พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 551
ตอนที่ ๕๕๑
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า การฟังธรรม ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แน่นอน ไม่เรียกชื่อก็ปรากฏแล้ว แต่ถ้าจะใช้ชื่อภาษาไทย ไม่มีคำเดียวที่เราสามารถใช้แล้วเข้าใจได้ ใช่หรือไม่ เช่น สี ถ้าใช้คำว่า “สี” ทุกคนก็จะคิดว่า สีอะไร มีตั้งหลายสี มากมาย และถ้าพูดถึง "แสง" "สว่าง" จะตรงกับความเข้าใจว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีจริงๆ แล้วก็กำลังปรากฏให้เห็นด้วย นี่คือความเข้าใจก่อนแล้วชื่อตามมาทีหลัง เพราะฉะนั้น อีกภาษาหนึ่งคือภาษาบาลี ไม่มีคำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่มีคำว่า “อารัมมณะ” สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้ ถ้าไม่มีสภาพรู้หรือธาตุรู้ที่เป็นจิต เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน สภาพธรรมใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้
นี่คือสิ่งที่จะต้องรู้ว่า ในบรรดาธาตุทั้งหมด ธาตุไหนร้ายสุด เกิดขึ้นรู้ คิดดู รู้ทำไม รู้ว่า กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ แล้วต่อไปอะไร ก็มีสภาพที่ติดข้องพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีธาตุรู้ ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิกก็ตาม จะเดือดร้อนหรือไม่ ไม่เดือดร้อน แต่โดยความเป็นธาตุ ใครจะทำอะไรได้ ในเมื่อดิน น้ำ ไฟ ลม มี เป็นธาตุ สิ่งที่เป็นนามธาตุก็มี เพราะว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดเมื่อมีปัจจัย ด้วยเหตุนี้ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็ตาม ให้ทราบว่า สิ่งนี้มีจริง แต่จะปรากฏกับสภาพที่กำลังเห็น ถ้าขณะที่กำลังคิดนึก สิ่งนี้ที่ปรากฏทางตาจะปรากฏไหม กำลังคิดนึกเรื่องอื่น สิ่งที่ปรากฏทางตาจะปรากฏไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ธรรมหรือธาตุก็จะมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ที่จะเห็นตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้น และไม่เป็นใครด้วย แต่ว่าเป็นธาตุ เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ทางตาขณะนี้ ถ้าเราใช้คำว่า “สิ่งที่ปรากฏทางตา” ไม่มีตา ไม่มีจิตเห็น ปรากฏได้หรือไม่ ไม่ได้ แต่ความรวดเร็วของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิกซึ่งเกิดดับ เราจะไม่รู้ว่า ขณะนี้จิตเห็นดับแล้ว เร็ว ไม่มีอะไรเร็วกว่าจิต รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะที่เป็นสภาวรูป คิดถึงจิต ๑๗ ขณะ ก็ตั้ง ๑๗ แต่ความจริงเร็วสุดจะประมาณได้ ไม่มีใครสามารถรู้ ๑๗ ขณะจิตที่ดับไป ซึ่งรูปก็ดับไป
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า จิตเห็นดับ เราไม่ได้พูดถึงความละเอียด แต่เท่าที่จะรู้ได้ก็คือว่า เห็นแล้วสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เพียงเห็น แล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะเหตุว่าเมื่อเห็นแล้วก็จำ แล้วก็จำรูปร่างสัณฐานซึ่งปรากฏให้เห็นทางตา โดยที่สภาพของจิตเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เกิดดับเร็วมากสุดที่จะประมาณได้ ไม่มีใครสามารถรู้การเกิดดับของทั้งนามธรรม และรูปธรรม คือ จิตเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตา จนทำให้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นนิมิต เป็นรูปร่าง สัณฐาน มีสีเขียว สีดำ สีแดง มีขอบเขตเป็นคิ้ว เป็นตา เป็นจมูก เป็นปาก เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจำได้ว่าเป็นอะไร
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า จิตที่เห็นเพียงเห็น หลังจากเห็นแล้ว ทางใจซึ่งอาศัยการเห็นนั้น ทำให้จิตคิดนึกถึงสิ่งที่เห็น จริงไหม เห็นแล้วมีใครไม่นึกถึงสิ่งที่เห็นบ้าง เร็วมาก แล้วก็เร็วจนกระทั่งไม่รู้ว่า แท้ที่จริงจิตเห็นอาศัยตา แต่จิตที่คิดนึกไม่ได้อาศัยตา แต่เมื่อเห็นแล้ว จิตที่เห็นแล้วนั้น หลังจากดับไปแล้ว จิตต่อไปก็เกิดขึ้นจำ แล้วก็รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร
ด้วยเหตุนี้จึงแยกทวาร การรู้อารมณ์ของจิตว่า มี ๖ ทาง ทางตา ๑ จิตอาศัยตาเกิดขึ้นเห็น แล้วไม่ว่าจะเป็นจิตกี่ประเภทก็ตาม ถ้ายังเห็นสิ่งที่ยังไม่ดับ อาศัยตาที่กระทบกับรูปนั้นที่ยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้ไม่ใช่เฉพาะจิตเห็น ๑ ขณะเท่านั้นที่เกิดขึ้น จิตอื่นๆ ก็เกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ จึงใช้คำว่า “จักขุทวารวิถีจิต” เพราะว่าจิตทั้งหมดที่อาศัยจักขุปสาทเป็นทวารเกิดดับสืบต่อกัน ในขณะที่จักขุปสาทยังไม่ดับ และรูปยังไม่ดับ จึงเป็นจักขุทวารวิถีจิตทั้งหมด ยังไม่ได้เกี่ยวกับทางใจ เพราะเป็นจิตที่เกิดขึ้นอาศัยตารู้สิ่งที่ยังไม่ดับ เมื่อรูปนั้นดับแล้ว จะเห็นต่อไปได้ไหมคะ มโนทวารจะเกิดขึ้นในขณะที่จิตยังอาศัยจักขุปสาทกับรูปที่ยังไม่ดับได้ไหม ไม่ได้ นี่คือความจริงซึ่งเร็วมาก ด้วยเหตุนี้จึงต้องเข้าใจให้ถูกต้องในแต่ละคำที่ได้ยิน แม้แต่คำว่า “จักขุทวาร” คือ จักขุปสาทรูป จักขุทวารวิถีจิตไม่ใช่รูป แต่เป็นจิตที่อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบจักขุปสาทซึ่งยังไม่ดับทั้งจักขุปสาท และรูปที่ยังไม่ดับ
เพราะฉะนั้น จึงมีจิตหลายขณะซึ่งเกิดก่อนรูปจะดับไป เพราะว่ารูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ
จักขุทวารวิถีจิต มีใครไม่เข้าใจ ๓ คำนี้ เพราะเป็นเรื่องที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงในขณะนี้ พูดซ้ำมากมายกี่แสนกัป ก็ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น แม้มีก็ไม่รู้ แต่ว่ามีแล้วก็กำลังมีความเห็นถูกในสภาพธรรมซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ประมาทพระธรรม ไม่ประมาทในพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เหตุใดทรงมีพระมหากรุณาแสดงความละเอียดยิ่ง เพราะเพียงบอกว่า ไม่ใช่ตัวตน ใครละได้ แล้วก็เข้าใจได้ว่า ไม่มีเรา แต่ยิ่งแสดงความละเอียดมากเท่าไร ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ไม่รีบร้อน แต่ต้องละเอียด และเข้าใจจริงๆ แม้แต่คำว่า “ทวาร” หรือ “วิถีจิต”
ขณะที่รูปยังไม่ดับ จักขุปสาทยังไม่ดับ จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นเป็นจักขุทวารวิถีจิต จะเป็นจิตทางทวารอื่นไม่ได้ ทางมโนทวารก็ไม่สามารถคิดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนั้นได้ เพราะจิตเหล่านั้นกำลังมีรูปที่ยังไม่ดับนั้นเป็นอารมณ์ ถ้ากล่าวโดยลำดับของวิถีจิต คือ วิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต แต่ถ้าทางจักขุทวาร เราใช้คำว่า “จักขุทวาราวัชชนจิต” ได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้อาศัยหู จมูก ลิ้น กาย เพียงแต่อาศัยตา จึงเป็นจักขุทวาราวัชชนะ จิตแรกยังไม่เห็น ทันทีที่เกิดเป็นวิถีจิตหลังจากภวังคจิตดับ ภวังคจลนะดับไปแล้ว และภวังคุปัจเฉทะเกิดสืบต่อ ก็คือขณะที่วิถีจิตแรกสามารถเกิดได้ ถ้ายังเป็นภวังคจิตอยู่ ก็เป็นภวังค์ไปตลอด จนกว่าอารมณ์กระทบเมื่อไร จะมีคำหนึ่งที่ใช้ คือ อตีตภวังค์ เพื่อแสดงอายุของรูปว่า เมื่อกระทบนั้นคือเกิด แล้วจะดับเมื่อไร จึงใช้คำว่า อตีตภวังค์ แต่เมื่ออตีตภวังค์ดับ ภวังค์ต่อไปก็คือ ภวังคจลนะ ยังไม่สามารถเห็นได้ เดี๋ยวนี้กำลังเป็นอย่างนี้ แล้วเมื่อภวังคจลนะดับแล้ว ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดต่อ ยังคงเป็นภวังค์ ไม่สามารถรู้อารมณ์อื่นได้ แต่จากการ กระทบกันทำให้ภวังคจลนะเกิด ภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้วก็ดับไปแล้ว วิถีจิตแรกคือ จักขุทวาราวัชชนะ เดี๋ยวนี้ ใครรู้ ไม่มีใครสามารถรู้ได้ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ให้คนอื่นได้สามารถพิจารณา เข้าใจความรวดเร็วของจิตว่า ขณะนี้จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน และเป็นจิตอะไรบ้าง
เพราะฉะนั้น เมื่อจักขุทวาราวัชชนจิตดับ เป็นจักขุทวารวิถีจิต เพราะอาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบ ไม่เห็น แต่สามารถนึกถึงว่ามีอารมณ์กระทบทางทวารนั้น นี่คือวิถีจิตขณะแรก เพราะฉะนั้น วิถีจิตขณะแรกก็จะเป็นอาวัชชนะทั้งหมด แล้วแต่จะเป็นจักขุทวาราวัชชนะ โสตทวาราวัชชนะ ฆานทวาราวัชชนะ ชิวหาทวาราวัชชนะ หรือกายาทวาราวัชชนะ แล้วก็มโนทวาราวัชชนะ ก็เป็นภาษาบาลีซึ่งเริ่มแทรกเข้ามา แต่เมื่อเข้าใจ ทางตาจักขุปสาท ชื่ออื่นๆ ก็เพียงแสดงว่าเป็นชื่ออีกภาษาหนึ่ง แต่ลักษณะของธรรมก็เป็นจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ต้องละเอียดที่ว่า ระหว่างที่ยังเป็นจักขุทวารวิถีจิตทั้งหมด จิตอื่นเกิดไม่ได้ ภวังคจิตก็เกิดไม่ได้ มโนทวารวิถีจิตก็เกิดไม่ได้ ยังไม่คิดนึกใดๆ เพียงแต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเท่านั้น นี่คือการศึกษาธรรมโดยละเอียดขึ้น เพื่อจะได้ไม่ลืม และเข้าใจจริงๆ
ผู้ฟัง ศิษย์ใหม่นะคะ ชื่อ บังอร ขอถามว่า ธรรมจะเกิดดับตลอดเวลาใช่ไหมคะ อย่างร่างมนุษย์ก็จะเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนนะคะ ธรรมที่มีจริงๆ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป จะมีมนุษย์ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เรากำลังศึกษาเรื่องธรรมซึ่งเรามักจะยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ความเป็นจริงก็คือว่า สภาพธรรมมีลักษณะ ๒ อย่าง สภาพธรรมอย่างหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เป็นรูปธรรม อีกอย่างหนึ่งเป็นสภาพธรรมที่เมื่อเกิดแล้วต้องรู้ นี่คือความต่างกันของธรรมหรือธาตุ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีธาตุที่เป็นธาตุรู้ คือ จิต เจตสิก และไม่มีรูป จะมีมนุษย์หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มนุษย์คือ
ผู้ฟัง รูป และนาม
ท่านอาจารย์ ธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น อะไรเกิดดับ
ผู้ฟัง ทั้งรูป และนาม
ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้จักรูป จะรู้จักรูปเกิดดับไม่ได้ แต่ผู้ที่รู้จักรูปจริงๆ รูปนั้นเกิดดับกับปัญญาที่รู้การเกิดดับของรูป เพราะฉะนั้นการรู้การเกิดดับ ไม่ใช่ใคร แต่เป็นปัญญาที่อบรมจนเห็นรูปว่าเป็นรูป ละคลายความติดข้อง ความสงสัยในรูป ลักษณะของรูปที่เกิดดับจึงปรากฏกับปัญญานั้นได้ ยังไม่คิดว่า รูปจะเกิดดับใช่หรือไม่
ผู้ฟัง เคยได้รับการอธิบายว่า อย่างรูปนั่ง พอขยับนิดหนึ่ง ก็คนละรูปแล้ว คนละลักษณะ
ท่านอาจารย์ รูปอะไร
ผู้ฟัง รูปที่เป็นก้อนท่าที่นั่งอยู่ตรงนี้
ท่านอาจารย์ รูปก้อนธาตุมีกี่รูป ที่ว่าเป็นก้อนธาตุ
ผู้ฟัง ถ้าอธิบายเจาะจงหมายถึงก้อนนั้นก้อนเดียว
ท่านอาจารย์ ก้อนเดียวนั้นมีกี่รูป ธรรมเป็นเรื่องของความชัดเจน แจ่มแจ้ง เพราะฉะนั้นยิ่งกล่าวถึงธรรม ยิ่งเป็นความชัดเจนขึ้น การซักถามก็เพื่อให้เข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น รูปที่เป็นก้อน มีกี่รูป
ผู้ฟัง รูปที่เป็นก้อน ถ้ากระจายก็จะเยอะมาก
ท่านอาจารย์ กำลังเป็นก้อนอย่างนี้มีกี่รูป
ผู้ฟัง รูปเดียว
ท่านอาจารย์ ก้อนใหญ่มีกี่รูป
ผู้ฟัง ก้อนใหญ่ก็รูปเดียว
ท่านอาจารย์ แล้วก้อนเล็กล่ะคะ
ผู้ฟัง ก็รูปเดียว
ท่านอาจารย์ แล้วเล็กที่สุดล่ะคะ
ผู้ฟัง ก็รูปเดียว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเอารูปใหญ่ไปย่อย จะเป็นรูปที่เล็กที่สุดกี่รูป
ผู้ฟัง มากมายนับไม่ถ้วน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การกล่าวถึงรูป ต้องมีลักษณะของรูปให้รู้ได้ ไม่ใช่กล่าวแล้วคิดว่าเข้าใจว่า ก้อนใหญ่นั่นคือรูปเดียว แต่รูปเดียวนั้นย่อยไปแล้วเหลือเล็กที่สุดยังมีรูปหรือไม่
ผู้ฟัง ยังมีอีก
ท่านอาจารย์ แล้วรูปเล็กที่สุดนั้นปรากฏเป็นรูปอะไร เอารูปใหญ่ก็ได้ ถ้ารูปเล็กก็ไม่ปรากฏ เพราะไม่ได้ย่อยไป รูปใหญ่ขณะนี้ที่ว่าใหญ่ ลักษณะของรูปใหญ่ที่ปรากฏ ปรากฏทางไหน แล้วลักษณะของรูปนั้นเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง ปรากฏทางตาค่ะ
ท่านอาจารย์ ปรากฏทางตา แข็งหรือไม่
ผู้ฟัง แข็ง แล้วก็มีอ่อนด้วย
ท่านอาจารย์ แข็งแล้วอ่อนไม่ได้ นี่คือเริ่มผิดตั้งแต่ต้น ถูกต้องหรือไม่
ผู้ฟัง ถ้าปรากฏทางตาควรเป็นแค่สี
ท่านอาจารย์ เพียงสามารถกระทบแล้วปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ที่กำลังกระทบสัมผัส แล้วบอกว่าเป็นรูป ลักษณะของรูปที่กระทบสัมผัสแล้วปรากฏมีลักษณะอย่างไร
ผู้ฟัง แข็งหรืออ่อน
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่ออะไร
ผู้ฟัง เพื่อโปรดปวงชนให้พ้นทุกข์ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ สิ่งที่ไม่เคยเข้าใจหรือไม่เคยรู้มาก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือทำให้ผู้ฟังได้เข้าใจสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจมาก่อน แต่ถ้าเป็นคำกล่าวของใครก็ตามที่ไม่ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเข้าใจ ทรงแสดงไว้เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ และเป็นความเข้าใจของผู้ฟังทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเป็นความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาแสดงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อไรก็ได้ มีสภาพธรรมปรากฏให้เข้าใจได้เมื่อได้ฟัง เพราะฉะนั้น ที่ว่ารูปเมื่อสักครู่นี้ไม่เข้าใจใช่ไหมคะ ที่ว่ายกไปยกมา หรือไหวไปไหวมาแล้วเป็นแต่ละรูป เมื่อสักครู่นี้ที่ทำท่าอย่างนี้ แขนก็ค่อยๆ เคลื่อนไป แล้วก็บอกว่าเป็นแต่ละรูป ก็ไม่มีลักษณะที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นธรรมอะไร
สิ่งใดที่ไม่เข้าใจ ก็ต้องทิ้งไป แล้วเข้าใจสิ่งที่มีจริงให้ถูกต้องขึ้น ฟังธรรมเพื่ออะไรคะ
ผู้ฟัง เพื่อความเข้าใจ
ท่านอาจารย์ เข้าใจอะไร
ผู้ฟัง เข้าใจสิ่งที่เป็นจริง
ท่านอาจารย์ เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เมื่อไรคะ เมื่อกำลังมีในขณะนี้ ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่มีในขณะนี้ก็คือไม่ได้ฟังพระธรรม หรือฟังแล้วไม่ได้ไตร่ตรอง ก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าไตร่ตรองก็สามารถเข้าใจได้ ยังสงสัยไหมคะ ถ้าสงสัยก็เชิญค่ะ ถามได้ จะได้พิจารณาว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังสามารถรู้ตามความเป็นจริงในขณะนี้ได้ไหม ไม่ต้องไปคอยเวลาอื่น
อ.กุลวิไล ขอเชิญคุณบังอรร่วมสนทนาเรื่องรูปในชีวิตประจำวันก็ได้ค่ะ เพราะถ้าพูดถึงรูปก็ต้องเป็นสิ่งที่มีจริง และรูปก็ต้องปรากฏกับสภาพรู้ด้วย
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นรูปในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร คือเรามองทุกอย่างเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรามอง เราก็มองอยู่แล้ว เห็น แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร กำลังเห็นอะไร
ผู้ฟัง ถ้าจะตอบเอาคะแนนก็ต้องตอบว่า เห็นสี แต่เห็นจริงๆ ตามสัญญาเดิมก็บอกว่าเห็นเป็นสี
ท่านอาจารย์ คะแนนที่ว่าคะแนนอะไร
ผู้ฟัง คะแนนที่ควรจะตอบ
ท่านอาจารย์ ถามเพื่อให้ตอบได้คะแนนว่า ควรตอบอย่างนี้ ไม่ควรตอบอย่างนั้น โดยไม่เข้าใจอะไรหรือไม่
ผู้ฟัง เพราะจริงๆ ควรจะตอบว่าเห็นสี แต่จริงๆ ยังไม่สามารถ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ควร เดี๋ยวนี้เอง ไม่ใช่ควรหรือไม่ควร เห็นอะไร
ผู้ฟัง ก็ยังเห็นเป็นอาจารย์สุจินต์
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จะรู้ไหม
ผู้ฟัง จะไม่ทราบค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง ถูกต้องไหม แล้วเมื่อจำสิ่งที่ปรากฏเพราะว่าเกิดดับอย่างเร็วมาก ก็เลยทำให้รู้ว่าเป็นใคร เพราะเหตุว่าต้องมีสิ่งที่ปรากฏ แต่การเกิดดับอย่างเร็วจนจำได้ทุกครั้งที่เห็นก็จำได้ทันที เพราะเคยจำมานานแล้ว จึงสามารถรู้ว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร แต่ขณะที่กำลังจำ และรู้ว่าเป็นอะไร ไม่ใช่กำลังเห็น คนละขณะ นี่คือสิ่งที่เคยคิดว่า เป็นเราเห็น และเรารู้ว่าเห็นอะไร แต่ความจริงก็คือจิตที่เกิดขึ้นเห็นต้องดับไปแล้ว แล้วมีจิตที่ยังจำรูปร่างสัณฐาน และรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ซึ่งไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น คนละขณะ
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้เราต้องปรับท่าทีทุกอย่างใหม่หมด
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ไม่ใช่ไปปรับท่าทีอะไร ธรรมขณะนี้มี แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นอะไร ก็ฟังจนกระทั่งเข้าใจได้ไหมว่า เป็นอย่างนี้จริงๆ หรือไม่ ให้รู้ว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ เมื่อไร ก็คือเป็นธรรมแต่ละลักษณะ
รูปทางตา มีใช่ไหมคะ แล้วทางหู
ผู้ฟัง ทางหูก็มีค่ะ
ท่านอาจารย์ ทางจมูก
ผู้ฟัง ก็มีค่ะ
ท่านอาจารย์ รูปอะไรคะ
ผู้ฟัง รูปกลิ่นค่ะ
ท่านอาจารย์ ทางลิ้น
ผู้ฟัง มีค่ะ เป็นรูปรส
ท่านอาจารย์ ทางกาย
ผู้ฟัง ทางกาย โผฏฐัพพะ
ท่านอาจารย์ แล้วทางใจ รู้รูปอะไร
ผู้ฟัง ทางใจรู้นามธรรม
ท่านอาจารย์ เมื่อกี้เราพูดถึงว่า ขณะที่เห็น แล้วต่อจากนั้นก็รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่กำลังจำ และรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร คนละขณะ เพราะฉะนั้น ในขณะใดก็ตามที่ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะนั้นใจที่เห็นแล้วรู้ต่อ จึงสามารถรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร
เพราะฉะนั้นเป็นการนึกคิดทั้งหมด ขณะใดที่ไม่ใช่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ขณะที่กำลังได้ยินเสียงที่ยังไม่ดับ ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้กลิ่นที่ยังไม่ดับ ไม่ใช่ขณะที่กำลังลิ้มรสที่ยังไม่ดับ ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งที่กระทบกายที่ยังไม่ดับ ทั้งหมดนั้นเป็นการรู้ทางใจต่อจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้น รู้รูปที่ปรากฏทางตาได้ ทางใจรู้ต่อทันที เสียงปรากฏ เมื่อเป็นเสียงที่มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะดับ แต่ก็ยังจำเสียงได้ เพราะเข้าใจความหมายของเสียง อย่างขณะนี้รู้คำที่เป็นความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ ทางใจ แต่ทางหูเพียงได้ยินอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ก็จะกล่าวได้เลยว่า ตลอดวันขณะใดที่ไม่ใช่การรู้สิ่งที่มีจริงที่เป็นรูปที่มีอายุ ๑๗ ขณะแล้วดับไป ขณะนั้นก็เป็นเรื่องของทางใจที่รับรู้ต่อจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็จำ แล้วก็คิดนึกถึงเรื่องนั้น เป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับไปแล้ว นับไม่ถ้วน และไม่กลับมาอีกด้วย
เพราะฉะนั้น สงสัยไหมคะว่า ทางใจรู้รูปอะไร รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากเห็น รู้เสียงที่ปรากฏทางหูต่อจากได้ยิน รู้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูกต่อจากจิตที่รู้กลิ่นทางจมูก
ผู้ฟัง พอเกิดแล้วดับไป แล้วเกิดขึ้นมาใหม่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ อะไรเกิดใหม่คะ
ผู้ฟัง หมายถึงใจที่รู้ค่ะ
ท่านอาจารย์ คนละขณะไม่กลับมาอีก
ผู้ฟัง พอรู้เสร็จแล้วเขาก็จะดับไป
ท่านอาจารย์ ดับแล้วไม่กลับมาอีก จึงใช้คำว่า “ดับ” แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมเกิดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ทั้งหมดเกิดเพราะมีปัจจัยแต่ละปัจจัย แล้วสิ่งใดที่เกิดแล้วก็ดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีกด้วย
ผู้ฟัง ปัจจัยนี่ ใจสร้างขึ้นได้ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ใครสร้าง
ผู้ฟัง ใจ หมายถึงคนเราเวลาคิด แล้วคิดต่อเนื่องไปๆ ก็นับเป็นปัจจัย
ท่านอาจารย์ ก็จิตที่คิด
ผู้ฟัง ปัจจัยใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ปัจจัยมีมากมาย ปัจจัยหนึ่งก็คือจิต มีจริงๆ ใช่ไหมคะ มีจริง เกิดปรากฏให้รู้ว่า เป็นธาตุรู้ ดับ จิตที่ดับนั้นเป็นปัจจัยให้จิตต่อไปเกิด ไม่มีใครไปทำได้ จิตเกิดแล้วดับ การดับของจิตขณะก่อนเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 541
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 542
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 543
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 544
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 545
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 546
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 547
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 548
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 549
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 550
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 551
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 552
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 553
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 554
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 555
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 556
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 557
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 558
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 559
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 560
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 561
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 562
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 563
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 564
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 565
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 566
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 567
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 568
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 569
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 570
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 571
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 572
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 573
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 574
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 575
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 576
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 577
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 578
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 579
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 580
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 581
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 582
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 583
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 584
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 585
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 586
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 587
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 588
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 589
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 590
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 591
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 592
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 593
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 594
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 595
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 596
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 597
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 598
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 599
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 600