พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 555


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๕๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดสิ่งนี้ก็หมายถึงว่า เป็นอสัตบุรุษเพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าไม่สามารถเห็นตามความเป็นจริง คือยังเห็นเป็นคนอยู่ อาจารย์ถึงใช้คำว่า ชั่ว หรือ

    ท่านอาจารย์ กุศลทั้งหมด ดีได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ ข้อต่อไปคือตั้งใจผิด

    ท่านอาจารย์ เกิดกับจิตอะไร ตั้งใจผิด

    ผู้ฟัง เกิดกับจิตที่ตั้งไว้ผิด เป็นความเห็นผิดก่อน ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นเรื่องของอกุศลซึ่งลวงไว้แล้ว

    ผู้ฟัง หนูอยากจะบอกว่า อาจารย์มีเมตตามาก และหนูเองก็ไม่มีความอดทนมาก แต่ก็มากกว่าเมื่อก่อนมากๆ แล้ว และจะศึกษาธรรมอาจารย์ต่อไป และไม่ได้ศึกษาอย่างเดียว จะประพฤติปฏิบัติตามตลอด ไม่ได้ศึกษาเพื่อละโลภะ หรือละโทสะ หรือละโมหะ แต่ศึกษาเพื่อให้รู้อย่างที่อาจารย์กล่าว ละสิ่งที่ไม่รู้ไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนาในศรัทธาที่ได้ยินได้ฟังแล้วเข้าใจขึ้น แล้วรู้ว่า สิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิตก็คือความเห็นถูก เพราะเหตุว่าเวลาที่ฟังพระธรรมพระผู้มีพระภาคไม่ได้บอกให้เชื่อ แต่แสดงความจริงของสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏ ที่ทุกคนสามารถพิจารณาว่า เป็นจริงอย่างที่ทรงแสดงหรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้วความเข้าใจถูกก็เกิดขึ้น และสามารถรู้ว่า ผู้ที่แสดงความจริงนี้คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นแล้วแม้แต่เพียงคำว่า “ธรรม” ใครจะได้ยิน ใครจะรู้ว่า ขณะนี้ธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ชื่อสมมติโดยมารดาบิดาตั้งให้ว่า คนนี้หรือคนนั้น ไม่มีใครไปตั้งชื่อให้ธรรมอย่างนั้น แต่เมื่อธรรมที่มีจริงหลากหลายมาก จึงทรงบัญญัติคำที่จะให้รู้ว่า ตรัสคำนี้หมายความถึงสภาพธรรมอะไรที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าขณะนี้สิ่งที่มีจริงคือสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น ขณะนี้มีเห็น เห็นจริง และสิ่งที่ปรากฏก็จริง

    เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรมซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ไม่มีใครทำให้เกิด หรือธรรมที่เกิดแล้วจะไม่ให้ดับก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จากการฟังก็จะค่อยๆ เห็นพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นแต่ละคนจะมีชีวิตอยู่โดยเกิดมาแล้วก็เห็น ได้ยิน คิดนึก สุข ทุกข์ แล้วก็จากโลกนี้ไป โดยที่ไม่รู้ว่า สิ่งที่มีในชีวิตในแต่ละชาตินั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระ เพราะอะไรคะ เกิดแล้วก็ดับ เมื่อวานนี้ก็หมดไปแล้ว แม้แต่สิ่งที่เราคิดว่า เป็นของเรา อะไรที่เป็นของเรา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น ไม่ว่าทรัพย์สมบัติใดๆ ที่บ้านเป็นของเรา แต่ความจริงเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นสำหรับทุกคนที่เห็น ไม่ใช่เป็นของคนหนึ่งคนใด

    เพราะฉะนั้น เห็น เกิดแล้วก็ดับ และสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วก็ดับ ค่อยๆ พิจารณาว่า เป็นความจริงอย่างนี้หรือไม่ เมื่อเป็นความจริงก็จะรู้ว่า กว่าจะได้รู้ความจริง แต่ละคนก็ต้องทำความดีพอที่จะมีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมซึ่งบุคคลผู้เลิศในโลก และจักรวาลทั้งหมดได้บำเพ็ญบารมีอย่างน้อย คือหลังจากที่ได้รับพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ๔ อสงไขยแสนกัป ซึ่งก่อนนั้นก็ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่ออนุเคราะห์บุคคลอื่นให้มีความเข้าใจถูก ไม่ใช่เกิดมาในโลก แล้วก็ไป โดยไม่รู้อะไร เกิดมาเพื่อตาย ก่อนตายก็เห็น เห็นแล้วก็หมด สุขก็หมด ทุกข์ก็หมด ทุกอย่างไม่มีอะไรเหลือ แล้วก็จากไปพร้อมความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น การเข้าใจความจริงก็ทำให้เป็นผู้ไม่ตาบอด ไม่มืดเหมือนเดิม เพราะเหตุว่าถ้าตาบอด และมืดเหมือนเดิมจะรู้ไหมว่า ทำไมคนเราเกิดมาต่างกัน คิดก็ต่างกัน และต้องเกิดด้วย จะไม่ให้เกิด เป็นไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเกิดแล้ว เห็นแล้ว ทำกรรมแล้ว เพราะฉะนั้น ก็มีเหตุที่จะต้องเกิดอีกแน่นอน แต่ถ้าได้เข้าใจธรรม สิ่งที่ได้ฟังก็จะเพิ่มขึ้นติดตามไป

    ผู้ฟัง ฟังธรรมแล้วคิดเอง แสดงว่ายังไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เคยคิดอะไรบ้างไหม

    ผู้ฟัง คิดทั้งบัญญัติ คิดทั้งปรมัตถ์ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ แล้วคิดเองว่าเป็นเราใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ธรรม ใช่ไหมคะ เวลาคิดเอง คิดว่าเป็นเรา แล้วพอฟังแล้วเป็นเราหรือเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ฟังแล้วก็ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ แต่เข้าใจไหมว่า ธรรมอยู่ที่ไหน และเรากำลังฟังเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง เข้าใจค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังฟังเรื่องอะไร เรื่องสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ขณะนี้ให้เข้าใจถูกต้อง และสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ก็เป็นธรรม คือไม่ใช่ของใคร แต่เป็นสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า “ธาตุ” หรือ “ธรรม” ก็หมายความว่า สิ่งนั้นเมื่อเกิดแล้ว ใครเปลี่ยนแปลงธรรมนั้นให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และไม่มีใครสามารถทำให้สิ่งนั้นเกิด นอกจากปัจจัยเฉพาะสิ่งนั้นเกิดเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น ให้รู้ตามความเป็นจริง อย่างนี้คิดเองได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็หมายความถึงไม่ใช่ฟังเรื่องราวของธรรม แต่ต้องฟังธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ฟังเรื่องธรรมขณะนี้ โดยยังไม่รู้จักตัวธรรม แต่ฟังว่าขณะนี้เป็นธรรม และเมื่อรู้เรื่องของธรรมมากขึ้น เข้าใจว่าเป็นสภาพที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ก็เริ่มรู้จักตัวธรรมจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจเรื่องราวอย่างอื่น แต่ฟังก็เข้าใจว่า ลักษณะนี้มีจริงๆ ค่อยๆ เข้าใกล้การรู้จักธรรมว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    อ.กุลวิไล คราวที่แล้วท่านอาจารย์ก็กล่าวว่า เข็ดหรือยัง แล้วมีหลายท่านฟังไม่ทัน ก็อยากทราบว่า จริงๆ แล้วเข็ดหรือยัง

    ท่านอาจารย์ บังคับไม่ให้เห็นขณะนี้ได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ชอบเห็น ไม่เบื่อเลย เห็นแล้วเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่เห็น เห็นแล้วก็จำ แล้วก็คิด แล้วปรุงแต่งมากมายตลอดไม่ว่าจะเห็นอะไร เป็นทุกข์หรือเป็นสุข เรื่องยาวๆ ทั้งหมดมาจากอะไร

    อ.กุลวิไล มาจากจิตที่คิด

    ท่านอาจารย์ คิดจากอะไร

    อ.กุลวิไล จากการสะสม

    ท่านอาจารย์ คิดจากเห็นแน่นอน เพราะฉะนั้น แหล่งของความคิดก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อเห็นแล้ว แม้ไม่เห็นก็ยังคิดถึง เพราะฉะนั้น ใจสามารถรู้ และคิดถึงทุกอย่างได้ แล้วคิดเรื่องอะไร

    อ.กุลวิไล ส่วนใหญ่ก็คิดถึงเรื่องราวของบัญญัติ สัตว์บุคคลมากมาย

    ท่านอาจารย์ คิดไปเรื่อยๆ ไม่จบ เรื่องนั้นมาอีก เรื่องนี้มาอีก ความคิดไม่เคยจบสิ้น ต้องคิด เพราะไม่รู้ว่า มีปัจจัยให้คิดเกิดก็ต้องคิดไปเรื่อยๆ ทุกชาติ ชาตินี้เห็นแล้วก็คิดมากมาย ได้ยินแล้วก็คิดมากมาย ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดทุกวัน คิดมากมาย จึงได้ถามว่า เข็ดหรือยัง

    อ.กุลวิไล อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า แม้ขั้นฟังก็ไม่ใช่ขั้นที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ยังไม่เข็ดแน่นอน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่สามารถไม่ให้เห็นเกิดขึ้น หรือไม่สามารถที่ให้จิตเกิดขึ้น ตราบใดที่ยังพอใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้

    อ.กุลวิไล เพราะความที่สภาพธรรมไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลด้วย ถ้าไม่รู้ความจริง ก็ยังติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู ก็ย่อมเกิดทุกข์แน่นอน แล้วทุกข์ทางใจก็เป็นลูกศรดอกที่ ๒ ด้วย ไม่ใช่เจ็บเฉพาะกายอย่างเดียว จึงเกิดทุกข์ทางใจ และสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ทั้งหมด ก็ไม่พ้นจิต เจตสิก รูปนั่นเอง เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เกิดดับในขณะนี้เป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ เคยร้องไห้ไหมคะ

    อ.กุลวิไล บ่อยค่ะ

    ท่านอาจารย์ ครั้งเดียวไม่พอ แล้วร้องอีกหลายๆ ครั้งก็ยังไม่พอ เข็ดก็ไม่เข็ด ร้องอีกก็ได้ ครั้งแรกร้องนิดหน่อย ครั้งหลังๆ โศกมาก เศร้ามาก อาจจะร้องนานกว่านั้น ก็ยังร้องอีกได้ ร้องไปเรื่อยๆ ก็ไม่เคยเข็ด

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ โทมนัส อุปายาส คือสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูปนั่นเอง และไม่พ้นสภาพธรรมที่เป็นทุกข์

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจคำว่า มั่นคงในกรรม และผลของกรรม ตอนนี้เข้าใจว่า ฟังธรรมแล้วเข้าใจ มั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรม เมื่อมีเรื่องอะไรที่ทำให้เดือดร้อนใจ ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คงไม่ลืมว่า เป็นเรื่องกรรม และผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ คนไทยก็ได้ยินคำว่า กรรม และผลของกรรมบ่อยๆ แต่ยังไม่เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม แม้กรรมก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ผลของกรรมก็ไม่ใช่เรา ผลของกรรมก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น การเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้ชัดเจนขึ้น ก็คือต้องเข้าใจพื้นฐานว่า ทุกสิ่งทุกอย่างขณะนี้ มีเพราะเกิดขึ้น โดยยังไม่รู้ว่า เป็นกรรมหรือเป็นผลของกรรม แต่ว่าสิ่งนี้มี

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีแล้วยังไม่เข้าใจลักษณะของสิ่งนั้นจริงๆ จะชื่อว่า เรารู้สิ่งที่เราพูดว่า กรรม และผลของกรรมได้ไหม เพราะว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วได้ยินคำว่า กรรม และผลของกรรมมานานแล้ว แต่ไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นอะไร แล้วจะเข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรมได้ไหม

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่เราใช้ “ได้ยิน” ต้องศึกษาอย่างละเอียด จึงสามารถเข้าใจได้ เพราะเหตุว่าเพียงแต่ได้ยินคำว่า “ธรรม” และได้ยินว่า ทุกอย่างเป็นธรรม พอได้ยินว่า กรรม กรรมเป็นธรรมหรือไม่ กรรมมีจริงหรือไม่ ถ้ากรรมมีจริงๆ กรรมก็ต้องเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมี แต่ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจจริงๆ และมั่นคง ก็คือรู้ว่า ไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเรา จะหวั่นไหวไหมคะ เดี๋ยวเราก็ดี เดี๋ยวเราก็ไม่ดี เดี๋ยวเราก็เห็น เดี๋ยวเราก็ได้ยิน เดี๋ยวเราก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องที่ควรคิดก็มี เรื่องที่ไม่ควรคิดก็มี แต่ก็คิดแล้ว พูดแล้ว ทำแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะหวั่นไหวไปตลอด เพราะไม่รู้ความจริงว่า ธรรมมี แต่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้

    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่อยากเข้าใจชื่อต่างๆ ที่เคยได้ยิน และไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจตามลำดับจริงๆ ไม่สามารถเข้าใจได้ ก็ยังคงเป็นเรา เพราะเมื่อไม่ใช่ธรรม ก็ต้องเป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นคนนั้นคนนี้อยู่ตลอดเวลา ก็ไม่สามารถรู้ว่า ความจริงแล้วไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เลยทั้งสิ้น แม้เดี๋ยวนี้ ก็มีสิ่งที่เกิดแล้วกำลังปรากฏให้เห็น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เรื่องกรรม และผลของกรรมที่ถามนั้น เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นก็จะลืมสนิทเลยว่า ทุกอย่างเป็นธรรม หมายความว่าก็ต้องฟังจนเข้าใจ อบรมเจริญปัญญาไปจนสามารถไม่ลืมได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเวลาที่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วก็หวั่นไหว นั่นคือไม่มั่นคง ไม่รู้จริงๆ ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง แสดงว่า ความเข้าใจยังไม่เพียงพอ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นต้องละเอียด ธรรมคำเดียว ได้ยินแต่ชื่อ และได้ยินเรื่องของธรรม แต่ยังไม่รู้จักตัวธรรมจนแจ่มแจ้งว่า ไม่ใช่เรา เป็นธรรมจริงๆ ประการเดียวของการฟังแล้วฟังอีกก็เพื่อมีความเห็นถูกต้องในในสิ่งที่มีจริงๆ ว่า เป็นลักษณะแต่ละลักษณะของธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นเอง ฟังจนกระทั่งสามารถจรดกระดูก จริงหรือไม่ เป็นธรรมแต่ละลักษณะ เสียงมีจริงๆ เป็นลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง เห็นก็มีจริงๆ เป็นลักษณะของธรรมอีกอย่างหนึ่ง คิดก็มีจริงๆ ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ฟังจนกระทั่งทุกอย่างเป็นธรรม และไม่ใช่เพียงแต่ฟัง เริ่มเข้าใจตัวจริงของธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ในขณะที่เกิดแล้วปรากฏ

    ผู้ฟัง เมื่อเข้าใจว่า ธรรมเป็นอนัตตาแล้วบังคับบัญชาไม่ได้ เป็นธรรม เช่น ความวิตกกังวลก็เป็นธรรม เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ต้องวิตกกังวล เป็นอย่างอื่นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ความวิตกกังวลมีลักษณะเกิดขึ้นเป็นวิตก เป็นกังวล เป็นธรรม แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จะรู้ว่า รู้หรือไม่รู้ ก็เมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏ สามารถเข้าใจถูกต้องในลักษณะนั้นว่าเป็นธรรมหรือไม่ อย่างเดี๋ยวนี้จะพูดถึงกังวลหรือไม่กังวลก็ตามแต่ เห็นก็มี แค่เห็น เป็นธรรมอย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เห็นมีจริงๆ เดี๋ยวนี้

    นี่ก็เป็นเครื่องทดสอบโดยไม่ต้องถามใครว่า ความเข้าใจธรรมจากการฟังแล้วฟังอีกถึงตัวธรรมจริงๆ ซึ่งกำลังเห็น และก็รู้ว่า เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เราหรือไม่

    ผู้ฟัง ดูเหมือนความคิดก็คิด แต่ปัญญายังไม่ถึงขั้นรู้ตรงลักษณะ ถ้ารู้จริงๆ ว่า ก็เป็นแค่ธรรม แล้วก็เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนะคะ รู้จริงๆ ว่า เป็นแค่ธรรม รู้อย่างไร รู้จริงๆ

    ผู้ฟัง หมายความว่าปัญญารู้ตรงลักษณะที่มีเหตุปัจจัยแล้วเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้จริงๆ ว่า เป็นแค่ธรรม รู้อย่างไร

    ผู้ฟัง คือปัญญาสามารถเกิดรู้ตรงลักษณะนั้นได้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาระดับไหน

    ผู้ฟัง ต้องเป็นสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่พร้อมกับสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ปัญญาที่กำลังฟังรู้จริงๆ ว่าเป็นแค่ธรรม โดยที่ตัวธรรมจริงๆ ไม่ได้เป็นปัฏฐาน ไม่ได้เป็นที่ตั้งของสติที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ไม่มีรูปร่าง และกำลังเห็นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สิ่งที่เราจะรู้ได้โดยง่าย อาศัยการฟัง และไม่ลืมว่า ขณะไหนก็ตามก็เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดแล้วเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ามั่นคง เวลาที่ความวิตก ความกังวลเกิดขึ้น ขณะนั้นก็สามารถเข้าใจลักษณะนั้นซึ่งยากจะเข้าใจ แต่ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะอะไรที่ยาก เกิดแล้วดับไป แล้วก็มีอย่างอื่นเกิดสลับ ในขณะที่กำลังฟังธรรมขณะนี้ ก็มีสภาพธรรมอื่นสลับอยู่ตลอดเวลา แล้วจะไปรู้จริงในความเป็นธรรมของสภาพไหน ในเมื่อขณะนี้ก็มีตั้งหลายอย่าง เสียงก็มี สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี คิดก็มี แข็งก็มี แต่ละลักษณะมีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วเมื่อปรากฏเกิดขึ้นเมื่อไร ก็แสดงว่า มีสภาพธรรมหรือมีธาตุที่สามารถรู้สิ่งนั้น โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม แต่สภาพที่สามารถรู้แจ้งสิ่งนั้นเกิดแล้ว เช่น ขณะนี้ที่เสียงปรากฏ มีสภาพที่สามารถรู้เสียง เสียงจึงปรากฏได้ เกิดแล้ว แต่ปัญญาก็ไม่ได้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ทั้งขณะที่กำลังได้ยิน และเสียงที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันทั้งหมดเป็นธรรม ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะฟัง และเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าสามารถเข้าถึง ปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะที่เป็นธรรม ด้วยความเข้าใจว่า ขณะนั้นรู้เฉพาะลักษณะนั้น เดี๋ยวนี้รู้เฉพาะลักษณะไหนไหม เพราะเหตุว่าเสียงมี เห็นมี คิดมี แข็งมี รู้เฉพาะลักษณะไหนหรือไม่ ไม่มีเลย ดับไปหมด เห็นก็ดับ เสียงก็ดับ ได้ยินก็ดับ แข็งก็ดับ คิดก็ดับ ไม่รู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด

    เดี๋ยวนี้เวลาฟังธรรมจึงต้องเข้าใจ ขณะที่เป็นธรรมที่เข้าใจขั้นฟัง กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงว่า ขณะนี้เป็นธรรมแน่นอน เกิดแล้วโดยไม่มีใครสามารถไปทำให้เกิดได้ เกิดแล้วก็ดับไป เพราะว่ามีอย่างอื่นเกิดสืบต่อโดยรวดเร็ว นี่คือขั้นเข้าใจ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ก็รู้ตามความเป็นจริงด้วยว่า ยังไม่ได้รู้จักธรรมที่กำลังเข้าใจแต่ละลักษณะ จนกว่าจะถึงอีกระดับหนึ่งซึ่งใช้คำว่า”สติปัฏฐาน” หรือสติสัมปชัญญะ เพราะว่าสติเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณ ดีงาม ต้องเป็นไปในทางฝ่ายดี ขณะใดที่จิตเป็นไปในการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่สติ และโสภณเจตสิก โสภณธรรมเกิดพร้อมกัน เป็นไปในขณะนั้นตามที่สติระลึกว่า เป็นไปในการให้ หรือในการวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางวาจาวิรัติบ้างหรือไม่ จริงๆ จิตเป็นอย่างไร กายวาจาก็เป็นอย่างนั้น ถ้าจิตเป็นอกุศล กายก็เป็นอกุศล แต่ไม่รู้ว่า กายขณะนั้นเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้น กายที่เคลื่อนไหวไปด้วยอกุศลจิตก็ต่างกับกายที่เคลื่อนไหวไปด้วยกุศลจิต ทางวาจาก็เช่นเดียวกันเราก็พูดกันมาก แต่จิตขณะที่พูดเป็นอะไร ขณะใดที่จิตเป็นกุศล วาจาเป็นไปด้วยจิตที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพียงขั้นฟัง และเหมือนกับเข้าใจทั้งหมด แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของธรรม ทั้งๆ ที่ตัวจริงของธรรมนั่นมี และทำให้เกิดความคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้มากมาย แต่ก็ไม่มีใครไปรู้สภาพคิด แต่รู้เรื่องที่กำลังคิดใช่ไหม พูดกันไปพูดกันมา ก็รู้เรื่องที่พูด เข้าใจเรื่องที่พูด และคิดเรื่องที่พูด แต่ไม่รู้ว่า ที่เข้าใจในขณะที่กำลังพูดกันก็คือตัวธรรมที่เกิด และเป็นไป ทำให้วาจานั้นเป็นอย่างนั้น ก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็คือฟังเรื่องธรรม เข้าใจธรรม แล้วเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า เพียงเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ จิตก็มี กำลังเห็น เสียงก็มี เป็นธรรม แต่ยังไม่รู้จักในขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง อยากจะทราบว่า เราทำดี แต่ผลกรรมที่ได้รับไม่ดี บางครั้งก็เชื่อ บางครั้งก็ไม่เชื่อ มีคำถามแค่ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เชื่อในเหตุกับผลหรือไม่

    ผู้ฟัง เชื่อในด้านวิทยาศาสตร์

    ท่านอาจารย์ เชื่อเรื่องเหตุกับผล ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเหตุดี ผลเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ผลก็ดี

    ท่านอาจารย์ ถ้าเหตุไม่ดี

    ผู้ฟัง เหตุไม่ดีมีหลายสาเหตุ

    ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ เชื่อในเหตุกับผล

    ผู้ฟัง เชื่อค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเหตุไม่ดี ผลเป็นอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง เหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดีค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเหตุดี

    ผู้ฟัง เหตุดี ผลที่ได้รับก็ต้องดี

    ท่านอาจารย์ นี่คือตั้งต้นด้วยความเข้าใจ และเชื่อว่า ผลทั้งหลายต้องมาจากเหตุ ถ้าเหตุไม่ดีจะทำให้เกิดผลดีได้หรือไม่

    ผู้ฟัง เหตุไม่ดี ผลก็ได้รับตามเหตุนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเหตุไม่ดีทำให้เกิดผลดีได้หรือไม่

    ผู้ฟัง เหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดีค่ะ

    ท่านอาจารย์ และเมื่อพูดถึงเหตุกับผล พูดถึงกรรมซึ่งเป็นเหตุ ไม่ใช่ผลใช่ไหม ส่วนใหญ่เราจะเข้าใจว่า กรรมคือการกระทำ ทำแล้วผลของกรรมต้องมี ตอนนี้คิดว่า ทุกคนที่ทำกรรมอยากจะรู้ผลของกรรมหรืออยากจะได้ผลของกรรม ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ทราบหรือยังว่า ผลของกรรมคืออะไร ถ้าไม่ทราบ ก็คือเราอยากได้อะไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าเรารู้ว่า อะไรเป็นผลของกรรมเดี๋ยวนี้ เราสามารถรู้ได้ว่า ผลของกรรมเดี๋ยวนี้มาจากกรรมอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567