พื้นฐานพระอภิธรรม ๕
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้กลิ่น จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลิ้มรส จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ขณะนั้น จิตทำภวังคกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นโดยไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่คือความละเอียดของจิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งต่อไปก็จะแสดงให้ละเอียดขึ้นๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้ก็เหมือนกับว่าไม่มีจิต แต่ความจริง ที่ใดที่มีจิต ขณะใดที่จิตเกิด ขณะนั้นต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นความรู้สึกเกิดด้วยทุกครั้ง ทุกท่านพอจะเข้าใจได้ว่า คนหลับไม่ใช่คนตาย ที่ต่างกับคนตาย เพราะเหตุว่ามีจิต และเมื่อมีจิตก็ต้องมีสังขารธรรมที่ปรุงแต่งให้จิตเกิด สังขารธรรมที่ปรุงแต่งให้จิตเกิด คือ เจตสิก เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน เจตสิกก็อาศัยจิต เพราะเจตสิกจะเกิดที่อื่นไม่ได้ และจิตก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทำให้จิตเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า จิต และเจตสิกไม่เคยแยกจากกันเลย ใครบอกว่ามีแต่จิต ไม่มีเจตสิก คือผิด ใครบอกว่ามีแต่เจตสิก ไม่มีจิต ก็คือผิด เพราะว่าขณะใดที่จิตเกิด ขณะนั้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ขณะที่นอนหลับ มีจิตเกิด ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเวทนาความรู้สึกก็เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แต่เมื่อขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อารมณ์นั้นหรือโลกนี้ทั้งโลกก็ไม่ได้ปรากฏเลย ไม่ว่าโลกไหนๆ ก็ไม่ปรากฏ ในสวรรค์ ขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ได้คิดนึก ขณะนั้นก็ไม่ใช่จิตประเภทนั้นๆ
ผู้ฟัง เวลารูปเสื่อม รูปจะมีความรู้สึกอะไรหรือไม่
ท่านอาจารย์ รูปเป็นรูปตลอดกาล รูปจะเปลี่ยนเป็นนามธรรมไม่ได้เลย รูปไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เมื่อไร ไม่มีความรู้สึกเลย เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ เป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัว รูปบนสวรรค์ รูปยังมีชีวิต รูปที่ตายแล้วก็ตามแต่ รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้ทั้งสิ้น
ผู้ฟัง ถึงแม้จะหนาวจัด หรือเย็นจัด รูปไม่มีความรู้สึกทั้งนั้นเลยหรือ
ท่านอาจารย์ รูปรู้สึกอะไรไม่ได้เลย ขณะที่หนาวเป็นความรู้สึก เป็นจิตซึ่งเกิดกับเจตสิก และก็มีความหนาวขณะนั้นเป็นอารมณ์ จึงรู้สึกในความหนาวนั้น ต้องแยกโดยเด็ดขาดตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เราเข้าใจความหมายของรูปกับนามว่า สภาพที่เป็นรูป ไม่สามารถรู้อะไรได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปของใคร ภพไหน ภูมิไหน เมื่อไหร่ รูปก็ไม่ใช่สภาพรู้
ผู้ฟัง นึกถึงตอนที่ รูปมีดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นกลาปๆ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่รูปมี ดิน น้ำ ไฟ ลม แต่ดินเป็นรูป น้ำเป็นรูป ไฟเป็นรูป
ผู้ฟัง ขณะที่นอนหลับ เป็นภวังค์จิตดวงไหนเกิด
ท่านอาจารย์ จิตเกิด ยังไม่ต้องดวงไหน ตอนนี้เราอยู่ชั้นอนุบาล
ผู้ฟัง มีจิตเกิดเท่านั้น จะดวงไหนยังไม่ต้องสนใจ
ท่านอาจารย์ บางท่านอาจจะเข้าใจว่าศพยังรู้สึก กลัวเขาจะหนาว ต้องเอาผ้าไปห่ม หรืออาจะคิดว่าเขาหิว ก็เอาอาหารไปตั้งไว้ แต่ความจริงแล้ว รูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่ารูปจะเกิดที่ไหน อย่างไร สิ่งใดก็ตามที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย มองเห็น หรือไม่มองเห็น ก็เป็นรูป เช่นเสียง มองไม่เห็นเลย แต่เสียงไม่ใช่สภาพรู้ เสียงเป็นรูป เพราะว่าเดิมเราอาจจะเข้าใจว่าสิ่งที่เรามองเห็นทางตา ภูเขา ต้นไม้ สัณฐานต่างๆ เป็นรูป แต่ความจริงแล้วในทางพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นมีปัจจัยปรุงแต่ง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ไม่ใช่สภาพธรรมที่รู้อะไร สภาพธรรมนั้นเป็นรูปธรรมทั้งหมด จะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม คุณวิจิตร เห็นแข็งหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ เห็นหวานไหม
ผู้ฟัง ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ เห็นกลิ่นไหม
ผู้ฟัง ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ กลิ่นมีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เสียงมีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม
ผู้ฟัง เป็นรูปทั้งหมด
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะไม่รู้อะไร
ท่านอาจารย์ เพราะไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ไม่ใช่สภาพรู้ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ จิตไม่โกรธ จิตไม่ใช่เจตสิก แต่จิตรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ชัดเจน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังถูกรู้ แม้ว่ามองไม่เห็น เช่นเสียง จิตกำลังได้ยินเสียง ถ้าเป็นรูปจะไม่รู้อะไรเลย จะได้ยินไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นที่เรายึดถือว่าเป็นเรา ก็คือธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมนั่นเอง เพราะความไม่รู้ ซึ่งการเกิดขึ้น และดับไปของทั้งนามธรรม และรูปธรรม เกิดแล้วดับแล้ว อย่างไหนจะเป็นเรา รูปก็เกิด และดับไปหมด เป็นเราไม่ได้ เป็นของเราไม่ได้เพราะไม่มีแล้ว จิต และเจตสิกซึ่งเกิดแล้วก็ดับไปทุกๆ ขณะ ก็หมดไปแล้ว จะเป็นของเราไม่ได้ ของใครไม่ได้เพราะไม่มีแล้ว แม้ขณะที่กำลังเกิดขึ้น ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ต่อๆ ไปก็จะค่อยๆ กล่าวถึงเรื่องรูปเพิ่มเติม และแม้แต่นามคือ จิต เจตสิกก็จะค่อยๆ กล่าวถึง แต่จะเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน
ขณะนี้ ทุกคนก็ทราบเรื่องของจิต และกำลังจะกล่าวถึงเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต และมีความหลากหลาย ถึง ๕๒ ประเภท แต่ก็จะค่อยๆ กล่าวถึงที่สำคัญ เช่น ความรู้สึก ให้รู้ว่ามี ขอถามว่า ความรู้สึกเป็นของเราหรือไม่ แต่เดิมเป็นเราสุข เราทุกข์ เดี๋ยวนี้ทราบว่าสุขเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ทุกข์เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีเจ้าของ เป็นอนัตตา ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา ความรู้สึกเป็นเจตสิก ภาษาบาลีใช้คำว่า “เวทนาเจตสิก” เคยได้ยินคำว่าเวทนาใช่ไหม เวทนาในภาษาไทยหมายความว่าอย่างไร สงสารมาก เป็นความรู้สึกหรือไม่ จิตเกิดแล้วจะไม่มีความรู้สึกไม่ได้เลย แต่เราต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนั้นความรู้สึกชนิดไหนเกิดกับจิตในขณะนั้น ขอถามว่า รูปมีเวทนาหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มี เวทนาเป็นเวทนา แต่รูปไม่มีเวทนา ไม่มีความรู้สึก
ผู้ฟัง รูปของคนตายกับรูปของคนเป็น มีอะไรต่างกัน
ท่านอาจารย์ รูปของคนเป็น มีรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ คือ บางกลุ่มหรือบางรูปเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอุตุ ความเย็น ความร้อน เป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอาหารที่บริโภครับประทานเข้าไปเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้นคนตายจะไม่มีรูปที่เกิดจากกรรม สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง จะไม่มีรูปที่เกิดจากจิต เพราะขณะที่ตายแล้วไม่มีจิตที่จะเป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดจากจิตเกิดได้ และก็ไม่มีรูปที่เกิดจากอาหาร เพราะว่ารูปที่เกิดจากอาหาร และรูปที่เกิดจากอุตุก็จะเกิดดับๆ เช่นเดียวกับรูปอื่น เพราะฉะนั้นหลังจากที่สิ้นชีวิตแล้ว ไม่มีรูปที่เกิดจากกรรม ไม่มีรูปที่เกิดจากจิต ไม่มีรูปที่เกิดจากอาหาร มีเพียงรูปที่เกิดจากอุตุ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นคนที่ตาย รูปก็จะเหมือนกับรูปของต้นไม้ มีค่าเท่ากัน
ท่านอาจารย์ เป็นรูปที่เกิดจากอุตุ คือมีลักษณะที่เย็นหรือร้อนเป็นธาตุไฟ อ่อนหรือแข็งเป็นธาตุดิน ตึงหรือไหวเป็นธาตุลม และธาตุน้ำซึ่งมีลักษณะเกาะกุม และมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา ๘ รูป รวมกันในหนึ่งกลาปเล็กๆ คือกลุ่มของรูปที่แตกย่อยละเอียดอย่างไร จนกระทั่งแยกอีกไม่ได้ ก็จะมีรูป ๘ รูปรวมอยู่ในที่นั้น
ผู้ฟัง แล้วรูปที่บ่งบอกสภาวะว่าเป็นเพศหญิงเพศชาย อันนี้เป็นของอุตุ หรือเป็นของกรรม
ท่านอาจารย์ เป็นรูปที่เกิดจากกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อตายแล้วก็จะไม่มีรูปกลุ่มนี้เลย
ผู้ฟัง คนตายลักษณะของการแสดงความเป็นเพศหญิงเพศชายยังปรากฏอยู่
ท่านอาจารย์ เวลานี้ คนที่ยังมีชีวิตอยู่ เราก็ยังเห็นว่าเป็นหญิง ใช่ไหม แล้วคนที่ตายแล้ว เราก็ยังบอกว่าเป็นหญิงอยู่ ใช่ไหม แต่ความจริงสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร สิ่งที่ปรากฏทางตาเปลี่ยนไม่ได้เลย เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งกระทบจักขุปสาท ปรากฏแล้วดับ แต่สืบต่อเร็ว จนกระทั่งสัญญาความจำ ที่เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมาก นอกจากเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้สึก ซึ่งทุกคนแสวงหาต้องการแต่สุขเวทนา ก็ยังมีสัญญาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพจำ ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ มิฉะนั้นแล้วเราไม่สามารถจะจำอะไรได้เลย แต่เราไม่รู้ว่าสัญญาเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ด้วยความไม่รู้ ก็ทำให้เราว่าเห็นสิ่งต่างๆ “นิจจัง” คือเที่ยงไม่ได้เกิดไม่ได้ดับเลย
เพราะฉะนั้น สัญญาที่จำว่ารูปร่างลักษณะอย่างนี้เป็นหญิง รูปร่างลักษณะอย่างนั้นเป็นชาย แต่ตัวภาวรูปซึ่งเป็นรูปที่เกิดจากกรรม ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการให้รูปที่ปรากฏมีลักษณะของหญิงหรือชาย แต่ว่าลองดูจริงๆ นี่ก็เป็นเรื่องของสัญญาโดยตลอด ในเรื่องของหญิงหรือชาย เช่น ตุ๊กตา พอเห็นหุ่นในร้าน รู้ไหมคะว่าหญิงหรือชาย หุ่นหญิงหรือหุ่นชาย แต่ไม่มีภาวรูปเลย นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าสัญญาความจำ จำในสิ่งที่ปรากฏ และก็มีการยึดถือว่าลักษณะอย่างนั้นเป็นหญิง แม้ว่าเป็นตุ๊กตาหรือหุ่นก็ยังเป็นหญิง แต่ความจริงไม่มีภาวรูปเลย ก็เป็นการที่เราจะได้เข้าใจสภาพธรรมที่ถูกต้องว่า สัญญาเป็นสิ่งที่มีจริง ก็เริ่มตั้งแต่เกิด และค่อยๆ สะสม ค่อยๆ จดจำ ทุกอย่าง จนกระทั่งเหมือนกับสิ่งที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่เที่ยง และก็ไม่ดับเลย นั่นคืออัตตสัญญา นิจจสัญญา
ผู้ฟัง ขอทราบว่า เวลาคนความจำเสื่อม ก็ไม่ทราบว่าเป็นหญิงหรือชายแล้วทำอย่างไร
อ.อรรณพ โดยหลักแล้ว เวทนาก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง สัญญาก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท แล้วแต่ว่าจะเกิดกับจิตประเภทไหน ถ้าสัญญานั้นเกิดกับจิตประเภทที่มีกำลังอ่อน อย่างเช่นจิตที่ประกอบด้วยโมหะมากๆ ก็ไม่มีกำลังในการที่จะจำ เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะปราศจากสัญญา แต่ว่าสัญญานั้นจะมีกำลังมากน้อยเพียงใด
ผู้ฟัง คนที่ความจำเสื่อม เขามีโมหะมากหรือไม่
อ.อรรณพ คนความจำไม่เสื่อมก็มีโมหะมากเหมือนกัน แต่แม้จะไม่ใช่ผู้ที่มีความจำเสื่อม แต่เราก็ตรึกนึกคิดส่วนใหญ่เป็นไปด้วยอกุศล แต่ก็ยังสามารถปฏิบัติงาน หรือทำงานได้ แต่ว่าความเป็นระบบของการตรึกด้วยอกุศลก็แตกต่างกันไป ความสับสนของจิตใจก็ต่างระดับกัน แต่ก็ประกอบด้วยความไม่รู้ คือโมหะเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่เป็นอกุศลจิต
ผู้ฟัง อยากจะทราบว่าจิต และเจตสิกแตกต่างกันอย่างไร
อ.วิชัย ความแตกต่างระหว่างจิต และเจตสิก คือ “ จิต ” หมายถึงว่าเป็นใหญ่ในการที่จะรู้แจ้งในอารมณ์นั้นๆ ขณะนี้กำลังเห็น เห็นในที่นี้ คือมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ ในสิ่งที่เห็น คือ สิ่งที่กำลังปรากฏได้ทางตา ขณะนั้นจิตเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ในขณะที่เห็น ก็มีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตเห็นด้วย นั่นก็คือเจตสิกนั่นเอง ดังนั้นขณะที่เห็นมีความรู้สึกหรือไม่
ผู้ฟัง มี
อ.วิชัย ก็คือความรู้สึก ดีใจ เสียใจ หรือว่าเฉยๆ ฉะนั้น ขณะที่เห็นมีความรู้สึกด้วย ไม่ใช่ดีใจ ไม่ใช่เสียใจ แต่เป็นความรู้สึกเฉยๆ ก็คือ ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ดังนั้น ให้เข้าใจว่า เพราะมีจิตซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้ในสิ่งที่เห็น และก็มีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตด้วย เรียกว่า เวทนา คือความรู้สึก
ท่านอาจารย์ จิตกับเจตสิกเป็นนามธรรม เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน และรู้อารมณ์เดียวกัน ขณะใดขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ขณะจิตเป็นอกุศล เพราะมีอกุศลเจตสิกเพิ่มขึ้นมาอีก ขณะเป็นโสภณจิตฝ่ายดี เพราะมีโสภณเจตสิกเพิ่มขึ้นมา เพราะฉะนั้นในขณะเดียวที่เกิดสั้นแสนสั้น ทั้งจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ยากต่อการที่เราจะสามารถรู้ถึงลักษณะของเจตสิกแต่ละเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะเหตุว่า แม้เจตสิกก็เกิดกับจิต ไม่ได้เกิดกับสภาพธรรมอื่นเลย เจตสิกบางเจตสิกไม่ได้เกิดในขณะที่เจตสิกประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด แต่จิตต้องมีอยู่ตลอด จะขาดจิตไม่ได้เลย ตั้งแต่เกิดจนตาย มีจิต และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเจตสิกทั้งหมด ๕๒ ประเภทต้องเกิดพร้อมกันในจิตหนึ่งขณะ เพราะก็มีเจตสิกที่ไม่เกิดกับจิตในขณะนั้น นี่คือความต่างว่าแล้วแต่ว่าจิตนั้นจะประกอบด้วยเจตสิกประเภทใด ถ้าประกอบด้วยโลภะความติดข้อง ในขณะนั้นจะไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จิตต้องมี เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน เมื่อมีการเกิดขึ้นของสัตว์บุคคลไม่ว่าในภพไหนภูมิใดก็ตาม จิตจะต้องเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ เหมือนกับพระราชามีอำมาตย์ทำงานให้ แต่ตัวพระราชาไม่ต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ทำหน้าที่ของแต่ละเจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นๆ แต่ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ขณะนี้กำลังเห็นสิ่งที่ถูกเห็น เพราะจิตรู้แจ้ง และเวลาที่เห็น เราจะเห็นความละเอียดของสิ่งที่เรามองดูสี ซึ่งแม้ว่าใกล้เคียงกันมาก แต่ก็ยังไม่ใช่สีเดียวกัน เพราะเหตุว่าจิตเห็น เป็นสภาพที่สามารถเห็นแจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ส่วนความจำ ความชอบ ไม่ชอบ ความรู้สึกดีใจ เสียใจ พวกนั้น เป็นลักษณะของเจตสิกที่เกิดกับจิต แต่ตัวจิตไม่ได้เป็นเวทนาเจตสิก ไม่ได้เป็นเจตสิกอื่นใด จิตเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งของลักษณะที่ปรากฏคืออารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ แม้ว่ารูปใดมีเหตุปัจจัยเกิด แต่ในขณะนั้นจิตไม่ได้รู้รูปนั้น รูปนั้นไม่ใช่อารมณ์ ต้องเฉพาะสิ่งที่จิตกำลังรู้เป็นอารมณ์ของจิต
เพราะฉะนั้น อารมณ์ในภาษาธรรม คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ ซึ่งในภาษาไทยจะเป็นความหมายอื่น เช่น อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี ก็เพราะเหตุว่าเห็นดีบ้าง ได้ยินดีบ้าง ได้กลิ่นดีบ้าง ในวันหนึ่งๆ เราก็บอกว่าอารมณ์ดี แต่ความจริงเราพูดถึงปลายเหตุในภาษาไทย แต่ตัวเหตุจริงๆ ต้องมีจิตเกิดขึ้น และมีอารมณ์ที่กำลังปรากฏให้จิตรู้ จิตต้องรู้อารมณ์ จิตเกิดโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ เมื่อเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จะมีอารมณ์โดยไม่มีจิตไม่ได้ เพราะอารมณ์หมายความถึงสิ่งที่ถูกจิตกำลังรู้ รูปไม่เป็นอารมณ์ ได้ แต่อารมณ์ต้องเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ ถ้าอารมณ์เป็นรูป ก็คือรูปที่จิตกำลังรู้ “รูป” เป็นรูป ไม่ใช่จิต เจตสิก นิพพาน “เจตสิก” ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน “รูป” ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน “นิพพาน” ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ต้องเป็นสภาวธรรมที่ต่างกัน และมีความหลากหลายที่ทำให้สภาพธรรมที่ปรากฏในวันหนึ่งๆ ต่างกันไป แต่ไม่เที่ยง ไม่ใช่สาระที่เราควรจะติดข้องมาก เพราะเหตุว่าเกิดแล้วดับ จนไม่มีอะไรเหลือ เมื่อวานนี้สิ่งที่เกิดแล้วหมดไป ในความทรงจำของเราคิดว่ายังมีอยู่ แต่ความจริงสิ่งที่ปรากฏทางตาดับ สิ่งที่ปรากฏทางหูดับ สิ่งที่ปรากฏทางจมูกดับ สิ่งที่ปรากฏทางลิ้นดับ สิ่งที่ปรากฏทางกายดับ ความคิดนึกก็คิดทีละหนึ่งคำ จะสองคำไม่ได้ แต่ละคำที่จิตกำลังคิด จิตก็ดับไปๆ เรื่อยๆ แต่โดยมากเราจะไม่รู้ความจริงอย่างนี้เลย เราคิดว่าจิตดับตอนตายใช่ไหม เกิดมาอาจจะบอกว่าทุกคนมีจิต แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจิตคืออะไร อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร แต่เมื่อได้ศึกษาธรรม ก็รู้ว่าจิตไม่มีรูปร่าง ลักษณะใดๆ เลย ไม่เป็นรูปธรรมหนึ่ง รูปธรรมใด จิตเป็นนามธรรมล้วนๆ และก็เกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย และแต่ละขณะก็ไม่ใช่จิตเดียวกัน แต่ว่าเป็นจิตที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแต่ละขณะ
เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาอย่างนี้จะทราบได้ว่าที่เราเรียกว่า ตาย คิดว่าจิตเกิด และดับตอนตายนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะตามความเป็นจริงแล้วสภาพธรรมใดที่เกิด ต้องดับทันที เร็วมาก และที่เรากล่าวว่าตาย เป็นเพียงการสมมติ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็จะยังมีสังสารวัฏฏ์ มีการเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตขณะสุดท้ายดับ ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตขณะแรกของชาติต่อไปเกิดขึ้นทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น เช่นเดียวกับขณะนี้ จิตก็กำลังเกิดดับสืบต่อกัน
ที่มา ...
- ตอบคำถามที่มหามกุฏราชวิทยาลัย
- ทำไมต้องฟังธรรม
- เริ่มด้วยความเข้าใจถูก ตอนที่ ๑
- เริ่มด้วยความเข้าใจถูก ตอนที่ ๒
- เริ่มด้วยความเข้าใจถูก ตอนที่ ๓
- โลกในวินัยพระอริยะ ๑
- โลกในวินัยพระอริยะ ๒
- สนทนาธรรม ๑
- สนทนาธรรม ๒
- สนทนาธรรม ๓
- สังฆทานและบุญ
- พระเครื่อง คาถา กรรม
- ตัวอย่างมิจฉาสมาธิ
- ประสบการณ์สมาธิและเมตตา
- เดินจงกรมและเมตตา
- เจ้ากรรมนายเวรและการอุทิศส่วนกุศล
- อิทธิฤทธิ์และเทพ
- การเกื้อกูลต่อบรรพชิต
- ใครเป็นพระอริยะบุคคล
- ความเข้าใจเรื่องศีล ๑
- ความเข้าใจเรื่องศีล ๒
- สนทนาเรื่องความเห็น
- พื้นฐานพระอภิธรรม ๑**
- พื้นฐานพระอภิธรรม ๒
- พื้นฐานพระอภิธรรม ๓**
- พื้นฐานธรรม
- ความต่างรูปธรรมนามธรรม
- พื้นฐานรูปธรรม
- เข้าถึงรูปธรรมที่ไม่ใช่ชื่อ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ๔
- พื้นฐานพระอภิธรรม ๕
- พื้นฐานพระอภิธรรม ๖ (เจตสิก) **
- พื้นฐานพระอภิธรรม ๗ (เจตสิก)
- เวทนาเจตสิก
- พื้นฐานพระอภิธรรม ๘ (เจตสิก)
- พื้นฐานพระอภิธรรม ๙ (เจตสิก)
- ปรมัตถธรรมกับบัญญัติ ๑
- ปรมัตถธรรมกับบัญญัติ ๒
- ปรมัตถธรรมกับบัญญัติ ๓
- พื้นฐานพระอภิธรรม ๑๐
- พื้นฐานจิต ๑
- พื้นฐานจิต ๒
- พื้นฐานจิต ๓
- ชาติของจิต ๑
- ชาติของจิต ๒
- กรรมและวิบาก ๑
- กรรมและวิบาก ๒
- กรรมและวิบาก ๓
- กรรมและวิบาก ๔
- กรรมและวิบาก ๕
- วิบากจิต
- ภูมิของจิต ๑
- ภูมิของจิต ๒
- ธรรมทาน