษา แล้วติดที่ภาษา โดยที่ไม่รู้ว่า ความจริงแล้วการฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจว่า ธรรมเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ค่อยๆ สะสมความเห็นถูก จนกระทั่งเมื่อได้ฟังธรรมก็เข้าถึงความเป็นอนัตตา ทุกอย่างที่พูดเป็นอนัตตาทั้งหมด จิตก็เป็นอนัตตา เจตสิกก็เป็นอนัตตา มนสิการก็เป็นอนัตตา อกุศล กุศลก็เป็นอนัตตา แต่เรารู้หรือเปล่า แต่ว่าอาศัยการฟังจนค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งไม่ลืมว่า ขณะนี้เป็นธรรม เมื่อนั้นจึงเริ่มเข้าใจลักษณะของธรรม โดยเจาะจงไม่ได้ว่า มนสิการอยู่ตรงไหน จะรู้ลักษณะของมนสิการ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นอัตตาที่อยากจะรู้อะไร ก็จะรู้ได้ แต่ว่าเริ่มเข้าใจความเป็นอนัตตาของธรรมยิ่งขึ้น
ผู้ฟัง กราบขออภัยที่จะกล่าวว่า ในหมู่พวกเราที่ศึกษา เนื่องจากว่าถ้าสติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐานไม่เกิด ทุกคนก็ยังไม่รู้ตรง จริงๆ ต้องเป็นสภาพธรรมของสติปัฎฐานหรือสติสัมปชัญญะที่จะไปรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ แต่เมื่อยังไม่ทราบ ก็คือศึกษาเรื่องราวของลักษณะของสภาพธรรม เพื่อให้เป็นสัญญาที่มั่นคง เพื่อให้เป็นปัจจัยให้ปัญญาขั้นต่อไปเกิด
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องหวัง เข้าใจขึ้นๆ ปัญญาก็เจริญขึ้น สภาพธรรมก็จะปรากฏกับปัญญา ขณะที่เข้าใจขึ้นพร้อมสติสัมปชัญญะ
ผู้ฟัง แต่บ่อยครั้งที่ถามปัญหาที่เป็นเรื่องราวของลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งผู้ที่ศึกษาที่ยังไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย ก็ศึกษาแต่เรื่องราว บางครั้งพอถามเรื่องราว ท่านอาจารย์ก็จะถามว่า แล้วรู้ตรงลักษณะ อย่างจิตเห็น รู้หรือยัง
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ถามเรื่องมนสิการ ก็ตอบเรื่องมนสิการไปแล้ว ถามเรื่องโยนิโสมนสิการ ก็ตอบเรื่องโยนิโสมนสิการไปแล้ว ถามเรื่องอโยนิโสมนสิการ ก็ตอบเรื่องอโยนิโสมนสิการแล้ว ต้องการอะไรอีก
ผู้ฟัง อยากทราบว่า กิริยาจิต อเหตุกจิตเป็นมนสิการเฉยๆ หรือเป็นอโยนิโสมนสิการ
ท่านอาจารย์ ตามชาติของจิต เกิดมาขณะแรก ปฏิสนธิจิตมีมนสิการเจตสิกหรือเปล่า
อ.กุลวิไล มี
ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตดับแล้ว กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ไม่ได้ให้ผลเพียงให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ยังเป็นปัจจัยให้จิตซึ่งเกิดสืบต่อเป็นประเภทเดียวกับจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ แต่ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ เพราะไม่ได้เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต จึงทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นตามกำลังของกรรม ที่จะให้ดำรงอยู่เป็นบุคคลนั้นนานเท่าไร ขณะที่เป็นภวังคจิต มีมนสิการไหม
อ.กุลวิไล มี
ท่านอาจารย์ รู้ได้หรือไม่
อ.กุลวิไล ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ที่รู้ไม่ได้นั่นแหละเป็นวิบาก ก็รู้อยู่แล้ว เมื่อจิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก เจตสิกที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็เป็นวิบาก มนสิการต้องเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้เป็นชาติวิบาก ซึ่งรู้อารมณ์แล้วทำกิจของมนสิการนั่นแหละ จะทำกิจอื่นไม่ได้เลย แล้วจะรู้อะไรอีก
ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า คำว่า “ธรรม” คืออะไร สั้นๆ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ หรือเปล่า เดี๋ยวนี้เห็นไหม
ผู้ฟัง ถ้าตามสภาพ เห็น
ท่านอาจารย์ เห็นมีจริงๆ ไหม
ผู้ฟัง มีจริง แต่ไม่จริง
ท่านอาจารย์ ทำไมว่าจริง และทำไมว่าไม่จริง
ผู้ฟัง อาจจะเป็นเรื่องการสมมติในความเข้าใจของผม
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เรียกชื่อ ยังเห็นหรือเปล่า ยังไม่ต้องสมมติอะไรเลย
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ เกิดมาไม่เห็น
ผู้ฟัง ตรงนี้ไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ เวลาฟังธรรม กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนกับว่าไม่ใช่ธรรมดา แต่ความจริง ธรรมคือธรรมดาปกติ ปกติจริงๆ สิ่งที่มีจริงแล้วไม่เคยรู้ว่า เป็นธรรม แต่พอได้ยินชื่อว่า “ธรรม” ก็เหมือนสิ่งอื่นซึ่งไม่ได้มี และไม่เคยมีมาก่อนเลย ความจริงสิ่งที่มีมาแล้วทั้งหมด ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นธรรมเพราะอะไร เพราะเหตุว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ และก็ไม่ใช่ของใคร เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงก็สามารถที่จะปรากฏรู้ว่ามีจริงๆ ก็ต่อเมื่อกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส และกำลังคิดนึก เกิดมาก็เท่านี้เอง ใช่หรือไม่ หรือมากกว่านี้ เดี๋ยวเห็น แล้วก็เห็น แล้วก็เห็นทุกวัน ก็เป็นธรรมที่มีจริง แล้วได้ยินก็มี ได้ยินจริงๆ ไม่ใช่เห็น ซึ่งขณะที่ได้ยินก็เป็นเสียงที่ปรากฏ ขณะนี้จะรู้ว่าเป็นเสียงอะไร ก็เพราะเหตุว่ามีจิตที่ได้ยิน
เพราะฉะนั้น อะไรที่มีจริง ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด แต่ไม่เคยรู้ในความเป็นธรรมของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละลักษณะ เพราะว่ารวมกัน การศึกษาธรรมเป็นผู้ที่ตรงต่อความจริง
ขณะนี้ ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ได้ยินจริงหรือเปล่า ได้ยินจริง ได้ยินแน่ๆ ถูกต้องไหม เพราะได้ยินเกิดแล้วได้ยิน ได้ยินเมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็เป็นธรรม แล้วเสียงเป็นธรรมหรือเปล่า พูดตรงต่อความจริง เสียงมีจริงไหม ถ้าไม่มีเสียง จิตได้ยินจะมีได้อย่างไร เมื่อสักครู่ได้ยินจริงๆ ใช่ไหม แสดงว่ามีได้ยินแน่นอน แต่ไม่รู้ว่า ได้ยินเป็นอะไร เพียงแต่ได้ยิน แล้วเข้าใจว่า เราได้ยิน ยึดถือได้ยินที่เกิดขึ้นรู้เสียงนั้นว่า เป็นเราได้ยิน แต่ก็หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น ยึดถือสิ่งใดที่ปรากฏ สิ่งนั้นหมดแล้ว จะเป็นเราได้อย่างไร ก็เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละอย่าง เสียงเป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง น่าจะใช่
ท่านอาจารย์ ที่จริงศึกษาธรรม ธรรมตรง และชัด ไม่เปลี่ยนด้วย เมื่อเสียงมีจริงปรากฎ เมื่อจิตได้ยินเกิดขึ้น เสียงต้องจริงแน่ๆ เพราะปรากฎให้รู้ว่า เสียงเป็นอย่างนี้ และจิตได้ยินก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง ฉะนั้น ในขณะที่ได้ยินเสียง สิ่งที่มีจริงก็คือได้ยิน มีจริง และเสียงมีจริง ได้ยินก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ตลอดชีวิตเป็นธรรมทั้งหมด แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไปสืบต่อกันเร็วมากสุดที่จะประมาณได้ การสืบต่อไม่ทำให้เห็นการเกิดขึ้น และดับไป ก็เข้าใจว่ายังเหมือนเดิม ยังเที่ยงอยู่ ซึ่งความจริงได้ยินขณะนี้ ไม่ใช่ได้ยินขณะก่อน ก็แสดงให้เห็นว่าต่างขณะ และก็จะรวมเป็นหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะหนึ่งปรากฏแล้วก็หมดไป ก่อนที่อีกลักษณะหนึ่งจะเกิดได้ สิ่งนั้นต้องหมดก่อน ทั้งหมดเป็นธรรม โกรธ เป็นอย่างไร มีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง อะไรไม่ใช่ธรรม มีหรือไม่ สิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏแต่ละลักษณะ
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้เริ่มเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรม คือ ไม่ใช่รู้อย่างอื่น รู้สิ่งที่มีจริงซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ และทรงประจักษ์ความจริงโดยตลอด โดยประการทั้งปวง โดยสิ้นเชิง จึงได้ทรงแสดงสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้ โดยทรงแสดงธรรม เพราะว่าไม่มีคน ไม่มีสัตว์ แข็งเป็นแข็ง จะเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นใครไม่ได้ เพราะเกิดเมื่อไรก็เป็นแข็งแล้วก็ดับไป ทรงแสดงพระธรรมเรื่องของธรรมที่มีจริงทั้งหมด ให้คนที่มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังได้เข้าใจถูกต้อง และสามารถประจักษ์ความจริงอย่างนี้ด้วย เมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้น ต่อไปนี้ก็ทราบแล้วว่า ธรรมคืออะไร ถ้าฟังธรรม ก็หมายความว่า ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ จนกระทั่งเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ผู้ฟัง คำว่า “จิต” คำว่า “ใจ” คำว่า “วิญญาณ” คำว่า “หัวใจ” ในความหมายของหัวใจนี่เข้าใจ แต่อีก ๓ ความหมาย คือ จิต ใจ และวิญญาณ ความหมายเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ เข้าใจความหมายของหัวใจว่าอย่างไร
ผู้ฟัง หัวใจ ก็คืออวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ที่ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปทั่วร่างกาย
ท่านอาจารย์ แล้วอะไรที่เราเรียกว่า อวัยวะ เห็นไหม ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม ตั้งแต่เกิดจนตาย แม้แต่จะพูด จะทำ จะคิด ก็ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แต่เราใช้คำเหมือนกับว่า เรารู้จักหัวใจ แต่ถามว่า หัวใจเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง เป็นเรื่องของสมมติมากกว่า
ท่านอาจารย์ ธรรมคงจะไม่ใช่เรื่องเจาะจงจะรู้เพียงบางส่วน บางประการ แต่ต้องเป็นพื้นฐานที่เข้าใจมั่นคงจริงๆ ในคำว่า “ธรรม” แล้วเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของธรรมว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นธรรมที่มีจริง สิ่งนั้นต้องมีลักษณะที่ปรากฏว่าเป็นจริงอย่างนั้นด้วย นั่นคือความหมายของธรรม พูดถึงเรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องวิญญาณ ยังสงสัย ไม่รู้ แต่รู้จักหัวใจแล้ว ก็เลยถามว่า ที่รู้จักหัวใจ หัวใจเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ทราบว่า ที่เราคิดว่ารู้แล้ว ความจริงเรารู้จริงๆ หรือเปล่า ถ้าศึกษาธรรม ต้องเป็นธรรมที่ตรง เพราะฉะนั้น ที่บอกว่ารู้จักหัวใจ หัวใจเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง ผมอาจจะเข้าใจเป็นทางโลกมากกว่า แต่ทางธรรม ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีธรรม โลกจะมีไหม
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีธรรม แต่เพราะมีธรรม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ก็เป็นเรื่องราวของธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมากเป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น อยากทราบสักนิดหนึ่งว่า หัวใจเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง ก็เหมือนวัตถุ
ท่านอาจารย์ วัตถุเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง อาจจะเป็นแท่งทึบ หรือเป็นก้อน
ท่านอาจารย์ แล้วอย่างอื่นที่เป็นแท่งทึบ หรือเป็นก้อน ทำไมไม่เรียกว่าเป็นหัวใจ เห็นไหม ถ้าไม่ศึกษาธรรม เราจะไม่มีคำตอบเลย เราก็จะคิดของเราเองไปหมด พอเห็นหัวใจตามกระดาษหนังสือพิมพ์ ก็บอกว่า นี่คือหัวใจ ปีใหม่ก็มีรูปหัวใจ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ บางแห่งก็มีรูปหัวใจ ก็เป็นเรื่องของการที่เราไม่เข้าใจอะไรเลย แต่จำเหมือนกับตอนที่เกิดมา รู้จักหัวใจไหม ไม่รู้จักอะไรเลยสักคน ตอนเกิดรู้จักคุณพ่อคุณแม่หรือไม่
ผู้ฟัง ยังไม่รู้จัก
ท่านอาจารย์ ไม่รู้จักอะไรเลยทั้งสิ้น ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เห็น ค่อยๆ จำ พูดยังไม่ได้เลย แต่ค่อยๆ จำ แต่เห็นแล้วจำ จนกว่าจะได้ยินเสียง ก็จำเสียง ค่อยๆ จำไปอีกแต่ละเสียง จนกระทั่งสามารถเข้าใจว่าหมายความถึงอะไร
นี่คือความไม่รู้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นอย่างนี้จริงๆ พอโตขึ้นก็ไม่ได้รู้ความจริง แต่รู้เรื่องทั้งหมด ก็ยังไม่ใช่ความจริงอีก จนกว่าเมื่อไรได้ฟังพระธรรม เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า แท้จริงมีสิ่งที่เป็นจริง ซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะว่าเกิดดับสืบต่อเร็วมากจนกว่าจะได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ตอนนี้ไม่รู้จักหัวใจ หรือรู้จักหัวใจ หรือเข้าใจว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นหัวใจ อยู่ในตัวใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ข้างนอกตัว มีไหม ที่ตลาดมีหัวใจไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่จำรูปร่างสัณฐาน แล้วก็เรียกชื่อต่างๆ กันไป แต่ตั้งต้นจริงๆ ต้องรู้ว่า สิ่งที่มีจริงเท่านั้นที่มีลักษณะเฉพาะสิ่งนั้นจริงๆ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ลองกระทบสัมผัส มีลักษณะอะไรปรากฏ
ผู้ฟัง ความรู้สึก
ท่านอาจารย์ อะไรปรากฏให้รู้ เมื่อมีจิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ กำลังได้ยินเสียง จิตได้ยิน เสียงเป็นสิ่งที่จิตกำลังได้ยิน เพราะฉะนั้น เวลาที่กระทบสัมผัสสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นร่างกายของเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มีอะไรปรากฏ หรือไม่มีเลย ว่างเปล่า
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ลองกระทบสัมผัสที่กาย ที่หน้าผาก ที่แขน
ผู้ฟัง อาจจะมีความรู้สึก คือ เย็น ร้อน
ท่านอาจารย์ หรือ
ผู้ฟัง มีความแข็ง ความอ่อน
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าจะไม่พ้นจากลักษณะที่เมื่อกระทบแล้วเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าจะขาดลักษณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วเย็น ร้อน อ่อน แข็งนั้นเป็นคิ้วหรือเปล่า หรือเป็นเย็น เป็นร้อน ไม่ใช่คิ้ว ถ้าไม่คิดถึงรูปร่างสัณฐาน ไม่จำไว้ ก็มีลักษณะที่ปรากฏเพียงเย็น ร้อน เท่านั้น มีจมูก มีปาก หรือทั้งหมดแข็ง แล้วก็มีรูปร่างสัณฐานที่จำไว้ว่าเป็นส่วนต่างๆ ของกาย รวมทั้งส่วนที่เข้าใจว่าเป็นหัวใจ ความจริงถ้ากระทบสัมผัส ก็คืออ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ทั้งหมดไม่ว่าจะภายใน ภายนอกที่ตัว เมื่อกระทบเมื่อไร จะมีลักษณะที่ปรากฏได้เพียงเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เป็นเรา หรือว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเราไม่ข้ามไปหาชื่อยากๆ ปฏิจจสมุปบาท อายตนะ อริยสัจจะ หรืออะไรเลย แต่ทุกคำที่ได้ยิน ถ้าเข้าใจจริงๆ จะทำให้สามารถเข้าใจยิ่งขึ้น แม้แต่คำที่ได้ยิน ที่เพียงแต่ได้ยินชื่อ และความหมายเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วคืออะไร เช่น อายตนะ หรือธาตุ หรืออริยสัจจะ ก็แสดงให้เห็นว่า ตั้งต้นต้องเข้าใจจริงๆ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างจริงๆ จะไขว้เขวหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่
ท่านอาจารย์ ก็จะมีความมั่นคงยิ่งขึ้น และมีความเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้น เวลาฟังธรรมแต่ละลักษณะก็จะเข้าใจขึ้น คุณอรรณพจะกล่าวถึงเรื่องจิตไหม วิญญาณ ใจ ต่างๆ เพราะใช้หลายคำ มีคำอื่นด้วย เท่าที่เราใช้ก็มีคำว่า จิต ใจ วิญญาณ
อรร. ไม่ว่าจะใช้คำว่า จิต หรือ ใจ หรือ วิญญาณ ก็หมายถึง สภาพรู้ ก็คือจิต เหมือนกัน ถ้าเราไม่ได้ศึกษาธรรม เมื่อได้ยินคำว่า “วิญญาณ” แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นเด็กๆ อาจจะกลัวคิดว่าเป็นวิญญาณ ผี แต่จริงๆ ไม่ใช่ วิญญาณ แปลว่าสภาพรู้ ก็คือจิตนั่นเอง เป็นสภาพรู้แจ้ง ขณะนี้เห็นอยู่ ไม่ต้องไปคิดว่า เป็นตัวเราหรือเปล่าที่ไปเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ต้องคิด จิตเห็นเป็นสภาพที่รู้แจ้ง สีเป็นอย่างไร จิตเห็นก็เห็นอย่างนั้น เสียงเป็นอย่างไร จิตได้ยินก็ได้ยินในลักษณะนั้นเลย
เพราะฉะนั้น ก่อนจะจำแนกจิตออกไป ต้องเข้าใจหลักๆ ก่อน ว่า จิตเป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดขึ้นทีละขณะ แล้วดับไปอย่างรวดเร็ว นี่คือพระปัญญาคุณที่พระองค์ทรงเข้าใจลักษณะของจิต และแสดงจิตลักษณะต่างๆ ว่า จิตเป็นสภาพที่รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏนั้น รู้แจ้งตามที่สิ่งนั้นปรากฏ
ผู้ฟัง สัตว์ที่มีชีวิตทุกชนิดมีจิตหรือเปล่า
อ.ธิดารัตน์ คุณป้าถามว่า สัตว์ที่มีชีวิตมีจิตไหม ถ้ามีชีวิต ชีวิตต้องมีทั้งนามธรรม และรูปธรรม เราถึงเรียกว่ามีชีวิต นามธรรม ก็มีจิต และเจตสิกด้วย สัตว์ที่มีชีวิต เขาเจ็บใช่ไหม
ผู้ฟัง เจ็บ
อ.ธิดารัตน์ มีความรู้สึก มีเจ็บ มีเห็น เพราะฉะนั้นต้องมีจิตด้วย
ผู้ฟัง สุนัขที่บ้านมีตัวหนึ่ง รู้สึกจะรู้ดีมาก ก็เลยคิดว่า ตัวนี้ต้องมีจิตแน่ๆ
ท่านอาจารย์ ขอร่วมสนทนาด้วยที่จะรู้ว่า มีจิตหรือไม่มีจิต ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏให้เห็นจริงๆ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเราจะเรียกว่า มีชีวิต ไม่มีชีวิต เป็นสัตว์ เป็นมนุษย์ หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ สภาพที่สามารถเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดแล้วในขณะนั้น เป็นจิตประเภทหนึ่ง หรือในขณะนี้เสียงปรากฏ สภาพใดก็ตามที่กำลังได้ยินเสียงนั้น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เป็นเด็ก อะไรก็ตามแต่ ไม่คำนึงถึงเลย นอกจากธาตุหรือความจริงซึ่งเกิดขึ้นได้ยินเสียง ลักษณะที่ได้ยินนั้นเป็นจิต
เพราะฉะนั้น จะไม่คิดถึงว่า เทวดามีจิตไหม ปลามีจิตไหม หรืออะไรมีจิตไหม เห็นเมื่อไร นั่นคือจิตเห็น ได้ยินเมื่อไร นั่นคือจิตได้ยิน คิดนึกเมื่อไร นั่นคือจิตคิดนึก เพราะว่าเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ถ้าไม่มีสภาพรู้ ก็ไม่สามารถรู้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ต่อเมื่อเห็นเกิดขึ้นเมื่อไร จึงรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้มีจริง เพราะเห็นสิ่งนั้นจริงๆ
ด้วยเหตุนี้ แม้แต่สิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน ก็ต้องฟังแล้วฟังอีก เพราะยาก เราไม่เคยเห็นตัวจิต แล้วจะให้เรารู้ว่า มีจิตได้อย่างไร ก็คือว่า ขณะใดที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเป็นธาตุหรือเป็นธรรมที่ชื่อว่า “จิต” เพราะกำลังเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น คนตายมีจิตไหม
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ก่อนตายพูดได้ เดินได้ รับประทานอาหารอร่อย ไปเที่ยว ทำบุญ หรือทำอกุศลต่างๆ แต่พอนอนนิ่งๆ ไปไหนก็ไม่ได้ คิดก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มีจิต ขณะนั้นเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนี้ คือรูปทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ไม่เห็น ไม่รู้ ไม่คิด ไม่จำ เพียงแต่มีลักษณะที่แข็งบ้าง อ่อนบ้าง เปรี้ยวบ้าง เค็มบ้าง เป็นรูปทั้งหมด แต่ขณะใดก็ตามที่มีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมซึ่งต่างกับสภาพที่ไม่รู้อะไร
ด้วยเหตุนี้เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม ไม่ใช่แต่ในโลกนี้ ในจักรวาล หรือที่ไหนทั้งหมดก็ตามแต่ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดแล้ว สิ่งนั้นจะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ เกิดแล้วไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงอ่อนบ้าง แข็งบ้าง เปรี้ยวบ้าง เค็มบ้าง หรือว่าอาจจะตึงไหว ก็ได้ เป็นลักษณะของรูป แต่ขณะใดที่มีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือคิด ขณะคิดเป็นการรู้คำที่คิดหรือรู้เรื่องที่คิด สภาพที่รู้นั้นเป็นจิต เป็นใหญ่ เป็นประธาน แต่ก็ต้องมีสภาพธรรมอื่นซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วย เพราะว่าถ้าใช้คำว่า “เกิด” ต้องมีปัจจัย ไม่ใช่สามารถเกิดขึ้นมาได้เองตามลำพังลอยๆ อย่างเดียว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏ เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม มีสิ่งอื่นที่เกิดร่วมกัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น เวลาที่เราบอกว่า คนนี้ใจดี หรือเราอาจจะบอกว่า คนนี้จิตใจดี ก็หมายความว่า ทำไมขณะนี้จิตใจดี แต่อีกขณะหนึ่งกลายเป็นจิตใจร้ายได้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของจิต เพราะมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยต่างกันไป บางขณะสภาพธรรมที่ดีก็เกิดร่วมด้วย ก็ทำให้จิตนั้นเป็นจิตที่ดี บางขณะสภาพธรรมที่ไม่ดี นามธรรมที่ไม่ดีเกิดร่วมด้วย ก็ทำให้จิตนั้นเป็นสภาพที่ไม่ดี
เพราะฉะนั้น เราใช้คู่กันว่า จิตใจ ในภาษาไทย แต่ภาษาบาลี จิต และเจตสิก เจตสิกคือ สภาพที่เกิดกับจิต เกิดพร้อมจิต เกิดในจิต แยกกันไม่ได้เลย แล้วก็ดับพร้อมกันด้วย เพราะฉะนั้น มีจิต และเจตสิกเกิดร่วมกันทุกครั้ง แต่ส่วนใหญ่เราจะพูดแต่คำว่า “จิต” เพราะว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน พอจะทราบได้ไหมว่า ขณะไหนเป็นจิต ไม่ต้องคิดถึงรูปร่างใดๆ เลย รู้อะไรเมื่อไร ตรงไหน กำลังฝันเป็นจิตหรือเปล่า มีรูปอะไรในฝันหรือเปล่า กำลังฝันมีรูปอะไรปรากฏหรือเปล่า
ผู้ฟัง กำลังฝันเป็นจิต
ท่านอาจารย์ ขณะกำลังฝัน มีรูปอะไรปรากฏหรือเปล่า
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วรูปนั้นไม่ได้ปรากฏ แต่คิด และจำ เหมือนมีปรากฏ เดี๋ยวนี้รูปปรากฏ คือ แข็ง
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 481
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 482
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 483
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 484
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 485
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 486
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 487
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 488
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 489
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 490
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 491
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 492
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 493
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 494
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 495
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 496
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 497
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 498
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 499
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 500
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 501
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 502
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 503
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 504
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 505
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 506
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 507
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 508
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 509
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 510
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 511
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 512
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 513
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 514
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 515
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 516
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 517
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 518
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 519
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 520
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 521
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 522
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 523
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 524
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 525
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 526
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 527
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 528
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 529
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 530
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 531
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 532
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 533
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 534
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 535
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 536
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 537
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 538
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 539
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 540