พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 592
ตอนที่ ๕๙๒
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
ท่านอาจารย์ ซึ่งความหลากหลายของรูปมีมาก ความหลากหลายของนามมีมาก และทั้ง ๒ อย่างเกิดแล้วก็ดับ เร็วมากด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงลักษณะของรูปทั้งหมดเกิดดับ เป็นรูปขันธ์ได้ไหม เพราะว่าไม่ใช่รูปนี้รูปเดียว รูปอื่นๆ ทั้งหมด เสียงนี้ไม่ใช่เสียงเดียว เสียงอื่นๆ ทั้งหมด เสียงที่เคยเกิดแล้ว เสียงที่จะเกิดต่อไป เสียงที่กำลังปรากฏก็เป็นเสียง
เพราะฉะนั้น ธรรมที่ไม่รู้อะไรได้จะเปลี่ยนธรรมนั้นให้เกิดเป็นรู้ขึ้นได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ให้เสียงไปรู้ ไปคิด ไปสุข ไปทุกข์ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ลักษณะของรูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เข้าใจคำว่า “ขันธ์” เมื่อแสดงความหลากหลายของธรรม เป็นลักษณะต่างๆ เสียง กลิ่น รส เป็นรูป แต่ไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นรูปนั่นเอง
ผู้ฟัง เสียงขณะนี้เป็นขันธ์อย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็เป็นรูปขันธ์ รวมเป็นรูป เพราะเวลาพูดถึงขันธ์ ต้องกล่าวถึงความละเอียดต่อไปของนามธรรม และรูปธรรม
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าจะศึกษาความเป็นธาตุ ความเป็นขันธ์ จะหาไม่เจอในตำรา
ท่านอาจารย์ มี ทำไมจะไม่มี แต่ตัวจริงของธรรมอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ไปอยู่ในตำรา ชื่ออยู่ในตำรา
ผู้ฟัง แต่จะเข้าใจตัวจริงของธาตุ ของขันธ์ ต้องเข้าใจธรรมในขณะนี้
ท่านอาจารย์ ทรงแสดงธรรมสืบต่อมาเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ และเมื่อจารึกเป็นตัวอักษร ก็ปรากฏเป็นเรื่องราวของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ซึ่งในครั้งนั้นการศึกษา ศึกษาในลักษณะของธรรมตรงตัวธรรมที่กำลังมีในขณะนั้น ไม่ต้องอาศัยตำรา เพราะว่าธรรมมี กำลังปรากฏว่ามี
ผู้ฟัง ถ้าเราศึกษาธาตุ ศึกษาขันธ์แต่ในตำรา แล้วไม่เข้าใจธาตุ ขันธ์ในขณะนี้ ก็จะไม่มีวันเข้าใจธาตุ และขันธ์ตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ ขันธ์เป็นธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ศึกษา รู้หรือไม่ว่า ขันธ์เป็นธรรม แล้วจำว่า รูปขันธ์คืออะไร ก็ไม่รู้อะไรทั้งนั้น แต่เมื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามลำดับ ก็ขยายโดยศัพท์ โดยความสำคัญ โดยการยึดถือ ก็จะรู้ได้ว่า เหตุใดจึงทรงแสดงรูปทุกประเภทเป็นรูปขันธ์ เพราะว่าไม่ใช่สภาพรู้
เพราะฉะนั้น ถ้าใช้คำว่า รูปธรรม ใช้คำว่า รูปขันธ์ ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ ได้ มีใครห้ามไหมว่าไม่ให้ใช้
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ถ้าห้าม ทำไมห้าม รูปก็เป็นรูป แล้วก็เป็นธรรมด้วย และรูปไม่ได้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น และรูปก็หลากหลาย กี่รูปๆ ก็คือไม่ใช่สภาพรู้ จะเปลี่ยนรูปให้รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น รูปก็เป็นรูปขันธ์ โดยการยึดถือ
เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า รูปูปาทานขันธ์ เป็นคำรวมของคำว่า อุปาทาน กับขันธ์ แสดงให้เห็นว่า ความจริงของชีวิตหลากหลาย แม้เป็นเพียงรูป ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น เพียงมีปัจจัยก็เกิดดังเป็นเสียง ที่เราใช้คำว่า เสียง หรือเป็นกลิ่นที่สามารถกระทบจมูกก็เป็นรูป แต่กระนั้นก็ตามสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อมีธาตุรู้ และรู้ว่าความจริงไม่ใช่เรา ความจริงเป็นสิ่งที่เกิดดับ ก็พอใจในสิ่งที่ปรากฏที่เป็นรูป ยึดถืออย่างมาก จึงใช้คำว่า รูปูปาทานขันธ์ เกิดมาเป็นคน เป็นสัตว์ในภูมิที่มีทั้งนาม และรูป ก็ติดข้องหมด ไม่ว่าทั้งนาม และรูป และใครบ้างที่ไม่ติดข้องในรูป มีไหม
เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า รูปูปาทานขันธ์ ผิดไหม แสดงว่ารูปนั้นเป็นที่ตั้งของความยินดี ความยึดถือ ความพอใจอย่างยิ่ง ผิดไหม ก็เป็นความจริงในชีวิต แม้ใช้คำภาษาบาลี แต่ความหมายก็คือว่า ความติดอย่างมากในรูปทุกวันตั้งแต่เกิดจนตาย
เด็กเล็กๆ เกิดมา ติดข้องในรูปหรือไม่ แน่นอน อายุมาก ก่อนจะจากโลกนี้ไป หมดความติดข้องในรูปหรือยัง เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า รูปูปาทานขันธ์ ได้ไหม พอใช้คำนี้เข้าใจเลยว่า เป็นที่ตั้งของความยึดถือ ความพอใจอย่างยิ่ง หนึ่งก็คือรูป แล้วยังพอใจรูปทางตา รูปทางหู รูปทางจมูก รูปทางลิ้น รูปทางกาย เท่าที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ทุกวันทั้งหมด เป็นที่พอใจอย่างยิ่ง ไม่มีใครไม่อยากได้รูป ใช่ไหม แล้วรักรูปไหนที่สุด ตอนนี้ถึงปัญหา รูปไหนเป็นที่รักที่สุด ดอกไม้นั้นก็สวย ก็ชอบ แต่ที่พอใจยิ่งกว่าดอกไม้อยู่ที่ไหน ตัวเองตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ทั้งตา ทั้งหู ทุกอย่างหมด
เพราะฉะนั้น เข้าใจความหมายของขันธ์หรือยัง ขันธ์ คือสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมหลากหลาย เกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีก มีลักษณะหลากหลายตามปัจจัยที่ทำให้เกิดแล้วก็ดับไป แต่ก็เป็นที่ตั้งของการยึดถือ
ด้วยเหตุนี้เมื่อธรรมมีจริง เป็นเพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น แต่ความหลากหลายมีมาก จึงทรงแสดงธรรมที่หลากหลายว่า ธรรมใดเป็นที่ตั้งของความยึดถืออย่างไหนก็ใช้ว่า ขันธ์ ๕ เริ่มด้วยรูปขันธ์ ซึ่งเป็นที่ยินดีอย่างยิ่ง พิสูจน์ได้ทุกขณะ
ผู้ฟัง เสียงขณะนี้เป็นเสียง เราจะเข้าใจโดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นขันธ์ โดยความเป็นอายตนะไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน มีจริง ใช่ไหม เป็นธรรม ถูกต้องไหม ธรรมที่มีเป็นของใคร หรือว่าเป็นธาตุที่มีปัจจัยเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เข้าใจคำว่าธาตุ เข้าใจคำว่าธรรม เป็นที่ตั้งของความติดข้องหรือไม่ เป็น และธรรมนั้นก็หลากหลาย ไม่รู้จะเรียกอย่างไรดี อ่อนๆ แข็งมากๆ นิ่มๆ ก็เป็นรูปขันธ์ทั้งนั้น หยาบก็มี ละเอียดก็มี เลวก็มี ประณีตก็มี แล้วแต่ขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น คือเกิดขึ้นเป็นความหมายของขันธ์ ที่ครอบคลุมลักษณะของรูปธรรมที่เป็นรูปขันธ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะนุ่มมาก หรือแข็งมาก หรือกรอบ ก็แข็ง ก็เป็นเรื่องที่ทั้งหมดก็เป็นธรรมเป็นที่ตั้งของการยึดถือ
นี้เข้าใจแล้วใช่ไหม ธรรม ธาตุ ขันธ์ อายตนะ
ถ้าไม่มีธาตุรู้ เสียงจะปรากฏได้ไหมว่ามีจริงๆ ทั้งๆ ที่เสียงมีจริงๆ แต่ปรากฏได้ไหมว่า เสียงมีจริง ถ้าไม่มีธาตุรู้ที่กำลังได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น ในขณะที่เสียงมี ยังไม่ดับ แล้วก็มีธาตุรู้เกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ยังไม่ดับ ทั้งธาตุรู้ที่ยังไม่ดับ เสียงที่ยังไม่ดับ มีจริงๆ ในขณะนั้น ไม่ใช่ขณะอื่น ถูกต้องไหม
ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้วกับไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ หมายความว่า ขณะนี้ เดี๋ยวนี้แต่ละขณะ อะไรจริง
ผู้ฟัง เห็นจริง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ควรรู้ความจริงของอะไร
ผู้ฟัง ของสิ่งที่มีจริง คือ เห็น
ท่านอาจารย์ ถ้าคิดถึงสิ่งที่หมดสิ้นไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึง จะรู้ความจริงได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมคือรู้ว่า อะไรเป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ แล้วสิ่งที่มีจริงขณะนี้เกิดแล้วจึงปรากฏแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ความจริงที่บางคนอาจจะบอกว่า ความจริงวันนี้ ความจริงขณะนี้ถูกต้องกว่าใช่ไหม เพราะความจริงวันนี้ ตรงไหน แต่ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น จริง เป็นอะไร สิ่งที่กำลังเห็น และมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ทั้ง ๒ อย่างจริงอย่างไร เพราะเหตุว่าไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้น มีแล้ว เกิดแล้วตามเหตุปัจจัย แล้วก็หมดไป แต่ไม่เคยรู้ และไม่มีวันจะรู้ด้วย ถ้าคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยไม่รู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริงๆ ที่เป็นเรา เป็นโลก แล้วต่อไปก็จะเป็นความคิดเรื่องคนนั้น คนนี้ ก็ต้องมาจากสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง ถ้าไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ให้เห็น แล้วจะไปคิดเรื่องอะไร คนมาจากไหน เรื่องราวมาจากไหน เหตุการณ์มาจากไหน ถ้าไม่มีสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้
ด้วยเหตุนี้การรู้ความจริงก็คือต้องเข้าใจว่า ความจริงมีแน่นอน กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่รู้ว่า ความจริงนั้นคืออะไร แต่ผู้ที่ทรงตรัสรู้แล้วรู้ว่า ความจริงขณะนี้เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ของใคร แล้วไม่มีทำให้เกิดขึ้นด้วย
ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมเพื่อให้ความคิดของเรา ซึ่งเดี๋ยวก็คิดเรื่องนั้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องนี้ แล้วมีวันจะรู้ความจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไหม แต่ถึงจะกล่าวอย่างนี้ ใครรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งๆ ที่บอกว่า ขณะนี้เห็นมีจริง ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของเห็น
เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะฟังอย่างนี้ ฟังเพื่ออะไร เพื่อรู้ว่า ขณะนี้ยังไม่รู้ว่า สิ่งที่มีจริงขณะนี้เพียงเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เป็นใคร ไม่เป็นอะไร เป็นธรรม ไม่มีเจ้าของ บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วดับไป
นี่คือความจริง ที่ฟังแล้วฟังอีก หลายๆ ชาติ อีกกี่ชาติ กว่าความคิดจะไม่ไปสู่สิ่งอื่น แม้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏทุกชาติ อดีตก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ต่อไปภายหน้าก็จะมีสิ่งนี้ปรากฏให้เห็น และการฟังธรรม ถ้าไม่เป็นอุปนิสยโคจร คือ เวลาจิตเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จิตรู้ ขณะนี้กำลังมีเห็น และกำลังพูดเรื่องเห็นให้เข้าใจความจริงของเห็น เพื่อสติสัมปชัญญะจะได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังเห็น แต่กว่าจะเป็นอย่างนี้ได้ ก็ต้องเป็นอุปนิสยะ นิสยะคือ ที่อาศัย อุปคือ ที่มีกำลัง ถ้าไม่มีที่อาศัย คือพระธรรมที่มีกำลัง ใครจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังแล้วฟังอีก ก็ไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แสดงว่ายังไม่พอ จนกว่าการคบหาสมาคมกับพระธรรม และเห็นประโยชน์ และรู้ว่า ถึงจะฟังอย่างไรๆ ก็ตาม ก็เพื่อเข้าใจชั่วขณะที่สิ่งที่มีจริงกำลังปรากฏ จนกว่าจะเป็นความรู้ชัดตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้คนอื่นรู้ตามด้วย มิฉะนั้นจะไม่ใช่ความรู้ ไม่รู้จักชีวิต ไม่รู้จักโลก เพราะไม่มีธรรมขณะนี้มีโลกอะไร จะมีใครที่ไหนอย่างไรได้
ด้วยเหตุนี้การฟังถึงแม้ว่ายังไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่รู้ว่า ถ้าไม่ฟังอย่างนี้ ไม่เข้าใจอย่างนี้ แล้วจะสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ไหม
ผู้ฟัง แต่ในบางสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แล้วทำให้ไม่สบายใจ ถึงแม้ว่าผ่านไปแล้ว ก็เป็นเรื่องราวที่อดคิดถึงไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วขณะนั้นอะไรจริง
ผู้ฟัง คิดมีจริง
ท่านอาจารย์ อะไรอีก
ผู้ฟัง เรื่องราวที่คิดก็มีจริงๆ
ท่านอาจารย์ ความไม่สบายใจมีจริง
ผู้ฟัง เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ ต้องเรียกว่าเป็นอกุศล หรือเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์ แทนที่จะเรียกว่า อกุศล ก็เป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงไปทำให้เกิดหรือเปล่าหรือมีปัจจัยก็เกิด เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ
ผู้ฟัง เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ
ท่านอาจารย์ เป็นคุณสุกัญญาหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ก็หมดแล้ว
ผู้ฟัง แต่บังคับไม่ให้เกิดไม่ได้
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง แต่ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่ปรากฏแล้วมีเห็น
ท่านอาจารย์ เร็วมาก แล้วก็ดับแล้วทั้งหมด
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้คิดถึงสิ่งที่เห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตา
ท่านอาจารย์ ก็เป็นจริงอย่างนั้น ก็เป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม
ผู้ฟัง ทำไมถึงไม่เห็นแล้วมีสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่คิดเรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว
ท่านอาจารย์ ก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เหมือนคุณสุกัญญาไหม
ผู้ฟัง ก็ต้องเหมือน
ท่านอาจารย์ แล้วทำไมถึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
ผู้ฟัง ก็ต้องมีปัญญา
ท่านอาจารย์ แล้วปัญญานั้นมาจากไหน ไปขุดดินจะเจอปัญญาไหม
ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าต้องมีปัญญาที่สะสมมา
ท่านอาจารย์ ถึงแม้ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระสาวกทุกท่านรู้อย่างนี้หรือไม่
ผู้ฟัง ก็ต้องรู้แบบเดียวกัน
ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้ได้อย่างไร
ผู้ฟัง ก็ต้องฟังพระธรรม แต่เมื่อฟังพระธรรมก็มีข้อสงสัย ก็ต้องกราบเรียนท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ แล้วสงสัยเป็นธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง ก็เป็น
ท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้จักธรรมสักอย่าง เรียกชื่อได้ ภาษาไทยก็ได้ ภาษาบาลีก็ได้ แต่ไม่รู้ธรรม เวลาที่ธรรมเกิด ไม่รู้ว่าเป็นธรรม
เพราะฉะนั้น อาศัยการฟัง อุปนิสยโคจร ต่อไปคงไม่ลืม อารมณ์ที่ได้ฟังจนชิน จนกระทั่งคุ้นเคย จนกระทั่งมีกำลัง แล้วเห็นก็กำลังมี ฟังเรื่องเห็น กำลังเริ่มรู้ว่า เห็นคืออะไร แต่ยังไม่รู้ลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น จนกว่าถึงอุปนิพันธโคจร มาอย่างไรได้ถ้าไม่มีการฟัง ถ้าไม่เข้าใจจนกระทั่งสามารถประคองหรือผูกพัน หรือทำให้จิตไม่เคลื่อนพ้นไปจากสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเริ่มเข้าใจจริงๆ
เวลานี้สิ่งอื่นผูกพันอยู่ แต่ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่มีสติสัมปชัญญะเกิดแล้วผูกพัน คืออยู่ตรงนั้นไม่ไปตรงไหนเลย
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ความไม่สบายใจก็เป็นธรรม มีวันหนึ่งหนูโกรธน้องที่ทำงาน แล้วเข้าห้องน้ำ ยังไม่เห็นโทษของความโกรธ แต่คิดว่า โกรธเมื่อกี้นี้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา รู้สึกเบิกบานใจ เหมือนกับเรานึกเข้าข้างตัวเองหรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นอารักขโคจร ฟังมาตั้งนานว่า โกรธก็เป็นธรรม แต่เมื่อไรที่สามารถระลึกได้ และขณะนั้นไม่โกรธ ก็เป็นผลของการฟัง แต่เป็นเพียงมีกำลังทำให้คิดได้เท่านั้น ยังไม่รู้ลักษณะขณะนั้น ซึ่งเห็นก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม โกรธก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นธรรม จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์จึงสามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่ใช้คำว่า “วิปัสสนา” คือเห็นแจ้งตามความเป็นจริงของสภาพธรรม แต่ต้องเริ่มทีละเล็กทีละน้อย
ผู้ฟัง บางครั้งก็แว้บมาว่า ขี้โกงหรือไม่ แต่พอเรานึกว่า เป็นธรรม ความโกรธก็หายไปเหมือนปลิดทิ้ง
ท่านอาจารย์ แค่คิด ใช่ไหม ก็ยังหาย แต่ความจริงไม่มีปัจจัยที่จะเกิด และต่อมาก็เกิดอีกได้ เพราะยังมีเชื้อของความโกรธที่จะเกิด ยังมีเชื้อของอกุศลใดจะเกิด อกุศลนั้นก็ต้องเกิด ขณะที่ได้ยิน จะมีอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเสียงกำลังเป็นสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏความเป็นเสียงว่ามีจริง กับธาตุที่กำลังรู้เสียง และขณะที่จะมีเสียงปรากฏได้ ก็ต้องมีรูปที่สามารถกระทบเสียง ที่เราใช้คำว่า โสตปสาทรูป เป็นรูป เป็นธรรม เป็นธาตุ เป็นขันธ์ แล้วก็เป็นอายตนะ เพราะเหตุว่ากำลังมีอยู่ในขณะนั้น หมดสิ้นไปยังไม่ได้ ถ้าเป็นอายตนะ หมายความถึงธรรมที่มีอยู่ขณะนั้นที่ยังไม่ดับไปพร้อมกัน ทำให้เกิดรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยการปรากฏของสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น
เพราะฉะนั้น ขณะนั้นนอกจากมีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งกำลังได้ยินเสียง ก็ยังต้องมีโสตปสาทรูป ที่เสียงต้องกระทบก่อนจิตได้ยินจะเกิดได้ และเมื่อจิตได้ยินเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้น ธรรมที่มีอยู่ในขณะนั้นที่ยังไม่ดับไปทั้งหมดเป็นอายตนะ เสียงเป็นสัททายตนะ ในภาษาบาลี โสตปสาทก็เป็นโสตายตนะ ในภาษาบาลี จิตก็เป็นมนายตนะ ในภาษาบาลี เจตสิกก็เป็นธัมมายตนะ ในภาษาบาลี จะขาด ๑ ใน ๔ นี้ได้ไหม ในขณะที่มีสภาพธรรมปรากฏเพียงชั่ว ๑ ขณะที่แสนสั้น ธรรมน่าอัศจรรย์ไหม ไม่มีใครสามารถสร้างได้เลย แต่ก็ไปหลงยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกอยู่ในความมืดของความไม่รู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้นตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะพูด จะทำ จะคิด จะสุข จะทุกข์ ก็อยู่ในความมืด คือไม่รู้ความจริงว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป แล้วต้องมีต่อไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ เหมือนชาติก่อนนี้จบแล้ว ชาตินี้ก็มีอย่างนี้แล้วต้องจบแน่ๆ แล้วต้องมีชาติต่อไปอีกไม่สิ้นสุด
ผู้ฟัง ผู้ฟังใหม่ๆ มาฟังที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงธรรมของพระพุทธเจ้า คงจะคิดว่า ธรรมที่ทรงแสดงทำไมถึงยาก
ท่านอาจารย์ สมพระนามว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไม่ ใครจะชื่อนี้ได้บ้าง จะไปเรียกใครที่ไหนว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากพระองค์นี้ได้ไหมคะ ที่ได้ตรัสรู้ในสมัยนี้ แต่ก็มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตมาแล้วมาก แล้วต่อไปก็จะมีอีก เป็นเรื่องของอนัตตา เป็นเรื่องของธรรมที่สะสมบารมีพร้อมที่จะรู้ความจริงถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็น
ผู้ฟัง อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวใช่ไหมว่า ผู้ฟังก็ไม่ท้อถอยที่จะเพียรฟังต่อไปให้เข้าใจความจริงที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้
ท่านอาจารย์ รับรองคนอื่นได้หรือไม่
ผู้ฟัง คุยกับเพื่อนที่ศึกษาธรรมด้วยกัน
ท่านอาจารย์ รับรองตัวเองได้หรือยัง
ผู้ฟัง ก็พยายามสละเวลาฟังธรรม
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่า ลึกซึ้งแล้วจะท้อถอยทำไม ก็ลึกซึ้งจะให้รู้เร็วๆ ได้อย่างไร แล้วจะประมาทพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร ทรงแสดงถึง ๔๕ พรรษาเพื่อใคร
ผู้ฟัง การที่เรามาฟังเป็นแค่ส่วนเดียวในสังสารวัฏฏ์ที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ท่านอาจารย์ แค่ “ธรรม” คำเดียว แค่ “ธาตุ” คำเดียว แค่ “ขันธ์” อีก ๑ คำ และแค่อายตนะอีกคำ ในพระไตรปิฎกมีมากกว่านี้มาก
อ.คำปั่น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็มีรายละเอียดที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า เกิดแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของธาตุหรือธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน หรือทรงแสดงโดยนัยของอายตนะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นที่ต่อ บ่อเกิด หรือที่ประชุมในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์แต่ละขณะ ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อให้รู้ความจริง เพื่อให้เข้าใจในความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏในขณะนี้
ก็ขอกลับมาที่มิตตสูตร จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมีรายละเอียดที่หลากหลายมาก คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ธรรมหมายถึงส่วนที่ดีอย่างเดียวเท่านั้น แต่เมื่อศึกษาโดยละเอียดแล้ว ก็จะพบว่า ธรรมไม่ได้หมายเพียงสิ่งที่ดีอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี หรือสิ่งที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ทั้งหมดเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ในขณะที่ศึกษาธรรม ที่กล่าวว่า มีธรรมเป็นที่พึ่ง ก็เป็นเรื่องน่าพิจารณาว่า จะเอาธรรมส่วนใดเป็นที่พึ่ง คงไม่มีใครเอาโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอกุศลธรรมเป็นที่พึ่ง ใช่ไหม
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นที่พึ่งจริงๆ ก็ต้องธรรมฝายดีเท่านั้น
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 541
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 542
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 543
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 544
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 545
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 546
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 547
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 548
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 549
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 550
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 551
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 552
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 553
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 554
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 555
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 556
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 557
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 558
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 559
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 560
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 561
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 562
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 563
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 564
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 565
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 566
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 567
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 568
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 569
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 570
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 571
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 572
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 573
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 574
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 575
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 576
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 577
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 578
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 579
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 580
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 581
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 582
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 583
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 584
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 585
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 586
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 587
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 588
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 589
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 590
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 591
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 592
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 593
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 594
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 595
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 596
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 597
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 598
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 599
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 600