พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 598
ตอนที่ ๕๙๘
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒
อ.วิชัย แต่นามธรรมที่เกิดต้องรู้อารมณ์ที่ปรากฏ ถ้าไม่มีอารมณ์ที่ปรากฏ จิตจะเกิดได้ไหม นามธรรมจะเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้ ดังนั้นอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นโดยความเป็นอารมณ์ ก็คือสิ่งใดก็ตามที่จิตรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์แก่จิต คือเป็นปัจจัยแก่จิตโดยความเป็นอารมณ์
สิ่งนี้ก็ไม่ใช่เฉพาะอารมณ์อย่างเดียว ไม่ใช่ธรรมคือนามธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นปัจจัยแก่กัน และกันเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่าง สิ่งนี้ต้องอาศัยความเล็กน้อยจริงๆ ของสังขารธรรมที่ต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่งมากมาย อย่างเช่นจิตเห็นต้องอาศัยตา คือจักขุปสาทที่เป็นอาศัยเกิดของจักขุวิญญาณ และเจตสิกอื่นที่เกิดพร้อมกันด้วย
สิ่งนี้ก็ให้เห็นจริงๆ ว่า ถ้าไม่มีตา จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ จิตเห็นที่เกิดขึ้นต้องอาศัยตาเป็นที่เกิดของจิต
นี้ก็ให้เห็นถึงการพิจารณาธรรมในขณะนี้ที่กำลังมีพอจะเข้าใจได้ว่า มีตา จิตเห็นจึงมี ถ้าไม่มีตา จิตเห็นก็มีไม่ได้ ถ้าไม่มีหู คือ โสตปสาทรูป จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีฆานปสาทรูป จิตได้กลิ่นก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีชิวหาปสาทรูป จิตที่จะลิ้มรสก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีกายปสาทรูป กายวิญญาณคือจิตที่รู้โผฏฐัพพะทางกายก็เกิดขึ้นไม่ได้
เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ รูปก็ยังเป็นปัจจัยแก่นามธรรม โดยความเป็นที่เกิดของจิต ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง
เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ก็พอจะพิจารณาได้ ที่เราเคยสำคัญว่า เห็นเป็นเรา ทั้งหมดที่เป็นนามธรรมเป็นเรา แต่จริงๆ แล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ต้องอาศัยปัจจัยที่ปรุงแต่งที่ทำให้นามธรรมแต่ละขณะเกิดขึ้น แสดงถึงความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นธรรมแต่ละอย่างที่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างให้เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจหมดใช่ไหม
ผู้ฟัง ฟังแล้วก็เข้าใจ แต่ไม่ทั้งหมด
ท่านอาจารย์ แล้วประโยชน์จากการที่ได้ฟังทั้งหมดคืออะไร ในเมื่อเข้าใจแล้ว
ผู้ฟัง ประโยชน์จริงๆ ที่ได้ฟัง ที่เข้าใจ ก็จะได้เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก
ท่านอาจารย์ ประโยชน์จริงๆ
ผู้ฟัง ประโยชน์จริงๆ ก็เพื่อเข้าใจ และเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม
ท่านอาจารย์ ประโยชน์จริงๆ
ผู้ฟัง ประโยชน์จริงๆ เพื่ออยากเข้าใจ แล้วสังสารวัฏฏ์จะได้สั้นลง นี่คือประโยชน์จริงๆ
ท่านอาจารย์ พระธรรมทั้งหมดเลย ๔๕ พรรษาทั้ง ๓ ปิฎก ประโยชน์จริงๆ คืออะไร
ผู้ฟัง เพื่อเข้าใจถึงสภาพธรรมจริงๆ
ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าอย่างไร
ผู้ฟัง เข้าใจว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดจริงๆ
ท่านอาจารย์ เป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นอนัตตาจริงๆ
ท่านอาจารย์ นี่คือประโยชน์จริงๆ ฟังมาทั้งหมดเพื่อเห็นความละเอียดทั้งหมด แล้วถ้ามัวไปจำชื่อ แต่ไม่รู้ว่า ทั้งหมดนี้เพื่อเห็นความละเอียดซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพราะจะฟังอย่างไรๆ ก็ยังเป็นเรา ใช่ไหม จนกว่าจะสามารถสะสมความเห็นถูกว่า ไม่ใช่เรา เมื่อไร เมื่อนั้นก็สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมได้
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เห็นเป็นเราหรือไม่
ผู้ฟัง ตอบได้ว่า ไม่ใช่เรา แต่ความจริงก็ยังมีเราอยู่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าเป็นอนัตตา ก็สามารถทำให้ค่อยๆ คลายความยึดมั่นว่าเป็นเราทีละเล็กทีละน้อย ในขั้นการฟัง แต่ยังไม่ใช่ขั้นรู้ความจริงของสภาพธรรม
ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมจึงต้องเริ่มจากปริยัติ ฟังเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ถ้าฟังแล้วบอกว่า ยังเป็นอัตตาอยู่ อย่างเมื่อวานนี้ก็มีท่านหนึ่งกล่าวว่า ถ้าไม่มีอัตตาแล้วจะอยู่ได้อย่างไร ที่อยู่ไปทุกวันนี้ก็เพราะเป็นอัตตา นี่คือยังเข้าใจธรรมว่าเป็นเรา หรือยังเป็นอัตตาอยู่ แต่ความจริงธรรมเป็นธรรม เข้าใจมากน้อยก็คือฟังแล้วพิจารณาเห็นความเป็นอนัตตาทีละเล็กทีละน้อยหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ขณะนี้พูดถึงเห็น ทุกคนกำลังเห็น เห็นมี แล้วก็รู้เห็นที่กำลังเห็นหรือยัง เรื่องอื่นหมดเลย ใช่ไหม มีใครขณะไหนที่กำลังเข้าใจลักษณะที่กำลังเห็น เข้าใจ เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แค่นี้ก่อน เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงไม่มีใครไปบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นหรือให้ดับไป ถ้าเข้าใจว่า ขณะนี้เห็นมีจริง จะรู้เห็นที่กำลังมีจริงหรือไม่ ขณะนี้เห็นมีจริง จะรู้เห็นที่มีจริงๆ หรือไม่ หรือว่าเห็นมีจริง กำลังเข้าใจเห็นจริงๆ ที่กำลังมีจริงๆ ต่างกันแล้วใช่ไหม เห็นมีจริง แต่ยังไม่ได้รู้เห็นจริงๆ แล้วเห็นมีจริงๆ แน่ๆ และกำลังรู้เห็นที่กำลังมีจริงหรือไม่ หรือจะรู้เรื่องอื่น ชื่อมากมายหมดเลย ใช่ไหม ทั้งๆ ที่เห็นมีจริงๆ กำลังเห็น แล้วจะรู้เห็นที่กำลังเห็นจริงๆ นี้หรือไม่ หรือว่ากำลังรู้ในเห็นที่กำลังเห็นจริงๆ ต่างกันแล้วใช่ไหม ธรรมจึงต้องละเอียด ฟังเพื่อจะรู้ว่า ที่กล่าวว่า เห็นมีจริง เห็นเป็นธรรม เห็นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ไปจำไว้แล้วก็พูดตาม แต่กำลังเข้าใจลักษณะเห็นที่กำลังเห็น
เพราะฉะนั้น เป็นการยากแสนยากไหม ความลึกซึ้งของพระธรรม พูดได้ตลอดหมดทั้ง ๓ ปิฎก แต่รู้แม้เพียง ๑ ขณะซึ่งเป็นธรรม ซึ่งกำลังมีจริงๆ ซึ่งกำลังปรากฏให้เข้าใจได้หรือยัง ถ้ายัง ก็หมายความว่า การฟังขณะนี้เป็นอุปนิสยโคจร เป็นอารมณ์ของจิตที่เริ่มจะเข้าใจธรรมว่า เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ไม่ใช่รู้เรื่องราว หรือรู้อย่างอื่น และไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อฟังมากเข้าๆ ลืมไหม มีใครไม่ลืมเลย เดี๋ยวก็ลืม ที่ว่าลืมคืออะไร เรื่องอื่นปรากฏแล้ว เสียงปรากฏแล้ว คิดนึกปรากฏแล้ว ไม่ได้นึกถึงสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ให้ทราบว่า การสั่งสมอุปนิสยะ หมายความถึงนิสัย ความเคยชิน บ่อยๆ จนมีกำลัง จนกระทั่งแทนจะสนใจเรื่องอื่น ก็มีอารักขโคจร แทนที่จะเป็นอกุศลเหมือนเดิม ขณะใดที่เป็นกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นประโยชน์ของการฟัง ฟังแล้วสามารถรู้จริงๆ ว่า ทั้งหมดเพื่อรู้จริงในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่ยาก เพราะเหตุว่าสะสมอกุศลมามาก สะสมความไม่รู้มามาก เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิดมีมากมาย แต่สังเกตได้ไหมว่า ความเข้าใจธรรมเคยเป็นอกุศลก็เป็นกุศล ในขณะนั้นคือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดสามารถอารักขา คุ้มครองจิตให้เป็นกุศล แทนที่จะเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น ทุกคนพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า เข้าใจธรรมระดับไหน วันนี้อกุศลมากไหม ธรรมที่ได้ยินได้ฟังมาคุ้มครองหรือไม่ ในขณะที่อกุศลเกิด ฟังก็ฟัง เข้าใจก็เข้าใจ จิตมีเท่าไรก็รู้ แต่คุ้มครองไม่ให้จิตที่เป็นอกุศลเกิดบ้างไหม อย่างที่คุณอรรณพกล่าวเมื่อวันก่อนว่า ห้องน้ำสกปรก ขณะนั้นจิตเป็นอะไร
อ.อรรณพ จิตเป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ คุ้มครองหรือไม่
อ.อรรณพ ไปอินเดียก็เห็นห้องน้ำไม่สะอาด ไม่อยากให้ท่านอาจารย์ลงไปก็บอกท่านอาจารย์ว่า ห้องน้ำสกปรก ท่านอาจารย์บอกว่า แค่นี้อกุศลแล้ว
ท่านอาจารย์ ไม่คุ้มครองใช่ไหม แต่ถ้าคุ้มครอง สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ไหม หรือแม้เพียงการคิด ทุกคนคิด ไม่มีใครสามารถรู้ใจว่า วันหนึ่งๆ คิดเป็นอกุศลมาก แต่ถึงกับเอ่ยออกมาด้วยวาจา มีกำลังเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะบางคนเขาไม่ค่อยพูด พูดน้อยๆ ไม่มาก แต่อกุศลในใจเยอะมาก แต่ว่ามีกำลังถึงกับกล่าวเป็นวาจาหรือไม่
นี้แสดงให้เห็นว่า ธรรมที่ได้ยินได้ฟังละเอียด และเป็นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงให้มีอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย นี่คือพระธรรมที่ทรงอนุเคราะห์
ด้วยเหตุนี้ทุกคนที่ได้ฟังธรรม ก็รู้ด้วยตัวเองว่า พระธรรมที่ได้ยินได้ฟังคุ้มครองจิตบ่อยไหม มากไหม หรือแค่ไหน ก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงปัจจัยที่ได้สะสมมา อวิชชาก็มีมากเป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดมาก แต่การสะสมขณะนี้ไม่เสียหาย สะสมในจิต จนกระทั่งสามารถไม่กล่าววาจาที่เป็นอกุศลก็มี อย่างบางคนก็มีวาจาที่โต้เถียงบ้าง ติเตียนบ้าง คำติกับการกล่าวให้เห็นประโยชน์ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ถ้าติ แล้วไม่ชี้โทษหรืออะไรให้คนนั้นได้เห็นว่า สิ่งไหนควร และไม่ควร ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะติ สามารถจะเกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วค่อยๆ เข้าใจธรรม แล้วธรรมสามารถเป็นอารักขโคจร คุ้มครองรักษาจิต รักษาจิต รักษาอย่างไร เอาอะไรมารักษา
จิตสกปรก เห็นไหม ใช้คำนี้เพื่อให้เข้าใจความจริง ไม่ใช่ไปตำหนิติเตียน แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น เน่า เป็นโรคร้าย จริงหรือไม่ โรคมีตั้งหลายโรค โรคโลภะ โรคโทสะ โรคโมหะ อกุศลทั้งหมดเป็นโรค อย่างที่ได้กล่าวถึงที่อินเดียว่า แต่ละคนเกิดมาในโลกนี้เหมือนเด็กกำพร้า ไม่มีคนดูแลคุ้มครอง ผอม ไม่มีอาหารดีๆ ที่ทำให้แข็งแรง แล้วมีโรคเรื้อรัง บางคนก็ป่วยหนัก บางคนก็ป่วยน้อย และบางโรคก็กำเริบจนแสดงกิริยาอาการของโรคต่างๆ แต่ถ้าได้พบผู้ใหญ่ใจดี มีความเมตตาสงสาร ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าสามารถทำให้เขามีความสุขขึ้น มีความเข้าใจขึ้น รักษาโรคได้แข็งแรงขึ้น ก็ไม่เลือกว่าคนนั้นเป็นใคร
เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็แล้วแต่กรรมจะทำให้พบผู้ใหญ่ใจดี แล้วใจดีตลอดไปด้วย แล้วไม่เลือกด้วย ไม่ว่าคนนั้นจะคิดอย่างไรก็ตามแต่ ก็ยังสามารถมีที่พึ่ง เพราะผู้ใหญ่ใจดีสามารถอ่านสลากยาได้ว่า ยาชนิดไหนจะเหมาะกับคนไข้ประเภทไหนได้ เพราะว่าถ้าเป็นคนไข้ที่อาการหนักก็ต้องค่อยๆ รักษา แต่ว่าคนไข้ที่สามารถแข็งแรงพอ ก็ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง
นี่ก็เป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงไหม เป็นเด็กกำพร้าหรือเปล่า หรือมีโอกาสพบผู้ใหญ่ใจดีหรือยัง
ผู้ฟัง ถ้าเรารู้กลิ่น เพราะมีกลิ่นเป็นอารมณ์ใช่ไหม แต่ขณะนี้ที่เรารู้ว่าไม่มีกลิ่น ไม่ทราบว่า มีอารมณ์อะไรให้รู้ว่าไม่มีกลิ่น
ท่านอาจารย์ ตอนนี้ตายหรือยัง
ผู้ฟัง ยัง
ท่านอาจารย์ ทำไมรู้ว่าไม่ตาย
ผู้ฟัง เพราะยังมีการรับรู้อยู่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เพราะมีจิต จิตเกิดแล้วดับหรือไม่
ผู้ฟัง ที่ได้ฟังมาก็ดับ
ท่านอาจารย์ ได้ฟังมา จิตเห็นจะเห็นต่อไปเรื่อยๆ ทั้งวัน โดยไม่มีจิตได้ยินได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นนอนอยู่ในห้อง ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส มีจิตหรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ทำไมว่ามี
ผู้ฟัง เพราะถ้าไม่มีก็ต้องตาย
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีก็ต้องตาย เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจตั้งแต่ต้น จิตเป็นธาตุรู้ ที่ว่าเราเกิดก็คือจิตเกิด ถ้าจิตไม่เกิด ก็ไม่รู้อะไร ต้นไม้ใบหญ้าเกิดจริง แต่ไม่รู้อะไร เพราะไม่ใช่ธาตุรู้ สภาพรู้
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของธรรมซึ่งไม่มีรูปร่าง แต่เกิดขึ้นแล้วต้องรู้ ต่างกับธาตุอื่นซึ่งเกิดแล้วไม่รู้อะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น จิตไม่ใช่ต้นไม้ใบหญ้า จิตมีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วต้องรู้ ขณะแรกที่เกิดมารู้อะไรหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ แต่มีจิตหรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตสามารถเป็นสภาพรู้ โดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เมื่อเป็นธาตุรู้แล้ว จะเปลี่ยนลักษณะของธาตุนั้นไม่ได้ เกิดเมื่อไรต้องรู้เมื่อนั้น แต่ว่าเราจะไม่กล่าวถึงว่าจิตรู้อะไร แต่มีความเข้าใจที่มั่นคงถึงสภาพธรรมที่ต่างกัน เพราะเหตุว่าถ้าตราบใดที่จิตเกิดขึ้นต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จิตกำลังรู้
เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ตาย เพราะมีสภาพรู้ มีธาตุรู้ ตอนเกิดตายหรือยัง
ผู้ฟัง ตอนเกิดยังไม่ตาย
ท่านอาจารย์ แต่ทำไมว่าเป็นสภาพที่เกิดขึ้นเป็นสัตว์ บุคคล ไม่ใช่ต้นไม้ใบหญ้า เพราะเหตุว่ามีสภาพรู้ กำลังนอนหลับสนิท ตายหรือยัง
ผู้ฟัง ยัง
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะมีสภาพรู้อยู่
ท่านอาจารย์ มีจิตซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้น เกิดแล้วไม่ดับได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เป็นธรรมเนียม นิยาม หรือเป็นสิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือสภาพธรรมใดเกิดแล้วก็ดับ ที่จะเกิดโดยไม่ดับไม่มี ไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรม แต่มีสภาพธรรมที่ต่างกัน คือขณะตื่นไม่ใช่ขณะหลับ ถูกต้องไหม
ผู้ฟัง ถูก
ท่านอาจารย์ เพราะอะไรถึงกล่าวว่าดับ
ผู้ฟัง เพราะปริยัติก็อยู่ในภวังค์
ท่านอาจารย์ แล้วเดี๋ยวนี้ปริยัติอยู่ตรงไหน
ผู้ฟัง ปริยัติ
ท่านอาจารย์ อยู่ในหนังสือ หรืออยู่ในความจำ
ผู้ฟัง ก็อยู่ในหนังสือกับความจำ
ท่านอาจารย์ แต่ตามความเป็นจริง ขณะหลับต่างกับขณะตื่นเพราะอะไร
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมไม่ใช่ไปจำชื่อ แต่ต้องเข้าใจตัวธรรมจริงๆ ว่า หลับมี ถูกต้องไหะ ตื่นมีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ความต่างของหลับกับตื่นคืออะไร
ผู้ฟัง ตอนหลับไม่รับรู้ทางทวารทั้ง ๕
ท่านอาจารย์ ขณะหลับสนิท ชื่ออะไร
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ บ้านอยู่ที่ไหน
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ มีเพื่อนกี่คน
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แต่จิตมี ต้องมีแน่นอน ยังไม่ตาย เพราะเหตุว่าจิตเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ก็มีจิตที่ต่างกัน จิตที่อาศัยตาเกิดขึ้นเห็น อาศัยหูเกิดขึ้นได้ยิน อาศัยจมูกเกิดขึ้นได้กลิ่นเมื่อไร ขณะนั้นคือจิตกำลังรู้กลิ่น ขณะที่รับประทานอาหาร รสปรากฏ จิตเป็นสภาพที่รู้รสขณะที่รสปรากฏ ขณะที่มีกายกระทบ ขณะนั้นก็จะมีเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งปรากฏ ถึงแม้ว่าจะไม่มีสภาพธรรมเหล่านี้ ก็ยังคิดนึกได้ เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ
เพราะฉะนั้น ขณะที่หลับหมายถึงขณะที่ไม่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจด้วย เวลาฝัน มีจิตหรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ทางไหน
ผู้ฟัง ทางมโนทวาร
ท่านอาจารย์ ตอบได้ ภาษาบาลีด้วย และเวลานี้มีมโนทวารหรือไม่
ผู้ฟัง ขณะนี้ก็มี
ท่านอาจารย์ เมื่อไร
ผู้ฟัง เมื่อคิดนึก
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีมโนทวารเมื่อไร
ผู้ฟัง ขณะที่เราคิดนึก
ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไรอีก
ผู้ฟัง มโนทวาร
ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม ถ้าศึกษาสภาพธรรมจริงๆ แล้วก็พบคำไหนเป็นภาษาบาลี เราสามารถเข้าใจได้ แต่เราเพียงศึกษาเรื่องราว แต่ไม่รู้สภาพธรรมขณะนี้ หมายความว่าเราศึกษาธรรมหรือเปล่า หรือเพียงศึกษาเรื่องของธรรม ถ้าศึกษาธรรมคือเดี๋ยวนี้มีธรรม ที่ทำให้สามารถเริ่มเข้าใจขึ้นว่า เวลาที่เห็นเกิดขึ้น เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะมีอารมณ์กระทบที่ตา
ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีก
ผู้ฟัง จิตก็เกิดขึ้นรับรู้
ท่านอาจารย์ ก่อนจิตเห็นจะเกิด มีจิตที่เกิดก่อนหรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิตที่เกิดก่อนเป็นปัจจัย จิตเห็นจะเกิดขึ้นได้ไหม ก็ไม่ได้ นี่คือการศึกษาด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความเข้าใจจริงๆ จิตเห็นดับไหม
ผู้ฟัง จิตเห็นดับ
ท่านอาจารย์ รูปที่ปรากฏที่กระทบให้เห็น ดับด้วยหรือไม่
ผู้ฟัง ดับ
ท่านอาจารย์ ทันทีพร้อมกันหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่พร้อม
ท่านอาจารย์ ไม่พร้อม ก็แสดงว่ารูปดับช้ากว่าจิต ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องมีจิตเกิดขึ้นรู้รูปที่ยังไม่ดับด้วยต่อจากเห็นใช่หรือไม่
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ไหม
ผู้ฟัง ก็เป็น
ท่านอาจารย์ เรียกจิตที่อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ยังไม่ดับว่าอะไร
ผู้ฟัง จักขุวิญญาณ
ท่านอาจารย์ อย่างเดียวหรือ จักขุวิญญาณดับแล้ว จิตอื่นเกิดต่อ รูปยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อก็รู้รูปที่ยังไม่ดับ โดยอาศัยทวารนั้นเอง รูปนั้นจึงจะปรากฏได้ให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นรู้ได้ เรียกจิตทั้งหมดที่อาศัยตาเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับว่าอะไร
ผู้ฟัง จักขุวิถี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จักขุทวารวิถีคืออะไร
ผู้ฟัง คือวิถีจิตที่รับรู้โดยอาศัยจักขุ
ท่านอาจารย์ จิตที่เกิดสืบต่อกันทางหนึ่งทางใดโดยรู้อารมณ์ที่กระทบทางนั้น ที่ยังไม่ดับ พอรูปดับแล้ว จิตเกิดต่อหรือไม่
ผู้ฟัง จิตก็เกิดต่อ
ท่านอาจารย์ แล้วเป็นอะไร ทำกิจอะไร
ผู้ฟัง ทำกิจภวังค์
ท่านอาจารย์ จิตทำกิจภวังค์ ไม่ได้ไปอยู่ที่ไหน ทำภวังคกิจ และหลังจากนั้น
ผู้ฟัง ก็ภวังคจิตเกิดสืบต่อ
ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีก
ผู้ฟัง ภวังค์ ภวังค์
ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีก
ผู้ฟัง ภวังค์ไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ จนกว่าอะไร
ผู้ฟัง จนกว่าจะมีอารมณ์ทาง ๕ ทวาร
ท่านอาจารย์ นี่คือความพลาด มโนทวารวิถีจิตต้องเกิดต่อรับรู้อารมณ์ที่จักขุทวารวิถีรู้ เปลี่ยนไม่ได้เลย นี่เป็นเหตุที่เราไม่รู้จักว่า จิตคิดหรือจิตที่ไม่ใช่จักขุทวารวิถีคืออะไร ขณะนี้เห็นคนหรือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา
ผู้ฟัง เห็นคน
ท่านอาจารย์ แล้วมีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็นก่อนหรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เวลาที่กล่าวถึงจักขุวิญญาณ เป็นภาษาบาลี เพราะศึกษามาแล้ว ใช้คำถูกต้อง แต่ขอทบทวนความเข้าใจว่า เวลาที่กล่าวถึงจักขุวิญญาณกับรูปารมณ์ หมายถึงอะไร
ผู้ฟัง หมายถึงรูปกับนาม
ท่านอาจารย์ พอพูดถึงจักขุวิญญาณหมายความถึงอะไร
ผู้ฟัง หมายถึงส่วนนาม
ท่านอาจารย์ คืออะไร
ผู้ฟัง คือตัวรู้
ท่านอาจารย์ คืออะไร ภาษาบาลีก็ได้
ผู้ฟัง คือจิต
ท่านอาจารย์ จิตอะไร
ผู้ฟัง จิตรู้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่จิตที่อาศัยกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินคำว่า จักขุวิญญาณ แน่นอน เพราะศึกษามาแล้ว เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณคืออะไร
ผู้ฟัง คือจิตที่เห็น
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้จักขุวิญญาณมีหรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มี เพราะกำลังเห็น จักขุวิญญาณดับแล้ว อะไรเกิดต่อ
ผู้ฟัง ตามวิถีของจิต
ท่านอาจารย์ จิตอะไรล่ะคะที่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณ
ผู้ฟัง ก็สัมปฏิจฉันนะ
ท่านอาจารย์ รู้ไหมว่า สัมปฏิจฉันนะเกิดสืบต่อ
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ ไม่มีทางจะรู้ได้เลย
ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมต้องละเอียดว่า จักขุวิญญาณ เข้าใจแล้วว่า จักขุวิญญาณไม่ใช่สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อ ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิตที่เกิดก่อน แต่เป็นจิตที่เกิดทำทัสนกิจ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 541
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 542
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 543
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 544
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 545
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 546
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 547
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 548
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 549
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 550
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 551
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 552
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 553
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 554
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 555
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 556
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 557
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 558
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 559
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 560
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 561
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 562
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 563
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 564
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 565
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 566
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 567
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 568
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 569
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 570
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 571
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 572
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 573
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 574
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 575
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 576
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 577
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 578
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 579
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 580
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 581
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 582
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 583
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 584
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 585
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 586
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 587
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 588
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 589
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 590
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 591
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 592
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 593
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 594
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 595
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 596
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 597
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 598
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 599
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 600