พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 552
ตอนที่ ๕๕๒
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒
ผู้ฟัง ปัจจัยนี่ใจสร้างขึ้นได้ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ใครสร้าง
ผู้ฟัง ใจ หมายถึงคนเราเวลาคิด แล้วคิดต่อเนื่องไปๆ ก็นับเป็นปัจจัย
ท่านอาจารย์ ก็จิตที่คิด
ผู้ฟัง ใจใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ปัจจัยมีมากมาย ปัจจัยหนึ่งก็คือจิต มีจริงๆ ใช่ไหมคะ มีจริง เกิดปรากฏให้รู้ว่า เป็นธาตุรู้ ดับ จิตที่ดับนั้นเป็นปัจจัยให้จิตต่อไปเกิด ไม่มีใครไปทำได้ จิตเกิดแล้วดับ การดับของจิตขณะก่อนเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะสภาวะของจิตเป็นอนันตรปัจจัย ต้องมีจิตเกิดต่อตราบใดที่ยังมีกิเลส ยังไม่ได้ดับกิเลส ต้องมีจิตเกิดต่อทุกครั้งที่จิตหนึ่งดับไปจิตอื่นก็เกิดต่อ จิตขณะแรกที่เกิดกับเดี๋ยวนี้เป็นจิตเดียวกันหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ค่ะ
ท่านอาจารย์ จิตเมื่อวานนี้กับวันนี้เป็นจิตเดียวกันหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ค่ะ
ท่านอาจารย์ จิตเมื่อกี้กับจิตนี้เป็นจิตเดียวกันหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่มีเรา มีแต่จิตกับเจตสิก รูป เกิดดับ
ขอทวนนิดหนึ่งได้ไหม ทางใจรู้รูปอะไร
ผู้ฟัง ทางใจรู้รูปต่อ อย่างทางตาเห็นสี แล้วสร้าง
ท่านอาจารย์ พอรูปดับแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่ตาย ยังอยู่ในโลกนี้ ภวังคจิตเกิดต่อ ที่ใช้คำว่า “ภวังคจิต” ก็เพราะเหตุว่าดำรงภพชาติ เพราะฉะนั้น แม้จิตที่อาศัยจักขุปสาทดับ เพราะจิตที่รู้อารมณ์ทางตาดับไปหมดแล้วก็ตาม จิตก็ยังเกิดต่อจากนั้น โดยทำภวังคกิจ ยังไม่ใช่การรู้อารมณ์นั้นทางใจ ต่อเมื่อใดที่ภวังคจิตดับแล้ว จิตจึงเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ที่เพิ่งรู้ทางตาต่อ ด้วยเหตุนี้แม้ไม่เห็น แต่ทางใจก็ยังนึกถึงสิ่งที่เห็นแล้วได้ เพราะฉะนั้น รูปสามารถรู้ได้ทางใจด้วย รูปที่รู้ทางตาที่ดับไปแล้วนั้น ทางใจรับรู้ต่อ จะกล่าวว่าทันทีก็ได้ ถ้าไม่กล่าวถึงภวังคจิต เพราะใครจะรู้ภวังคจิต เหมือนไม่มี แต่มี
เพราะฉะนั้น ทางใจรู้รูปอะไร เดี๋ยวนี้ทางใจรู้รูปอะไร ไม่ใช่มีแต่ทางตาอย่างเดียว รูปดับไปแล้ว พอรูปดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดแล้ว ต่อจากนั้นทางใจรู้รูปอะไร รู้รูปที่เพิ่งดับไปนั้น พอเสียงปรากฏ เสียงดับ แล้วจิตที่อาศัยโสตปสาทรู้เสียงนั้นซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะดับแล้ว ภวังคจิตเกิดแล้ว ต่อจากนั้นใจก็รับรู้เสียงนั้นต่อ เพราะฉะนั้น ทางใจรู้รูปอะไร
ผู้ฟัง ทางใจรู้รูปเสียง และหลังจากนั้นพอใจรู้รูปเสียงก็ส่งไปคิดต่อ
ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องส่งไปไหน ธรรมต้องละเอียด คือเข้าใจจริงๆ ว่า หลังจากที่เห็นแล้ว ดับแล้ว ภวังคจิต เกิดคั่นแล้ว จิตเกิดขึ้นรู้รูปนั้นต่อ โดยไม่ต้องอาศัยจักขุปสาท เพราะฉะนั้น สามารถจะรู้ได้ทางใจ เป็นรูปเดียวกับที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ทางใจรู้ได้ทุกอย่าง ไม่ผิดเลยถ้าจะกล่าวอย่างนี้ ทางใจสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง รู้รูปได้ทุกชนิด
ผู้ฟัง คือตาเห็นแล้วก็ดับไป
ท่านอาจารย์ เวลาที่จิตรู้อารมณ์ทางตาดับหมด เพราะไม่ใช่จิตขณะเดียว รูปมีอายุ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น จิตที่รู้รูปที่ยังไม่ดับทั้งหมดเป็นจักขุทวารวิถี เพราะอาศัยจักขุปสาทเกิด เมื่อรูปดับ จักขุทวารวิถีจิตจะเกิดได้ไหม
ผู้ฟัง เมื่อรูปดับ ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ แล้วจิตต่อไปต้องเกิดหรือไม่
ผู้ฟัง ต้องเป็นจิตดวงต่อไป
ท่านอาจารย์ ทำหน้าที่อะไร
ผู้ฟัง ทำหน้าที่จำ
ท่านอาจารย์ ยังค่ะ ภวังคจิต ยังไม่ตาย ต้องดำรงภพชาติไว้ แล้วหลังจากนั้นจิตอะไรเกิดต่อ จะกล่าวได้ว่า จิตที่จำรูปที่ปรากฏนั้น เกิดกับจิต จิตที่จำรูปนั้นเกิด เพราะว่าสัญญาจำรูปนั้นที่เห็น เพราะฉะนั้น เวลาทางมโนทวารเกิดต่อจากภวังค์ โดยสัญญาที่จำรูปนั้นเป็นปัจจัยทำให้จิตรู้รูปนั้นทางใจต่อ ไม่รู้รูปอื่น จะรู้รูปอื่นทันทีไม่ได้
เพราะฉะนั้น หลังจากที่เห็นแล้วทางตา ทางใจรับรู้ต่อ เพราะสัญญาจำรูปที่ปรากฏทางตา เวลาที่เสียงปรากฏทางหูดับ ภวังคจิตเกิดคั่น จิตเกิดขึ้นรู้เสียง เพราะสัญญาจำเสียงที่เพิ่งดับนั้น ทำให้จิตมีเสียงนั้นเป็นอารมณ์ต่อเสมอไป นอกจากขณะที่จะจากโลกนี้ไป ไม่จำเป็นต้องมีมโนทวารวิถีต่อได้ มิฉะนั้นแล้วระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไรก็ตาม ก็คือว่าแม้วิถีวาระนั้นๆ หรือทางทวารนั้นๆ ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวาระแรกต้องรู้อารมณ์ที่เพิ่งดับไป
เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีจิตรู้รูปอะไรคะ วันนี้คิดถึงรูปอะไรบ้าง กำลังคิดด้วย จำด้วยว่า รูปที่เห็นเป็นอะไร ขณะที่จำรู้ว่าเป็นอะไร ไม่ใช่จักขุทวารวิถี จักขุทวารเพียงมีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ ถ้าดับไปแล้วจะเป็นจักขุทวารวิถีไม่ได้
เพราะฉะนั้น ทางใจขณะนี้กำลังมีรูปเป็นอารมณ์หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ไม่เห็นอะไร จำใครก็ไม่ได้ เห็นปุ๊บ ดับแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ หรือยังรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร สภาพธรรมเป็นความจริง การฟังธรรมก็ไม่ง่าย แต่ละเอียด และเข้าใจได้ อย่าเผิน ถ้าเผินคือผิด สับสนหมด เพราะฉะนั้น ช้าๆ ได้ใช่ไหมคะ ช้าๆ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาแม้ว่าจะดับแสนเร็ว แต่ก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น จิตดับเร็วกว่ารูปหรือไม่
ผู้ฟัง ค่ะ จิตดับเร็วกว่ารูป
ท่านอาจารย์ ค่ะ รูปๆ หนึ่งเกิด จิตหลายประเภทเกิดรู้รูปนั้น ไม่ใช่ขณะเดียว ถูกต้องไหม จนกว่ารูปนั้นจะดับ ถ้าเรียกชื่อ ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุทวาราวัชชนจิต รู้รูปที่ยังไม่ดับ พอจักขุทวาราวัชชนจิตดับ จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นรูปที่ยังไม่ดับ เมื่อจักขุวิญญาณดับแล้ว สัมปฏิจฉันนะ คือจิตที่เกิดสืบต่อจากจักขุวิญญาณรู้รูปนั้นต่อจากจักขุวิญญาณเกิดขึ้น โดยรูปนั้นก็ยังไม่ดับ อาศัยจักขุปสาทรู้รูปที่ยังไม่ดับ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป ไม่ได้ทำกิจกับจิตที่รับรู้ต่อจากจักขุวิญญาณ ซึ่งเราใช้คำว่า สัมปฏิจฉันนะ เพราะฉะนั้น ทำกิจสันตีรณะ พิจารณาฃั่ว ๑ ขณะที่รูปยังไม่ดับ เมื่อสันตีรณะดับไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ ขณะนั้นก็เป็นบาทเฉพาะที่จะให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดได้ ถ้าโวฏฐัพพนจิตยังไม่เกิด กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ โดยอนันตรปัจจัย สมันตรปัจจัย ที่เป็นไปตามวิสัยของปัจจัยที่จะต้องเกิดสืบต่ออย่างนั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อโวฏฐัพพนจิตเกิดรู้รูปที่ยังไม่ดับ เป็นทาง เป็นบาทเฉพาะที่จะให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อได้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และหลังจากนั้นกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิดต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ ถ้าติดข้องในรูปนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ถ้าไม่ชอบรูปนั้นก็เป็นโทสมูลจิต ถ้าไม่รู้ ไม่มีโลภะ โทสะเกิดร่วมด้วย แต่ก็ไม่รู้ความจริงของรูปนั้น ก็เป็นโมหมูลจิต นี่ทางฝ่ายอกุศล จากอกุศลอบรมจนกระทั่งเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา จนถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลส กุศล อกุศลก็เกิดไม่ได้ แต่เห็น มี เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนี้ แต่หลังจากที่โวฏฐัพพนะดับไปแล้ว กิริยาจิตเกิดต่อสำหรับพระอรหันต์ นี่คือความบริสุทธิ์จากการดับกิเลสหมด ไม่เกิดอีกแต่ก็มีรูปเป็นอารมณ์ หลังจากที่ชวนะ ๗ ขณะดับไปแล้ว ถ้ารูปยังไม่ดับ ก็มีจิตซึ่งเป็นวิบากที่ต้องรู้รูปนั้น เพราะคุ้นเคยกับการมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ เป็นปัจจัยให้รูปที่ยังไม่ดับมีจิตเกิดขึ้นรู้ต่อ ที่เป็นวิบากจิตอีก ๒ ขณะ ทำตทาลัมพนกิจ ไม่เกินจากนั้น รูปดับแล้ว ๑๗ ขณะ ก็ต้องมีจิตเกิดต่อเป็นภวังค์ ยังไม่ใช่มโนทวารวิถี
นี่คือความละเอียดที่จะเข้าใจความหมายของทวาร แต่พอภวังคจิตหมดแล้ว มโนทวารวิถีเกิดแล้ว สัญญาที่จำรูปที่ปรากฏทางตาที่เพิ่งดับไป เป็นปัจจัยให้มโนทวาราวัชชนจิตมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ ดับไปแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิดต่ออย่างเร็วมาก ๗ ขณะ นี่คือต้องเป็นอย่างนี้ ความจริงก็ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าจะเข้าใจก็คือเข้าใจให้ละเอียด และไม่สับสน
ขอถามอีกครั้งหนึ่งว่า ทางใจรู้รูปอะไรในชีวิตประจำวัน ตอนนี้ตอบได้แล้วใช่ไหมคะ หรือยังสงสัย
ก็เป็นของธรรมดาที่เพิ่งฟัง เพิ่งได้ยิน แล้วเพิ่งจะคิด แต่พอฟังบ่อยๆ ก็ชำนาญ แล้วก็รู้ แล้วเข้าใจด้วย ชำนาญอย่าเพียงชำนาญจำชื่อ ไม่มีประโยชน์ ถ้าชื่อคนใหม่ๆ ที่เพิ่งฟังครั้งแรก จำไม่ได้ ต่อไปฟังบ่อยๆ ก็จะจำได้ นี่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องไปเรียนภาษาบาลี รู้หลักไวยากรณ์ และความละเอียดมาก เพราะภาษาบาลียากจริงๆ ดิฉันเคยตั้งต้นเรียนภาษาบาลี แล้วก็เลิก เอาใหม่ ตั้งต้นอีก เลิกอีก แล้วก็เอาใหม่ ตั้งต้นอีก แล้วก็เลิกเด็ดขาด ไม่กลับไปอีก เพราะเหตุว่าไม่ได้สะสมมาที่จะชำนาญในภาษาบาลี แต่สนใจที่จะเข้าใจธรรมแล้วอ่านพระไตรปิฎกอรรถกถา เพราะรู้ว่าเวลามีน้อยสำหรับทุกคน เราคิดว่าเรามีเวลามาก แต่ความจริงเนื่องจากธรรมเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะฉะนั้น เวลาของทุกคนมีน้อยที่จะเข้าใจธรรม แล้วกุศล มีไหม
ผู้ฟัง กุศลก็มีค่ะ
ท่านอาจารย์ เมื่อไรคะ
ผู้ฟัง ขณะนี้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก แต่ไม่ใช่เพียงจำ สามารถมีปัญญารู้ลักษณะจริงๆ แล้วจึงจะเห็นจริงๆ ว่าเป็นธรรม เวลาฟังธรรมไม่เห็นว่าเป็นธรรม เป็นชื่อ เป็นเรื่องของธรรม แต่ยังไม่เห็นธรรม ทั้งๆ ที่เป็นธรรม ก็ยังไม่เห็น เพราะขณะเห็นมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น จะชื่อว่าเห็นธรรมไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาที่เห็น เพราะว่าความเข้าใจนั้นเป็นปัญญา
เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นปัญญา ไม่ใช่เรา
อ.คำปั่น ความเข้าใจที่สามารถเข้าใจได้ อย่างคำว่า สมมติกับบัญญัติ ในภาษาบาลีจะใช้คำว่า สัมมติ สัม มาจากคำว่า สํ หมายถึงพร้อมกัน มติคือรู้ สำเร็จรูปเป็น สัมมติ หรือสมมติ คือเป็นการรู้พร้อมกัน คือรู้ตรงกัน จึงเรียกว่า สมมติ
คำว่า “บัญญัติ” ก็มาจากภาษาบาลีเช่นเดียวกัน มาจากคำว่า ปัญญัติ แปลโดยศัทพ์หมายความถึงให้รู้โดยประการต่างๆ
ท่านอาจารย์ ก่อนจะเข้าใจทุกคำนี้ได้ ก็ต้องเข้าใจสภาพธรรม เช่น ในขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ แน่นอน เป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรม แต่เวลาที่เราเห็นเป็นรูปร่างสัณฐาน หรือเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเป็นบัญญัติ ไม่ใช่เป็นปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าแม้สิ่งที่เราเห็น อย่างเห็นพระอาทิตย์ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ทำไมเราเรียกว่า พระอาทิตย์ไม่ใช่พระจันทร์ เพราะลักษณะนั้นต่างกัน เพราะฉะนั้น ความที่สภาพธรรมนั้นต่างกัน รู้ได้โดยอาการที่ต่างกัน ขณะนั้นเป็นบัญญัติ แม้ไม่มีชื่อ เพียงแต่มองเห็น เราก็รู้ลักษณะที่ต่างกัน
เพราะฉะนั้น แม้แต่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เหมือนกับว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ แต่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่รู้กัน ที่เราจำไว้ อย่างเห็นโต๊ะ ยังไม่มีใครเรียกว่าโต๊ะ ขณะนั้นเห็นปรมัตถ์หรือบัญญัติ หรือรู้บัญญัติ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ปรมัตถ์กับบัญญัติต่างกัน โดยที่ปรมัตถ์คือสภาพธรรมที่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริงนั้นปรากฏให้รู้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคือบัญญัติ เป็นโต๊ะ หรือเป็นเก้าอี้ ไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ขณะนี้ก็ปรากฏสภาพที่เป็นบัญญัติที่ทำให้รู้ได้ว่า เป็นสิ่งนั้นหรือเป็นสิ่งนี้ เพราะรูปร่างสัณฐานที่ต่างกัน
เพราะฉะนั้น เวลาที่ทำความสงบโดยใช้สีหรือวัณณกสิณ เป็นต้น ก็จะตรึกนึกถึงสี ตอนที่เริ่มทำ ก็จะทำเป็นกสิณ เป็นวงกลม แล้วแต่จะมีสี ธาตุอะไรก็แล้วแต่ให้ติดตา ไม่เห็นก็ยังนึกถึงได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่ได้ปรากฏทางตา แต่จำไว้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นปรมัตถ์หรือบัญญัติ ก็เป็นบัญญัติ เหมือนอย่างเวลาฝัน ขณะนี้มีเห็นแล้วก็คิด แต่เวลาฝันมีแต่คิด ไม่มีเห็น เพราะฉะนั้น ขณะที่ฝันเป็นปรมัตถ์หรือเป็นบัญญัติ ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า กำลังมีบัญญัติ การจำสิ่งที่เราหมายรู้ว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดให้ทราบว่า ปรมัตถธรรมมีจริง แต่อาการปรากฏให้รู้ได้เป็นสิ่งต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ปรมัตถ์นั้นคือบัญญัติ โดยยังไม่ต้องสมมติเรียกอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่มีคำที่เราใช้เรียก เราจะรู้ไหมว่า หมายความถึงอะไร อย่างปรมัตถ์กับบัญญัติ ถ้าเราไม่มี ๒ คำ เราสามารถจะรู้ได้ไหมว่า อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นบัญญัติ
เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จำเป็นต้องมีคำ ซึ่งสมมติให้รู้กันได้ ให้เข้าใจกันได้ว่า หมายความถึงสิ่งใด บางทีถ้าเราจำเพียงชื่อ และความหมาย และคำแปล ก็จะพบบัญญัติหลายอย่าง เราก็อาจจะเข้าใจว่า นั่นเป็นชื่อที่สมมติเรียก แต่ความจริงบัญญัตินั้นมีโดยปรากฏเป็นสภาพสิ่งนั้นสิ่งนี้
นี่แสดงให้เห็นว่า ต้องมีปรมัตถธรรม แล้วเมื่อไม่รู้สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ก็จะรู้เพียงบัญญัติ อาการที่ปรากฏของสภาพธรรมที่ทำให้เข้าใจว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้ไม่เรียกชื่อ อย่างพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ต้องมีรูป มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีนามธรรมเป็นกุศลจิต อกุศลจิตต่างๆ แล้วจะหมายความถึงขันธ์ไหน ถ้าไม่สมมติเรียก แต่ต้องมีบัญญัติก่อน แล้วจึงมีสมมติเพื่อให้รู้ว่า หมายความถึงบุคคลใด แต่เมื่อมีปรมัตถธรรมแล้ว เพราะไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ก็ปรากฏเป็นบัญญัติต่างๆ ที่ทรงจำไว้ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคนต่างๆ แต่ปรมัตถธรรมจริงๆ ก็คือสิ่งที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา จะเป็นคนไม่ได้ แต่เมื่อปรากฏเป็นนิมิต แล้วก็จำรูปร่างอาการที่ปรากฏให้รู้ได้ เป็นความต่างๆ ไป โดยยังไม่ได้เรียกชื่อ ก็เป็นบัญญัติ
เพราะฉะนั้น จึงมีปรมัตถ์กับบัญญัติ แล้วก็มีสมมติที่ให้เข้าใจว่า หมายความถึงสภาพธรรมใด
ผู้ฟัง สรุปแล้วบัญญัติกับนิมิตเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่
ท่านอาจารย์ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจสภาพธรรมหรือไม่ หรือเราจะงงอยู่กับคำ อย่างสมมติว่าโลกแตก สมมติได้ใช่ไหมคะ เข้าใจได้ไหมว่า โลกแตก จริงหรือไม่ ก็เป็นเพียงสิ่งที่เราคุ้นหู สมมติว่า เป็นที่เข้าใจว่าหมายความว่าอะไร แต่เวลานี้เป็นปรมัตถ์ที่ปรากฏหรือบัญญัติ รู้ในสภาพที่เป็นปรมัตถ์ หรือกำลังรู้บัญญัติ
ผู้ฟัง รู้บัญญัติ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจความหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังขาร มีทั้งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร จิตสังขารด้วยในที่หนึ่ง เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราต้องเอาทุกอย่างมารวมกันเป็นหนึ่ง แต่สภาพธรรมเป็นอย่างไร ทรงแสดงสภาพธรรมนั้นโดยประการต่างๆ หลากหลายเพื่อให้เข้าใจถูก
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ขณะนี้ความเข้าใจของเราในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มีความเข้าใจที่มั่นคง เมื่อมีความเข้าใจที่มั่นคง ที่ใช้คำนั้นหมายความถึงสภาพธรรมใด เวลาที่พบความหมายอื่นๆ ก็สามารถเข้าใจได้ แม้แต่บัญญัติที่คุณหมอกล่าวถึงก็ไม่พ้นจากปรมัตถ์ แล้วไม่พ้นจากการรู้ว่า ใครเป็นมารดาบิดา ใช่ไหมคะ เพราะพูดว่า ทุกคนก็มีมารดาบิดา เป็นปรมัตถธรรมแน่นอน ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป ไม่มีสภาพธรรม จะมีสภาพที่เป็นมารดาบิดาไม่ได้ แต่ก็ยังสมมติอีกได้ไหมคะ สมมติต่อไปอีกก็ได้
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ว่าเมื่อเข้าใจสภาพธรรม และเข้าใจความหมายของบัญญัติ จะกล่าวถึงบัญญัติโดยประการใดๆ ก็ตาม ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า ต้องมีปรมัตถธรรม แต่ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ก็เพียงแต่รู้บัญญัติ แม้จะยังไม่ใช้ชื่อใดๆ ก็ตาม ถูกต้องหรือไม่ แต่ก็มีคำที่ใช้ และสมมติว่า ชื่อนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่เรียกมารดาว่าบิดา และไม่เรียกบิดาว่ามารดา เพราะสมมติบุคคลนี้เป็นมารดา และสมมติบุคคลนั้นเป็นบิดา ถูกต้องไหม และยังสมมติต่อไปอีกได้มากมาย เช่น สมมติว่ามารดาเป็นใคร ตำแหน่งอะไร หน้าที่การงานอะไร หรือสมมติว่าโลกแตก ก็ยังสมมติได้
ผู้ฟัง คำถามก็ยังสืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องอกุศลเกิดบ่อย และอกุศลเกิดไม่มาก แล้วท่านอาจารย์ก็ถามว่า เข็ดกันหรือยัง ขอเรียนให้ช่วยขยายความว่า เข็ดอะไร อย่างไร
ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วคุณอรวรรณมีทุกข์บ้างหรือไม่
ผู้ฟัง มีประจำ
ท่านอาจารย์ ทุกข์มากไหม
ผู้ฟัง บางครั้งก็ทุกข์มาก
ท่านอาจารย์ ทนได้ไหม
ผู้ฟัง บางครั้งคิดว่าทนไม่ได้ แต่ถึงที่สุดก็ผ่านมาได้ ก็แปลว่าพอทนได้
ท่านอาจารย์ แล้วเพียงครั้งเดียวหรือไม่
ผู้ฟัง หลายครั้งมาก
ท่านอาจารย์ ชาตินี้เท่านี้ แล้วชาติก่อนอีกเท่าไร ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนี้ ปวดฟัน ปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นไข้ หิว ทรมานสักเท่าไร ก็ยังคงพอใจในการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่มีวันหายไป ทันทีที่เจ็บ คิดถึงอะไร อยากจะไม่เจ็บ
เพราะฉะนั้น ก็หาทางทุกอย่างที่ยังคงติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่เห็นภัยว่า ขณะนั้นไม่มีใครต้องการความรู้สึกอย่างนั้น เป็นความรู้สึกซึ่งถ้าเกิดวันแล้ววันเล่า ต่อๆ กันไปมากๆ นานๆ ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว ทนไหวไหม หรือจะเข็ดหรือยัง ก็ยังคงไม่เข็ด ตราบใดที่ยังพอใจในรูป ใจจะคิดถึงรูป ถึงเสียง ถึงกลิ่น ถึงรส ถึงโผฏฐัพพะทันที คือต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อจะบรรเทา หิว ไม่เข็ด เพราะเหตุว่าสามารถมีสิ่งที่พอใจที่ทำให้หายหิวได้
เพราะฉะนั้น ทันทีที่อาหารเค็ม ชอบไหมคะ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 541
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 542
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 543
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 544
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 545
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 546
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 547
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 548
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 549
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 550
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 551
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 552
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 553
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 554
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 555
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 556
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 557
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 558
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 559
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 560
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 561
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 562
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 563
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 564
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 565
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 566
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 567
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 568
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 569
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 570
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 571
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 572
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 573
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 574
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 575
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 576
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 577
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 578
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 579
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 580
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 581
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 582
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 583
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 584
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 585
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 586
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 587
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 588
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 589
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 590
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 591
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 592
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 593
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 594
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 595
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 596
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 597
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 598
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 599
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 600