พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 556


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๕๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ทราบหรือยังว่า ผลของกรรมคืออะไร ถ้าไม่ทราบ ก็คือเราอยากได้อะไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าเรารู้ว่า อะไรเป็นผลของกรรมเดี๋ยวนี้ เราสามารถรู้ได้ว่า ผลของกรรมเดี๋ยวนี้มาจากกรรมอะไร เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น บางคนอาจจะพูดถึงเหตุก่อน บางคนก็อาจจะพูดถึงผลก่อน อย่างอริยสัจ ๔ พูดถึงผลก่อนหรือพูดถึงเหตุก่อน ทุกขอริยสัจจะเป็นผล ทุกขสมุทย อริยสัจจะเป็นเหตุของผลนั้น เพราะว่าส่วนใหญ่เรายังไม่รู้เหตุ แต่เราเห็นผล อย่างการเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้เป็นเหตุหรือเป็นผล

    ผู้ฟัง เป็นผลเพราะเกิดมาแล้ว

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรมที่เราไม่ต้องไปเกิดเป็นนก ไม่ต้องเกิดเป็นงู ไม่ต้องเกิดเป็นจิ้งจก ถ้าเกิดอย่างนั้นก็หมายความว่า ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผลของกุศลกรรม นี่เข้าใจแล้วว่า เกิดเป็นมนุษย์เป็นผล ไม่ใช่เป็นเหตุ แล้วก็เป็นผลของกุศลด้วย เกิดมาแล้วต้องเห็นหรือไม่คะ ทุกคนที่เกิดแล้วต้องเห็น ต้องได้ยินไหม

    ผู้ฟัง คนที่เกิดมาแล้ว เห็นตัวเองว่าเกิดมาแล้ว

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วก็มีการเห็น เกิดแล้วก็มีการได้ยิน ชีวิตประจำวัน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่รู้เลยว่า อะไรทำให้เห็น อะไรทำให้มีตา อะไรทำให้มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ไม่รู้เลย แต่ขณะนี้ที่เห็น เมื่อเกิดแล้วเป็นผลของกรรม กรรมทำให้มีตาเพื่อที่จะเห็น กรรมทำให้มีหูเพื่อจะได้ยิน ซึ่งเป็นการรับผลของกรรมนั่นเอง เพราะเกิดเป็นมนุษย์ ไม่ได้ทำอะไร ไม่เห็นอะไร จะเป็นผลอย่างไรได้ แต่เมื่อเกิดมาแล้วต้องเห็น ต้องได้ยิน จะทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่า ผลของกรรมนั้นเมื่อไร การเกิดเป็นมนุษย์แม้ขณะแรกที่เกิดก็เป็นผลของกรรม เกิดแล้วเติบโตขึ้นมามีตา มีหู ต้องเห็น ต้องได้ยิน การเห็นแต่ละขณะเป็นผลของกรรมด้วย การได้ยินก็เป็นผลของกรรม กรรมทำให้มีตา ทำให้มีหู ใครทำได้ไหมนอกจากกรรม

    ผู้ฟัง นั่นก็แสดงว่า ผลที่ได้รับในชาตินี้ก็มาจากชาติที่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า มาจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะต้องมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว จะนานสักเท่าไรก็แล้วแต่ อาจจะเป็นเมื่อวานนี้ก็ได้ เมื่อเดือนก่อนก็ได้ เพราะเราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า กรรมที่ได้ทำแล้วจะให้ผลเมื่อไร เช่นในขณะนี้ทราบไหมว่า กำลังฟังธรรมเป็นกรรม เป็นกุศลด้วย เพราะเป็นการกระทำให้ปัญญาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นต้องเป็นกุศล แต่ว่าการฟังธรรมวันนี้ที่เป็นกุศล จะให้ผลอะไร เมื่อไร วันไหน ใครสามารถจะรู้ได้ แต่เมื่อเหตุมี ผลก็ต้องมี จะช้าหรือจะเร็ว เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ก็รู้ว่า เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นผลของกรรมเมื่อไร ก็ตอบไม่ได้ ตอบได้แต่เพียงเป็นผลของกุศลกรรมหนึ่งซึ่งประมวลมาซึ่งกรรมที่สามารถให้ผลได้ตามกำลังของปฏิสนธิ

    เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดมาแล้วก็มีรูปซึ่งกรรมทำให้เกิดด้วย นี่คือผลของกรรม ทำให้รูปแต่ละรูปตอนที่เกิดแม้ว่าจะเล็กมาก อย่างรูปที่อยู่ในครรภ์ ขณะที่ปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกที่เกิดจะมีกัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม ๓ กลุ่มที่เล็กที่สุดที่มองไม่เห็น ในกลุ่มที่เล็กที่สุดก็จะมีรูปรวมกัน คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ต้องมี แล้วแต่ว่าเมื่อเป็นกัมมชรูป ก็ต้องมีรูปอีกรูปหนึ่งต่างหากจากรูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรม คือต้องมีชีวิตินทรียรูปทำให้รูปนั้นเป็นรูปที่มีชีวิต ต่างจากรูปต้นไม้ ใบหญ้าที่ไม่ได้เกิดเพราะกรรม เพราะฉะนั้นก็ไม่มีชีวิตรูป ทำให้ต่างจากมนุษย์ ซึ่งแม้จะมีหุ่นรูปปั้นที่เหมือนสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังสามารถรู้ความต่าง เพราะเหตุว่าไม่ได้มีกรรมเป็นสมุฏฐานที่จะให้รูปนั้นๆ เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดเพราะกรรม แม้จะมีอายุเท่ากับรูปอื่นซึ่งเกิดเพราะจิต เพราะอุตุ เพราะอาหารโดยมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเหมือนกัน แต่ความต่างก็คือว่า รูปใดที่มีชีวิตรูปหรือชีวิตินทรียรูป ทำให้รูปนั้นเป็นรูปที่ทรงชีวิต ต่างกับรูปอื่นซึ่งไม่มีชีวิตเพราะไม่ได้เกิดจากกรรม นี่คือผลของกรรม เพราะฉะนั้นผลของกรรมมีมาก และเราก็กล่าวถึงผลของกรรมก่อน แล้วค่อยๆ รู้ว่า ผลของกรรมนั้นมาจากกรรมอะไร พอจะเข้าใจแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วไม่ได้บอกว่า ตัวเองมีเมตตาอะไรหนักหนา แต่พอเพื่อนๆ ตกทุกข์ได้ยากมาเราช่วยเขา แต่พอปลดเกษียนออกมา ผลกรรมที่ได้รับไม่ดี

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมเราสามารถรู้ผลของกรรมได้หรือ อย่างวันนี้เราฟังธรรมเป็นกุศล แล้วรู้ไหมว่า กุศลวันนี้จะให้ผลเมื่อไร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจะไปบอกได้อย่างไรว่า พอทำวันนี้ก็ได้ผลวันนั้น

    ผู้ฟัง ขอบคุณค่ะ จะฟังไปเรื่อยๆ ค่ะ

    ท่านอาจารย์ พอรู้อย่างนี้แล้วจะทำอกุศลกรรมไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่คิดจะทำ และไม่เคยทำมาด้วย

    ท่านอาจารย์ ต่อไปก็ไม่ทำ เพราะรู้แล้วว่า ถ้าทำเมื่อไรก็ทำให้ผลของอกุศลเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ตบยุงฆ่าสัตว์ก็ไม่คิดจะทำ ไม่เคยทำ

    ท่านอาจารย์ ไม่ทำกรรมชั่ว แล้วทำกรรมดีหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ทำกรรมดีตลอด

    ท่านอาจารย์ แล้วชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสหรือไม่

    ผู้ฟัง ชำระจิตหมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าถ้าจิตไม่มีกิเลส จะทำอกุศลกรรมไหม

    ผู้ฟัง กิเลส ก็คืออยากได้ อยากเป็น เป็นความโลภหรือไม่คะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ มีทั้งอกุศลจิต และอกุศลกรรม เพียงแต่ชอบอาหารอร่อยไม่ใช่อกุศลกรรม แต่เป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง อกุศลจิตก็คือบางครั้งคิดไม่ดีกับคนนั้นคนนี้

    ท่านอาจารย์ และคิดไม่ดีทุกวันมากขึ้นๆ จะถึงกับทำอกุศลกรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะทำอกุศลกรรมได้ แต่คิดไม่ดีเพียงไม่ชอบเขา

    ท่านอาจารย์ แล้วเกิดไม่ชอบมากๆ ล่ะคะ วาจาเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ด่าในใจเหมือนกัน แต่ไม่ได้เอ่ยออกมา ไม่กล้า

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังมีกิเลสก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลกรรมวันหนึ่งวันใด ประมาทไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เพียงแต่เว้นชั่วแล้วทำความดี แต่ยังมีหนทางชำระจิตให้บริสุทธิ์ สามารถดับกิเลสได้ด้วย เพราะฉะนั้น เพียง ๒ อย่างไม่พอ เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงหนทางที่ถึงที่สุดของความรู้จริงๆ คือสามารถดับกิเลสได้ด้วย ตอนนี้มีกิเลสไหม

    ผู้ฟัง สมมติเราโกรธอยู่ แต่เราแกล้งแสดงอารมณ์ดีกับเขาก็ได้ แล้วอย่างนั้นเป็นอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ คืออารมณ์ชาวบ้าน อารมณ์ภาษาไทย วันนี้อารมณ์ดี วันนี้อารมณ์ไม่ดี ที่เราใช้กันอยู่ แต่รู้ไหมไม่ดีเพราะอะไร หรือดีเพราะอะไร ที่บอกว่าวันนี้อารมณ์ดี ทราบไหมว่า ทำไมใช้คำว่า “อารมณ์ดี” เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ก็อยู่ที่จิตใจเรา ถ้าเราไม่มีอะไรมาปะทะกับจิตให้เกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรมาประทะกับจิต อะไรสามารถปะทะจิตได้

    ผู้ฟัง ความคิดก็ได้ แสง เสียง สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวได้หมด

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า จิตกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ จะเป็นสภาพรู้โดยไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ใช้คำว่า “จิต” หมายความว่ากล่าวถึงธรรมชนิดหนึ่งซึ่งสามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น ขณะนี้เสียงปรากฏ ถ้าไม่มีจิตที่ได้ยินเสียง เสียงจะปรากฏได้ไหม ถ้าไม่มีจิตได้ยิน เสียงจะปรากฏได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ใช้หูฟัง

    ท่านอาจารย์ หูทุกหูไม่ได้ยิน ไม่ว่าหูไหน ทุกคนก็มีหูคนละ ๒ ข้าง หูไหนก็ไม่ได้ยินทั้งสิ้น เพราะว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่างใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดจริง แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้ เช่น ลักษณะที่แข็ง เกิดเป็นแข็ง เปลี่ยนแข็งให้เป็นหวานไม่ได้ ให้เป็นเสียงไม่ได้ แข็งเกิดเป็นแข็งแล้วดับไป เสียงเกิดเป็นเสียง ปรากฏแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิด แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เดี๋ยวนี้ จะไม่เรียกคำอะไรก็ได้ทั้งนั้น มีจริงๆ แข็งไม่ต้องเรียกว่าแข็งก็ได้ ไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาอะไร แข็งก็เป็นแข็ง เปลี่ยนไม่ได้ แต่ที่ใช้คำเพื่อให้รู้ว่า หมายถึงสภาพธรรมอะไร เพราะฉะนั้น ในขณะที่แข็งปรากฏ เมื่อรู้ลักษณะที่แข็งขณะที่กำลังสัมผัสกาย ถ้าแข็งนั้นไม่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งมีปสาทที่สามารถกระทบกับลักษณะที่แข็งได้ แข็งปรากฏไม่ได้ อย่างแว่นตากับเก้าอี้ เก้าอี้ไม่รู้ว่ามีแว่นตาวางอยู่บนเก้าอี้ แว่นตาก็ไม่รู้ว่า แว่นตาวางอยู่บนเก้าอี้ด้วย ไม่มีสภาพรู้ใดๆ แต่ธรรมไม่ได้มีเฉพาะธาตุซึ่งไม่รู้อะไร เกิดขึ้นแล้วก็ไม่รู้อะไร แต่มีลักษณะต่างๆ กันไปตามประเภทของธาตุนั้นๆ ยังมีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ทุกขณะที่ธาตุนี้เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด มีสิ่งที่ปรากฏให้ธาตุนั้นรู้ ถ้าไม่มีเสียง ธาตุได้ยินเสียงเกิดไม่ได้ เสียงเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งสามารถกระทบกับโสตปสาท ตอนนี้ค่ะ เป็นแต่เพียงรูปที่สามารถกระทบกับเสียง แต่ไม่ได้ยิน ขึ้นชื่อว่าเป็นรูปธรรมแล้วไม่สามารถจะรู้อะไรได้ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น หูไม่ได้ยิน ตาไม่เห็น กายเป็นรูปที่ไม่สามารถจะรู้สิ่งที่มากระทบได้ แต่มีธาตุหรือธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นสามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายถ้าไม่มีธาตุชนิดนี้ ซึ่งเราใช้คำว่า “นามธาตุ” ได้แก่จิต และเจตสิก จิตไม่ใช่เจตสิก เจตสิกไม่ใช่จิต จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก จิตเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีเจตสิก เจตสิกก็เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีจิต นี่เรากำลังจะเรียนถึงสิ่งที่มีในโลกทุกโลก และเป็นปัจจัยซึ่งอาศัยกัน และกันทำให้เกิดความเป็นไปต่างๆ เช่น เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เพราะฉะนั้น ในขณะใดก็ตามซึ่งธาตุรู้เกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้

    เพราะฉะนั้นเวลาบอกว่า อารมณ์ ภาษาบาลี คือ อารัมมณะ ต้องออกเสียงตัวสุดท้ายด้วย หรือบางครั้งก็ใช้ อารัมพณะ จริงๆ แล้วแปลโดยศัพท์หมายความว่า สภาพเป็นที่ยินดีของจิต ฟังดูเหมือนจะผิด แต่ความจริงจิตไม่ไปไหน ไปสู่อารมณ์หรือรู้เฉพาะอารมณ์ จึงได้กล่าวว่า อารมณ์นั้นเป็นที่ยินดีของจิต เพราะจิตไม่ได้สนใจหรือไปสู่อย่างอื่นนอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏที่จิตเกิดขึ้นรู้ และก็ดับไป เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามกำลังเห็นเป็นจิต ไม่ใช่เรา ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็นกำลังปรากฏให้เห็น สิ่งที่ถูกเห็นหรือปรากฏให้เห็นเป็นอารมณ์ของจิตเห็น ขณะนี้เสียงปรากฏ เสียงเป็นรูปธรรม ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่สภาพที่ได้ยินเสียง มีไหม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า อารมณ์ เป็นที่ยินดีของจิต

    ท่านอาจารย์ นั่นแปลโดยศัพท์ แต่อารมณ์เป็นสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้น ถ้าโดยความหมาย ซึ่งต้องเข้าใจความหมายด้วย เป็นที่ยินดีของจิต หมายความว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นอารมณ์ จิตรู้สิ่งนั้น จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต อย่างเสียงปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพได้ยิน เสียงปรากฏไม่ได้ แม้เสียงมี แต่ถ้าจิตได้ยินไม่เกิด เสียงก็ไม่ปรากฏ เกิดแล้วก็ดับไปโดยไม่เป็นอารมณ์ของจิต แต่ขณะใดก็ตามที่เสียงปรากฏไม่ว่ากับใคร เมื่อไร จริงๆ แล้วไม่มีใครนอกจากธาตุที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง นี่คือธรรม

    ผู้ฟัง แล้วคนที่หูหนวกล่ะคะ จะไม่ได้ยินเสียง แต่เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แสดงว่าธรรมไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ คนหูหนวกจะให้ได้ยิน เป็นไปไม่ได้ เพราะจิตได้ยินต้องมีปัจจัยเกิดขึ้นได้ยิน ใครไปทำให้จิตได้ยินเกิดก็ไม่ได้ ถูกต้องไหม ลองทำให้จิตได้ยินเกิดสิคะ นักวิทยาศาสตร์คนไหนสามารถทำให้จิตได้ยินเกิดได้ ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเหตุว่าธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนั้นเกิดไม่ได้ อย่างที่ว่า วันนี้อารมณ์ดี ก็หมายความว่าเห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ ถูกใจ เสียงก็เพราะ กลิ่นก็ดี รสก็ดี คิดนึกเรื่องดีๆ วันนั้นอารมณ์ดี แต่ถ้าตรงกันข้ามก็อารมณ์ไม่ดี

    เพราะฉะนั้น เราใช้คำภาษาบาลี โดยไม่เข้าใจความหมายจริงๆ ของคำ เราเพียงจับปลายเหตุมา บอกว่าวันนี้อารมณ์ดี แต่ถ้าไม่เห็นสิ่งที่ดีน่าพอใจ เสียงที่ดี กลิ่นที่ดี แล้วอารมณ์จะดีได้อย่างไร ในภาษาไทย แต่ความหมายดั้งเดิม ต้นตอคือสิ่งที่จิตรู้ ถ้าไม่มีจิตรู้ จะกล่าวว่า อารมณ์ดีไม่ได้ เพราะว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่จิตรู้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ก็ศึกษาเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงให้ถูกต้อง ไม่ใช่ความคิดของเรา ซึ่งเอาภาษาหนึ่งมาใช้ผิดๆ ถูกๆ แล้วเข้าใจว่าถูกต้อง แต่ถ้าจะศึกษาธรรมก็ต้องทราบว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมด้วยภาษาอะไร แล้วภาษานั้นหมายถึงธรรมอะไรด้วย ต้องหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ถ้าสิ่งที่ไม่มีจริงจะพูดทำไม เสียเวลา ไม่มีใครสามารถรู้ได้ เข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ทุกคำ ไตร่ตรองแล้วค่อยๆ เข้าใจว่า จริงหรือไม่

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็สรุปว่า การที่เราจะเห็นสิ่งดีงามหรือได้ยินเสียงเพราะหรือไม่เพราะ หรือสัมผัสทุกๆ อย่าง ก็ขึ้นอยู่กับจิตใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นกุศล อกุศลซึ่งเป็นเหตุก็มี กุศลจิต และอกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิดจิตที่เป็นผล คือวิบากจิตสุกงอมพร้อมที่จะเห็นเมื่อไร ได้ยินเมื่อไร ได้กลิ่นเมื่อไร ลิ้มรสอะไร รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย บังคับไม่ได้ว่าเมื่อไร เป็นไปตามกรรมแล้วแต่กรรมนั้นจะให้ผลเมื่อไร

    เข้าใจขึ้นในเรื่องกรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจ มาเพื่อจะขัดเกลาจิตเหมือนกัน ขอบคุณ

    ผู้ฟัง จิตเกิดดับเร็วมากใช่ไหมคะ ดังนั้นเวลาเห็นจะต้องไม่ได้ยิน ต้องไม่ได้กลิ่นใช่ไหมคะ ทีนี้เราเห็นได้ยินติดกันไปหมด

    ท่านอาจารย์ เพราะความเร็วมาก จนกระทั่งไม่รู้ว่า ขณะนี้ดับไปหมดแล้วก็เกิดสืบต่อทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น สิ่งที่เกิดดับเร็วเหมือนสิ่งนั้นไม่เปลี่ยน ใช่ไหม แต่ความจริงเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีระหว่างคั่น ทำให้ดูเสมือนว่า ไม่ได้ดับไป แต่เมื่อจิตเห็นไม่ใช่จิตได้ยิน ก็แสดงว่าจิตเห็นต้องดับก่อน

    ผู้ฟัง ตรงนี้ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็น เพราะต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว ไม่ใช่พอได้ยินก็เห็น อย่างนั้นไม่ใช่ แต่เริ่มเข้าใจ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และควรจะรู้ด้วยว่า อะไรถูก อะไรผิด มิฉะนั้นก็จะขาดความละเอียด ที่บอกว่า ศึกษาธรรมเพื่อจะเข้าใจธรรม ถูก แต่ที่บอกว่าจะได้เอาไปใช้ ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง คือต้องเข้าใจในระดับหนึ่งก่อนถึงจะเอาไปใช้ได้ ไม่อย่างนั้นก็คงเอาไปใช้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะถ้าเป็นวิชาอื่น ทุกคนเรียนหวังว่าจะได้ประโยชน์จากวิชานั้น แล้วบางคนศึกษาธรรมแม้เล็กๆ น้อย เพื่อหวังจะเป็นคนดี ที่เรียนเพราะเหตุว่าเพราะรู้ว่าไม่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดงพระธรรม แล้วเราก็ไม่ได้ศึกษาพระธรรม และเราควรเข้าใจสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถแสดงได้ ครูบาอาจารย์นักวิทยาศาสตร์หรือใครก็ตามที่เป็นผู้รู้ทั้งหลาย ซึ่งคนอื่นอาจจะคิดว่า มีความสามารถ มีความรู้มากๆ แต่ก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงต้องเหนือบุคคลอื่นใดทั้งสิ้น เพราะจากการตรัสรู้ความจริงซึ่งไม่ผิด เมื่อตรัสรู้ไม่ผิด เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงคิด แล้วก็ประมวล แล้วก็คาดคะเนตามวิชาการต่างๆ โดยไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งควรรู้ยิ่ง เพราะกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาหรือความรู้จริง ไม่ใช่เพียงไปรู้เรื่องราวของต้นไม้ หรือพืชพันธ์ธัญญาหาร การทำอาหาร หรือการก่อสร้าง ในเมื่อยังไม่สามารถรู้ว่า ขณะนี้อะไรจริง เดี๋ยวนี้ที่มีจริงๆ ก็ข้ามไปเป็นความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง เพราะว่าไม่ได้บำเพ็ญบารมีมาที่สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ เรียนเพื่อเข้าใจ เพื่อละความไม่รู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อตัวเรา จะได้เป็นคนดี จะได้ขึ้นสวรรค์ หรือจะได้เป็นที่รักของคนนั้นคนนี้ หรืออะไร ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เพราะรู้ว่าไม่รู้ จึงเรียน เพราะฉะนั้นการเรียน เรียนด้วยความเคารพสูงสุด คือเป็นผู้ไม่ประมาท แล้วก็รอบคอบ แล้วก็เข้าใจแม้แต่ๆ ละคำ ไม่คิดเอง และไม่เข้าใจเผิน อย่างคำว่า “ธรรม” ทุกคนก็ได้ยิน คนไทยก็ได้ยิน คุณธรรม ยุติธรรม อะไรต่างๆ ที่มีคำว่า “ธรรม” ทั้งหลาย แต่ธรรมคืออะไร ก็ไม่รู้ เพียงแต่ได้ยิน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดมาแล้วไม่รู้ทั้งหมด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อให้ผู้นั้นสามารถรู้ถูก เข้าใจถูก ไม่ใช่เพียงเกิดมาแล้วอยู่ไป สุข ทุกข์ เดี๋ยวก็ชังกัน เดี๋ยวก็ทำร้ายกัน และจากโลกนี้ไปโดยไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะรู้จากพระธรรมที่ทรงแสดง ลึกซึ้ง และละเอียดด้วย เป็นการขัดเกลาความไม่รู้ ซึ่งเป็นต้นเหตุของอกุศลธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น เรียนโดยไม่ใช่หวังผลเล็กๆ น้อยๆ เรียนแล้วสบายใจดี ก็ไม่ใช่ ทั้งๆ ที่สบายใจ แต่ไม่ใช่เพื่อความสบายใจ แต่เพื่อเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ สิ่งนี้ก็สามารถทำให้เข้าใจธรรม เพราะว่าเรียนเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เรียนเพื่อไปประกอบกับวิชานั้นวิชานี้ หรือจะไปเขียนตำรา หรืออะไรอย่างนั้น แต่เรียนเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง นี่เริ่มจะรู้ความจริงแต่ละขณะๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย จะรู้ว่าตรงตามที่ทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา อัตตาคือสิ่งที่เราเข้าใจว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เป็นโต๊ะ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเก้าอี้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ธรรมไม่ใช่อย่างนั้น ธรรมเป็นอนัตตา ไม่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย มีจริงๆ เมื่อเกิดแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด ขณะนี้ทั้งหมดที่เกิด ปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด แม้ว่าจะมีปัจจัยที่จะทำให้ได้ยิน มีปัจจัยทำให้เห็น เพราะเหตุว่าเกิดมาก็มีตาสำหรับทำให้เกิดการเห็น มีโสตปสาทสำหรับทำให้เกิดการได้ยิน แต่ขณะใดที่ยังไม่ได้ยิน แม้ว่ามีปัจจัย สิ่งนั้นยังไม่ได้เกิด

    เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ ใช้คำว่า “สังขต” ปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด เดี๋ยวนี้ ถ้าได้ยินคำว่า “สังขต” หรือ “สังขาร” เมื่อไร ก็จะได้เข้าใจความหมายที่ใกล้กันแค่ต่างกัน คือ สังขารธรรมก็เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีปัจจัย ก็เกิดไม่ได้ อย่างได้ยิน ถ้าไม่มีโสตปสาท ไม่มีเสียง ได้ยินก็เกิดไม่ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ก.ย. 2567