พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 546


    ตอนที่ ๕๔๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ในเมื่ออวิชชาเป็นอกุศล แต่ก็บอกว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม แต่ถ้าพิจารณาถึงความเป็นปัจจัยโดยละเอียด ตราบใดที่ยังมีอวิชชา จิตไม่ว่าจะเป็นกุศลก็ตาม แต่ยังมีเชื้อหรือธรรมที่ทำให้เกิดอกุศลทั้งหลาย เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับอวิชชา ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ดับอวิชชาหมด อวิชชาไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกิริยาจิต ซึ่งขณะนั้นไม่มีทั้งอกุศลธรรม และกุศลธรรมซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดสังสารวัฏฏ์

    เพราะฉะนั้น เมื่อทรงแสดงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลกรรม และอกุศลกรรม ซึ่งภาษาบาลีจะรวมทั้งหมด อกุศลกรรมบถก็ต้องรวมอกุศลเป็นไปในกามภูมิ และถึงแม้ว่าจะเกิดด้วยผลของกรรมซึ่งเป็นรูปฌาน หรืออรูปฌานก็ตามแต่ ก็ยังเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย หมายความว่า เป็นปัจจัยให้กุศลซึ่งเป็นรูปาวจรจิตเกิดได้ เป็นปัจจัยให้กุศลที่เป็นอรูปาวจรจิตเกิดได้ แต่ไม่ทำให้ขณะนั้นเป็นกิริยาจิต

    เพราะฉะนั้น อวิชชาเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย หรือจะใช้คำว่า อุปนิสสยปัจจัย หมายความว่าเป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่จะทำให้กุศลจิตเกิดได้ แต่กำลังของอวิชชาก็ทำให้ยังเป็นกุศลอยู่ จึงต้องมีการเกิดซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมนั้นอยู่ ยังไม่สามารถทำให้พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ได้

    เพราะฉะนั้น เห็นกำลังของอวิชชา ซึ่งเป็นอุปนิสย เป็นที่อาศัย ถึงแม้จะเป็นกุศลประเภทใดๆ ก็ตามทั้งสิ้น แต่ก็ยังเป็นกุศล คือยังไม่หมดกิเลสที่จะทำให้เป็นกิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้วิบากใดๆ เกิดขึ้นได้

    ด้วยเหตุนี้ความหมายที่ว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ทั้งฝ่ายกุศลกรรม และอกุศลกรรม ก็เพราะเหตุว่ายังเป็นปัจจัยที่มีกำลังที่ทำให้กรรมนั้นๆ แม้ดี เป็นกุศล ดีงาม แต่ก็ยังเป็นพืชเชื้อที่จะทำให้ถึงการเกิด ไม่ทำให้หมดอกุศล ถึงความที่จิตใดๆ ก็ตามที่เกิดหลังอกุศล คือ อวิชชาดับแล้ว ไม่มีอวิชชาแล้ว เมื่อใดที่ไม่มีอวิชชาแล้ว กุศลนั้นเป็นกิริยา ด้วยเหตุนี้อวิชชาจึงมีกำลังที่ทำให้แม้สภาพจิตที่ดีงามนั้นก็ยังคงเป็นกุศล ที่ทำให้มีผลเกิดขึ้น ประการหนึ่ง เข้าใจในความเป็นอุปนิสสยปัจจัยไหม เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง

    อ.วิชัย เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์คงหมายถึงกุศลที่ยังเป็นโลกียกุศล ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ

    ผู้ฟัง คำว่า “อุปนิสสยปัจจัย” หมายถึงปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ปัจจัยที่มีกำลัง เป็นที่อาศัยที่ทำให้สภาพธรรมที่เป็นผลเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ก็ยังเป็นปัจจัยที่มีกำลังที่จะทำให้จิตนั้นเป็นกุศล ที่จะทำให้มีผล คือ สังสารวัฏฏ์เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงเรื่องการเกิด ความเป็นไปในสังสารวัฏฏ์ ต้องเว้นโลกุตระ เพราะฉะนั้นไม่กล่าวถึงโลกุตรกุศลซึ่งเป็นมรรคจิต อย่างที่คุณวิชัยกล่าวถึง แต่แม้ว่าจะเป็นรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล ก็ยังคงเป็นกุศล เพราะอวิชชายังเป็นปัจจัยที่มีกำลัง ที่จะทำให้แม้จิตที่ดีงามขณะนั้น ก็ดีงามเพียงระดับขั้นของกุศล ยังไม่ถึงการที่เมื่อดับอวิชชาแล้ว จิตนั้นจะเป็นกุศลอีกต่อไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่สามารถทำให้เกิดผลที่เป็นวิบากได้ เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่า “อกุศล” ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบากจิต ถ้าใช้คำว่า “กุศล” ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากจิต ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดๆ แต่เมื่อดับอวิชชาแล้ว แม้สภาพธรรมที่ดีงามเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเมตตา เป็นกรุณา เป็นปัญญา หรือเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม แต่เพราะไม่มีอวิชชา จึงไม่มีที่อาศัยที่มีกำลัง ที่ทำให้วิบากเกิดเป็นกุศลวิบากได้ จึงเป็นกิริยาจิต

    นี่คือความหมายของอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร คือต้องเป็นปัจจัยเพียงให้กุศล ไม่ว่าจะระดับไหนเกิดก็ตาม ยังต้องเป็นสภาพธรรมที่ดีงามที่ให้ผล ไม่สามารถเว้นการให้ผลได้ แต่เมื่อใดที่ดับอวิชชาแล้ว หมดสิ้น สภาพธรรมที่ดีงามใดๆ ไม่ใช่กุศลที่ทำให้เกิดผล เป็นกิริยาจิต แม้ว่าเป็นกุศล แม้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ในความหมายของสภาพธรรมที่ดีงาม

    ด้วยเหตุนี้ชีวิตของพระอรหันต์ไม่มีทั้งอกุศล และกุศล แต่ว่าวันหนึ่งๆ โสภณเจตสิกเกิดเหมือนกับตอนที่เป็นกุศล ต่างกันที่ขณะที่เป็นกุศลนั้นยังมีอวิชชาเป็นปัจจัยที่มีกำลัง ที่จะทำให้สภาพนั้นสามารถให้เกิดผลเป็นวิบาก แต่เมื่อหมดอวิชชาแล้ว สภาพธรรมที่ดีงาม แม้ดีงามก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตที่เป็นผลได้ นี่คือความเป็นปัจจัยของอวิชชา ประการหนึ่ง

    อีกประการหนึ่ง อวิชชาเป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่าไม่มีสภาพธรรมใดๆ ที่ไม่เป็นอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้น แม้อวิชชาก็เป็นอารมณ์ของจิตด้วย

    ผู้ฟัง ขณะที่ปัญญาเกิด มีการระลึกศึกษาอย่างไรที่ไม่ใช่ตัวตนไประลึกศึกษา หรือจะเป็นลักษณะของสังขารอย่างเดียวที่ทำงาน หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ พื้นฐานที่จะต้องเข้าใจก่อนอื่นก็คือ ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะพูดถึงสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม เมตตาเป็นธรรม กรุณาเป็นธรรม อกุศลเป็นธรรม โลภะ โทสะ โมหะเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็สามารถเข้าใจแต่ละคำที่มีในพระไตรปิฎกถูกต้องชัดเจนขึ้น แต่ถ้ายังไม่เข้าใจในความเป็นธรรม เราก็เพียงแต่จำชื่อ อย่างจิต ทุกคนก็เรียกได้ จำได้ พูดถึงได้ แต่สภาพของจิตขณะนี้เป็นอย่างไร ปัญญาต่างขั้น ใช่ไหม คนที่ฟังแล้วจำเฉยๆ ถาม ตอบได้ แต่ไม่รู้ อย่างเมื่อวานนี้ก็ถามถึงเรื่องเจตนา ตอบได้หมด แต่เจตนาคืออะไรไม่รู้

    นี่แสดงให้เห็นว่า เราคุ้นกับชื่อ แต่ไม่คุ้นกับลักษณะที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นปัญญาขั้นฟังก็คือขณะที่กำลังเข้าใจเรื่องที่ได้ยิน ซึ่งเป็นสภาพธรรมนั่นเอง ถ้ากล่าวถึงธรรม เช่นจิตเป็นธรรม ได้ยินคำว่า “จิตเป็นธรรม” มีความสามารถเข้าใจว่า จิตมี และจิตไม่ใช่ของเรา หรือไม่ใช่ของใคร แต่เป็นนามธรรมซึ่งไม่มีรูปร่าง หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเจือปนเลยทั้งสิ้น เป็นธาตุรู้ล้วนๆ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งจิตกำลังรู้ในขณะนั้น ซึ่งใช้คำว่า “อารมณ์” เพราะฉะนั้น จิตไม่ใช่เจตสิก

    นี่คือปัญญาขั้นฟัง เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจมั่นคงขึ้นก็ระลึกได้ ซึ่ง “ระลึกได้” ที่นี่ไม่ใช่เรา แต่ขณะใดก็ตามที่กำลังรู้ลักษณะที่เข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรมในขั้นฟัง เช่น แข็งเป็นธรรมในขั้นฟัง และกำลังกระทบอะไรคะ

    ผู้ฟัง ก็มีแข็งเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ลืมหรือไม่ในลักษณะแข็ง

    ผู้ฟัง ไม่ลืม ถ้าระลึกก็จะปรากฏออกมารู้ว่า เป็นแค่แข็ง

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีแข็งปรากฏกับแต่ละท่านหรือไม่ มี ลืมรู้ลักษณะแข็งหรือไม่ ลืม พูดถึงแข็ง แต่ก็ไม่ได้รู้ตรงแข็ง นั่นคือลืมรู้ตรงแข็ง เพราะแข็งมีจริงกำลังปรากฏให้รู้ว่าเป็นธรรม ความเป็นลักษณะที่แข็ง เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ก็ลืม ฟังเรื่องแข็ง และแข็งก็ปรากฏ และลืมที่จะรู้ที่ลักษณะที่แข็ง

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ฟัง และเข้าใจเรื่องแข็ง เรื่องเห็น เรื่องได้ยิน เรื่องเสียง เรื่องโลภะ เรื่องโทสะ เรื่องที่มีในชีวิตประจำวัน และกำลังรู้ลักษณะนั้นทันทีที่สิ่งนั้นปรากฏ เพราะฉะนั้น จะรู้แข็งเมื่อไร เมื่อแข็งปรากฏ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้มีแข็งเพราะแข็งปรากฏ และก่อนนั้นไม่เข้าใจว่า แข็งก็เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งในชีวิต ชีวิตที่จะไม่มีแข็งปรากฏเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้ความจริงว่า แข็งนั้นเป็นธรรม คิดว่าแข็งนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอด แข็งเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นสมุด เป็นดินสอ ก็คิดว่าแข็งเป็นอย่างนั้น แต่ไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของแข็งว่า แข็งขณะนั้นมีลักษณะที่ไม่ต้องเรียกว่าแข็ง แต่ความเป็นธรรมคือความแข็ง มี

    เพราะฉะนั้น นอกจากแข็งก็มีธรรมอื่น เสียงก็มีลักษณะของเสียง เสียงก็เป็นธรรม คิดก็เป็นลักษณะของคิดซึ่งเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เกิดจากการฟังรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ยังไม่รู้ลักษณะที่เราใช้คำว่า “ทุกอย่าง” สักอย่าง ว่าอะไรเป็นธรรม จนกว่ามีการรู้ตรงลักษณะใดก็ตามทีละอย่าง สองอย่าง ทีละเล็กทีละน้อย นานๆ ครั้งหนึ่ง ก็ยังสงสัยว่า นี่หรือคือธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสให้รู้ เพราะเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่งว่า ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด นอกจากลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วต้องเกิดด้วย จึงปรากฏให้รู้ว่า มีจริงๆ ธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่พูดถึงสิ่งที่ไม่มีจริง

    เพราะฉะนั้น ปัญญาที่กำลังรู้ลักษณะ จะต่างกับปัญญาที่ฟังแล้วเข้าใจว่า แข็งเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ต่างกันแน่นอน

    ท่านอาจารย์ นี่คือความต่างของปัญญา

    ผู้ฟัง ทีนี้ในขณะที่ปัญญาเกิดรู้ลักษณะ แค่ลักษณะแข็ง นอกจากลักษณะแล้วยังจะรู้อย่างอื่นหรือไม่ ที่ใช้คำว่า “ระลึก และศึกษา” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังรู้ลักษณะเป็นสติ เป็นสัมปชัญญะ ไม่หลงเข้าใจโต๊ะ เพราะขณะนั้นไม่มีโต๊ะ แต่มีแข็งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เพราะขณะนั้นปัญญาเกิด ปัญญาก็รู้สภาพตามความเป็นจริง รู้ลักษณะความเป็นจริงอยู่แล้ว ไม่เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ และสภาพธรรมใดๆ ที่เกิดร่วมกันขณะนั้น ก็รู้ลักษณะนั้นด้วยความเห็นถูกต้อง ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ จนกว่าจะทั่ว

    ผู้ฟัง เป็นการระลึก และศึกษา

    ท่านอาจารย์ มนสิการเจตสิกก็เกิด ไม่ใช่เรา ศรัทธา หิริ โอตตัปปะทั้งหมดมีอยู่ขณะที่เป็นโสภณธรรม

    ผู้ฟัง สงสัยที่ว่า จิตรู้อารมณ์ ทางใจหมายความว่าอย่างไร การคิดกับรู้อารมณ์ทางใจ ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ เมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังไม่ต้องถึงทางไหน และไม่ต้องคิดว่าทางไหนด้วย แต่เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องเป็นสภาพรู้ ขณะนี้กำลังเห็น เพราะมีตา ถ้าไม่มีตา จิตเห็นก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เวลาที่ไม่เห็นก็คิดได้ ใช่ไหมคะ ไม่ต้องเรียกอะไร แต่ความต่างของสิ่งที่ปรากฏทางตากับเรื่องราวที่คิดไม่เหมือนกัน เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ต้องคิดก็ปรากฏว่ามีจริงๆ แล้วก็มีสภาพธรรมที่ใครก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้น ยังไม่ต้องใช้ทางไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าขณะไหน เมื่อไร มีอะไรปรากฏให้ทราบว่า เพราะจิตเกิดขึ้น กำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงมีในขณะนั้น ในขณะที่จิตกำลังรู้สิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้ทางไหน ถ้าเข้าใจว่าจิตเป็นสภาพรู้ อย่างขณะนี้เห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แน่นอน เพราะเกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่เราเห็น เสียงมีไหมคะ

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ เสียงมีนะคะ ถ้าจิตไม่เกิด มีสภาพได้ยินหรือไม่ ไม่มี เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังได้ยินคือจิต ไม่ต้องใช้คำไหนด้วย แล้วจะสงสัยอะไร คิดนึกก็ไม่ต้องอาศัยเห็น ได้ยินอะไรทั้งสิ้น ก็คิดได้

    จริงๆ แล้วขอย้อนกลับไปนิดหนึ่งคือว่า ถ้าเราได้ยินคำอะไร แต่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไร จะมีประโยชน์ไหม เราก็เก็บคำ แล้วไปหาว่า คำนั้นหมายความถึงอะไร และไปคิดเอาเองด้วย เพราะได้ทราบว่า บางคนก็อ่านมาก และฟังมาก แต่ก็ยังมีคำถามโดยไม่รู้ความจริงว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ซึ่งสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะปรากฏได้เพราะมีจิต แค่นี้เราก็ต้องเข้าใจตามลำดับ เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีคำมากที่เราไม่เข้าใจ แต่ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ เดี๋ยวนี้เอง เพราะฉะนั้น สภาพที่กำลังเห็น มี เป็นจิตชนิดหนึ่ง สภาพที่ได้ยิน มี เป็นจิตชนิดหนึ่ง สภาพจำก็มี สภาพคิดก็มี

    เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจว่า ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงในชีวิต โดยที่ก่อนนั้นไม่รู้ว่า เป็นธรรม จึงเห็นผิด เข้าใจผิดว่าเป็นเรา แต่ไม่อยากให้ไปเอาชื่อมามากมาย แล้วไม่รู้ความหมาย แล้วก็สงสัย ซึ่งความจริงก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด เพียงแต่ชื่อนั้นบ่งให้รู้เพิ่มขึ้น ให้เข้าใจเพิ่มขึ้น อย่างจิตเห็นไม่สงสัย เพราะกำลังเห็น จิตได้ยิน สงสัยไหมคะ และจิตคิด สงสัยไหมคะ เห็นไหมคะ เราไปติดที่คำ “ทางใจ” หรืออะไรทั้งหมด แต่จิตคิดมี ถ้าไม่สงสัยจิตเห็น ไม่สงสัยจิตได้ยิน จะสงสัยจิตคิดไหม ก็ต้องไม่สงสัย แต่ความต่าง คือ เห็นมีสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่จากการพิจารณาของเรา เราก็จะเข้าใจธรรมขึ้น พอได้ยิน ทางใจ เราก็รู้เลยว่า ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ทั้งหมดที่เหลือก็เป็นทางใจ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน เพราะใจมี และจิตไม่ได้อาศัยตา แต่ว่าใจที่สะสมสิ่งต่างๆ ไว้มากมาย เมื่อวานนี้ก็สะสมไว้เยอะ วันก่อนนี้อีก ชาติก่อนๆ นี้อีก เพราะฉะนั้น ก็ทำให้จิตคิดถึงสิ่งที่ผ่านมาทางใจ โดยไม่ต้องอาศัยอะไร ถ้าไม่ได้สะสม ไม่มีความจำใดๆ มา ก็จะคิดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ แต่พอเห็นแล้ว ไม่ใช่เพียงรูปที่ปรากฏทางตาดับ ทางใจยังรู้ต่อ นี่คือความรวดเร็ว ซึ่งไม่มีใครสามารถจะแยกได้ อย่างคุณแสงธรรมสงสัยเรื่องทางใจ ก็อาจจะรู้เพียงสภาพที่คิด แต่สภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อเป็นทางใจ ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ความละเอียดของธรรม ให้ทราบว่า สำหรับสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว แม้ผ่านไป ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว จากการเห็นนั้น เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรับรู้สิ่งที่เพิ่งผ่านไป มิฉะนั้นจะไม่จำ และรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

    นี่คือความรวดเร็ว และความลึกซึ้งของธรรม ถ้าเข้าใจทางใจจริงๆ ก็ต้องเข้าใจด้วย ไม่ใช่เข้าใจแต่เฉพาะคิดนึก แต่เดี๋ยวนี้เองสิ่งที่ปรากฏทางตามีอายุที่สั้นมาก แค่ ๑๗ ขณะของจิต ไม่ต้องพูดถึงเลย ปรากฏเหมือนเห็นพร้อมได้ยิน ทั้งๆ ที่มีจิตอื่นเกิดคั่นมาก เพราะฉะนั้น ความรวดเร็วก็ทำให้ไม่รู้ว่า ขณะนี้ที่เหมือนเห็นไม่ดับ มีจิตอะไรในระหว่างนั้นบ้าง ซึ่งรวมทั้งทางใจ หมายความว่าแม้ไม่เห็น แต่เมื่อใจมี สิ่งใดที่ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจรับรู้หมด และถึงแม้ว่าสิ่งนั้นไม่ได้กำลังปรากฏสืบต่อให้เห็นเหมือนว่ายังมีอยู่ คิดนึกเองก็ได้ เพราะมีความจำเก่าๆ มากมายที่จะทำให้คิดนึกเป็นความฝัน อย่างที่คุณกุลวิไลพูด ทำไมเราเรียกว่า ฝัน ฝันเห็นอะไรหรือไม่มีอะไรในฝันที่จะให้เห็น

    ผู้ฟัง ในฝันมีสิ่งที่เคยเห็น

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะนั้นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็เหมือนฝัน เพียงแต่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้รู้ว่า ไม่ใช่ฝัน ถ้าจะคิดถึงคุณบุษกร โดยไม่เห็น คิดถึงได้ไหม คิดได้ ก็เหมือนในฝัน เพราะว่าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เวลานี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็คิดถึงรูปร่างที่เคยจำได้ เพราะฉะนั้น ก็เห็นเป็นคุณบุษกร แต่ความจริงสิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ เราฟังเพื่อให้เข้าใจว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นธาตุหรือเป็นธรรมแต่ละอย่าง เกิดขึ้น และดับไป

    นี่คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงประจักษ์แจ้งความจริงโดยประการทั้งปวง ที่จะแสดงให้คนที่ได้ฟังธรรม ได้พิจารณาแล้วค่อยๆ อบรมความเห็นถูก ไม่ใช่ฟังแล้วอยากจะประจักษ์การเกิดดับสืบต่อทางตากับทางใจ แต่ให้เข้าใจถูก เพราะว่าจะเห็นอะไรก็ตาม ถ้าไม่เข้าใจ ก็ไม่มีประโยชน์

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แม้แต่แข็งขณะนี้กำลังปรากฏ เข้าใจถูกหรือไม่ หรือเพียงแข็ง ถ้าเข้าใจถูก ขณะแข็งปรากฏ แข็งมีจริงๆ ไม่มีใครทำให้แข็งเกิดขึ้น และสภาพรู้แข็งมี แข็งนั้นจึงปรากฏได้ แค่นี้คือคำสอนที่จะทำให้รู้ความจริงว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ทุกขณะ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน

    ไม่ทราบคุณกุลวิไลสงสัยเรื่องฝันอยู่หรือไม่

    อ.กุลวิไล บางครั้งเรานั่งอยู่ ก็คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ได้ และไม่ใช่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ด้วย ฉันใด เวลาฝันก็มีเรื่องราวมากมาย ก็ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมในขณะที่เรื่องราวของฝันเป็นอารมณ์ แต่ก็ต้องมีจิต เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ ขณะนั้นก็ต้องมีสิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิต แต่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ของจิตในขณะที่ฝัน หรือขณะที่คิดนึกในขณะนั้น เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง หรือแม้ไม่ปรากฏ เราอาจจะนึกถึงบ้าน หรือเพื่อนฝูงที่ไม่ได้อยู่ที่นี่ก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฝันคืออะไรคะ

    ผู้ฟัง ฝันคือคิดถึง

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตที่คิด เพราะฉะนั้น จิตคิดเมื่อไร จะเรียกอะไรก็ตาม จะเรียกฝันหรือไม่เรียกฝันก็ตามแต่ ความจริงก็คือจิตเกิดขึ้นคิด เหมือนอย่างขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏให้เห็น ดับแล้ว จิตเกิดขึ้นคิด โดยไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ มีแต่คิด คิด คิดไปเรื่อยๆ เหมือนฝันไหมคะ ก็เหมือนกัน เพราะเป็นการรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏโดยการจำ

    อ.กุลวิไล เคยจำได้ว่า ท่านอาจารย์บอกว่า คิดนึกเป็นสิ่งที่ไร้สาระ และถ้าเป็นไปกับอกุศลจิต ไร้สาระจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้พระสูตรเรื่องอะไรคะ เพิ่งผ่านไป สิ่งที่มีประโยชน์กับสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ เมื่อวานนี้ฟังธรรม ถึงวันนี้สิ่งที่ไม่มีประโยชน์หรือสิ่งที่มีประโยชน์เกิดขึ้น ฟังจริงว่า อะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์ ฟังจบแล้วสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เกิด หรือสิ่งที่มีประโยชน์เกิด

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟัง ไม่ใช่เพียงฟัง สาระอยู่ที่ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกว่า อะไรเป็นประโยชน์ และอะไรไม่เป็นประโยชน์ แม้ข้อความในพระสูตรจะเพียง ๖ ประการ แต่ทั้งหมดกล่าวได้ไหมว่า อกุศลทุกประเภทไม่เป็นประโยชน์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    20 ส.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ