พื้นฐานพระอภิธรรม ๖ (เจตสิก) **


    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

    ท่านอาจารย์ จากการที่ไม่เคยได้ฟัง ไม่เคยได้เข้าใจว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ ปรมัตถธรรม ๔ มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าชาติใดภาษาใดที่จะไม่มีปรมัตถธรรมนั้น เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นโลกและสิ่งที่ปรากฏ มีลักษณะที่เป็นธรรมที่ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ คือ นามธรรมและรูปธรรม ขณะนี้เมื่อกล่าวถึงปรมัตถธรรม ๔ จะเว้นไม่กล่าวถึงนิพพาน เพราะขณะนี้ไม่มีใครเห็น หรือได้ยินนิพพาน นิพพานไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดและปรากฏในชีวิตประจำวัน นิพพาน ไม่มีปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้เกิดขึ้น

    สิ่งที่เคยเป็นเรา หรือเป็นโลกทั้งหมด แท้จริงคือ สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง โดยที่เราไม่เคยคิดมาก่อน เมื่อเกิดมีปรากฏ ก็เป็นเราไปเสียทุกอย่าง หรือว่าเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ ตามที่ได้จำไว้ ทั้งที่ความจริงคือ เป็นธรรม มีจริง เกิดขึ้นแล้ว จึงปรากฏ ซึ่งลักษณะที่ต่างๆ กัน เป็น ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้ ไม่สามารถเห็น ไม่สามารถคิดนึก สภาพธรรมดังกล่าวเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเกิดบนสวรรค์ ในน้ำ หรือที่ใดก็ตาม หรือเกิดขึ้นในสมัยใดที่นานแสนนาน ลักษณะของสภาพธรรมนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลง คือ เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่สามารถจะรู้ใดๆ ได้เลย แม้ในอนาคตก็เป็นอย่างนี้ และแม้ในขณะนี้ มีสิ่งที่เรากำลังฟัง ต้องพิสูจน์ ต้องเข้าใจในว่า ขณะนี้มีรูปธรรมหรือไม่ พิจารณาความจริง มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และไม่ลืม การที่กล่าวเรื่องนามธรรมรูปธรรม ซ้ำๆ ทุกครั้ง เพราะนามธรรมมีจริง รูปธรรมมีจริง แต่ลืมว่าเป็นนามธรรม และรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ขณะฟังธรรม ไม่คิดเรื่องอื่น แต่คิดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นธรรม สามารถที่จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า ลักษณะใดเป็นรูปธรรมบ้าง

    ผู้ฟัง มีแข็ง

    ท่านอาจารย์ แข็ง เป็นรูป เสียงเป็นรูป แข็งรู้ได้ทางกาย ถ้าไม่มีกายปสาท แข็งก็ปรากฏไม่ได้ เสียงมีจริงๆ เกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าไม่มีสิ่งที่ทำให้เสียงเกิด เสียงก็เกิดไม่ได้ นั่งเฉยๆ เสียงก็ไม่เกิด แต่เมื่อมีของแข็งกระทบกัน เสียงเกิดแล้ว แต่ถ้าไม่มีการกระทบกันของของแข็ง เสียงก็เกิดไม่ได้ ไม่มีผู้ใดทำให้เสียงเกิดได้ แม้แต่คำพูด ก็ต้องมีการกระทบกันของส่วนที่เป็นรูป คือ ธาตุดิน เป็นธาตุที่มีลักษณะของอ่อนหรือแข็งในปาก กระทบกันเสียงจึงเกิดขึ้นมาได้ แต่ก็ยังมีสมุฏฐานอื่นนอกจากนั้นอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า ลักษณะของรูปทางกาย มี ๑ รูป ทางหู ๑ รูป ขณะนี้มีจริงเป็นธรรมที่เข้าใจให้ถึงที่สุดว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของใคร เพื่อที่ปัญญาจะเจริญจนสามารถละคลายความติดข้อง การยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นเรา จนกว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เหนือโลก คือพ้นจากโลก พ้นจากสภาพธรรมในขณะนี้ คือนิพพาน แต่ก็อีกไกล เพราะการอบรมเจริญปัญญาต้องตามลำดับจริงๆ ต้องรู้สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในหนังสือ หรือตามตำรา แต่มีสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้

    ในขณะนี้ มีอ่อนแข็ง มีเสียง มีกลิ่น เมื่อมีจมูก จมูกดีอาจได้กลิ่นดอกไม้ที่อยู่ข้างนอก มีต้นไม้ มีกลิ่นหญ้า มีกลิ่นดอกไม้ ถ้ากลิ่นไม่กระทบกับจมูก กลิ่นก็ไม่ปรากฏ ศึกษาพระธรรมต่อไป จะทราบว่า กลิ่นอยู่ข้างนอก จะกระทบถึงจมูกที่นี่ได้ ต้องอาศัยธาตุอะไร กลิ่นก็เป็นสิ่งที่มีจริง รสกระทบกับลิ้น สีต่างๆ ที่ปรากฏก็เป็นรูป ต้องอาศัยจักขุปสาท มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีแข็งหรืออ่อน มีเย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว รวมเป็น ๗ รูปที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แข็งเป็นของผู้ใดหรือไม่ เสียงเป็นของผู้ใด นี้ คือกำลังศึกษาธรรม ทุกอย่างเป็นธรรมคือเพียงเกิดปรากฏ แล้วหมดไป ไม่เป็นของผู้ใด ต้องฟังจนกระทั่งมีความเห็นถูกเข้าใจถูกว่า นี้เป็นรูปธรรม และเป็นรูปขันธ์ รูป หรือ รูปธรรม เป็นธรรมที่มีจริง ซึ่งรูปมีหลายอย่างที่ต่างกัน สี เสียง กลิ่น รส ในอดีต หรือต่อไปข้างหน้า หรือเดี๋ยวนี้ มีรูปธรรมหลากหลายมาก รูปทั้งหมดทุกชนิด ไม่ใช่สภาพรู้ จึงเป็นรูปขันธ์ และขันธ์ที่ไม่ใช่รูป มีจริง เป็นนามธรรม

    สิ่งที่มีจริง ๒ ประการคือ นามธรรมกับรูปธรรม ที่ต้องศึกษาตลอดชีวิต ทุกชาติ จะจำนวนเท่าไรก็แล้วแต่ จนกระทั่งประจักษ์จริงๆ ว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่สามารถปรากฏกับสภาพที่สามารถรู้รูปนั้นได้ ซึ่งเป็นนามธรรม ในขณะนี้ สิ่งต่างๆ กำลังปรากฏกับนามธรรม สภาพรู้หรือธาตุรู้ จิตเป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้ ถ้าไม่เข้าใจสภาพรู้หรือธาตุรู้ ชื่อว่าไม่เข้าใจจิต เพียงแต่รู้ว่ามีจิต แต่รู้แบบไม่เข้าใจว่า จิตคืออะไร แต่ถ้าสามารถที่จะเข้าใจ ว่ามีสภาพรู้หรือธาตุรู้ ทั้งหมดนี้เป็นธาตุหรือธรรมที่มีจริง แต่ธาตุชนิดหนึ่งไม่รู้อะไรเลย แต่อีกชนิดหนึ่งเป็นธาตุรู้ซึ่งทันทีที่เกิด ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นเสียงปรากฏ เราจะชินกับภาษาไทยว่าได้ยินเสียง ได้ยินคืออะไร ได้ยิน ก็คือได้ยินเป็นธาตุหรือธรรมที่สามารถได้ยินเสียง ขณะนี้เสียงมีหลายเสียง แต่ละเสียง ธาตุรู้สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งขณะนั้นรู้เสียง ธาตุรู้นั้นคือจิต สามารถรู้แจ้งลักษณะของธาตุคือเสียงนั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง มีจริงๆ ขณะเห็น ธาตุชนิดนี้ สภาพธรรมชนิดนี้ก็คือ สภาพที่กำลังเห็น ขณะที่กำลังเห็น มีจริงๆ ธาตุที่เห็นหรือสภาพธรรมที่เห็น คือ “จิตเห็น” ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่เห็น

    กำลังศึกษาธรรม ซึ่งแม้ในขั้นต้นก็ไม่ง่าย ถ้ากล่าวเพียงชื่อไม่ยาก แต่ถ้ากล่าวถึงลักษณะจริงๆ ที่จะให้เป็นความรู้ของเราจริงๆ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ลักษณะของธรรมที่เป็นนามธาตุ ที่เป็นสภาพรู้ ก็คือที่ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้นั่นเอง ถ้าได้สะสมการฟังความจริงเช่นนี้เมื่อแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ขณะนี้เมื่อได้ฟังคำที่กล่าวถึงนามธรรม เช่น เห็นก็สามารถเข้าใจได้ สามารถที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้ ตัวอย่างของผู้ที่ได้อบรมมาแล้ว คือ พระอริยสาวกทั้งหลาย ซึ่งท่านก็กล่าวว่าเมื่อแสนกัปป์มาแล้ว ท่านเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน แล้วก็ได้ฟังธรรม เพราะฉะนั้น การฟังขณะนี้ ไม่ต้องคำนึงถึง วัน เดือน ปี หรือจำนวน แต่ละขณะที่ได้ฟังแล้วเข้าใจ นั่นคือประโยชน์สูงสุดของการที่รู้ว่า ได้ฟังสิ่งซึ่งผู้อื่นไม่สามารถบอกเราได้นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ปรมัตถธรรม ๔ “จิต” เป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ถูกรู้ คือ “อารมณ์” มาจากภาษาบาลีว่า “อารัมมณะ” หรือ “อาลัมพน” เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ จะต้องมีสิ่งที่ถูกรู้คืออารมณ์ ไม่มีจิตสักขณะเดียวที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์หรือไม่มีอารมณ์ อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ ในขณะที่จิตเกิด สิ่งที่จิตกำลังรู้เป็นอารมณ์ ขณะนี้มีรูปมากมาย รูปใดก็ตามที่เกิด แต่จิตไม่ได้รู้รูปนั้น รูปนั้นก็เป็นเพียงรูป แต่ไม่ใช่อารมณ์ เพราะไม่มีจิตที่กำลังรู้รูปนั้น จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ที่สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง จิตรู้รูปก็ได้ จิตรู้นิพพานได้ ถ้าจิตรู้นิพพานไม่ได้ จะไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม การรู้นิพพานได้สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ซึ่งจะต้องมีความรู้เรื่องของสภาพธรรมในขณะนี้ จนกระทั่งเป็นความชำนาญ จนกระทั่งสามารถรู้แจ้ง หรือประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมซึ่งขณะนี้กำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ นิพพานจึงยังไม่กล่าวถึง แต่จะกล่าวถึงสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งเป็น รูปธรรม๑ และนามธรรม ๒ คือ จิตและเจตสิก

    ผู้ฟัง ตากำลังเห็นคน คนเป็นอารมณ์ของตา หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงทุกอย่าง แม้ไม่เคยรู้มาก่อน แต่ถ้ารู้ก็ต้องไม่ผิดปกติตามความเป็นจริง เห็นมีจริง เห็นคนก็มีจริง ถ้าไม่มีจิต คนจะมีไหม ถ้าไม่มีจิตจะรู้ว่าเป็นคนก็ไม่ได้ ความรวดเร็วของจิตที่มีมีมากมายหลากหลาย คนหนึ่งๆ มีจิตหลายประเภท มนุษย์ในโลกนี้มีจำนวนเท่าไหร่ ทั้งก่อนนี้ และต่อๆ ไป ข้างหน้า แสดงให้เห็นความวิจิตร ความหลากหลายของจิตว่ามีหลายประเภท แต่เมื่อประมวลสรุปเป็นประเภทใหญ่ๆ ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ จิตเหล่านี้มาจากชีวิตประจำวัน เช่น ขณะเห็น ต้องมีเห็นก่อน เห็นแล้วถ้าไม่มีสภาพที่จำ คนก็ไม่มี ความคิดเรื่องคนก็ไม่มี สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จะคิดว่าเป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ แต่ยังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แม้ระหว่างที่คิดว่าเห็นคน ก็ยังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอยู่ตลอด แต่ระหว่างที่เห็นแล้ว จะมีความคิดว่าคน หรือจะมีความคิดเรื่องราวต่างๆ เห็นก็คือเห็น ขณะที่เห็นเป็นขณะหนึ่ง ไม่เปลี่ยน แต่ไม่ใช่ขณะที่คิด เพราะฉะนั้นขณะที่คิดว่าเป็นคน เป็นสัตว์ หรือจะคิดเรื่องราวต่างๆ เช่น วันนี้จะทำอะไร จะพบกับใครที่ไหน จิตเห็นก็ยังเห็น และจิตคิดก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง หลังจากเห็นแล้ว จะคิดว่าเป็นคน จะเป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นอะไร ก็มาจากสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ความทรงจำ รูปร่าง สัณฐาน ที่เคยจำไว้ ก็จะทำให้มีความคิดว่ากำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นให้เห็นความละเอียด ความรวดเร็วว่า การที่มีปัจจัยปรุงแต่งจิตเห็นเกิดขึ้น ความเป็นจริงก็คือ ทันทีที่ทำกิจเห็น เห็นแล้วสั้นๆ นิดเดียว ลืมตาแล้วหลับตา จิตเห็นนั้นดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น ความรวดเร็วของการเกิดดับสืบต่อของจิต ก็เหมือนกับมายากล ทำให้ไม่เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ที่เกิดขึ้นทำกิจเฉพาะอย่างแล้วก็ดับไป แต่เหมือนกับว่ามีเห็นซึ่งไม่ดับเลย เห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง คิดนึกเป็นจิตประเภทหนึ่ง ได้ยินเป็นจิตชนิดหนึ่ง ทั้งหมดเหมือนไม่มีอะไรดับเลย สืบต่อ เที่ยง มั่นคง

    การศึกษาปรมัตถธรรมคือ เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม เกิดดับอย่างเร็วมาก ทั้งนามธรรมและรูปธรรม รูปธรรมเกิดดับช้ากว่าจิต คือจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่ง หรือกลาปหนึ่ง คือ กลุ่มของรูปที่เกิดร่วมกันกลุ่มหนึ่งจึงจะดับไป การศึกษาธรรมไม่จำเป็นที่จะต้องรีบ แต่เป็นความเข้าใจของเราที่มั่นคงเพิ่มขึ้น ในความเป็นสภาพธรรม ซึ่งทำให้เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนี้จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน รวดเร็วมาก แต่ยังไม่ปรากฏการเกิดดับ และมีสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่จิต เพราะ จิตไม่ได้จำ จิตไม่ได้คิด จิตเป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ เช่น ในขณะนี้จะเห็นสิ่งใด เพราะจิตขณะนั้น รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้ามีแหวนเพชรสองวง จิตเป็นลักษณะที่รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นสีเขียว สีแดง จะเป็นเพชรแท้ เพชรเทียม อย่างไรก็ตามขณะนั้นจิตต้องรู้แจ้ง และมีสัญญาความทรงจำเกิดพร้อมจิต

    ธาตุที่เป็นใหญ่ในการรู้ คือจิต เป็นมนินทรีย์ เจตสิกเป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ จะมีเพียงจิตเกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิด เจตสิกก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิด ต่างอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ไป ถามว่า มีผู้ใดทำให้ใครเกิด ทำไม่ได้เลย ความเป็นจริงก็คือลักษณะอย่างนี้แหล่ะ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นธรรมเนียม เป็นนิยาม เป็นสภาวธรรม เป็นลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ขณะใดก็ตามที่จิตเกิด ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันที่ทำหน้าที่จำ สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็จำ คือเจตสิกชนิดหนึ่ง เจตสิก ทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เจตสิกที่ทำหน้าที่จำ พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่า “สัญญาเจตสิก” ต้องเปลี่ยนความเข้าใจเดิมที่เคยคิดว่า สัญญาลงนามกันวันที่เท่านั้นเท่านี้ สัญญากันว่าจะทำอะไร แต่ความจริงคือ สัญญาเป็นสภาพธรรมที่จำทุกขณะที่เกิดการจำได้ เช่น คุณเด่นพงศ์บอกว่าเห็นคน จะต้องมีความจำในรูปร่างสัณฐานของสิ่งซึ่งเคยเข้าใจว่าเป็นคน ทุกครั้งที่เห็นก็รู้ว่าเห็นคน เคยเห็นหุ่นหรือไม่ เคยเห็น แต่ก็รู้ว่าเป็นหุ่นใช่ไหม เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ แม้จะเหมือนกันอย่างไรก็ตาม แต่ จิตก็สามารถที่จะรู้แจ้ง สัญญาเจตสิกก็สามารถที่จะจำอย่างละเอียด จนกระทั่งรู้ได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่คน แต่เป็นหุ่น ทั้งๆ ที่บางคนอาจจะต้องไปมองแล้วมองอีก หรืออาจจะต้องกระทบสัมผัสแล้ว จึงจะรู้ว่าเป็นหุ่น

    ผู้ฟัง กล่าวถึงคำว่าอารมณ์ จะอธิบายอย่างไรว่ารูปเป็นอารมณ์ของจิต รูปเป็นอารมณ์ของตา อย่างไหนจะถูก

    ท่านอาจารย์ จิต เป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ทุกสิ่งที่จิตรู้เป็นอารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตา มีจริง เห็นมีจริง แต่คิดว่าเป็นคน ๒ ประการนี้ อะไรจริง สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง หรือว่าคนมีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาจริง อย่างไรๆ ก็ปรากฏ แต่ความคิดว่าเป็นคน จิตก็สามารถจะคิดอะไรได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้น มีการคิด และมีการรู้สิ่งซึ่งไม่ใช่ปรมัตถธรรม สิ่งใดก็ตามที่เป็นความคิดต่างๆ นาๆ ที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม สิ่งนั้นเป็นบัญญัติ จิตสามารถเห็นปรมัตถธรรม แล้วคิดเรื่องราวของปรมัตถธรรม ขณะใดที่เป็นเรื่องราวที่คิด แต่ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์จริงๆ ขณะนั้นเป็นบัญญัติอารมณ์ เห็นคนกำลังเดิน กำลังร้องไห้ กำลังซื้อของ กำลังสนทนากันต่างๆ ทั้งหมดมาจากเห็น และก็ปรุงแต่งเป็นเรื่องราวบัญญัติต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงมีปรมัตถธรรมกับบัญญัติ จิตต้องมีอารมณ์ แต่อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ก็มี อารมณ์ที่เป็นบัญญัติเรื่องราวต่างๆ ก็มี

    ผู้ฟัง เวทนากับสัญญา เหตุใดจึงแยกออกมาจากเจตสิก ๕๒ ขอให้ท่านอาจารย์กล่าวเพิ่มถึงความสำคัญของสัญญา

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม เมื่อจำแนกเป็นขันธ์ต่างๆ ไม่เพื่อการจำชื่อ แต่เพื่อเข้าใจ จิตเป็นสภาพซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง จิตต่างกับเจตสิกทั้งหมด จิตเป็นขันธ์หนึ่ง เรียกชื่อว่า วิญญาณขันธ์ การที่ใช้คำหลายหลาก ใช้คำว่า จิตบ้าง ใช้คำว่าวิญญาณบ้าง ใช้คำว่ามโนบ้าง มนัสบ้าง ต่อไปก็จะมี คำว่า หทย, ปัณฑระ ต่างๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิตโดยประการต่างๆ หากใช้ชื่อเดียว ต่อไปได้ยินชื่ออื่น อาจคิดว่าไม่ใช่จิต แต่ความจริงก็คือจิตนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึง สภาพธรรมมีขันธ์ ๕ ได้แก่รูปขันธ์๑ เวทนาขันธ์๑ สัญญาขันธ์๑ สังขารขันธ์๑ วิญญาณขันธ์๑ ไม่เพียงจำชื่อ แต่เพื่อให้เข้าใจว่า จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เป็นธรรมประเภทหนึ่ง รูป เป็นธรรมประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เป็นส่วนของรูปทั้งหมด ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ไกล ใกล้ หยาบ ละเอียด ก็คือ ลักษณะของรูปเป็นรูปขันธ์ จิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นที่เหลือเป็นอะไร ปรมัตถธรรมมี ๔ แต่ถ้ากล่าวเฉพาะปรมัตถธรรมที่เกิดดับปรากฏในชีวิตประจำวัน มีปรมัตถธรรม๓ คือ จิต เจตสิก รูป

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึงนามธรรมที่เป็นสภาพรู้อารมณ์มี ๒ อย่าง คือ จิต และเจตสิก ตา หรือ หูที่ได้ยินขณะนี้ เป็นนามธรรมหรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ ตา ไม่เห็นอะไร แต่จิตเห็นอาศัยตา ถ้าเห็นเป็นนามธรรมคือจิต เป็นวิญญาณขันธ์ อารมณ์คือสิ่งที่ถูกเห็นก็เป็นรูปธรรม เพราะ สิ่งที่ปรากฏไม่รู้อะไรเลย เป็นรูปธรรม

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 171
    25 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ