พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 485
ตอนที่ ๔๘๕
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ท่านอาจารย์ ขณะนี้โดยการฟัง ทุกคนทราบว่า สภาพธรรมเกิดดับ แต่ไม่ประจักษ์ เพราะอะไร เพราะไม่รู้ความจริงว่า เมื่อไม่เห็นแล้ว อะไรเกิดต่อ เสียงปรากฏหมดแล้ว อะไรเกิดต่อ
ผู้ฟัง คิดนึก
ท่านอาจารย์ คิดนึก จิตอะไรคิด
ผู้ฟัง วิตก
ท่านอาจารย์ จิต เป็นจิตอะไร
ผู้ฟัง เป็นเจตสิกที่คิด
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่คิด แล้วเราก็พูดแต่เรื่องกุศลจิต อกุศลจิต แต่รู้ลักษณะของกุศลจิต และอกุศลจิตหรือไม่ แสดงให้เห็นว่าอย่างนี้ จะเป็นพระโสดาบันบุคคลได้หรือไม่ ไม่ได้ แต่เมื่อสามารถอบรมเจริญปัญญา จนรู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหมด ไม่เหลือเลย ไม่มีความสงสัยในธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร เช่น บางกาลจะเป็นจิตที่นิ่ง ตั้งมั่นในอารมณ์ ถ้าปัญญาไม่พอ คืออะไร? บางคนก็อาจจะ ชื่ออะไร? อยากจะรู้ว่า ธรรมนั้นเรียกว่าอะไร แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นเราอยู่ จึงไม่ละ เพราะเหตุว่าแม้สิ่งที่กำลังตั้งมั่นคงอย่างนั้น ก็เกิดแล้วดับ
เพราะฉะนั้น เมื่อมีธรรมที่สงสัย นึกถึงอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การรู้แล้วละ สภาพธรรมนั้นจึงไม่สามารถปรากฏการเกิดขึ้นแล้วดับไปได้ ด้วยเหตุนี้ก็จะเห็นตัวสมุทัยว่า ไม่ต้องไปหาที่อื่นเลย แต่ทั้งหมดที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ปัญญาเท่านั้นที่สามารถ ที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของธรรมนั้นได้ จนกระทั่งหมดความสงสัย จนกระทั่งสามารถคลายการยึดถือสังขารขันธ์ที่เกิดดับน้อมไปสู่ธาตุที่ไม่เกิดดับ นี่ก็เป็นเรื่องของปัญญาที่อบรมเจริญขึ้น แต่ให้ทราบว่า เพียงดับความสงสัย และความเห็นผิดว่าธรรมเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังไม่ใช่พระสกทาคามีบุคคล ยังไม่ใช่พระอนาคามี ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงเพราะเป็นผู้ตรง รู้ว่าอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะดับความสงสัยในสภาพธรรม แต่ก็มีปัจจัยที่สภาพธรรมที่สะสมมาที่จะเกิดขึ้นเป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ ไม่ได้เข้าใจผิด ลูกเป็นลูกแต่เป็นธรรม มารดาเป็นมารดาแต่ก็เป็นธรรม ที่คิดก็เป็นธรรม
ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่าเป็นเครื่องวัดใจที่จะพิสูจน์ว่า ในชีวิตประจำวันขณะที่ลูกเราป่วย ขณะนั้นเป็นธรรมหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ วัดใจขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏ กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิด วัดใจเมื่อมีเหตุการณ์ที่จะต้องตัดสินตามที่เกิดมามีหน้าที่ที่จะต้องกระทำ ขณะนั้นกุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด มีความมั่นคง ถ้ามีความเข้าใจมากขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้กุศลประเภทต่างๆ เจริญขึ้นด้วย
ท่านอาจารย์ ผมเป็นพนักงานต้อนรับของโรงแรม ผมจะยิ้มแย้มร่าเริงทักทายลูกค้า แขกจะติดผม แต่ผมรู้ตามความเป็นจริงว่า ผมไม่ได้ทำด้วยความเมตตา ผมรู้ว่าไม่มั่นคงในกุศล ผมรู้ว่าผมต้องทำอย่างนี้ เพื่อให้มีแขกมาพักในโรงแรมมากๆ ให้เราอยู่ได้นานๆ
ท่านอาจารย์ และถ้ารู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล แล้วเห็นความต่างของกุศล และอกุศล อะไรดีกว่ากัน จริงใจ เมตตาจริงๆ ได้ แทนที่จะเหมือนเมตตา แต่ไม่ใช่เมตตา
ผู้ฟัง แต่โดยความเป็นจริง ทุกคนชอบคนร่าเริง ยิ้มแย้ม มากกว่าเมตตา
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ไม่จริงสามารถรู้ได้ โดยคนนั้นคิดว่า คนอื่นไม่รู้ อย่าหลอกใคร เพราะจริงๆ แล้ว ผู้มีปัญญาสามารถรู้ได้ว่าการกระทำนั้นจริงใจหรือไม่ หรือเพื่อประโยชน์อะไร มิฉะนั้นพระโพธิสัตว์จะไม่รู้ลักษณะของอกุศลทั้งปวง เพราะเคยเป็นอย่างนั้นมาแล้ว
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในกุศล และเชื่อว่ากุศลเท่านั้นนำประโยชน์สุขมาให้
ท่านอาจารย์ อย่างคุณนิรันดร์ไม่จริงใจ เวลาไปเจอคนไม่จริงใจ จะรู้หรือไม่
ผู้ฟัง รู้
ท่านอาจารย์ เห็นไหมทำไมรู้ เพราะตัวเองเคยไม่จริงใจ
ผู้ฟัง แต่ผมไม่ได้ไม่จริงใจทั้งหมด ส่วนหนึ่งก็มีเมตตา แต่ผมเพิ่มความร่าเริง เป็นคนสนุกสนาน ทุกคนชอบอย่างนี้
ท่านอาจารย์ มีบุคคล ๒ คน คนหนึ่งร่าเริง สนุกสนาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ใครอยู่ใกล้ก็พลอยเป็นสุขด้วย กับอีกคนหนึ่ง หน้าที่ ร่าเริง ต้อนรับยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ไม่จริงใจ ๒ คนนี้มีความต่างหรือเปล่า และใครรู้ ตัวเองรู้ก่อน ใช่หรือไม่ แล้วตัวเองรู้ก่อน แล้วคนอื่นเขาทำคล้ายๆ อย่างเรา จะรู้หรือไม่ว่าเขาไม่จริงใจ เพราะเราก็เป็นอย่างนั้นมาแล้ว ใช่หรือไม่ จึงรู้ว่า คนอื่นกำลังเป็นอย่างนั้น อย่างที่เราเคยเป็นนั่นเอง
ผู้ฟัง ถ้าเราจริงใจ แล้วแขกเขาไม่มาพัก เขาต้องการความร่าเริง เขาไม่ต้องการความจริงใจ
ท่านอาจารย์ ร่าเริงแล้วจริงใจไม่ได้หรือ มีคนชอบ คนที่ร่าเริงเท่านั้นหรือ แม้คนที่ร่าเริงแต่ไม่จริงใจ คนอื่นชอบหรือเปล่า
ผู้ฟัง ก็ชอบด้วย
ท่านอาจารย์ แล้วจะเป็นคนอย่างไหน วัดใจว่าจะหลอกลวง เป็นโลภะ เพราะต้องการประโยชน์ เป็นคนที่ติดในในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในลาภสักการะ หรือเป็นคนที่ไม่หวั่นไหว เป็นคนดี ตรง จริงใจ ใครจะรักหรือไม่รัก ความผิดของเราหรือ ในเมื่อเราจริงใจ ดี และเป็นมิตร ถ้าใครจะไม่ชอบ ไม่ใช่ความผิดของเราเลย ไม่ใช่ว่าเราต้องเปลี่ยนเป็นคนไม่ดี เพื่อให้คนอื่นชอบ นั่นคือไม่จริงใจ และถูกลวงด้วย และเป็นอกุศลด้วย เพราะฉะนั้น แต่ละคนสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในธรรมมากน้อยแค่ไหน วัดได้จากการ กระทำ และคำพูดทุกวันนี้ คุณนิรันดร์มาที่นี่ วัดใจว่า สนใจที่จะเข้าใจธรรมมากกว่าไปที่อื่นจึงมา วัดใจแล้วใช่หรือไม่
ผู้ฟัง ผมก็ต้องนำที่ท่านอาจารย์ได้แนะนำไปพิจารณาถึงความจริงใจ
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความดี ความจริงใจ ไม่ต้องหวั่นไหวเลย ใครจะรักจะชัง ไม่เดือดร้อน
ผู้ฟัง ผมฟังธรรมแล้วสงสัยว่า พระพุทธเจ้ามักจะตรัสกับพระภิกษุอยู่เสมอว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อรูปไม่เที่ยงแล้ว ควรหรือที่จะยึดถือรูปที่ไม่เที่ยงนั้นว่าเป็นเรา ภิกษุตอบว่า ไม่ควรพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องสติปัฏฐานให้เข้าใจ ภิกษุก็อบรม เวลาสนทนากับท่านอาจารย์ มาฟังธรรม ท่านอาจารย์ก็กล่าวกับผู้ฟังอยู่เสมอว่า เป็นธาตุ เป็นสภาพธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสกับภิกษุ หรือท่านอาจารย์จะพูดกับผู้ฟัง ก็เหมือนกัน ผมจึงอยากถามว่า ด้วยจุดประสงค์อะไรที่พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุอย่างนั้น และท่านอาจารย์ก็กล่าวเหมือนกัน จุดประสงค์เพื่อให้เข้าใจอะไร
ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เริ่มแรก ผู้นั้นไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่ออะไร
ผู้ฟัง เพื่อฟังธรรม
ท่านอาจารย์ อย่าลืม เพื่อฟังธรรม สนทนาธรรม พระพุทธเจ้าตรัสถามเรื่องอะไร
ผู้ฟัง เรื่องจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ท่านอาจารย์ มีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ ถามถึงสิ่งที่มีจริง หรือสิ่งที่ไม่มีจริง
ผู้ฟัง สิ่งที่มีจริง
ท่านอาจารย์ แล้วคนที่จะเข้าใจความจริงได้ เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง หรือสิ่งที่ไม่มีจริง
ผู้ฟัง เข้าใจสิ่งที่มีจริง
ท่านอาจารย์ ควรหรือไม่ที่จะพูดถึงเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ผู้ฟัง ควร
ท่านอาจารย์ เมื่อควรแล้วก็พูด มิฉะนั้นแล้วเสียเวลาจริงๆ ตั้งหลายชั่วโมงแล้ว แล้วไม่ได้เข้าใจอะไรตรงตามความเป็นจริง จะเสียเวลาหรือไม่
ผู้ฟัง เสียเวลา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะไม่เสียเวลาก็คือพูดเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น กำลังเห็น จะให้พูดเรื่องอะไรดี
ผู้ฟัง ก็พูดเรื่องกำลังเห็น
ท่านอาจารย์ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ควรจะพูดเรื่องอะไรดี
ผู้ฟัง พูดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา
ท่านอาจารย์ มีเสียงปรากฏ ควรพูดเรื่องอะไร
ผู้ฟัง พูดเรื่องเสียงที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ มีได้ยิน ควรพูดเรื่องอะไร
ผู้ฟัง พูดเรื่องได้ยิน แต่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราเข้าใจผิดมาตลอดว่า เป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องฟัง แล้วพิจารณาไตร่ตรองว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จริง ถูกต้องหรือเปล่า
ผู้ฟัง เพื่อให้เข้าใจว่า เห็นถูกตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ นั่นคือความเห็นถูก หรือภาษาบาลี จะใช้คำว่า ปัญญา หรือจะใช้คำว่า สัมมาทิฏฐิก็ได้
ผู้ฟัง ธรรมนั้นน่าอัศจรรย์ตรงไหน เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมา ๔ อสงไขยแสนกัป แต่ละชาติก็ลำบากอย่างมาก มีความตั้งใจจริงที่จะมาแสดงธรรม แต่เมื่อได้ทรงแสดงแล้ว พระธรรมที่ทรงแสดงแล้วเป็นสิ่งที่ธรรมดา เป็นเห็น เป็นได้ยิน เป็นได้กลิ่น เป็นคิดนึก เป็นดีใจ เป็นเสียใจ เป็นเมตตา เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง สิ่งเหล่านี้ไม่แปลกประหลาด หรือน่ามหัศจรรย์อะไรเลย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ผมจึงถามว่า แล้วอย่างนี้ ธรรมนั้นน่าอัศจรรย์ตรงไหน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธัมมเตชะ ไม่เคยรู้ความจริง ก็รู้ความจริงได้ น่าอัศจรรย์หรือไม่ ถ้าจะกล่าวธรรมดาก็เหมือนกับว่า โง่มาเสียตั้งนาน กว่าจะรู้ กว่าจะค่อยๆ ฉลาดขึ้น แม้ว่าจะเป็นคำที่ไม่เหมาะสม เพราะว่าจริงๆ แล้ว ท่านอาจจะใช้คำว่า เขลา ไม่ฉลาด นานแสนนานมาแล้ว ก็เริ่มเข้าใจถูก เห็นถูกขึ้น น่าอัศจรรย์หรือไม่ ไม่รู้กับ รู้นี่ตรงกันข้ามกันเลย น่าอัศจรรย์จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ ความจริงที่ตรัสตามที่ได้ทรงตรัสรู้ คือ การเกิดขึ้นแล้วดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ ซึ่งเร็วสุดที่จะประมาณได้ แล้วก็หลากหลายมาก เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาในแสนโกฏิกัปป์ นับมาจนถึงขณะนี้ ไม่ใช่รูปเดียวกันเลย เป็นแต่ละรูปซึ่งต่าง ต่าง ต่างกันไปตามสมุฏฐาน รูปเมื่อวาน เห็นแล้วดับแล้วหมดแล้ว รูปวันนี้ก็ไม่ใช่รูปเมื่อวานนี้ เสียงเมื่อวานนี้ก็เกิดแล้วดับแล้ว เสียงวันนี้ก็มาใหม่อีก ดับไปอีก
เพราะฉะนั้น น่าอัศจรรย์ในความหลากหลายของธรรม ประมาณกำหนดจำนวนไม่ได้ จึงประมวลเรียกว่า “ขันธ์” หมายความว่า รูปขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปใดใด เลว ทราม ประณีต ใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด เป็นลักษณะของรูป เป็นรูปขันธ์เท่านั้นทั้งหมด ไม่สามารถที่จะกล่าวถึงความหลากหลายของรูปธรรมได้หมด เพราะว่าแสนโกฏิกัปป์มาแล้วก็ไม่ใช่รูปเดี๋ยวนี้ และรูปขณะนี้ ก็ไม่ใช่รูปต่อไปข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น ก็มีรูปอีกมากมายไปเรื่อยๆ กล่าวไม่จบ ไม่หมด ก็คือรูปนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเสียง ก็หลากหลายไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เป็นรส ก็หลากหลายไปทั้งนั้น จนแม้กระทั่งความรู้สึก หรือสัญญา ความจำ หรือความคิด หรือจิต ทั้งหมดนี้หลากหลายมาก น่าอัศจรรย์ไหม ใครทำให้เกิดขึ้น ไม่มีใครทำ มีปัจจัยก็เกิด เกิดก็ต่างกันไปอีก น่าอัศจรรย์มาก นอนหลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วเสียงปรากฏได้อย่างไร ถ้าไม่มีโสตปสาท ไม่มีรูปที่สามารถกระทบเสียง หรือว่า แม้เมื่อมีรูปนั้น มีเสียง ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นได้ยิน เสียงไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น แม้แต่เสียงเดี๋ยวนี้ ซึ่งดูธรรมดา แต่การปรากฏที่จะรู้ว่า มีเสียงได้ ก็ต่อเมื่อมีจิตที่เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ที่เกิดขึ้นได้ยิน น่าอัศจรรย์ในธาตุนี้หรือไม่ ใครทำให้เกิดขึ้น ใครบังคับให้เกิดขึ้น ใครบอกให้เกิดขึ้นมารู้ ใครบอกให้เกิดขึ้นมาเห็น ใครบอกว่าให้เกิดขึ้นมาได้ยิน ไม่มีใครทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น เป็นความเป็นไปของธาตุทั้งหมด น่าอัศจรรย์ในความเป็นธาตุ รูปธาตุน่าอัศจรรย์หรือไม่ แต่นามธาตุ น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่า
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า เป็นความน่าอัศจรรย์ของสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง และบอกว่า ในความน่าอัศจรรย์ ท่านอาจารย์บอกว่า จากการที่ไม่เคยรู้มาก่อน โง่เขลามาก่อน
ท่านอาจารย์ นั่นคือธัมมเตชะ พระพุทธวจนะ พระธรรมที่ทรงแสดง สามารถทำให้ธาตุที่ไม่รู้ ค่อยๆ หมดสิ้นไป แล้วมีธาตุที่รู้ถูก เข้าใจถูกเพิ่มขึ้น จากธาตุเลวจนกระทั่งไปสู่ธาตุที่ประณีตได้
ผู้ฟัง นี่คือความน่าอัศจรรย์ของธรรม
ท่านอาจารย์ ใครทำได้
ผู้ฟัง หมายถึงอะไร ใครทำได้
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่น่าอัศจรรย์ ก็หมายความว่า ใครๆ ก็ทำให้เป็นอย่างนั้นได้ แต่น่าอัศจรรย์ เพราะใครๆ ก็ทำไม่ได้ ไม่มีใครสามารถทำได้เลย เพราะเป็นความเป็นไปของธรรม
ผู้ฟัง ธรรมก็เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์
ท่านอาจารย์ ก็ลองคิดดู ถ้ามีแต่รูปธรรม สบายเลย ไม่มีใครเดือดร้อนเลยทั้งสิ้น ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่คิด ไม่นึก ไม่จำ ไม่อะไรเลย แต่เป็นไปได้หรือไม่ เมื่อเป็นไม่ได้ ก็น่าอัศจรรย์ที่ทำไมธาตุอย่างนี้จึงต้องเกิดมีขึ้นด้วย ไปห้ามไม่ให้มีก็ไม่ได้ มี สิ่งใดที่มี ไปห้ามไม่ให้มี ไม่ได้ สิ่งใดที่เป็นอย่างนี้ จะห้ามไม่ให้เป็นอย่างนี้ ก็ไม่ได้ แล้วยังน่าอัศจรรย์จนกระทั่งสามารถดับนามธาตุนี้ได้ด้วยธัมมเตชะ พระธรรมที่ทรงแสดงให้เกิดปัญญา ความเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงสภาพธรรม
ผู้ฟัง การได้ยินได้ฟังธรรม ที่เป็นความจริง ก็เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์
ท่านอาจารย์ เป็นลาภอันประเสริฐ อยากได้อะไรมากที่สุด
ผู้ฟัง ความเข้าใจถูก เห็นถูก
ท่านอาจารย์ มั่นคง สัจจะ จริงใจ อดทน
อ.กุลวิไล สิ่งที่เป็นของจริง ๔ อย่าง อย่างแรก นี้ทุกข์ นี้ธรรม ถ้าเป็น นี้ทุกข์ เราอาจจะไปคิดแค่ทุกข์กาย ทุกข์ใจ แต่ถ้าเป็นธรรมแล้ว ก็ไม่มีเรา กราบเรียนท่านอาจารย์ถึงความเข้าใจถูกว่า ธรรมไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์ ก็เหมือนเรื่องซ้ำ แล้วจะไม่ซ้ำได้อย่างไร ไม่ว่าจะพูดเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ซึ่งมีจริงๆ แล้วจะให้ฟังเรื่องอื่น หรือฟังเรื่องจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะเหตุว่าวันนี้ฟังธรรมแล้วคิดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง ฟังเรื่องธรรมจริง เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป มีความเข้าใจขึ้น แต่ว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้เห็นประโยชน์ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังปรากฏจริงๆ หรือยังเพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ความลึกซึ้งของพระธรรมก็คือว่า ได้ยินคำสอน ดูเหมือนว่าไม่ยากเลย ขั้นฟัง แต่ว่า ที่จะให้รู้จริงๆ อย่างนั้นต้องอบรมนานมาก เพราะเหตุว่าแม้ในขณะนี้ที่กำลังฟัง ก็ไม่พ้นจากพูดเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ กำลังเห็น จะรู้ความจริง นี้ทุกข์ เห็นนี้ทุกข์ ไม่ใช่อย่างอื่นที่กำลังทุกข์
เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงการที่จะกล่าวได้จริงๆ ว่า นี้ทุกข์ ก็คือว่า มีการเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขั้นฟัง แล้วคิดอะไร มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏในขั้นฟัง แล้วคิดอะไร วัดใจ วัดปัญญา วัดการสะสมของการฟังเนิ่นนานมาแล้วว่า เมื่อได้ยินอย่างนี้แล้วคิดอะไร วัดทันทีเลย แต่ไม่ได้วัด เพราะคิดแล้ว คิดอะไรก็ไม่รู้ แล้วคิดขณะนั้น คิดเรื่องอะไร เรื่องที่คิด เกิดขึ้นเอง หรือตามการสะสม ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมเลย ก็จะคิดแต่เรื่องอื่นตลอด แต่โอกาสที่จะคิดเรื่องธรรมน้อยกว่า แล้วโอกาสที่จะคิด ที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏก็น้อยด้วย และถึงขณะกาลที่กำลังเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะจริงๆ โดยไม่คิด ใช่หรือไม่ เพราะขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจลักษณะที่ปรากฏ โดยไม่คิด ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ จะเห็นความรวดเร็วของอวิชชา และวิชชา เวลาที่เห็นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เมื่อเห็นดับไปแล้ว ต่อจากนั้นก็คือ ปกติอกุศล จะให้มีปัญญารู้อย่างที่กล่าว คือ ในขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ในขณะนี้ ทีละเล็กทีละน้อย นั่นคือขณะที่ยาก แต่สามารถค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จากการฟังแล้วฟังอีก ก็ไม่ใช่ฟังเรื่องอื่น ก็ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ แล้วจะรู้ความต่างกันของความหมายที่ว่า หลังเห็นแล้วเป็นอกุศล กับหลังเห็นแล้วเป็นกุศล มิฉะนั้นอะไรจะทำให้ความรวดเร็วของการเห็น ซึ่งดับแล้ว และปัจจัยที่สะสมมามาก ที่จะไม่รู้ ที่จะไม่คิดถึง ที่จะไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงมาก และเร็ว ยับยั้งไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น พอถึงโอกาสที่เห็นดับ มีความติดข้อง หรือมีความไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ใครรู้บ้างว่าเป็นอย่างนั้น เพราะแม้สิ่งนั้นเกิดแล้วดับไปก็หมดไปอย่างรวดเร็วมาก แล้วกำลังได้ยิน ได้ฟังอยู่อย่างนี้ ก็รู้ว่า แม้ความจริงเป็นอย่างนั้น ปัญญาสามารถที่จะอบรมจนกระทั่งเห็นถูกตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น มรรคมีองค์ ๘ เป็นทางเอก คือ เป็นทางเดียวที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์ หมดจดพ้นจากกิเลสได้ ก็คือ มรรคองค์ที่ ๑ สัมมาทิฏฐิ มักจะข้ามไป ไปคิดถึงสมาธิ ไปคิดถึงอะไรๆ ด้วยความเป็นตัวตนที่อยากจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ลืมว่า ความเห็นถูกในสภาพธรรมเท่านั้นที่อบรมจนสามารถที่จะเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ยิ่งขึ้น จึงจะทำให้คลายความติดข้อง ความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทีละน้อย และเป็นผู้ที่ตรง มิฉะนั้นจะไม่ได้สาระจากการฟังพระธรรมเลย
เพราะฉะนั้น เป็นผู้ตรงที่ว่า แม้ฟังอย่างนี้ ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่อง นี้ทุกข์ ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องอริยสัจธรรม แต่ขณะใดที่ขุ่นเคือง รู้ไหมว่าเป็นธรรม จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นทุกข์ได้หรือไม่ ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าทุกข์ของธรรม คือ เกิดแล้วดับ ไม่ใช่ทุกข์ของใครเลย แต่เป็นทุกข์ของธรรมซึ่งเป็นธรรมทั้งหมด การฟังก็คงจะไม่ลืมว่า เพื่อมีความเห็นถูก อบรมความเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้เท่านั้น จึงได้ถามว่า พอฟังแล้วคิดอะไร คิดอย่างนี้หรือเปล่า หรือคิดอย่างอื่น หรือคิดอยากจะรู้ หรือหาทางอื่นที่จะรู้ ซึ่งผิดเลย หมายความว่า ไม่ได้ฟังด้วยความเข้าใจ ด้วยความอดทนที่จะรู้ว่า ขณะนี้ธรรมคือสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่เป็นอื่น และความจริงของธรรม ก็คือเกิดขึ้นแล้วดับไป ซึ่งขณะนี้จากการฟัง สามารถมีความเห็นถูกว่า เห็น ไม่ใช่ได้ยิน สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่เสียง แค่นี้ไม่พอ เข้าใจถูกเล็กน้อย ยังไม่ถึงการประจักษ์แจ้งจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มรู้จริง ก็ต้องอบรม วิริยะ ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น แต่ขณะที่เห็นประโยชน์ ไม่ละเลย แล้วมีการฟัง มีการละความไม่รู้ จนกระทั่งเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 481
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 482
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 483
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 484
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 485
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 486
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 487
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 488
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 489
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 490
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 491
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 492
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 493
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 494
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 495
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 496
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 497
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 498
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 499
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 500
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 501
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 502
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 503
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 504
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 505
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 506
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 507
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 508
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 509
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 510
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 511
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 512
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 513
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 514
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 515
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 516
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 517
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 518
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 519
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 520
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 521
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 522
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 523
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 524
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 525
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 526
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 527
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 528
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 529
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 530
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 531
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 532
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 533
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 534
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 535
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 536
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 537
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 538
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 539
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 540