พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 570


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๗๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กว่าจะหมดความสงสัยในสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แล้วก็ไม่ยึดถืออีกต่อไป ความรู้ต้องละเอียด จนกระทั่งสามารถรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้เป็นเพียงอาศัยระลึก เพราะพอระลึก ปัญญาก็รู้ว่าดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นอนัตตาทุกขณะ กำลังคิดอะไรอยู่ จุติจิตก็เกิดตายได้แล้วก็เกิดต่อ กำลังคิดกลัวอะไรหรือไม่

    ผู้ฟัง กำลังคิดน่ะกลัวแน่

    ท่านอาจารย์ กำลังพูดเดี๋ยวนี้ตายได้ทุกคน เพราะฉะนั้น ทุกคำจริง ความตายจะมาถึงเมื่อไร ไม่มีใครรู้ ต้องจริง ขณะไหนได้ทั้งสิ้น เพราะเป็นเรื่องของกรรมที่ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ แล้วพอจุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันที กลัวเกิดหรือไม่

    ผู้ฟัง ยังไม่ทันทำอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ ก็คือความเป็นไปของธาตุ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ที่ใช้คำว่า “ธรรม” ก็คือธาตุเป็นอย่างนี้ เกิดแล้วต้องเป็นไป ต้องมีการเห็น การได้ยิน การคิดนึก มีสุข มีทุกข์ แล้วก็จากโลกนี้ไป แล้วก็เกิดอีก ก็เป็นธรรมดาของธาตุซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นอกจากปัญญาที่รู้ความจริง จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้

    ถ้าเข้าใจว่า อนัตตา ก็ต้องอนัตตาแม้ขณะจะตาย ก็ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้

    ผู้ฟัง ตัาเองก็เชื่อมั่นในกรรม และผลของกรรมจากการศึกษา แต่ทีนี้อยากจะทราบว่า ผู้ใดจะตายเมื่อไร มีอายุสั้น อายุยืน กรรมได้ลิขิตไว้แล้วใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ มีปัจจัยที่กรรมใดจะให้ผล กรรมนั้นก็สามารถทำให้วิบากจิตเกิดได้ เห็นแรงของกรรมหรือกำลังของกรรมไหม แม้แต่เห็นขณะนี้ กรรมก็ยังทำให้เกิดขึ้นเห็น เป็นจิตที่เกิดขึ้นเห็น คิดดู เป็นนามธรรม เป็นธาตุ แต่เจตนาก็เป็นธาตุ กรรม เจตนาที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยทำให้ผลเกิดขึ้น คือ จิตเห็นเกิด เพราะเจตนาที่ได้กระทำไว้แล้ว

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็แสดงให้เห็นว่า กรรมสามารถกระทำได้ทุกอย่าง ตายก็ได้ แล้วก็เกิด เกิดแล้วจะเห็น จะได้ยิน อะไรจะเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นเพราะกรรมทำให้เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็ไม่ต้องสงสัยเลย ก็ต้องเป็นผลของกรรมแน่นอน ตายขณะไหนเมื่อไร

    ท่านอาจารย์ แล้วตอนไม่ตายเป็นผลของกรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ตอนตายก็เป็นผลของกรรม ก็เป็นผลของกรรมทั้งนั้น

    ผู้ฟัง พระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสว่า ให้พระภิกษุเจริญสติปัฏฐานอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในธรรม นี่เฉพาะพระภิกษุหรือ คฤหัสถ์ด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ความหมายหนึ่งของภิกษุ คือ ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ ไม่จำกัดว่า เป็นเพศใด และการฟังธรรม ถ้าเราจะพิจารณาให้ละเอียดทุกคำ จะเป็นประโยชน์ เช่นเมื่อสักครู่พูดถึง ระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีปัจจัย จะเกิดระลึกได้หรือไม่ ไม่ใช่คำพูดง่ายๆ ว่า ระลึกถึงพระพุทธคุณ แต่ถ้าไม่มีปัจจัยพอที่จะระลึก แม้แต่ระลึกก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าเป็นคุณ ถ้าไม่รู้คุณ จะระลึกอย่างไร และจะรู้คุณได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจพระธรรม ก็ไม่มีทางระลึกถึงพระคุณได้

    ด้วยเหตุนี้การระลึกถึงพระคุณจะมีได้ต่อเมื่อเข้าใจธรรม และขณะใดที่เกิดระลึก ให้ทราบว่า ไม่ได้เตรียมตัวตั้งใจ ไม่ว่าจะคิดอะไรก็ตามทั้งหมดต้องตามปัจจัยขณะนั้นที่ทำให้เกิดคิดอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ธรรมดามีการรู้พระคุณมากแค่ไหนที่จะระลึกได้บ่อยๆ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงแต่นึกถึงคำ นึกถึงคำก็เหมือนเห็นพระพุทธรูป ก็ไม่เข้าใจอะไร แต่การระลึกถึงพระพุทธคุณได้ ขณะที่ฟังเข้าใจ เห็นพระคุณไหม เห็นพระคุณ คือ การระลึกถึงพระคุณ ขณะที่เห็นพระคุณ ก็คือขณะนั้นเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมที่กำลังฟัง จึงสามารถเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

    ที่ว่าไปไหน ไปกับการนมัสการพระพุทธเจ้า แต่ถึงไม่ไป แต่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ นมัสการพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมเมื่อไร เมื่อกำลังเข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจพระธรรมละเอียดขึ้น ก็ถึงคำตอบว่า ไม่มีใครสามารถให้สติปัฏฐานเกิดได้ อย่างที่ว่าตลอดเวลาหรือทุกขณะ หรือไม่ว่าจะทรงแสดงโดยพระพุธพจน์อย่างไร ต้องเข้าใจด้วยว่า สำหรับใคร อย่างเมื่อวานนี้ อาฬวกยักษ์เป็นโสดาบัน ท่านจึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าท่านจะจากบ้านไปสู่บ้าน จากบุรีไปสู่บุรี ไปไหนก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตาม นมัสการพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรม เมื่อสติปัฏฐานเกิด เพราะเหตุว่าการฟังธรรมกว่าจะเข้าใจว่าเป็นธรรม แล้วรู้ว่า ขณะที่ฟังเป็นเรื่องราวของสภาพธรรมทั้งหมด ทั้งๆ ที่สภาพธรรมขณะนี้ก็เกิดดับปรากฏให้เห็นเฉพาะหน้าอย่างนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็กำลังปรากฏ เสียงก็ปรากฏ จิตได้ยินก็มี จิตเห็นก็มี เฉพาะหน้าคือเดี๋ยวนี้จริงๆ แต่จากการฟัง แล้วยังไม่เข้าใจที่มั่นคงพอ ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ “เริ่ม” ใช้คำว่า “เริ่ม” ปรารภ คือตั้งต้นที่จะเข้าใจลักษณะของธรรม รู้เลยว่า ธรรมที่ได้ฟังมีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏจริงๆ แต่ขณะใดก็ตามที่ไม่รู้ลักษณะนั้น สภาพธรรมนั้นก็ดับ โดยไม่รู้ความจริงของการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นเหมือนหลับทั้งๆ ที่มองเห็น ก็เหมือนหลับ แต่คนที่สติสัมปชัญญะเกิด จะรู้ว่าตื่นเมื่อไร ขณะนี้เป็นเรื่องของสภาพธรรม ขณะใดที่สติเกิดรู้เฉพาะลักษณะธรรม ตื่นตรงนั้น ต่างกันหรือไม่ ฟังเท่าไรก็เป็นเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม แต่พอสติสัมปชัญญะเกิด รู้เฉพาะลักษณะหนึ่ง ขณะนั้นตื่นแน่นอน เพราะว่ามีลักษณะที่ปรากฏความเป็นธรรมขณะนั้น โดยความเป็นอนัตตาด้วย ไม่มีใครทำแข็ง ไม่มีใครทำเห็น ไม่มีใครทำได้ยิน ก็เป็นธรรมที่มีอยู่ แล้วฟังเรื่องสภาพธรรมเหล่านี้ไป แต่ตราบใดที่ยังไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้เฉพาะลักษณะ ขณะนั้นไม่ตื่น

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรม เดี๋ยวนี้ได้ไหม เดินได้ไหม ไปไหนได้ไหม แล้วแต่ทุกขณะเป็นธรรมทั้งหมด อยู่ที่ว่า มีปัจจัยที่จะตื่น คือกำลังรู้ลักษณะที่มีจริงๆ จึงรู้ว่า ขณะนั้นตลอดเวลาที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เหมือนหลับ จะตื่นก็เฉพาะขณะที่กำลังรู้ลักษณะที่เป็นธรรม จึงรู้ว่าเป็นธรรม ขณะนั้นไม่ต้องนมัสการด้วยมือ ไม่ต้องนมัสการด้วยคำ แต่กำลังนมัสการด้วยการเข้าใจธรรม เพราะรู้ว่าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ถ้าไม่มีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นก็เป็นการนมัสการที่สูงสุด ที่สามารถระลึกถึงพระคุณขณะที่สติสัมปชัญญะกำลังเกิด

    เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระคุณไม่ใช่ว่าอยากระลึกก็ระลึกได้ หรือควรจะระลึกบ่อยๆ ก็ไม่ใช่ แต่เมื่อสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องรู้จริงๆ ว่า พระคุณคือสามารถทำให้เข้าใจสิ่งที่มีในขณะนี้ ซึ่งทุกคนบอกว่าเป็นชีวิต เกิดมาต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องสุข ต้องทุกข์ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละลักษณะซึ่งมีปัจจัยเกิดเป็นไป แสดงความเป็นอนัตตา ไม่มีอัตตา แต่เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ความจริงนั้นพอที่จะละการยึดถือ ก็รู้ตามความเป็นจริง ปัญญาสามารถเห็นถูก ไม่เห็นผิดว่า ขณะนี้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่กำลังเริ่มเข้าใจ และรู้ด้วยว่า ขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรม ไม่ใช่ขณะเพียงฟังเรื่องของธรรม เพราะขณะนี้ก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าสติสัมปชัญญะเกิดรู้หรือไม่ว่า เกิด เพราะกำลังเริ่มเข้าใจเฉพาะลักษณะของธรรมทีละอย่าง

    ก็เป็นอย่างที่คุณกล่าว ไม่ใช่ว่าใครสามารถเป็นอย่างนั้นได้ จากการฟัง และเข้าใจเพิ่มขึ้นก็เป็นปัจจัยให้ผู้ที่ได้อบรมสติสัมปชัญญะสามารถความจริงของสภาพธรรม ละความติดข้อง ก็คือสภาพธรรมเกิดแล้วดับไป สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อได้ แต่ความเข้าใจก็ต่างระดับของผู้ที่กำลังเริ่มอบรม น้อยมาก ผู้ที่อบรมบ่อยๆ ปัญญาเกิดเพิ่มขึ้นมากแค่ไหนจึงมีวิปัสสนาญาณเป็นเครื่องวัดปัญญา

    ผู้ฟัง ผู้ประมาท หมายถึง ผู้หลงลืมสติใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นอกุศลก็ประมาท ขณะใดที่กุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด สตินั้นระลึกถึงกุศลประเภทนั้น เช่น ขณะที่ให้ทาน ก็เพราะสติเป็นไปในการให้ ขณะที่วิรัติทุจริต สติเกิดขึ้นเป็นไปเว้นกายวาจาทุจริต หรือขณะทำสิ่งใดที่สมควร เป็นการช่วยเหลือบุคคลอื่น ก็เพราะสติเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น สติจึงเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง ถ้าสติไม่เกิดก็คือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ก็คิดไปว่า สำหรับผู้ประจักษ์การเกิดดับ ก็เห็นอยู่แล้วว่ามีการตายเกิดตลอดเวลา สิ่งนี้เป็นเหตุปัจจัยให้ไม่กลัวตายหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ความรู้ก็ทำให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นความจริง เกิดแล้วไม่ตายไม่มี ขึ้นอยู่กับว่า มีความเข้าใจว่าพอตายแล้วก็เกิดอีก และจะเป็นเหมือนในชาตินี้ หรือดีกว่าชาตินี้หรือไม่ในเรื่องของความเข้าใจธรรม ในเรื่องของกุศล ทุกคนหวังว่า ชาติหน้าคงจะดีกว่าชาตินี้ แต่ว่าชาติหน้าที่จะดีกว่าชาตินี้ได้ก็ต้องต่อเมื่อดีตั้งแต่ชาตินี้ ชาติหน้าถึงจะดีกว่าชาตินี้ได้ แต่ถ้าหวังแต่เพียงว่า ชาติหน้าจะดีกว่าชาตินี้ แต่ชาตินี้ก็ยังคงไม่ดี เพราะฉะนั้น ชาติหน้าก็จะดีกว่าชาตินี้ไม่ได้ ชาติหน้าจะดีกว่าชาตินี้ ก็เมื่อชาตินี้ดี กำลังดีขึ้นๆ ชาติหน้าถึงจะดีกว่าชาตินี้ได้

    ผู้ฟัง นั่นหมายถึงว่า ถ้าใครหวังแต่ว่า ชาติหน้าจะดีกว่านี้ แล้วทำอกุศลกรรม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคิดว่ากลัวอกุศล เมื่ออบรมปัญญาก็สามารถเจริญกุศลเท่าที่ปัญญาเข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ ก่อนตายไม่มีใครทราบว่า จะคิดอะไรใช่ไหม จะมีใครสักคนที่คิดว่า กำลังจะเกิดหรือไม่ คิดแต่ว่ากำลังจะตาย คิดบ้างหรือไม่ว่ากำลังจะเกิดแล้ว พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้แล้ว แต่เกิดจริงๆ ไม่รู้ เป็นอีกคนหนึ่งโดยสิ้นเชิง จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้

    ผู้ฟัง เหตุให้เกิดกุศลมีอยู่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกำหนดได้ คือ ด้วยอำนาจของการนิยม คือ กำหนดได้ให้เป็นกุศล ก็เหมือนอะไรกำหนดได้ ซึ่งขัดกับการเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ใครกำหนด แม้แต่คำว่า “กำหนดได้” ถ้าเข้าใจคำว่า “อนัตตา” ขณะนั้นจะรู้ไหมว่าใครกำหนด หรือมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ก็เป็นไปตามปัจจัยเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจแล้ว จะได้ยินคำว่า อนัตตา ก็รู้ในความเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง เมื่อศึกษาแล้วรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม และเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ต้องมั่นคงด้วย

    ผู้ฟัง มีคำถามจากท่านผู้ฟังว่า หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น หลังลิ้มรส หรือหลังกระทบสัมผัสแล้ว จุติจิตก็เกิดได้ หลังจากคิดนึก จุติจิตก็เกิดได้ เมื่อได้ยินสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่เสียงนั้นดังก็ทำให้ตกใจหวั่นไหวแล้ว ซึ่งเป็นอกุศล นั่นก็เป็นหลังคิดนึก เสียงปรากฏทางมโนทวารสืบต่อแล้วหรือยัง หรือเป็นเพียงเสียงดัง ตกใจ อกุศลก็เกิดแล้วเพราะเสียงนั้น

    ท่านอาจารย์ สามารถจะรู้ขณะจิตแต่ละวาระได้หรือไม่

    ผู้ฟัง คงยังไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่า อะไรก่อน อะไรหลัง อย่างไร เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏกับจักขุทวารวิถีจิตหรือมโนทวารวิถีจิต ถ้าตอบได้ ก็ตอบสิ่งนี้ได้

    ผู้ฟัง อยากจะสอบถามดู เพราะขณะนั้นเกิดเหตุแล้วก็ตกใจ เราก็ไม่ทราบว่า มีเหตุปัจจัยใด เพราะตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร ก็ตกใจแล้ว พอเสียงดับไปก็ตกใจแล้ว และเมื่อได้ฟังจากท่านอาจารย์บรรยายว่า ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิต ซึ่งเป็นคำที่ท่านอาจารย์บรรยาย ก็ไตร่ตรองดู แต่ก็ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เหมือนเดี๋ยวนี้ หลังจากเห็นแล้ว ชวนะวาระที่เห็นดับแล้ว ภวังคจิตคั่น มโนทวารรับรู้ต่อ นี่พูดสั้นๆ แต่จุติจิตจะเกิดในขณะที่ไม่ใช่ชวนจิต เพราะว่าขณะนั้นเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นเวลาที่จุติจิตจะเกิดจริงๆ ก็จะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๖ ทางก่อน ไม่ใช่จะไม่รู้อารมณ์ อารมณ์ของชวนวิถีจิตสุดท้ายจะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด อารมณ์อะไรก็ได้ ได้ยินเสียงดัง ไม่ต้องไปคิดว่า ปัญจทวารวิถีหรือมโนทวารวิถี แต่จุติจิตก็สามารถเกิดได้หลังจากที่วิถีจิตดับ ก่อนภวังคจิตเกิดก็ได้ ภวังคจิตเกิดแล้วก็ได้ หรือว่าชวนจิตดับไปแล้ว ตทาลัมพนจิตเกิดต่อก็ได้

    ผู้ฟัง ถึงเวลาที่จะเห็นอย่างนี้ ได้ยินอย่างนี้ กระทบสัมผัสอย่างนี้ คิดนึกอย่างนี้ สิ่งนี้เป็นพื้นฐานพระอภิธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้หลังจากประชุมวิชาการ ก่อนจะจบก็ถามว่า ขณะนี้ถึงเวลาอะไร ท่านผู้หนึ่งก็ตอบว่า ถึงเวลากลับบ้าน นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่รู้ไหมว่า ถึงเวลากลับบ้านซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ทุกคนเข้าใจ แต่ลืมคิดให้ละเอียดลึกซึ้งว่า ถึงเวลาเห็น เดี๋ยวนี้ ถึงเวลาได้ยินก็ต้องได้ยิน ถึงเวลาคิดก็ต้องคิด มีใครไปทำอะไรให้หรือไม่ นี่คือธรรมที่เป็นอนัตตาจริงๆ แต่เราใช้คำในชีวิตประจำวันปกติธรรมดา แต่ไม่รู้ความละเอียดว่า ถึงเวลากลับบ้าน เหมือนเดิม คือพอถึงเวลาก็กลับกันทุกคน แต่เดี๋ยวนี้ถึงจะตรงไหน ที่ไหนก็ตาม ถึงเวลาเห็นขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยินก็คือถึงเวลาได้ยิน แสดงส่องไปถึงความเป็นอนัตตาของธรรมที่สามารถเข้าใจละเอียด จนกระทั่งในขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด เพราะเข้าใจลึกซึ้งอย่างนี้ จึงไม่คำนึงถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไปรู้อะไร จะไปพยายามเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็ไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็ถึงเวลาที่จะเป็นอย่างนั้น แต่เวลานี้ถึงเวลาใดที่สภาพธรรมปรากฏ หมายความว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาเกิด แล้วตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายใครจะทำอะไรได้ ตอนเกิดจะเปลี่ยนเป็นเกิดขณะอื่น นาทีอื่น วันอื่น ปีอื่นได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ แต่ก่อนนั้นก็คือถึงเวลาตาย แน่นอน จากชาติก่อนจึงทำให้มีถึงเวลาเกิดของปฏิสนธิจิตที่จะเป็นบุคคลนี้ จากชาติก่อนเป็นใครก็ไม่รู้ มีความหวัง มีความต้องการเหมือนชาตินี้ ชาตินี้ทุกคนก็มีความหวังมีความต้องการต่างๆ กัน ชาติก่อนก็มีความหวังความต้องการต่างๆ กัน แต่ลืมว่า สิ่งที่หวังเคยได้แล้ว และก็เคยหมดไปแล้วทั้งนั้น ไม่มีใครไม่ได้อะไรเมื่อมีเห็น ก็ต้องมีเรื่องราวของสิ่งที่เห็น ที่อยากได้ และเคยได้อยากได้แล้วหมดไปแล้วในชาติก่อน สิ่งที่เคยได้ในชาติก่อนหมดไปแล้ว ด้วยความหวังว่าจะได้สิ่งนั้น พอถึงชาตินี้ สิ่งที่หวังว่าจะได้ในชาตินี้ ได้แล้วก็หมดไปอีก

    เพราะฉะนั้น ก็หวังว่าจะได้ ได้แล้วก็หมดเสมอไป สิ่งที่กำลังหวังขณะนี้ก็เคยหวังมาแล้วในชาติก่อนๆ เคยได้มาแล้วด้วย แล้วก็หมดไปแล้วด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ ธรรมก็คือเดี๋ยวนี้เอง ในชีวิตประจำวัน เป็นธรรมซึ่งถูกปกปิดด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ทราบแต่ละขณะเลย ถึงเวลาตาย ขณะจิตสุดท้ายดับ ไม่เป็นอย่างนั้นได้ไหม ถึงเวลาแล้วใช่ไหม

    คุณคำปั่นคะ ไม่ทราบว่า คำว่า กาลกิริยา ภาษาบาลีแปลตรงๆ ว่าอะไร

    อ.คำปั่น คำว่า “กาลกิริยา” มีคำรวมกันอยู่ ๒ คำ คือ กาล และกิริยา กาล คือกาล กิริยา คือการกระทำ แปลโดยศัพท์ก็คือการกระทำด้วยกาล แต่ถ้าได้ศึกษาในคำสอนแล้วจะพบว่า คำที่แสดงถึงความตาย คือแสดงถึงจิตขณะสุดท้ายที่เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ในภพนี้ ในชาตินี้ มีหลายคำ หนึ่งในนั้นก็คือกาลกิริยา คือการกระทำซึ่งกาล เป็นการสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นในภพนั้น ชาตินั้น ก็มีหลายคำ ทั้งมละ ก็หมายถึงตาย จุติ ก็หมายถึงตาย เคลื่อน ก็หมายถึงตาย ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ ก็หมายถึงตาย จึงมีคำที่ใช้อยู่หลายคำ

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎกก็ใช้คำว่า กาลกิริยา หมายถึงสิ้นชีวิต ภาษาไทยก็ใช้คำว่า ถึงแก่กรรม กรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนั้นๆ ก็สิ้นสุดลง คือจะเป็นบุคคลนั้นอีกต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความเป็นไปของธรรมคือจิต ถ้าจุติจิตของชาติก่อนแล้วดับไป ไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ ก็ไม่มีอะไรอีก ก็เป็นพระอรหันต์ เพราะว่าจิตทุกขณะที่ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด บังคับไม่ให้เกิดได้ไหมว่า พอจุติดับไปแล้วไม่ให้ปฏิสนธิจิตเกิด เมื่อถึงกาลที่ปฏิสนธิจิตจะเกิด ใครห้ามไม่ให้จิตเกิด เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อจุติจิตดับก็ถึงเวลาที่ปฏิสนธิจิตจะเกิด เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ จะไม่ให้จิตต่อไปเกิดได้หรือไม่ ไม่ได้ เพราะว่าจิตที่เราว่า มีชีวิตกันยาวนานตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ก็คือแต่ละ ๑ ขณะจริงๆ เพียงขาดไปหรือดับไป ๑ ขณะ แล้วไม่มีอะไรเกิดต่อ ก็จะไม่มีชีวิตที่เป็นคนนี้นั่งอยู่ที่นี่หรือทำอะไรต่อไป

    เพราะฉะนั้น แต่ละขณะของจิตก็คือถึงเวลาของจิตนั้นที่จะเกิด ภวังคจิตเกิดต่อจากจุติจิตได้หรือไม่ ไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลาที่จะเกิดก็เกิดไม่ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567