พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 489


    ตอนที่ ๔๘๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ความต้องการที่ละ ขั้นแรกคือที่เกิดร่วมกับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ข้ามตรงนี้แล้วไปพยายามตรงอื่นแล้วจะสำเร็จได้หรือไม่ ในเมื่อไม่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง บางครั้งเข้าใจว่า มีสัญญาว่า ทุกอย่างเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ทำไมชอบพูดถึงสัญญา แล้วก็เป็นชื่อด้วย ทั้งๆ ที่ขณะนี้สัญญาก็เกิดดับ แล้วก็จำทุกอย่างที่ปรากฏ จิตเกิดเมื่อไรก็มีสัญญาเจตสิกที่จำเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง ที่พูดว่าสัญญา เพราะว่าสัญญาที่มั่นคง เข้าใจขั้นฟัง ก็จะเป็นปัจจัยให้สติเกิด ที่ว่า ท่านอาจารย์ท้วงมาว่า จำคำว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในการจะจำอย่างนั้นได้ ดูเหมือนว่าต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมก่อน ถึงจะมีความจำเป็นลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ ลองพรรณนาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ว่าต้องมีลักษณะที่ต้องรู้ก่อน

    ผู้ฟัง ก็เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง ก็ทราบว่า สีที่ปรากฏทางตาไม่ใช่เสียง มีลักษณะที่ต่าง

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ ใครจะใช้คำบรรยายให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างไรก็ตาม จะเหมือนกับขณะนั้น ที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏให้เห็นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน เพราะว่าลักษณะที่ปรากฏให้เห็นก็มีลักษณะของเขา

    ท่านอาจารย์ เมื่อปรากฏให้เห็นแล้ว ต้องบรรยายอะไรอีกหรือไม่ กำลังปรากฏให้เห็นชัดเจนจริงๆ จิตกำลังเห็นด้วย แต่รู้จักสิ่งที่ปรากฏให้เห็นหรือเปล่า ปรากฏอยู่ตลอด ตั้งแต่เกิด มีตา เห็นเมื่อไร สิ่งนี้ก็ปรากฏให้เห็นตลอด เมื่อคืนกำลังหลับสนิทไม่เห็นใช่หรือไม่ แต่พอเห็นเกิด มีสิ่งนี้ปรากฏให้เห็น จะต้องเป็นอย่างนี้ทุกภพชาติ อดีต อนาคต ปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย แต่ก็ไม่รู้จักสิ่งที่ปรากฏ ตามความเป็นจริง ต่างกันหรือไม่ อวิชชา กับวิชชา ต้องไปหาอวิชชาที่อื่นหรือเปล่า แล้วเวลาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น กำลังค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ ต้องใช้คำอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง เพราะเขาเป็นลักษณะของเขา

    ท่านอาจารย์ จึงเข้าใจความหมายของลักษณะ ที่ปรากฏให้รู้ได้แต่ละทาง เสียงอย่างนี้ปรากฏแล้วเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างกับสิ่งที่ปรากฏ แข็งปรากฏด้วย ต่างกับเสียง ต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง เราอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง จำไว้ว่ามี

    ท่านอาจารย์ เป็นสัญญาวิปลาส เป็นอัตสัญญา การฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม ไม่ต้องไปห่วง พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม หน้าไหน เล่มไหน อะไรทั้งสิ้น อ่านไปหมดแล้ว แต่ไม่รู้จักธรรมที่กำลังปรากฏได้หรือไม่ ได้ เพราะไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แต่ ถ้าเข้าใจธรรม ไม่ว่าจะอ่านเล่มไหน ตอนไหน คำไหน ก็คือ เรื่องของธรรมที่กำลังปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย ตรงตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้ ศึกษาธรรม ต้องเข้าใจธรรม รู้ว่าธรรมที่จะศึกษาขณะนี้กำลังปรากฏให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และขณะนี้ คือ ศึกษาขั้นฟัง ต่อไปก็จะศึกษาลักษณะจริงๆ ต่อไปก็สามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอด เพราะเหตุว่ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ต้องไปคิดถึงธรรมอื่น นอกจากเข้าใจ เพราะว่าปัญญาเจตสิกไม่ได้เกิดเพียงอย่างเดียว ต้องมีโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องมีหิริโอตตัปปะเกิดร่วมด้วย ขณะนี้เอง แต่อะไรก็ไม่ปรากฏให้เห็น เพราะแม้สิ่งที่ปรากฏแท้ๆ กำลังเห็นอยู่ก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง ถ้าจะกล่าวว่า อวิชชารู้ไม่ได้ เพราะว่าอวิชชาคือ มืดบอด ไม่สามารถรู้ได้ ตอนนี้ก็กำลังอบรม

    ท่านอาจารย์ กำลังอบรม เพื่อเวลาที่ปัญญา ความเห็นถูกเกิด ความเห็นผิด และอวิชชาก็ลดน้อยลงไป และอวิชชาสะสมมามากหรือไม่ แล้วลดน้อยลงไปเท่าไร พอที่จะรู้แจ้งความจริงของสิ่งที่ปรากฏหรือยัง ก็ไม่ต้องไปเดือดร้อน ในเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ หนทางมี สามารถจะรู้หนทางนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏมี ให้เห็นถูก ไม่ต้องไปแสวงหา ไม่ต้องไปทำอะไร เพียงแต่ฟังเพื่อที่จะเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพธรรม เขาไม่ได้แยกว่า นี่คือพระสูตร นี่คือพระอภิธรรม และนี่คือพระวินัย ในการศึกษาของพวกเรา ไม่ว่าจะศึกษาอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องนำไปสู่การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เรียนท่านอาจารย์ขยายความเพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ ไม่ติดที่ชื่อพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจว่า ทุกอย่างอธิบายลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ แต่สามารถเข้าใจความต่างของทั้ง ๓ ปิฎกได้ว่า เหตุใดจึงประมวลคำสอนเป็น ๓ ปิฎก เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะในโลกนี้ มีที่ประสูติหรือไม่ แล้วก็มีพระมารดา พระบิดา หรือเปล่า จะไม่ให้กล่าวถึงหรืออย่างไร ก็กล่าวถึงตั้งแต่ต้น แล้วเป็นธรรมหรือเปล่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่า ถ้าไม่มีธรรมใดๆ เลย จะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ ก็ไม่มี ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า ถ้าเข้าใจธรรม ทุกอย่างก็กระจ่างแจ้ง ไม่ว่าจะกล่าวธรรมโดยนัยใดๆ แต่ก็เพราะรู้ว่าเป็นธรรม ถ้าไม่รู้ว่า เป็นธรรม มีเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ บำเพ็ญเพียร ตรัสรู้ แล้วเป็นธรรมหรือเปล่า จะตอบได้หรือไม่ถ้าไม่รู้จักธรรม ก็เข้าใจว่า กำลังอ่านพระสูตร ประวัติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากตรัสรู้แล้ว เสด็จไปที่ไหน แสดงธรรมกับใคร ใครรู้แจ้งสภาพธรรม แต่ธรรม คืออะไรที่ ทรงแสดงกับบุคคลอื่นให้เกิดความเห็นถูก เข้าใจถูกจนเป็นพระอริยบุคคลได้ หมดกิเลสได้ ไม่สนใจหรือ หรือจะต้องแยก ขณะนี้กำลังฟังเรื่องพระพุทธเจ้า อย่าพูดเรื่องอื่น แล้วพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ธรรมหรือ เพียงแต่เข้าใจความหมายของ “พุทธะ” ก็ต้องรู้จักธรรม ถ้าไม่รู้จักธรรม จะเห็นความเป็นพุทธะได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงแต่รู้ชื่อ รู้คำ รู้เรื่อง แต่ไม่เข้าใจธรรมที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง จะเห็นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่

    เพราะฉะนั้น ลองกลับไปอ่านพระสูตรอีกครั้ง มีอะไรที่ไม่ใช่พระอภิธรรมบ้าง อย่างคำว่า "บำเพ็ญเพียรแล้วตรัสรู้" รู้อะไร ก็รู้ธรรม ก็เป็นพระอภิธรรมหรือเปล่า ธรรมก็เป็นอภิธรรม จะข้ามพระสูตรให้ไม่รู้ว่า ธรรมที่ตรัสรู้คืออะไรหรือ อย่างนั้นศึกษาอะไร แม้แต่ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นหมายความว่า ในหมู่พวกเราที่ศึกษา ถ้าสามารถเข้าใจว่า พระพุทธองค์ตรัสสอนในสิ่งที่ให้รู้ธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะกล่าวโดยนัยไหน เป็นพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม จริงๆ แล้วคงไม่แยก ก็คือลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง ถ้าเข้าใจก็เป็นแบบนั้น แต่ถ้าไม่เข้าใจก็นึกว่า พระสูตรเป็นเรื่องราวสนุกดี ไม่น่าเบื่อ พระอภิธรรมก็ยากมาก เพราะเป็นสภาพธรรมล้วนๆ ส่วนพระวินัยก็เป็นความประพฤติที่ละเอียด ผู้จะประพฤติปฏิบัติได้ต้องเป็นบรรพชิต และสะสมมาอย่างนั้นจริงๆ อย่างเราๆ อ่านพระสูตร แล้วเห็นรายละเอียดของการปฏิบัติแล้ว ก็รู้ว่า ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติได้ คงสะสมมาที่จะเป็นเพศคฤหัสถ์ ก็เข้าใจได้อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรม แล้วธรรมที่ทรงแสดงนั้นคืออะไร ถ้าไม่มีธรรม จะมีพระสูตรหรือไม่ ไม่มี ถ้าไม่แสดงธรรม พระสูตรก็ไม่มีแน่ พระสูตรเป็นธรรม หรือไม่ใช่ธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วจะสงสัยอะไร ในเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ควรเข้าใจจริงๆ ทุกคำที่ได้ยิน ถ้าเข้าใจตรงถูกต้อง ไม่เผิน จะได้สาระ แต่ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ เลย ฟังธรรม แต่ไม่รู้ว่า ธรรมคืออะไร อย่างนั้นเป็นประโยชน์หรือเปล่า จะได้สาระอะไรจากการฟังสิ่งที่ไม่รู้ว่าฟังอะไร รู้แต่ว่าฟังธรรม แล้วธรรม คืออะไรก็ไม่รู้ อย่างนั้นจะได้สาระหรือไม่ เมื่อไม่ได้ ก็เสียเวลา ไม่มีประโยชน์เลย

    ผู้ฟัง ลักษณะของโทสะ เมื่อโทสะเกิดแล้ว พิจารณาตรงโทสะ ยิ่งพิจารณา ลักษณะของโทสะก็ยิ่งรุนแรงขึ้น จึงกราบเรียนถามให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายให้เข้าใจด้วย

    ท่านอาจารย์ คุณบุษกรใช้คำว่า “พิจารณา” ขอทราบว่าพิจารณาอะไร อย่างไร

    ผู้ฟัง ขณะที่โทสะเกิด

    ท่านอาจารย์ รู้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ว่าโทสะเกิด

    ท่านอาจารย์ รู้ว่า ชื่อโทสะ หรือลักษณะนั้นเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม รู้แต่ว่าเป็นโทสะ

    ท่านอาจารย์ นึกขึ้นได้ว่าเป็นโทสะ

    ผู้ฟัง แต่ดูเหมือนว่าจะรุนแรงขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะไม่รู้ว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเพราะความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรโทสะจึงเกิด

    ผู้ฟัง เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิด

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ลืมแล้วว่า เป็นธรรม ซึ่งเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย โทสะจะเกิดอีกก็เพราะเป็นธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย แสดงว่าความรู้ไม่พอ ทั้งๆ ที่โทสะเกิดเมื่อไร จะมากจะแรงสักเท่าไรก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย ก็เป็นเราอีกแล้ว ก็สงสัยว่า ทำไมโทสะถึงเกิด ทั้งๆ ที่รู้ชื่อ นึกขึ้นได้ นึกออกว่าเป็นโทสะ โทสะก็ยังเกิด เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ

    เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับท่านพระปัญจวัคคีย์ มีพระวินัยหรือเปล่า เชิญคุณคำปั่น ช่วยแปลคำว่า "วินัย" ด้วย

    อ.คำปั่น วินัย ภาษาบาลี ก็คือ วิ น ย ซึ่งแยกศัพท์เป็น วิ บทหน้า แปลว่า วิเศษ ส่วน นย แปลว่า แนะนำ หรือนำไป ซึ่งก็แปลได้ว่า เป็นเครื่องนำไปโดยวิเศษ จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงก็คือ เป็นการป้องกันความประพฤติที่ไม่ดีทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา เป็นการห้ามความประพฤติที่ไม่ดี ส่วนนี้ก็เป็นความหมายของคำว่า วินัย หรือ วินย ส่วนอีกความหมายหนึ่งก็หมายถึง เป็นการนำไปโดยธรรม มิใช่นำไปด้วยอาชญา

    ท่านอาจารย์ นำไปโดยวิเศษ ถ้าได้ยินคำว่า “ธรรมก็คือ วินัย วินัยก็คือ ธรรม” สงสัยหรือไม่ ถ้าได้เข้าใจแล้วว่า นำไปอย่างวิเศษ สงสัยไหม วินัยนั่นเอง เป็นธรรม ไม่อย่างนั้นจะนำไปอย่างวิเศษได้อย่างไร พรหมจรรย์เบื้องต้นที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    วินัยก็เป็นธรรม นำไปอย่างวิเศษ ถ้าไม่ใช่ธรรม จะนำไปอย่างวิเศษได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ ก็จะมีข้อความว่า วินัยก็คือ ธรรม ธรรมก็คือ วินัย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่มีความสงสัยเลย แต่ในครั้งต้นพุทธกาล ยังไม่มีการบัญญัติพระวินัย เพราะความประพฤติของบรรพชิตยังไม่เกิดเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ได้ยินอะไร อ่านอะไร อย่าเพิ่งเข้าใจว่า รู้แล้ว ยังมีอีก ยังมีอีก ยังมีอีกที่จะต้องเข้าใจให้ละเอียดขึ้นด้วย ความเข้าใจถูกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ต้องไปคำนึงถึงชื่อว่า เป็นพระวินัย เป็นพระสูตร หรือพระอภิธรรม

    ผู้ฟัง การเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมก็ยากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ จะเข้าถึง หรือจะเข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจ ขณะแค่มีโทสะเกิด ก็ยังไม่สามารถที่จะระงับโทสะได้เลย

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลานี้กำลังเห็น จะระงับเห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ระงับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะปัญญาไม่พอ

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะมีปัจจัยที่จะเกิด ใครไปห้ามได้ เกิดแล้วทั้งนั้นเลย แม้ขณะจิตแรกที่เกิดแล้ว เป็นคนนี้เป็นคนอื่นไม่ได้ ตามเหตุตามปัจจัยทั้งนั้น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และไม่อิสระ อย่าลืม

    ผู้ฟัง ศึกษาแล้วก็พอเข้าใจ แต่เมื่อเกิดจริงๆ รู้ว่าเป็นเหตุมีปัจจัยให้เกิด

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีเหตุมีปัจจัยให้เกิด แล้วดับหรือไม่

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง แล้วก็เกิดอีก

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ก็มีเหตุปัจจัยอีก

    ท่านอาจารย์ ใช่ ถ้าดับเหตุปัจจัย จึงจะไม่เกิด อย่าไปคิดหวังว่าจะใช้วิธีอื่น จะระงับโทสะด้วยวิธีร้อยแปดพันเก้าประการ แต่ไม่ใช่ดับเหตุที่ทำให้โทสะเกิด โทสะก็ต้องเกิด

    ผู้ฟัง แล้วที่ดับเหตุ

    ท่านอาจารย์ อะไรดับได้

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วพระพุทธเจ้าดับได้หรือไม่ พระอรหันต์ พระอนาคามีดับได้หรือเปล่า เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ดับได้ เพราะมีปัญญา

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลานี้มีปัญญาที่จะดับหรือยัง

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ จะเอาปัญญามาจากไหน ไปซื้อดีหรือไม่ ไม่ได้ ไม่มีทางซื้อได้เลย

    ผู้ฟัง เมื่อโทสะเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ก็ต้อง

    ท่านอาจารย์ ต้องอะไร เข้าใจถูก บังคับบัญชาได้หรือเปล่า เกิดแล้ว ลักษณะนั้นเป็นธรรม ให้รู้จักธรรม ศึกษาธรรม ก็ต้องรู้ลักษณะของธรรมว่า นั่นเป็นธรรม ลักษณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง โกรธเป็นคุณบุษกรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ยังเป็นอยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วคนอื่นที่โกรธเกิด แมวโกรธเป็นคุณบุษกรหรือเปล่า ถ้าบอกว่า โกรธเป็นคุณบุษกร

    ผู้ฟัง ก็เป็นคนอื่นโกรธ

    ท่านอาจารย์ โกรธจริงๆ เป็นใครหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วไม่เป็นใครเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นถูกหรือเห็นผิดว่า โกรธเป็นเรา

    ผู้ฟัง เห็นผิด เมื่อยังไม่เข้าใจ ปัญญายังไม่พอ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้โกรธมีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ อะไรมี

    ผู้ฟัง มีเห็น

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเห็นหรือยัง

    ผู้ฟัง เข้าใจเห็นว่ามีเห็น

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็ยังเป็นท่านอาจารย์อยู่

    ท่านอาจารย์ สภาพเห็นเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ ฟังว่าเป็นธรรมแล้วก็ลืมไปหมด แม้แต่กำลังฟัง ศึกษาธรรม ทุกคนกำลังฟังธรรม ให้รู้ว่า กำลังมีธรรม ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจจริงๆ เพราะเดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวคิดอย่างนั้น เดี๋ยวคิดอย่างนี้ ตรงต่อสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังเท่านั้น ในขณะนี้ เรื่องอื่นไม่จำเป็นต้องไปคิดหน้าโน้น บรรทัดนี้ ได้ยินมาว่าอย่างนั้น อย่างนี้ ฟังให้เข้าใจ กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจแม้ขั้นการฟังให้ถูกต้องว่า เพราะอะไร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ได้เอ่ยชื่อใครสักคน แต่ธรรมทั้งหลาย ทั้งหมด ไม่เว้นเลย เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ขณะนี้ฟังให้เข้าใจตรงนี้ เพื่อที่จะได้สะสมความเห็นถูกนี้ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจว่า คำว่า "ขอกัมมัฏฐาน" ก็คือไม่เข้าใจอะไร ก็มา กราบเรียนถามท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ที่คุณบุษกรบอกว่า เมื่อไม่เข้าใจ ก็มาขอความเข้าใจ ใช่หรือไม่ แต่ “กัมมัฏฐาน” กรรม คือ การกระทำ ฐาน คือ ที่ตั้ง เข้าใจแล้วจะทำอะไร

    ผู้ฟัง เข้าใจก็คือเข้าใจ เข้าใจแล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ก็เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมเรียกกัมมัฏฐาน

    ผู้ฟัง คือยังสงสัยว่า ขอกัมมัฏฐาน แต่ไม่หายสงสัย

    ท่านอาจารย์ หายสงสัย ก็ยังตอบว่า เข้าใจกัมมัฏฐานแล้วจะทำอะไร เพราะ กรรม คือ กระทำ ฐานะ คือ ที่ตั้ง

    ถ้าธรรมดา ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ เป็นที่ตั้งของกุศลหรืออกุศล ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏ ความติดข้องพอใจในสิ่งที่ปรากฏ จะมีได้หรือไม่ ถ้าไม่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ จะพอใจในสิ่งที่มีขณะนี้ได้หรือไม่ในเมื่อไม่เห็น

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏ เป็นที่ตั้งของอะไร ของกุศลหรือของอกุศล ปกติเป็นที่ตั้งของอะไร

    ผู้ฟัง ของอกุศล

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีความเห็นถูกว่า อกุศลเกิดจากความไม่รู้ และถ้าจะใช้คำว่า “กัมมัฏฐาน” ก็ต้องมีวิริยะ มี ไม่ใช่เราทำ ที่เพียรที่จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ เพราะเวลานี้ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏเพราะไม่รู้ จึงติด จะละความติดข้อง ก็ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ปรากฏ ในขณะที่กำลังเริ่มมีความเข้าใจ เป็นกรรม เป็นเจตนา เป็นที่ตั้งของความรู้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นที่ตั้งของความรู้

    อ.กุลวิไล กล่าวถึงที่ตั้งของปัญญา และสติที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง บุคคลในครั้งพุทธกาล ท่านก็ได้ฟังพระธรรมแล้วก็เข้าใจความเป็นธรรม เวลาที่ท่านบวช ท่านก็สามารถจะพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยไม่ใช่ตัวตน หรือไม่ใช่ของเรา แต่รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ของบุคคลในครั้งพุทธกาล ก็บวชเพราะได้ฟังธรรม แม้แต่พวกเจ้าศากยะ เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม พวกเจ้าศากยะทั้งหลายก็พากันบวช คนที่ไม่บวช ก็รู้สึกว่า น่าจะ ควรจะ เป็นความรู้สึกของตัวเองด้วย หรือเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ เพราะว่ามีความเลื่อมใส นับถือ สักการะในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระญาติ ก็มีศรัทธาที่จะได้ฟังธรรมต่อไป ก็แล้วแต่ว่าสะสมศรัทธามามากน้อยประการใด บางท่านเห็นเจ้าศากยะอื่นบวช ก็บวชด้วย แต่ขณะนั้นที่บวชก็มีศรัทธาด้วย แต่บางท่านก็อาจจะได้ยินได้ฟังเหมือนกับว่า เพราะว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้อยากจะให้บวช แต่คนเหล่านั้นต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “บวช” แล้วก็รู้ด้วยว่า ชีวิตของบรรพชิตเป็นอย่างไร ไม่ใช่ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แล้วก็จะบวช แล้วก็บอกกันแต่เพียงว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วไม่มีการศึกษาใดๆ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น

    ผู้ฟัง ตลอดเวลามีสภาพธรรมเกิดขึ้น แต่ว่าปกติไม่รู้ กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ถ้าเป็นปกติที่รู้ เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเข้าใจถูก ฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นหรือเปล่า ว่าเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่ปรากฏ สามารถจะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏได้หรือไม่ หรือไม่อยากจะเห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏ หรืออยากไปเห็นถูกในสิ่งอื่นที่ไม่ปรากฏ ธรรมต้องไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความจริงใจ

    ผู้ฟัง คือจะหมกมุ่นในอารมณ์ที่ปรากฏแต่ละอย่าง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาหรือเปล่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    2 ส.ค. 2567