พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 581


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๘๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ เสียงจะปรากฏได้เพราะมีธาตุที่สามารถได้ยินเกิดขึ้นได้ยิน แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายก็มีธาตุก็มีสภาพที่รู้ว่า มีสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง จำได้ว่าเป็นคนนั้น เรื่องนี้ แต่ทั้งหมดก็เป็นธรรมทั้งหมด เป็นธรรมทั้งนั้น ไม่ใช่เรา

    ด้วยเหตุนี้พระโสดาบันรู้อย่างนี้หรือไม่

    ผู้ฟัง พระโสดาบันก็ต้องทราบเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ คุณที่ไม่ใช่พระโสดาบันไม่เคยฟังธรรม รู้อย่างนี้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ คนฟังธรรมเข้าใจสิ่งที่มีกำลังมีว่า เป็นธรรมหรือไม่ คนที่ฟังแล้ว

    ผู้ฟัง ฟังแล้วเข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ แต่ก็ยังไม่ประจักษ์ว่า เป็นธรรมใช่ไหม เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ขณะอื่น ขณะที่กำลังคบกับความเห็นถูก ไม่ใช่ความเห็นผิดเลย ขณะใดที่สามารถฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ได้ถูกต้อง ขณะนั้นก็คือความเห็นถูก สัตบุรุษเป็นผู้เห็นถูกตามความเป็นจริงของธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นผิดไม่ใช่สัตบุรุษ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนี้ให้รู้อย่างอื่น แต่ไม่พูดเรื่องสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปแล้วมีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ ใช่ไหม แล้วจะถึงความเป็นพระโสดาบันได้ด้วยเหตุอื่นไหม ไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาของผู้นั้นเองที่เป็นผู้ตรง สัจจะ ความจริงใจ และความมั่นคงที่จะรู้ว่า ปัญญาที่รู้ความจริงก็คือ ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ ไม่ใช่ไม่มีแล้วก็ไปคิดว่ารู้จริงในสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้จริง เพราะเกิดแล้วก็ดับด้วย ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ

    นี่คือการฟังธรรม ไม่ใช่เพียงแต่คบกับผู้ที่มีความเห็นถูกในขั้นใดๆ ก็ตาม ไม่จำเป็นต้องคิดว่า บุคคลนั้นเป็นพระโสดาบันหรือไม่ หรือมีวิปัสสนาญาณหรือไม่ หรือเข้าใจธรรมแค่ไหน เพียงฟังคำพูดก็สามารถรู้ได้ ถ้าสะสมมาที่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังว่า บุคคลใดกล่าวถึงสิ่งที่มีจริง และทำให้เข้าใจขึ้น แม้เพียงคำว่า “ธรรม” ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยเข้าใจ แล้วจะไปหาธรรมที่ต่างๆ เหนือ ใต้ ประเทศนั้นประเทศนี้ แต่ไม่รู้ว่า ขณะนี้เดี๋ยวนี้เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ละคำต้องเป็นผู้ละเอียดจริงๆ แล้วจะได้สาระ และไม่ข้ามไป มีใครให้ทำอะไรเพื่อเป็นพระโสดาบัน จะทำไหม ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจะให้ไปเป็นพระโสดาบัน ให้ทำให้เป็นพระโสดาบัน โดยไม่เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม นั่นไม่ใช่คำสอนของสัตบุรุษ

    อ.ประเชิญ พระสูตรก็เป็นส่วนหนึ่งของคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสัจธรรม ความจริง ในพระสูตรที่นำมาก็เป็นข้อธรรมที่เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม คือการเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ ตั้งแต่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ และในอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่มนุษย์ ซึ่งธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ก็ยังแสดงถึงโสตาปัตติยังคะ คือ คุณธรรมอันเป็นส่วนเบื้องต้นเพื่อการเป็นพระโสดาบัน

    เพราะฉะนั้น ต้องครบทั้ง ๔ ธรรมข้อใดข้อหนึ่งไม่สามารถทำให้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปได้

    ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมถึง ๔ ประการ ไม่ใช่ประการใดประการหนึ่งเท่านั้น ซึ่งข้อความที่ปรากฏในพระสูตรก็กล่าวถึง การคบสัตบุรุษ ซึ่งเราก็ทราบความหมายแล้วว่า คำว่า “สัตบุรุษ” ก็ดี คำว่า “บัณฑิต” ก็ดี คำว่า “กัลยาณมิตร” ก็ดี โดยสูงสุดแล้วก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น ผู้ใดคบ คือ การฟัง การประพฤติปฏิบัติตามคำสอน การเข้าไปนั่งใกล้เป็นต้น ก็ชื่อว่า คบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแม้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม แต่พระธรรมที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นเสมือนศาสดาที่ตามพร่ำสอนพวกเรา เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาพระธรรมคำสอน และประพฤติปฏิบัติตาม ก็ชื่อว่า คบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ในข้อที่ ๒ การฟังพระสัทธรรม ก็คือพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยสูงสุดแล้วท่านแสดงโลกุตตรธรรม ๙ เป็นพระสัทธรรม ซึ่งรวมถึงปริยัติที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ที่เรียกว่า พระไตรปิฎกนั่นเอง ส่วนนี้ก็จะเป็นธรรม คือส่วนที่แสดงการประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ถึงโลกุตตรธรรม ๙ นี่คือข้อที่ ๒ ที่เป็นธรรมทั้ง ๔ ประการที่ได้แสดงในปฐมผลสูตร

    แม้ในข้อที่ ๓ การใส่ใจโดยแยบคาย ที่แปลมาจากภาษาบาลีว่า โยนิโสมนสิการ ซึ่งโดยใจความแล้วก็คือ คิดอย่างถูกต้อง คิดด้วยกุศลจิต ซึ่งก็นิยมแปลกันว่า การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ที่แปลมาจากภาษาบาลีว่า โยนิโสมนสิการ

    ส่วนในข้อสุดท้ายที่สำคัญมาก ถ้าหากเพียงได้คบกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังพระสัทธรรม และมีเพียงกุศลจิตเกิด แต่ไม่ได้ประพฤติธรรมให้สมควรหรือคู่ควรกับการรู้แจ้งอริยสัจธรรม คือ โลกุตตระ การบรรลุนั้นก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ทั้ง ๔ ประการนี้ก็ส่วนสำคัญทั้งนั้น สอดคล้องกันหมด

    ผู้ฟัง อย่างบางคนอยู่ต่างจังหวัด หรือคุณพ่อคุณแม่หนูอยู่ต่างจังหวัด แล้วเอาวีซีดี เอ็มพี ๓ ดีซีไปให้ฟัง อย่างนี้เรียกว่าเป็นการคบสัตบุรุษได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คบคืออะไร และสัตบุรุษคืออะไร นี่คือความละเอียด ถ้าไม่มีธรรม สัตบุรุษมีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่เข้าใจว่าเป็นใคร ก็คือเป็นธรรม ถูกต้องหรือไม่

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมที่มีจริงๆ คือ สิ่งที่มีจริง และไม่ใช่สภาพรู้ เป็นธรรมที่มีจริงแต่ไม่รู้อะไร แต่เวลาพูดถึงสัตว์ บุคคล ไม่ได้มีแต่เฉพาะร่างกาย ซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่ยังมีธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่กาย ไม่ใช่สิ่งที่ไม่รู้อะไร แต่เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่างใดๆ น่าอัศจรรย์ เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น เป็นธาตุที่เกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด คำว่า “รู้” ที่นี่ไม่ใช่ปัญญา หมายความว่าสามารถรู้ในสิ่งที่ปรากฏในลักษณะนั้นว่าเป็นอย่างนั้น อย่างเวลานี้คนตาบอด แล้วจะบอกว่า ห้องนี้มีนาฬิกา มีโต๊ะ มีเก้าอี้ เขาเห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ แต่เวลาที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วสิ่งนั้นต้องเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้รู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ ก็ไม่มีสิ่งที่มีชีวิตหรือมีความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ขณะนี้ไม่ใช่มีแต่รูป ในห้องนี้ทั้งหมดเลย แต่มีธาตุรู้กำลังได้ยิน กำลังเห็น กำลังคิด กำลังจำ นี่คือการเข้าใจธรรมว่า เป็นธาตุรู้แต่ละธาตุเกิดขึ้นแล้วดับไปสืบต่อกันของแต่ละบุคคลที่สมมติว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น ที่เป็นเราก็คือมีธาตุรู้ที่เกิดดับสืบต่อ เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวคิดนึก เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ ทั้งหมดที่ไม่ใช่ร่างกายหรือสิ่งที่ไม่สามารถรู้อะไรได้ เป็นธาตุรู้ มีอยู่ก็รู้ยาก แต่ถ้าตายเดี๋ยวนี้ มีร่างกายเหลือ แต่ไม่มีธาตุรู้ใดๆ ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจสภาพรู้ว่า มี ต้องค่อยๆ ไตร่ตรองทีละเล็กทีละน้อย ภาษาบาลีใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ เป็นธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตซึ่งธาตุรู้มี ๒ อย่าง คือ ธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็น ในการได้ยิน รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ กับธาตุที่เกิดกับจิต แต่ไม่ได้เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่คิด จำ สุข ทุกข์ นั่นก็เป็นธาตุรู้ ซึ่งภาษาบาลีจะใช้คำว่า นามธาตุ จิต เจตสิกอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปพร้อมกัน และเมื่อมีจิตกำลังมีสิ่งใดปรากฏ เจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นก็ทำหน้าที่ของตนๆ สิ่งนี้กำลังปรากฏ รู้สึกดีใจหรือเสียใจหรือเฉยๆ ไม่ถามไม่รู้ใช่ไหม แต่มีความรู้สึกแน่นอน

    เพราะฉะนั้น ความรู้สึกเขียวหรือดำ หรือต่ำหรือสูง เผ็ดหรือหวาน ไม่มีรูปใดๆ เลย ความน่าอัศจรรย์ก็คือมีธาตุที่ไม่มีรูปร่าง เป็นนามธาตุเกิดขึ้นทำกิจการงานจนกว่าจะจากโลกนี้ไป ธาตุนั้นแม้ดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้นามธาตุเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น ก็เป็นสิ่งที่เราสมมติว่า เป็นคน เป็นสัตว์ต่อไป แต่ว่าสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ หลังจากจิตดับแล้วก็คือรูป ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้

    เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่าสภาพรู้มีจริงๆ ก็คือขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ เดี๋ยวนี้ แล้วฟังแล้วเริ่มเข้าใจ เข้าใจไหม ถามสั้นๆ ว่า เข้าใจไหม เข้าใจ เป็นเราหรือเป็นสภาพธรรมที่เข้าใจ

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ นี่ฟังชื่อ จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า แม้แต่ความเข้าใจก็มีจริงๆ ฟังแล้วไม่เข้าใจ มีหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจต้องมีแน่นอน ขณะที่กำลังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามกับความเข้าใจ ถ้าสมมติเรียกชื่อก็คือ วิชชาหรือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกความเข้าใจถูก ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม ขณะที่ไม่เข้าใจก็เป็น อวิชชา หรือโมหะ ฟังแล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ได้ยินได้ฟัง แต่เวลาเข้าใจก็คือ ไม่ต้องห่วง เราทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีเรา สภาพของเจตสิกที่เกิดกับจิตแต่ละขณะที่สืบต่อตั้งแต่ได้ยินจนกระทั่งเป็นความเข้าใจแต่ละคำ จนกระทั่งเข้าใจอรรถ ความหมายของแต่ละคำ จนกระทั่งเป็นความเห็นถูกเกิดขึ้น

    นี่คือ โยนิโสมนสิการ เป็นเจตสิกที่มีชื่อว่า มนสิการ เกิดกับจิตทุกขณะ ถ้าใส่ใจด้วยดี เข้าใจ ก็เป็นโยนิโส ถ้าไม่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นอโยนิโส

    ก็เป็นเรื่องลำบากนิดหน่อยสำหรับผู้ได้ยินคำใหม่ๆ แต่ไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่อีกหน่อยก็จะชินหู พอชินหู ไม่อยากจะเรียกก็เอ่ยแล้ว บางคนชอบใช้คำนี้มาก โยนิโสมนสิการหรือไม่ ไม่ได้โยนิโสมนสิการก็ไม่เข้าใจ ก็เลยไปใช้คำ ซึ่งกว่าจะเข้าใจความหมาย ก็ต้องได้ยินบ่อยๆ พอได้ยินจนชินก็ไม่ลืม พอไม่ลืมก็เลยเป็นปัจจัยให้คิด แล้วก็พูดคำนั้นด้วย แต่ว่าตามความเป็นจริงไม่ใช่ให้พูด แต่เข้าใจว่าเป็นธรรม

    เหลืออีกข้อเดียว คบสัตบุรุษ ฟังธรรม แล้วเข้าใจธรรมที่ได้ฟัง ในขณะนั้นไม่ได้เลื่อนลอยไปคิดเรื่องอื่น แต่ขณะที่เข้าใจ ไม่มีเรา แต่ธรรมนั้นกำลังทำหน้าที่ จิต ๑ ขณะจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท แต่เวลาเข้าใจมีมากกว่านั้น

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจไม่ได้เกิดง่ายๆ จะต้องมีสภาพธรรมที่เป็นธรรมฝ่ายดี ทั้งสติ ทั้งหิริ ทั้งโอตตัปปะ ทั้งอโลภะ อโทสะ มากมาย จะทำให้เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง โดยไม่รู้ว่า ขณะนั้นไม่มีเรา แต่เป็นธรรมที่เกิดแล้วทำหน้าที่นั้นๆ แล้วก็ดับไป ผลคืออะไร ได้ฟังธรรม ได้คบสัตบุรุษ คือผู้ที่กำลังพูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ใช้คำนี้ แต่ไม่ต้องไปคิดถึงว่าเป็นใคร ระดับไหน ใครก็ตาม พูดคำที่จริง ให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งทั้งหมดมาจากคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น ไม่ใช่คำสอนของท่านพระสารีบุตร ไม่ใช่คำสอนของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ไม่ใช่คำสอนของบุคคลใดทั้งสิ้น แต่ทุกคนจะรู้ว่า ทั้งหมดที่เป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูก มาจากการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เพราะว่าบุคคลอื่นไม่สามารถรู้ความจริงนี้ได้

    ด้วยเหตุนี้ คบสัตบุรุษ คบพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ฟังบ่อยๆ ใช่ไหม ไม่ใช่ครั้งเดียว และเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ๓ แล้วนะคะ เหลืออีกไหมคะ หรือแค่เข้าใจก็พอแล้ว พอไหม ไม่มีประโยชน์เลยถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตาม เหมือนกับเป็นโมฆะ

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การประพฤติปฏิบัติตามก็เพราะความเข้าใจ ถ้าไม่มีความเข้าใจ จะประพฤติอะไร จะทำอะไร แต่ถ้ามีความเข้าใจแล้ว ความเข้าใจก็สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ก็สามารถรู้ถูกว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ

    เดี๋ยวนี้คบหรือยัง ถ้าไม่คบ ปัญญาจะเกิดต่อไปได้ไหม แม้ขณะนี้ก็ไม่มีปัญญาแล้ว เพราะฉะนั้น จะไปเอาปัญญาหรือจะทำให้ปัญญาเกิดได้อย่างไร เพราะแม้ขณะนี้ได้ฟังพระธรรมแล้ว เข้าใจแล้ว จะต้องรู้ว่า สำคัญที่สุดกว่านั้นก็คือประพฤติปฏิบัติตาม แต่ไม่ใช่เรา หน้าที่ของธรรมที่เมื่อเข้าใจจริงๆ มีหรือ ที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติตาม

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเป็นเครื่องวัด และส่องปัญญาของผู้ฟังว่า มีความเข้าใจระดับไหน และสามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีคนมาบอก

    ผู้ฟัง กัลยาณมิตรนี้ต้องเฉพาะพูดธรรมหรือ

    ท่านอาจารย์ กัลยาณ + มิตร คืออะไรคะ

    อ.คำปั่น คำว่า “กัลยาณมิตร” แปลว่า มิตรที่ดีงาม มีความประพฤติที่ดีงาม โดยสูงสูดแล้วก็คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาก็จะพบพยัญชนะอยู่หลายคำที่มีความหมายเหมือนกันทั้งกัลยาณมิตร บัณฑิต และสัตบุรุษ สัตบุรุษในภาษาบาลีใช้ สันตะ หรือสัปปุริสสะ หมายถึงบุคคลผู้สงบ สูงสุดก็คือพระพุทธเจ้า ดังข้อความที่ปรากฏก็คือ บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ เพราะความที่กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น สงบแล้ว

    สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ว่า ใครคือกัลยาณมิตร ใครคือบัณฑิต ใครคือสัตบุรุษ ต้องมีปัญญาจริงๆ ถึงจะรู้ว่า ใครเป็นกัลยาณมิตร ใครเป็นบัณฑิต ใครเป็นสัตบุรุษ ท่านอุปมาไว้ว่า เปรียบเหมือนผู้มีตาดีทั้ง ๒ ข้าง ย่อมสามารถรู้ได้ว่า ใครมีตาดี และใครมีตาบอด

    เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลอย่างแท้จริง อย่างธรรมที่เป็นเครื่องอุปการเกื้อกูลด้วยความรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทั้ง ๔ ประการนี้จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การคบสัตบุรุษ ซึ่งเป็นบุคคลผู้สงบ มีปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเมื่อได้คบสัตบุรุษแล้ว ย่อมมีโอกาสได้ฟังธรรม และมีโอกาสได้ไตร่ตรองพิจารณาธรรม และเมื่อเข้าใจแล้วก็มีโอกาสน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ เพื่อประโยชน์คือการขัดเกลากิเลสของตัวเองอย่างแท้จริง

    โดยสรุปแล้ว กัลยาณมิตรก็คือมิตรที่ดีงาม หรือผู้มีความเข้าใจถูก เห็นถูก แล้วสามารถทำให้ผู้คบนั้นได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่า คุณพรทิพย์เข้าใจหรือยัง กัลญาณะ กับมิตร มิตรคือใคร คนที่เราคบบ่อยๆ เป็นมิตรทุกคนหรือไม่ มิตรมาจากคำว่า มิตตะ ไมตรี ความหวังดี เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพราะฉะนั้น คนที่เป็นมิตรจริงๆ จะทำร้ายไหม จะพูดร้ายไหม จะคิดร้ายกับคนที่เขารู้จักหรือไม่ นี่คือความต่างกันของคำว่า สหาย ไม่ใช่มิตร สหาย ภาษาบาลีหมายความว่าอะไร

    อ.คำปั่น ก็มีรายละเอียดที่แสดงไว้ว่า “สหาย” ก็คือผู้ไปด้วยกัน ไปพร้อมกัน คือมีทั้งคำว่า “มิตร” และคำว่า “สหาย” มิตรก็คือผู้มีไมตรี มีเมตตา มีความปรารถนาดีที่เกื้อกูลผู้อื่นเสมอ แต่ “สหาย” คือ ไปด้วยกัน ไปพร้อมกัน บางคนเป็นแค่สหาย คือ นำมาซึ่งความสุขขณะที่เดินทางไปด้วยกัน แต่ไม่ได้เป็นมิตร เพราะไม่ได้เกื้อกูล ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดกุศลจิตประการต่างๆ แต่บางคนเป็นทั้งมิตร เป็นทั้งสหาย ก็คือนำมาซึ่งความสุขขณะเดินทางไปด้วยกัน และมีเมื่อโอกาสก็พร้อมจะเกื้อกูลผู้ที่ตัวเองคบอยู่เสมอ

    ท่านอาจารย์ ที่นี่มีสหายมากไหม มีมิตรมากหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นจะไม่มีการพูดถึงใครในทางไม่ดี ใช่ไหม เพราะไม่ได้เป็นเพียงแค่สหาย แต่ว่าเป็นมิตรด้วย

    นี่ก็เป็นสิ่งที่ละเอียด และเราหวังว่าคนอื่นเป็นมิตรกับเรา หรือเรานั้นเป็นมิตรกับทุกคน

    นี่คือธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ได้ฟังแล้วเข้าใจ เพราะเหตุว่าขณะใดที่โกรธ เป็นมิตรกับคนที่เรากำลังโกรธหรือไม่ ไม่ใช่เลย เครื่องพิสูจน์มีมากว่า เป็นมิตรจริงๆ หรือไม่ ไม่ใช่คิดจะให้คนอื่นเป็นมิตรกับเรา แต่ที่ถูกต้องก็คือ ผู้ที่ฟังธรรมนั้นประพฤติปฏิบัติธรรมแค่ไหน ตามความเข้าใจ ตนเองได้ฟังธรรม มีความเข้าใจ เพราะฉะนั้น น้อม คือ ขณะที่ฟังเปลี่ยนจากเดิมที่เคยโกรธง่าย แล้วก็เคยว่าร้ายง่ายๆ ก็มีความเป็นเพื่อนมากขึ้น เป็นมิตรมากขึ้น

    เพราะฉะนั้น ก็มีเมตตาจริงๆ มากขึ้น ไม่ใช่ไปนั่งท่อง ไม่มีใครเลย ออกมาก็โกรธโน่น โกรธนี่ อยู่ในมุมมืด เมตตามาก แต่พอออกมาเจออะไรนิดหน่อยก็ไม่เหมือนที่พูดเลย สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นธรรมที่จริง และตรง ไม่มีสักคำเดียวที่ผู้เป็นกัลยาณมิตรสูงสุด คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะให้เกิดโทษ และอกุศลกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นด้วย เพราะเหตุว่าแต่ละคนก็เป็นแต่ละจิตตามการสะสมสืบต่อมานานแสนนาน ทำให้มีอัธยาศัยต่างๆ กันไป เพราะฉะนั้น ความคิด ความเห็นก็ต้องต่างกันไป แต่ว่าผู้ที่เป็นมิตรจริงๆ อดทนไหมที่จะเห็นประโยชน์ของมิตร เวลาเป็นมิตรจะไม่เห็นประโยชน์ของตน แต่จะเห็นประโยชน์ของผู้ที่เราเป็นมิตรกับเขา คือ เห็นประโยชน์ของคนอื่น ย่อมสละแม้ความสุขเพื่อประโยชน์ของคนที่เป็นมิตรได้ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    12 ก.พ. 2567