พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 534
ตอนที่ ๕๓๔
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
ผู้ฟัง และที่สำคัญสุดท้ายก็คือความเป็นเรา ผมไม่ทราบว่ากี่กัป
ท่านอาจารย์ ที่ว่าแล้วเมื่อไรจะถึง ใช่ไหม ถามอย่างนี้ ว่าเมื่อไรจะถึง ไม่มีวันถึง เพราะเป็นเรื่องต้องการเอา ไม่ใช่เรื่องละความไม่รู้ เพราะว่าการถึงธรรม คือ ละความไม่รู้ จนสามารถประจักษ์ลักษณะของธาตุที่เป็นนิพพาน ที่เป็นอริยสัจจะ แต่ด้วยการละความไม่รู้ และ ละความติดข้อง ถ้าตราบใดที่มีคำถามว่า แล้วเมื่อไร ไม่มีวันจะถึงเลย เป็นการหวังอยู่ตลอด แล้วความเข้าใจ ทำไมไม่พูดถึง ว่าขณะนี้ยังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ แล้วจะไปถามว่า แล้วเมื่อไรจะถึงการละความติดข้องในสภาพธรรมที่ปรากฏได้อย่างไร ในเมื่อกำลังปรากฏก็ไม่ละ เพราะว่าต้องการ
เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียด และไม่ลืม พระธรรมทั้งหมดทรงแสดงเพื่อละ ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา แต่เพื่อความรู้ถูก เห็นถูกว่าไม่มีเรา จึงละได้ แต่ถ้าเป็นแล้วเมื่อไรเราจะรู้สภาพธรรม ก็คือไม่มีวันที่จะถึงการละได้เลย
ผู้ฟัง เราหัดละความเป็นเรา ไม่ได้หรือ
ท่านอาจารย์ เป็นเรา ไม่ใช่ความรู้
ผู้ฟัง ค่อยๆ ฝึก
ท่านอาจารย์ ฝึกก็คือเราฝึก
ผู้ฟัง ละความเป็นเราฝึก
ท่านอาจารย์ ฝึกก็คือเราฝึก เราจะละด้วยวิธีการที่ฝึก
ผู้ฟัง ไม่ได้ ต้องเข้าใจอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ ปัญญา ไม่ใช่คุณเด่นพงศ์ ความเห็นถูกละความเห็นผิด ความรู้ละความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ฟังแล้วฟังอีก เป็นกถาหรือคำพูด เป็นวิริยารัมภกถา ไม่ใช่ไม่ให้มีวิริยะ แต่ให้เข้าใจถูกต้องว่า ที่ฟัง ก็คือให้เข้าใจถูกเพื่อละ แล้วยังไม่ละ ก็ฟังอีก เพื่อละ ก็คือเป็นความเพียร เป็นกถาที่ไม่ใช่ให้ทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้นแล้วจะถึง นั่นคือไม่ใช่วิริยารัมภกถา ไม่ใช่กถาที่ทำให้เริ่มมีความเพียรที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ขณะนี้ที่ปรากฏ เพื่อละความไม่รู้ คิดถึงการละความไม่รู้ เพราะว่าถ้ายังคงมีความไม่รู้อยู่ ก็ไม่สามารถถึงอะไรได้เลยทั้งสิ้นที่เป็นธรรม ที่เป็นอริยสัจธรรม
ผู้ฟัง ผมก็เลยเกิดความรู้สึกว่า ทำอย่างไรถึงจะเข้าใจ
ท่านอาจารย์ นั่งอยู่ที่นี่ ก็ออกนอกทางไปแล้ว แต่ว่าจริงๆ แล้วการฟัง และคุณเด่นพงศ์บอกว่าจำไม่ได้
ผู้ฟัง จำได้ยาก
ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงศ์บอกว่าจำไม่ได้ จำยาก แต่คุณเด่นพงศ์ก็ได้จำแล้ว ว่าจิตไม่เที่ยงเกิดดับ ถูกต้องไหม
ผู้ฟัง ได้แค่นี้
ท่านอาจารย์ และจิต ๑ ขณะ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท
ผู้ฟัง ก็รู้แค่นั้น
ท่านอาจารย์ เพื่อละความเข้าใจว่า จิตเป็นคุณเด่นพงศ์ เพื่อรู้ว่าเจตสิกไม่ใช่จิต ทั้งหมดเป็นธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้ กำลังเกิดดับทำหน้าที่ของธรรมนั้นๆ โดยไม่มีการรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น
ด้วยเหตุนี้การฟังเพื่อให้รู้ว่า ระหว่างที่สภาพธรรมเกิดดับนับไม่ถ้วน แล้วไม่รู้ ความรู้จะมีเมื่อฟัง ค่อยๆ เข้าใจความจริงถึงขณะนี้ที่กำลังได้ยิน และเริ่มเข้าใจ สภาพธรรมก็เกิดดับนับไม่ถ้วน ต่างกับขณะที่กำลังรู้ลักษณะหนึ่ง เปรียบเทียบได้เลย ถ้าขณะนี้สติสัมปชัญญะ ใช้คำนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเราทำ เกิดมีการรู้ที่ลักษณะ ซึ่งปกติทั้งวันจะมีลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดปรากฏ ไม่ได้ไม่มีอะไรปรากฏเลย ตื่นมาก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกมากมาย สุข ทุกข์ ก็เป็นธรรมทั้งนั้น แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเลย
เพราะฉะนั้น การฟังไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย ทำไม่ได้ เพราะเกิดแล้ว ใครลองคิดจะทำอะไร เกิดแล้วทั้งหมดตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น การฟังเพื่อให้รู้สิ่งที่ไม่รู้ เมื่อสักครู่นี้ไม่รู้หมดเลย จิต เจตสิก ตามที่ได้ฟังว่า จิต ๑ ขณะนี้เป็นชาติอะไร มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ก็ฟังเพื่อให้มั่นคงว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรมเป็นอนัตตาจนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นโดยการที่เริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งทั้งวันปรากฏ แต่ไม่เคยรู้ตรงลักษณะนั้นเลย
ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมก็คือ การเคารพอย่างยิ่งในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นเราจะไม่มีโอกาสได้ยินคำว่า ธรรม เป็นอนัตตา นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม นามธรรมก็มีทั้งจิต และเจตสิก และขณะหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นทรงแสดงความจริงโดยตลอด โดยละเอียดอย่างยิ่ง เพื่อให้รู้ว่า จิต ๑ ขณะที่กล่าวว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ละเจตสิกทำหน้าที่อะไร และเป็นปัจจัยแก่จิตโดยสถานใด เพื่อไม่ใช่เรา
ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ แล้วจะไปปฏิบัติอะไร หรือกล่าวว่า การฟังธรรมไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าปริยัติ ความรอบรู้ในธรรมที่ได้ฟัง ด้วยความเข้าใจขึ้น จะนำไปสู่ปฏิปัตติ การรู้ลักษณะที่มีจริงๆ ในขณะนี้ นำไปสู่ปฏิเวธ คือ การแทงตลอดความจริงซึ่งกำลังเกิดดับ จะมีคำถามว่าเมื่อไรไหม
ผู้ฟัง เหมือนกับว่า ถ้าเรารู้ธรรม รู้ปรมัตถ์ เข้าใจปรมัตถ์ เข้าใจธรรมดีกระจ่างแจ้ง รู้จิต รู้เจตสิก รู้หน้าที่
ท่านอาจารย์ นั่นคือปัญญา ที่เริ่มเข้าใจถูก
ผู้ฟัง เท่าที่ผมสังเกตตัวเองมา สิบกว่าปี ผมก็ค่อยๆ รู้ในหมื่นในแสนคำพูดของท่านอาจารย์ ผมจะได้ทีละคำ สองคำ สามคำ ทำไมจึงช้าขนาดนั้น อย่างจิตประกอบด้วยเจตสิกกี่ดวงๆ ผมจำได้ว่า ทุกครั้งที่เราทำ มีเจตนาประกอบทั้งนั้นเลย ผมก็เพิ่งรู้ เมื่อก่อนไม่รู้ ไม่มีเจตนา คือช้าเหลือเกิน ก็กราบเรียนว่า ทานข้าวแล้ว อยากทานน้ำต่อ
ท่านอาจารย์ ทราบไหมว่า เพราะอะไร เพราะเป็นคุณเด่นพงศ์ที่กำลังฟังธรรม ฟังแล้ววันนี้คุณเด่นพงศ์เข้าใจบ้าง ฟังแล้วคุณเด่นพงศ์มาสำรวจตัวเองว่า มีอกุศลมากแค่ไหน ฟังแล้วตัวคุณเด่นพงศ์ก็มาคิดว่า แล้วเมื่อไรจะรู้แจ้งสภาพธรรม ไม่ได้ละความเป็นตัวตน เพราะรู้ว่าเป็นธรรม แม้ในขั้นการฟัง
ผู้ฟัง ก็จะมาเข้าประเด็นที่ ๒ ว่า ผมไม่ได้สะสมบารมีมา ไม่มีกรรมเก่ามาเลย
ท่านอาจารย์ บารมี คืออะไร
ผู้ฟัง บารมีคือสิ่งที่เราสะสมขึ้นมา
ท่านอาจารย์ สะสมอะไร
ผู้ฟัง ความรู้ความเข้าใจในธรรม
ท่านอาจารย์ เพื่ออะไร
ผู้ฟัง เพื่อให้เข้าใจธรรมละเอียดๆ ขึ้น
ท่านอาจารย์ เข้าใจเพื่ออะไร
ผู้ฟัง เข้าใจเพื่ออะไร ไม่รู้จะตอบอย่างไร
ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ตรงนี้
ผู้ฟัง เพื่อมีปัญญา
ท่านอาจารย์ มีปัญญา เพื่ออะไร
ผู้ฟัง เพื่อรอดพ้นจากวัฏฏะ
ท่านอาจารย์ นี่คือจำ แต่ทราบไหมว่า ปัญญาเพื่อละความไม่รู้
ผู้ฟัง ละความไม่รู้ ก็รู้
ท่านอาจารย์ ใครรู้
ผู้ฟัง ก็ผมก็รู้ว่า ปัญญา
ท่านอาจารย์ ผม คือ คุณเด่นพงศ์ ก็คือไม่รู้ว่าเป็นธรรม และคำว่า “ธรรม” เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เมื่อไรจะเข้าใจถูก
ผู้ฟัง ทำไมต้องเป็นผม คนเดียวหรือ
ท่านอาจารย์ ทำไมต้องเป็นผมคนเดียว ก็มาอีกแล้ว ทุกคำมันย้อนไปสู่ความเป็นเรา จิตมีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เป็นคุณเด่นพงศ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เจตสิกมีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เป็นคุณเด่นพงศ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่อีก
ท่านอาจารย์ รูปมีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เป็นคุณเด่นพงศ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ให้มั่นคงทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า จิต และแค่จิตไม่พอที่จะละการยึดถือว่า ยังมีเรา ต้องมีความเข้าใจละเอียดขึ้น และเลิกคิดถึงสติปัฏฐานหรือยัง
ผู้ฟัง ก็มีอยู่ในตำรา ให้เห็นอยู่เรื่อย ก็เลยอยาก
ท่านอาจารย์ มีชื่อสติปัฏฐาน แล้วมีปัญญาหรือเปล่า
ผู้ฟัง แต่ผมก็เข้าใจเจตนาของท่านอาจารย์ กราบด้วยความเคารพจริงๆ แต่ถึงอย่างไรก็อดคิดไม่ได้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อยากจะ..
ท่านอาจารย์ ที่เรียนธรรม ฟังธรรม แต่ไม่ได้เข้าใจว่า จิตไม่ใช่คุณเด่นพงศ์ ปริยัติไม่ใช่คุณเด่นพงศ์
ผู้ฟัง แต่ผมก็ตอบอาจารย์ได้
ท่านอาจารย์ ตอบเพราะจำ แต่ยังคงเป็นเราที่จำ ถามอีกก็คือผมจำว่า เมื่อไรผมจะรู้สภาพธรรม
ผู้ฟัง เวลาแข็งมากระทบ กระทบผัสสะใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จิตเกิดหรือยัง
ผู้ฟัง ยัง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แข็งต้องเกิด กายปสาทต้องเกิดแล้วกระทบ จิตเกิดหรือยัง ยังไม่เกิด เมื่อกระทบแล้วอะไรเกิดที่จะรู้แข็ง จิตที่รู้แข็ง ในขณะที่จิตรู้แข็งเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้มีผัสสเจตสิกไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ขณะไหนไม่มี
ผู้ฟัง มีตลอด
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะถามอย่างไรก็ต้องไม่เปลี่ยน เพราะว่าเป็นธรรม กำลังได้ยิน จิตได้ยินเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งเสียง เสียงขณะนี้ ที่ปรากฏแต่ละขณะ เหมือนกันหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่เหมือน
ท่านอาจารย์ เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในแต่ละเสียง จึงรู้ว่าเสียงนั้นต่างๆ กัน แต่ละขณะที่เสียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วมีจิตได้ยิน กำลังได้ยินเสียงหนึ่ง ใส่ใจในเสียงนั้นหรือเปล่า
ผู้ฟัง ใส่ใจ
ท่านอาจารย์ รู้ไหมว่า กำลังใส่ใจ ไม่รู้ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะจิตกำลังใส่ใจอยู่
ท่านอาจารย์ เพราะเกิดดับเร็วมาก แล้วไม่รู้อะไรเลย นั่งอยู่ที่นี่ สภาพธรรมทั้งหมดเกิดดับนับไม่ถ้วน ไม่รู้ลักษณะของธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเลย นอกจากขณะที่กำลังกล่าวถึง แม้เห็น ยังเหมือนเดิม คือ แม้จะกล่าวว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ก็ยังไม่เข้าถึงความจริงที่เป็นเพียงสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วหมดไป แค่ให้เห็นได้เท่านั้นเอง นี่คือการที่เราจะฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ฟังแล้วคำอธิบายถูกต้องชัดเจน ไม่สงสัย แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่า แม้ว่าพระธรรมที่ได้ทรงแสดง แสดงความจริง แต่กว่าปัญญาจะเจริญจนกระทั่งเห็นถูกในขั้นฟัง แล้วเห็นถูกตามความเป็นจริงของลักษณะที่เป็นธรรม ตรงกับที่ได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งสามารถแทงตลอดในความจริงเป็นอริยสัจจะ ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่ทำให้คนนั้นกลับไปไม่รู้สิ่งที่รู้ เพราะได้อบรมแล้ว
นี่คือ การฟังธรรมเพื่อจุดประสงค์ที่มีความเข้าใจ ที่จะละความไม่รู้ เพราะฉะนั้น แม้เราจะได้ฟังว่า จิต ๑ ขณะ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ แต่ทั้ง ๗ นี่รู้หรือเปล่า แม้แต่จิต ก็เพียงแต่ขณะนี้มีธาตุที่กำลังเห็น ค่อยๆ สะสมความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยๆ จนกว่าถึงกาลที่ระลึกได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามแต่ในลักษณะที่เป็นธรรม เมื่อนั้นแสดงว่า ความเข้าใจมั่นคง เพราะอะไร กำลังฟังนี่ก็ลืมแล้ว เหมือนเดิม คือ ได้ยินว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นอาจจะค่อยๆ คล้อยไปเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏจริงๆ แล้วก็ลืมแล้ว แม้แต่กำลังฟัง
เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นความมั่นคงจริงๆ ก็คือเมื่อไรรู้ลักษณะแล้วเข้าใจ เมื่อนั้นแสดงว่า ความเข้าใจมั่นคงที่จะทำให้มีการรู้ลักษณะของธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นฟังเข้าใจ เพราะฉะนั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องเกื้อกูลกัน ถ้าไม่มีปริยัติ ความเข้าใจจริงๆ จะไม่สามารถรู้ลักษณะที่กำลังเป็นธรรม แม้ว่าเป็นธรรมในขณะนี้
ผู้ฟัง กำลังมองเห็นดอกกุหลาบ เห็นนี่คือจิต แต่ที่เป็นสีแดงนั้นเป็นเจตสิกใช่ไหม
อรร. จิตเห็นเกิดขึ้น และเจตสิกทั้ง ๗ รู้สิ่งเดียวกันหรือคนละอย่างกัน
ผู้ฟัง รู้สิ่งเดียวกัน
อรร. เพราะฉะนั้น จิตเห็น เห็นอะไร
ผู้ฟัง เห็นสี
อรร. และเจตสิกรู้อะไร จิต และเจตสิกรู้สิ่งเดียวกัน สิ่งที่จิตรู้ ภาษาบาลีท่านเรียกว่า อารมณ์ จิต และเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะนั้นมีอารมณ์เดียวกัน ถ้ามีสีใดปรากฏ จิตก็รู้สีนั้น เจตสิกต่างๆ ก็รู้สีเดียวกัน แต่นามธรรมทำหน้าที่ต่างๆ กันไป จิตเห็น ก็ต้องเห็นสีนั้น เจตสิกก็ต้องรู้สีนั้น
ผู้ฟัง สรุปแล้ว สีแดงเป็นหน้าที่ของสัญญาใช่ไหม คำว่า สีแดง
ท่านอาจารย์ จะเห็นได้ว่า การที่เราไม่เข้าใจธรรม แม้ว่าตอนแรกเราเริ่มเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็เพราะเหตุว่าเราคิดเองต่อยาวมาก ไปคิดเรื่องเห็นสีแดง ผัสสะอะไรต่างๆ แต่การฟังธรรมก็คือ เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังจริงๆ เท่าที่ได้ฟังให้ถูกต้องใช่ไหม อย่างพูดว่า ธรรมหลากหลาย แต่โดยประเภทใหญ่ คือ นามธรรม และรูปธรรม แม้ความรู้อย่างนี้ก็อย่าข้าม หรืออย่าประมาทเหมือนกับรู้แล้ว เราเพียงบอกได้ว่า รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ นามธรรมเป็นสภาพรู้ นี่คือการฟัง แต่พอถึงสภาพธรรมจริงๆ จะรู้ไหมว่า ลักษณะ ๒ อย่างต่างกันในขณะที่กำลังปรากฏ เช่น ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพที่กำลังเห็น ค่อยๆ ไป จะได้ไม่ลืม มิฉะนั้นเราจะเอาความคิดของเรามาเห็นสีแดงอีกแล้ว คือเกินจากที่เรากำลังเข้าใจธรรม ทีละเล็กทีละน้อย อย่างมั่นคงจริงๆ แม้แต่แต่ละคำ นามธรรมกับรูปธรรม คำนี้ก็ไม่เปลี่ยน รูปธรรมที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่สภาพรู้ ส่วนนามธรรมก็คือ สภาพรู้ทั้งหมด ซึ่งต่างกันเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ จิตกับเจตสิก อย่างที่เราใช้คำว่า จิตตุปบาท การเกิดขึ้นของจิตรวมถึงเจตสิกด้วย เพราะว่าจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงการเกิดขึ้นของจิต จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าเราจะเรียกอย่างอื่นก็ยาวใช่ไหม แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็คือ จิตเกิดขึ้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น กล่าวเพียงการเกิดขึ้นของจิต จิตตุปบาทในภาษาบาลี เพราะว่าบางคนชอบรู้ภาษาบาลี อย่างมนสิการ หรืออะไรก็ตามแต่ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า การเกิดขึ้นของจิต ภาษาบาลี ใช้คำว่า จิตตุปบาท รวมเจตสิกด้วย เพราะว่าแยกกันไม่ได้ นี่คือค่อยๆ เข้าใจขึ้น
เพราะฉะนั้น เมื่อจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เป็นนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ และจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะรู้อารมณ์เดียว เจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิตต้องรู้อารมณ์เดียวกับจิต แยกกันไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น จิตเกิดดับเร็ว จนทำให้เหมือนรู้หลายอย่างพร้อมกัน แล้วคิดว่ารู้ว่าเป็นสีแดงเป็นเจตสิก ไม่ใช่ ถ้าพูดถึงสภาพรู้เท่านั้น เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่ได้เรียกชื่อ เวลานี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเรียกสีอะไร ขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็น จะเรียกว่าสีอะไร
ผู้ฟัง ขณะที่จิตเห็นสีใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็น เห็นแน่ๆ ยังไม่ต้องเรียกสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นอะไรเลย แต่ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น ขณะที่จิตกำลังเห็น ไม่เรียกอะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าจะใช้คำว่า สี ถ้าจะใช้คำนี้ ถามว่าจิตเห็นสีอะไร
ผู้ฟัง จิตเห็นสีแดง
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เห็น จะจำว่าสีนี้เป็นลักษณะนี้ได้ไหม
ผู้ฟัง ถ้าไม่เคยเห็นมาก่อน จำไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเห็น เจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นจำสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องเรียกอะไรเลย แต่การเกิดดับของจิตเร็วมาก ยับยั้งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อมีความจำ และคิดต่อไปยาวมาก ลืมว่าลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพียงปรากฏให้เห็น ไม่ต้องไปเรียกสีอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ต้องใช้คำอะไรเลยทั้งสิ้น เหมือนกับเสียง จิตเกิดขึ้นเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งเสียงที่ปรากฏ ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย และเสียงนั้นเป็นภาษาอะไร ไม่ใช่หน้าที่ของจิตที่รู้แจ้งเฉพาะเสียง แต่การจำเสียงสูงๆ ต่ำๆ ความหมายของแต่ละเสียงนั้นทำให้สามารถรู้ว่า หมายความถึงอะไร ซึ่งไม่ใช่จิตได้ยิน
เพราะฉะนั้น แต่ละจิตก็ทำหน้าที่เฉพาะจิตนั้นจริงๆ เจตสิกแต่ละเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกประเภท แล้วก็ทำหน้าที่ในขณะที่จิตนั้นๆ เกิดขึ้น ทำไมเราใช้คำว่า จิตตุปบาท ทั้งๆ ที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง จิตตุปบาท คือตัวรู้ที่เกิดขึ้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ทำไมใช้คำว่า จิตตุปบาท
ผู้ฟัง เพราะว่าจิตเป็นใหญ่
ท่านอาจารย์ เพราะว่าจิต ๑ เจตสิกเกิด ๗ จะเอาเจตสิกไหนมาเรียกก็ยาว ใช่ไหม แล้วจิตก็ต้องเกิดดับไม่ขาดสายเลย แต่เจตสิกบางประเภทก็เกิดกับจิต บางประเภทก็ไม่เกิดกับจิต อย่างโทสเจตสิกก็ไม่ได้เกิดกับจิตทุกขณะ และเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะก็มีถึง ๗ อย่าง ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็ ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจตามที่ได้ฟัง ถ้าคิดเองเมื่อไรก็ผิด
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาอธิบาย เริ่มต้นของการฟัง และค่อยๆ ที่จะได้เข้าใจขึ้น เพื่อผู้ใหม่จะได้ไม่ท้อถอย
ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็ต้องเริ่มต้นอยู่เรื่อยๆ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า กำลังฟังอะไร และเพื่ออะไร ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง คือความจริง แค่ความจริง น่าคิดไหม อะไรจริงเดี๋ยวนี้
ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏขณะนี้
ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏหรือเปล่า
ผู้ฟัง ยังไม่รู้
ท่านอาจารย์ อะไรอีกที่จริงเดี๋ยวนี้
ผู้ฟัง ที่จริงก็มีเห็น
ท่านอาจารย์ รู้ความจริงของเห็น ที่กำลังเห็นหรือเปล่า
ผู้ฟัง ยังไม่ได้รู้จริงๆ
ท่านอาจารย์ อะไรอีกที่จริง
ผู้ฟัง มีทั้งเสียง
ท่านอาจารย์ เสียงจริง รู้ความจริงของเสียงหรือยัง
ผู้ฟัง ก็ยังไม่รู้
ท่านอาจารย์ อะไรอีกที่จริง
ผู้ฟัง กระทบแข็งก็มี
ท่านอาจารย์ แล้วรู้ความจริงของแข็ง และสภาพที่รู้แข็งหรือยัง
ผู้ฟัง ยัง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย รู้ความจริงหรือยัง
ผู้ฟัง ยังเลยสักอย่าง
ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประจักษ์ความจริง และเมื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้แล้ว ด้วยพระมหากรุณาที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ที่จะให้คนอื่นได้รู้เช่นเดียวกับพระองค์ด้วย เพราะว่าสิ่งที่มีจริง ถ้าไม่รู้จะกล่าวว่ารู้ได้ไหม ไม่ได้ ความเป็นผู้ตรงก็คือว่า ชีวิตทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย จะไม่พ้นจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสถูกต้อง คิดนึก มีใครพ้นบ้าง แต่ละขณะ ตั้งแต่เกิด แต่ไม่รู้ความจริง และถ้าจะจากโลกนี้ไป ก็จากไปด้วยความไม่รู้
ด้วยเหตุนี้ การฟังพระธรรมต้องรู้ว่า พระธรรมมาจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประมาทได้ไหมว่า ต้องให้รู้เร็วๆ ง่ายๆ จะได้รู้ได้ เป็นไปได้ไหม ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงระลึกถึงพระมหากรุณาไหม ทรงบำเพ็ญพระบารมีแล้วทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา เพื่อให้คนที่เกิดมาแล้วไม่รู้อะไรเลยได้ค่อยๆ เริ่มเข้าใจ ค่อยๆ รู้ความจริง เพราะเหตุว่า มีใครบ้างที่เกิดมาแล้วไม่อยากจะรู้จักความจริง ไม่เห็นประโยชน์ของการรู้ความจริง เพราะอะไร ทุกสิ่งที่มีตั้งแต่เกิด ไม่เหลือเลย แต่ละขณะ โดยไม่รู้ แล้วก็หลงติดข้องในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาบ้าง ในเสียง ในกลิ่น ในความคิด ในเรื่องราวต่างๆ ไม่รู้เลยว่า แต่ละขณะมีปัจจัยเกิดแล้วดับไป โดยไม่รู้เลย เนียนมาก ใครสามารถที่จะรู้การเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ที่เพียงปรากฏแล้วหมดไป
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 481
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 482
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 483
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 484
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 485
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 486
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 487
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 488
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 489
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 490
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 491
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 492
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 493
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 494
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 495
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 496
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 497
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 498
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 499
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 500
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 501
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 502
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 503
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 504
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 505
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 506
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 507
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 508
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 509
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 510
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 511
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 512
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 513
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 514
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 515
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 516
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 517
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 518
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 519
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 520
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 521
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 522
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 523
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 524
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 525
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 526
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 527
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 528
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 529
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 530
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 531
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 532
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 533
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 534
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 535
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 536
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 537
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 538
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 539
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 540