พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 595


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๙๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง อย่างที่ท่านอาจารย์อธิบายตรงนี้ หมายความว่าผู้นั้นมีปัญญาถึงขั้นปฏิปัตติถูกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปริยัติ จะมีปฏิปัตติได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่เข้าใจว่า พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของความรู้ เป็นเรื่องของความเห็นถูก อยู่ดีๆ ก็จะไปปฏิบัติอะไร โดยไม่เข้าใจว่า อะไรเป็นธรรม แล้วปฏิบัติเพื่อรู้อะไร ก็ไม่รู้ด้วย

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ถ้าเรายังไม่ถึงขั้นนั้น เพียงฟังเข้าใจในสิ่งที่ฟัง

    ท่านอาจารย์ เพื่อเป็นอุปนิสัย อุป มีกำลัง นิสย ที่อาศัยที่มีกำลัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นอารมณ์ของสติ และปัญญาที่เริ่มเข้าใจ จนสามารถเป็นอุปนิพันธโคจร รู้ และเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ เมื่อไร นั่นคือมาจากอุปนิสยโคจร

    ผู้ฟัง และเมื่อนั้นถ้าสติเกิดให้เรารู้จักก็คือ เราจะรู้เองว่า

    ท่านอาจารย์ ถ้ากำลังรู้ลักษณะที่มีจริงๆ จะสงสัยไหมว่า อะไรเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ไม่สงสัย

    ท่านอาจารย์ จะรู้ไหมว่า นี่คือธรรมที่ปัญญาเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น ตัวจริงๆ ของธรรมด้วย

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า คนในสมัยพุทธกาล ฟังธรรมแล้วสนใจลักษณะของสภาพธรรม แต่พวกเราศึกษาเป็นชื่อ เป็นพยัญชนะ เป็นเรื่องราว โดยไม่ได้ใส่ใจลักษณะ เท่าที่ฟังดูเนื่องจากปัญญาขั้นปริยัติก็เหมือนว่าต้องรู้เรื่องราวของลักษณะของสภาพธรรมก่อน ถึงสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ถึงจะรู้ตัวจริงของลักษณะของสภาพธรรมได้ ความเป็นอนัตตาต้องเป็นเรื่องราว เป็นพยัญชนะก่อน โดยยังไม่ทันรู้ตัวลักษณะ คนครั้งพุทธกาลคงจะอบรมปัญญามาที่ฟังแล้วก็รู้ตรงลักษณะได้ ตรงนี้ฟังแล้วก็เหมือนว่าขัดแย้งว่า พวกเราฟังเรื่องราวพยัญชนะ โดยที่สติยังห่างไกล ยังไม่เกิด แต่บางครั้ง อย่างเมื่อเช้าท่านอาจารย์ถามว่า เมื่อไรจะรู้สักที ก็เหมือนกระตุ้นโลภะเข้าไปอีกว่า เมื่อไรจะรู้สักที ทั้งๆ ที่จริงๆ ท่านอาจารย์จะกล่าวว่า เมื่อปัญญาไม่ถึงขั้น ก็ต้องฟังๆ ๆ ก็ฟังอยู่

    ท่านอาจารย์ ที่ถามว่า เมื่อไรจะรู้สักที คืออวิชชามากอย่างนี้ แล้วก็มากขึ้นๆ ๆ แล้วเมื่อไรจะรู้สักที ก็เตือนให้คิด อย่างนี้แล้วเมื่อไรจะรู้สักที จะเป็นไปได้ไหมในเมื่ออวิชชาก็ยังเต็ม แล้วก็เพิ่มขึ้นด้วย

    ผู้ฟัง ก็มีทางเดียวคือฟังให้เข้าใจมากพอ

    ท่านอาจารย์ ก็เดี๋ยวนี้รู้ไหมว่า เป็นธรรม เดี๋ยวนี้เองรู้ไหมว่าเป็นธรรม แล้วถ้าไม่รู้ จะไปรู้ธรรมอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็ไม่อยากว่ายาก แต่อวิชชาเขาว่ายาก บอกว่าเป็นธรรม ก็ไม่เป็นธรรม ก็จะเป็นไม่ใช่ธรรม คือเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน สิ่งหนึ่งสิ่งใด เห็นก็เป็นดอกไม้สวย เป็นท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอวิชชาก็ต้องเป็นอวิชชา เปลี่ยนไม่ได้ แต่รู้ไหม เริ่มรู้ว่าเป็นอวิชชาทำให้ไม่เห็นการเกิดดับของสภาพธรรม แล้วเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริงคือธรรม อย่างพูดเรื่องเห็น ใช้คำว่า “จักขุวิญญาณ” ธาตุรู้ที่อาศัยตา ถ้าไม่อาศัยตา สภาพรู้ที่จะรู้ว่า มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเกิดไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วใช้คำว่า “รูปารัมมณะ” จักขุวิญญาณกับรูปารมณ์ ถ้ามีการเห็นต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แค่นี้ฟังแล้ว มีเราไหม บอกให้ไปทำอะไรหรือเปล่า แต่ชี้ให้เห็นธรรมเดี๋ยวนั้น ขณะนั้นว่า เห็นคืออะไร เมื่อมีเห็น ก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ขณะนั้นมีอย่างอื่นได้หรือไม่ ไม่ได้เลย ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่ว่าจะทรงแสดงธรรมอะไร ใช้ชื่ออะไร ก็กล่าวถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น แล้วยังไปคิดว่าเราหรือ เห็นไหม ความเข้าใจผิดกันแล้ว

    ผู้ฟัง ฟังว่าไม่ใช่เรา อย่างเช่นเห็นก็มีจิตเห็น และมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แล้วก็กำหนดให้ใครไปทำเห็นก็ไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ตรงนี้ก็ฟังได้ พูดตามได้ แต่ก็ยังคงต้องฟังต่อไป

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง สังเกตความเข้าใจขึ้นเมื่อคิดไตร่ตรองตาม ก็จะเห็นว่าอัศจรรย์จริงๆ ว่าเราไปยึดว่าเห็นอะไร แต่จริงๆ ธรรมก็เกิดดับตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น คิดเกินที่ฟัง ถ้าสามารถไม่ยึด คือรู้ตรงความจริงได้ก็ต้องเบา ก็สบายมากๆ เพราะว่าธรรมก็เป็นธรรมอย่างนั้น เราไปอุปาทานในขันธ์ ๕ ก็พากันไปใหญ่เลย ตรงนี้ก็ฟังเข้าใจขั้นไตร่ตรอง ถึงแม้ยังไม่รู้ตรง ก็เบากว่าที่ฟังไม่เข้าใจเยอะมาก ก็ต้องฟังต่อไป และขอ กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ คุณณรงค์อิจฉาไหมคะ

    ผู้ฟัง อย่างที่บอกว่าเบาสบาย ก็ต้องถามว่าใครเบา

    ท่านอาจารย์ เขาไม่ได้บอกว่าเขาเบา เขาบอกว่า เบาสบาย

    ผู้ฟัง ตอนไม่ได้ฟังธรรม เรารู้สึกหนัก ถูกไหม แต่เป็นเราที่หนัก

    ท่านอาจารย์ หนักมี แต่ไปยึดว่า เราหนัก สบายมี แต่ไปยึดว่าเราสบาย แต่สบายเป็นสบาย หนักเป็นหนัก เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ตอนเบาก็ยังยึดเป็นเราอยู่ ดีใจว่าเบา

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรมอย่างไร เป็นธรรมแท้ๆ ก็ยังไม่รู้ว่า เป็นธรรม มีธรรมแท้ๆ ก็ยังไม่รู้ว่า เป็นธรรม แล้วอย่างไร เห็นไหม ฟังเพื่อเข้าใจถูกแล้วรู้ว่า ผู้ที่ทรงแสดงความจริงคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนที่ฟังธรรมแล้ว ดีขึ้นบ้างหรือำม่ ดีขึ้น ก็มีความเข้าใจธรรม ดี ๑ แล้วใช่ไหมคะ แต่ก่อนนี้ไม่ได้เข้าใจ

    ผู้ฟัง ดิฉันเองแค่ฟังเข้าใจ ยกตัวอย่างว่า เมื่อเป็นโรคร้ายก็มานึกภาพว่า ถ้าไม่ได้ฟังธรรม คงจะทุกข์มากกับเพียงแค่ชื่อ แต่ไม่ได้ฟังธรรมก็จะเป็นทุกข์กับเขาที่เป็นอย่างนั้น แต่เมื่อฟังธรรมแล้ว ก็เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น และเดี๋ยวก็ผ่านไป ไม่กลับมาอีก และอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

    ท่านอาจารย์ โดยที่ไม่มีเราตั้งใจที่จะเป็นอย่างนี้ เห็นไหม แสดงให้เห็นว่า เป็นการค่อยๆ เป็นไปตามการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ ซึ่งไม่ใช่ไปหวังว่า เราจะต้องไม่เสียใจเลย หรือเราจะต้องเข้าใจธรรมเดี๋ยวนี้ให้ได้ตามความเป็นจริง นั่นคือไม่เข้าใจว่า ธรรมไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ก่อนฟังอาจจะไม่มีโอกาสจะคิดอย่างนี้ แต่ฟังแล้วจะคิดเมื่อไร จะเป็นอย่างไร ก็ค่อยๆ เห็นธรรมที่ปรุงแต่งทีละเล็กทีละน้อยตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจธรรมแล้ว เป็นเหตุให้มีสีลมยญาณ ปัญญาที่เกิดเพราะเข้าใจธรรมทำให้กาย วาจา และใจที่ดีงามขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่จะหมดไปเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การคาดหวังว่า จะหมดความเป็นเราทันที แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะเห็นได้ว่า จากความเข้าใจธรรมทำให้ระลึกได้ อารักขโคจร เห็นไหม แทนที่จะเป็นอกุศล โวยวาย เสียใจ ร้องไห้ เป็นทุกข์ ก็สามารถรู้ว่า อะไรจะเกิดก็เกิด แล้วจริงๆ เพียงชื่อของโรคก็หวั่นไหว และเวลาที่ไม่เจ็บก็มี ทำไมต้องไปคิดล่วงหน้าว่าจะต้องเจ็บมากๆ นั่นคือไม่เข้าใจความเป็นอนัตตา แต่ถ้าเข้าใจความเป็นอนัตตาแล้ว ก็รู้ได้ว่า ความรู้สึกทุกประเภทเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เห็น ได้ยิน ทุกขณะ แม้แต่ความคิดอย่างนี้ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วจะเข้าใจความหมายของสังขารขันธ์ด้วยว่า ไม่ใช่เรา แม้ว่าธรรมเป็นรูปธาตุ ซึ่งไม่รู้อะไร ส่วนนามธาตุ ๔ เป็นจิต ๑ วิญญาณขันธ์ เป็นเจตสิก ๓ คือ เวทนา ความรู้สึก เป็นเวทนาขันธ์ สัญญา ความจำก็เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นปรุงแต่งทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ ก็จะค่อยเข้าใจความเป็นจริงของธรรมในชีวิตแต่ละวัน จนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะที่เป็นธรรมทีละเล็กทีละน้อยมาก

    นี่แสดงให้เห็นว่า กว่าอวิชชาจะค่อยๆ น้อยลงไป เพราะเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ชีวิตก็ต้องเป็นอย่างที่เป็น จะเป็นอย่างหน้ามือ เป็นหลังมือไม่ได้เลย โดยทันทีทันใด แต่ถ้าสะสมอบรมปัญญามามากเหมือนบุคคลในครั้งพุทธกาล เพียงฟังก็เข้าใจได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งคนอื่นยังไม่เข้าใจ ยังต้องอาศัยการฟังอีกมาก ยังต้องรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา โดยค่อยๆ ฟังไป จนกว่าจะรู้ลักษณะที่เป็นธรรมได้ มิฉะนั้นก็ไม่เป็นธรรม ยังเป็นเรา อยากให้มีกุศลเมื่อไรก็เกิด อยากไม่ให้มีอกุศลเมื่อไรก็เกิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์กล่าวถึงคำว่า “ธรรม” หลายครั้ง ซึ่งตรงกับคำถามที่ว่า สำหรับเด็กวัยรุ่นที่กำลังเรียนมัธยม ควรเริ่มรู้จักธรรมอย่างไร และจะนำธรรมไปใช้กับการเรียนหนังสือได้อย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ วัยนี้จะรู้ธรรมได้อย่างไร รู้แล้วหรือยัง ห่วงถึงวัยรุ่น คนที่ห่วงรู้ธรรมหรือยัง ถ้ารู้ธรรม ก็ยังมีโอกาสให้วัยไหนก็ได้เข้าใจธรรม เมื่อมีปัจจัย โดยการฟัง โดยการสนใจ โดยการศรัทธา แต่ถ้าไม่มีเลย วัยไหนก็ไม่ฟัง

    อ.ธิดารัตน์ อย่างในห้องประชุมนี้ก็มีเด็กๆ น้องๆ หลายคน ซึ่งถ้าเขาสะสมมา เขาก็สามารถเข้าใจธรรมได้ ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นวัยไหน

    ท่านอาจารย์ แล้วมีใครไปทำให้เขาสนใจหรือเปล่า ชักชวนหรือเปล่า หรือตามการสะสมที่จะฟังแล้วเข้าใจ แค่เป็นคนดี เป็นเด็กดี พอไหม แม้เราเอง ดีพอหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่พอ

    ท่านอาจารย์ แล้วคนอื่น จะให้เขาดีกว่าเรามากๆ หรืออย่างไร ในเมื่อเราก็ยังไม่ดี

    ผู้ฟัง ต้องพิจารณาที่ตัวเองก่อน เรียนถามอาจารย์ประเชิญเรื่องพยัญชนะนิดหนึ่ง อุปนิสยโคจรมีลักษณะคล้ายๆ กับสัจญาณหรือไม่ เป็นองค์ธรรมที่คล้ายคลึงกันหรือไม่

    อ.ประเชิญ ในรายละเอียดที่ท่านให้ความเข้าใจแล้ว ซึ่งหมายถึงการฟังธรรม อารมณ์เป็นที่โคจร หมายถึงพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ เวลาที่ได้ฟังธรรม จิตใจก็คิดไปในเรื่องของธรรม ซึ่งต้องอาศัยกัลยาณมิตร ซึ่งนำพระธรรมคำสอนมาแสดง ความหมายที่ท่านอธิบายอุปนิสยโคจร ท่านมุ่งหมายถึงกัลยาณมิตรที่สามารถทำให้เข้าใจ หรือทำให้แจ่มแจ้งในกถาวัตถุทั้ง ๑๐ ซึ่งก็หมายถึงพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ได้ฟัง ได้ใส่ใจในพระธรรมคำสอน ก็เท่ากับเข้าใกล้ โคจรไปกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟังตรงนั้น

    เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมคำสอน และรู้ความจริง นั่นคือสัจญาณ ใช่ไหม ญาณที่รู้ความจริงตั้งแต่ทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ นิโรธอริยสัจ มัคคสัจ สัจจะที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรมจริงๆ เป็นความจริงอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และไม่ได้เข้าใจผิดในเรื่องของข้อประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นการรู้ความจริง รู้สัจจะ ญาณ คือเข้าใจ และรู้ เป็นปัญญา และสัจจะก็หมายถึงอริยสัจ ซึ่งพระธรรมคำสอนที่จะเข้าใจเรื่องอริยสัจก็คือลักษณะของสัจญาณ ที่ทำให้เป็นผู้มั่นคงในพระธรรมคำสอน ในหนทางที่ถูกต้องว่า ธรรมก็คือธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ทุกขอริยสัจก็เป็นทุกขอริยสัจ จะเป็นสมุทัยอริยสัจ เป็นมัคคอริยสัจ เป็นนิโรธอริยสัจก็ไม่ได้ ก็เป็นความเข้าใจถูกต้อง และมั่นคงในพระธรรมคำสอน ที่จะไม่ผิดไปจากความจริง ไม่ให้ดำเนินทางผิดได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจความจริงแล้ว ก็จะเป็นผู้โคจรไปในเรื่องเหล่านี้ คือ อารมณ์เป็นที่โคจร เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาค และพระอริยสาวกมีสติปัฏฐานเป็นที่โคจร เคยได้ยินไหม สติปัฏฐาน ท่านใช้คำว่า เป็นอารมณ์ของบิดาตน คือปกติของพระผู้มีพระภาค และพระอริยสาวก ท่านโคจรไปในสติปัฏฐาน เป็นต้น

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงเรียกว่า เป็นแดนโคจรหรือเป็นถิ่นที่บิดาเที่ยวไป ซึ่งพระผู้มีพระภาค และพระอริยสาวกจะไม่คิดถึงเรื่องกาม เรื่องพยาบาท เรื่องของชาวโลกที่เป็นสมมติบัญญัติ หรือเรื่องความขัดแย้ง การโต้เถียง การผูกพยาบาท เรื่องเหล่านี้จะไม่มีในพระอริยสาวก หรือพระอรหันต์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านก็เที่ยวไปในกาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยความรู้ ความเข้าใจที่เป็นสติสัมปชัญญะ ไม่หลงลืมในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ศึกษาด้วยสติปัฏฐานทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า แดนโคจรหรือถิ่นของบิดาตน ก็คือสติปัฏฐาน ต่างกับปุถุชนทั้งหลาย ปุถุชนทั้งหลายคิดเรื่องอะไรบ้างในวันหนึ่งๆ

    ผู้ฟัง คิดทางโลก

    อ.ประเชิญ อย่างคุณณรงค์เมื่อไปทำงาน ก็คิดเรื่องงาน ใช่ไหมครับ จะให้พระอรหันต์มาคิดเรื่องนี้ไหมครับ

    ผู้ฟัง ไม่มี

    อ.ประเชิญ เพราะฉะนั้น ก็โคจรไปในกาย เวทนา จิต และธรรม โดยการศึกษารู้ตามความเป็นจริง ไม่ได้หลง ไม่ได้เข้าใจผิดว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

    ผู้ฟัง คือความเข้าใจธรรมเป็นสัจญาณ มั่นคงแล้ว อุปนิสัยโคจรจะตามมาทันที

    อ.ประเชิญ กราบเรียนท่านอาจารย์กรุณาเพิ่มเติมตรงนี้ ก็เหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะนั่นคือการกล่าวถึงความรู้ความเข้าใจพระธรรมคำสอน ที่เป็นที่โคจร หมายถึงพระธรรมที่ทรงแสดงไว้

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม การเข้าใจธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจจะถามคนอื่นไหมว่า เราเข้าใจหรือเปล่า และขณะที่เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นอย่างนี้ จะต้องไปถามคนอื่นว่า เราเข้าใจจริงๆ หรือยัง ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ในขณะที่ฟังเรื่องอะไร เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง โคจรก็คืออารมณ์ จิตเกิดต้องมีอารมณ์ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จิตมีอารมณ์อะไรบ้าง ก่อนฟังพระธรรม และเมื่อฟังพระธรรมแล้ว ขณะที่กำลังฟังนั้น เป็นอารมณ์ที่ต่างกับอารมณ์อื่น ที่ไม่เคยฟังมาก่อนเลย เพราะเหตุว่าก่อนฟังก็พอใจที่จะมีอารมณ์อย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง แต่พอฟังธรรมแล้ว มีความสนใจ และศรัทธาที่เห็นประโยชน์ของการเข้าใจสิ่งที่ยินได้ฟัง เพราะเป็นชีวิตตามความเป็นจริง ไม่ต่างกันเลยจากความไม่รู้สู่ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ทีละเล็กทีละน้อย เพื่อละคลายการติดข้อง การยึดถือว่าเป็นเรา แต่ไม่ใช่เมื่อฟังแล้ว เมื่อไรเราจะรู้ธรรม นั่นก็ผิดอีก จะเป็นสัจญาณได้ไหมอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มั่นคงจริงๆ หรือไม่ว่า สัจจะ ไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น การที่แต่ละคนเริ่มฟัง และเริ่มเข้าใจ ก็จะรู้ได้ว่า ขณะไหนเข้าใจ และขณะไหนลืมแล้ว เป็นเราอีกแล้ว ไม่มีความมั่นคงว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้น จากการที่ไม่คุ้นเคยกับการได้ยินได้ฟังพระธรรมเรื่องชีวิตจริงๆ ธรรมดาๆ ให้มีความเห็นถูกต้องขึ้น เพราะสะสมความไม่รู้ ความเป็นเรา และความต้องการมาก บางคนฟังธรรมเพราะอยากจะรู้ อยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม คือมีความเป็นเราที่อยากจะรู้ ไม่ใช่การละความไม่รู้ ซึ่งไม่เคยรู้ว่า เป็นธรรม และไม่ได้ละความต้องการด้วย เพราะเหตุว่ามีความต้องการอยากประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ถ้าเป็นอย่างนั้นเป็นสัจญาณหรือเปล่า เป็นการรู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ หรือไม่ว่า เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การเข้าใจว่า เป็นธรรม แต่ละคนก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า มีความมั่นคงจริงๆ หรือยัง เพราะบางคนก็เป็นเราทั้งวัน ฟังธรรมไป วันนั้นเราอยู่ที่นั่น วันนี้เราอยู่ที่นี่ มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น แต่ไม่ได้พูดถึงธรรมเลย โลภะเกิดขณะนั้น โทสะเกิดขณะนั้น ไม่มีคำอย่างนี้ มีแต่เราโกรธ หรือเราดีใจ หรือเราเสียใจ ก็ยังคงมีความเป็นเรา แต่จริงๆ แล้ว ก็แล้วแต่อัธยาศัย ไม่ใช่หมายความว่า ไม่ให้ใช้คำว่า “เรา” เลย แต่มีความหมายให้รู้ว่า ไม่ได้หมายความถึงคนอื่น และการเข้าใจธรรมก็จะทำให้รู้ว่า เป็นอนัตตา จากการที่เคยเป็นคนที่เลี้ยงยาก หลายคนหรือไม่ที่เลี้ยงยาก ต้องอุ่นๆ ต้องร้อนๆ ต้องหวานๆ ต้องเค็มๆ แล้วก็ยากไปเรื่อยๆ ตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้ารู้ว่า สิ่งนั้นเกิดแล้วเป็นแล้วอย่างนี้ แล้วความจริงก็เป็นแล้วก็หมดไปแล้วด้วย

    นี่เป็นประโยชน์จากการที่ฟังแล้ว เป็นผู้อดทน มีขันติที่จะรู้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วโวยวายมีประโยชน์ไหม เกิดแล้วเสียใจคร่ำครวญ ทำไมชีวิตเราลำบากอย่างนี้ เรามีกรรมมากกว่าคนอื่น เดี๋ยวกรรมโน้น เดี๋ยวกรรมนี้ เลยไม่มีความสุขสักวัน มีความทุกข์ตลอด แต่ถ้าเป็นปัญญา ขณะนั้นไม่สามารถมีอะไรทำให้หวั่นไหวได้ เพราะรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นธรรมแต่ละอย่าง เกิดแล้วด้วย แต่ยังไม่เห็นว่า ไม่ใช่เรา จนกว่าจะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม โดยการเข้าใจเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น อุปนิสยโคจร ใครจะนำมาให้ได้ ที่จะให้มีความมั่นคง นอกจากฟัง เห็นประโยชน์ มีศรัทธา จนกว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้ไม่ไปทางอื่นอย่างที่เคยไป แต่กลับมาสู่สภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าจะนั่งดูละคร ฟังดนตรี ก็เป็นเสียง ขณะนั้นก็สามารถรู้ลักษณะของได้ยินหรือเสียงก็ได้ จะมากหรือไม่มาก ถึงแม้จะไม่อยู่ที่โรงละคร อยู่ตรงนี้ มากหรือไม่มาก ใครบังคับได้ ตามเหตุตามปัจจัย

    นี่แสดงให้เห็นถึงการสะสมว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัจจัย คือ อุปนิสสยปัจจัยที่สะสมมาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามมีกำลังจนกระทั่งทำให้สภาพนั้นๆ เป็นอย่างนั้นเกิดขึ้น เช่น ความพอใจในรูปหนึ่งรูปใด บางคนสะสมรูปภาพ เอามาทำไม คนอื่นอาจจะไม่มีประโยชน์เลย บางทีก็ไม่ได้ดู คนซื้อรูปภาพที่มีราคามาก ไปต่างประเทศ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้ติด ก็เป็นไปได้

    นี่แสดงให้เห็นถึงว่า อัธยาศัยที่สะสมมาหนาแน่นอย่างนี้ แล้ววันดีคืนดี ไม่รู้อะไรสักอย่าง ก็จะหมดกิเลสไป เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมไม่ว่าคำไหนก็ตาม ขอให้เข้าใจจริงๆ ในคำนั้น เฉพาะคำนั้นที่ได้ยินได้ฟัง พอได้ยินคำว่า อุปนิสยโคจร ก็รู้ได้ว่า วันหนึ่งๆ ที่จะไม่ให้จิตเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ เมื่อจิตเกิดแล้วก็ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ แล้วก็ปกติของจิตที่สะสมมา ที่จะหันไปในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตามการสะสม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    20 มี.ค. 2567