พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 583
ตอนที่ ๕๘๓
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒
ท่านอาจารย์ คนที่สะสมเรื่องการให้เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นจริงๆ ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน ซึ่งอาจจะต่างกับบุคคลซึ่งให้เพราะหวังผลตอบแทน นี่ก็เป็นความต่างกันแล้ว
เพราะฉะนั้น ปฏิปัตติธรรม สมควรแก่ธรรม เพื่อดับกิเลส จะได้ฟังมากน้อยอย่างไรก็ตาม เป็นอุปนิสัยที่สะสมมา แม้ไม่ได้ได้ยินได้ฟังคำนี้ แต่ความประพฤติเป็นไปก็เป็นไปในทางที่ดับกิเลส เวลาได้ยินได้ฟังก็รู้ และเข้าใจว่าหมายความถึงอะไร
เพราะฉะนั้น จากการที่มีความเข้าใจสะสมมา แล้วไม่ได้ยินได้ฟังอีก แต่การสะสมก็ทำให้มีอุปนิสัยอย่างนั้น เหมือนคนที่ได้เคยฟังธรรมมาแล้วมาก เมื่อได้ยินคำว่า “ธรรม” ก็เข้าใจได้ง่าย อย่างท่านพระสารีบุตรก็ไม่ต้องมานั่งคิดว่า ปฏิปัตติธรรมอย่างไร ขณะไหน สมควรแก่ธรรมอย่างไร แต่การสะสมมาก็เป็นพื้นเป็นปัจจัยให้ปัญญาระดับนั้นเกิดขึ้นฉันใด การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเห็นโทษของอกุศล อาจจะไม่ใช่ชาตินี้ เห็นมาแล้วกี่ชาติก็ได้ ก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้แม้ทำกุศลใดๆ ก็ไม่หวังการตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น และไม่ได้คิดด้วยว่า เป็นการขัดเกลากิเลส เพราะยังไม่รู้เรื่องกิเลส แต่อุปนิสัยสะสมมาที่จะละความเป็นตัวตน เวลาที่ได้ฟังมากขึ้น เข้าใจเพิ่มขึ้น ขณะนั้นก็คือเพิ่มการปฏิบัติที่สมควรแก่การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ตายตัวที่ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ คือ ปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรม คือเริ่มคล้อยตามด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ว่าชาติหนึ่งชาติใด และสามารถถึงการดับกิเลสได้ ถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้นก็ยิ่งเพิ่มการละคลายความเป็นตัวตนได้
อ.ประเชิญ เพราะฉะนั้นในศัพท์ที่ว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ที่ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายตรงนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เรื่องพิธีกรรมหรือเป็นการทำตามประเพณี นุ่งขาวห่มขาวนั่งหลับตา ใช่ไหม แต่เป็นคุณความดีที่บริสุทธิ์จริงๆ ตั้งแต่เบื้องต้น คือเสียสละแบ่งปันเพื่อส่วนรวม หรือไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือการเจริญขึ้นของปัญญา ตั้งแต่ความเข้าใจถูก และการสงบกิเลสในขั้นต่างๆ นี้เพื่อสมควร คือเพื่อโลกุตตระได้เช่นเดียวกัน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้ามีกิเลสมาก เห็นแก่ตัวมาก มีขณะใดบ้างที่จะสละ
อ.ประเชิญ แทบจะไม่มี วันๆ ก็คิดอยากจะได้ อยากจะเอาทั้งนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงจะให้ก็ด้วยความเห็นแก่ตัว ก็เป็นไปได้ การแลกเปลี่ยนก็ได้ ให้เพื่อหวังผลก็ได้ แต่ความจริงไม่ใช่ให้
อ.ประเชิญ หรืออย่างไปนั่งเป็นแถวเหมือนอย่างตามประเพณีที่สมัยนี้ใช้คำว่า สัปดาห์ส่งเสริม ไม่ได้ใช้คำว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าไม่เข้าใจ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไม่ได้ทรงแสดงธรรมไว้ ใครจะรู้ว่า อะไรเป็นอะไร ขณะนั้นผู้ที่กำลังนั่งอย่างนั้น เข้าใจอะไรหรือไม่ เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เพื่อปัญญา เพื่อความเห็นที่ถูกต้อง แต่ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่ยังไม่รู้ว่า เป็นธรรม แล้วหนทางที่จะรู้ว่า เป็นธรรม ไปนั่งโดยไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วจะรู้ไหมว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เพราะฉะนั้น ผลคืออะไร ถามถึงผลของการไม่รู้ไม่เข้าใจอะไร แม้ขณะนี้เป็นธรรมก็ไม่รู้ ถามก็คือไม่รู้ คนที่ไปนั่งลองถามดูว่า ธรรมคืออะไร อะไรเป็นธรรม จะตอบได้หรือไม่ แล้วจะไปหาธรรม โดยไม่รู้ว่า อะไรเป็นธรรม ก็ไม่เป็นเหตุผล ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะคนไม่รู้สิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริง
ข้อสำคัญที่สุด เคยพูดคำที่ไม่รู้ ใช่ไหม และต่อไปเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว จะพูดคำที่ไม่รู้ด้วยความไม่รู้นั้นต่อไปหรือไม่ มิฉะนั้นจะไม่มีประโยชน์จากการฟังธรรมเลย เพราะธรรมทำให้รู้ถูกต้อง อย่างที่ใช้คำว่า นั่งสมาธิ ถ้าถามว่า สมาธิคืออะไร ตอบว่าอย่างไร ไม่รู้ หรือรู้ พูดทำไมว่านั่งสมาธิ พูดก็ต้องเข้าใจ แล้วทำทำไมถ้าไม่รู้ ถ้าไม่รู้แล้วทำ ก็คือทำไปก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความรู้ แต่ละคำไม่ข้าม เพราะว่าเป็นสัจธรรม เป็นความจริง สามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องเพิ่มขึ้น ไม่ทำให้เข้าใจผิด และไม่ใช้คำผิด อย่างที่ใช้คำว่า “ใช้สติ” สติคืออะไร ไม่รู้ แล้วจะใช้อะไรได้ หรือใครรู้ เวลาจะใช้สติ ลองตอบว่า สติคืออะไร ถ้าตอบไม่ได้ จะใช้สติได้ไหม ใช้ปัญญา ปัญญารู้อะไร ปัญญาคืออะไร แล้วใครใช้ปัญญาได้ เก่งมากถ้าสามารถใช้ปัญญาได้ ลองคิดดูถึงความจริง ปัญญาคืออะไรก็ยังไม่รู้ แต่ใช้คำว่า ใช้ปัญญา สติคืออะไรก็ยังไม่รู้ แต่ใช้คำว่า ใช้สติ
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องไม่รู้ทั้งหมด
อ.ประเชิญ เรื่องการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ที่ท่านอาจารย์กล่าวตอนต้นว่า เป็นคนดี อย่างคฤหัสถ์เป็นคนดีของพ่อแม่ โดยได้ฟังธรรม และทำสิ่งที่ดีในชีวิตประจำวัน โดยไม่นั่งอย่างที่ว่า อย่างนี้ก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้ถึงธรรมได้เช่นกัน ใช่หรือไม่ ที่ว่าเป็นคนดีคือปฏิบัติทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เป็นพลเมืองดี ไม่ทำอกุศลกรรม เป็นคนไม่เห็นแก่ตัว เป็นคนดีจริงๆ บริสุทธิ์ ไม่มีมลทิน
ท่านอาจารย์ คนดี แค่นี้หรือ ดีกว่านี้ได้หรือไม่
อ.ประเชิญ ดีกว่านี้ก็มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ยังไม่พอ ใช่ไหม
อ.ประเชิญ ไม่พอ แต่ทีนี้รวมถึงความดีในระดับนี้ด้วยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ความดีไม่ใช่ใคร ความดีเป็นธรรม มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ความดีแค่นี้พอหรือไม่ หรือยังมีดีกว่านี้อีก
อ.ประเชิญ ดีมากกว่านี้ก็มี
ท่านอาจารย์ แล้วจะดีเพียงเท่านี้หรือ เท่าที่เป็นอยู่ จะเป็นอย่างนี้ แค่นี้ เกิดมาเป็นคนดี ก็จะดีแค่นี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือจะดีกว่านี้ก็ได้ เมื่อเข้าใจเรื่องธรรมที่เป็นฝ่ายดีเพิ่มขึ้น
อ.ประเชิญ เพราะฉะนั้น ความดีก็มีหลายระดับ
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่ใช่ดีแค่นี้แล้วจะเป็นพระโสดาบัน
อ.ประเชิญ ยังไม่พอ ต้องอบรมเจริญ ต้องให้มากด้วย
ท่านอาจารย์ สมควรแก่เหตุ และผล ผลคือพระโสดาบัน คิดดู ไม่ใช่ปุถุชน เป็นพระอริยบุคคล แล้วดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย คิดดู กิเลสที่เกิดแล้วไม่เกิดอีก ความดีจะระดับไหน
อ.ประเชิญ ต้องมาก
ท่านอาจารย์ เริ่มจากไหน
อ.ประเชิญ เริ่มจากการฟัง
ท่านอาจารย์ เริ่มจากเข้าใจถูก เห็นถูก เพราะได้ฟังพระธรรม
อ.ประเชิญ เพราะฉะนั้น ความดีในระดับที่มีปัญญาสามารถดับกิเลสได้ เป็นปัญญาขั้นสูง เรียกว่าบรรลุเป็นพระอริยบุคคล คือ ปฏิเวธ แทงตลอดในสัจธรรม นั่นคือขั้นสูง เปลี่ยนจากปุถุชนที่มีกิเลสมาก มีความเห็นผิดมาก แต่เข้าใจถูกเห็นถูก และรู้ความจริงเป็นพระอริยบุคคล
ท่านอาจารย์ คนดีที่ไม่มีปัญญา รู้ตัวหรือไม่ว่า ยังมีกิเลสอยู่ หรือคิดว่าเราดี ใครๆ ก็ชมว่าเราดี เป็นลูกที่ดี เป็นหลานที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี ทั้งหมดดี แต่ว่าไม่มีปัญญา นี้ก็เป็นความต่างกัน
อ.ประเชิญ ถ้าเป็นคนดี ไม่ได้ทำอะไรให้ใครเดือดร้อน แต่ถ้ายังมีกิเลส ก็ยังไม่บริสุทธิ์จริงๆ แต่ถ้าดับสิ่งที่ไม่ดี ที่ท่านเรียกว่า มลทิน หรืออุปกิเลส หรือเครื่องเศร้าหมองของจิต ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นถึงจะดับได้
ท่านอาจารย์ ปัญญาก็เป็นความดีอีกระดับหนึ่ง เพราะว่าคนที่เกิดมาเป็นคนดีมีมาก แต่ดีโดยไม่เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เป็นดีที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ดีอีกระดับคือเป็นคนดี และมีปัญญาด้วย แต่ยังไม่ได้ดับกิเลสหมด ดีชั่วครั้งชั่วคราวเวลาที่ไม่โกรธ ก็เป็นกุศล ธรรมฝ่ายดี สักครู่หนึ่งอกุศลก็เกิดแล้ว ความจริงเร็วกว่าสักครู่มากมาย เพราะฉะนั้น ก็มีส่วนดีที่มีปัญญา แต่ยังไม่ได้ดับธรรมที่เป็นอกุศลโดยเด็ดขาดที่จะไม่เกิดอีก ซึ่งสามารถเป็นไปได้ด้วยปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นให้รู้ว่า บุคคลที่อบรมเจริญปัญญา และดับกิเลสแล้วมีเป็นจำนวนมากในอดีต และก่อนนั้นที่ท่านจะเป็นคนที่ดับกิเลสด้วยปัญญา ท่านก็อบรมปัญญามาแล้วมากมายในอดีต กว่าจะถึงการดับกิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีใครสามารถดับกิเลสได้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระธรรม แต่เพราะเหตุว่าปัญญาก็เจริญขึ้นได้ และบุคคลนั้นเองก็จะรู้ว่า ปัญญาคืออะไร ปัญญารู้อะไร ขณะนี้เป็นปัญญาระดับไหน ก็สามารถอบรมปัญญาให้มากขึ้น เพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลได้จริงๆ ไม่ใช่หลงผิดไปนั่งแล้วไม่รู้อะไร แล้วหวังจะดับกิเลสเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่หวังดับกิเลส แต่หวังเพียงรู้แจ้งสภาพธรรมที่เป็นธรรมกำลังเกิดดับขณะนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับขั้น คือ แม้ขณะนี้ถ้าบอกไม่ได้ด้วยความเข้าใจของตนเองว่าขณะนี้อะไรเป็นธรรม ผู้ที่ไปนั่ง รู้หรือไม่ว่า อะไรเป็นธรรม
อ.ประเชิญ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ฟัง ไม่ได้เข้าใจพระธรรมคำสอน
ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้จึงไปนั่ง ก็ชัดเจน
อ.ประเชิญ คิดว่านั่งแล้วจะรู้
ท่านอาจารย์ แล้วไปใช้คำว่า ทำสมาธิ โดยที่ไม่รู้ว่า สมาธิคืออะไร ก็ไม่รู้ทั้งนั้น
อ.ประเชิญ แล้วก็ชอบพูดว่า นั่งไป เดี๋ยวก็รู้เอง
ท่านอาจารย์ แล้วรู้อะไรที่ว่ารู้เอง ก็บอกว่า ตอบไม่ได้ ต้องรู้เอง นี้เป็นคำตอบของผู้ชักชวนให้ไปนั่ง ก็ไม่ได้พูดอะไรนอกจากแล้วจะรู้เอง แล้วรู้เองนั้นรู้อะไร ก็บอกว่า รู้เอง รู้เองนั่นไม่รู้ต่างหาก ถึงบอกไม่ได้
ผู้ฟัง ถ้าเราอยู่ในสถานที่ที่ไม่สะดวกในการฟังธรรม เช่นนอกบ้าน แล้วธรรมปรากฏ สติไม่ตามรู้ ถ้าจะคิดว่าตามรู้ ก็เป็นเราทำ หรือหาวิธีอีก จึงเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ถ้าสติไม่ตามรู้ แล้วอย่างไรดี
ท่านอาจารย์ ก็เดือดร้อน เดือดร้อนเป็นเราหรือไม่ เป็น เห็นหรือไม่ ตอนแรกบอกทุกอย่างเป็นธรรม พอความเดือดร้อน เดือดร้อนไม่ใช่ธรรม เป็นเรา แล้วอย่างนี้เมื่อไรจะเข้าใจคำว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เห็นไหมว่าผิดแล้ว ถ้าไม่รู้ว่าผิด ก็หาทางที่จะทำให้ไม่เดือดร้อน แต่ว่าเป็นเรา
เพราะฉะนั้น ความเป็นเราก็เพิ่มขึ้น การเข้าใจว่าเป็นธรรมก็น้อยลง จนกระทั่งเพียงแต่ชื่อเท่านั้นที่พูดตามได้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เป็นอนัตตา
ผู้ฟัง สติไม่ตามรู้ก็เดือดร้อน หลังจากนั้นบางทีก็สงสัยเมื่อรู้ขึ้นมาว่า เราทำหรือเราหาวิธี
ท่านอาจารย์ แสดงว่าความเข้าใจธรรมยังไม่พอจริงว่า เป็นธรรม เพราะเหตุว่าเราอยากมีสติแน่ๆ ถูกต้องไหม แล้วถ้ายังไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม สติจะเกิดรู้ไหมว่า ความเดือดร้อนนั้นเป็นธรรม เห็นไหม จะไปรู้อะไร ขณะนั้นความเดือดร้อนเป็นธรรม แล้วไม่รู้ จนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า แม้ความเดือดร้อนก็เป็นธรรม ถ้ารู้อย่างนี้ สติจึงจะเกิด
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปสงสัยว่า ทำไมสติไม่เกิด ก็เป็นธรรมไม่รู้ว่า เดือดร้อนเป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้จะสงสัยไหมเวลาสติไม่เกิด อย่างอื่นเกิดแล้วทำไมสติไม่เกิด เพราะไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม
เพราะฉะนั้น เวลานี้แม้แต่คำว่า ขณะนี้มีแต่ธรรมลักษณะต่างๆ เท่านั้น ก็ยังไม่ถึงการเป็นปัจจัยให้สติเกิดแล้วรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ไม่น่าสงสัยเลยว่า สติจะเกิดต่อเมื่อมีความรู้ที่มั่นคง ที่ใช้คำว่า สติมีอะไรเป็นปทัฏฐาน คือเป็นธรรมที่ให้สติเกิดขึ้นได้ สัญญา ความจำที่มั่นคง พูดอย่างนี้ แต่ว่าสัญญา ความจำที่มั่นคง จำอะไร ลืมแล้วว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วสติสัมปชัญญะจะเกิดได้อย่างไร ต่อไปนี้ไม่ต้องสงสัยเลยเวลาสติไม่เกิด เพราะไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม
เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังเพื่อให้เข้าใจเพิ่มขึ้น จนกระทั่งมั่นคงว่า ขณะนี้เดี๋ยวนี้เป็นธรรม เมื่อรู้อย่างนี้เป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะรู้สิ่งที่ปรากฏเพราะเกิดแล้ว แล้วไม่ต้องไปหาทางอะไรทั้งสิ้น แล้วไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมสติสัมปชัญญะไม่เกิด เพราะไม่รู้ว่า ขณะนั้นสิ่งนั้นเป็นธรรม เช่น ความเดือดร้อนก็เป็นธรรม
วันหลังจะมีคำถามอย่างนี้อีกหรือไม่
ผู้ฟัง ที่ผมเรียนถามเพราะฟังในเทปวิทยุ ประมาณครั้งที่ ๓๓๔ ท่านอาจารย์อธิบายว่า คนที่ฟังมามากแล้วไม่นำสิ่งที่ฟังมาประพฤติปฏิบัติตาม
ท่านอาจารย์ ก็เลยอยากจะประพฤติปฏิบัติตามคือระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยความเป็นเรา
ผู้ฟัง ทราบจากท่านอาจารย์ว่า จะเป็นเราอีก ก็ไม่รู้ว่าจะอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จะอย่างไร เดี๋ยวนี้สิ่งที่เกิดแล้วก็หมดไป สิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นธรรมที่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะจะรู้สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้ว่าเป็นธรรม
ได้ยินคำว่า เห็น มีเห็น เข้าใจว่าเห็นเป็นธรรม ได้ยินคำว่า แข็ง มีแข็ง รู้ว่าแข็งเป็นธรรม แต่ทั้งหมดที่ยังไม่เอ่ยชื่อก็มี เกิดแล้วดับไปแล้ว โดยไม่รู้ว่า เป็นธรรม
เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะจะเกิดได้อย่างไรในเมื่อไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะสติระลึกลักษณะที่เป็นธรรมตามที่ได้ฟัง เพื่อให้เห็นความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง คำว่า รส รสะ ทำไมถึงแปลว่า กลิ่นในภาษาไทย แล้วทำไมปทัฏฐานถึงแปลว่า เหตุใกล้ ทำไมถึงแปลห่างไกลไปมาก
ท่านอาจารย์ ก็ขอให้ทราบว่า สภาพธรรมมีจริง แต่ยากแสนยากที่จะรู้ เพราะฉะนั้น แม้ว่าลักษณะของสภาพธรรมมีจริง แต่ความละเอียดของธรรมนั้นก็คือว่า สามารถกล่าวถึงธรรมโดยกิจด้วย หรือโดยอาการที่ปรากฏด้วย และโดยเหตุใกล้ที่ทำให้สภาพธรรมนั้นปรากฏด้วย
เพราะฉะนั้น เหตุผลที่แสดงลักษณะ แล้วก็กิจ อาการปรากฏ และเหตุใกล้ เพื่อให้เข้าใจแม้สิ่งเดียว ธรรมอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกหนึ่ง หรือจิต ก็มีสภาพที่สามารถพิจารณาไตร่ตรองแล้วเข้าใจในความเป็นสภาพนั้นได้ เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวเพียงลักษณะก็ยาก เพราะเกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้ากล่าวถึงส่วนอื่นประกอบให้รู้ว่านี่คือสภาพธรรมนั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงโดยกิจของสภาพธรรมนั้น โดยอาการปรากฏของสภาพธรรมนั้น โดยเหตุใกล้ของสภาพธรรมนั้น ก็สามารถเข้าใจสภาพนั้นว่า ต่างจากสภาพธรรมอื่น เพราะว่าทรงแสดงลักษณะ กิจ อาการปรากฏ และเหตุใกล้ของแต่ละอย่าง ซึ่งแม้ว่าดูคล้ายกัน แต่ถ้าพิจารณาเรื่องกิจ เรื่องอาการปรากฏ และเหตุใกล้ให้เกิด ก็จะเห็นว่า ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ด้วยพระมหากรุณาก็ทรงแสดงสภาพธรรมแต่ละอย่าง โดยลักษณะที่ต่างกัน และโดยกิจหน้าที่ที่ต่างกัน และโดยอาการปรากฏที่ต่างกัน และโดยเหตุใกล้ที่ต่างกันด้วย ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง
การศึกษาทั้งหมด ศึกษาธรรม ก็คือสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริง ถ้าศึกษาแล้วไม่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ประโยชน์อะไร มีแต่ชื่อ แล้วก็มีแต่เรื่อง ทั้งๆ ที่สภาพธรรมในขณะนี้ก็กำลังมีจริงๆ ให้สามารถค่อยๆ เข้าใจได้ แต่เพราะความละเอียด ความลึกซึ้ง และการเกิดดับของสภาพธรรมเร็วมาก ไม่ว่าจะกล่าวถึงสภาพธรรมใด ขณะนี้เป็นต้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงสภาพธรรมใด สภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดดับไปแล้วนับไม่ถ้วน เช่น กล่าวถึงเห็น เพียงกล่าวถึงเห็น เห็นก็ดับแล้ว แล้วก็เกิด แล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลา ไม่ปรากฏอาการที่หมดไป โดยไม่มีใครสามารถไปหยั่งรู้ได้ถึงความรวดเร็วนั้น นอกจากปัญญาที่เริ่มค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า นี่เป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นคือ นี่เป็นธรรม ฟังเรื่องเห็น เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นเป็นธรรม ฟังเรื่องได้ยิน ได้ยินมีแน่นอน และขณะที่กำลังฟังเรื่องได้ยิน ใจคิดเรื่องอื่นหรือไม่ ถ้าขณะนั้นที่กำลังฟังเรื่องได้ยิน และใจคิดถึงเรื่องอื่น จะไม่รู้ที่สภาพที่ได้ยินทั้งๆ ที่ได้ยินมีจริงๆ ทุกคนรับรอง ได้ยินเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ก็เป็นเพียงเรื่องราวว่า ได้ยินเกิดขึ้นแล้ว ดับไปแล้ว หมดไปแล้ว ไม่ใช่การรู้ที่ลักษณะของสภาพที่ได้ยิน
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า เป็นธรรม ก็คือเมื่อพูดถึงธรรมใด สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนั้น จนกว่าสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่เกิดแล้วดับไป อย่างจิตต่างกับเจตสิก และเจตสิก ๕๒ แต่ละเจตสิกก็มีลักษณะที่ไม่เป็นเจตสิกอื่นไปได้ หรือไม่เป็นสภาพธรรมอื่นได้ ต้องเป็นสภาพนั้นเท่านั้น อย่างผัสสะเป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ เวทนาเป็นสภาพที่กำลังรู้สึก ไม่ใช่ความรู้สึกเปล่าๆ แต่ว่าต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้สึกอย่างนั้น เวลาที่เห็นสิ่งที่น่าดู พอใจ มีความสบายใจเกิดขึ้น เพราะเห็นสิ่งที่น่าดู
นี่แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกมีในอารมณ์ในสิ่งที่กำลังปรากฏให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้น และจิตก็ไม่ใช่ความรู้สึก จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะจนละเอียดอย่างยิ่ง เพื่อให้เห็นว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง
มีความสงสัยในเรื่องของพยัญชนะไหม เพราะเป็นภาษาบาลี แต่ว่าคนไทยพูดภาษาไทย ฟังภาษาไทยเข้าใจ ก็จะทำให้สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังมีจริงๆ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 541
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 542
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 543
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 544
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 545
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 546
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 547
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 548
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 549
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 550
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 551
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 552
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 553
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 554
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 555
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 556
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 557
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 558
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 559
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 560
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 561
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 562
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 563
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 564
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 565
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 566
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 567
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 568
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 569
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 570
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 571
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 572
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 573
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 574
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 575
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 576
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 577
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 578
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 579
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 580
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 581
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 582
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 583
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 584
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 585
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 586
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 587
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 588
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 589
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 590
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 591
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 592
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 593
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 594
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 595
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 596
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 597
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 598
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 599
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 600