สนทนาธรรม ๒


    ปกิณณกธรรม ตอนที่ 82

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความดี ต้องเป็นความดี ความชั่วต้องเป็นความชั่ว เรามีค่านิยมที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ดั้งเดิม คือคิดว่าถ้าเป็นนักธุรกิจแล้วต้องพูดไม่จริง แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ถ้าเป็นนักธุรกิจที่พูดจริง คนจะชอบมากกว่า แต่เพราะว่าค่านิยมของคนผิด ทำตามๆ กันมาว่า ต้องพูดไม่จริง แต่ความจริงถ้าคนนั้นเป็นคนที่จริงใจ และก็เป็นคนดี แล้วก็พูดจริง คนจะชอบมากกว่า ถ้าเราไปซื้อของ เราจะสังเกตได้ว่า ในฐานะของผู้ซื้อ เราชอบให้คนขายพูดจริงหรือพูดไม่จริง เพราะฉะนั้นผู้ซื้อจะไม่ไปซื้อของให้เขาขาดทุน เรื่องอะไรที่จะไปซื้อของให้เขาขาดทุน แสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ที่คนจะไม่ชอบความจริง แต่ว่าถ้าเป็นพ่อค้าที่จริงใจ และก็เป็นคนดี และก็พูดจริง หรือสัจจะ คนนั้นก็จะต้องชอบมากกว่า

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่รวย ถ้าเป็นธรรม ต้องตรง

    ท่านอาจารย์ ในฐานะคนซื้อเราชอบพ่อค้าที่พูดจริง เราไม่ชอบคนหลอกลวง

    ผู้ฟัง คนขายไปวางความรู้สึกว่า ต้องรวย

    ท่านอาจารย์ เป็นคนค้าขายคิดว่าต้องพูดไม่จริง แต่ว่าความจริงแล้วคนซื้อ หรือคนที่ทำงานธุรกิจทั้งหลายชอบคนที่พูดจริง

    ผู้ฟัง ปัญหาที่เกิดเป็นปัจจุบันธรรม อยู่ในบ้านเมืองเวลานี้คือคนพูดไม่จริง

    ท่านอาจารย์ เราต้องเปลี่ยนค่านิยมใหม่

    ผู้ฟัง นักธุรกิจวางความรู้สึกไว้ผิด เป็นไปตามกระแสของโลกที่เอากำไรเป็นเหตุ ไม่ใช่เอาความถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็รู้ว่าต้องมีกำไร ไม่มีกำไรจะมานั่งเหนื่อยยากทำไม ธุรกิจคือธุรกิจ ท่านอนาถบิณฑกะ วิสาขามิคารมารดา ท่านก็ค้าขาย

    ผู้ฟัง แสดงว่าที่เราประกอบสัมมาชีพ มีการได้ การเสีย ไม่เป็นบุญ เป็นบาป

    ท่านอาจารย์ เป็นธุรกิจ เป็นการค้าสุจริต

    ผู้ฟัง เพียงแต่ว่า เราอย่าให้มีอกุศลมากเกินกว่าเหตุที่พึงมีพึงได้ในการประกอบ

    ท่านอาจารย์ จะได้กำไรมาก แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องพูดปดก็ได้ หรือพูดไม่จริงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องบอก แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องพูดสิ่งที่ไม่จริง ไม่ใช่ไปกดราคาให้คนที่มีธรรม แล้วก็เลยต้องขายของถูกๆ คนอื่นก็ขายของแพงๆ เราก็เลยต้องยากจน คนอื่นก็ต้องร่ำรวย ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

    ผู้ฟัง คือปัญหาคาใจของคนทั่วไป ก็กลัวตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นคนดี เข้าใจว่าแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ หรือใครก็ตามแต่

    ผู้ฟัง คนอื่นไม่ได้ฆ่าหมูแต่ว่าจน คนนี้ฆ่าเป็ดแต่รวย ลูกออกมาก็รวยต่อ แล้วจะไปรับผลกรรมเมื่อไหร่ ตรงนี้เราจะพูดอธิบายอย่างไร ให้เห็นชัดๆ ว่ากรรม มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีกรรมไหนที่ให้ผลทันที นอกจากโลกุตรกุศล ทันทีที่เป็นโสตาปัตติมรรคจิตดับ โสตาปัตติผลจิตซึ่งเป็นผลเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้น กรรม ข้ามภพข้ามชาติได้ ทำกรรมไว้แสนโกฎิกัปป์ แล้วผลเพิ่งเกิด อย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตกรรมของพระองค์เอง จากการที่ประชวรบ้าง ปวดพระเศียรบ้าง เนื่องจากกรรมในครั้งโน้นๆ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่า ทำวันนี้ ผลเกิดวันนี้ เพราะฉะนั้นกรรมมีกาลของกรรมเหมือนกันว่า กรรมใดให้ผลในปัจจุบันชาติ กรรมใดให้ผลในชาติต่อไป กรรมใดเมื่อไม่ให้ผลในชาติต่อไป ยังติดตามผลต่อไปสังสารวัฎฏ์จนกว่าจะถือปรินิพพาน เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราจะคิดเอาเองหมด ว่าคนนี้ทำอย่างนี้ได้ผลอย่างนั้น เราไม่รู้ความจริง เราไม่รู้ความจริงแม้แต่ว่า กรรมได้แก่อะไร และผลของกรรมคืออะไร แต่ถ้ารู้ความจริงว่า กรรมคือความจงใจ ความตั้งใจ ที่เป็นกุศล หรือที่เป็นอกุศล เราก็จะรู้ได้ว่า ทุกๆ ขณะที่เราทำ ที่เกิดมา ที่มีจิต จะต้องมีเจตนาเกิดกับจิตร่วมไปทุกครั้ง ไม่เคยมีจิตสักขณะเดียว ซึ่งไม่มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเจตนานี้เป็นความจงใจความตั้งใจ แต่ว่ามี ทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งใจ ทางกายการที่เราจะเอื้อมมือไป เรามีความจงใจต้องการจะเอื้อมไป เจตนาซึ่งเป็นกรรม กระทำให้มีการเอื้อมไป สำเร็จกิจของการเอื้อมไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราตื่นขึ้นมาจะทำอะไรทั้งหมด ก็เป็นไปตามความจงใจ หรือความตั้งใจ แต่ไม่ใช่เป็นอกุศลกรรมบถ แต่ว่าเกิดจากอกุศลจิต เพราะเหตุว่ายังไม่เป็นกุศลกรรมบถ ๑๐ เพราะฉะนั้นจะแสดงให้เห็นว่า ความจงใจหรือเจตนานั่นเอง ที่เป็นตัวกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดผล ถ้ามีความจงใจที่เป็นอกุศลกรรม เช่นการฆ่า การลักทรัพย์ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้เป็นของตน เป็นต้น แสดงว่าเมื่อมีความจงใจ ที่มีการกระทำอย่างนั้นแล้ว ความจงใจเจตนานั้นเอง จะทำให้เกิดผล คือจิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้น เพราะกรรมหรือความจงใจนั้น จะเห็นได้ทุกอย่างที่ทำ จะปราศจากเจตนาไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะถึงขั้นที่เป็นอกุศลกรรมบถหรือไม่ถึง เป็นที่อกุศลจิต และอกุศลเจตนา ถ้าอาหารไม่เค็มจืดไป เราก็มีเจตนาที่จะเติมน้ำปลา เจตนาอันนี้ ทำให้กายเคลื่อนไหวไป กระทำกิจของการเติมน้ำปลานั้นสำเร็จลง นี้เป็นอกุศลจิต และเป็นกายทวาร แต่ไม่ใช่อกุศลกรรม เพราะเหตุว่า ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่เจตนานี้จะเป็นอกุศลกรรม เมื่อทำให้คนอื่นเดือดร้อน คือเจตนาคือตัวจงใจ ซึ่งเมื่อทำแล้ว สำเร็จเป็นกรรมแล้ว ก็ทำให้ผลข้างหน้าคือจิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้น วิบากหมายความถึงผลของกรรม เช่นเกิดก็ต้องมาจากรรมหนึ่ง ซึ่งถ้าเราปรารถนาที่จะให้คนนั้นตาย และเราฆ่าสำเร็จ ถ้ากรรมนั้นให้ผล ก็ทำให้เราเกิดในนรก ได้รับความทุกข์ เดือดร้อนต่างๆ เพราะเจตนาซึ่งมีแล้ว ตั้งแต่ตอนกระทำ ที่ต้องการที่จะให้คนอื่นเป็นอย่างนั้น ขณะที่ต้องการให้คนอื่นเป็นอย่างไร นั้นแสดงถึงตัวจิตของคนนั้น ซึ่งมีอกุศลกรรมถึงขั้นนั้น เพราะฉะนั้นก็จะสร้างให้จิตของคนนั้นเอง ที่จะเกิดข้างหน้าเป็นไปอย่างนั้น ซึ่งเป็นการรับผลของกรรม เพราะฉะนั้นให้ทุกคนย้อนกลับมาที่จิตใจของตัวเอง ให้รู้ว่ากรรมก็อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเป็นกุศลกรรม ก็คือขณะนั้นจิตดี ถ้าเป็นอกุศลกรรม ก็คือจิตไม่ดี เพราะฉะนั้นผลที่ไม่ดีก็ตั้งแต่เกิด เกิดไม่ดี แล้วก็ยังเห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไม่ดี นี่คือผลของกรรมในชาติหนึ่งๆ เพราะทุกคนอยากเห็น อยากได้ยิน อยากได้กลิ่น อยากลิ้มรส อยากกระทบสัมผัส แต่สิ่งที่ดีๆ ทั้งนั้น มุ่งหน้าแสวงหากันทุกวันนี้ แสวงหาผลของกรรมที่ดี แต่กรรมเราทำมาที่จะให้ได้รับผลอย่างนั้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง และอีกปัญหาหนึ่ง ที่คำสอนทางพุทธศาสนามีเยอะมาก เข้าไปในร้านหนังสือก็มีเยอะแยะมากมายหลายเล่ม ก็เกิดคำถามในใจว่า ถ้าไม่มีพื้นความรู้ทางด้านนี้เลย จะเริ่มต้นเรียนตรงจุดไหนก่อน อะไรคือสาระใหญ่ที่ควรเรียนรู้เป็นพื้นฐาน

    ท่านอาจารย์ พระอภิธรรม ชื่อนี้ทุกคนคิดถึงงานศพ สวดพระอภิธรรม แสดงให้เห็นว่าเราชินหู แต่เราก็พูดตามๆ กันมาว่า สวดพระอภิธรรม แต่อภิธรรมคืออะไร ธรรมคืออะไร และยังมีคำว่า อภิ เข้ามาข้างหน้าด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องของธรรม เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา เรื่องของฟังมากๆ ถ้าใครอยากเข้าใจ จะขาดการฟังบ่อยๆ แล้วคิดมากไม่ได้ ต้องพิจารณาไปด้วย ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เป็นความจริงที่มีอยู่ในขณะนี้ ที่กำลังมีอยู่ ทุกอย่างเป็นธรรม คำสอนของพระองค์ไม่เปลียนแปลง เพราะว่าเป็นการตรัสรู้ เมื่อตรัสว่าอย่างไร คำนั้นไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่เป็นสอง ถ้ากล่าวว่าทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เราก็ต้องคิดว่า แข็งมี เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น โกรธมี เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น ได้ยินขณะนี้ ได้ยินมี เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เสียงมี เสียงเป็นธรรมหรือเปล่า เป็น แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราจะเข้าใจคำสอนจริงๆ เราต้องรู้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้หมด ความจริงทุกอย่าง ที่มีอยู่ที่กำลังเผชิญหน้าทั้งหมด ทรงตรัสรู้สภาพนั้น ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นทรงแสดงธรรม คือเรื่องของสิ่ง ที่มีจริงๆ ทุกวันตั้งแต่เกิดจนตาย นี่คือธรรม และทรงแสดง อภิธรรม อภิ คือความละเอียดยิ่งของสิ่งนั้นให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า เราเคยเข้าใจผิวเผินมากว่า มีดอกไม้ มีโลก มีคน มีสัตว์ แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่มีจริงๆ คือแข็ง ทุกคนไม่ปฏิเสธ แข็งจะเรียกว่าโต๊ะก็ได้ จะเรียกว่าดอกไม้ก็แข็ง จะเรียกแแก้วก็แข็ง กระดาษก็แข็ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงคือแข็ง นี่คืออภิธรรม แต่ถ้าพูดถึงธรรมทั่วไปก็เป็นคนดี คนชั่ว ความประพฤติดี ประพฤติชั่ว แต่ถ้าพูดถึงสัจจธรรม ซึ่งไม่เป็นของใคร แล้วก็ไม่จำกัดด้วย ไม่ว่าเด็กจับ ก็ต้องรู้ว่าแข็ง ชาติไหนก็ตาม ภาษาไหนก็ตาม จะใช้คำเปลี่ยนเรียกอะไรก็ตาม แต่สิ่งนี้ไม่เปลี่ยนสภาพ เกิดขึ้นเป็นแข็ง ก็เป็นแข็ง เกิดขึ้นเป็นกลิ่น ก็เป็นกลิ่น เกิดขึ้นเป็นรส ก็เป็นรส เพราะฉะนั้นถ้าจะศึกษาพระธรรมจริงๆ ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้อะไร ธรรมที่แท้จริงซึ่งคนอื่น ไม่สามารถบอกได้ ไม่สามารถแสดงได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว คนอื่นแสดงอภิธรรมไม่ได้ คือแสดงความจริง ที่ละเอียดยิ่ง ของสิ่งที่มี โดยการตรัสรู้ เพราะฉะนั้นต้องศึกษาจากพระอภิธรรม ซึ่งในยุคนี้ สมัยนี้ก็จะเริ่มจาก อภิธัมมัตถสังคหะของท่านพระอนุรุทธาจารย์

    ผู้ฟัง อาจารย์ให้คำพูดสั้นๆ สักประโยค สองประโยคว่า เราเรียนอภิธรรมไป เพื่อพุทธประสงค์อะไร

    ท่านอาจารย์ เพื่อเข้าใจสภาพธรรมม

    ผู้ฟัง เพื่อให้เกิดอะไร

    ท่านอาจารย์ เพื่อให้เกิดปัญญา ที่จะรู้ความจริง เพื่อสัจจธรรม เพื่อให้เกิดปัญญา รู้ความจริงของทุกสิ่ง ปัญญาละอวิชชา ความไม่รู้ อวิชชาถ้าไม่ละ ก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลส ต้องสาวไปจนกระทั่งถึงว่า เราไม่ชอบกิเลส แต่ถ้ายังมีอวิชชาความไม่รู้ ก็ยังมีกิเลส เพราะฉะนั้นที่จะหมดกิเลสได้ ก็ต้องค่อยๆ ละอวิชชา วิธีที่จะละอวิชชา ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เรียนอภิธรรมเพื่อให้เกิดการละกิเลส ทำลายกิเลส ปัญญาแจ่มแจ้ง นี้คือพุทธประสงค์ที่ต้องการจะชักนำ สัตว์โลกให้หลุดพ้นจากวัฏฏะอันนี้

    ท่านอาจารย์ ใครชอบกิเลสบ้าง ไม่ชอบชื่อ แต่ชอบตัว อาหารก็ต้องอร่อย ดอกไม้ก็ต้องสวย ทุกอย่างก็ต้องดี ทั้งหมดนั้นซึ่งเป็นความติดข้องเพื่อกิเลส เรื่องของการที่จะละกิเลส จะยากสักแค่ไหน เพราะเหตุว่าทุกคนติดมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจจริงๆ ว่า เรื่องใหญ่ การศึกษาพุทธศาสนา เป็นเรื่องใหญ่ที่จะเข้าใจในพระปัญญาคุณ ที่สามารถจะทำให้เราจากความมีกิเลสมาก เป็นผู้ที่ลดกิเลสลง จนสามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่ไม่ใช่ว่าทีเดียวแล้วดับได้ และไม่ใช่ว่าไม่ศึกษาแล้วจะละได้ ละไม่จริงเพราะเหตุว่า เป็นเราพยายามละ พยายามสักเท่าไหร่ก็ปราบกิเลสไม่ได้ แต่ถ้าปัญญาเกิด ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เหมือนแสงสว่างซึ่งกำจัดความมืด เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญา อย่าคิดว่าใครจะดับกิเลสได้ ทั้งๆ ที่บอกว่าไม่ชอบ แต่ความจริงไม่ชอบชื่อ แต่ชอบตัว

    ผู้ฟัง ตัวอาตมากระทบกระเทือนกรรมเก่ามากไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้นอกจากพระคุณเจ้า ทุกคนรับผลของกรรมเก่าทั้งนั้น เพราะว่าขณะใดที่เห็น ต้องเป็นผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว เหมือนกันหมด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทุกคนกำลังได้รับผลของกรรมเก่า แต่เมื่อเห็นแล้ว จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศล นั้นไม่ใช่กรรมเก่า นี้เป็นเหตุใหม่ ที่จะให้เกิดผลข้างหน้า

    ผู้ฟัง อาตมาภาพช่วยให้เขาอยู่ มีน้ำ มีทางเดินสะดวก แล้วพวกที่ไม่ชอบ พวกทำลายป่า จะมีอานิสงส์อะไรที่อาตมาได้ช่วยอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้ากรรมใดที่เป็นกรรมดี กระทำแล้วดับไป เวลาให้ผล คือเห็นดี เกิดดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี เพราะว่ากรรมนี้ ทำให้ตากิดขึ้น ถ้ากรรมไม่ทำให้ตาเกิด ก็เกิดเป็นคนตาบอด คือคนไม่มีตา เพราะฉะนั้นแม้แต่ตา ก็เป็นผลของกรรม หูก็เป็นผลของกรรม จมูกก็เป็นผลของกรรม ลิ้นก็เป็นผลของกรรม กายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ที่สามารถจะรับกระทบ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นให้ทราบว่านี่เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นขณะเห็น ต้องเป็นผลของกรรมแน่นอน พระคุณเจ้ากำลังเห็น เป็นผลของกรรม แต่เวลาที่ทำสิ่งที่ดี นั้นเป็นเหตุใหม่ ที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า ต้องแยก เหตุอดีตกับผลปัจจุบัน และเหตุปัจจุบันกับผลอนาคต

    ผู้ฟัง ขอถามเกี่ยวกับเรื่องคิด ปรกติจิตใจของคนนั้นจะไม่สงบ คิดโน่น คิดนี่ อดีตบ้าง อนาคตบ้าง โดยเฉพาะท่านที่ยังครองเรือนอยู่ เรื่องต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย สิ่งที่ญาติโยมอยากจะถามมาก ก็คือว่าทำอย่างไร จึงจะสามารถทำให้จิตสงบ แล้วดำเนินธุรกิจแบบชาวบ้าน ดำเนินวิถีชีวิตในครอบครัวแบบธรรมดาๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดีได้ มีวิธีอย่างง่ายๆ อย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าต้องการจิตสงบ ไม่ต้องศึกษาธรรม เพราะว่าก่อนที่ พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้ มีพวกที่ทำจิตสงบมากมาย ได้ถึงขั้นฌานจิต ทั้งเป็นรูปฌาน อรูปฌาน โดยที่ไม่มีการตรัสรู้เลย เพราะฉะนั้นผู้ที่จะได้มีโอกาสฟังธรรม เป็นของยาก ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ ไม่มีใครจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเลย แต่สามารถจะมีวิธีทำให้จิตสงบได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะมีประโยชน์กว่า ก็คือว่าไม่มุ่งไปที่จิตสงบแล้วไม่มีปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้คนฟังเกิดปัญญา ที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรจะอบรมเจริญ ถ้าเป็นแต่เพียงความสงบเท่านั้น ไม่สามารถที่ละ หรือ ดับกิเลสได้เลย แต่พระธรรมที่ทรงแสดง สามารถที่จะทำให้บุคคลนั้น ค่อยๆ ที่จะอบรมปัญญา จนกระทั่งถึงการที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง โดยทั่วไปที่เรากระทำกัน ที่คิดว่าเป็นบุญ หรือเป็นบาป ท่านอาจารย์พอจะให้ความหมายว่า บุญคืออะไร บาปคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่รู้ยาก เพราะเหตุว่าต้องเป็นการรู้ขณะจิตจริงๆ ถึงจะรู้ว่า ขณะไหนเป็นบุญ ขณะไหนเป็นบาป แต่ถ้าเราจะดูจากการกระทำ เราก็เห็นได้ว่า ขณะใดที่ทำดีทั้งหมดเป็นบุญ การช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นบุญ การแสดงความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ ก็เป็นบุญ แต่ว่าขณะนั้นต้องไม่ใช่การหวัง หรือการติดในบุญ ถ้าหวังหรือติดเมื่อไร ขณะนั้นไม่ใช่บุญ

    ผู้ฟัง เราจะรู้ได้อย่างว่าขณะใดที่เป็นบุญ ในขณะใดที่เป็นบาป

    ท่านอาจารย์ ต้องสติเกิด ที่จะรู้สภาพของจิต แต่ถ้าไม่สามารถจะรู้สภาพของจิตได้ ก็ดูจากการกระทำดีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล การแสดงความอ่อนน้อม หรือว่าการศึกษาธรรม การเข้าใจธรรม แต่ต้องไม่ติดในบุญ ขณะที่เราไม่ได้หวังผลใดๆ แต่มีการช่วยคนอื่น ถ้าเขาถือของหนัก เราช่วยเขาแค่นี้ก็เป็นบุญ เพราะอะไร เป็นจิตที่ดีงาม เป็นกุศล เพราะเหตุว่าบุญนี้ไม่ใช่อยู่ที่อื่น ไม่ใช่ได้มา แต่ว่าอยู่ที่จิตขณะใดที่ดี จิตที่ดีงามเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นบุญ เป็นกุศล อย่าใช้คำว่า “ได้บุญ” หรือ “ได้กุศล” เพราะว่าทุกคนจะไปติดที่ต้องการจะได้ แต่ให้รู้ว่าขณะนั้นเป็นจิตที่ดี แค่จิตที่ดีนี้พอไหม วันหนึ่งๆ มีแต่จิตที่ไม่ดีทั้งนั้น แล้วจะมีโอกาสที่มี จิตที่ดีเกิดขึ้นบ้าง ก็น่าที่จะพอ และน่าที่จะสะสมจิตที่ดีเพิ่มขึ้น เวลาที่เราเห็นบุคคลที่ควรที่จะแสดงความอ่อนน้อม แต่จิตของเรานี้กระด้าง แม้แต่จะไหว้ ก็ไหว้ไม่ได้ แม้แต่จะทัก ก็ทักไม่ได้ แม้แต่จะยิ้ม ก็ยิ้มไม่ได้ คิดดูขณะจิตประเภทไหน แต่ถ้าขณะใด จิตของเราอ่อนโยน มีความเป็นเพื่อน ไม่ว่าเราจะพบคนแปลกหน้า ซึ่งไม่เคยเห็นเลย และก็ไม่ว่าชาติไหนภาษาไหน และอาจจะตามไปถึงกระทั่ง สัตว์เล็ก สัตว์น้อยก็ได้ แต่เราไม่มีการคิดที่จะเบียดเบียน และพร้อมที่จะช่วยเขา ขณะนั้นก็เป็นจิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นเราคงจะไม่ไปสามารถรู้ลึกถึงสภาพของจิต แต่ก็สามารถที่จะดูได้จากการกระทำในวันหนึ่งๆ ว่า ขณะใดเป็นการทำดี ขณะนั้นเกิดเพราะจิตที่เป็นกุศล แต่ว่าจิตที่เป็นกุศลสั้น และ น้อยมาก เพราะเหตุว่าเป็นกุศลแป๊บเดียว อกุศลเกิด สลับทันทีได้แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ไม่ไว และไม่ใช่สติที่คมจริงๆ ไม่สามารถจะแยกขณะที่เป็นกุศลจิต และขณะที่เป็นกุศลจิตได้ ขณะที่กำลังฟังธรรม เป็นกุศลหรือเปล่า ดูจากการกระทำใช่ไหม ว่าเป็น เพราะว่าการฟังธรรมเป็นสิ่งที่ดี ฟังสิ่งที่มีเหตุผล สิ่งที่ถูกต้อง เพื่อพิจารณาให้เกิดความเข้าใจ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามีเสียงก๊อกแก๊ก เป็นกุศลหรือเปล่า ก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่สามารถจะรู้จริงๆ ว่า กุศล และอกุศลสั้น เกิดแล้วก็ดับอย่างเร็วมาก แล้วก็สลับกัน เพราะฉะนั้นจึงทำให้เราเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่คิดว่าวันนี้ทำกุศล และกุศลเยอะแยะ กุศลมาก แต่ต้องรู้ว่าในระหว่างกุศลมาก ก็ยังมีอกุศลเกิดแทรกได้ นี้เป็นสิ่งซึ่งจะทำให้เรา แม้ว่าจะไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตก็จริง แต่ว่าขณะใดที่ทำสิ่งที่ดีต้องเกิดจากจิตที่ดี คงจะไม่มีใครไม่รู้เหมือนกันว่า ทำอะไรดี ทำอะไรไม่ดี คงพอจะรู้กัน

    ผู้ฟัง จิต คืออะไร มีคุณสมบัติอย่างไร มีการเกิดเป็นบุญ เป็นกุศลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทุกคนคงยอมรับว่ามีจิต มีใครไม่มีจิตบ้าง ไม่มี ทุกคนมีจิต เรียกอีกคำได้ไหมว่า ใจ ภาษาไทยเรา ก็เลยใช้คู่กันไปว่า จิตใจ หมายความถึงไม่ใช่รูป ร่างกาย เพราะว่าที่ว่าเป็นคนเป็นสัตว์ไม่ใช่มีแต่เฉพาะร่างกาย แต่ต้องมีจิตใจด้วย เราพูดจนชิน แต่ว่าเรารู้จักจิตจริงๆ หรือเปล่า ไม่รู้จักจริงๆ ใช่ไหม แต่เราพูดได้ ถ้ารู้จักจริงๆ เราต้องรู้จิตอยู่ที่ไหน กำลังนั่งอยู่นี้ จิตอยู่ที่ไหน จิตมีรูปร่างไหม ไม่มี นี่คือความเห็นที่ค่อยๆ ถูกขึ้นทีละนิดว่า จิตใจไม่มีรูปร่างเลย ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ชิมจิตนี้ชิมไม่ได้แน่ จะได้ยินก็ได้ยินแต่เสียง จะได้ยินจิตไม่ได้ จะเห็นก็เห็นแต่สีสัน วรรณะต่างๆ คนนี้ใส่เสื้อสีแดง คนนั้นสีขาว บ้านนี้สีอะไร ก็เป็นแต่เพียงสี ไม่สามารถจะเห็นจิตได้เลย เพราะฉะนั้นแม้ว่าจิตมี แต่ก็ไม่มีใครเห็น เพราะว่าจิตไม่ใช่รูปธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 171
    3 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ