พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 584
ตอนที่ ๕๘๔
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒
ท่านอาจารย์ มีความสงสัยในเรื่องของพยัญชนะไหม เพราะเป็นภาษาบาลี แต่ว่าคนไทยใช้ภาษาไทย ฟังภาษาไทยเข้าใจ ก็จะทำให้สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังมีจริงๆ เพราะฉะนั้น เกือบจะไม่ต้องไปติดข้องในภาษาอื่น ซึ่งไม่ใช่ภาษาที่ทำให้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ที่รู้ภาษาบาลีก็เป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมด้วยภาษามคธีกับชาวมคธ คนในเมืองนั้นฟังแล้วเข้าใจทันทีเหมือนคนไทยกำลังฟังภาษาไทยที่พูดถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏ ก็กำลังเข้าใจได้ในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ภาษาในขณะที่เราเข้าใจความหมายหรือลักษณะของสภาพธรรมแล้ว พอพูดภาษาบาลี ใช้คำบาลี ก็เหมือนกับความเข้าใจของเรา แต่ความเข้าใจไม่ว่าจะเป็นภาษาไหนต้องลึกซึ้ง เช่น คำว่า “จิต” ในภาษาไทย จิตตะ ในภาษาบาลี หมายถึงสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ เฉพาะในขณะที่กำลังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏให้รู้ ก็หมายความว่ามีธาตุหรือจิตกำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้ แต่เจตสิกแต่ละอย่างก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เฉพาะลักษณะที่เป็นสภาพธรรมนั้น ไม่สามารถแลกเปลี่ยนหรือก้าวก่ายไปทำหน้าที่ของสภาพธรรมอื่นได้
ฟังธรรมแล้วก็รู้ประโยชน์ในการที่ทรงแสดงเรื่องลักษณะ เรื่องกิจ เรื่องอาการปรากฏ และเหตุใกล้ของสภาพธรรมนั้นๆ เพื่อเข้าใจถูก เพื่อเห็นถูก ไม่สับสน
ตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องพยัญชนะภาษาบาลีไหม
ผู้ฟัง คำรวมที่จะเรียกลักษณะ เรียกกิจ เรียกเหตุใกล้ คำรวมนั้นคืออะไร
ท่านอาจารย์ ก็คือสภาพธรรม
ผู้ฟัง สภาพธรรม
ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นธรรมแล้ว ไม่เพียงแต่พูดแล้วจะเข้าใจได้ แล้วธรรมอะไร มีลักษณะอะไร แล้วทำกิจอย่างไร แล้วเกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด โดยมากเราไปเรียนแบบชื่อ มีคำ ลักขณาทิจตุกกะ มาจากคำว่า ลักขณะ กับอาทิ และจตุกกะ
ขอเชิญคุณคำปั่นค่ะ
อ.คำปั่น ผู้ศึกษาธรรม ศึกษาพระอภิธรรม จะได้ยินคำนี้บ่อยเหมือนกัน ก็คือ ลักขณาทิจตุกะ ซึ่งมาจากคำ ๓ คำรวมกัน คือ คำแรกคือ ลักขณะหรือลักษณะ คำที่สอง คือ อาทิ คำที่สาม คือจตุกกะ
ลักษณะหมายถึงสภาพธรรมที่มีจริง มีเครื่องหมาย มีลักษณะให้รู้ เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง อาทิ คือ เป็นต้น จตุกกะ ก็คือ หมวด ๔ เวลาที่แสดงสภาพธรรม สภาพธรรมแต่ละอย่างก็จะมีทั้งลักษณะ มีทั้งกิจ มีทั้งเหตุใกล้ให้เกิด และมีทั้งอาการที่ปรากฏ จึงรวมเป็น ลักขณาทิจตุกกะ ก็คือหมวด ๔ แห่งสภาพธรรม มีลักษณะ มีกิจ มีเหตุใกล้ให้เกิด และมีอาการปรากฏ
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบคุณสวนิตหายข้องใจหรือยัง
ผู้ฟัง คือคำว่า “รส” รสะ ทำไมถึงแปลว่า กิจ ซึ่งภาษาบาลีด้วยกัน
ท่านอาจารย์ รสะมี ๒ ความหมาย ขอเชิญคุณคำปั่น กิจรสะ สัมปัตติรสะ
อ.คำปั่น คำว่า “รส” มี ๒ ความหมาย คือ สัมปัตติรส รสคือความถึงพร้อม ความหมายว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างมีความสมบูรณ์อยู่ในสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ และที่สำคัญสภาพธรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีกิจ มีหน้าที่ จึงใช้คำว่า กิจรสะ หรือกิจ เช่น จิตเกิดขึ้นทำกิจได้หลายกิจตามประเภทของจิต อย่างจิตเห็นก็ทำทัสสนกิจ จิตได้ยินก็ทำสวนกิจเป็นต้น คือจิตแต่ละประเภท แต่ละดวงก็มีกิจหน้าที่ต่างกัน สิ่งนี้เป็นกิจรส
ขอกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์อธิบายเพิ่มเติม
ท่านอาจารย์ อย่างลักษณะของจิตก็คือว่า ถ้าไม่มีจิต จะมีอะไรปรากฏไหม ถ้าไม่มีธาตุรู้ ก็จะไม่มีอะไรปรากฏ แต่เพราะมีธาตุ ซึ่งก็เหมือนธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ธาตุชนิดนี้ไม่แข็ง แล้วไม่อ่อน ไม่ร้อน ไม่เย็น แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งพิเศษ คือ เกิดเมื่อไรต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ
ด้วยเหตุนี้ในขณะนี้ หรือนานแสนนานมาแล้ว หรือต่อไปข้างหน้า ธาตุชนิดนี้เกิดเมื่อไร ก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่ถ้าแยกลักษณะกับจิต สภาพของจิตใครจะรู้ได้ว่า เดี๋ยวนี้มีจิต ก็เพราะเหตุว่าลักษณะของจิตที่เปลี่ยนไม่ได้เลย คือเป็นธาตุที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ขณะนั้น ใช้คำว่า “อารัมมณะ หรืออาลัมพนะ” ตัวจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่จำกัด จิตรู้แจ้งได้ทั้งหมด จิตไม่ใช่ปัญญา เพียงทำหน้าที่รู้ลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ โดยที่สภาพธรรมอื่นใดไม่สามารถเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของสภาพที่ปรากฏได้นอกจากจิต
ด้วยเหตุนี้ลักษณะของจิตก็เป็นสภาพที่รู้ รู้อะไร รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ชนิดไหน รู้แจ้ง เสียงมีหลายเสียง แต่ละเสียงเพราะจิตรู้แจ้ง เพราะฉะนั้น เสียงที่ปรากฏจึงต่างกัน เพราะจิตสามารถรู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของเสียงที่ปรากฏ
นี่คือลักษณะของจิต เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้หรือไม่
นื่คือการให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน และกล่าวถึงบ่อยๆ กล่าวถึงจิตบ่อยในวันหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วจิตเป็นธรรม มีปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้น เรื่องของการรู้แจ้ง หรือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยตลอดทั้งหมด เป็นเรื่องที่ละเอียด ขณะนี้มีจิต ใครรู้แจ้งลักขณาทิจตุกกะที่กล่าวถึง หมายความว่า เมื่อกล่าวถึงจิต ไม่ได้มีแต่เฉพาะลักษณะ มีกิจด้วย มีอาการปรากฏด้วย และมีเหตุใกล้ให้เกิดด้วย
เพราะฉะนั้น จึงใช้คำรวมในภาษาบาลี กล่าวถึงสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ก็กล่าวถึงลักษณะเป็นต้น หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องมีลักษณะให้รู้ว่าเป็นสิ่งนั้น อย่างเวทนา ความรู้สึก ต้องมีลักษณะที่ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
นี่คือเป็นลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งซึ่งมีจริงๆ ที่สามารถรู้ได้ว่า มี เพราะลักษณะนั้นปรากฏให้รู้ว่า มี ไม่ใช่ไม่มี เพราะฉะนั้น จึงต้องกล่าวถึงลักษณะ และใครจะรู้แจ้งถึงกิจ ใครจะรู้แจ้งถึงอาการที่ปรากฏ หรือใครจะรู้แจ้งถึงเหตุใกล้ให้เกิดของสภาพธรรมทั้งหมด ฟังได้ เข้าใจได้ แต่ที่จะเริ่มรู้จริงๆ ว่า เป็นธรรม ก็เป็นสิ่งหลังจากที่ปริยัติ รอบรู้ในการฟัง เข้าใจจริงๆ เป็นปัจจัยให้เกิด สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในขณะนี้ได้
สำหรับเรื่องกิจ น่าสงสัยใช่ไหมว่า ทำไมมีคำว่า “รสะ” ความจริงสภาพธรรมที่มีจริงๆ มีกิจด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะลักษณะ แล้วกิจก็มี ๒ อย่าง คือ กิจรสะ สัมปัตติรสะ ไฟ ร้อนไหม ทำอะไรได้บ้าง แค่ร้อนเฉยๆ หรือยังสามารถมีกิจของสภาพที่ร้อนนั้นด้วย อาหารเย็นๆ พอถูกความร้อนก็ค่อยๆ อุ่นขึ้น
เพราะฉะนั้น แม้แต่ความร้อน ซึ่งเป็นลักษณะที่ร้อน ก็มีกิจ มีรสะ รสะคือกิจ แต่ว่ามี ๒ อย่าง กิจรสะ สัมปัตติรสะ แต่ภาษาไทยจะใช้คำว่า กิจ มากกว่าอย่างอื่น เพราะพอจะรู้ได้ว่า หน้าที่การงานของสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นอย่างไร แต่สัมปัตติรสะ ปรากฏความสมบูรณ์ถึงพร้อมของความร้อนนั้น เผาบ้านได้ไหม แค่อุ่นนิดๆ ไม้ขีดไฟก้านเดียว สามารถทำลายได้ไหม
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็เป็นเรื่องที่กว่าจะเข้าใจว่า เป็นธรรม ในสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรื่องราว แต่คำที่มีส่องถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมโดยละเอียด อย่างเมื่อวานนี้ในพระสูตรก็มีข้อความ ก่อนที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ผัสสะปรากฏ ขณะนั้นมีผัสสะไหมคะ หรือไม่มีผัสสะ เดี๋ยวนี้ผัสสะคือสภาพเจตสิกที่กระทบอารมณ์ ถ้าผัสสะกระทบเสียงเป็นปัจจัยให้ได้ยินเสียง ถ้าผัสสะกระทบแข็ง จิตจะได้ยินเสียงไหม เจตสิกเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน และรู้อารมณ์เดียวกันด้วย เป็นนามธรรมซึ่งเข้ากันสนิท เหมือนมีจิตเท่านั้น แต่ความจริงทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้น ผัสสะไม่ใช่จิต ไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ เพราะฉะนั้น เวลาที่ผัสสะกระทบเสียง เป็นปัจจัยให้จิตที่เกิดพร้อมผัสสเจตสิกได้ยินเสียง ไม่ใช่ไปคิดนึกอะไรทั้งสิ้น แต่เวลาคิดนึก ผัสสะกระทบเรื่องที่คิดหรือคำที่จำได้ เพราะฉะนั้นจิตก็กำลังรู้แจ้งคำ หมายความว่า ไม่มีสิ่งอื่นที่จะให้รู้ขณะนั้น นอกจากคำนั้นเท่านั้น
นี่แสดงให้เห็นว่า การศึกษาธรรม ถ้าสามารถเข้าใจว่า ธรรมคือเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ไปตามตำรา คำมาก่อน นามธรรมมาก่อน รูปธรรมมาก่อน นั่นคือไม่ใช่ความถูกต้อง แต่ความถูกต้องคือเดี๋ยวนี้ อะไรที่ปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสถึงสภาพธรรมนั้น
เพราะฉะนั้น ผัสสะมีจริง เวทนา ความรู้สึกมีจริง แล้วจะเรียกอะไร แสดงว่าทั้ง ๒ อย่างเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่อย่างเดียวกัน แม้จะเกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกันก็ตาม
ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมจึงละเอียด เพราะเหตุว่าจะนำไปสู่ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีกำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ และชีวิตจริงๆ ก็ดำรงอยู่เพียงชั่ว ๑ ขณะ ถ้าเพียงขณะนี้ดับ แล้วไม่มีจิตเกิดสืบต่ออีก ก็คือโลกไม่ปรากฏ อะไรไม่ปรากฏ เป็นที่สุดของโลก แต่ยังไม่ถึงที่สุดของโลก ก็เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจิตขณะนี้ดับไป จิตขณะอื่นก็เกิดสืบต่อ
เพราะฉะนั้น อาการปรากฏของจิตคือการเกิดดับสืบต่อ ซึ่งไม่มีใครรู้ ทั้งๆ ที่เป็นลักษณะที่ปรากฏจริงๆ ว่า ถ้าจิตขณะก่อนไม่มี จิตขณะนี้ก็ไม่มี ถ้าเห็นขณะนี้ดับแล้ว แล้วไม่มีสภาพธรรมที่เป็นจิตเกิดสืบต่อ ขณะได้ยิน หรือขณะคิดนึกขณะนี้ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น อาการที่ปรากฏให้รู้ว่า ยังมีจิต ก็คือว่า แม้จิตเกิดแล้วดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะอื่นเกิดปรากฏสืบต่อไปให้รู้ได้ว่า นี่เป็นจิตที่กำลังเห็นบ้าง กำลังได้ยินบ้าง กำลังคิดนึกบ้าง ถ้าจิตดับ ไม่มีจิตอื่นเกิดสืบต่อ ก็ไม่ใช่สภาพธรรมซึ่งเป็นจิต เพราะลักษณะของจิตเกิดแล้วดับ การดับของจิตที่ดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ชีวิตจริงๆ ก็ดำรงอยู่ตราบเท่าที่จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น แม้ว่าดับไปแล้วก็เกิดอีก ดับไปแล้วก็เกิดอีก ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงขณะนี้ แล้วก็ต่อไปจนกว่าจะถึงขณะสุดท้าย
ก็เป็นสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แต่เวลาที่เรานำคำมาพูด ลักขณาทิจตุกะ เราก็ไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงก็หมายถึงสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แต่เพื่อให้เข้าใจชัด ก็แสดงทั้งลักษณะ ทั้งกิจ ทั้งการปรากฏ และทั้งเหตุใกล้ด้วย
อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ที่ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” นั้นคืออะไร และปัญญาที่จะรู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ คือรู้ในระดับไหน
ท่านอาจารย์ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ไม่ใช่ไม่มี
อ.วิชัย หมายถึงมีลักษณะให้รู้ได้
ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงๆ มีแน่ๆ คือสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น หรือจิตที่กำลังเห็น ถูกต้องไหม มีแน่ๆ ขณะที่กำลังได้ยิน เสียงมีแน่ๆ จริงๆ ลักษณะของเสียงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แล้วก็มีจิตที่ได้ยินด้วย
เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงดับหรือไม่
อ.วิชัย เสียงดับ เมื่อกี้ก็ผ่านไปแล้ว ไม่มีแล้ว
ท่านอาจารย์ คือหมายความว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ หมายความว่าสิ่งนั้นต้องเกิด จึงปรากฏได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ความจริงคือสิ่งนี้ต้องเกิด ไม่มีใครหยั่งไปถึงการเกิดขึ้นของสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท เวลาเกิดแล้วสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้เป็นสิ่งเดียวที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทรูป รูปต่อรูป แต่เป็นรูปพิเศษ จักขุปสาทไม่ใช่ความแข็ง ธาตุดิน หรือไม่ใช่ความร้อน ธาตุไฟ แต่เป็นรูปที่สามารถกระทบสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แสดงว่า จักขุปสาทต้องเกิด สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นขณะนี้ก็ต้องเกิดด้วย เมื่อเกิดแล้วยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้ธาตุชนิดหนึ่ง คือจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ ทั้งหมดดับ ไม่มีอะไรเหลือสักขณะเดียว ไม่มีจริงๆ แต่ยากที่จะเข้าใจได้ เพราะอาการปรากฏของจิตคือเกิดดับสืบต่อ จึงไม่ปรากฏว่า ขณะก่อนนั้นดับแล้ว แล้วขณะนี้ก็ไม่ใช่ขณะก่อน แต่ว่าเป็นไปอย่างเร็วสุดที่จะประมาณได้ ยิ่งกว่านักเล่นกล
เพราะฉะนั้น จึงไม่มีใครสามารถจะคิดนึกเองว่า ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นอย่างนี้ ก็ต้องฟัง เข้าใจขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถประจักษ์ความจริงได้ เพราะพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสมบูรณ์ทั้งปริยัติศาสนา ปฏิปัตติศาสนา ปฏิเวธศาสนา คำสอนตามลำดับขั้นเป็นคำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้จริงๆ เมื่อรู้แล้วก็รู้ว่า ถ้าไม่มีการแสดงธรรมที่กำลังมีจริงๆ ให้คนอื่นมีโอกาสเข้าใจถูกต้อง ก็ไม่มีการถึงความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ถึงการแทงตลอดการเกิดดับ ซึ่งเกิดแล้วก็ต้องดับ เพราะขณะนี้ปรากฏ โดยไม่ปรากฏว่าเกิด เพราะฉะนั้น ดับก็ไม่ปรากฏว่าดับ แต่ว่าความจริงของสภาพธรรมที่เกิดต้องดับ แต่ว่ารูปมีอายุยืนยาวกว่าจิต แต่ก็เล็กน้อยมาก คือรูปๆ หนึ่งที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นเสียง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือไม่ว่าเป็นแข็งที่กำลังปรากฏ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เล็กน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้เหมือนเห็น ได้ยินพร้อมกัน แต่ในระหว่างเห็นกับได้ยิน มีจิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปยังมีอยู่หรือเปล่า รูปแต่ละรูปที่เกิดยังมีอยู่หรือเปล่า หรือว่าเกิดแล้วดับไปเรื่อยๆ
อ.วิชัย เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ท่านอาจารย์ครับ มีคนเคยถามว่า เมื่อสติปัฏฐานไม่เคยเกิดเลย คือศึกษาเรื่องปัจจัยของกุศลที่ทำให้เกิดกุศล แล้วถามเรื่องสติปัฏฐาน เมื่อไม่เคยเกิด จะเกิดมาได้อย่างไร แต่ผมก็อธิบายว่า ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคง ก็สามารถเป็นปัจจัยให้สติเกิดได้ แต่บุคคลที่สงสัยก็ยังสงสัยอยู่ เพราะยังไม่เคยเกิด แล้วจะมีมาได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ แล้วขณะนี้เข้าใจหรือยังว่า เป็นธรรม เห็นเป็นธรรม คิดนึกเป็นธรรม แช็งเป็นธรรม ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ใช้คำว่า “ธรรม” คือไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใด และไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เคยเข้าใจว่า เป็นสิ่งนั้นด้วย แต่ว่าเป็นลักษณะเฉพาะของธรรมแต่ละอย่าง จึงทรงบัญญัติชื่อแต่ละชื่อ เพื่อให้เข้าใจว่า หมายถึงสภาพธรรมอะไร
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ยังไม่รู้ว่า เป็นธรรม ใช่ไหม แล้วสติจะเกิดได้ไหม ไม่มีทาง เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ว่า เป็นธรรม แล้วไปพูดถึงสติปัฏฐาน แล้วสติปัฏฐานไม่ใช่สติที่เป็นไปในทาน เกิดระลึกให้ทาน เกิดระลึกช่วยเหลือคนอื่น เพราะสติเกิด แต่สติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้น ต้องประกอบด้วยปัญญาที่สามารถรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละอย่าง
เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่รู้อย่างนี้ ไปพูดถึงสติปัฏฐาน โดยไม่เข้าใจว่า สติปัฏฐานคืออะไร แล้วจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แล้วจะหวังอย่างไร ยังไม่รู้จักสติปัฏฐาน ยังไม่รู้จักว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วจะให้สติปัฏฐานเกิด อยากก็เป็นธรรม แต่เป็นโลภะ เป็นสภาพธรรมที่ปิดกั้นไม่ให้เห็นว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ
ผู้ฟัง อะไรเป็นเหตุจูงใจที่สามารถทำให้สนใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏมากกว่าสนใจโลภะ โทสะ ซึ่งคิดว่า ขั้นแรกยังละไม่ได้
ท่านอาจารย์ ปกติโดยมาก อยากหรือไม่
ผู้ฟัง อยาก
ท่านอาจารย์ กำลังฟังอย่างนี้ อยากหรือไม่ สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ
ผู้ฟัง ก็อยากเป็นคนดี อยากไม่มีโลภะ อยากไม่มีโทสะ
ท่านอาจารย์ ฟังแล้วอยากเป็นคนดี ฟังแล้วเหมือนดี ใช่ไหม แล้วอยากดีหรือไม่
ผู้ฟัง อยาก ไม่ดี
ท่านอาจารย์ แล้วอยากเป็นคนดี เริ่มไม่ดีตั้งแต่อยาก ใช่ไหม คือธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นแม้ในขณะนี้ถ้าทุกคนเข้าใจจริงๆ ก็จะทำให้สามารถค่อยๆ รู้ว่า ไม่มีเรา แต่ที่อยาก เป็นเรา
ฟังธรรมเพื่อเป็นเราที่เป็นคนดี กับฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่มี เพื่อละความไม่รู้ ไม่เข้าใจ แม้กำลังไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร ก็ยังไม่รู้
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้แยบคาย มีความละเอียด มีความฉลาดที่ได้สะสมมา ก็ฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ถ้าเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง จะมีเราที่กำลังฟังหรือไม่ เพราะว่าฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม
นี่คือความละเอียดแม้ในขั้นของการฟัง ถ้าฟังเพื่อรู้สิ่งที่เป็นธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะไม่รู้ ปกติก็ไม่เดือดร้อนอะไร จากไม่รู้ ฟังแล้วก็เข้าใจขึ้นๆ ก็เป็นปกติธรรมดา และความเข้าใจที่มีก็จะนำไปสู่การประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม แต่ถ้าไม่เข้าใจขั้นการฟัง จะละโลภะได้อย่างไร แม้แต่เราอยากเป็นคนดี อยากเป็นโลภะก็ไม่รู้
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 541
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 542
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 543
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 544
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 545
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 546
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 547
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 548
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 549
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 550
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 551
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 552
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 553
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 554
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 555
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 556
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 557
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 558
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 559
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 560
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 561
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 562
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 563
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 564
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 565
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 566
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 567
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 568
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 569
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 570
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 571
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 572
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 573
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 574
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 575
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 576
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 577
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 578
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 579
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 580
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 581
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 582
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 583
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 584
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 585
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 586
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 587
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 588
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 589
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 590
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 591
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 592
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 593
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 594
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 595
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 596
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 597
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 598
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 599
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 600