พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 528


    ตอนที่ ๕๒๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง การศึกษาธรรมเหมือนมีขั้นตอนในการศึกษา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะถ้าไม่ฟังจะรู้แจ้งสภาพธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ต้องฟัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มจากอะไร

    ผู้ฟัง ต้องเริ่มจากการฟัง การศึกษา

    ท่านอาจารย์ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปฏิบัติโดยไม่มีปริยัติได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ปฏิเวธ โดยไม่มีปฏิบัติได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่ละขั้นตอนเราจะพูดถึงสภาพธรรมโดยที่ไม่มีตัวเรา จะไม่มีตัวเราได้ก็เป็นขั้นประจักษ์ถึงขั้นพระโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ปัญญาแค่ไหน

    ผู้ฟัง ปัญญาแค่ปุถุชนธรรมดา

    ท่านอาจารย์ แค่ไหน

    ผู้ฟัง แค่ธรรมดา

    ท่านอาจารย์ อันธปุถุชนหรือกัลยาณปุถุชน รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเราไปคิดเรื่องอื่นมากมายแล้วเราจะเข้าใจว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นความจริง แต่ถ้ารู้ว่า ไม่รู้อะไร จึงฟัง ฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง หรือไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด ก็คือจะได้สนทนาให้รู้ว่า อะไรจริง อะไรถูก อะไรผิด

    ผู้ฟัง ถ้าเผิ่อเรายังไม่ประจักษ์แจ้ง ยังไม่รู้ว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเผื่อ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเผื่อ เรายังไม่รู้ ยังไม่สามารถละตัวตนได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะยังไม่ประจักษ์แจ้ง

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรจึงไม่ประจักษ์แจ้ง ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเป็นเหตุเป็นผลทั้งหมด ต้องมีเหตุ เพราะอะไรจึงไม่ประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง เพราะเรายังไม่รู้ตลอด ก็ยังมีตัวตนอยู่เรื่อยๆ เราก็ต้องเริ่มจากตัวตนเรา จนกว่าปัญญาจะเกิดถึงการละ

    ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรมเป็นตัวตนหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ พอฟังธรรมแล้วเข้าใจอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าไม่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ ขั้นเข้าใจ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ขั้นเข้าใจ แต่เราก็ยังไม่บรรลุ ไม่สามารถเข้าถึงได้

    ท่านอาจารย์ การศึกษามีกี่ขั้น พระธรรมที่ทรงแสดงมีแต่ปฏิเวธ การประจักษ์แจ้ง หรือว่าไม่มีปฏิปัตติ ไม่มีปริยัติ

    ผู้ฟัง ก็มีทั้ง ๓ ขั้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องเริ่มจากตัวเราตลอด เพราะเรายังไม่สามารถละตัวตนได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังทำอะไร

    ผู้ฟัง กำลังทำความเข้าใจธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังฟังเพื่อเข้าใจ เริ่มหรือยัง

    ผู้ฟัง เริ่มแล้ว

    ท่านอาจารย์ เริ่มรู้ว่า

    ผู้ฟัง เริ่มรู้ว่า ธรรมไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะหมดความสงสัย และความไม่รู้

    ผู้ฟัง อย่างการเจริญเมตตา เราบอกให้ปัญญาเจริญเมตตาเอง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีเมตตาไหม

    ผู้ฟัง มีบ้าง ไม่มีบ้าง

    ท่านอาจารย์ ขณะไหนเจริญ

    ผู้ฟัง ขณะคิดในทางกุศลบ้าง

    ท่านอาจารย์ พูดเป็นเรื่องๆ กำลังพูดเรื่องเมตตา ขณะนี้มีเมตตาไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเจริญอย่างไร

    ผู้ฟัง เมื่อมีเหตุ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่เรา แต่ฟังเข้าใจว่า เมตตาตรงกันข้ามกับโทสะ เพื่อปัญญาจะได้รู้ตามความเป็นจริง และสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้เกิดโทสะหรือเกิดเมตตา ไม่ใช่เรา ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้ว่า เมตตา คือความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูล ไม่ว่าใครด้วย ไม่เคยเห็นกันเลย เป็นเด็ก เป็นเล็ก เป็นผู้ใหญ่อายุมากอย่างไรก็ตามแต่ ก็สามารถที่จะเป็นเพื่อนได้ มีความหวังดีได้ เกื้อกูลได้ ตรงกันข้ามกับโทสะ ความไม่ชอบ ความขุ่นใจ ความผูกโกรธต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่ลักษณะของเมตตา เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้จริงๆ สามารถที่จะมีเมตตาเพิ่มขึ้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ก็ต้องเป็นเหตุหนึ่งที่จะทำให้เมตตาเจริญ ไม่ใช่เพราะไม่รู้อะไร ก็อยากเจริญเมตตา แล้วจะตั้งต้นอย่างไร เดี๋ยวตั้งต้นที่มั่นคง เดี๋ยวตั้งต้นที่เจริญเมตตาหรืออย่างไร

    ผู้ฟัง มั่นคงเมื่อสักครู่นี้ไม่ถามแล้ว จะถามว่า ถ้าหากมีข้ออ้างอยู่เรื่อยๆ ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องทำก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนพูดนั่นแหละเป็นเรา ไม่ใช่เป็นความเข้าใจธรรมเลย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง บางครั้งความโกรธก็เกิดขึ้น ก็พูดว่า เราไม่สามารถบังคับบัญชาได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่พูดนั่นก็คือเรา ไม่ใช่เข้าใจว่าเป็นธรรม จะพูดอะไรก็ได้ แต่ไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม ทั้งๆ ที่พูดว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่จะพูดว่าอย่างนั้นก็จริง แต่เราก็จะทำอย่างนั้น เราก็จะทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จะเป็นธรรมหรือเป็นเรา

    ผู้ฟัง ก็เป็นเราอยู่เรื่อย ก็ต้องพยายามเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังเพิ่มขึ้นว่าเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง จะมีความโน้มเอียงที่เอามาอ้างเรื่อยว่า ไม่ใช่เราๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นผู้ตรงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ต้องเป็นคนตรง

    ท่านอาจารย์ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ไม่เข้าใจธรรมโดยไม่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ไม่เข้าใจธรรม ก็คือ เวลาที่ฟังธรรมแล้วคิดเอง คิดเองนี่ไม่ได้หมายความว่าห้ามคิด ไม่มีใครห้ามคิดได้ แต่ความคิดตรงตามธรรมที่ได้ฟังหรือไม่ เวลาที่ได้ฟังธรรมแล้วเกิดระลึกถึงคำ หรือความเข้าใจจากการฟัง แล้วยังสามารถคิดตรงตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น รอบคอบขึ้น ละเอียดขึ้น ตามแนวของการฟังที่ถูกต้องที่ได้เข้าใจแล้ว นั่นไม่ผิด และไม่เป็นอุปสรรค แต่อุปสรรค ก็คือพอฟังธรรมแล้วนิดหน่อย คิดว่า เข้าใจแล้ว ตอนนี้คิดเองหมดเลยว่า แล้วตอนนี้เราควรทำอย่างไร แล้วเมื่อไรปัญญาเราจะเกิดขึ้น เราควรจะมีเมตตามากๆ นี่คือคิดเอง แต่ว่าคิดตามแนวทางที่ถูกต้องตามแนวทางที่ถูกต้องของธรรมที่ได้ฟังหรือไม่

    ถ้าคิดตามแนวทางของธรรมที่ได้ฟัง ก็รู้ว่า ขณะที่กำลังโกรธ มีปัจจัยเกิด ยังไม่รู้ลักษณะของโกรธก็ได้ แต่ก็สามารถที่จะระลึกถึงสิ่งที่ได้ฟังว่า สิ่งนี้มีจริง ลักษณะนี้เกิดเป็นอย่างนี้ตามเหตุตามปัจจัย คือ ตรงตามแนวทางของความถูกต้องของธรรม ไม่ใช่คิดว่า แล้วเราจะพยายามทำอย่างนี้ แล้วเราจะพยายามทำอย่างนั้น นั่นคิดเอง แต่ถ้าคิดตามความเข้าใจที่ได้เข้าใจ เวลาที่อกุศลธรรมเกิด ความไม่อภัยกับการอภัยซึ่งเป็นมหาทาน แม้ว่าจะให้ทานมากมายสักเท่าไรก็ตาม แต่ว่ายังมีความผูกโกรธ ยังมีความโกรธอยู่ ยังให้อภัยไม่ได้ ขณะนั้นไม่ใช่มหาทาน ทานก็เป็นทาน แต่ยังไม่ถึงมหาทาน เพราะฉะนั้น ศีลทั้งหมดเป็นมหาทาน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีความเข้าใจธรรม และไตร่ตรอง และเห็นประโยชน์ ขณะนั้นก็ทำให้สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้รู้ว่า อะไรควรคิด อะไรไม่ควรคิด และควรคิดอย่างไร ทุกคนอยากจะมีกุศล ไม่อยากจะหวั่นไหว ไม่อยากให้ตัวเองไม่เมตตา แต่ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม และเริ่มเห็นธรรมที่เกิดว่า เป็นสิ่งที่สะสมมาเลวร้ายแค่ไหน แล้วสามารถละความเลวร้ายนั้นได้อย่างไร ถ้าไม่มีการเข้าใจ และเห็นโทษของธรรมในขณะนั้น แต่ตรงกันข้ามไปคิดถึงสิ่งที่ยังไม่มี เราจะมีเมตตามากๆ เราทำอย่างไรถึงจะเมตตาคนนั้นคนนี้ นั่นคือคิด แต่ไม่ได้เข้าใจว่า ขณะนี้สภาพธรรมที่มี และจากการฟังมาแล้วสามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นด้วยปัญญาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเจริญ ความถูกต้องของความคิด แต่ว่าส่วนใหญ่พอฟังธรรมแล้วก็คิดเรื่องต่างๆ ตามการสะสมด้วยความเป็นตัวตน ซึ่งไม่ตรงตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็เลยไม่รู้ว่า นี่แหละทำให้ไม่เข้าใจธรรม เพราะพอเข้าใจนิดเดียว ก็เป็นตัวเราอีกมากมายที่คิดต่างๆ นานา เรื่องนั้นเรื่องนี้

    ผู้ฟัง เมื่อไรลักษณะของสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานจะเกิดขึ้นรู้ตรงลักษณะ ของรูปธรรม และนามธรรมที่ปรากฏ นี่เป็นอัธยาศัยจริงๆ

    ท่านอาจารย์ สมมติว่า คุณประทีปโกรธคุณบุษกร ใครจะคิดหรือว่าคุณประทีปจะเกิดคิดได้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ สังขารขันธ์ยังไม่ได้ปรุงแต่งจนถึงขณะที่จะระลึกได้ ไม่มีคุณบุษกร กำลังเห็นอย่างนี้ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า แม้ความจริงเป็นอย่างนี้ จะเลือกให้สังขารขันธ์ที่สะสมมาเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะถ้าไม่คิดอย่างนี้ ก็ไม่มีวันที่จะเกิดระลึกได้ แต่บางคนเขาคิดได้ พอเกิดโกรธ ระลึกได้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วเลยหายโกรธไปเลย ก็มีความเข้าใจธรรมอื่นที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    ด้วยเหตุนี้ การฟังธรรมเพื่อให้ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน แต่รู้ความจริงว่า สิ่งใดก็ตาม อกุศลหรือกุศลก็เกิดเพราะปัจจัย เกิดแล้วรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นธรรม ถ้ารู้ รู้ระดับไหน รู้ระดับที่โกรธเขาทำไม เสียเวลา เป็นโทษของเราเอง ถ้าเราตายขณะนี้ คนที่เราโกรธนี่ เขาสบายมากเลย แต่เรามีความโกรธไปด้วยถึงชาติหน้า เพราะเหตุว่า เราสะสมความโกรธในขณะนั้น เป็นการสะสมของแต่ละบุคคลซึ่งแลกเปลี่ยนกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะคิดอะไร สังขารขันธ์เนียนมาก รู้ไม่ได้เลยว่า ขณะไหนจะคิดอย่างไร จะทำอย่างไร จะพูดอย่างไร

    เพราะฉะนั้น การสะสมปัญญา ความเห็นถูก มีความมั่นคงว่า เป็นหน้าที่ของปัญญา และโสภณเจตสิกทั้งหลายซึ่งเกิดร่วมกัน ที่จะกระทำกิจของสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งแต่ละขณะที่จะเกิดต่อไป ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ที่สะสม ก็คือ สะสมความเห็นถูก สะสมความเข้าใจถูก และรู้ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม โดยไม่ต้องเตรียม ใครจะเกิดคิดขึ้นมาได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เมื่อมีปัจจัยปรุงแต่งที่จะเป็นขณะนั้นเกิดคิดอย่างนั้น ใครก็ยับยั้งไม่ได้ แทนที่จะนั่งคิดเตรียมการ แล้วเราจะทำอย่างนี้ แล้วจะเป็นอย่างนั้น เพราะแม้ขณะนั้นก็เป็นสังขารขันธ์ จะได้รู้จักตัวสังขารขันธ์ ได้ยินแต่คำว่า สังขารขันธ์ แต่ตัวสังขารขันธ์จริงๆ ทำหน้าที่ของสังขารขันธ์ทุกขณะพร้อมจิตที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ

    อ.ธิดารัตน์ กว่าที่จะมั่นคงอย่างที่ท่านอาจารย์แนะนำต้องฟันฝ่าอกุศล โดยเฉพาะโลภะ ซึ่งเป็นความหวังที่แทรกมาเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งทุกท่านก็คงจะต้องพบ จะมีความหวังเล็กๆ ธรรมที่หลอกลวงทำให้ดูเหมือนเราเป็นผู้ที่ใคร่ศึกษาหรือสนใจเรียน แต่จริงๆ มีอกุศลแฝงอยู่เสมอ แต่ละท่านมีเครื่องเนิ่นช้าตามการสะสมหลากหลายรูปแบบ ทั้งสีลัพพตปรามาส ด้วยโลภะบ้าง หรือบางทีเรียนๆ ไป ก็เรารู้ คนอื่นไม่รู้ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นเครื่องเนิ่นช้า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ขอเรียนท่านอาจารย์ช่วยทบทวน ขยายความสภาพธรรมที่เป็นเครื่องกั้นเหล่านี้ หรือเป็นเหตุที่ทำให้ทุกคนเนิ่นช้าอยู่กับอกุศลธรรม

    ท่านอาจารย์ ความไม่รู้นี่ยากหรือง่าย อวิชชา อะ แปลว่าไม่ วิชชา แปลว่า ปัญญาหรือรู้ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ไม่ยากเลย ไม่ต้องทำอะไรเลยทั้งสิ้นก็มีเป็นประจำ เพราะฉะนั้น ความรู้ต้องตรงกันข้าม ความรู้กว่าจะรู้ก็ต้องยาก ยากแสนยาก ถ้าไม่แสนยาก คงจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบ่อย และมาก แล้วก็เร็ว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย แล้วผู้เป็นสาวก ก็คือผู้ไม่ได้สะสมความใหญ่ถึงกับจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า หรืออะไรก็ตามแต่ เป็นแต่ผู้ที่สามารถเข้าใจธรรมที่แม้จะเป็นสาวกก็แสนยาก ที่กว่าจะได้รู้ความจริงของสภาพธรรม เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของเราหรือของใคร เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วก็คือว่า ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงในปัญญาว่าสามารถเข้าใจทุกอย่างได้ในสิ่งที่เคยไม่เข้าใจมาก่อน สามารถที่จะเห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งแม้เพียงฟัง กว่าจะรู้ว่า จริงอย่างนั้นก็ยังยากในขั้นการฟัง แต่เมื่อเป็นปัญญาแล้วสามารถรู้ความจริงทั้งหมดได้

    โลภะเป็นเรื่องที่เกิดเสมอ ยาก แล้วไม่รู้ตัวด้วย ติดไปหมดทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรจะปรากฏให้เห็นนิดเดียว ไม่รู้ และติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วก็รวมไว้ที่ใจ เพราะแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่เคยเห็นจำได้ ทางใจก็จะจำ เก็บทุกสิ่งทุกอย่างไว้แม้สิ่งนั้นไม่ปรากฏ หรือแม้ปรากฏเพียงเล็กน้อยก็ตาม ด้วยเหตุนี้ก็จะเห็นได้ว่า โลภะติดข้องทุกอย่าง เพราะอวิชชา เมื่อไรมีโลภะ เมื่อนั้นแสดงว่ามีอวิชชา เมื่อไรมีโทสะ เมื่อนั้นก็มีอวิชชา หรือแม้ไม่มีโลภะ โทสะ ก็ยังมีอวิชชา

    เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงอวิชชาซึ่งรู้ยากกว่าโลภะ และโทสะ พอเกิดพอใจ เห็นอวิชชา หรือว่าเป็นโลภะ โลภะ พอเกิดไม่ชอบใจ เห็นโทสะหรือเห็นอวิชชา ก็เห็นโทสะ ก็จะเห็นได้ว่า โลภะเกิดมากกว่าโทสะหรือเปล่า วันหนึ่งๆ ใครเป็นคนขี้โมโหบ้าง ใครเป็นคนหงุดหงิดบ้าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังน้อยกว่าโลภะ ไม่มีทางเทียบได้กับโลภะ เพราะเหตุว่า โทสะยังไม่แนบเนียนเท่ากับโลภะ เกิดไม่รู้ตัวเลย เป็นความติดข้องที่ชิน เพราะชินจึงไม่รู้ถึงความผิดปกติ แต่เวลาที่โทสะเกิดกระทบจิต ปฏิฆะ ทำให้สามารถที่จะรู้ถึงความต่างหรือความเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมที่มีอยู่ตามปกติ เป็นอีกลักษณะหนึ่งซึ่งขุ่นเคือง แม้เพียงขุ่นใจนิดเดียว ก็ต่าง จนกระทั่งสามารถปรากฏให้เห็นว่า ไม่ใช่ปกติ ไม่ใช่อย่างที่เคยติดข้องซึ่งเป็นพื้นอยู่แล้ว

    แม้โลภะ จะติดข้องทุกอย่าง แต่ปัญญาสามารถเห็นโลภะตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเลย สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก แล้วปัญญาก็จะทำหน้าที่ของปัญญา กุศลทั้งหลายก็ไม่ต้องห่วง เมื่อมีปัญญา แล้วปัญญาจะเห็นไหมว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล เมื่อเห็นจริง ก็สามารถที่จะละอกุศล และกุศลทั้งหลายก็เจริญขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ตัวเราอยากจะมีอกุศลน้อย แล้วอยากมีกุศลมาก อยากจะมีปัญญามาก นั่นคือความไม่รู้ซึ่งตรงกันข้ามกับปัญญา

    ถ้าเข้าใจที่ถูกต้องว่า ปัญญาสามารถเห็นถูกต้องในสิ่งซึ่งอวิชชาไม่สามารถที่จะเห็นได้อย่างนั้นได้เลย จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม มีนิพพานเป็นอารมณ์ ดับกิเลสได้ กิเลสที่ดับด้วยโลกุตตรจิต ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนละคลายความเป็นตัวตน ดับกิเลสถึงอนุสัย ไม่มีทางที่กิเลสนั้นๆ จะเกิดอีกได้เลย อย่างวันหนึ่งๆ เรารู้ไหม ว่าเรามีมานะ ถ้ามานะไม่เกิด ไม่รู้ แต่มี พร้อมที่เมื่อมีปัจจัยเมื่อไร ก็เกิด บางคนเกิดแล้วก็ยังไม่รู้ด้วย เพราะขณะนั้นไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นมานะ ก็มีมานะเพิ่มขึ้นได้ และไม่รู้ตัว บางคนเป็นผู้ที่มีทานุปนิสัย ให้ทาน หรือ สีลุปนิสัย กายวาจาดี ไม่ทำความเดือดร้อนเบียดเบียนใคร แต่มานะมีหรือไม่ รู้หรือไม่ เพราะฉะนั้น มานะถึงความเป็นอรหัตตมรรคจึงดับได้ ในเมื่อทิฏฐิ ความเห็นผิด โสตาปัตติมรรคจิตก็ดับเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีอยู่ในจิต ติดแน่น หนามาก สิ่งที่แน่นมาก ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่สามารถที่จะถึงสิ่งที่ติดอยู่ในจิต ซึ่งเป็นอนุสัย ซึ่งไม่ปรากฏให้เห็น แต่ยังไม่ได้ดับ มีพื้น แม้ขณะที่กุศลจิตเกิด อนุสัยก็ยังอยู่ เพราะเหตุว่า ต้องเป็นปัญญาที่ถึงความเป็นโลกุตตระ เป็นพระอริยบุคคล จึงสามารถดับอนุสัยได้ ดับอนุสัย หมายความว่า ดับกิเลส พืชเชื้อของกิเลส ซึ่งกิเลสนั้นๆ จะเกิดอีกไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เกิดเป็นเทวดา เป็นเทพ หรือเกิดเป็นพรหม เกิดที่ไหนก็ตามแต่ กิเลสนั้นๆ เกิดอีกไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ใครจะสามารถแสดงความจริงที่จะทำให้ถึงการดับอนุสัยกิเลสได้ เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่ผู้รู้จริง ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถอุปการะสัตว์โลกให้ค่อยๆ สะสมความเห็นถูก และปัญญา จนสามารถดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นกุศลจิต ไม่ใช่เพียงขั้นเป็นไปในทาน ศีล แต่ต้องถึงความสงบยิ่ง ถึงขั้นอรูปพรหม ก็ไม่ใช่ธรรมเตชะ หรือธรรมเดช ที่สามารถที่จะเผาหรือดับอนุสัยกิเลส หรือกิเลสทั้งหลาย เมื่ออนุสัยกิเลสดับหมด ไม่มีทางที่กิเลสใดๆ จะเกิดขึ้นได้เลย

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นจริงๆ ว่า ถ้ามีความมั่นคงในความเห็นถูก ในเรื่องปัญญา เป็นหนทางเดียวที่จะละความติดข้องได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นธรรม ไม่ใช่พออกุศลเกิดก็เดือดร้อน จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ โดยไม่รู้ว่า เป็นธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง การที่เราบำเพ็ญทาน ศีล และภาวนาด้วยการศึกษาพระธรรม เราทำโดยมีสักกายทิฏฐิ คือ มีตัวเราอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะละก็ละไม่ได้ เพราะว่ายังใช้ตัวเราในการเดินทางมาฟังธรรม มาสนทนาธรรม เราก็ละสักกายทิฏฐิไม่ได้ เป็นอันว่า ชาตินี้ก็หมดหวังแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่มีปัญญาเลยหรือ

    ผู้ฟัง มีปัญญา

    ท่านอาจารย์ แล้วมีเพิ่มขึ้นได้ไหม

    ผู้ฟัง เพิ่มขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมถึงจะหมดหวัง ถ้าไม่หวังจะหมดหวังไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่หวังก็ไม่หมดหวัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แล้วแต่ปัจจัย ถ้ามีปัญญา ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงได้

    ผู้ฟัง เมื่อหมดหวังแล้วก็ทำให้เกิดท้อแท้

    ท่านอาจารย์ คำพูดของคุณรักษ์แสดงถึงความหนาแน่นของความเป็นตัวตน พูดแค่ไหนก็คือ แสดงถึงความหนาแน่นของความเป็นตัวตนแค่นั้น ถ้ายังไม่หมดหวัง ก็คือฟังต่อไป ความเป็นตัวตนก็น้อยลงกว่าคิดว่าหมดหวังแล้วท้อแท้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ แม้แต่การทานบำเพ็ญทานในตอนเช้า ใส่บาตร ถ้าพระมาไม่ทันหรือไม่มา เราก็หมดหวังที่จะทำทาน ก็เป็นตัวเราอีก

    ท่านอาจารย์ หวังในทาน

    ผู้ฟัง เราก็ไม่ได้ใส่บาตรตอนเช้า ก็มีปฏิฆะว่า ทำไมพระไม่มา เราก็ไม่ได้ใส่บาตร

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่ได้ฟังอยู่ที่ไหนหมด ไม่มีปัจจัยที่จะเกิดได้เลย เพราะว่ามีน้อย แต่ถ้ามีมาก ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็เป็นธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    24 ก.ย. 2567