พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 566


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๖๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุให้ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา สิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง เพื่อเกื้อกูล เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ฟังระลึกถึงพระมหากรุณาตั้งแต่เริ่มทรงบำเพ็ญความเพียรอย่างยิ่งยวดที่ทำให้สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมเพื่ออุปการะเกื้อกูลบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ของคนอื่นจริงๆ เพราะว่าพระองค์ดับกิเลสหมดแล้ว แต่คนอื่นยังมีกิเลสอยู่

    เพราะฉะนั้น พระมหากรุณาก็เห็นโทษของบุคคลที่ยังมีกิเลสมากๆ ก็ทรงอนุเคราะห์เพื่อประโยชน์ของเขา เพื่อให้เขาได้มีปัญญาที่สามารถเจริญขึ้นทางฝ่ายกุศล ถ้าเพียงพูดนิดๆ หน่อยๆ เขาก็ไม่เห็น แต่ถ้าทรงแสดงธรรมโดยนัยต่างๆ โดยประการทั้งปวง และผู้ฟังในขณะที่ฟัง คิดว่าที่ได้ฟังมาจากการบำเพ็ญเพียรของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็จะแข็งเหมือนเดิม ไม่อ่อน ไม่ควรแก่การงานทางฝ่ายกุศล ประโยชน์อะไรของการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรที่ได้อนุเคราะห์สัตว์โลก และเราก็เป็นบุคคลหนึ่งซึ่งมีโอกาสได้ฟัง ฟังแล้วเห็นค่าของแม้แต่พระธรรม แม้แต่การที่บำเพ็ญพระบารมีเพื่อบุคคลที่มีโอกาสได้ฟัง แล้วยังเหมือนเดิม คิดดูนะ ก็ยังเหมือนเดิม แต่ถ้าเห็นพระมหากรุณามากขึ้น คิดที่จะตอบแทน หรือบูชาพระคุณด้วยอะไร ถ้าบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน ด้วยเงินทอง อาหาร ทานทั้งหลาย ก็ยังไม่เหมือนการประพฤติปฏิบัติตามขัดเกลายิ่งขึ้น แม้แต่ในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของความสงบ ในเรื่องของปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าถ้าเทียบทานมากมายสักเท่าไร ก็ไม่เท่ากับศีล เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นไม่สามารถจะสละอกุศลที่ทำให้มีความประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจเป็นไปอย่างเดิม เพียงแต่สะสมทานุปนิสัยในการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นง่าย แต่ธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก ถ้าพิจารณาดูพฤติกรรมซึ่งส่องไปถึงใจจริงๆ จะรู้ว่า ขณะที่ช่วยนั้นๆ ด้วยกุศลจิต หรือด้วยอกุศลจิต เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความเมตตาจริงๆ เสมอกันไหม เป็นผู้ชอบพอคุ้นเคย หรือเป็นผู้ที่ไม่ถูกกัน ชัง ไม่สนิทสนมไม่คุ้นเคย ถ้าอย่างนั้นก็คือว่า เป็นอะไร ที่คิดว่ามีเมตตา มีความกรุณา แต่จริงๆ แล้วก็ยังเป็นผู้ที่ยังไม่ใช่เมตตาจริงๆ ถ้าเมตตาจริงๆ ต้องเสมอกันหมด

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นเมตตาจริงๆ ผู้นั้นก็รู้ว่า มีอะไรเจือปนอยู่ หรือไม่ และหลงเข้าใจว่า เป็นผู้มีกรุณา แต่ก็ยังมีกิเลส ซึ่งยังไม่ถึงระดับขั้นที่สามารถที่จะ ทานเป็นเรื่องง่าย ถ้ามีทรัพย์สิน หรือสะสมอุปนิสัยที่จะให้ทานเป็นอัธยาศัย ให้ไม่ยาก แต่ศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจา การวิรัติ หรือความเมตตา มีบ้างไหม

    นี่แสดงให้เห็นว่า กว่าจะถึงการเห็นประโยชน์ชองธรรมแต่ละขั้น เพราะว่าบางคนเห็นประโยชน์เพียงแค่ขั้นทาน แต่เรื่องของวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจด้วย ไม่มี เพราะไม่ละเอียดพอ นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัญญาสามารถรู้ตามความจริงว่า เป็นธรรม ก็จะทำให้ตรงต่อธรรมได้ แต่ถ้ายังเห็นว่า เป็นธรรม ก็ตรงต่อธรรมไม่ได้ เรื่องขัดเกลาจะมีอีกมากมายเหลือเกิน ซึ่งต้องเป็นไปกับปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาจะเอาอะไรขัดเกลากิเลส โดยเฉพาะอนุสัยกิเลส สะสมมานานแสนนาน ติดแน่น ฟังธรรมแล้ว ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีทางที่จะค่อยๆ คลายอกุศลลงไปได้

    ผู้ฟัง อย่างนั้นแสดงว่า ผู้ที่มาศึกษาธรรม ก็จะต้องมีเป้าหมาย มีวัตถุประสงค์ว่า มาศึกษาเพื่ออะไร ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ เพราะฉะนั้น สำรวจ หรือยังว่า ที่มาฟังวันนี้ ฟังเพื่ออะไร หรือฟังเพราะอยากได้ยินได้ฟังธรรม แต่ว่าไม่พร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เพียงแค่อยากฟังว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอะไร แต่ว่าใจในขณะที่ฟังอ่อนโยนเป็นกุศล น้อมไปที่จะเห็นพระคุณ และคิดที่จะขัดเกลากิเลส ไม่ใช่เพิ่มกิเลส บางคนฟังแล้วเราทำอะไรบ้าง ทำทานเท่าไร มาแล้ว ก็เป็นไปได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง บางท่านจะตั้งสูงไป หรือไม่ว่า จะพ้นวัฏฏะ

    ท่านอาจารย์ วัฏฏะคืออะไรก่อน

    ผู้ฟัง คือการเวียนว่ายตายเกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะพ้นอย่างไร

    ผู้ฟัง ศึกษาไปเรื่อยๆ ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจวัฏฏะจริงๆ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้เป็นวัฏฏะ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นค่ะ เพราะมีการเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ และเดี๋ยวนี้เป็นวัฏฏะประเภทไหน กำลังฟังธรรม วัฏฏะ หมายความถึงสภาพธรรม ที่เกิดดับสืบต่อไม่หยุดเลย ธรรมที่เกิดดับสืบต่อหลากหลายมาก กุศลก็มี อกุศลก็มี เป็นวัฏฏะทั้งนั้น ไม่ใช่อกุศลเท่านั้นเป็นวัฏฏะ หรือกุศลเท่านั้นเป็นวัฏฏะ ทุกอย่าง ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ว่าจะในโลกนี้ บนสวรรค์ โลกในกามภูมิ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เทวโลก พรหมโลก อรูปพรหมโลก ก็ตามแต่ โลก หรือวัฏฏะ หรือธรรม หรือสักกายะที่เราพูดถึงเมื่อวานนี้ ก็หมายความถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเข้าใจว่า เป็นของเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยทิฏฐิ หรือด้วยมานะ หรือด้วยโลภะ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังเห็นความละเอียดยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น ฟังเพื่ออะไร ฟังเพื่อเข้าใจพระธรรมนี่แน่นอน แต่เข้าใจเพื่ออะไร เพื่อไม่ประพฤติปฏิบัติตาม หรือเพื่อเห็นประโยชน์ และเห็นพระคุณ ทุกครั้งที่ฟัง แต่ละคำที่ทำให้เราได้เข้าใจ ใครเป็นผู้บำเพ็ญพระบารมี เราไม่สามารถจะถึงระดับนั้นได้ แต่เห็นพระคุณของผู้ที่สามารถเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระมหากรุณา

    ผู้ฟัง แต่เราก็สะสมไปได้ เราก็สร้างเหตุที่ดี

    ท่านอาจารย์ ดีนี่ถึงไหน ไม่ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ถึง

    ผู้ฟัง ถ้าจะเริ่มต้นใหม่ จะต้องเริ่มต้นที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ถูกต้อง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องเตรียมว่าเราจะทำอะไร แต่หมายความว่า เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง สะสมความเข้าใจ ไม่ต้องคิดถึงสติปัฏฐาน ไม่ต้องคิดถึงการรู้แจ้งสภาพธรรม หรือรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตราบใดที่ยังไม่ได้เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ฟังแล้ว ทุกคนเข้าใจว่ามีจิต รู้จักจิต หรือยัง ก็ยังไม่รู้จัก

    นี่คือเข้าใจถูก สะสมความเข้าใจถูกนี้จนกระทั่งรู้ว่า ขณะไหนเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมก็ต้องมี ฟังมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ก็ไม่เพียงเข้าใจชื่อ หรือเรื่องราว แต่ก็สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่ได้หมายความว่า เราได้ แต่มีปัจจัยที่จะค่อยๆ รู้ แล้วก็หายไปอีกนาน แล้วแต่ปัจจัย หวังเมื่อไรยิ่งช้าไปเมื่อนั้น

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะละโลภะ คือ ความเข้าใจ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ มุ่งที่ความเข้าใจ และไม่ต้องกังวลว่า แล้วเมื่อไรจะรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะว่ายังรู้ไม่ได้ ตราบใดที่เข้าใจเพียงเล็กน้อย

    ผู้ฟัง จากการศึกษา การจะเข้าใจว่าขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องเข้าใจอย่างนั้น ฟังให้เข้าใจว่า ขณะนี้มีธรรมที่ปรากฏ แล้วเป็นผู้ตรงว่า เข้าใจจริงในลักษณะนั้น หรือยัง ถ้ายัง ก็ฟังต่อไปอีกให้เข้าใจขึ้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเข้าใจเพิ่มขึ้น ขณะที่เข้าใจเพิ่มขึ้นก็ละความไม่รู้ และละความไม่เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง เมื่อเวลาธรรมจริงๆ ปรากฏทีละอย่าง ทีละขณะ ก็ไม่รู้ความจริงก็เหมือนกับเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมแล้วก็มาคิดถึงตัวเองอีกแล้ว ฟังธรรม เข้าใจธรรมแล้ว หมดแล้ว แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏ หลงลืมสติเพราะขณะนั้นไม่ได้ฟัง โอกาสที่จะฟังอีก คงมี วันหนึ่งๆ หลายครั้งเหมือนกันถ้าสนใจ หรือมีโอกาสฟังได้ แล้วขณะที่กำลังฟังนั้นก็เข้าใจอีก ทีละเล็กทีละน้อย สะสมไป ก็คือเข้าใจธรรม ไม่ใช่ฟังแล้ว เราจะตั้งต้นอย่างไร หรือเมื่อไร ฟังแล้วมาคิดถึงเรา โดยไม่ได้คิดว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง อยากจะร่วมสนทนาตรงที่ท่านอาจารย์บอกว่า เมื่อเราหลงลืมสติ เพราะช่วงเวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม จะหลงลืมสติ ก็คิดว่า จริงๆ แล้ว เมื่อละเว้นจากการฟัง สติ หรือจิตที่จะเกิดเมตตา ไม่ได้เกิดทุกขณะ ก็รู้สึกละอายเหมือนกันว่า ขนาดเราฟังธรรมทุกวันๆ แล้ว พอมีเหตุการณ์ หรือปัจจัยทำให้โกรธขึ้นมา เราก็หลงลืมสติ มาคิดอีกทีว่า เราคงสะสมความโกรธ หรือโทสะมาเยอะมาก แม้เมื่อคืนที่ฝัน ก็ยังเป็นโทสะว่าคนโน้น คนนี้อยู่

    ท่านอาจารย์ จะเห็นได้ว่า เมื่อวานนี้ก็หมดไปแล้ว แต่ว่าระหว่างนั้น คิดแต่ว่า ทำไมเราไม่เกิดกุศล เพราะฟังธรรมมานาน ไม่มีขณะที่คิดว่า นี่เป็นธรรม ต่างกันไหม คิดแต่ว่า ทำไมเราโกรธ ทำไมเราไม่เกิดกุศล ทำไมเราพูดอย่างนี้ ทำไมเราทำอย่างนี้ แต่ไม่มีสักขณะเดียวที่จะเกิดคิดว่า แม้ขณะนี้เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แต่ละคนฟังนานเท่าไร ไม่ใช่เฉพาะคุณนฤภัค ใครก็ตามที่จะเกิดระลึกว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพนั้นจริงๆ แม้เพียงจะคิดถึงก็ไม่มี ใช่ไหม ก็เหมือนเดิม คือคิดถึงตัวเองแล้วคิดถึงคนงาน คิดถึงเด็ก ก็คิดไปอย่างนี้ แต่กว่าจะสะสมจนกระทั่งเป็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ ซึ่งเป็นอนัตตา แล้ววันไหนใครเริ่มระลึกได้ว่า เป็นธรรม ก็แค่นี้ แต่ยังไม่ถึงขณะที่ระลึกแล้วรู้ลักษณะที่เป็นธรรม ก็เพิ่มการเจริญขึ้นของปัญญาอีก

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เราบังคับบัญชาอะไรไม่ได้ ที่ถูกต้อง คือ เมื่อฟังแล้ว ควรจะรู้ว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรม ก็ไม่ได้รู้อย่างนั้น แม้จะมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร ควรแม้เพียงระลึกว่า เป็นธรรม ไม่มีใคร มีสิ่งที่ปรากฏ มีลักษณะของโทสะ มีเมตตา หรือจะทำอะไรก็ตาม ให้เงินไปซื้ออาหารกลางวัน ก็เป็นธรรม แล้วธรรมก็สั้นมาก เพียงแค่ระลึกดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ลักษณะจริงๆ ว่า ขณะนั้นสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมอะไร ต้องด้วยปัญญา เพราะไม่ใช่นึกถึงชื่อว่าเป็นธรรม แม้เพียงคิดยังไม่คิด แล้วจะไปรู้ลักษณะที่เป็นธรรมเมื่อไร

    เพราะฉะนั้น การฟัง ไม่ใช่ให้เรามาน้อมคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่หมดไปแล้ว นั่นคือหมดไปแล้ว แต่เดี๋ยวนี้กำลังฟังธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรเข้าใจจริงๆ คือ ขณะนี้ไม่ว่าอะไรทั้งหมดที่ปรากฏ แม้ขั้นเข้าใจ ก็คือเป็นธรรม สะสมความเข้าใจว่า สิ่งที่มีเป็นธรรม คือมีจริงๆ ไม่ต้องไปนึกถึงชื่อว่าเป็นธรรม แต่เริ่มเข้าไปถึงลักษณะที่ต่างกันหลากหลายของสิ่งที่ปรากฏแต่ละทางว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง แม้ไม่ต้องเอ่ยชื่อ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ก็จะเห็นได้ว่า นี่เป็นเพียงขั้นเริ่มต้น ยังต้องอีกมากนักกว่าที่จะละความติดข้อง หรือต้องการทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏแล้ว เพราะคุณนฤภัคพูดถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว กับสิ่งที่เมื่อไรจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่กำลังปรากฏไม่ได้พูดถึง แล้วไม่ได้รู้ด้วยว่า ขณะนี้แม้ลักษณะสักอย่างเดียวที่ปรากฏก็เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง ขณะที่โทสะเกิด ถ้าเรามีสติระลึกรู้ว่า นี่เป็นโทสมูลจิต แล้วเราก็พิจารณาดูว่า ไม่ควรกล่าววาจาดุ หรือว่ากล่าวคนอื่น การที่มีเราสติพิจารณาว่า นี่ไม่ใช่ตัวเราเป็นโทสะที่ไม่เป็นตัวตน แล้วเราก็เจริญเมตตา เช่นนี้จะเป็นสติปัฏฐาน ที่เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คำถามคงอยากทราบว่า ขณะนั้นเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือไม่ เพราะว่าใช้คำนี้

    เวลาที่โทสะเกิด รู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ว่า ขณะนั้นจิตเป็นโทสะแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เรามีจิตเป็นโทสะ ขณะนั้นจริงๆ แล้วมีจิตแน่ โทสะก็มีด้วย ขณะนั้นรู้ลักษณะของจิต หรือไม่ โทสะก็มี รู้ลักษณะของโทสะ หรือไม่ เพราะฉะนั้น ต้องแยก โทสะไม่ใช่จิต และจิตไม่ใช่โทสะ ขณะที่บอกว่า เรามีโทสะจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นรู้ลักษณะของจิต หรือไม่ ตอบคำถามที่ว่า เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือไม่ ขณะนั้นรู้ลักษณะของจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะนั้นรู้ว่า

    ท่านอาจารย์ รู้ว่า ไม่ใช่รู้จิต เพียงแต่นึกถึง ทุกคนมีโลภะเกิดขึ้น เวลาสนุกสนานก็รู้ว่า สนุกมากไม่ได้คิดเป็นคำออกมาว่า เราสนุก ไม่รู้ว่าสภาพที่สนุกนั้นไม่ใช่เรา แต่มีลักษณะต่างจากสภาพธรรมอื่น เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใด ต้องรู้ว่า มีความเข้าใจเรื่องของธรรมที่เป็นอนัตตา เพียงนิดเดียวที่ทำ หรือหวัง ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นเราที่พยายามเจาะจงจะให้เป็น พยายามให้เป็น แต่ไม่ใช่

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานหมายความว่า มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปพูดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เพราะว่าจิตมีทุกขณะ ขณะไหนก็มีจิตทั้งนั้น ถ้าขณะนั้นไม่เข้าใจ ขณะนี้จะเข้าใจไหม หรือถ้าขณะนี้สามารถเข้าใจถึงสภาพที่เป็นจิตจริงๆ ขณะใดที่เป็นจิตเกิด ก็ไม่มีความสงสัยในลักษณะของจิต

    เพราะฉะนั้น เวลาที่โทสะเกิดขึ้น ทุกคนบอกได้เลยว่า กำลังโกรธ เรียกชื่อได้ด้วยว่า โทสะ พออร่อยก็บอกว่า โลภะ เรียกชื่อได้อีกเหมือนกัน เรียกได้ทุกชื่อเพราะจำชื่อได้ แต่ไม่เรียกชื่อ สภาพนั้นๆ ก็เกิดแล้ว แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ความไม่รู้มีมากมาย หลงเข้าใจ หรือสงสัยว่า เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือไม่ ไม่ใช่ความรู้ ปัญญารู้ ไม่ใช่ปัญญาคือความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้รู้ลักษณะของจิต ไม่ต้องเป็นโทสะ จิตอะไรก็ได้ขณะนี้ต้องเป็นจิต เพราะจิตมีลักษณะอย่างเดียวทั้งหมด จะเปลี่ยนเป็นสภาพไม่รู้ไม่ได้ หรือจะเปลี่ยนเป็นเจตสิกก็ไม่ได้ เพราะเจตสิกเป็นเจตสิก จิตเป็นจิต

    เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่รู้ความต่างกันของสัมมาสติ ไม่ใช่เราพยายามจะมีสติ แต่สัมมาสติคือสภาพที่เกิด แล้วทำไมไประลึกที่ลักษณะที่เป็นธรรม ถ้าไม่เข้าใจว่า เป็นธรรมมาก่อนอย่างมั่นคง ไม่ใช่เพียงนึกว่าเข้าใจธรรม แต่ในขณะนี้กำลังฟังธรรม และเข้าใจลักษณะที่ต่างกัน ขณะใดเป็นสภาพรู้ และขณะใดที่ไม่ใช่สภาพรู้ มีลักษณะที่ต่างกันปรากฏ แม้ฟังก็สามารถเข้าใจสิ่งที่ปรากฏในขั้นฟังเข้าใจ แต่ถ้าเป็นขั้นสติสัมปชัญญะ หมายความว่ามีปัจจัยที่เกิดระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่ต้องเรียกชื่อ เพราะลักษณะนั้นปรากฏแล้ว แต่กำลังนึกถึงชื่อ ขณะนั้นไม่ใช่รู้ลักษณะที่เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น การที่ใครจะบอกว่า เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือไม่ หรือเป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ เชื่อที่เขาบอก หรือ หรือต้องเป็นความเข้าใจของเราอย่างถูกต้อง มั่นคงว่า เราเข้าใจสภาพธรรมขณะนี้แม้ในขั้นการฟัง แล้วมีสภาพธรรมปรากฏพอ หรือยัง พอ คือไม่ต้องหวังว่าสติปัฏฐานจะเกิด แต่ถ้าไม่พอ หวังแล้วใช่ไหมคะว่า เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด นั่นคือไม่พอที่จะรู้ในความเป็นอนัตตาของธรรม ไม่พอที่จะคลายความต้องการ หรือความอยากจะให้สติปัฏฐานเกิด ไม่คลายความหวังว่า ที่เกิดเป็นปัญญาขั้นสติปัฏฐาน หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของความสงสัย ไม่ใช่เรื่องของการละคลายความไม่รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อรู้ และเข้าใจ และความรู้ความเข้าใจต่างหากที่ละความไม่รู้ ขณะไหนที่รู้ ขณะนั้นก็ละความไม่รู้ ไม่ได้สังเกตว่า ละไปเท่าไร เหมือนจับด้ามมีด แต่ว่าเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่าปัญญาจากการฟัง จะนำไปสู่การดับอนุสัยกิเลส ไม่ใช่พอโทสะเกิด ก็ไม่อยากให้มีโทสะ หรือรีบๆ ระลึกรู้ จะได้เป็นสติปัฏฐาน หรืออะไรอย่างนั้น ไม่ใช่ เป็นเรื่องละโดยตลอด และเป็นเรื่องละเอียดมาก ถ้าเป็นเรื่องที่รู้ว่า เข้าใจ และความเข้าใจนั้นก็ไม่ใช่เรา และความเข้าใจนั้นก็จะสะสมเพิ่มขึ้น แล้วสามารถเข้าใจจนกระทั่งเข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏ แม้ไม่ต้องใช้คำว่า สติปัฏฐาน ใช้คำนี้ได้ไหมว่า เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ หรือ ก็เพียงแต่ฟัง แล้วก็นึกถึงชื่อ นึกถึงเรื่องราว แต่ขณะใดไม่ใช่เพียงฟังเข้าใจเรื่องราว แล้วก็รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมกำลังปรากฏ และเริ่มที่ขณะนั้นไม่ได้นึกถึงอย่างอื่น มีธรรมที่ปรากฏเฉพาะหน้า แล้วกำลังเริ่มเข้าใจลักษณะนั้นตามที่ได้ฟัง แม้เพียงทีละเล็กทีละน้อย ขณะนั้นต่างกับขณะที่ฟังเข้าใจ แต่ไม่ได้เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า เพราะขณะนั้นไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่น กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    นี่คือสามารถเข้าใจคำว่า “สติปัฏฐาน” เมื่อได้ยินคำว่า สติปัฏฐาน แต่ถ้าเป็นการศึกษาโดยไม่เข้าใจ ได้ยินคำว่าสติปัฏฐานแล้วก็ไม่รู้ว่า สติปัฏฐานเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็สงสัยว่า ใช่สติปัฏฐาน หรือไม่ หรือเป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ เข้าใจต่างกัน เข้าใจเรื่องราวที่ได้ฟัง แม้ว่ามีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ก็ไม่ได้มีสภาพนั้นเฉพาะหน้า เฉพาะหน้าคือไม่ลืมว่า เดี๋ยวนี้มีแต่สิ่งนี้ที่ปรากฏ มีแต่สิ่งนี้ที่ปรากฏ และกำลังเริ่มเข้าใจสิ่งนี้ที่ปรากฏจริงๆ ขณะนั้นใครพูดว่า สติปัฏฐาน ก็รู้ เพราะถ้าขยายความ หรือแปล ก็คือระลึก ไม่ใช่คิดเป็นคำ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567