พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 538


    ตอนที่ ๕๓๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตเห็นไม่เกิด สิ่งนี้ปรากฏไม่ได้ แต่ขณะใดก็ตามที่จิตเห็นเกิด สิ่งนี้จึงปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง ถ้าเข้าใจอย่างนี้สัญญาเริ่มจำความหมายของคำว่า อนัตตา แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้จักตัวธรรมจริงๆ คือ เห็น และเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏให้เห็น ก็ยังไม่ใช่อนัตตสัญญาในลักษณะของธรรม เพียงแต่ชินหูกับคำว่า อนัตตสัญญา เพราะเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่เคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมานานแสนนาน ถ้าระลึกถูกต้องตามความเป็นจริง เข้าใจจริงๆ ก็เพียงปรากฏให้เห็น

    เพราะฉะนั้น ในชีวิตแต่ละชาติ ก็มีเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นบ้าง ให้ได้ยิน กระทบจมูกเป็นกลิ่นต่างๆ เป็นรสต่างๆ แล้วก็คิดนึกแต่เรื่องราวทั้งหมดของสิ่งซึ่งแม้ไม่ปรากฏก็จำไว้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เป็นอัตตสัญญา

    นี่แสดงให้เห็นว่า การฟังธรรมต้องฟังแล้วรู้ว่าไม่รู้มากแค่ไหน ค่อยๆ รู้ขึ้นแค่ไหน เช่น พูดถึงเรื่องทางตา พูดแล้วพูดอีก พระไตรปิฎกก็มีมากมาย แล้วขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไปจำไว้ว่าเป็นอย่างอื่นเสียนาน กว่าจะรู้หรือระลึกได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง นานไหม และมีความมั่นคงแค่ไหน เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึงปัญญา เราคิดถึงปัญญาที่ประจักษ์การเกิดดับ ปัญญาที่หน่าย นิพพิทาญาณต่างๆ แต่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้ ปัญญาจริงๆ ต้องเข้าใจ ไม่ใช่เพียงฟัง จำ แต่เป็นปัญญาที่สามารถที่จะเข้าใจในขณะที่ฟังว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรม และเดี๋ยวนี้ก็เป็นธรรมที่ยังไม่รู้จัก เพียงแต่ได้ยิน ทั้งๆ ที่มี กำลังเผชิญหน้า ก็ยังไม่รู้ในความเป็นธรรมของแต่ละธรรมที่ปรากฏ จนกว่ามีความมั่นคงเป็นสมุฏฐาน หรือเป็นสัญญาที่เป็นเหตุใกล้ที่ทำให้รู้ลักษณะ

    ขณะนี้พูดถึงแข็ง ได้ยินแล้วใช่ไหม รู้ลักษณะแข็งที่กำลังแข็งหรือเปล่า ถ้ายังก็คือขณะนั้นไม่ใช่สติสัมปชัญญะ เพราะเหตุว่าพูดเรื่องแข็ง เข้าใจว่าแข็ง เป็นแข็ง แต่แข็งจริงๆ กำลังปรากฏ ไม่ได้รู้แข็งว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่ได้ฟัง ฉันใด ทางตาก็เหมือนกัน พูดถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ก็ยังไม่คุ้นเคยกับการที่จะเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เหมือนแข็ง เป็นเพียงสิ่งปรากฏเมื่อกระทบ จึงปรากฏได้เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ก็เหมือนซ้ำ แต่ซ้ำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เวลาที่ไม่ได้ฟังก็ลืมอีก พอฟังก็เริ่มตั้งต้นใหม่ ค่อยๆ เข้าใจใหม่ ค่อยๆ น้อมไปทีละเล็กทีละน้อยที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจมาก เพียงพอ มั่นคง เพียงได้ยิน รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม ถ้าปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะนั้นจนชินว่าเป็นธรรม และประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของธรรมได้ด้วย เพราะว่าไม่มีอะไรมากั้น อย่างขณะนี้เห็น เท่านั้นหรือ ดับแล้ว คิดนึก เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าปัญญาไม่รู้ความต่างของ ๒ อย่างนี้ จะสามารถดับการยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเราได้ไหม ก็ไม่มีทางเลย

    เพราะว่า การดับกิเลสในพระพุทธศาสนา หมายถึง ปัญญาที่สามารถทำให้สภาพที่สะสมมาเป็นอนุสัยกิเลสดับสิ้น โดยไม่เหลือเลย ไม่เกิดอีกเลย ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ถึงแม้จะรู้รูปร่างสัณฐานด้วยความจำว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร แต่ไม่เห็นผิด เพราะว่าได้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม จนถึงเข้าใจได้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น สะสมความเห็นถูกว่า ธรรมทั้งหลาย ทีละหนึ่ง ทีละหนึ่งไป จนกระทั่งเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์พูดไปทั้งหมดเมื่อสักครู่นี้ จะสรุปได้ ๓ คือ รู้โดยจิตรู้ รู้โดยสัญญา รู้โดยปัญญา เรียนถามว่า เนื่องกันกับสิ่งที่ปรากฏอย่างไร คือกรุณาช้าๆ ว่า รู้โดยจิตเป็นอย่างไร และรู้โดยสัญญาเป็นอย่างไร และรู้โดยปัญญาเป็นอย่างไร ทั้ง ๓ อย่าง โดยเฉพาะสำหรับผู้เรียนใหม่อยากจะให้เข้าใจ ๓ ตัว ในสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ รู้โดยจิต ยากไหม กำลังเห็น จิตเห็น เป็นใหญ่ เป็นประธาน กำลังเห็นว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ เสียงนี้ไม่ใช่เสียงอื่น ลักษณะนี้เพราะจิตรู้แจ้งลักษณะนั้น สัญญาจำได้ไหมว่า คุณธิดารัตน์อยู่ที่ไหน ใช่คุณธิดารัตน์หรือเปล่า นั่นคือสัญญา จำ โต๊ะ เก้าอี้ จำหมดเลย เพราะฉะนั้น สัญญารู้โดยจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าวิปลาส คือจำผิด เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อย่างไร ในเมื่อเพียงปรากฏทางตาแล้วดับไปไม่เหลือเลย จะเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น สัญญาจำรูปร่างสัณฐาน แล้วก็คิด แล้วก็จำเรื่องที่คิดด้วย จำทุกสิ่งทุกอย่างไว้หมดเลย ไม่ว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใด สัญญาก็จำสิ่งนั้นแหละ เกิดพร้อมจิตแล้วก็ดับพร้อมจิต

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตเห็นเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ มีสัญญาที่จำ แต่ไม่มีวิตกเจตสิกที่ตรึกถึงสิ่งนั้น แต่หลังจากนั้น ความละเอียดก็คือว่า เมื่อจิตใดไม่ได้ทำทัสนกิจ กิจเห็น หรือกิจได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส วิตกเจตสิกเกิดพร้อมที่จะรับสิ่งนั้นต่อ โดยที่ไม่ได้ทำกิจนั้นๆ เลย แล้วสัญญาก็จำ จนกระทั่งถึงขณะที่สิ่งนั้นดับไปแล้วทางตา รูปที่มีอายุ ๑๗ ขณะดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารรู้ต่อแล้ว สัญญาก็เกิดขึ้น รู้ว่าสิ่งที่จำนั้นเป็นอะไร นั่นคือสัญญา แต่ปัญญาสามารถที่จะเห็นถูก แล้วขณะนี้มีหรือเปล่า มีจิตที่รู้ มีสัญญาที่จำ แล้วก็ขณะใดที่มีความเห็นถูก ขณะนั้นก็เป็นปัญญา

    ผู้ฟัง ดิฉันว่า ปัญหาอยู่ที่สัญญา พอจิตรู้ สัญญาก็จะเป็นสัญญาวิปลาส ก็เตลิดเลย เรียกไม่กลับ นี้คือความสำคัญ จะต้องเข้าใจที่ท่านอาจารย์อธิบายเมื่อสักครู่นี้ สัญญาเป็นอย่างไร ตัวนี้สำคัญ ลักษณะ แต่ตรงนี้สำหรับคนมาใหม่จะยากมาก นอกจากอาศัยการฟังเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะให้ใครเข้าใจถูกจริงๆ ต้องพูดถึงความละเอียดด้วย ขณะใดก็ตามที่เป็นอกุศล ขณะนั้นสัญญาวิปลาส แต่ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด แม้ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็ไม่ใช่สัญญาวิปลาส

    ก็ต้องแยกอีกมาก นี่คือความละเอียดของธรรม ซึ่งไม่ประมาท และรอบคอบ และฟังเพื่อให้เห็นความลึกซึ้งว่า เป็นธรรมจริงๆ ทั้งหมด ไม่มีใครสามารถบันดาลหรือคิดเอง หรือทำให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นได้เลย นอกจากอบรมความเข้าใจถูก ความเห็นถูก จากการฟัง การไตร่ตรอง จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ธรรมทั้งหมดที่กล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ดับหมดแล้ว ใช่ไหม รู้หรือเปล่าว่าเป็นอะไร รู้หรือเปล่าว่าเป็นธรรม ก็อวิชชาทั้งนั้นเลย ต่อเมื่อไรฟังแล้วเข้าใจ แต่ยังไม่รู้จักตัวธรรม ทั้งๆ ที่เป็นธรรม ก็จะเห็นความต่าง ถ้ามีการรู้แข็ง แล้วก็เข้าใจว่า แข็งเป็นธรรม และมีลักษณะแข็งให้เห็นว่า มีจริงๆ ด้วย เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นต่างกับขณะที่ไม่รู้แข็ง

    เพราะฉะนั้น ขณะที่แข็งกำลังปรากฏ จะเข้าใจได้เลย ขณะก่อนที่แข็งจะปรากฏลักษณะกับสติที่รู้ตรงนั้น สิ่งอื่นทั้งหมดมากมายผ่านไปโดยไม่รู้จัก ไม่ว่าจะกล่าวถึงผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก สัมปฏิจฉันนจิต หรือจิตใดๆ ก็ตามทั้งหมด เกิดแล้วดับแล้ว โดยไม่รู้เลย แต่เพราะแข็งมีลักษณะให้รู้ จึงรู้ว่า ตรงนี้เองที่เป็นธรรม ที่เริ่มรู้จักตัวธรรม ซึ่งธรรมก่อนนั้นมี ดับแล้ว โดยไม่รู้จักเลย

    เพราะฉะนั้น การอบรมปัญญาจึงสามารถเข้าใจถูกต้องได้ว่ารู้ลักษณะที่แท้จริงที่เป็นธรรมแต่ละลักษณะ เห็นความห่างไกลของขณะซึ่งกว่าจะรู้แข็ง หรือรู้เสียง หรือรู้ธรรมอะไรก็ตามแต่ซึ่งเลือกไม่ได้ ก่อนนั้นอาจจะไม่รู้อะไรเลย ใช่ไหม ไม่รู้จริงๆ มีก็ไม่รู้ ดับไปหมดเลย

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริง จึงเป็นปัญญา ท่านอาจารย์ทำให้ดิฉันนึกถึงเรื่องที่บางคนไม่เห็นความสำคัญของการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ อย่างเช่น รู้แข็งเป็นประโยชน์อย่างไร แข็งก็มีจริง แต่เราไม่รู้จักแข็งตามความเป็นจริง เราเลยยึดถือแข็งว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความรักบ้าง ความชังบ้าง จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น อกุศลจิตในชีวิตประจำวันจึงมีมาก แต่ถ้าเป็นความเห็นถูกในแข็งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ก็คือปัญญานั่นเอง ที่จะเป็นธรรมที่ขัดเกลาความเห็นผิด และยึดถือแข็งว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า จริงๆ ผู้ที่มีปัญญาจำไว้ได้อย่างไรว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วจำได้อย่างไรว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ท่านอาจารย์ อวิชชาก็จะโต้แย้งว่า ก็จำได้อย่างไรว่าเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏ เพราะว่าอวิชชาจำเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ท่านอาจารย์ แล้วจำได้อย่างไรว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้

    ผู้ฟัง ก็สัญญาวิปลาส

    ท่านอาจารย์ จำได้อย่างไรว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะจำ จำ จำ จำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมั่นใจว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่าไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ก็ต้องจำ จำ จำว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้น คำถามนี้เหมือนกันเลย เปลี่ยนได้ไหมที่จะจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเคยจำมานานแสนนาน จำอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การที่จะจำว่าไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เป็นแต่เพียงธรรม ก็ต้องเริ่มจากการจำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมั่นคง ไม่ต่างกันใช่ไหม ก็เหตุเดียวกัน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็เริ่มต้นจากขั้นฟังนี่แหละว่า ที่เคยจำผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จริงๆ แล้วทั้ง ๖ ทางก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ๕ ทาง แต่สัญญาก็จำผิด แต่เมื่อฟัง ฟังว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อย่างนี้ และความจริงก็เป็นอย่างนี้ ก็จะเหมือนกับว่า แม้ความจำขั้นฟังก็จำใหม่ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ แต่น้อยใช่ไหม ไม่บ่อย

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ก็จะลืม

    ท่านอาจารย์ การที่เคยจำผิด เทียบได้เลยว่า ฟังเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้จำ แต่ไปจำว่าเป็นโต๊ะ เป็นคน ก็เทียบได้เลยว่า ความจำอย่างไหนมากกว่ากัน มานานแสนนาน และกว่าจะหมดไปได้

    ผู้ฟัง ตกลงรูปเพียงรูปเดียวใช่ไหม ที่จิตเห็นสามารถเห็นได้ อย่างอื่นไม่สามารถปรากฏทางตาให้จิตเห็นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ที่เห็นเป็นโต๊ะ เก้าอี้ พระอาทิตย์ หรืออะไรก็ตาม พวกนั้นไม่ใช่ปรมัตถ์ เป็นรูปทางบัญญัติที่เราเคยรู้ เคยเห็นมาตามสัญญาที่นึกออก เพราะฉะนั้น จะให้เกิดดับอย่างไรก็ไม่ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รู้สึกเราจะคิดเป็นเรื่องราว แต่ถ้าจะเข้าใจว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วทำไมจำว่าเป็นพระอาทิตย์ ทำไมจำว่าเป็นเก้าอี้ใช่ไหม เพราะว่าสิ่งนั้นต้องปรากฏสัณฐานที่ต่างกัน ซึ่งความจริงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นธาตุ เป็นธรรมอย่างหนึ่งจริงๆ ซึ่งสามารถกระทบจักขุปสาทแล้วจิตเกิดขึ้นเห็น เท่านั้นเองจริงๆ นี่คือความจริง ส่วนจะเรียกว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์ เก้าอี้ หรืออะไร ก็ไม่ใช่รูปที่ปรากฏทางตาเลย แต่เพราะว่ารูปที่ปรากฏทางตามีจริง และเกิดดับสืบต่อหลากหลายปรากฏเป็นสัณฐานต่างๆ ทำให้สัญญาที่เมื่อชินกับการที่จะจำสัณฐาน ก็บัญญัติหรือรู้ในความต่างว่า พระอาทิตย์ไม่ใช่พระจันทร์ อยู่บนฟ้าด้วยกันก็จริง ดาวก็ไม่ใช่พระจันทร์ เล็กจริงๆ สว่างจริงๆ หรืออย่างไรก็ไม่ใช่พระอาทิตย์ ใช่ไหม นี่ก็คือการจำของสัญญาซึ่งจำในสิ่งที่ปรากฏซ้ำๆ กัน แม้ไม่มี (สิ่งที่ปรากฏทางตา) เราก็พูดถึงพระอาทิตย์ได้ ขณะที่กำลังพูดถึงพระอาทิตย์ ไม่ได้คิดถึงดาว

    ก็แสดงถึงความจำ จำแม้แต่ในคำ และเรื่องราวรูปร่างสัณฐานทั้งหมด จึงจะเข้าใจว่า จำมีจริง แต่จำไม่ใช่เรา เกิดกับจิตทุกขณะ และจำก็จำรูปร่างสัณฐาน จนกว่าปัญญาเห็นถูกเมื่อไร สัญญาเริ่มจำถูกตามปัญญาที่เห็นถูก จากอัตตสัญญาค่อยๆ เป็นอนัตตสัญญา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น แม้จะมองที่โต๊ะ ลักษณะเกิดดับของโต๊ะ ย่อมไม่มี เพราะไม่ใช่ปรมัตถ์ เป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้ว่า ไม่ใช่โต๊ะ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น ยังไม่มีสัญญานี้เลย แล้วอะไรดับ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นต่างหากดับ เพราะเมื่อเกิดปรากฏ แล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็ตาม ที่ไม่เป็นรูปปรมัตถ์ ที่ไม่ปรากฏทางตาแล้ว จะเกิดดับไม่ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แข็งปรากฏทางตาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เกิดดับหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ อีกครั้ง รูปที่สามารถที่จะปรากฏให้เห็นได้ มีกี่รูป

    ผู้ฟัง รูปเดียว

    ท่านอาจารย์ รูปเดียว สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เป็นรูป มีลักษณะของรูปซึ่งต่างๆ กันไป นามธรรมจะปรากฏให้เห็นได้ทางตาไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทางหู

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทางจมูก

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทางลิ้น

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทางกาย

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะทางกาย อะไรปรากฏให้รู้ได้ว่ามี

    ผู้ฟัง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

    ท่านอาจารย์ ทางลิ้น อะไรปรากฏให้รู้ได้ว่ามี

    ผู้ฟัง รส

    ท่านอาจารย์ ทางจมูก อะไรปรากฏให้รู้ได้ว่ามี

    ผู้ฟัง กลิ่น

    ท่านอาจารย์ ทางหู อะไรปรากฏให้รู้ได้ว่ามีสิ่งนั้นจริงๆ

    ผู้ฟัง เสียง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี่เป็นรูป แต่รูปใดสามารถปรากฏให้เห็นได้

    ผู้ฟัง เห็นได้ทางตาเพียงรูปเดียว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทางกายแข็งปรากฏ ถูกต้องไหม ร้อนปรากฏ อ่อนปรากฏ เกิดดับหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นที่เกิดดับ ทุกอย่างที่เกิดต้องดับ

    ผู้ฟัง ก็วนมาถึงคุณเด่นพงศ์ โต๊ะเกิดดับไม่ได้ เพราะว่าเป็นอนัตตา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โต๊ะอยู่ที่ไหน ที่จริงเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่โต๊ะ เพราะฉะนั้น อะไรเกิดดับ

    ผู้ฟัง จิตเห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วรูปไม่เกิดดับหรือ

    ผู้ฟัง สภาพที่เกิดดับไม่รู้ เพราะความรู้ไม่ถึง

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตรู้หรือว่า กำลังเกิดดับ

    ผู้ฟัง รู้ตามที่ท่านบรรยาย และในตำรา

    ท่านอาจารย์ แล้วพระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือเปล่าว่า รูปกำลังเกิดดับ

    ผู้ฟัง เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้แสดงเฉพาะจิตเท่านั้นที่เกิดดับ สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เกิด ดับ เร็วมาก

    ผู้ฟัง เริ่มเข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง ผมขอถามเรื่องสัญญา อาจจะเป็นเรื่องเก่าที่ท่านอาจารย์เคยอธิบายให้คนอื่นฟัง แต่ผมไม่เคยฟัง ทำไมสมองคนเราเมื่อถูกกระทบกระเทือนหรือผ่าตัด มักจะได้ยินว่า ความจำเสื่อม หรือจำได้น้อยลง ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายว่า สมองเป็นรูป ไม่สามารถเกิดสัญญาในรูปได้ สัญญาเกิดกับจิตอย่างเดียว แต่ทำไมเมื่อสมองถูกกระทบกระเทือน หรือผ่าตัด สมองจะจำอะไรไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ สมองเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ แล้วจำเป็นอะไร

    ผู้ฟัง จำเป็นนาม

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่จิตเกิด สัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีจิต ขณะนั้นต้องมีสภาพจำในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น ใช่ไหม

    ผู้ฟัง คุณหมอช่วยยืนยันให้หน่อยว่า ทำไมผ่าตัดสมอง จึงจำอะไรไม่ได้ หรือสมองเสื่อม

    ท่านอาจารย์ จำอะไรไม่ได้ กำลังจำหรือเปล่า ที่บอกว่า “จำอะไรไม่ได้” ขณะนั้นจำหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จำว่า จำอะไรไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ยังต้องจำอยู่กับจิตทุกขณะที่เกิด

    ผู้ฟัง แต่จำในสิ่งที่

    ท่านอาจารย์ จำอะไรก็แล้วแต่ จำอะไรได้ทั้งหมด สัญญาจำได้ทุกอย่าง จำนิพพานได้ จิตรู้อะไร สัญญาก็จำสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง จำได้อยู่อย่างเดียว คือ จำอะไรไม่ได้ จำทุกอย่างไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ มีจิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ต้องมีจำ

    ผู้ฟัง ในเมื่อมีจิตอยู่แล้ว จิตไม่ได้ถูกทำลายไป น่าจะจำอะไรได้หลายๆ อย่าง ไม่ใช่จำได้อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ จิต ๑ ขณะ จำได้กี่อย่าง

    ผู้ฟัง จำได้ทีละอย่าง แล้วผู้ผ่าตัดสมอง ถึงแม้จะจำได้ทีละอย่าง ไม่สามารถจำแต่ละคนๆ ได้

    ท่านอาจารย์ จะไปคิดอะไรกับการผ่าตัดสมอง ในเมื่อจิต เจตสิก รูป เป็นสิ่งที่มีจริง และสภาพธรรมที่มีจริงก็มีจริง ทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะให้สัญญาเจตสิกไม่เกิดกับจิตไม่ได้ เมื่อจิตเกิดแล้ว จะไม่มีความจำไม่ได้ เพราะหน้าที่จำเป็นหน้าที่ของสัญญาเจตสิก ไม่ใช่หน้าที่ของใคร ไม่ใช่หน้าที่ของคุณหมอ ไม่ใช่หน้าที่ของสมอง ไม่ใช่หน้าที่ของใครเลย แต่เป็นหน้าที่ของธาตุชนิดหนึ่งซึ่งจำ ไม่ใช่จิต เป็นธรรมชนิดหนึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ

    อ.วิชัย จิตที่เกิดขึ้นมีเหตุ และปัจจัยแต่ละประเภทเกิดขึ้น ซึ่งปัจจัยก็มีมากมาย ถ้าไม่สบาย หรือรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม จิตใจจะปกติไหม ไม่ เพราะเหตุว่า มีปัจจัยให้จิตนั้นเป็นไป เพราะจิตเกิดแล้วก็ดับๆ แล้วมีปัจจัยให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้น อย่างเช่น ถ้าเมาสุรา จะเป็นจิตปกติไหม จะจำอะไรได้ไหม แต่ยังมีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ และมีธรรมอื่นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แต่เพราะมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้จิตประเภทนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น ฉะนั้น ร่างกายถ้าเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม ต่างก็เป็นปัจจัยที่ให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้น อาศัยปัจจัยมากมายที่จะให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม จิตเกิดแล้วก็ดับ ก็มีปัจจัยให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งก็ไม่เหมือนเดิม เพราะเหตุว่าจิตดวงก่อนก็ดับแล้ว ไม่กลับมาเกิดอีกเลย ก็มีปัจจัยให้จิตประเภทอื่นๆ เกิดขึ้นใหม่

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่า สมองที่ถูกผ่าตัดก็เป็นปัจจัยให้จิตเปลี่ยนแปลง อย่างนั้นใช่ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    30 พ.ย. 2567