พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 486


    ตอนที่ ๔๘๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เมื่อเริ่มรู้จริง ก็ต้องอบรม วิริยะไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น แต่ขณะที่เห็นประโยชน์ ไม่ละเลย แล้วมีการฟัง มีการละความไม่รู้ จนกระทั่งสามารถเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็อดทนต่อไป คือ ไม่คิด ไม่หวังที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเมื่อไร ที่ไหนก็ตาม ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วดับ ไม่ใช่อันเก่าเลยสักขณะเดียว เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดตามเหตุตามปัจจัยเรื่อยๆ จึงไม่มีสักสิ่งหนึ่ง ธรรมใดที่จะเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    อ.กุลวิไล ประโยชน์ของการอบรมปัญญาจริงๆ มีคุณมาก การฟังธรรมทุกวันนี้ก็เหมือนกับว่าเป็นการที่อบรมความเห็นถูก แต่พระธรรมก็เป็นเรื่องยาก พอเราลุกจากห้องนี้ไป อกุศลก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ทันต้องเป็นเรื่องราวที่เป็นกุศล หรืออกุศลต่อไปอีกยาวมาก โดยข้ามการเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็เพียงปรากฏ แต่ที่จะเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพราะขณะนั้นคิด แล้วก็ฟังอย่างนี้ ฟังเรื่องวิถีจิต ฟังเรื่องรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ในขณะที่รูปปรากฏ ไม่รู้เลยว่า รูปที่ปรากฏนั้นจะเป็นอะไรได้ เพราะเป็นเพียงสิ่งที่กระทบปรากฏแล้วหมดไป แต่เวลานี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพราะคิด เห็นแล้วคิดว่า เป็นคนนั้นเป็นคนนี้ ถ้าถามว่าคิดอะไร ก็อาจจะคิดเรื่องเมื่อเช้าฟังธรรม หรือขณะนี้กำลังคิดเพื่อน คิดถึงบ้าน คิดถึงอะไรๆ ไกลไหม โดยที่แม้จะฟังมาว่า เมื่อเห็นแล้วคิด จึงสามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้เป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น การศึกษาเพื่อที่เข้าใจสภาพธรรม จึงต้องละเอียดจริงๆ แล้วไม่ไช่หมายความว่า เราพยายามที่จะไปให้รู้หรือคิดอย่างนี้ได้ แต่เพราะเหตุว่ามีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ก็ทำให้วันไหนที่ความเข้าใจเพิ่มขึ้น สิ่งที่เข้าใจ พร้อมกับสติสัมปชัญญะที่กำลังเข้าใจลักษณะที่ปรากฏด้วยความเข้าใจตรงตามที่ได้ยินได้ฟังทุกอย่าง นี่แสดงให้เห็นว่า จะข้ามหรือละเลยสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นแต่ละขันธ์ไม่ได้เลย ขณะนี้มีความรู้สึกก็มี แต่ไม่ได้รู้ในลักษณะของความรู้สึก สัญญา ความจำต้องมีแน่ ก็ไม่ได้รู้ว่า ที่รู้ว่าเป็นใครเพราะคิดด้วยการจำ ถ้าไม่จำไว้ จะคิดได้หรือไม่ว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้

    นี่คือความละเอียดของธรรมใน ๑ ขณะ ซึ่งเราเรียนเพื่อเข้าใจความจริงว่า ธรรมเป็นอนัตตา แล้วไม่ว่าสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏ ก็จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดปรากฏ และที่จะเกิดได้ก็ต้องมีปัจจัย อย่างที่ได้เรียนโดยละเอียดขึ้นๆ ว่า เป็นธรรมแต่ละอย่างเพื่อจะให้เห็นได้จริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะถึงวันนั้น หมายความว่า ไม่ต้องคิดเรื่อง แล้วเมื่อไรจะรู้ แล้วก็มองเห็นก็เป็นคนนั้นคนนี้ไปตลอด พยายามที่ไปทำให้ไม่เป็นคนนั้นคนนี้ นี่คือตัวตน ไม่ใช่การคลายความไม่รู้ เพราะเข้าใจขึ้น โดยการที่ค่อยๆ มีความมั่นคงว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นเพียงขณะที่ปรากฏ ถ้าไม่เห็น สิ่งนี้ปรากฏไม่ได้ เห็นแล้วดับแล้ว ก็มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมทั้งนามธรรม และรูปธรรม สืบต่อไปทุกๆ ขณะ

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ในการศึกษาธรรมต้องตรงแล้วละเอียด จึงจะได้สาระจากพระธรรม ซึ่งตรงนี้เมื่อสำรวจตัวเอง เหมือนกับขาดความตรง และละเอียด ก็เหมือนจะได้สาระจากการศึกษาพระธรรมน้อยลง

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องไปสนใจเรื่องได้ไม่ได้ แต่ฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง มิฉะนั้นแล้ว จะไปเข้าใจอะไรที่ไม่ได้ฟัง ก็คือคิดเอง คิดเองจะก็คิดอย่างที่ได้ฟังหรือไม่ แต่เมื่อได้ฟังแล้วไม่ลืม สัญญาที่มั่นคง คือ จำ แล้วมีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็รู้ว่าเป็นธรรม เกิดแล้วจึงปรากฏ แล้วก็ดับไปแล้วด้วย เพราะว่าสภาพธรรมตลอดวันก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดแต่ละลักษณะ ฟังอย่างนี้แล้วจะรู้ได้เลยว่า เป็นสภาพธรรมทั้งนั้นทุกขณะ แต่ก็ไม่ได้รู้ ว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นการฟังก็คือฟังด้วยความเป็นผู้ละเอียด แล้วรู้ว่า เมื่อไรที่เริ่มเข้าใจ คือ ระลึกได้ว่า เป็นธรรม นั่นคือเริ่มที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เพิ่มขึ้นๆ จนสามารถที่จะละคลายการคิดแต่เรื่องอื่น หรือคิดเรื่องคำ หรือคิดเรื่องอะไร แต่ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม หรือว่าก็ต้องฟังอย่างนี้เอง ไม่ใช่ต้องฟังอย่างอื่น เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะเตือนทุกคนที่มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ แล้วก็สะสมมาที่วันหนึ่งๆ ก็จะไม่ระลึกถึงธรรม จนกว่าจะได้ฟังธรรม และเมื่อฟังแล้วก็ต้องเป็นผู้ละเอียด ที่ต้องเข้าใจให้ตรงว่า ธรรมเป็นอย่างนี้ แล้วการเข้าใจธรรมจากการฟังเป็นอย่างหนึ่งซึ่งจะมั่นคงจนกระทั่งสามารถเริ่มรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นเริ่มรู้ว่า แทนที่จะคิดเรื่องอื่น ก็มีการใส่ใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เริ่มคิดถึง เริ่มรู้ เริ่มเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง การที่จะเข้าถึงลักษณะก็คือใส่ใจ สังเกตลักษณะของธรรมว่า แต่ละลักษณะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง แยกไม่ออกระหว่าง เป็นการระลึกรู้ หรือเป็นตัวเราที่จดจ้อง

    ท่านอาจารย์ แล้วเราเรียนมาว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง สติที่จะระลึกก็เป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด

    ท่านอาจารย์ กว่าจะเริ่มเข้าใจขึ้นตรงตามที่ได้เรียน ตามที่ได้เข้าใจ ก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า มาจากการฟังด้วยความอดทน วิริยะ โดยไม่ใช่เรา เพียรที่จะฟังต่อไป ไม่ใช่ฟังเรื่องอื่น ฟังให้เข้าใจ เห็นหรือไม่ เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    อ.วิชัย กล่าวถึงความจดจ้อง หรือความเข้าใจถูกในความเป็นอนัตตาของสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าพูดถึงลักษณะของปัญญาเกิด ความเข้าใจนั้นก็ต้องทราบว่า บังคับบัญชาไม่ได้ คือมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น หรือยังไม่เพียงพอกับบางกาลที่อบรมแล้ว ความเป็นตัวเราที่จะจดจ้องก็มีด้วย แต่ขณะนั้นก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ก็จะเห็นว่า ปัญญามีหลายระดับขั้น แม้ฟังแล้ว เกิดนึกที่จะรู้ ที่จะสนใจ ใส่ใจในลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ขณะนั้นก็มีความจงใจด้วย เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ปัญญาเพียงจากขั้นฟังเข้าใจ แล้วเริ่ม ใช้คำว่า “เริ่ม” ปรารภแล้ว ปรารภอีก คือ เพียงครั้งเดียวไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้แน่นอน เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้จากการฟังมานาน ขณะใดก็ตามที่เริ่ม ที่จะใส่ใจในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แค่เริ่ม จะให้เป็นความรู้ชัดมากมาย เป็นไปไม่ได้ ก็จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะไม่รู้ว่า มีอะไรบ้างในชีวิตจริงๆ ลองทบทวนไปถึงเมื่อเช้า ผ่านไปแล้วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรปรากฏบ้าง คิดย้อนกลับไป จะไม่รู้เลย เหมือนกับขณะนี้อะไรปรากฏบ้าง ถ้ารู้จริงๆ แข็งมีปรากฏบ้างหรือไม่ แม้เล็กน้อย เสียงมีปรากฏบ้างไหม คิดนึกมากมาย แต่ทั้งหมด เหมือนกับหมดไปโดยไม่รู้ ถ้าเป็นขณะที่รู้จริงๆ จะเพิ่มการรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น เวลาใดก็ตามที่สภาพธรรมเกิด โดยที่ไม่มีโสภณธรรม ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะการเกิดดับอย่างรวดเร็วของสภาพธรรมนั้น ผ่านไปเหมือนไม่รู้เลย เล็กน้อยมาก สั้นมาก ลักษณะสภาพธรรมปรากฏกับสติ กับลักษณะที่ไม่ปรากฏกับสติ จึงมีความต่างกัน

    นี่เป็นเหตุหนึ่งที่จะเข้าใจว่า ขณะไหนสติเกิด และขณะไหนหลงลืมสติ แม้อย่างนั้นขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เริ่ม ก็จะน้อยมาก เพราะเหตุว่าสิ่งที่สะสมมามากมาย มีปัจจัยที่จะเกิดต่ออย่างรวดเร็ว เช่น ความจงใจ ความต้องการ ความอยากรู้ แต่ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ถ้าปัญญาไม่รู้ ไม่ละ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า กว่าจะถึงความบริสุทธิ์หมดจดจากทิฏฐิ ความเห็นผิด ความติดข้อง ความไม่รู้ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเป็นเรา ทั้งอัตตานุทิฏฐิ และสักกายทิฏฐิได้ ต้องเป็นปัญญาที่สามารถที่จะรู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ และละเอียดขึ้นด้วย

    ผู้ฟัง คำว่า ตามรู้ อย่างเช่นลักษณะแข็งเกิด ก็มีจิตคิดไปว่า กำลังจะกระทบอยู่ จะเอาแขนไปเท้าที่โต๊ะ ก็ไปตามรู้ว่า เดี๋ยวต้องแข็ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเราตาม จะตามรู้แข็ง จะตามรู้นั่น จะตามรู้นี่ ฟังให้เข้าใจธรรม แล้วก็ไม่มีการสงสัย เพราะความเข้าใจนั้นจะทำให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง หรือการได้ยินว่า ตามรู้ ก็เลยสงสัยว่า จะเข้าใจอย่างไร เวลาที่มีคำว่า ตามรู้ ถูกต้องหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็เลยคิดไปเองว่า จะท้าวตรงโต๊ะแล้ว ต้องมีแข็งเกิด ก็เลย

    ท่านอาจารย์ แล้วตอนนั้นที่ยังไม่ท้าวแขน มีอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีคิด

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่รู้คิด จะไปทำท้าวแขน

    ผู้ฟัง ก็ข้ามไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้สิ่งที่เกิดปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัยหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ทำอย่างนั้นถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ผิด ทั้งๆ ที่รู้ว่า ผิด ก็ยังไม่เข้าใจอีก ก็ยังไปหาที่เรารู้ตาม เมื่อแข็งแล้วปรากฏ ดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า คุณบุษกรได้ยินแล้วจะทำ

    ผู้ฟัง เป็นเช่นนั้น ไม่ได้ถึงตรงลักษณะจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่า ไม่ต้องทำอะไร เพราะมีสภาพธรรมเกิดแล้วปรากฏ ทำไม่ได้เลย แต่เพราะไม่เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ จึงไปทำ

    ผู้ฟัง บางครั้งรู้สภาพคิด เช่น คิดในสิ่งที่ไม่ดี แล้วก็รู้ว่า เป็นสภาพของธรรมที่คิด

    ท่านอาจารย์ เป็นความคิด แต่รู้ลักษณะที่คิดหรือเปล่า จะใช้คำว่า รู้สภาพคิด เพียงแต่รู้ว่า คิดอะไร แต่รู้สภาพคิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง สภาพคิดตรงนั้นไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า รู้สภาพคิดไม่ได้

    ผู้ฟัง เมื่อคิดแล้ว ไม่สบายใจเกิดขึ้น มาระลึกได้ว่า เป็นสภาพของคิด เป็นลักษณะของธรรม

    ท่านอาจารย์ ใครระลึก

    ผู้ฟัง ขณะนั้นยังไม่ได้คิดว่า ตัวเองระลึก

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ต้องคิดว่า ตัวเองเห็นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็จะมีตัวเองอยู่บ่อยๆ แต่ว่าน้อยมาก

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่เพราะคิด ไม่ใช่หรือ

    ผู้ฟัง คิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่คิด เป็นตัวเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าไม่คิด ก็ไม่ใช่ตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ตกลงเห็นนี่เป็นใคร

    ผู้ฟัง ถ้าถามอย่างนี้ ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจอะไรเลย เห็นก็ยังเป็นเห็นท่านอาจารย์อยู่

    ท่านอาจารย์ ก็จะเห็นได้ว่า เวลาฟังธรรม ความเข้าใจธรรมเล็กน้อย แล้วก็ไปคิดอีกมาก แล้วคิดนั้นตรงหรือไม่ตรง จะทำให้เข้าใจสภาพที่ได้ยินได้ฟังว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถูกต้องหรือไม่ โดยไปคิดเอาเองมากมาย

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ท่านอาจารย์กล่าวว่า ฟังแล้วคิดเป็นธรรม แล้วคิดเป็นเรื่องราว ก็มาไตร่ตรองว่า เรื่องราวก็เป็นธรรม แล้วคิดอย่างไรเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ คิดอย่างไร ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง จะคิดอย่างไร ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง คิดเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ คำถามว่า จะคิดอย่างไร ใช่หรือไม่ ยังถามอย่างนี้อยู่ ก็คือไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง การที่จะคิดว่า เป็นธรรม ก็คือได้ยินได้ฟังว่า เป็นธรรม สภาพคิดที่เกิดจริงๆ ไม่ได้เข้าถึงว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังธรรม ไม่ใช่ไปคิดอย่างอื่น

    ผู้ฟัง ฟังธรรม ขณะที่ฟังเข้าใจ แต่สภาพคิดไม่ได้คิดว่าเป็นธรรมเลย คิดเป็นเรื่องราวไปหมด

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าฟังต่อไปอีก จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นอีกหรือไม่ว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงว่ามีอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว ก็ไม่พ้นเป็นธรรม แต่เราไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง ถ้าพูดถึงธรรมแล้วก็ไม่พ้นสิ่งที่มีจริงๆ ต้องมีสภาวะ มีลักษณะ

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึงการเข้าใจสภาพธรรม แล้วพิจารณาสิ่งที่ปรากฏจนเป็นปัจจัยให้สติเกิด คือ ฟังเหมือนกับรวดเร็ว แต่ความเป็นจริงการอบรมเจริญแม้ความเข้าใจก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก หรือความเป็นของสังขารขันธ์ที่น้อมไปพิจารณาสิ่งที่ปรากฏก็เป็นไปได้ยาก จนกว่าสติจะเกิด

    ท่านอาจารย์ นี่คือผู้เข้าใจธรรม ฟังแล้ว ขั้นฟังต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะเข้าใจว่า นี่เป็นพื้นฐานที่จะรู้จักตัวธรรม ซึ่งเป็นอภิธรรมเพราะลึกซึ้ง พูดเรื่องเห็นง่ายๆ หมดแล้ว แต่ความลึกซึ้งของธรรมที่กำลังเห็น กล่าวได้โดยนัย โดยประการทั้งปวง ๔๕ พรรษา ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมทั้งหมดที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว กี่ภพกี่ชาติก็ต้องเป็นอย่างนี้

    การฟังแต่ละครั้ง ไม่ใช่ให้ใครไปทำอะไร เพราะอะไร ธรรม ใครทำได้ ถ้ารู้ว่าเป็นธรรม เกิดแล้วด้วย ถ้าไม่เกิด จะมีใครมาอยู่ตรงนี้หรือเปล่า หรือจะมีอะไรอยู่ตรงนี้หรือเปล่า แต่เพราะไม่รู้ว่ามาอย่างไร ใช่หรือไม่ จึงได้เป็นขณะนี้ แม้จะเห็น แม้จะคิด แม้จะได้ยิน แต่ละคนต้องเป็นไปตามความเป็นไปของจิต ตามการสะสมของแต่ละจิตทีละ ๑ ขณะ ที่ได้สะสมมาแล้ว

    เพราะฉะนั้น แม้ว่า จะได้ยินได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมก็เป็นผู้ตรง เห็น กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏกำลังปรากฏ ค่อยๆ ฟังเข้าใจว่า เป็นสิ่งซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็ต้องเกิดแล้วด้วย แล้วก็ปรากฏ ทรงแสดงถึงปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่าง เกิดปรากฏได้ด้วย เพื่อจะได้เห็นชัดว่า เป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และการฟังธรรมต้องลึกซึ้งด้วย เช่น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หมายความว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วก็ไม่เป็นอิสระ

    ฟังแล้วรู้สึกอย่างไร ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน แน่นอน เห็นปรากฏ ตัวไหน ไม่มีเลย เป็นธาตุที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ เท่านั้น แล้วก็หมดไป เสียงจะเป็นใคร หรือของใคร มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาทั้งหมด ไม่อยู่อำนาจบังคับบัญชา และไม่อิสระ เห็นหรือไม่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจตรงกับที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้เลย เพียงแต่ใช้อีกคำหนึ่ง เพื่อจะทดสอบความเข้าใจของคนฟังว่า สามารถเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “ไม่เป็นอิสระ” หรือเปล่า เพราะเหตุว่าตอนแรกก็ทรงแสดงไว้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่ใช่ใคร เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเมื่อมีปัจจัย ไม่เป็นอิสระ

    อ.วิชัย หมายความว่า สภาพธรรมเป็นอย่างนั้นเอง คือ ไม่สามารถบังคับให้เป็นอย่างอื่นได้

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า เมื่อไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่เป็นอิสระ เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จะเป็นอิสระ จะเกิดเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ได้หรือไม่ ไม่ได้เลย แม้ว่าเป็นอนัตตาจริง แต่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย พ้นจากเหตุปัจจัยไม่ได้ เพื่อให้เข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” ยิ่งขึ้น พอฟังเผินๆ ก็เหมือนว่า เมื่อไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ก็อิสระ แต่ว่าไม่เป็นอิสระ เพราะว่าเกิดเองตามใจชอบไม่ได้ เป็นไปตามต้องการไม่ได้ แต่ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้นตามเหตุตามปัจจัยที่มีอย่างนั้นในขณะนั้น จะเป็นอื่นจากนั้นไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า ธรรมเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่อิสระ การที่ไม่อิสระหมายความว่า เห็น เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ได้ยินเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างคนที่ศึกษาธรรมกับไม่ศึกษาธรรม การที่จะมีปัญญาเข้าใจธรรม ก็ต้องสร้างเหตุปัจจัย จะต้องอบรม ต้องฟัง อย่างคนในครอบครัว ถ้าอยากให้ลูกสนใจธรรม ก็ต้องมีเหตุปัจจัยให้เขาสนใจ ถ้าต้องการให้สังคมเป็นอย่างไร สังคมเป็นอย่างไรนี่เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่อิสระ แล้วแต่เหตุปัจจัย ซึ่งบางคนก็คิดว่า ถ้าต้องการให้สังคมเป็นอย่างนี้ จะให้ผลเป็นอย่างไร ก็ต้องเหตุเป็นอย่างนั้น แล้วสามารถทำให้เหตุเป็นอย่างนี้ได้เพื่อให้ผลเป็นอย่างนั้น เหมือนกับว่าเป็นอนัตตาแล้วไม่อิสระ ตั้งแต่เราอบรมเจริญปัญญา ครอบครัว สังคม จะหาเส้นแบ่งที่จะบอกว่า เหตุปัจจัยเป็นอย่างนั้น หรือเราสร้างเหตุปัจจัยที่ดีเพื่อผลที่ดี

    ท่านอาจารย์ สังคมเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นจิต เจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ สังคมไหนเป็นจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่มารวมกัน แล้วก็มีกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าตัวเป็นสังคมก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมอะไร ขณะที่กำลังเป็นสังคม

    ผู้ฟัง ก็ไม่พ้นจิต เจตสิก รูป เห็น ได้ยิน อะไรก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ แต่ความจริง คิด ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นความคิดว่าเป็นสังคม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ขอรายละเอียดกับสิ่งเหล่านี้เพื่อความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่า คนที่เข้าใจธรรม จะไม่ทำอะไร จะไม่คิดอะไร จะไม่เป็นประโยชน์อะไร ใช่หรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    29 ก.ค. 2567