พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 519
ตอนที่ ๕๑๙
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒
ท่านอาจารย์ ขณะกำลังฝัน มีรูปอะไรปรากฏหรือเปล่า
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วรูปนั้นไม่ได้ปรากฏ แต่คิด และจำ เหมือนมีปรากฏ เดี๋ยวนี้รูปปรากฏ คือ แข็ง เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทุกอย่างก็เป็นธรรมที่ละเอียดมาก ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่ต้องเข้าใจความต่างกัน ของธรรมที่เป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ก่อนว่า ยังมีอีกสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ได้รู้อะไร ถ้าไม่มีสภาพรู้ แต่มีสภาพที่เกิดขึ้นแล้วไม่รู้อะไร โลกก็ไม่ปรากฏ อะไรก็ไม่ปรากฏ เพราะไม่มีอะไรไปรู้สิ่งนั้นได้
ผู้ฟัง อย่างคนที่ตาย บางครั้งเราเห็นเขานอนตายตาไม่หลับ แสดงว่าครั้งสุดท้ายจิตเขาออกทางตาใช่ไหม เหมือนกับห่วงกังวลอะไรอย่างนั้น อย่างนี้ถูกต้องไหม
อ.วิชัย จิตเมื่อเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น เราอาจจะคิดว่า จิตขณะนี้เกิดแล้วก็ตั้งอยู่ตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้วจิตเกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว
ผู้ฟัง หมายความว่า คนตายที่เราเห็นสภาพศพ บางศพทรัพย์สมบัติมาก เป็นห่วงมาก แล้วตอนตายตาไม่หลับ แสดงว่าจิตวิญญาณที่ออกจากกาย จิตออกทางตาใช่หรือไม่ ครั้งสุดท้ายที่ทิ้งกาย
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ถ้าเขาหลับตา เขาออกทางไหน
ผู้ฟัง ถ้าหลับตา หมายถึงว่าจิตเขาสงบแล้ว
ท่านอาจารย์ ที่เข้าใจว่าไม่มีจิต เหมือนกับว่าจิตอออกไป จึงไม่มีใช่ไหม แต่ความจริงจิตออกไปไม่ได้เลย จิตไปไหนไม่ได้ คนที่จะออกจากห้องนี้ไปได้ต้องมีขา ถ้าไม่มี ขาออกไปได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตมีขาไหม เพราะว่าจริงๆ ถ้าเราไม่ฟังธรรม เราสับสนด้วยความคิดของเรา และการที่เราฟังโน่นฟังนี่ ตั้งแต่แต่เด็กมาก็ปนกันหมดเลย เป็นวิญญาณล่องลอย หรืออะไรอย่างนี้ แต่ความจริงแล้ว จิตเป็นธาตุที่อาศัยปัจจัยเกิดทำหน้าที่ของจิตสั้นมาก อย่างขณะนี้
ผู้ฟัง หมายความว่า ดับไปพร้อมกับกายใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ไม่เกี่ยวกับกายเลย ถ้าพูดถึงจิตไม่ยุ่งกับกาย ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะอะไร จิตเป็นจิต กายเป็นกาย รูปเป็นรูป จิตเป็นจิต แต่อาศัยกันได้ แต่ไม่ใช่อย่างเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่เห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป รูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ จิตเห็นจะเกิดไม่ได้เลย หมายความว่าคนนั้นตาบอด คนอื่นมีรูปแล้วก็มีจักขุปสาทกระทบกันเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น แต่สำหรับคนที่ไม่มีจักขุปสาท แม้รูปมี แต่ก็ไม่มีปสาทรูปที่จะกระทบกับรูปนั้น ซึ่งทำให้จิตเกิดขึ้นแล้วเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้
นี่คือความน่าอัศจรรย์ของธาตุหรือธรรม ซึ่งไม่มีอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แม้แต่เห็น จะเกิดขึ้นตามใจชอบไม่ได้ จะบังคับให้เกิดก็ไม่ได้ ด้วยวิธีใดๆ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยของจิตเห็นที่จะเกิดขึ้นเห็น แล้วก็เลือกไม่ได้ด้วยว่า จะเห็นอะไร นี่คือความหมายของอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วก็ไม่เป็นของใครทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจิตจริงๆ จะรู้ว่า จิตเป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วดับ ขณะนี้จิตเกิดขึ้นเห็นแล้วดับ ขณะนี้จิตเกิดขึ้นได้ยินเมื่อเสียงปรากฏแล้วดับ ดับทันทีเลย ไม่มีรูปร่างใดๆ มาเจือปน หรือจะมาเกี่ยวข้องเป็นของจิตได้เลย นามธรรมเป็นนามธรรมล้วนๆ รูปธรรมก็รูปธรรมล้วนๆ ไม่มีนามธรรมใด ที่จะไปเกี่ยวข้องเป็นส่วนของรูปได้เลย รูปเป็นรูป นามเป็นนาม เคยได้ยินคำว่า ขันธ์ ๕ ไหม มีคำว่า รูปขันธ์ รูปขันธ์ คือ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วไม่รู้อะไรเลย เป็นรูปทั้งนั้นเลย จะเป็นนามธรรมไม่ได้ แข็งเป็นรูปหรือเป็นนาม
ผู้ฟัง เป็นรูป
ท่านอาจารย์ อย่างนี้เริ่มเข้าใจแต่ต้องมั่นคง ไม่สับสน อย่างธาตุรู้ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย ไปไหนไม่ได้ เกิดเห็นดับ เกิดได้ยินดับ เกิดคิดแล้วก็ดับ ทุกขณะเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ในขณะนี้จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลยด้วย เหมือนไฟซึ่งเกิดเพราะเชื้อใด เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก ถ้ามีไฟใหม่ก็จากเชื้อไฟใหม่ แล้วไฟที่เกิดก็ไม่ใช่ไฟเก่า แล้วเชื้อไฟก็ไม่ใช่เชื้อเก่าด้วย
นี่แสดงให้เห็นว่า ธรรมเป็นสิ่งซึ่งมีเป็นปกติ แต่ยากที่จะรู้ ที่จะเข้าใจ เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังความเป็นจริงของธรรม จนกระทั่งเวลาฟังเหมือนกับยากแสนยากที่จะเข้าใจ อย่างเมื่อสักครู่ที่ถามเรื่องเห็น จริงหรือเปล่า แค่นี้ก็เหมือนกับอะไรที่ไม่ใช่ชีวิตปกติธรรมดา เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่า เห็นมี แต่ไม่รู้จักเห็นตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เราเห็น และจักขุปสาท คือ รูปก็เห็นไม่ได้ แต่สามารถกระทบกับสิ่งที่เมื่อกระทบแล้วจิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งนั้นได้ ทางหู ก็มีรูปที่สามารถกระทบเสียง เมื่อเสียงกระทบกับรูปนั้นก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ยังไม่ได้ดับด้วย ถ้าเสียงดับไปแล้ว ได้ยินก็เกิดไม่ได้
นี่เป็นความรวดเร็วของสภาพธรรม ซึ่งเกิดดับทั้งนามธรรม และรูปธรรม เร็วจนกระทั่งทำให้หลงเข้าใจผิดว่า เที่ยง หรือเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเข้าใจว่าเป็นเรา เป็นของเรา แต่ขณะนี้พอเข้าใจแล้วก็คือไม่มีเรา แต่เป็นธรรม ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ก็เพราะเป็นธรรมแต่ละอย่าง ตอนนี้จิตออกไปไหนหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่
ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับ แต่ต้องทำหน้าที่ของจิตนั้นๆ
ผู้ฟัง รู้สึกจิตเต้นอยู่ตอนนี้ เต้นตึบๆ
ท่านอาจารย์ จิตเต้นได้ไหม
ผู้ฟัง เหมือนกับหัวใจที่เราได้ยิน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตเต้นได้ไหม
ผู้ฟัง เกิดดับ
ท่านอาจารย์ จิตเต้นได้ไหม
ผู้ฟัง เต้นไม่ได้
ท่านอาจารย์ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีรูปร่างที่จะเต้น
ผู้ฟัง สิ่งที่ได้ยินเหมือนกับหัวใจเต้นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น หัวใจหรือลักษณะที่เคลื่อนไหว ไม่ใช่จิต แต่เป็นธาตุลม วาโยธาตุ เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ธาตุแข็ง ธาตุแข็งเพียงอ่อนหรือแข็ง เคลื่อนไหวไม่ได้
ผู้ฟัง เหมือนกับอยู่ตรงทรวงอก
ท่านอาจารย์ เรียกว่าทรวงอก จริงๆ แล้วเป็นอะไร ลองกระทบสัมผัสดูว่าอะไร
ผู้ฟัง ขณะนี้เหมือนได้ยินเลย เหมือนกับที่อาจารย์บอกว่า จิตอยู่ในกายนี้
ท่านอาจารย์ มิได้ จิตไม่ได้เกิดนอกรูป
ผู้ฟัง เหมือนกับอยู่ในกาย เหมือนกับฟังอยู่
ท่านอาจารย์ ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา อาศัยรูปเกิดแล้วก็ดับ
ผู้ฟัง เหมือนกับตุ๊บตั๊บๆ
ท่านอาจารย์ จิตจะตุ๊บตั๊บไม่ได้ ต้องเข้าใจความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม
อ.คำปั่น ชั่วโมงพื้นฐานพระอภิธรรมในวันนี้ ก็เริ่มตั้งแต่เรื่องของธรรม ธรรมก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพที่ทรงไว้ชึ่งลักษณะซึ่งสภาวะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ อย่างเช่น เห็น ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่มีใครบังคับบัญชาให้เห็นเกิดขึ้นได้ แต่เห็นก็เกิดขึ้นแล้วเพราะปัจจัย เป็นจิตที่เห็น ไม่ใช่เราที่เห็น ฉะนั้นแล้ว ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นจึงเป็นสัจจธรรม เป็นความจริง เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย
และที่กล่าวถึงเรื่องจิต ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ขณะที่จิตเกิดขึ้นแต่ละครั้งๆ จะไม่ปราศจากสภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยเลย นั่นคือเจตสิก แต่เวลาท่านกล่าวถึงจิต ก็ต้องกล่าวถึงเจตสิกด้วย ก็คงเคยได้ยิน จิตตุปาท หมายถึง การเกิดขึ้นแห่งจิต หรือขณะที่จิตเกิดขึ้น ท่านก็แสดงรวมถึงเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยกับจิตในขณะนั้น ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงก็แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง และเป็นชีวิตปกติประจำวัน เพราะว่าชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปนั้นก็เป็นธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะๆ
เพราะฉะนั้น จึงมีการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จนกว่าจะถึงการละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันนั่นเอง
อ.ธีรพันธ์ ที่ว่าธรรมทั้งหลายไม่ควรถือมั่น ธรรมทั้งหลาย พอจะกล่าวได้ไหมว่า มีธรรมอะไรบ้าง
ผู้ฟัง เป็นเรื่องของกายกับใจ
อ.ธีรพันธ์ แล้วทำไมถึงไม่ยึดมั่น
ผู้ฟัง ถ้าเรายึด ก็ยังติดอยู่ ก็หลงทาง
อ.ธีรพันธ์ อะไรที่จะละคลายความยึดมั่นได้
ผู้ฟัง ปล่อยวางอย่างเดียว
อ.ธีรพันธ์ ธรรมที่จะละคลายความยึดมั่น ถือมั่น ธรรมนั้นคืออะไร
ผู้ฟัง ความว่างเปล่า
อ.ธีรพันธ์ ความว่างเปล่าเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง ไม่มีอะไร เป็นอนัตตาทั้งหมดเลย
อ.ธีรพันธ์ ตอนนี้เป็นหรือยัง
ผู้ฟัง ยัง ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป
อ.ธีรพันธ์ ต้องศึกษาธรรมให้เข้าใจก่อน เพราะว่าการที่จะละคลายความยึดมั่นถือมั่นได้ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่เราไปคิดละเองโดยไม่ศึกษาธรรม คำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
อ.กุลวิไล กราบเรียนถามท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
ท่านอาจารย์ ต้องด้วยความรู้ ไม่มีทางเลยที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ก็ยังเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง
ผู้ฟัง หมายความว่า เมื่อแจ้งแต่ละตัว ก็ค่อยๆ แจ้งทีละตัวจนวาง ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ตอนนี้เข้าใจคำว่าธรรมแล้วใช่ไหม ความเข้าใจเป็นปัญญาหรือเปล่า เป็นปัญญาน้อยหรือมาก
ผู้ฟัง อยู่ที่ฝึก
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้
ผู้ฟัง เพิ่งจะเริ่มต้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ยังไม่พอจะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม ปล่อยวางยังไม่ได้ ต่อเมื่อใดสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่เราปล่อย เราวาง แต่ปัญญาที่เห็นว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็สามารถที่จะไม่ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ไม่ใช่ว่าปล่อยวางเอง หรือเข้าใจว่า ปล่อยวาง โดยที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม
ธรรม ถ้าคิดเองก็ยุ่ง แล้วก็สับสน แล้วก็คลาดเคลื่อนด้วย เพราะว่าเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง แต่ถ้าจะเราฟังด้วยการที่ไม่เคยรู้จักธรรม และไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริง ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ไปรวมความคิดเดิมเก่าๆ ซึ่งเข้าใจผิดว่า จิตล่องลอย หรือออกจากทางตา เราก็สามารถเข้าใจธรรมขึ้น ขอถามว่า กำลังนอนหลับสนิท มีจิตไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ทำไมว่ามี ขณะนั้นไม่รู้ว่า เป็นใคร อยู่ที่ไหน สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดก็ไม่ปรากฏเลย ขณะที่หลับสนิท เหมือนไม่มีอะไรเลย แล้วทำไมว่ามีจิต
ผู้ฟัง ตอนนั้นไม่ได้นึกคิด
ท่านอาจารย์ จะรู้ว่า มีจิตก็ต่อเมื่อตื่นขึ้น ใช่ไหม
ผู้ฟัง ถ้าเรารู้ว่ามีกาย ก็จะกระเพื่อม
ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่ตื่น จะรู้ไหมว่ามีอะไร ไม่มีทางรู้เลย เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมโดยละเอียดจะรู้ได้ว่า จิตประเภทไหนอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเฉพาะแต่ละอย่าง แล้วก็ยังมีจิตซึ่งไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเลย ก็สามารถที่จะเกิด และรู้สิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น แต่อารมณ์นั้นก็ไม่ปรากฏก็มี ซึ่งพิสูจน์ได้ กำลังหลับสนิท อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏ ชื่อเป็นอะไรก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่มีอะไรที่จะปรากฏขณะนั้นได้เลย ขณะที่หลับสนิท ต่อเมื่อใดตื่นขึ้น เริ่มรู้แล้วว่า เมื่อสักครู่นี้ต่างกับขณะที่ตื่น ยังไม่ตาย
เพราะฉะนั้น ก็จะสามารถเข้าใจธรรมที่ได้ฟังว่า ไม่ใช่มีจิตแต่เฉพาะขณะเห็น ขณะได้ยินด้วย แต่จิตเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เป็นชีวิตจริงๆ กำลังหลับสนิท ใช้คำว่า หลับสนิท ไม่ใช้กับโต๊ะ เก้าอี้ หรือรูปเลย เพราะไม่มีจิต แม้ว่าขณะที่หลับสนิทไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นอะไรเลยก็จริง แต่ก็ยังมีจิต แต่สภาพของธรรมที่เป็นรูปไม่มีจิต แม้ว่าขณะนั้น จะไม่รู้อะไร นี่ก็เป็นความต่างกันของธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมกับรูปธรรม
อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วถ้าเป็นสิ่งที่มีจริงต้องมีลักษณะด้วย ขณะนี้เองมีธรรม แต่ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และแน่นอนว่าก็จะยึดถือธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน สิ่งที่มีจริงต้องปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งไม่พ้นรูป จิต เจตสิก ที่เราได้ศึกษาในขณะนี้ และรูป ๒๘ รูป รูปที่ปรากฏทางตามีรูปเดียว คือ วัณณธาตุ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไม่สามารถปรากฏได้ทางตา
ดิฉันเคยสนทนากับท่านหนึ่งบอกว่า การศึกษาธรรมเป็นสิ่งที่ยากมาก ยากกว่าวิชาการทางโลก เพราะแม้แต่เรื่องของรูปก็มีถึง ๒๘ รูป แต่สามารถเห็นรูปได้เพียงรูปเดียวเท่านั้นเอง แต่รูปที่เหลือไม่สามารถเห็นได้ ซึ่งก็ลึกซึ้งมาก
ท่านอาจารย์ เพราะว่า เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ก็ต้องยากกว่าทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นวิชาการใดๆ เลยทั้งสิ้น
ผู้ฟัง หทยวัตถุเกิดที่ไหน
อ.วิชัย ครั้งแรกหทยวัตถุ เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต ซึ่งขณะนั้นไม่มีรูปร่างอะไรเลย ก็อยู่ในกายนี้ จิตจะเกิด เกิดที่วัตถุซึ่งมี ๖ ถ้าจักขุวัตถุก็อยู่ที่ตา กลางตา ถ้าหทยวัตถุ ก็อยู่ที่บริเวณหัวใจ
ผู้ฟัง ถ้าผ่าตัดเอาหัวใจออกมา ตรงนั้นที่เกิดอยู่ที่ไหน
อ.วิชัย ต้องดูสมุฏฐานของหทยวัตถุ เกิดจากกรรม ดังนั้น กรรมก็เป็นปัจจัยให้หทยวัตถุเกิด แต่ว่าต้องอยู่ภายในร่างกายนี้
ผู้ฟัง หมายความว่าตรงหนึ่งตรงใด เราคุยกันเรื่องนี้ ท่านอาจารย์เคยบอกว่า แม้เอาหัวใจออกไป ก็ต้องเกิด เกิดจากกรรม
ท่านอาจารย์ ขณะแรกที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น มีรูปร่างกายทั้งตัวหรือยัง แต่มีหทยวัตถุเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นจริงๆ ว่า หทยรูปเป็นรูปซึ่งเกิดพร้อมจิตในขณะปฏิสนธิ โดยจิตนั้นเกิดที่รูปนั้น รูปนั้นจึงเป็นที่เกิดของจิต ใช้คำว่า “หทยวัตถุ” หมายความว่า เป็นที่เกิดของจิต ยังไม่มีรูปที่เป็นร่างกายทั้งตัว แต่ว่ามีกลาปะ ๓ กลุ่ม รูป ๓ กลุ่ม คือ กายทสกะ กลุ่มที่เป็นกายปสาท กลุ่มที่เป็นภาวทสกะ หญิงหรือชาย และกลุ่มที่เป็นที่เกิดของจิต
เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่มีรูปหัวใจ ไม่มีรูปร่างกายทั้งตัว แต่ในภูมิที่มีรูปด้วย จิตต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใดโดยกรรมเป็นปัจจัย เราจะไปยึดติดมั่นว่า เกิดที่นั่น ที่นี่ ก็จะทำให้เราเกิดข้อสงสัยว่า เวลาตัดหัวใจออกไป แล้วหทยวัตถุจะอยู่ที่ไหน คนนั้นยังไม่ตาย แต่ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วก็คือว่า ขณะใดก็ตามซึ่งจิตนั้นเกิดที่ไหน นอกจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ แล้วจิตที่มีรูปเกิดร่วมด้วย ต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด ซึ่งรูปนั้นเรียกว่า หทยวัตถุ ไม่ต้องคำนึงถึงรูปดอกบัวตูม หรืออะไรทั้งนั้น
อ.กุลวิไล ชั่วโมงการสนทนาพื้นฐานพระอภิธรรม มีประโยชน์มาก
ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า “อภิธรรม” แล้วกำลังรู้ อภิธรรมหรือเปล่า เห็นไหม เสมอเลย เราจะได้ยินคำว่า ธรรม แล้วก็อภิธรรมเสมอๆ แต่ก็ลืมว่า ขณะนี้เป็นอภิธรรม เพราะฉะนั้น การที่พูดถึงบ่อยๆ ก็เพราะเหตุว่าเราหลงลืม ฟังธรรมก็ลืม คิดถึงเรื่องอื่น การพูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เพื่อให้ลืมเรื่องอื่น แล้วก็ไม่ลืมรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือการเริ่มต้นของการเข้าใจว่า ศึกษาอภิธรรม ก็คือ ขณะนี้เป็นอภิธรรมนั่นเอง
ผู้ฟัง เวลาที่ได้มีการสนทนาธรรมกับสหายธรรม ก็จะได้รับการปรารภว่า ทำไมสติเกิดน้อย ทำไมสติไม่ค่อยเกิด ทำไมสติยังไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่อที่จะให้สติเกิดมากๆ หรือบอกหนทางที่สติจะเกิดมากๆ หรือให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏก่อน เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจเลย สติจะระลึกได้อย่างไรว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้จริงๆ เป็นธรรม แทนที่จะฟังธรรม เข้าใจธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังมี กับเมื่อไรสติจะเกิดมากๆ ทำอย่างไรสติจะเกิดมากๆ พระธรรมสอนอย่างนั้นหรือว่า ให้คิดว่าทำอย่างไร หรือว่าเมื่อไรสติจะเกิด หรือว่ามีธรรมกำลังปรากฏ แล้วก็ฟังจนกว่าจะมีความเข้าใจมั่นคง ว่าสิ่งที่ปรากฏ ลักษณะจริงๆ นั้นมีแน่นอน ลักษณะนั้นต่างหากที่เป็นตัวธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง แต่ผู้ฟังก็ยังไม่มีปัญญาเข้าใจในหนทาง แล้วเริ่มถูกโลภะหรือความเป็นตัวตนที่มีความต้องการ รู้ว่าถ้ามีสติ เป็นหนทางดับกิเลสได้ โลภะ ความเป็นตัวตนที่ติดมาในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานเป็นตัวนำ นำก่อนที่ปัญญา ความรู้ ความเข้าใจจะเกิด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟังธรรมต้องทราบว่า เพื่อละโลภะ จนกว่าจะไม่มีโลภะ
ผู้ฟัง แล้วจะละโลภะได้อย่างไร เมื่อโลภะติดตามมาตลอดสังสารวัฏฏ์
ท่านอาจารย์ ใครจะละ นอกจากปัญญา
ผู้ฟัง แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ กำลังฟังเข้าใจไหม
ผู้ฟัง ก็เข้าใจ
ท่านอาจารย์ นี่คือการเริ่มต้นของปัญญา
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า ที่กำลังฟังก็คือหนทางในการอบรมปัญญาที่จะละกิเลสแล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะว่าฟังแล้วเข้าใจ ก็คือละความไม่เข้าใจ ละความต้องการเพราะรู้ว่า ขณะใดก็หลงลืมบ่อยๆ เพราะอะไร มีเหตุมีผลหรือเปล่า หรืออยู่ในอำนาจบังคับบัญชาที่สามารถให้สติเกิดระลึกได้
ผู้ฟัง ทุกคนดูเหมือนว่ากำลังอยู่ในหนทางอบรมความเข้าใจที่นำไปสู่การดับกิเลสแล้ว แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ตัวเองกำลังอยู่ในหนทาง แต่ก็ไปแสวงหาการเป็นตัวตนที่ต้องการ เหมือนกับตัวเองกำลังเดินอยู่ในหนทางแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเดิน แต่กลับไปหาหนทางที่ผิด หนทางที่เต็มไปด้วยความเป็นตัวตน หนทางที่เต็มไปด้วยความต้องการ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องอดทน คนอื่นไม่เกี่ยว
ผู้ฟัง อดทนหมายถึงอย่างไร อดทนที่จะฟัง
ท่านอาจารย์ อดทนที่จะรู้ว่า ขณะนี้ปัญญายังไม่เกิด ทั้งๆ ที่ฟังว่า ขณะนี้เป็นธรรม จะเกิดก็ต่อเมื่อไม่ลืม คือ เดี๋ยวนี้เป็นธรรม ซึ่งไม่เคยเข้าใจเลยว่าเป็นธรรม ฟังอย่างไรๆ ก็ยังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ จนกว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้น ว่าจริงๆ แล้วสิ่งนี้ปรากฏให้เห็น ให้อะไรเห็น ไม่มีเรา แต่เป็นธาตุที่สามารถเกิดแล้วเห็นเท่านั้นเอง
ผู้ฟัง ในระหว่างที่กำลังอบรมที่จะอดทนที่ท่านอาจารย์บอกว่า เพื่อฟังที่จะให้เข้าใจ ในระหว่างนั้น กิเลสที่ยังมีปัจจัยในสังสารวัฏฏ์สะสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เกิดขึ้นบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นความโกรธรุนแรงมาก รุนแรงน้อย มานะ ความโลภ ความต้องการ ความน้อยใจ ความเคียดแค้นอะไรต่างๆ มีปัจจัยที่จะเกิด และมีกำลัง และความเป็นตัวตนก็ย่อมเดือดร้อนว่า ทำไมเมื่อศึกษาธรรมแล้ว กิเลสก็ยังมีปัจจัยที่จะต้องเกิด
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 481
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 482
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 483
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 484
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 485
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 486
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 487
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 488
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 489
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 490
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 491
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 492
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 493
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 494
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 495
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 496
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 497
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 498
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 499
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 500
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 501
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 502
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 503
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 504
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 505
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 506
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 507
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 508
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 509
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 510
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 511
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 512
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 513
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 514
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 515
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 516
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 517
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 518
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 519
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 520
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 521
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 522
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 523
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 524
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 525
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 526
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 527
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 528
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 529
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 530
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 531
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 532
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 533
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 534
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 535
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 536
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 537
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 538
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 539
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 540