พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 582


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๘๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ เวลาเป็นมิตรจะไม่เห็นประโยชน์ของตน แต่จะเห็นประโยชน์ของผู้ที่เราเป็นมิตรกับเขา คือ เห็นประโยชน์ของคนอื่น ยอมสละแม้ความสุขเพื่อประโยชน์ของคนที่เป็นมิตรได้ไหม ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็คือมิตร และประพฤติปฏิบัติตามธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การดับกิเลสได้ ถ้าเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น คำว่า “มิตร” ก็เข้าใจแล้ว สหาย ก็เข้าใจแล้ว กัลยาณมิตร ก็เข้าใจแล้ว ผู้มีความดีงามซึ่งไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ก็เป็นกัลยาณมิตร

    ผู้ฟัง เมื่อฟังแล้วก็สงสัยว่า คำว่า สัตบุรุษ กัลยาณมิตร และบัณฑิต เท่าที่อาจารย์คำปั่นอธิบายก็หมายถึงผู้สงบจากกิเลส ดูเหมือนเป็นการอบรมเจริญปัญญา ทีนี่จากความเข้าใจ ผู้สงบจากกิเลส ถ้าเจริญสมถะ ก็ไม่ถึงขั้นรู้ความจริง ทีนี้ทั้ง ๓ คำ กัลยาณมิตร สัตบุรุษ และบัณฑิต สงบจากกิเลส จำเป็นต้องมีปัญญารู้ความจริงด้วย ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่โกรธ สงบหรือไม่

    ผู้ฟัง สงบ

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือ อาจจะเป็นโลภะก็ได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องละเอียด อย่างเวลาไม่สบาย ป่วย ก็อยากจะหายป่วย พอหายแล้วก็ดีใจ เป็นความสงบหรือไม่ ไม่เป็น

    เพราะฉะนั้น สงบหมายความว่าไม่มีอกุศลใดๆ ไม่มีกิเลสใดๆ ขณะนั้น ไม่ว่าจิตขณะไหนของใครทั้งสิ้น สงบจากอกุศลเพราะเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น กุศลจะมีมากน้อยแค่ไหน ใครจะรู้ ถ้าไม่มีปัญญา จะรู้ได้ไหมว่า มีกุศลมากหรือมีอกุศลมาก เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินคำไหน ความเป็นผู้ละเอียดจะ ทำให้ถึงการได้รับสาระจากพระธรรมที่ได้ฟัง ถ้าข้ามไปๆ ๆ จะไม่ได้สาระประโยชน์ เพราะอะไร เพราะเป็นเราฟัง เป็นเราอยากจะเป็นอย่างนั้น พอได้ยินคำว่า ดี อยากจะดี อยากก็คือเรา เพราะฉะนั้น ฟังธรรมหรือไม่ว่า ไม่มีเรา แต่เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ดีเป็นโสภณธรรม เกิดกับจิต แล้วก็ดับ แล้วอกุศลที่สะสมมานานแสนนานมากมายก็เกิด เพราะฉะนั้น จะดีพร้อมอย่างที่ว่า เป็นสหาย เป็นมิตร เป็นผู้ที่หวังดีถึงเป็นผู้สงบ สัตบุรุษ ก็ขึ้นอยู่กับว่าระดับไหน ถ้าคนไหนที่มีความไม่รู้มาก ความประพฤติทางกาย ทางวาจาก็แย่ เพราะสะสมทั้งโลภะ โทสะมามาก พอที่จะกล่าวรวมๆ ได้ว่า เพราะส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นคนที่ดีหรือไม่ดี ยังไม่ต้องพูดถึงปัญญา เพราะฉะนั้น เพียงแค่ดีน้อย และบางคนสะสมมาที่จะดีมาก แต่มีปัญญาหรือไม่

    ด้วยเหตุนี้แต่ละคำจึงมีความหมายต่างกัน ตั้งแต่คำว่า มิตร หรือกัลยาณมิตร หรือสัตบุรุษยิ่งกว่าสัตบุรุษ ก็เป็นเรื่องจริงที่แสดงถึงสภาพธรรมนั่นเอง เมื่อสภาพธรรมหลากหลาย จึงต้องใช้คำหลากหลายเพื่อให้ถึงความหลากหลายของสภาพธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาท่านอาจารย์ขยายความตรงนี้ให้เห็นว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ และทำไม่ได้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น กำลังเห็นให้เกิดขึ้นหรือไม่

    ผู้ฟัง ทำไม่ได้ เพราะเห็นมีเหตุปัจจัยให้เห็นอะไรก็ตาม

    ท่านอาจารย์ รู้แจ้งหรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ารู้แจ้ง คือรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ความจริงของเห็นจริงๆ ว่า เป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ คือ

    ผู้ฟัง รู้ว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ คือ

    ผู้ฟัง เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

    ท่านอาจารย์ อะไรอีก รู้แจ้ง อย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังคือไม่เที่ยง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำไม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ใช่ไหม เกิดมาทำไม ลองคิดดู เป็นทุกข์ไหมที่ต้องเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ แล้วเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ พูดอย่างนี้แล้ว รู้แจ้งการเกิดดับหรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจความหมายได้ อบรมปัญญาจนกระทั่งรู้แจ้งสิ่งที่ฟังแล้ว แล้วเข้าใจแล้วได้ว่า เป็นความจริงเมื่อปรากฏกับปัญญาที่อบรมแล้ว

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จากพระสูตรที่ยกมา เหตุปัจจัยที่ทำให้ปัญญาเกิด ก็ไม่ได้บอกให้ทำ แต่ให้ฟัง คบสัตบุรุษ ท่านก็ตรัสว่า คือมีปัญญาเข้าใจความจริงเช่นนี้เท่านั้น ไม่ใช่มีตัวตน หรือสัตว์ บุคคลไปทำ ธรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเห็น ได้ยินขณะนี้ มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น หน้าที่ของผู้อบรมก็คือให้รู้ความจริงนั้น

    ท่านอาจารย์ ปัญญา ถ้าพูดภาษาไทยก็คือเข้าใจถูก เวลานี้เข้าใจอะไรที่กำลังปรากฏบ้าง ถ้ายังไม่เข้าใจ มีโอกาสเข้าใจได้ไหม โดยวิธีไหน

    ผู้ฟัง ถ้าจากการศึกษาก็คือ ก่อนฟังก็ไม่เข้าใจว่า เห็น ได้ยิน คิดนึก ว่าเป็นธรรม แต่เมื่อฟังก็เข้าใจขั้นฟัง ก็มีปัญญาขั้นฟัง ขั้นเข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ตัวตน บุคคล ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด มีลักษณะเฉพาะของเขา เมื่อฟังเข้าใจมากขึ้นเป็นสัญญาที่มั่นคง ก็สามารถรู้ตรงตามที่ฟังนั้นได้

    ท่านอาจารย์ เพราะพูดถึงทุกอย่างที่มีจริง ทั้งหมด แต่ลักษณะจริงๆ ไม่รู้ เพราะเกิดดับเร็วมาก หมดแล้ว แม้แต่คำว่า “ธรรมทั้งหลาย” ถามว่าอะไรบ้าง เห็นไหม แม้แต่สิ่งที่พูดถึงก็เกิดแล้วดับแล้วด้วย

    ความเป็นผู้ตรง สัจจะบารมี คือ การฟัง และไตร่ตรองสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เป็นจริงๆ อย่างนี้หรือไม่ ถ้าไม่จริง ไม่ตรง จะเก็บไว้แล้วเห็นว่าถูก หรือจะเก็บไว้ เพราะเห็นว่า ไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ

    ถ้าถามว่า ไปปฏิบัติเพื่ออะไร ลองเป็นตัวแทนตอบ

    ผู้ฟัง ไปปฏิบัติเพื่อให้มีสติไปรู้นาม และรูป

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ก่อน ไปปฏิบัติเพื่อให้มีสติ ไปรู้นาม และรูป เดี๋ยวนี้เป็นนาม เป็นรูปหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ แล้วที่จะไป มีนาม มีรูปอะไรหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วไปทำอะไร ให้รู้อะไร

    ผู้ฟัง เมื่อก่อนไปรู้ ก็ไปอยู่กับความนึกคิดทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วนึกคิดเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จะไปรู้อะไร ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่รู้ ไปที่ไหนจะพ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คิดนึกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ไม่รู้ แล้วเมื่อไรจะรู้ หวังว่าต่อไปจะรู้ ได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้มีก็ยังไม่รู้ และสิ่งที่หวังให้รู้ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่เกิดก็มีอย่างนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงก็ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู ได้ยินก็ต้องเป็นได้ยิน จะเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง จะเป็นการปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมหรือไม่ ที่จะไปสำนักต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ไปปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง โดยมากไปก็เพื่อให้รู้แจ้ง เห็นลักษณะธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วเดี๋ยวนี้ไม่มีธรรมที่จะรู้แจ้งหรือ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วไปไหน

    ผู้ฟัง ก็ไปตามสำนัก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถรู้ได้ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่รู้

    ผู้ฟัง ไปตามๆ กัน แล้วอยากจะทราบว่า การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สมควรแก่อะไร ธรรมอะไร

    ผู้ฟัง ธรรมในฝ่ายโสภณธรรม

    ท่านอาจารย์ คืออะไร

    ผู้ฟัง ก็คือปรมัตถธรรม ธรรมที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ เพื่อให้มีความเห็นถูกว่า ฟังธรรมขณะนี้เพื่ออะไร ยังไม่ต้องถึงปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ฟังให้รู้ และเข้าใจในลักษณะธรรมนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏหรือไม่ ขณะที่ฟังเข้าใจแล้ว รู้ไหมว่า ปัญญาสามารถเจริญขึ้นจนประจักษ์แจ้งแทงตลอดตรงตามที่ได้ฟังทุกคำ แต่ต้องเริ่มจากเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ขอถามถึงเมตตานิดหนึ่ง ดิฉันพบมาก หมายความว่าเป็นปัญหาเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คำถามคือว่า ความเมตตาของคุณสุรีย์ มีเฉพาะเพื่อนของคุณสุรีย์เท่านั้นหรือ

    ผู้ฟัง มีทุกท่าน แต่ว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คุณสุรีย์จะต้องเสียใจหมดเลย คนตั้งเยอะไม่ได้มาฟังธรรม

    ผู้ฟัง ก็เป็นญาติด้วย เป็นคนสนิทด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความเมตตาของคุณสุรีย์เฉพาะเพื่อนคนนี้ ไม่ได้คิดว่า เมตตา ไม่จำกัดว่าใคร ที่ไหน เมื่อไร ที่พบ จะเป็นญาติ หรือไม่ใช่ญาติ จะสนิทสนมคุ้นเคยหรือไม่ ก็มีความหวังดีที่ให้เขามีความเห็นถูก ผู้ที่มีพระมหากรุณาสูงสุด คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บำเพ็ญพระบารมีเพื่ออนุเคราะห์ให้ผู้ฟังมีความเห็นถูกต้อง จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ พระองค์สามารถอนุเคราะห์คนที่ไม่ได้สะสมมาที่จะฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกต้องหรือไม่ พระองค์เป็นใคร เราเป็นใคร คงจะจบได้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง อยู่ที่การสะสมของแต่ละบุคคล แม้พระพุทธองค์ก็ยังไม่สามารถยื้อยุดสิ่งนั้นได้

    อ.วิชัย เมื่อฟังสักครู่นี้กล่าวถึงธรรมที่ ๔ ประการที่เป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น ขอ กราบเรียนถามว่า รู้อย่างไรถึงเรียกว่าปัญญาในพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริง มี และสามารถรู้ได้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไรตามความเป็นจริง นั่นคือปัญญา

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึงเรื่องการเห็นขณะนี้ ก็เข้าใจว่า ขณะนี้เห็นมีจริงๆ เพราะเหตุว่ากำลังปรากฏอยู่ เข้าใจระดับนี้แล้วจะเจริญขึ้นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ อย่างน้อยที่สุด รู้ว่า สิ่งที่มีจริงมีแน่นอน สิ่งที่มีจริง ใครไปเปลี่ยนสภาพนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้หรือไม่

    อ.วิชัย ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่มีจริงเป็นลักษณะที่มีจริงเท่านั้นเอง เคยคิดไหมว่า ขณะนี้ที่เห็นเป็นสิ่งที่มีจริงเท่านั้น ไม่ใช่ของใคร และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย แม้สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็มีจริง ก็เป็นเพียงแค่สิ่งที่มีจริงเท่านั้น แต่ทีนี้เราไม่เคยรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่มีจริง เราคิดว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ และเข้าใจว่า คนมีจริง สัตว์มีจริง วัตถุต่างๆ มีจริง ไม่ได้เข้าใจว่า เพียงปรากฏให้เห็นแล้วหมดไป นั่นคือสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะที่เห็น

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวว่า เมื่อรู้แล้วย่อมละ ที่ว่าปัญญารู้แล้วละอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าก่อนได้ฟังอย่างนี้ รู้ไหมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาแม้มีจริง ก็ปรากฏเพียงชั่วคราว

    อ.วิชัย ก่อนฟังไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เริ่มมีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยจากสิ่งที่มีจริงๆ ว่า ไม่ต้องไปคิดทำอะไรทั้งสิ้น แต่ฟังแล้วเริ่มเข้าใจว่า ความจริงเป็นอย่างนี้หรือไม่ว่า สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ไม่ต้องเรียกอะไร มีจริงแน่นอน เพราะกำลังปรากฏให้เห็น และเริ่มเข้าใจว่า สิ่งนี้ต้องเกิด โดยที่ไม่มีใครไปทำให้เกิด บังคับบัญชาไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วก็ดับ สั้นมาก สิ่งนี้ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ฟังจนกว่าจะรู้ว่า ที่ว่าไม่ใช่ของใคร ก็เพราะเหตุว่าไม่ยั่งยืน เพียงมีปัจจัยเกิดปรากฏให้เห็นว่า สิ่งนี้มี สิ่งนี้คือไม่ใช่คน สิ่งนี้คือไม่ใช่ดอกไม้ เพียงแต่สามารถปรากฏให้เห็นได้ สิ่งที่มีในขณะนี้ปรากฏให้เห็นความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แล้วหายไปไหนหมดที่เห็น หายไปหรือไม่หรือยังอยู่

    อ.วิชัย เกิดแล้วก็ต้องดับไป

    ท่านอาจารย์ เหมือนยังอยู่ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเมื่อสักครู่นี้ นี่เป็นความรวดเร็วของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าช้าๆ ใครก็ต้องเห็นว่า เกิดแล้วก็ต้องดับไป ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ แต่เพราะการเกิดดับเร็วมากสุดจะประมาณได้ กล่าวได้ว่า ปรากฏหรือตั้งขึ้น มีขึ้นพร้อมนิมิต ทันทีที่เห็น แยกไม่ออก

    นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเข้าใจอย่างนั้น ไม่ใช่ความจริง จึงต้องฟังเพื่อให้รู้ว่า ทำไมที่เราว่ามีจริง แล้วหายไปไหนหมด เมื่อวานนี้ก็หายไปหมด แล้วขณะนี้ก็กำลังเป็นอย่างนั้นด้วย คือค่อยๆ หมดไปทีละขณะ ไม่เหลือเลย จนกระทั่งกว่าจะรู้ว่า แม้ปรากฏนิดเดียวก็หมดไปแล้ว

    อ.วิชัย ผู้ฟังใหม่อาจจะคิดว่า ฟังอย่างนี้ และจะเป็นประโยชน์อย่างไรกับชีวิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏจะติดข้องต้องการสิ่งนั้นหรือไม่ ถ้ารู้ว่า เพียงปรากฏแล้วหมดไป แล้วสภาพเห็นก็ไม่ใช่เราด้วย ถ้ามีเรา วันหนึ่งๆ เป็นทุกข์ เป็นสุข เพราะเราหรือการยึดถือว่าเป็นเราหรือไม่ เกือบจะไม่รู้เลยว่า แม้เป็นเพียงรูปธรรมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แค่เป็นรูป ปรากฏทีละอย่างด้วย เดี๋ยวแข็ง เดี๋ยวอ่อน ตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง แต่ก็ปรนเปรอรูปนี้ และรักรูปนี้อย่างยิ่ง แทบจะเรียกได้ว่า ทั้งหมดตลอดชีวิตทำมาหากินก็เพื่อตัวนี้ จะไปให้ตัวอื่นไหม ยึดแค่นี้ เพราะไม่รู้ความจริง แล้วอย่างไร ผล อย่างพระสูตรเมื่อวานนี้ เมื่อมีความติดข้องต้องการ ผลก็คือความทุกข์ ความโศกเศร้า เพราะเหตุว่ามีการยึดถือ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่รัก ไม่พอใจ ไม่ติดข้อง ถึงจะสูญไป หายไป ก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นเดือดร้อน เวลานี้ก็ได้ยินข่าวของคนที่จากโลกนี้ก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าคนนั้นเป็นคนที่รักคุ้นเคยสนิทสนม ก็เดือดร้อนตามลำดับ เห็นหรือยังว่า เมื่อมีความรัก ความติดข้อง ความพอใจ ต้องมีผล คือความทุกข์ ความโศกเศร้าแน่นอน

    อ.วิชัย เพราะฉะนั้น ความรู้หรือปัญญาย่อมละความติดข้องพอใจด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะความไม่รู้ทำให้ติดข้อง

    อ.คำปั่น ขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในพระสูตรที่นำมาสนทนาในวันนี้ ก็คือตั้งแต่ปฐมผลสูตรเป็นต้นไป อย่างเช่นประการแรก การคบสัตบุรุษ คำว่า “คบ” มีพยัญชนะที่หลากหลายมากที่แสดงให้เห็นว่า การคบนั้นคืออย่างไร ก็เริ่มตั้งแต่การไปมาหาสู่ การสมาคม การจงรักภักดี การเข้าไปนั่งใกล้ การฟังเขาพูด นี่แสดงถึงการคบ ซึ่งการคบนี้ก็เป็นเครื่องส่องให้เห็นว่า ชีวิตของแต่ละคนจะดำเนินไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อมได้ เพราะเหตุว่าถ้าคบคนพาลซึ่งไม่รู้ความจริง ผู้ที่มีปกติคิดชั่ว ทำชั่ว จิตใจของผู้ที่คบด้วย ก็จะคล้อยตามไปในทางไม่ดีได้ สามารถทำให้เราประสบความเสื่อมได้ ในทางตรงกันข้าม การคบสัตบุรุษ คบกับบัณฑิต ก็ย่อมเป็นทางทำให้เรานั้นดำเนินไปสู่ความเจริญได้ สูงสุดก็คือสามารถทำให้หลุดพ้นจากกิเลส เพราะการคบสัตบุรุษ เพราะการคบบุคคลที่มีปัญญา เพราะฉะนั้น การคบจึงเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับการคบคนประเภทใด ระหว่างคนพาลกับบัณฑิต หรือสัตบุรุษ

    สำหรับธรรมที่เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งมรรคผลทั้งหลาย ประการที่ ๒ คือ การฟังพระสัทธรรม สัทธรรมคือธรรมของผู้สงบ หรือธรรมที่ทำให้บุคคลนั้นถึงความสงบ ซึ่งสูงสุดที่ทรงแสดงไว้คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ หรือโลกุตรธรรม ๙ แต่ถ้าจำแนกโดยละเอียด สัทธรรมมี ๓ คือ ปริยัติสัทธรรม คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด เป็นปริยัติสัทธรรม ๒ คือ ปฏิปัตติสัทธรรม การอบรมเจริญขึ้นของปัญญาตามลำดับ จนถึงสัทธรรมที่ ๓ คือ อธิคมสัทธรรม คือการรู้แจ้งอริยสัจธรรมบรรลุเป็นพระอริยบุคคลต่างๆ

    สิ่งนี้คือการฟังสัทธรรม คือ การฟังธรรม สิ่งที่มีจริง เพื่อความเข้าใจถูกต้องตามลำดับ

    และประการที่ ๓ คือ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ภาษาบาลีก็คือ โยนิโสมนสิการ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่ใส่ใจในอารมณ์อย่างถูกต้อง เวลาที่แปลเป็นไทยแล้ว ความหมายก็จะคล้ายคลึงกันกับคำว่า ปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูก และธรรมที่เป็นไปเพื่อการเจริญขึ้นของปัญญาประการสุดท้าย ก็คือการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เริ่มตั้งแต่ปฏิปทาเบื้องต้น ทำความดีในชีวิตประจำวัน ทั้งในเรื่องของทาน ศีล การอบรมเจริญปัญญา เพื่อน้อมไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพื่อถึงความเป็นผู้สมควรแก่ธรรมซึ่งเป็นโลกุตรธรรมจริงๆ นั่นก็คือการรู้ธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ธรรม ๔ ประการนี้ จึงเป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่มนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงอย่างแท้จริง เพราะว่าเป็นธรรมที่ทำให้หมดจดจากกิเลส สามารถดับกิเลสในที่สุด

    อ.ประเชิญ ขอกราบเรียนถามเรื่องปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีธรรม ๒ ประการ ในสมัยนี้ตั้งแต่เด็กนักเรียน ใช้คำว่า “ปฏิบัติ” เหมือนกัน นั่งหลับตาทำสมาธิ สิ่งนี้จะเป็นคำว่า “ปฏิบัติธรรม” ในธรรมประการที่ ๔ ที่ท่านกล่าวถึงว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วก็ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง ถูกไหม ขณะที่ทำชั่วเป็นปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมหรือไม่

    อ.ประเชิญ ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เรายังไม่ต้องพูดถึง แต่พูดถึงเพียงขั้นต้น คือความดี เวลาที่ทำชั่ว เป็นธรรมที่ไม่ควรแน่นอน เพราะว่าเป็นทุจริตกรรม แล้วทำไมบางคนไม่ทำชั่ว เพราะเหตุว่าสะสมมาที่จะเห็นโทษของอกุศล แม้ขณะที่เกิดมาเป็นเด็ก แล้วยังไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องอะไรเลย แต่สะสมมาที่จะให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

    นี่คือการสะสมทีละเล็กทีละน้อยของการปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่การละอกุศลหรือไม่ เพราะเวลานี้เราไม่รู้ว่า เราเคยฟังธรรมกี่ภพกี่ชาติกี่ครั้ง สมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไหนก็ตามแต่ แต่จากฟังเข้าใจธรรมมากน้อยต่างกัน แม้แต่อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล เพราะมีอยู่ในใจ แม้ไม่เรียกชื่อ อย่างคนที่ไม่ทำชั่ว เขายังไม่รู้จักคำว่า “ชั่ว” ยังไม่รู้จักคำว่า “บาป” แต่สะสมมาที่จะไม่ทำ คนที่สะสมการให้เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นจริงๆ ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทนเลย ซึ่งอาจจะต่างคนซึ่งให้เพราะหวังผลตอบแทน นี่ก็เป็นความต่างกันแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    12 ก.พ. 2567