พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 487


    ตอนที่ ๔๘๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ให้รายละเอียดกับสิ่งเหล่านี้เพื่อความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่า คนที่เข้าใจธรรมจะไม่ทำอะไร จะไม่คิดอะไร จะไม่เป็นประโยชน์อะไร ใช่หรือไม่ เพราะเหตุว่าเข้าใจธรรม ไม่ว่าจะคิดอะไร จะทำอะไร ต้องถูกต้องตามคลองของธรรม และขณะนั้นจะรู้ได้เลยว่ามีความเข้าใจธรรมระดับไหน เพราะแม้แต่ธรรมที่กำลังคิดก็ไม่รู้ แล้วจะไปช่วยอะไรสังคม เมื่อสังคมก็ไม่รู้หมด สังคมไหนรู้ ในเมื่อคนที่จะช่วยสังคม รู้หรือยัง

    อ.กุลวิไล ดูเหมือนคนอยากจะช่วยก็อยู่กับอกุศลเพราะว่าวุ่นวาย

    ท่านอาจารย์ คงจะมีกุศลด้วย เพราะเหตุว่าไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว แต่ต้องในคลองของธรรม มั่นคงในธรรม ธรรมเป็นธรรม ธรรมไม่ผิด ทุกคำที่ทรงแสดง แสดงให้เห็นว่า กว่าจะถึงอริยสัจจะ ไม่ใช่ว่าเราจะมีความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็สะสมอกุศลไว้มากมายพอกพูน แล้วเมื่อไรจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ เช่น ที่พูดถึงเรื่องคิด คิดมีจริง แต่เรื่องที่คิด มีจริงหรือเปล่า ใช่หรือไม่ แล้วเห็นมีจริง แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง แต่เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จริงหรือเปล่า ตอนนี้ฟัง เพื่อจะได้ไตร่ตรอง และเมื่อไรที่จะเข้าใจถูกต้องว่า เริ่มเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น มีอะไรเป็นเครื่องวัดว่า ขณะนี้เริ่มที่จะเข้าใจ ไม่คิดถึงอย่างอื่น ใส่ใจที่จะรู้ความจริงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริงๆ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น สิ่งนี้เปลี่ยนไม่ได้เลย แล้วรู้จริงๆ อย่างนี้หรือยัง และอะไรเป็นเครื่องวัดว่า รู้หรือยังไม่รู้ หรือว่ารู้แค่ไหน ถ้ากำลังคิดที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ลืมแล้วใช่หรือไม่ว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วยังมีการคิดว่า สิ่งนั้นเป็นอะไรด้วย แล้วยังเพลินไปจนกระทั่งไปถึงว่าจะทำอะไรอีกมากมายก่ายกอง โดยไม่รู้เลยว่า การที่เราจะรู้ว่า สิ่งใดจริง สิ่งใดไม่จริง ก็ต่อเมื่อ พอคิดแล้วเกิดระลึกได้ แค่คิด จริงหรือเปล่า ถ้าแค่คิด อย่างขณะนี้ที่กำลังเห็น แค่คิดว่าเป็นคนนั้นคนนี้ ถ้าไม่คิดจะไม่มีความจำได้ว่าเป็นอะไร แม้แต่สภาพที่จำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จริง แล้วก็จำด้วยความเข้าใจถูกต้องว่า ขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ต้องไปทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ต้องคิดอะไรเลยทั้งสิ้นก็ปรากฏ ไม่ต้องไปนั่งคิดเหมือนกับว่า แล้วเราต้องไปทำอะไรให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้น แต่สิ่งนี้ก็มีแล้ว เกิดแล้วปรากฏแล้ว

    เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะรู้ ความต่างของคิดกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ไปนึกถึงเรื่องมากมายว่าเราจะไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ ต่อไปนี้เราจะอย่างนี้อย่างนั้น นั่นก็คือคิดเป็นเรื่องต่างๆ แต่ไม่ได้เข้าใจว่า แม้ในขณะนี้ ที่มีเห็น ที่จะรู้จริงๆ ในความต่างของสิ่งที่มีจริงกับสิ่งที่เป็นเพียงคิดว่าเป็นอย่างนั้น ก็คือต่อเมื่อใด เดี๋ยวนี้ระลึกได้ว่า ขณะใดก็ตามที่เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ต่างกับที่กำลังเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ เพราะฉะนั้น คิดเรื่องอื่นก็เช่นเดียวกัน คิดตั้งยาวเมื่อสักครู่นี้กับเห็น รู้เลย คิดหมดแล้ว เห็น เห็นจริงๆ แต่เรื่องราวที่คิด หมดไปพร้อมกับจิตที่คิด

    ผู้ฟัง สภาพธรรมก็มีแค่นี้ รู้ ๖ ทาง แล้วก็เป็นอะไรก็แล้วแต่ที่คิดไป คิดตามการสะสมด้วย เต็มไปหมดเลย ขอเรียนท่านอาจารย์ให้ตอกย้ำรายละเอียดว่า ให้ตั้งต้นด้วยความเห็นถูก ความเข้าใจในสภาพธรรม เพราะท่านอาจารย์ก็เน้นมาตลอด แต่ผู้ฟัง ถามคำถามก็จะเป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่เป็นว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ตามเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแคว้นมคธ เป็นพระโสดาบัน ยังเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ ชีวกโกมารภัจจ์เป็นหมอ เป็นพระโสดาบันก็ยังรักษาพระภิกษุได้ และคนอื่นๆ ด้วย วิสาขามิคารมารดา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เป็นพ่อค้านักธุรกิจ ก็เป็นพระโสดาบัน และจะไปคิดว่า จะไม่ทำอะไร อย่างไร ให้ทราบว่า แต่ละชีวิต เกิดในขณะที่ปฏิสนธิประมวลมาซึ่งกรรม และสิ่งที่มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปในชาตินั้นตามกำลังที่ได้ประมวลมาสำหรับปฏิสนธิจิตในขณะนั้น ซึ่งเมื่อเกิดมาเป็นคน ก็เป็นผลของกุศลกรรม ประกอบด้วยปัญญา และไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ต่างกันนัยหนึ่ง ก็จะเห็นได้ถึงแต่ละบุคคล มีความสนใจ มีความเข้าใจธรรม มีการศึกษา ประพฤติปฏิบัติตาม ละเอียดขึ้นหรือเปล่า ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นไปตามการสะสม เราจะให้คนที่เขาไม่ได้สะสมปัญญา ให้เขามีความเข้าใจธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ ถ้าเขามีฉันทะ ความพอใจที่จะเป็นนักดนตรี ที่จะเป็นนักกฎหมาย ที่จะเป็นวิศวกร จะไปเปลี่ยนสิ่งที่สะสมมา ที่มีฉันทะในทางนั้นได้หรือไม่ ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า การสะสมมาทั้งหมดในแสนโกฏิกัปป์ ก็ประมวลมาที่จะทำให้ปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นเป็นไปพร้อมกับสิ่งที่ได้สะสมมาต่างๆ กันไป ไม่ต้องคิดว่า เป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่ช่วยใคร หรือว่าเป็นพระสกทาคามีแล้ว จะไม่ทำประโยชน์ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย คนที่ไม่รู้ความจริง อกุศลมาก อกุศลเป็นประโยชน์กับใคร แม้กับตัวเอง และคนอื่น ก็ไม่ใช่ แต่เวลาที่กุศลเกิดขึ้น ไม่ใช่สำหรับตัวเองเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่หวั่นไหวเลยในเรื่องการรู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วจะไม่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น หรือที่ใช้คำว่า สังคม แต่จะเป็นผู้ที่หนักแน่นมั่นคงในธรรมที่เป็นกุศล มีชีวิตที่ไม่เป็นไปในทางที่เป็นทุจริต แต่กว่าจะถึงอย่างนั้น ภาวนาทิฏฐานชีวิตัง เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยการอบรมที่มั่นคงเพื่อที่จะได้รู้ความจริง ด้วยการดำเนินชีวิตที่เป็นสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะ กาย วาจาสุจริตด้วย รวมทั้งการอาชีพ ถ้าเป็นอย่างนี้ วันหนึ่งก็สามารถที่จะอบรมปัญญายิ่งๆ ขึ้น แล้วละอกุศล ดับอกุศลได้ ตามกำลังของปัญญา

    อ.กุลวิไล ความถึงพร้อมด้วยองค์ธรรม ๓ อย่าง คือ การมีชีวิตที่สุจริต อธิษฐานคือ ความมั่นคง ภาวนาคือการอบรมปัญญา ขณะนี้ปัญญา เป็นความเห็นถูกมีประโยชน์มาก เพราะว่าเป็นธรรมฝ่ายดี ก็เป็นสิ่งที่ควรแก่การเจริญ

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความว่า คิดเป็นอนัตตา คิดก็คือ คิด แต่สิ่งที่ควรจะได้เจริญ ก็คือ หมั่นเจริญสติ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ หมั่นเจริญสติหรืออะไรก็ไม่ได้ หมายความว่า ฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น แล้วก็รู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง หลังจากเข้าใจแล้ว ศึกษาตัวเองมากกว่าศึกษาคนอื่น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราด้วย

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา แต่ขณะที่กุศลจิต อกุศลจิตเกิด เรารู้

    ท่านอาจารย์ เราอีกแล้ว เข้าใจ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็ยังมีความมั่นคงว่า เราจะขยัน เราจะมีสติ เราจะเพียร ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เรา แต่ให้เริ่มเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นว่าเป็นธรรม แล้วสภาพของโสภณเจตสิกทั้งหลายก็จะเจริญขึ้น จะไม่เห็นผิด

    ผู้ฟัง ในขณะที่ธรรมเพิ่มขึ้น สติต้องเกิด

    ท่านอาจารย์ แน่นอน โสภณเจตสิกหรือโสภณธรรมต้องเกิดพร้อมกัน

    ผู้ฟัง การเจริญสติ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ปัญญาเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ไม่ต้องห่วงสติ เพราะแม้แต่ขณะที่กำลังเข้าใจ ก็มีโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ทั้งสติ ทั้งศรัทธา ทั้งหิริ ทั้งโอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ตัตตรมัชฌัตตตา สภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรมทั้งหมด จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ ต้องครบของงโสภณสาธารณเจตสิก เพราะฉะนั้นการเข้าใจจะเป็นปัญญาที่จะส่องให้เห็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น มิฉะนั้นจะเอาความมืด คือ อวิชชาออกได้อย่างไร มากมายหนาแน่น ฟังนิดหนึ่ง ก็ลืมว่าเป็นธรรม ฟังอีกหลายๆ ครั้ง ฟังเข้าใจในขณะที่กำลังฟังไม่มาก ต้องใช้คำว่า “ไม่มาก” เพราะอะไร แล้วก็ลืมว่า เป็นธรรม แต่ถ้ามาก แม้ขณะนี้สติสัมปชัญญะก็เกิดได้ ที่จะกล่าวว่า เป็นสติปัฏฐาน หรือเป็นสติสัมปชัญญะ ก็คือว่า ไม่มีใครทำ แต่เข้าใจที่จะรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เกิดแล้ว ระลึกแล้ว เลือกสิ่งที่สติกำลังระลึก กำลังรู้ก็ไม่ได้ แล้วความที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมก็จะเห็นได้ว่า ถ้ามีตัวตนเข้าไปแทรกเมื่อไร ก็คือกั้น จะไม่สามารถเห็นว่าเป็นธรรม ความสงสัยเป็นธรรม ความจงใจเป็นธรรม ความต้องการเป็นธรรม ทุกอย่างทั้งกุศลธรรม และอกุศลธรรม ทั้งหมดเป็นธรรม เพราะฉะนั้นฟังเพื่อที่จะละความเป็นตัวตน โดยรู้ว่า ขณะใดที่หลงลืมสติ ไม่ใช่สติเกิด จะไปพยายามให้สติเกิด คือผิด

    ผู้ฟัง เวลาเราได้ยินคำพูดว่า การศึกษาธรรม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือว่า ต้องประพฤติปฏิบัติตาม เลยทำให้รู้สึกว่า เหมือนมีเราที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

    ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืม คำที่ได้ยินได้ฟังแล้วว่าทุกอย่างเป็นธรรม เห็นหรือไม่ ว่าไม่มีความมั่นคงที่จะรู้ว่า แม้แต่คิดขณะไหนก็ตามก็เป็นธรรม ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด ห้ามไม่ให้คิด อย่างที่กำลังคิดได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ แสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยสะสมมาที่จะทำให้คิดอย่างนี้เกิดขึ้นกับแต่ละคน ไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ลืมไม่ได้ว่า เป็นธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา ลืมเมื่อไร ก็คือว่าคุ้นเคยกับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา แม้คิดก็เข้าใจว่าเป็นเรา แม้ความจงใจ ความตั้งใจ เจตนาต่างๆ ก็เข้าใจว่าเป็นเรา แม้โทสะ หรือโลภะ ก็เข้าใจว่าเป็นเรา นี่ก็คือการได้ยินได้ฟังยังไม่พอที่จะเป็นปัจจัยให้ประพฤติปฏิบัติตามได้ ถึงแม้คนที่กำลังฟังในขณะนี้ก็รู้ว่า ยังเป็นคนที่มีกิเลสทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่มีคำพูดที่เกิดจากอกุศล แสดงให้เห็นว่า ยังมีอกุศลนั้นๆ ที่ยังไม่ได้ดับไป นี่คือการเห็นถูกว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่พอมีคำพูดหรือมีวาจาที่เต็มไปด้วยอกุศล แล้วก็มีตัวตนที่จะทำอย่างอื่น ก็หมายความว่า การฟังยังไม่พอที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ด้วยเหตุนี้ต้องมีความมั่นคง แล้วไตร่ตรอง ธรรมคือสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ปรากฏในขณะนี้ จึงกล่าวว่าจริง ปฏิเสธไม่ได้เลย มีความมั่นคงว่า นี่เป็นธรรม แน่ๆ หรือเปล่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม แล้วคิดนึกเป็นเราหรือเป็นธรรม นี่แสดงให้เห็นว่า ทำไมบางครั้งคิดเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศลที่คิด บังคับบัญชาได้หรือไม่ ไม่ได้ ทุกคนอยากให้หมดอกุศล แม้คิดก็อยากให้เป็นกุศล พยายามจะบังคับให้เป็นกุศล แต่ถ้าตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง จะหมดอกุศลที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราไม่ได้ อกุศลทั้งหลายจะหมดไปไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาขยายความเพิ่มเติม คือไม่เข้าใจที่ว่า “นี้ทุกข์”

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นทุกข์ เราหรือธรรม

    ผู้ฟัง ธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ตรงกับที่ทรงแสดงไว้ว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแล้วดับ แต่ยังไม่รู้จักว่า นี้เป็นธรรม แล้วจะไป “นี้ทุกข์” ได้หรือไม่ ในเมื่อธรรมเกิด ธรรมดับ ถ้าเป็นเรา ไม่เกิดดับแน่ เพราะเป็นเรา

    ผู้ฟัง นี่ก็คือถ้าเรามั่นคงในการฟัง และเข้าใจว่า ขั้นของการฟังมีหลายระดับ ก็คือฟังธรรมไปตามขั้นตามตอน

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจถูก จะทำให้ประพฤติปฏิบัติตามธรรม โดยไม่ใช่เราประพฤติ

    ผู้ฟัง เราต้องพิจารณาก่อนว่า ผลเป็นอย่างไร ถ้าผลออกมาดีแน่นอน ค่อยทำ ทำให้สับสนว่า ในการพิจารณาทุกขณะจิต ทำไปเลย โดยไม่ต้องคิดถึงผล

    ท่านอาจารย์ แล้วพิจารณา เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ พิจารณาถูกเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ พิจารณาไม่ถูก เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นเรา หรือเป็นการสะสม หรือความเข้าใจธรรม และอกุศลทั้งหลายที่สะสมมาที่ทำให้ประพฤติเป็นไปอย่างนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นธรรม ไม่ว่าจะคิด จะทำ จะพูด ทั้งหมดก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นฟังธรรมแล้ว อยากจะคงความเป็นเราพิจารณาถูก หรือว่าฟังธรรมแล้วจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า เป็นธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายการยึดถือธรรมในขณะนั้นว่าเป็นเราได้ นี่คือประโยชน์ของการฟัง ฟังเพื่อที่จะเห็นถูกตามความเป็นจริงของธรรม เคยอยู่ในโลกที่มืดสนิท ใช้คำว่า “หลับ” ในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าไม่ได้รู้ความจริงเลย และขณะที่อยู่ในโลกของความมืดสนิท มีอะไรบ้าง มีความเห็นถูกหรือไม่ว่าเป็นธรรม มีความเห็นถูกว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับหลากหลาย แม้โลภะ โทสะ โมหะก็เป็นธรรม แต่ในโลกมืดก็เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ รวมทั้งผู้ที่อยู่ในโลกมืดด้วย แก่งแย่ง ริษยา เบียดเบียนในความมืด ห้ามได้หรือไม่ ในเมื่อมืดด้วยอวิชชา ถ้ามีปัญญา เริ่มที่จะเข้าใจถูกต้องขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย คุณอรวรรณมีศัตรูหรือไม่ อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง กิเลสหรืออกุศลที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นมิตรเลย คือ กิเลสอกุศล แล้วก็เป็นนักรบที่เริ่มจะรบกับศัตรูหรือยัง

    ผู้ฟัง จะรบกับศัตรู ปัญญาต้องเกิด ถ้าปัญญายังไม่เกิด ก็ยัง ...

    ท่านอาจารย์ แน่นอน อะไรก็จะไปรบกับศัตรูไม่ได้ ถ้าไม่มีปัญญา นักรบยิงไว ยิงไกล แต่กว่าจะเป็นนักรบที่ยิงไกล ยิงไวได้ จากคนธรรมดาแล้วก็จะเป็นนักรบที่ยิงไกล ยิงไวได้หรือไม่ แม้แต่จะคิดที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก มั่นคงในการที่จะรู้ว่า เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ก็ต้องอาศัยการฟังแล้วเข้าใจ นี่ก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง แม้ความคิดก็สามารถเข้าใจได้ว่า ในขณะที่คิดก็เป็นธรรม ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ก็จะมีความคุ้นเคยที่จะเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังในขณะที่ธรรมนั้นๆ ปรากฏ ไม่ใช่ว่า เวลานี้เรารู้ธรรมมากมาย แต่เวลาธรรมปรากฏ ไม่รู้อะไรเลย แม้แต่ถามว่า คิดอะไร ก็ลืม แล้วก็ข้ามไปเรื่องอื่นหมด แท้ที่จริงหลังเห็นก็คือคิด ก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้นกว่าจะเป็นนักรบที่ยิงไว และยิงไกล คือ สามารถจะรู้แม้สิ่งที่เคยไกลมาก จากความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็สามารถเห็นตามความเป็นจริงว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น เพื่อจะได้รู้ความจริงว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น บางคนฟังธรรม เพื่อประโยชน์ของตนเอง ฟังแล้วเราจะได้เป็นคนดี ฟังแล้วเวลาที่เราบริหารธุรกิจก็สามารถบริหารได้ถูกต้อง ก็ไปหวังผลด้วยความเป็นเรา แต่นั่นไม่ใช่ผลเลย ก็ยังอยู่ในความมืด ยังอยู่ในโลกของความมืด ซึ่งไม่เห็นจริงๆ ว่า อะไรเป็นศัตรู ศัตรูไม่ได้อยู่ข้างนอก ถ้าโกรธใครสักคนหนึ่ง ศัตรูอยู่ไหน

    ผู้ฟัง ภายใน

    ท่านอาจารย์ ใครเคยคิดที่จะละความโกรธให้หมดไปได้เลย ไม่เหลือเลย มีหนทาง คือ ปัญญา ไม่ใช่เราไปอ่านหนังสือเล่มนั้น ฟังเรื่องนี้ แล้วก็พยายามที่เป็นตัวตน แต่ปัญญาที่เห็นถูก เข้าใจถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม มิฉะนั้น จะไม่ได้พึ่งพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราคิดเอง แต่พระปัญญาคุณของพระองค์ที่ทรงอุปการะ อนุเคราะห์ ๔๕ พรรษา เพื่อให้มีปัญญา ที่จะเห็นธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะดับ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ไม่เหลือเลย ในจิตแม้ขณะที่กำลังหลับสนิท หรือขณะใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยปัญญาอย่างเดียว เลิกคิดว่า เมื่อไรจะไม่โกรธ เมื่อไร จะมีใจบุญกุศลมากๆ นั่นคือเรา แต่ว่าไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศล ความรวดเร็วของอกุศลก็คือว่า ไม่นานเลย จากหลับสนิท แค่ตื่นเห็น ถึงเวลาที่อกุศลจะเกิดแล้ว ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้พึ่งพระธรรมได้อย่างไร ธัมมเตโช พุทธวัจนะทุกคำ เป็นกำลังที่จะสามารถเผาอกุศลได้

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า การฟังธรรมมีหลายขั้นหลายตอน ก็ฟังธรรมไปต่อเนื่อง เป็นนิจศีล ไปเรื่อยๆ แล้วก็เข้าใจสิ่งที่อ่าน หรือสิ่งที่ฟังเทป เมื่อไรก็เมื่อนั้น ใช่หรือไม่ โดยไม่ต้องไปคิดว่า ต้องประจักษ์แจ้งสิ่งใดเมื่อไร ก็คือถ้าสะสมไปจากการได้ยินได้ฟัง จากการฟังเทป หรือการอ่านหนังสือ ก็ให้เข้าใจว่า ให้เข้าใจ ณ ตอนนั้นในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง สะสมไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อไรก็เมื่อนั้น ไม่มีใครทราบได้ ของแต่ละบุคคล

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ คิด เมื่อสักครู่นี้เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมที่จะต้องรู้อย่างมั่นคง ไม่ว่าจะคิดด้วยกุศลจิต อกุศลจิตอย่างไรก็ตาม เรื่องอะไรก็ตาม ทั้งหมดก็ไม่ใช่เรา

    อ.วิชัย สำหรับปัญญาแม้ในขั้นการฟัง ก็ทราบว่า ธรรมก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้ปัญญาเกิดก็ทราบว่า ต้องมีการฟัง มีการไตร่ตรอง มีการพิจารณา สิ่งเหล่านี้ขั้นการฟังเข้าใจ แต่ขณะที่ปัญญาเกิดแล้วเป็นไปแล้วเจริญขึ้น ความรู้ความเข้าใจเป็นไปในเรื่องของสิ่งที่เข้าใจแล้วว่าเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คือ ต้องมีการฟัง ไตร่ตรอง พิจารณา ซึ่งต่างจากการฟังครั้งแรกๆ ก็เข้าใจอย่างนี้ แต่เมื่อปัญญาเจริญขึ้น มีความมั่นคงที่จะรู้ถึงความเป็นอนัตตาที่ต้องเป็นอย่างนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    30 ก.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ