พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 533


    ตอนที่ ๕๓๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง แต่การศึกษาพระไตรปิฎกเป็นการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ วันก่อนกับวันนี้เข้าใจต่างกัน เพิ่มขึ้นหรือไม่

    ผู้ฟัง เพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะการสะสม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะแนะนำอย่างไร ในเมื่ออารมณ์นั้นรบกวนอยู่เรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ก็เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ก็เพียงให้รู้ว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏ รู้จักตัวธรรมจริงๆ ไม่ใช่เรียกชื่อ

    ผู้ฟัง แล้วอะไรจะเกิด ก็ปล่อยมันไปหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ใครปล่อย ตัวตนทั้งนั้นเลย

    ผู้ฟัง หมายความว่า

    ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจ ต่อไปนี้ไม่ต้องทำอะไร อะไรจะเกิดขึ้นก็คือฟังแล้วเข้าใจขึ้น ทำอะไรไม่ได้เลย ไม่สบายใจเกิดแล้ว จะทำอย่างไร เกิดแล้ว แล้วความจริงก็ดับไปแล้วด้วย แต่ไม่รู้ จึงควรรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นเพียงสิ่งที่เกิดแล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ศึกษาธรรมแล้วหนักอกหนักใจ บางครั้งก็ไม่อยากจะไปรู้มัน ไม่อยากให้หนักอกหนักใจ

    ท่านอาจารย์ สู้เป็นเราไม่ได้ เป็นเราแล้วก็หนักใจอีกทุกวัน เพราะเป็นเรา

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็แนะนำว่า ก็ต้องฟังต่อไป รู้ต่อไป

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจกับเข้าใจ ก็รู้ใช่ไหม ถ้าไม่ฟังอีก ก็ไม่เข้าใจอีกแน่นอน แต่ถ้าฟังอีกก็เข้าใจอีกเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง เวลาที่หนักอกหนักใจ

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิด

    ท่านอาจารย์ ดับหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตอนนี้สลับกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เกิดดับไม่ใช่เรา บังคับได้ไหมว่า ไม่ให้เกิด ฟังจนกว่าจะมีความมั่นคงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    อ.ธิดารัตน์ จริงแล้ว ไม่ใช่การถอยหลังไปฟัง แต่ทุกขณะไม่ควรทิ้งการฟัง ฟังเพื่อที่จะเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ต้องไปคำนึงว่าต้องเรียนให้ครบทั้ง ๓ ปิฎก เพราะขณะที่ฟังธรรมที่ท่านอาจารย์ยกมาอธิบาย สอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎกอยู่แล้ว สำคัญว่าเข้าใจหรือเปล่า และการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็คือหัวใจของการศึกษาทั้ง ๓ ปิฎกเลย ไม่ว่าจะศึกษาปิฎกไหนก็ตาม จุดประสงค์ คือเข้าใจลักษณะของธรรมที่ปรากฏขณะนี้ และขณะที่คุณจงนภาจะเข้าใจว่า ทุกๆ ขณะเป็นธรรม เรียกว่าเข้าใจธรรม เข้าใจพระอภิธรรม เข้าใจธรรมที่เป็นหัวใจที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และเข้าใจวัตถุประสงค์ให้ถูก

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลว่า ชาตินี้จะได้อ่านพระไตรปิฎกครบทุกเล่มหรือเปล่า แต่ที่สำคัญคือเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้หรือเปล่า ที่จะเป็นประโยชน์ และสะสมความเข้าใจสืบต่อไปจนกระทั่งถึงชาติหน้า

    ผู้ฟัง ถ้าอ่านพระอภิธรรม ๙ ปริจเฉท ต้องมีพื้นฐานอภิธรรมหรือ ปรมัตถธรรม ที่มั่นคงจริงๆ ถึงจะเข้าใจเพิ่มขึ้นได้ ข้ามขั้นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณอยากได้พื้นฐานคำเดียวหรือหลายคำ พื้นฐานคือธรรม

    ผู้ฟัง ธรรมคือสิ่งที่มีจริงในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วขยายๆ ๆ ออกไป ๓ ปิฎก ก็เป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องอื่น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ตั้งต้นที่พื้นฐานว่า ธรรมคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจธรรม ไม่ใช่ชื่อธรรม แต่ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ แล้วสิ่งนั้นเป็นธรรม มั่นคงหรือยัง เมื่อไม่มั่นคงก็ฟังต่อไปอีก ทางตากำลังเห็น มีจริงๆ ใครทำให้เกิดได้ หรือว่าเกิดแล้ว แล้วก็ดับแล้วด้วย นี่คือความเข้าใจธรรม สามารถที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ด้วยการเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น เพราะเป็นธรรมเท่านั้นอย่างเดียว เป็นอื่นไม่ได้ แต่ความหลากหลายของธรรมมีมาก

    ในชีวิตประจำวันก็ทรงแสดงความจริงของธรรมแต่ละอย่าง จากการที่ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นธรรม ให้เริ่มรู้เริ่มเข้าใจว่า ทุกขณะเป็นธรรมที่มีลักษณะต่างๆ แล้วก็ปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ละอย่าง แต่ละขณะ เกิดแล้ว ปรากฏแล้ว หมดไปแล้ว ไม่กลับมาอีก

    ผู้ฟัง ในการศึกษาถ้าเข้าใจพื้นฐานอย่างนี้จริงๆ ที่ท่านอาจารย์กล่าวเช่นนี้ แล้วในรายละเอียดก็ขยายไปเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ โดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นอายตนะ โดยความเป็นปฏิจจสมุปบาท โดยความเป็นอริยสัจจะ โดยความเป็นโลก โดยความเป็นมฤตยู โดยอะไรทั้งหมด ก็คือพูดถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้นั่นเอง

    ผู้ฟัง ที่พระองค์ทรงอธิบายหลากหลายนัย เพื่อไม่ให้ผู้ฟังเข้าใจผิด

    ท่านอาจารย์ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ให้ถูกต้องว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ได้ยินว่า ความเข้าใจในธรรม ก็เลยความสงสัยว่า ที่เราฟังแล้วเข้าใจต่างกับเรื่องราวที่เราฟังแล้วเข้าใจอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณแก้วตารู้เรื่องราวอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ก็เหมือนฟังเรื่องราวของธรรม

    ท่านอาจารย์ มีเรื่องอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง สมมติว่า แข็ง อย่างกระทบอย่างนี้เราก็ทราบว่าเป็นแข็ง แต่ยังไม่รู้ถึงลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่แข็งปรากฏ ลักษณะนั้นเป็นหวานได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่จากความเข้าใจว่า ถ้าสมมติว่าฟังแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วเพียงแค่ความเข้าใจ แต่ถ้าไม่รู้ลักษณะ พอเกิดชาติหน้าก็ลืม

    ท่านอาจารย์ ลืมคำว่า “แข็ง” แน่ เป็นคำอื่นไปแล้ว ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ แล้วไม่เคยทราบถึงลักษณะนั้น ถึงฟังอีกว่า แข็งมีลักษณะ ก็ไม่เคยเข้าใจคำว่า ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้ากล่าวว่า แข็งเป็นธรรม เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจเพราะว่าธรรมต้องมีลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แข็งเป็นธรรม

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังไม่ทราบลักษณะจริงๆ

    ท่านอาจารย์ แข็งปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าแข็งเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ฟังจนกระทั่งแข็งไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่นิ้วคุณแก้วตา ไม่ใช่ไมโครโฟน ไม่ใช่อะไรเลย แข็งลักษณะนั้นเป็นธรรม ปรากฏแล้วหมดไป เพราะว่ามีลักษณะของธรรมอื่นปรากฏสืบต่อเร็วมาก ถ้าไม่ฟังจะไม่รู้เลยว่า ทั้งหมดแต่ละอย่างก็เป็นธรรมทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าฟังไปเรื่อยๆ อย่างเมื่อเช้าที่คุณวรศักดิ์บอกว่า ฟังมานานแล้ว สติก็ไม่เคยเกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วสติเกิดเมื่อไร แล้วสติเป็นอย่างไรที่บอกว่าไม่เคยเกิด

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า รู้ลักษณะที่เป็นธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจลักษณะที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม แข็ง ใครบ้างจะไม่รู้ ทุกคนรู้ แต่ใครบ้างจะรู้ว่า แข็งเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ก็ต้องเกิดจากการฟัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แข็งเป็นแข็ง ซึ่งไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรม เมื่อฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า แข็งจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เพราะเป็นแข็ง ที่ว่าเป็นแข็ง ก็คือเป็นธรรมที่แข็ง ไม่ใช่อะไรสักอย่างเดียว

    ผู้ฟัง พอดีมีคำพูดหนึ่งที่ท่านอาจารย์พูดว่า ถ้าหากว่า ฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม หรือไม่เข้าใจลักษณะ ก็เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง อย่างนี้ทั้งชาติถ้าฟังไปตลอดจนตายไป หนูก็เป็นทัพพีไม่รู้รสแกง

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเป็นอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นก็เป็น จะไม่ให้เป็นได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้ลักษณะนั้นว่าเป็นธรรม เกิดมาทุกคนเห็น ทุกคนได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แข็งบ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง คิดนึกก็มี แต่ไม่รู้เลยว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่มี มี และความจริงก็เป็นธรรม แต่ไม่มีความเห็นถูกว่า ไม่ใช่เรา และไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นลักษณะของสิ่งที่มีจริงแต่ละอย่าง ที่เกิดจึงปรากฏ แล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่า ฟังธรรมไปเรื่อยๆ ถึงลักษณะจะไม่เกิด ก็ไม่ต้องไปกังวลอะไร

    ท่านอาจารย์ มีความเข้าใจถูกต้องว่าจะให้ปัญญาเกิดได้ไหม ถ้าไม่เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง สมมติว่าถ้าเกิดใหม่ และมีโอกาสได้ยินได้ฟัง เราก็จะทราบว่า ธรรมที่ถูกต้องจริงๆ มันคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของคุณแก้วตาตั้งแต่ชาติก่อน จนกระทั่งถึงชาตินี้ และจะต่อไปถึงชาติหน้า คือเรื่องของเรา ฟังแล้วจะเข้าใจ และถ้าไม่เข้าใจ เราก็จะเป็นทัพพี แล้วชาติหน้าเราก็จะเป็นอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วคือว่า ขณะนี้เป็นธรรม ฟังแล้วเข้าใจหรือเปล่าว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมเพราะอะไร เพราะมีจริงๆ แต่ว่าไม่เคยเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง แล้วก็หมดไป ไม่เหลืออะไรเลย จนกว่าจะมีความมั่นคง ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย ให้เข้าใจอย่างมั่นคงจริงๆ ว่าธรรม ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะมีปรากฏ เกิดแล้วก็หมดไป มั่นคงหรือยัง ถ้ายังก็ฟังต่อไปจนกว่าจะมั่นคง ว่าทุกอย่างมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ปรากฏได้แต่ละทาง และไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพียงให้เห็นทางตา ให้ได้ยินทางหู หายไปหมดเมื่อสักครู่นี้ เห็นที่ปรากฏทางตาก็หมดแล้ว สิ่งที่ปรากฏให้ได้ยินก็หมดแล้วอีก นี่คือ ความจริงที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร แล้วคิดถึงเราจะเป็นทัพพี ต่อไปข้างหน้าหรืออย่างไร เข้าใจก็เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ก็ยังดีกว่าแน่นอน ที่ว่าไปคิดหนทางอื่นแล้วตายไปพร้อมกับความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่พ้นจากเรา

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ว่าดีกว่าที่เราจะไปคิดถึงทางอื่น ก็ยังคงเป็นเรา แต่ฟังให้รู้ว่า ลักษณะของธรรมที่กล่าวไม่เลื่อนลอย คำว่าเป็น “ธรรม” ไม่ใช่คำเลื่อนลอย แต่เป็นคำที่แสดงความจริงของสิ่งนั้นที่กำลังเป็นจริงอย่างนั้น เช่น แข็ง ปรากฏแล้วเปลี่ยนไม่ได้เลย เป็นจริงอย่างนั้น แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ นี่คือความเข้าใจว่า ตั้งแต่เกิดจนตายทุกอย่างที่ปรากฏเป็นธรรม โดยไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะเข้าใจว่า เป็นธรรมจริงๆ แต่ละลักษณะซึ่งไม่เที่ยง ปรากฏแล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง มีคำถามจากท่านผู้ฟังให้เรียนถามคุณคำปั่นว่า จากข้อความในพระสูตรคำว่า “โลก” หมายถึง สัตวโลก โอกาสโลก และสังขารโลก รวม ๓ อย่างด้วยกัน ควรจะเข้าใจตามลำดับขั้นอย่างไร

    อ.คำปั่น ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด และยากที่จะเข้าใจ เพราะเป็นพระปัญญาของพระผู้มีพระภาคที่ได้ทรงตรัสรู้ถึงความจริงของสิ่งทั้งปวง แล้วทรงแสดงเพื่อให้เวไนยสัตว์ได้ฟัง และได้เข้าใจตามกำลังปัญญาของตนเอง พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงถึงความจริงของสภาพธรรมทั้งหมด ซึ่งเมื่อประมวลธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นจากปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป และเป็นนิพพาน

    สภาพธรรมที่เกิดดับเป็นสังขารธรรมมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ก็ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา สำหรับพระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่เหนือโลก ไม่เกิด ไม่ดับ แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ประมวลแล้วธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่พ้นจากความเป็นอนัตตาเลย

    โลกหรือโลกะในรูปของภาษาบาลี เมื่อฟังเรื่องโลก ทุกคนก็จะคิดไปต่างๆ นานา แต่ถ้าพูดถึงเรื่องโลกจริงๆ แล้ว ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดดับเลย คือไม่พ้นไปจากสภาพที่เป็นสังขารธรรม คือ จิต เจตสิก และรูป

    ทุกท่านคงเคยได้ยินคำที่กล่าวว่า "โลกในวินัยของพระอริยะ" โลกในวินัยของพระอริยะ ไม่พ้นไปจากโลก ๖ โลกเลย ก็คือ โลกทางตา โลกทางหู โลกทางจมูก โลกทางลิ้น โลกทางกาย และโลกทางใจ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ผู้ที่จะรู้โลกตามความเป็นจริงนั้นก็คือ เป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่าเป็นธรรม

    โอกาสโลก คือ โลกซึ่งเป็นที่เกิดของหมู่สัตว์ เป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ทั้งหลาย

    สัตวโลก คือ โลก คือ หมู่สัตว์ ทั้งโอกาสโลก หรือสัตวโลก ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมเลย และรวมลงที่สังขารโลก สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นสังขารโลก ซึ่งก็ต้องเข้าใจนัยที่เป็นความจริงอย่างนี้ จึงจะเข้าใจธรรมได้ เพราะว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงได้ เพราะว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง จึงควรที่จะศึกษา ควรที่จะเข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เมื่อมีความเข้าใจที่เจริญขึ้นตามลำดับแล้วก็จะทำให้ละคลายความเห็นผิด ละคลายความไม่รู้ได้ในที่สุด

    ฉะนั้นแล้ว ขณะนี้ทุกท่านทุกคนได้ความเป็นมนุษย์ และขณะนี้กำลังได้อีกอย่างหนึ่ง คือ การได้ฟังพระธรรม ได้ฟังพระสัทธรรม ซึ่งก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ไม่มีใครที่จะสามารถรู้ได้เลยว่า โอกาสที่จะได้เข้าใจธรรม โอกาสที่จะได้ฟังธรรมในภพนี้ ชาตินี้จะเหลืออีกเท่าไร จึงไม่ควรประมาทในการฟังพระธรรม ในการศึกษาพระธรรม เพื่อจุดประสงค์อย่างเดียว คือ เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ผมมีความรู้สึกว่า เราในห้องนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ควรคิดที่จะเจริญสติปัฏฐาน และตอนบ่ายเรียนวิธีปฏิบัติ เรียนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มิได้ ไม่ได้เรียนวิธีปฏิบัติ พูดเรื่องการปฏิบัติธรรมให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง พูดเรื่องการปฏิบัติธรรมให้เข้าใจ รอไว้อีกกี่ชาติ กี่กัป อะไรอย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวกับเวลา เกี่ยวกับความเข้าใจ พอที่สติจะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้หรือยัง

    ผู้ฟัง คือฟังดูแล้วเหมือนเมื่อไรจะเริ่มปฏิบัติได้ ก็เลยท้อ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เลิกคิด เรื่องการปฏิบัติ

    ผู้ฟัง เริ่มคิด

    ท่านอาจารย์ เลิกคิด คุณเด่นพงศ์ก็พูดตั้งแต่ต้นเรื่องสติปัฏฐานว่า เมื่อไรสติปัฏฐานถึงจะมีได้ ทำไมมุ่งไปที่สติปัฏฐาน สิ่งหนึ่งที่ไม่เข้าใจก็คือว่า การฟังพระธรรมเพื่ออะไร ถ้าไม่ตั้งต้นให้ถูกต้อง ไม่มีทางที่จะไปถึงสติปัฏฐาน หรือการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เลย เพราะว่าไม่เข้าใจธรรมแม้แต่ขั้นต้นว่า ธรรม คืออะไร แล้วการฟังพระธรรม “พระธรรม” ไม่ได้ฟังเรื่องอื่นเลย และที่พูดมาทั้งหมดก็จริง ฟังกันมาตั้งหลายปี คนเก่า คนก่อนหรือคนใหม่ก็พูดแต่ว่า ฟังแล้วก็ไม่รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจสักทีหนึ่ง ทุกคนพูดความจริง ไม่ได้พูดความเท็จเลย เป็นความจริง เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ จะให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวคือ จากคำที่ว่า ฟังมานาน บ่อย แล้วก็ยังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้จะเริ่มเข้าใจได้ไหม ไม่ต้องไปคิดไกลถึงสติปัฏฐานที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าไม่มีการเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น คำถามแรกไม่ใช่เรื่องสติปัฏฐาน แต่คำถามก็คือว่า ขณะนี้ได้ฟังว่า เป็นธรรม พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรม ไม่ได้รู้อย่างอื่นเลย รู้สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ซึ่งฟังกันมาหลายปีก็ยังไม่รู้ เห็นไหม ก็เป็นการยืนยันว่า การที่ปัญญาสามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เป็นเรื่องที่ต้องอบรม อบรมไม่ได้หมายความว่ามีเราไปรู้ว่า วิริยะเป็นอย่างไร เกิดเมื่อไร กับจิตกี่ดวง จะได้มีวิริยะ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย อบรมที่จะฟังให้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ เป็นวิริยะหรือเปล่า มีลักษณะของวิริยะปรากฏหรือเปล่า กำลังเห็นมีวิริยะปรากฏหรือเปล่า ขณะนี้ที่เห็น กำลังเห็น มีวิริยเจตสิกปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง วิริยะไม่ได้อยู่ในสัพพจิตตสาธารณเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ความจริงก็คือความจริง ตอบตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ผมว่าไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ถามว่ามี ถามว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็น วิริยะปรากฏหรือเปล่า หรืออะไรปรากฏ นี่คือเป็นผู้ตรง และจริง

    ผู้ฟัง อาจารย์คงหมายถึงเจตสิกที่เกิดกับจิตแต่ละดวงๆ อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็พูดวิริยะ ไม่มีวิริยะ เป็นขันติอย่างยิ่ง ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมได้ รับพระธรรมมาโดยไม่ได้ไตร่ตรอง โดยไม่รู้ความละเอียดลึกซึ้งของพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็เพียงแต่คิดเอง วิริยะ พระผู้มีพระภาคเหมือนตรัสให้เจริญ แต่ถ้าไม่เข้าใจ วิริยะ คืออะไร ก็ไม่รู้ แล้วจะเจริญอะไร ก็เพียงแต่นึกถึงชื่อว่า วิริยะ แล้วรีบรับคำโดยไม่รู้เรื่อง แล้วก็จะไปทำวิริยะ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้จริงๆ ความเป็นผู้ตรงว่า รู้จักธรรมหรือยัง ฟังหลายปีก็คงต้องซ้ำอีก ถามกันทุกวัน ก็เรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็เป็นเรื่องจริง เมื่อจริงแล้วก็ควรจะมีคำถามต่อไปว่า แล้วรู้ได้ไหม ได้หรือไม่ได้

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ได้ แต่ต้องเป็นผู้ตรง ตรงคือฟังแล้วเป็นความเข้าใจ ที่ค่อยๆ รู้ความจริงของสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นธรรม แค่นี้จะไปสติปัฏฐานที่ไหน ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้น คำถามก็ต้องตรงที่จะตอบว่า ขณะนี้ที่มีเห็นกำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏ วิริยะปรากฏหรือเปล่า เรียกชื่อวิริยะ รู้ด้วยว่า วิริยะเกิดกับจิตอะไร ไม่เกิดกับจิตอะไร แต่ขณะนี้เดี๋ยวนี้วิริยะปรากฏหรือเปล่า คุณเด่นพงศ์อะไรกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีจิตเห็น เพราะฉะนั้น รู้จักแม้จิตที่เห็น และรู้จักสิ่งที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริงหรือยัง เพราะมี ๒ อย่างในขณะนี้ อย่างอื่นแม้มี ไม่ได้ปรากฏให้รู้ จะไปพูดถึงทำไม เวลาพูดถึง ประโยชน์คือ ให้รู้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่คนอื่นไม่รู้ และทรงแสดงความจริงเพื่อให้มีความเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเรา เป็นธรรม จนกว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ถูก เห็นถูกในลักษณะของธรรมจริงๆ ว่า เป็นธรรม ไม่ต้องไปคำนึงถึงสติปัฏฐานหรืออะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีปัญญาที่เข้าใจถูก เห็นถูกแม้ในขณะที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏในขั้นฟัง ก็ต้องฟัง จนกระทั่งรู้ว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ปัญญาสามารถรู้ได้ เพราะว่าเป็นความจริงอย่างนี้

    ผู้ฟัง ผมก็ยังนึกไม่ออกว่า เมื่อไรถึงจะรู้ว่าสภาพที่เห็นกับสิ่งที่เห็น หรืออะไรต่างๆ พอถึงได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ก็คงถามไปแบบนี้ และที่สำคัญสุดท้ายก็คือความเป็นเรา ผมไม่ทราบว่ากี่กัป

    ท่านอาจารย์ ที่ว่า แล้วเมื่อไรจะถึง ใช่ไหม ถามอย่างนี้ว่า เมื่อไรจะถึง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    2 ต.ค. 2567