พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 541


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    อ.คำปั่น ความเห็นผิดเป็นอันตราย ท่านจึงบอกว่า เป็นรกชัฏ คือยากที่จะสางได้เด็ดขาด ยากที่จะตัด ยากที่จะทำลายได้ เป็นทางกันดาร เพราะยากที่จะข้ามพ้นไปได้ เป็นเรื่องละเอียด เพราะผู้ดับความเห็นผิดได้จริงๆ ต้องเป็นพระโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ความเห็นผิดยังคงมีอยู่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะมีทิฏฐิซึ่งเป็นความเห็นผิดแล้ว ก็ยังมีการประพฤติผิดโดยเข้าใจผิดในหนทางที่เป็นสีลลัพพตปรามาส แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อติด หรือไม่ใช่เพื่อต้องการ เพราะฉะนั้นก่อนจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะรู้ได้ว่า เพื่อละ หรือเพื่อติด หรือเพื่อต้องการผล เพราะเวลาที่สนใจ เข้าใจธรรม แต่ไม่มีปัญญาที่จะไตร่ตรองว่า หนทางใดเป็นเหตุ และเป็นผลที่ถูกต้อง ก็ย่อมหวังในผล อย่างเร็วด้วย ผลก็หวัง แล้วคอยยังไม่ได้อีก แสนโกฏิกัปป์ หรือกี่กัปก็ตามแต่ แต่ความจริงก็คือว่า ปัญญาเท่านั้นที่สามารถรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าปัญญาคือความเห็นที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรม ซึ่งจะต้องมีตั้งแต่ขั้นการฟัง

    เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟัง ทุกคนก็จะรู้ได้ว่าฟังเพื่อละความไม่รู้ ไม่ได้ฟังเพื่อต้องการลาภ ยศ หรือแม้แต่คำสรรเสริญว่า เป็นผู้ศึกษาธรรม หรือเข้าใจธรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพราะไม่รู้ว่า ไม่รู้จึงฟัง เพื่อจะรู้ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า เป็นไปเพื่อการละ ก็สามารถประคับประคองความเห็นถูกไปได้ แต่ตราบใดที่ยังเห็นผิด แม้ขณะที่สภาพธรรมปรากฏ สติรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น หลังจากนั้นแล้วอยากรู้มากกว่านั้น หรือไม่ เห็น หรือไม่

    เพราะฉะนั้น ในอริยสัจธรรม ๔ จึงทรงแสดงสมุทัย คือ โลภะ ถ้ายังไม่มีการละ การคลาย ไม่สามารถจะรู้แจ้งนิพพาน ซึ่งหมายความว่าไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าเยื่อใย ความต้องการยังมี แล้วจะดับกิเลสได้อย่างไร เยื่อใย ความต้องการผลก็จะพาไปตามที่ต่างๆ ที่หวังว่าจะได้ผล โดยลืมว่าขณะนั้นถูกผูกไว้ ถูกคล้องไว้ด้วยทิฏฐิ ด้วยสีลลัพพตปรามาส คือไม่เข้าใจหนทางจริงๆ ว่า เป็นไปเพื่อการละ

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมเป็นสังขารขันธ์ที่จะเกื้อกูลอุปการะแม้ในขณะที่เกิดความต้องการที่จะเข้าใจมากกว่าที่กำลังเป็นในขณะนั้น ขณะนั้นก็ต้องมีความเห็นถูกว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง และลองคิดดู ชีวิตจริงๆ สามารถเข้าใจทุกอย่างว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเพียงปรากฏแล้วหมดไป ไม่กลับมาอีก นี่คือความมั่นคงที่จะเป็นสัจญาณ ทำให้ไม่รอผลใดๆ ทั้งสิ้น และไม่หวังผลใดๆ เพราะมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า เป็นธรรม ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นก็ไม่ต้องไปไกลถึงเรื่องผลของสติปัฏฐาน หรือวิปัสสนาญาณ เพียงแต่เป็นผู้มีความเข้าใจสภาพธรรมขณะนี้มั่นคงขึ้นแม้ในขั้นฟังว่า เป็นธรรม และก็รู้ขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด แล้วปัญญาจึงจะค่อยๆ รู้จักตัวธรรมจริงๆ ได้ ถ้าไม่รู้จักตัวธรรมจริงๆ จะประจักษ์การเกิดดับได้ไหม ได้ยินแต่ชื่อ

    ผู้ฟัง เราก็เห็นตัวอย่างอย่างที่คุณคำปั่นพูด คือศรัทธาต้องมีอย่างมั่นคงถึงขั้นพระโสดาบัน และท่านอาจารย์พูดถึงปัญญา ก็ต้องมีอย่างมั่นคงเหมือนพระโสดาบัน เราก็ยังไม่ถึงตรงนั้น เพราะอะไร เพราะหวังจะไปถึงตรงนั้นก็เป็นอกุศลจิต ซึ่งปัญญาไม่ได้เจริญเติบโต นี่เป็นปัญหาที่ ๑ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็ยังคงเป็นเรา

    อ.คำปั่น ก็เป็นประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาพระธรรม เพราะว่าถ้าขาดการฟัง ขาดการศึกษา ขาดความมั่นคงในความเป็นเหตุเป็นผลของธรรม ใครพูดอะไร เราก็จะเชื่อไปหมด ฉะนั้น การศึกษาธรรมจึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลจริงๆ เพราะจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก จากการที่ได้ศึกษาธรรม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด สิ่งที่มีจริงทั้งหมดพระองค์ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ตลอด ๔๕ พรรษาของการประกาศพระศาสนาของพระองค์ ซึ่งพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้นประมวลได้ ๓ อย่าง คือ สภาพธรรมที่เป็นกุศล สภาพธรรมที่เป็นอกุศล และสภาพธรรมที่ไม่เป็นทั้งกุศล และไม่เป็นทั้งอกุศล สิ่งนี้โดยประมวลแล้ว แต่เมื่อประมวลโดยย่อที่สุดแล้วก็คือ เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เพราะมีลักษณะให้รู้ได้ เพราะแม้แต่สภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ พระองค์ก็ทรงแสดงเพื่อให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาเป็นผู้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น และไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ทำให้ผู้ฟังมีความจริงใจ มีความมั่นคงที่จะถอยกลับจากอกุศล และเป็นผู้เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของกุศลธรรม และเพิ่มพูนสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรม ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน สะสมในสิ่งที่ดี ซึ่งก็จะเป็นที่พึ่งในภายหน้าอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการอบรมเจริญปัญญา เพราะเหตุว่าในแต่ละวันถ้าหากกุศลธรรมทั้งหลายไม่เจริญ กุศลประการต่างๆ ไม่เจริญ ก็จะเป็นโอกาสทำให้อกุศลธรรมทั้งหลาย อกุศลจิตเกิดขึ้น พอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นการมีโอกาสได้ศึกษาธรรม ได้ฟังธรรม จึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง

    ผู้ฟัง ในเมื่อฟังเข้าใจ ความเข้าใจ หรือความเห็นถูก หรือเห็นผิดก็จะต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะว่าเห็นถูกก็ไม่ใช่เห็นผิด เห็นผิดก็ไม่ใช่เห็นถูก แต่เหมือนบางครั้งถ้ายังไม่เข้าใจเพียงพอก็ไม่สามารถแยกได้ว่า เห็นถูกกับเห็นผิดต่างกันอย่างไร ท่านอาจารย์จะเกื้อกูลอย่างไรให้ทราบว่า อะไรคือเห็นถูก อะไรคือเห็นผิดจากความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ เกื้อกูลก็ไม่ใช่ตัวเราที่ไปเกื้อกูลใครได้ แต่ต้องเป็นพระธรรมที่สมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุ และผล และสำหรับผู้ที่พิจารณา เป็นผู้ตรงต่อเหตุผลด้วย เพราะว่าธรรมละเอียดมาก ถ้าไม่ฟังจริงๆ เราจะไม่รู้ว่า แม้เพื่อก้าวเดียวที่นำไปสู่การทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพราะอยากจะให้ผลเกิดขึ้น เช่น อยากจะให้ปัญญาเกิดขึ้น หรืออย่างไรก็ตามแต่ แม้ขณะนั้นก็เห็นผิด จะเห็นถูกได้อย่างไร เพราะเหตุว่าขณะนี้เป็นธรรม และไม่เข้าใจธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ แล้วจะเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ด้วยวิธีไหน เพียงก้าวเดียวที่เดินไปก็เพราะความเห็นผิด เพราะไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่เกิด และดับ และธรรมอื่นที่ยังไม่ได้เกิด และธรรมที่เกิดแล้ว ทำไมไม่รู้ไม่เข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าไม่สามารถเข้าใจธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ได้ถูกต้อง และจะเข้าใจธรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้เข้าใจจริงๆ ในความละเอียดของธรรม คนที่กำลังฟังธรรมขณะนี้ มีกิเลสไหมคะ มีสังโยชน์ไหมคะ คล้องไว้หมด ผูกไว้แน่น ทุกขณะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะที่ไม่เป็นกุศล แล้วทำไมกุศลไม่เกิด ใช่ไหม ทั้งๆ ที่ฟังอย่างนี้ก็ยังถูกคล้องไว้ตลอดเวลาโดยกุศลไม่เกิด เพราะเข้าใจยังไม่พอ ถ้าเข้าใจมั่นคงจริงๆ ขณะนั้นก็จะรู้ว่า เป็นธรรม เมื่อเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรมขณะนี้ได้ ก็จะมีศรัทธาเพิ่มขึ้น มีฉันทะเพิ่มขึ้น ที่จะรู้ว่า ถ้าตราบใดในขณะนี้ที่กำลังฟังธรรม แล้วก็มีธรรมปรากฏ แต่ยังไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็คือว่า ยังไม่มั่นคง ศรัทธาก็ยังน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับศรัทธาของผู้ที่สติสัมปชัญญะสามารถเกิดได้ในขณะที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเข้าใจจนสามารถดับกิเลสได้ จะไม่ใช่ไปสู่สถานที่อื่น ในครั้งพุทธกาล ภิกษุที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ท่านแยกย้ายไปสู่ที่พักของท่าน แล้วแต่ว่าท่านพอใจจะพักที่ไหน เวลาที่อากาศร้อนมาก ท่านก็ไปสู่ป่า เย็นกว่าที่จะอยู่ที่กุฎี ที่พำนักของท่าน เป็นปกติ แล้วอย่างท่านพระราหุล ท่านก็สามารถไปสู่ที่อื่น ไกลกว่านั้นอีก ท่านก็ไปได้ ตามการสะสมตามอัธยาศัยของท่าน

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดเป็นธรรม ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้จะได้ฟังธรรม รู้ว่า กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล แล้วทำไมกุศลไม่เกิด แต่อกุศลเกิด ผู้นั้นก็จะเห็นได้ว่า เพราะสะสมอกุศลมาก กุศลจึงเกิดได้น้อยกว่า ด้วยเหตุนี้จึงขาดการฟังพระธรรมไม่ได้ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ไม่ฟัง ขณะนั้นก็ลืมว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วเมื่อไรจะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ฟังบ่อยๆ จนกระทั่งคุ้นเคย และสามารถเริ่มเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ศรัทธาเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง แต่กว่าจะต่อๆ ๆ ๆ ๆ ไป มั่นคงขึ้นจนกระทั่งถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ต้องอาศัยความเห็นถูกด้วย เพราะว่าถ้าไม่มีความเห็นถูก ศรัทธาก็เจริญไม่ได้

    อ.ธิดารัตน์ มีข้อความที่ใช้คำว่า ทิฏฐิวิสุทธิกับวิปัสสนา ซึ่งจริงๆ แล้วก็ยังไม่ละความเห็นผิดได้เด็ดขาด แต่สิ่งนั้นหมายความว่า เป็นปัญญาที่มั่นคงมากแล้วใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นวิปัสสนา ขณะนั้นจะเป็นความเห็นถูกที่มั่นคงกว่าเวลาที่วิปัสสนาไม่เกิด หรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ ก็ยังไม่ถึงระดับนั้น เพราะระดับที่วิปัสสนาญาณเกิดก็มั่นคงกว่าสติปัฏฐานแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นว่า ผลของสติปัฏฐานคืออะไร ตั้งแต่เริ่มจนถึงที่สุด คือ วิมุติ หลุดพ้นจากความเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่กว่าจะถึงขั้นนั้น ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นจะถึงได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น เครื่องวัดที่จะรู้ว่าปัญญาได้อบรมเจริญถึงระดับไหน ก็คือวิปัสสนาญาณ แต่ว่าก่อนนั้นก็คือสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าเพียงฟังเข้าใจว่า สติปัฏฐานคือขณะไหน อย่างไร ก็ยังไม่เหมือนกับขณะที่สติเกิดจริงๆ เวลาที่สติเกิดจริงๆ ก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอนัตตา และกำลังมีลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นปกติที่ไม่เคยใส่ใจ ไม่เคยรู้ แต่ขณะนั้นกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น ลักษณะใดก็ได้ ทางไหนก็ได้

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ก็กล่าวชัดเจนว่า แม้กระทั่งสติปัฏฐานที่เป็นขั้นระลึกเล็กๆ น้อยๆ ก็มั่นคงในระดับนั้น

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษค่ะ มั่นคงกว่าเวลาที่สติปัฏฐานยังไม่เกิดแน่นอน

    อ.ธิดารัตน์ ใช่ค่ะ แล้วย้อนไปถึงผู้ที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด ความเข้าใจขั้นการฟังก็จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นลำดับเหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ถูกคือถูก ผิดคือผิด เข้าใจคือเข้าใจ ไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ อย่างฟังอะไรแล้วดีหมด ดีตรงไหน ต้องเป็นผู้ละเอียดถึงจะได้ความจริง ถ้าไม่เป็นผู้ที่ละเอียด หรือเกรงใจ เห็นแก่หน้า คนนั้นจะไม่ได้สาระจากพระธรรม

    ผู้ฟัง จะชี้ให้เห็นว่า ให้มีสติไประลึก เพราะสติก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา แต่ที่นั่นเขาจะสอนให้ไประลึก ให้ไประลึก เป็นความคิดเป็นเรื่องราวของลักษณะของสภาพธรรม จะไม่ใช่ที่ท่านอาจารย์แนะนำให้เราเข้าใจตัวลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏอยู่

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องจริง และตรง เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีความคิด และคำพูดว่า อะไรๆ ก็เหมือนกัน ถูกทั้งนั้น สิ่งนั้นจะค้านกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง หรือไม่ เพราะทรงแสดงถึงมิจฉาปฏิปทา สัมมาปฏิปทา มิจฉามรรค สัมมามรรค เพื่อประโยชน์เกื้อกูลให้เห็นว่า อบรมเจริญอย่างไร สำคัญว่าถูก แต่ความจริงผิด

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ซึ่งถ้าเป็นผู้เคารพพระธรรมคือความจริง จะทำให้เราเป็นคนตรง แล้วสามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งใดถูก หรือสิ่งใดผิด มิฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็จะไม่ได้รับสาระจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่สามารถเห็นสิ่งที่ถูกต้องว่าถูก และสิ่งที่ผิดว่าผิด

    ด้วยเหตุนี้ไม่ใช่คิดถึงเพียงคำที่พูด และอยากให้ทุกคนสบายใจ เหมือนกันหมด หรือดีทั้งนั้น แต่ต้องละเอียดทุกข้อว่า อะไรดี อะไรถูก และอะไรเป็นความจริง อะไรไม่จริง ถ้าขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นเห็น หรือได้ยินก็ตาม เกิดแล้วจริง เพราะว่ามีจริงๆ สามารถจะรู้ได้ไหม ถ้าคิดว่ารู้ไม่ได้ ต้องไปทำอย่างอื่น ถูก หรือผิด เพราะเหตุว่าขณะที่ไปทำอย่างอื่น เป็นเรา เป็นตัวตน โดยไม่ได้รู้ความจริงว่า เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และขณะใดรู้ได้ ขณะใดรู้ไม่ได้ ขณะที่เป็นอกุศล รู้ไม่ได้ ขณะที่เห็นผิดรู้ไม่ได้ แต่ขณะที่เข้าใจถูกต้อง และรู้ว่าหนทางนั้นคืออย่างไร ถ้าไม่มีความเข้าใจจะปฏิบัติอย่างไรก็ผิดทั้งหมด ถูกไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจก็ต้องรู้ว่า ไม่ใช่เรา ขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฟังจนกระทั่งเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น จึงระลึกได้ คือไม่ลืมว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่สามารถเห็นถูกได้ ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ ความเห็นถูกก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นได้

    ผู้ฟัง การศึกษาธรรมที่จะให้เข้าใจจริงๆ จะเริ่มต้นศึกษา จำเป็นต้องศึกษาพระอภิธรรม หรือไม่ รบกวนช่วยขยายให้ละเอียด

    ท่านอาจารย์ คนถามรู้จักพระอภิธรรม หรือไม่ ที่ว่าจำเป็นต้องศึกษาพระอภิธรรมไหม

    ผู้ฟัง จริงๆ ถ้าดูการโต้ตอบ ก็เหมือนกับว่า พระไตรปิฎกมี ๓ ส่วน ก็คือพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าคนถามยังไม่รู้จักพระอภิธรรม และตามความเป็นจริงก็ขอทราบว่า ถ้าศึกษาอะไรก็ตามแต่ไม่รู้จริง เป็นโทษ เพราะฉะนั้นจะมีคำถามไหมว่า ศึกษาธรรม ศึกษาพระอภิธรรม ก็คือผู้นั้นยังไม่รู้จักว่า ธรรมคืออะไร และอภิธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้นเป็นโทษแน่นอนที่จะแยกธรรมออกจากอภิธรรม หรือจะคิดว่าอภิธรรมไม่ใช่ธรรม จึงต้องศึกษาพระอภิธรรม หรือไม่ แต่ว่าธรรมก็คือธรรม เพียงแต่ได้ยินว่า ธรรม เข้าใจธรรม หรือไม่

    เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงได้ยินคำว่า “ธรรม” ยังไม่เข้าใจธรรม ต้องเข้าใจโดยการฟังอีก พิจารณาอีก เข้าใจอีก แล้วจะพบความละเอียดลึกซึ้งของธรรมที่เพียงได้ยินเพียงคำเดียวว่า “ธรรม” แต่ธรรมนั้นก็มีความละเอียดมาก ซึ่งความละเอียดของธรรมก็คืออภิธรรมนั่นเอง จนกระทั่งสามารถรู้จริงๆ ว่า เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็ตอบได้เลยว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เพียงคำเดียวไม่สามารถเข้าใจความลึกซึ้งของธรรมได้ เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาจนกระทั่งเข้าใจขึ้นๆ คือเข้าใจความละเอียดของธรรมซึ่งเป็นธรรม นั่นคืออภิธรรม

    เพราะฉะนั้น เขาจะศึกษาธรรมให้เข้าใจจริงๆ หรือไม่ หรือเพียงได้ยินชื่อธรรม ก็คิดว่าเป็นหัวข้อต่างๆ แล้วก็ศึกษา โดยไม่รู้ความละเอียด และความเป็นธรรม ซึ่งเป็นอภิธรรม

    ผู้ฟัง เหมือนกับไม่เข้าใจว่า เมื่อศึกษาจริงๆ แล้ว ก็สอนให้เข้าใจความจริงในชีวิตประจำวันว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เห็น ได้ยิน คือรู้ ๖ ทาง เมื่อเราไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้เข้าใจอย่างไร แต่ก็ยังมีผู้ที่ยังไม่กระจ่าง หรือไม่เข้าใจตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เพราะไม่รู้ใช่ไหม จึงฟังแล้วศึกษาธรรม แสดงว่าไม่รู้จักธรรมจึงฟัง เพราะฉะนั้น ผู้ฟังทุกคนก็ต้องเริ่มต้นด้วยการไม่รู้ว่า ธรรมคืออะไร แล้วเมื่อฟังแล้ว สนใจที่จะเข้าใจให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หรือไม่ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงศึกษานิดหน่อย เพื่อที่จะสอบ แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมคือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงความจริง เป็นสิ่งที่น่าศึกษา หรือไม่

    ก็ดีที่พวกเราทุกคนมีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ ได้ฟังอีก ได้เข้าใจธรรมที่กำลังมี ที่กำลังปรากฏให้เข้าใจยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงพอแล้ว หรือเข้าใจแล้ว เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว ถ้าเมื่อวานนี้สิ้นชีวิตไป มีโอกาสไหมที่จะได้ฟังอีก ได้เข้าใจธรรมอีก ก็เป็นสิ่งที่เพียงได้ยินชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็หมดไป โดยยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการศึกษา เพื่อเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจเพียงนิดหน่อย ไม่พอ ฟังเพราะไม่รู้ ฟังเพื่อเข้าใจ เข้าใจก็ต้องเข้าใจจริงๆ ด้วยเหตุนี้เมื่อไรที่เข้าใจจริงๆ เมื่อนั้นก็เป็นผลของการได้ฟังธรรม เพราะเหตุว่าการฟังธรรม แทนที่จะไปทำอย่างอื่น ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่ามีประโยชน์มากกว่า แต่ความจริงลองเทียบ ถ้าสิ้นชีวิตเมื่อวานนี้ ขณะที่กำลังทำอย่างอื่นโดยไม่เข้าใจธรรม จะเป็นอย่างไร เพียงมีความเข้าใจเพียงเล็กน้อย ก็ไม่พอ แล้วไม่ทราบว่า ต่อจากนั้นจะอยู่ที่ไหน และมีโอกาสได้ฟังอีก หรือไม่

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรประมาทในการฟังให้เข้าใจธรรมจริงๆ เพราะเหตุว่าธรรมไม่ใช่สิ่งที่ใครจะรู้ได้โดยง่าย ทั้งๆ ที่มีตำราครบถ้วน คือมีพระไตรปิฎกทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ทั้งหมดเพื่อขัดเกลาความไม่รู้ ซึ่งเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดเพื่อความเข้าใจขึ้น แล้วธรรมก็มีจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ชื่อว่า ธรรม แล้วก็เป็นปริจเฉทต่างๆ แต่ธรรมมีจริงๆ คือในขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม แต่ไม่มีสักขณะเดียวตั้งแต่เกิดจนตายที่จะปราศจากธรรม แสดงว่าเกิดมาจนตายไม่รู้ธรรม ถ้าไม่ได้ฟังแล้วไม่ได้เข้าใจธรรม เพราะว่าเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เป็นของใคร หรือไม่ใช่เป็นผู้หนึ่งผู้ใดเลยทั้งสิ้น

    ด้วยเหตุนี้ผู้ฟัง เมื่อเข้าใจว่า ฟังเพื่อเข้าใจ ก็จะรู้ประโยชน์จริงๆ ว่า ที่กำลังฟังขณะนี้เพื่อจะเข้าใจธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง จนกว่ารู้จริงๆ และมีศรัทธาในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ซึ่งเป็นไตรรัตนะ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีโอกาสเลย ลองคิดถึงพระอริยบุคคลขั้นต้น พระโสดาบันบุคคล ศรัทธาของท่านจะเหมือนของผู้ที่ยังไม่ได้เข้าใจธรรม หรือไม่ ต้องต่างกันมาก ใช่ไหม และก่อนจะเป็นพระโสดาบัน การรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยการประจักษ์ด้วยปัญญาที่เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละขั้นของปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ศรัทธาของบุคคลที่ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบันกับเป็นพระโสดาบันแล้ว ต่างกันหรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    31 ก.ค. 2567