พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 484
ตอนที่ ๔๘๔
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑
ท่านอาจารย์ ก็ต้องค่อยๆ คิด เกิดมาชาตินี้ มีพี่มีน้องหรือไม่ คุณกุลวิไลมีพี่น้องไหม มีเมื่อคิด ใช่ไหม ถ้าไม่คิด ไม่มี
อ.กุลวิไล ถ้าไม่คิดไม่มี
ท่านอาจารย์ รู้ได้อย่างไร
อ.กุลวิไล เพราะว่าต้องต่างกันระหว่างเรื่องที่คิดกับสิ่งที่มีจริง
ท่านอาจารย์ แล้วตอนนี้มีหรือไม่
อ.กุลวิไล ไม่ได้คิด ก็ไม่มี
ท่านอาจารย์ แต่ว่าอดคิดได้ไหม
อ.กุลวิไล ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีหรือไม่มี
อ.กุลวิไล ก็ต้องมี
ท่านอาจารย์ เวลาคิดมีพี่มีน้อง ชาตินี้ ชาติก่อนมีพี่มีน้องหรือเปล่า ถ้าชาตินี้มีพี่มีน้อง ชาติก่อนมีพี่มีน้องหรือเปล่า
อ.กุลวิไล ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็ต้องมีพี่มีน้อง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ลูกคนเดียวหรือ
อ.กุลวิไล บอกไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถ้าถามถึงชาติก่อน ตอบไม่ได้แล้ว แต่ชาตินี้มีพี่มีน้องไหม จำ ถ้ามีพี่ ๑ คน ก็บอกว่ามีพี่ ๑ คน ถ้ามีน้อง ๒ คน ก็จำว่ามีน้อง ๒ คน เพราะจำ เฉพาะชาตินี้ แต่ชาติก่อนมีพี่มีน้องหรือเปล่า
อ.กุลวิไล บอกไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วหายไปไหน ชาติก่อนทั้งพี่ทั้งน้อง ทั้งตัวเอง ก็ไม่เหลือเลย เวลาที่กล่าวว่า มีพี่มีน้อง มีบ้าน มีเพื่อน มีเรา มีเขา เป็นเพราะเหตุว่าจำไว้เท่านั้นเอง แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือว่า จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ จะต้องมีเพียงสิ่งเดียวที่จิตกำลังรู้หรือปรากฏ แล้วก็คิดเรื่องสิ่งนั้นจนลืม ลืมแน่นอนว่า เป็นจิตที่เกิดขึ้นชั่ว ๑ ขณะ ที่รู้สิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมเพื่อที่จะไม่ลืม จนกว่าสัญญาความจำจะมั่นคงว่า ขณะนี้รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏหรือเปล่า ไม่ใช่ให้ทำอะไรเลย มีแล้วทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่พี่ ไม่ใช่น้อง ไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น อะไรจะถูกต้องกว่ากัน เพราะฉะนั้น ความจริงต้องเป็นความจริง แล้วก็รู้ว่าถ้าปัญญาประจักษ์แจ้งจะมีเราซึ่งมีพี่ มีน้อง มีสมบัติหรือเปล่า หรือว่าขณะนั้นธาตุรู้เกิดขึ้น แล้วก็มีสิ่งที่ธาตุนั้นกำลังรู้เท่านั้น ไม่มีอะไรอีกจากตัวตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เฉพาะที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ไม่มีอะไรเหลือจริงๆ นอกจากขณะที่ธาตุรู้เกิดขึ้นกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าไม่มี สิ่งอื่นจะมีหรือไม่ ก็เหมือนกันหมด
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ธรรมตามความเป็นจริง ก็คือ ธรรมมีแน่นอน ธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ในจิตแต่ละขณะจะสะสมอะไรมามากน้อยแค่ไหน ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ จนกว่าขันธ์เกิดแล้ว ขณะนั้นจึงรู้ว่า มาจากไหน มาจากการสะสมของจิตซึ่งสะสมมาไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่สิ้นสุด
ผู้ฟัง เมื่อเข้าใจความจริงที่เกิดดับ และก็รู้ว่า เมื่อเหตุไม่ดีก็ย่อมได้รับผลไม่ดี เมื่อเหตุดีก็ส่งผลดี ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยาย
ท่านอาจารย์ ธาตุละเอียดมาก เพราะเหตุว่าไม่ได้มีธาตุเดียว แต่มีหลายๆ ธาตุ และเกิดอาศัยกัน และกันแล้วก็ดับไป แม้แต่ธาตุที่เกิดแล้วดับไปแล้วก็ยังสะสมอยู่ในจิตอย่างละเอียดยิ่ง ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า สะสมอะไรมามากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น การที่เราสามารถที่จะเข้าใจความจริงของธรรมว่า ธรรมจริงๆ ก็เป็นแต่เพียงธาตุซึ่งละเอียด และที่จำแนกให้เห็นว่าเป็นธาตุเลว ธาตุปานกลาง ธาตุประณีต เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นว่า ถึงแม้ไม่ใช่อกุศล ซึ่งเป็นธาตุเลว แต่เป็นธาตุที่เป็นเมตตา กรุณา อโลภะ อโทสะ ก็ยังเป็นเพียงธาตุปานกลาง ยังไม่ใช่ธาตุประณีต เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่อาจจะมีความรู้สึกว่า ทำความดีมากแล้ว เพราะว่าขณะนั้นไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่กระทำทุจริตกรรม แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นเพียงธาตุปานกลาง พอไหมที่จะดำรงคงอยู่เป็นธาตุปานกลางไปเรื่อยๆ ไม่ถึงความเป็นธาตุประณีต ซึ่งมีหนทางที่จะเป็นธาตุประณีต ซึ่งคนอื่นก็จะทำให้ไม่ได้ ที่ใช้คำว่า “เรา” หรือ “คนอื่น” ก็เพื่อแสดงว่า แม้ธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อมาเป็นแต่ละจิต แต่ก็มีการยึดถือว่าเป็นเรา ชื่ออย่างนี้ ชาตินี้ ทำอย่างนี้เกิดมา ก็จะเห็นได้ว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ทุกขณะที่เกิดขึ้นวัดสิ่งที่สะสมมา ทั้งฝ่ายอวิชชา และวิชชา ถ้าขณะใดมีหน้าที่การงาน ซึ่งทุกคนก็ต้องทำ แต่ว่าขณะนั้นจิตที่ทำเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ด้วยความมั่นคง บางคนอาจจะกล่าวว่า เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่แม้กระนั้น เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ดีจริง แต่ว่าจิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า เพราะว่าบางคนอาจจะมีการกระทำซึ่งเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่นตามหน้าที่ แต่เพราะไม่รู้ธรรม ขณะนั้นเป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ที่ทำทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์บุคคลอื่น ก็คือว่า ไม่ใช่ให้ประโยชน์ของคนอื่นแม้มากเป็นไปโดยเสียประโยชน์ตน เพราะว่าถึงแม้ว่าจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมาก แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลทั้งนั้น ใครได้ประโยชน์ ไม่มีใคร เพราะอะไร คนที่กระทำที่คิดว่าทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่น แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เป็นประโยชน์หรือเปล่า แล้วคนที่ได้รับ คิดหรือว่าผลนั้นเป็นกุศล เพราะเหตุว่าได้รับแล้วเป็นอกุศลก็ได้ เพราะว่าสิ่งที่ได้รับเป็นแต่เพียงผลที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ใจที่สะสมมาเมื่อเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น การที่สะสมมา และมีปัญญาที่จะเห็นตามความเป็นจริง และมั่นคงในกุศล เพราะรู้ว่าการแก้ปัญหาทุกอย่าง อกุศลแก้ไม่ได้แน่นอน ดูเสมือนว่าจะแก้ได้ แต่แก้ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าปัญหามาจากไหน ปัญหามาจากจิตซึ่งเป็นอกุศลทั้งนั้น ปัญหาไม่ได้มาจากกุศลจิตเลย ปัญหาทุกปัญหามาจากอกุศลจิต จะให้อกุศลจิตหรืออกุศลธรรมแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้มีปัญญา ก็สามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยกุศลจิต ด้วยความหนักแน่นมั่นคงในคุณความดีหรือในธรรมฝ่ายกุศล ก็ย่อมสามารถแก้ทุกสถานการณ์ได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะนั้น แต่แม้ในขณะต่อๆ ไป กุศลก็ไม่ได้ให้โทษเลย
ผู้ฟัง เครื่องวัดปัญญา หรือเข้าใจธรรมแค่ไหน ก็เหมือนกับว่าหลังเห็น หลังได้ยิน หลังรู้อารมณ์ ๖ ทางแล้ว ถ้าอกุศลเกิดมาก ก็แสดงว่า ยังต้องศึกษาธรรมให้มากพอ จนกระทั่งเป็นปัญญาที่ละอกุศล แล้วเจริญกุศลไปตามกำลังของปัญญา
ท่านอาจารย์ เพราะว่า ข้อสำคัญคือแม้เป็นธาตุ แต่ก็ยึดถือธาตุว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น หน้าที่ก็คือ ธาตุที่เป็นเราเป็นธาตุเลว ใครจะแก้ไขได้ ใช่หรือไม่ เวลาที่อกุศลธรรมเกิด นอกจากปัญญา ไม่ใช่ของคนอื่นด้วย แต่ละธาตุก็สะสมมา แล้วก็สะสมต่อไปที่จะทำให้เปลี่ยนจากธาตุเลว เป็นธาตุที่ประณีต คนอื่นทำให้ไม่ได้เลย
ผู้ฟัง ต้องเลว และปานกลางก่อน ถึงประณีต
ท่านอาจารย์ ปานกลางไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะไม่สามารถดับกิเลสได้ ไม่ว่าปานกลาง จะเป็นกุศลขั้นทาน เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นความสงบของจิต ไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ ทั้งสิ้น สามารถสงบจากอกุศลได้ มั่นคงขึ้น ที่ใช้คำว่า “ฌาน” หมายความว่า เผาธรรมฝ่ายอกุศล จนกระทั่งจิตสงบตามลำดับขั้น จากอุปจารสมาธิถึงอัปปนาสมาธิ เป็นฌานที่ประกอบด้วยวิตกเจตสิก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นองค์ของฌาน แต่ไม่ได้หมายความว่า มีแต่เฉพาะเจตสิก ๕ องค์เท่านี้ ยังมีเจตสิกอื่น แต่เจตสิกอื่นนั้นไม่ใช่องค์ที่จะทำให้จิตสงบจนกระทั่งมั่นคง จากปฐมฌาน แล้วก็ละด้วยความชำนาญที่เห็นโทษของวิตกเจตสิก จนกระทั่งถึงทุติยฌาน ละต่อไปจนกระทั่งถึงปัญจมฌาน แม้อย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะดับอกุศลได้ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง ถึงแม้ว่าเกิดเป็นรูปพรหมบุคคล ไม่ได้มีความเดือดร้อน ไม่ต้องรับประทานอาหาร ไม่ต้องหายใจ ไม่มีโรคที่เกี่ยวกับการหายใจ ไม่ต้องบริหารร่างกาย ไม่ต้องกิน ไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น ดูสบายดี ใช่หรือไม่ จะทุจริตอะไรไหม จะไปคดโกงเอาของใครมาเป็นของเรา จะโลภมาก อยากได้นั่นได้นี่หรือไม่ ในเมื่อเป็นผู้เห็นโทษจริงๆ ของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นธาตุ แต่เพราะโลภะทำให้ตกเป็นธาตุเป็นความพอใจไม่สิ้นสุดในสิ่งที่เป็นเพียงรูป แล้วก็เพียงปรากฏให้เห็นบ้าง ให้ได้ยินบ้าง เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาอบรมจนกระทั่งเป็นรูปพรหมบุคคล ยังเห็นโทษของรูป คิดดู ถ้าไม่มีรูปเลย ซึ่งขณะนี้เป็นไม่ได้แน่ ทุกคนเกิดมาพร้อมรูป เห็นรูป ชอบรูป ได้ยินเสียง ชอบเสียง ทุกอย่างเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งสมมติว่าเป็นโภคสมบัติ เป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ เป็นสุข แต่ความจริง ก็คือสิ่งที่สามารถปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ผู้ที่เห็นโทษที่เป็นรูปพรหม ก็อบรมเจริญปัญญา ไม่มีรูปเลย สามารถที่จะเกิดในอรูปพรหมภูมิ เป็นอรูปพรหมบุคคล ไม่มีพี่ มีน้อง ไม่มีการเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต้องมีใครที่เจอแล้วชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ไม่มีเสียงที่จะทำให้เดือดร้อนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็เป็นธาตุปานกลาง คิดดู ผู้ที่ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงว่าเป็นธาตุปานกลาง ไม่ใช่ประณีต เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับกิเลส ยังไม่รู้ตามความเป็นจริง ยังไม่เห็นถูกว่า แท้ที่จริงแล้วธรรมหรือโลกคือสิ่งที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรที่คงอยู่สักอย่างเดียว
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นในมรรคจิต ผลจิตเกิด ต่อไปเป็นพระสกทาคามี ในระหว่างที่ยังไม่ถึงขั้นพระสกทาคามี เรียนถามว่า ธาตุนั้นเป็นธาตุประณีต หรือธาตุปานกลาง
ท่านอาจารย์ ธาตุเป็นธาตุ ธาตุหนึ่งจะเป็น ๒ ธาตุได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น เวลาที่โลกุตตรจิตเกิดขึ้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นธาตุที่ประณีต นอกจากนั้นธาตุอื่นจะประณีตหรือไม่ ถ้าไม่ใช่โลกุตตรจิต นี่แสดงให้เห็นว่า ต้องเข้าใจจริงๆ ในความเป็นแต่ละธาตุ ไม่ปะปนกัน
ผู้ฟัง นั่นหมายถึงว่า ในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ว่าจะนานสักเท่าไร คือทางเดียวที่ออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ ต้องมีธาตุประณีตเกิดขึ้นรู้ความจริง
ท่านอาจารย์ ถ้าเพียงแต่บอกว่า ละความเห็นผิด ถ้าพูดถึงดับกิเลส ดูดีใช่หรือไม่ แต่กิเลสทั้งหมดเพราะเห็นผิด ถ้ายังคงมีความเห็นผิด ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ไม่มีการที่จะดับกิเลสได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงคำที่เราไม่รู้ เช่น คำว่า นิพพาน โลกุตตรจิต มรรคจิต ผลจิต ไม่ใช่สิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่รู้ว่าขณะนี้ที่เป็นชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร จะมีการที่จะหน่าย คลายความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏจริงแล้วก็ดับ แล้วไม่กลับมาอีกเลยสักอย่างเดียว ถ้าไม่มีความเข้าใจสภาพธรรมยิ่งขึ้นจริงๆ อย่างนี้ จะหน่าย จะคลาย จะละความติดข้องหรือไม่ เพราะว่าความติดข้องเร็วมาก ทันทีที่เห็นดับ จิตที่เป็นวิบากจิตซึ่งกรรมทำให้รู้สิ่งที่จิตเห็นสืบต่อ ดับ ก็ถึงกาลที่อกุศลจะเกิดได้ มีกำลังในธาตุ นามธาตุ ที่เป็นจิต สะสมมากมายหลายอย่าง มีกำลังที่จะเกิดเมื่อถึงกาลที่จะเกิดได้ ยั้งได้หรือไม่ หยุดได้ไหม ไม่ให้เกิดได้ไหม เกิดแล้วแต่ไม่รู้
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่ไม่รู้ ก็ยังคงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ซึ่งจะดับกิเลสไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมเพื่อเข้าใจความจริง เป็นทางที่ปลอดภัยที่สุด เพราะละโลภะ ละความต้องการที่จะไปดับกิเลส ที่จะรู้แจ้งนิพพาน ที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ เพราะว่ายังไม่มีปัญญาที่จะเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะเห็นได้ก่อน ก็คือเห็นความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีพี่น้อง ด้วยจุดประสงค์อะไรที่จะให้เข้าใจอย่างนี้
ท่านอาจารย์ จิตเห็น เกิดแล้วเห็น มีพี่มีน้องหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ จิตได้ยิน
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ จิตได้กลิ่น
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ จิตลิ้มรส
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ จิตคิดนึก
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ก็ตอบแล้ว
ผู้ฟัง โดยสัจธรรม ก็ใช่ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็ใช่
ท่านอาจารย์ แต่มีสมมติสัจจะ แล้วมีปุคคลบัญญัติด้วย จากไหน จากสิ่งที่มี ทุกคนเกิดมามีพ่อแม่กี่คน
ผู้ฟัง ก็มีคนละคน
ท่านอาจารย์ ก็มีคุณพ่อ คุณแม่จริงๆ คนเดียว แม่คนหนึ่ง พ่อคนหนึ่ง ไม่มีมากกว่านั้น นี่คือ ปุคคลบัญญัติ สมมติบัญญัติ แต่ที่ว่าเป็นพ่อ เป็นแม่ ก็ต้องเป็นจิต เจตสิก รูป แล้วก็เป็นผู้มีพระคุณมากตั้งแต่เกิด ถ้าพ่อแม่ไม่มีคุณ ก็คงจะไม่อยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้น ที่ใช้คำว่า พ่อกับแม่ ไม่ได้หมายความถึงบุคคลอื่น แต่หมายความถึงผู้ให้กำเนิด และเป็นผู้มีคุณ ก็คือจิต เจตสิก รูปนั่นเอง รูปเป็นพ่อแม่ได้หรือไม่ ไม่ได้ ต้องเป็นจิต เจตสิก
ผู้ฟัง ดังนั้นจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจอย่างนี้หรือ
ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจว่า ไม่มีตัวตนเลย ไม่ว่าเราจะคิดถึงใคร แม้ที่เคยเข้าใจว่าเป็นตัวเรา จริงๆ ก็ไม่มี แม้แต่ที่เราเข้าใจว่า เป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นเทพ อะไรก็ตามแต่ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทำไมสมมติว่าเป็นเทพ ทำไมไม่ว่าเป็นมนุษย์ เพราะเหตุว่าผลของกรรมที่ทำให้ได้รับสิ่งที่ประณีตมาก ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นานด้วย ระหว่างที่เกิดเป็นเทพ จะไม่มีความเดือดร้อนเหมือนผู้เกิดในภูมิมนุษย์ เพราะว่าผู้ที่เกิดในภูมิมนุษย์ จะได้รับผลของทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม แต่เวลาที่กุศลกรรมที่ประณีตมีกำลังให้ผลเกิดเป็นเทพ ก็ต้องแล้วแต่กำลังของกุศลนั้นด้วย เพราะว่าเทพก็มีหลายชั้น ตั้งแต่เทพชั้นต้นจนกระทั่งถึงชั้นที่ ๖ นี่แสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วเป็นธรรม หรือเป็นบุคคล ตัวตน แต่ที่ใช้คำว่า สวรรค์ หรือเทพ ก็เพราะเหตุว่าสมมติสัจจะ ในเมื่อธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลวิบากเกิดมาก และไม่ใช่การที่จะได้รับทุกข์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างในมนุษย์ หรือในนรก หรือในภูมิอื่นที่เป็นอบายภูมิ ก็สมมติเรียกเป็นภูมิต่างๆ แต่ความจริงถ้าไม่มีจิตเกิดในภูมินั้นๆ เลย จะมีภูมินั้นๆ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มี เรียนถามท่านอาจารย์ว่า จะให้ผู้ฟังเข้าใจพระธรรมอย่างนี้ ตั้งแต่ต้นเลยหรือว่าจริงๆ แล้วเป็นธรรม รูปธรรม นามธรรม ไม่ใช่พ่อ ไม่ใช่แม่ ไม่ใช่ลูก
ท่านอาจารย์ คุณนิรันดร์อยากรู้ความจริงหรือเปล่า
ผู้ฟัง อยากรู้ความจริง
ท่านอาจารย์ อยากรู้ความจริงแท้ๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง แท้ๆ
ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงความจริง จริงๆ ไม่ผิดเลย ไม่เพี้ยน ไม่หลง ไม่คลาดเคลื่อน ว่าความจริง จริงๆ ก็ขณะนี้ เห็น มีจริง เพราะเกิดแล้ว ถูกต้องหรือไม่ เกิดแล้วทำหน้าที่อะไร เห็น ทำอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เห็นเป็นใคร เห็นเป็นนกหรือเปล่า ไม่ใช่ ช้าง ไม่ใช่ เทวดา ไม่ใช่ มนุษย์ ไม่ใช่ เป็นอะไร เห็นเป็นสภาพเห็น นั่นคือความจริงจริงๆ เกิดแล้วดับหรือไม่ ดับ นั่นคือความจริงจริงๆ
ผู้ฟัง แต่ความผูกพัน
ท่านอาจารย์ ความผูกพันเป็นธรรมหรือเปล่า ก็เราจะพูดเรื่องจริง จริง จริงๆ ก็คือเป็นธรรม ความผูกพันก็เป็นธรรม มีจริงๆ ไม่ใช่ไม่จริง แต่จริงอย่างไร จริงคือผูกพัน
ผู้ฟัง แต่ความผูกพันนั้นมีผล อย่างเช่น ถ้าลูกเราป่วยหนัก แล้วท่านอาจารย์จะบอกว่าไม่ใช่ลูกเรา
ท่านอาจารย์ ขอโทษ ลูกป่วยหนัก พ่อแม่ขอป่วยแทนลูกได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ จริงหรือไม่ จริง จริงๆ ก็คือเป็นผลของกรรมของลูก ที่จะต้องมีความรู้สึกเจ็บปวด ป่วยทางกาย
ผู้ฟัง แต่ขณะนั้นไม่ยอมรับตามความเป็นจริงว่า สภาพนั้นกำลังเกิดแล้วดับ แต่นั่นคือลูกของเรา
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเห็นถูกหรือเห็นผิด
ผู้ฟัง เห็นผิด
ท่านอาจารย์ เห็นผิดก็ต้องผิด จะเปลี่ยนความเห็นผิดให้เป็นความเห็นถูกได้หรือไม่
ผู้ฟัง เวลาฟังพระธรรมคือสภาพธรรม แต่ในชีวิตประจำวันจริงๆ
ท่านอาจารย์ เป็นธรรม ที่เราไม่รู้ว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง แต่ขณะที่เป็นลูกเราป่วย ก็ไม่ยอมรับ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป จะมีลูกหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รักจิต เจตสิก รูป เคยได้ยินชื่อ วิสาขามหาอุบาสิกาหรือไม่ เป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ แล้วท่านก็มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง ท่านรู้ความจริงหรือเปล่า
ผู้ฟัง รู้ความจริงโดยประจักษ์
ท่านอาจารย์ โลภะมีจริงๆ รู้หรือไม่ว่าเป็นโลภะ ไม่ใช่เรา แต่โลภะเกิดต้องเกิด เป็นพระโสดาบันก็ดับโลภะไม่ได้ เพราะว่าเพียงดับความเห็นผิดที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ยากแค่ไหนกว่าจะรู้ความจริงว่า เห็นขณะนี้เป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดแล้วดับ แล้วเวลาที่ธาตุรู้ปรากฏ ที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ไม่สงสัยในธาตุรู้ ก็ต่อเมื่อขณะนั้นไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ลองคิดถึง ขณะนี้เหมือนมีโลกที่สว่างไสว มีต้นไม้ มีคน มีหลายอย่าง แต่ขณะที่ธาตุรู้เกิดขึ้น เฉพาะธาตุรู้เท่านั้นที่ปรากฏกับปัญญา โลกมืดสนิท ไม่มีแสงสว่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ธาตุรู้ก็เกิดขึ้นรู้ รู้ได้ เพราะว่าเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจึงไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเป็นโลภะก็เป็นนามธาตุ ไม่มีรูปร่างสีสันเลย แตกต่างกับจิต ลักษณะของโลภะเป็นความติดข้อง เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริงทั้งหมดว่าเป็นธรรม จนกระทั่งคลายการยึดถือว่าเป็นเรา จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม เพราะขณะนี้โดยการฟัง ทุกคนทราบว่า สภาพธรรมเกิดดับ แต่ไม่ประจักษ์ เพราะอะไร เพราะไม่รู้ความจริงว่า เมื่อไม่เห็นแล้ว อะไรเกิดต่อ เสียงปรากฏ หมดแล้ว อะไรเกิดต่อ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 481
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 482
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 483
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 484
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 485
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 486
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 487
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 488
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 489
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 490
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 491
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 492
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 493
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 494
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 495
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 496
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 497
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 498
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 499
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 500
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 501
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 502
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 503
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 504
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 505
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 506
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 507
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 508
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 509
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 510
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 511
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 512
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 513
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 514
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 515
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 516
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 517
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 518
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 519
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 520
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 521
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 522
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 523
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 524
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 525
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 526
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 527
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 528
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 529
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 530
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 531
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 532
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 533
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 534
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 535
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 536
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 537
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 538
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 539
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 540