พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 547
ตอนที่ ๕๔๗
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สาระของการฟัง ไม่ใช่เพียงฟัง สาระอยู่ที่ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกว่า อะไรเป็นประโยชน์ และอะไรไม่เป็นประโยชน์ แม้ข้อความในพระสูตรจะเพียง ๖ ประการ แต่ทั้งหมดกล่าวได้ไหมว่า อกุศลทุกประเภทไม่เป็นประโยชน์
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงแค่ ๖ ประการ อย่างเป็นผู้ตื่นสาย และตอนไม่ตื่นเป็นกุศลหรืออกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นอะไร แล้วตื่นขึ้นเป็นกุศล เป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงฟังเผินๆ รีบตื่นแต่เช้าทำอะไร กุศลหรืออกุศล แต่ถ้าตื่นแล้วเข้าใจธรรม ขณะนั้นเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจแม้กับคำว่า ตื่นขึ้นมีประโยชน์กับตื่นขึ้นไม่มีประโยชน์ ละเอียด และเป็นผู้เห็นคุณของการรู้ค่าของสิ่งที่มีประโยชน์ว่า ไม่มีอะไรมีประโยชน์เท่ากับการได้รู้ความจริง หรือเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าทุกอย่างปรากฏในชีวิต แต่เข้าใจถูกในอะไรในชีวิตบ้างหรือไม่ หรือว่าไม่มีเลย ถ้าไม่มีเลย มีแต่อกุศล และชีวิตต่อๆ ไปจะเป็นอย่างไร ในชาตินี้ทุกคนก็มองเห็นสิ่งที่แต่ละคนสะสมมา พูดเมื่อไรก็เห็นเลย สะสมมาที่จะคิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น เป็นกุศลอย่างนั้น เป็นอกุศลอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ทำก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ก็รู้ถึงการสะสมว่า เพราะอะไร เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังสะสมเหมือนชาติก่อนๆ ที่กำลังสะสม เพราะฉะนั้น ต่อไปไม่มีบุคคลในชาตินี้คือเคยคิดว่า เรา แต่จะมีบุคคลใหม่ และบุคคลนั้นจะเป็นอย่างไร ลองคิดถึงภาพคนที่จะเกิดต่อไป เพราะว่าสะสมมาแล้วแต่ละชาติ และขณะนี้ก็กำลังสะสม เพราะฉะนั้น ความละเอียดก็คือว่า เมื่อฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ ไม่ควรจะอยู่เพียงนั้น หลังจากนั้นแล้วอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เมื่ออกุศลเกิดก็สะสมสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ชาติต่อไปจะเป็นจากที่สะสมมาจากชาตินี้ และในชาติก่อนๆ ได้ไหม
เพราะฉะนั้น บางคนคิดถึงแต่เรื่องจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม อยากให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ลืม เพียงแค่จะเป็นคนดีก็ยาก เพราะฟังแล้วอกุศลเกิด จะเป็นคนดีได้อย่างไร แต่ถ้าสามารถรู้ว่า ใครจะเป็นอะไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่เราเป็นคนดี จะมีประโยชน์กว่าไหมคะ หรือวันหนึ่งๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็มีแต่ความไม่ดีของคนอื่นที่เราเห็น โลภะบ้าง โทสะบ้าง เป็นธรรมดา แล้วสาระอยู่ที่ไหน สาระอยู่ที่เห็นความไม่ดีของคน หรือปัญญารู้ว่า ขณะนั้นเป็นธาตุหรือเป็นธรรมแต่ละอย่าง ที่ทำให้มีกาย มีวาจาอย่างนั้น แม้ขณะที่กำลังได้ยินได้ฟัง สะสมความเป็นคนดีขณะนั้นหรือไม่ ถ้าสะสมความเป็นคนดีก็มีเมตตา ทำไมต้องไปเดือดร้อน เป็นอกุศลกับอกุศลของคนอื่น
เพราะฉะนั้น เรื่องของคนอื่นไม่ใช่สาระ จะไปทำอะไรคนอื่นได้อย่างไร ใครจะไม่ดีสักเท่าไรก็ตามแต่ แต่เมื่อฟังพระธรรมแล้ว ความเป็นคนดีเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่เป็นคนดี สะสมอกุศลมามากๆ ให้ทราบว่า ทุกขณะที่อกุศลเกิด มืด เพราะอวิชชา แล้วจะไปมีแสงสว่างที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้เมื่อไร ไม่ต้องถึงขั้นละกิเลส เพียงแค่กิเลสที่มีเพราะปัจจัยในแต่ละวัน ยังไม่เห็นความไม่เป็นประโยชน์ แล้วจิตก็ยังไม่น้อมไปที่จะประพฤติตามในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะรู้สึกว่า ยากแสนยากที่จะน้อมไปสู่ จากการฟังแล้วเข้าใจ ไม่ใช่คนอื่นจะมาทำได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจจริงๆ ทำให้ค่อยๆ เห็นว่า การฟังธรรมเพียงเข้าใจนั้นไม่พอ ไม่พอเพราะอะไร ฟังแล้วก็ยังเป็นอกุศล ฟังแล้วก็ยังเหมือนเดิม ฟังแล้วก็ไม่คิดจะเป็นคนดี ฟังแล้วก็ไม่คิดจะอภัย หรือเห็นความไม่ดีของคนอื่นว่าไม่ใช่เรื่องของเรา ขณะนั้นเราเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง ปัญญาไม่เกิดก็ไม่เกิด ไม่สามารถเห็นพระธรรมที่ทรงแสดงแม้สั้นๆ ว่า สิ่งใดเป็นสาระ เป็นประโยชน์ และสิ่งใดไม่เป็นสาระ ไม่เป็นประโยชน์
เพราะฉะนั้น จากการฟังทุกวัน รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้น ฟังเรื่องที่เป็นประโยชน์เมื่อวานนี้ และเรื่องที่เป็นประโยชน์เมื่อวานนี้ แต่แม้กระนั้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็เกิดเร็ว และเกิดมากด้วย เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจเพิ่มขึ้นจนสามารถเป็นปัจจัยให้สิ่งที่เป็นประโยชน์เกิดได้ตามสมควร แทนที่จะปล่อยให้เป็นอกุศลเพิ่มขึ้นอีกๆ เหมือนเดิมไปเรื่อยๆ คิดถึงชาติหน้า อย่างไรๆ ก็ต้องถึง แล้วจะเป็นอย่างไร
อ.กุลวิไล เมื่อวานท่านอาจารย์บอกว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์คือเห็นถูกในสิ่งที่มีในขณะนี้
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าอวิชชามืด ถ้าอวิชชาเกิดจะเห็นถูกไม่ได้ อกุศลทุกชนิดมีอวิชชาเกิดร่วมด้วย จะสว่าง จะรู้ความจริงของสภาพธรรมไหม
อ.อรรณพ เมื่อฟังธรรมแล้ว แต่ยังมีกิเลสอกุศลที่สะสมมา ทุกคนก็มีพืชเชื้อของกิเลสสะสมมา ก็เป็นธรรมดาที่อกุศลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือความไม่พอใจต่างๆ หรือจะออกมาเป็นความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นไปตามอกุศลตามที่ยังมีพืชเชื้ออยู่ กับการที่เมื่อฟังธรรมแล้วเห็นประโยชน์ของพระธรรม และน้อมไปที่จะขัดเกลา
ท่านอาจารย์ ศึกษาธรรมต้องไม่ลืมว่า ศึกษาเพื่อเข้าใจอะไร ถ้าศึกษาวิชาอื่น ไม่ใช่ธรรม ก็คือเพื่อเข้าใจสิ่งที่ศึกษา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะศึกษาอะไรทั้งหมดเพื่อเข้าใจสิ่งที่ศึกษา ถ้าศึกษาธรรมก็คือศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงพูดตามว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วไม่ได้ศึกษาธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดก็คือไม่ลืมว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งยังไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ ยังคงเป็นเราที่ศึกษา
เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาธรรมจริงๆ ก็คือว่า เข้าใจว่าเป็นธรรมเพิ่มขึ้น เมื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม จะมีเรา มีเขาหรือไม่ หรือว่าเป็นธรรมทั้งหมด อย่างเห็นก็เป็นธรรม จะเป็นใครเห็น โลภะเกิดขึ้น ไม่ใช่เรา หรือเขา หรือใคร แต่เป็นธรรม ถ้าเข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรม ก็จะเป็นผู้ตรง เพราะไม่ถูกปิดบังกั้นไว้ด้วยความเป็นตัวตน หรือพอใจบางคน ไม่พอใจบางคน เลยมองไม่เห็นธรรมตรงว่า ธรรมก็คือกุศลเกิดขึ้นไม่ใช่ของใคร เป็นกุศล อกุศลเกิดขึ้นก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูงหรือใครก็ตาม ธรรมก็ต้องเป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ จะคลายความเป็นเราไหม แต่ศึกษานานเท่าไรก็จำชื่อ จำเรื่อง แล้วอยากจะรู้ จะเข้าใจ แต่ก็เป็นเรา ไม่เห็นเป็นธรรมสักทีหนึ่ง ซึ่งการจะเห็นว่าเป็นธรรม ถ้าไม่อาศัยการฟัง และพิจารณาเพื่อเห็นประโยชน์ เพื่อละคลายความไม่รู้ ซึ่งเพราะความไม่รู้ ทุกคนเกิดมาแล้วจะพ้นจากสุข และทุกข์ได้ไหม จะมีแต่สุขตลอดไป หรือจะมีทุกข์ตลอดไป หรือเกิดมาแล้วไม่ต้องตายได้ไหม ก็ไม่ได้ เมื่อความจริงคือทุกคนเกิดแล้วต้องตาย แล้วตายไปเป็นอะไร ไม่มีใครรู้ แต่จะรู้ได้จากการสะสมในชาตินี้ และในชาติก่อนๆ เพราะฉะนั้น จะพ้นจากอบายภูมิได้ไหม ถ้าเข้าใจในเรื่องเหตุ และผล ตราบใดที่ยังไม่เห็นถูก เข้าใจถูก ตราบนั้นก็ยังไม่พ้นจากการตายแล้วเกิดอีก เกิดแล้วก็ต้องตายอีก ตายแล้วก็ต้องเกิดอีก แล้วก็เป็นบุคคลต่างๆ แล้วก็มองไม่เห็นว่าเป็นกุศล และอกุศล
เพราะฉะนั้น คนที่เป็นอกุศลมาก ก็คงต้องเป็นอกุศลเพิ่มขึ้นจนกระทั่งไม่สามารถรู้ได้ว่า วันไหนจะทำอกุศลมากมายได้อย่างไร เช่น ท่านพระเทวทัต จะมีใครคิด ชาวพุทธทุกคนมองไม่ออก คิดไม่ถึงเลยว่า ใครจะสามารถเปรียบตัวเองกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แต่ผู้ที่สะสมอกุศลมาก็เป็นอย่างนั้นได้ ใครสามารถทำอกุศลหนักหนาสาหัสได้ ก็คือผู้ที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่มีความละอาย
เพราะฉะนั้น อย่างที่พูดถึงเมื่อวานนี้คือศรัทธา ซึ่งเวลานี้ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีศรัทธาเจตสิก ไม่ใช่เรา แต่เรียนให้รู้ความละเอียดว่า แม้กุศลจิตก็เกิดเพราะโสภณธรรม ได้แก่ เจตสิกฝ่ายดีอะไรบ้าง เพื่อให้ละความติดข้องว่าเป็นเรา
ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า แม้แต่เพียงสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ก็ไม่รู้ มีศรัทธาในการฟัง ฟังเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจเรื่อง จะได้รู้ว่า จิตนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร แต่ไม่ได้ฟังเพื่อจะรู้ว่า ไม่ว่าจิตขณะไหนเกิดขึ้นก็เป็นธรรม เป็นธาตุซึ่งไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของ หรือบันดาลให้เกิดขึ้นได้ เมื่อทุกอย่างเป็นธาตุ เป็นธาตุจริงๆ จนกระทั่งแม้ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะคิดนึก ทุกขณะในชีวิตประจำวัน ปัญญาสามารถค่อยๆ รู้ในความเป็นธาตุแต่ละอย่าง ตรงกับที่เรียน แต่เวลาเรียนเรื่องจิตเป็นปรมัตถธรรม เจตสิกเป็นปรมัตถธรรม รูปเป็นปรมัตถธรรม เป็นรูปธาตุ เป็นนามธาตุ แต่ก็ไม่เห็นความเป็นธาตุ เพราะฉะนั้น การเรียนจึงไม่สามารถละอกุศลได้ แต่ถ้าเรียนด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพื่อมีความเห็นถูกต้อง ไม่มืดเหมือนเดิม คือไม่รู้อะไร เห็นแล้วก็ไม่รู้ เกิดมาก็ไม่รู้ พูดอะไร ทำอะไรก็ไม่รู้ตลอดชีวิตว่าเป็นอะไร
เพราะฉะนั้น เมื่อโอกาสจะรู้ตามความเป็นจริง เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ต้องมีศรัทธาแม้เพียงการรู้ว่า เป็นประโยชน์ มิฉะนั้นก็จะไม่ศึกษาให้เข้าใจต่อไป เพราะไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์ คุณแสงธรรมคะ เมื่อกี้มีคำที่คนเพิ่งมาฟังอาจจะไม่เข้าใจ ภวังคุปัจเฉทะ คืออะไร
ผู้ฟัง ภวังคุปัจเฉทะ คือภวังค์ดวงสุดท้าย
ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นจิต
ท่านอาจารย์ เป็นจิตซึ่งเป็นภวังค์ ก่อนที่วิถีจิตจะเกิด เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องเข้าใจ และแม้ว่าจะได้ยินคำอะไรก็ตาม ก็สามารถเข้าใจได้ เช่น ภวังค์หมายถึงขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนี้มีภวังค์ไหมคะ
ผู้ฟัง ขณะนี้มีครับ
ท่านอาจารย์ ปรากฏหรือไม่ ไม่ปรากฏ นี่คือการศึกษาให้รู้ว่า เราไม่รู้แค่ไหน และเราจะรู้ได้แค่ไหน ไม่ใช่อยากจะหมดกิเลสแล้วไม่รู้อะไร แต่ให้ทราบว่า ขณะนี้ก็มีภวังค์ แต่ไม่เหมือนกับขณะที่นอนหลับ ซึ่งมีภวังค์แล้วก็คิด แล้วก็มีภวังค์ แล้วก็คิด เพราะฉะนั้น ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มีแต่ภวังค์กับคิด แต่ภวังค์โดยไม่คิดก็มี นอนหลับสนิท เป็นภวังค์ตลอด เป็นจิตที่เกิดขึ้น จึงไม่ชื่อว่า “ภวังคุปัจเฉทะ” เพราะเหตุว่าทำกิจของภวังค์ เป็นภวังค์ชื่อไหนก็ตามแต่ ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่จะให้ชีวิตเป็นอย่างนั้นได้ตลอดไปไหม ปฏิสนธิเกิดแล้วก็ไม่รู้อะไรเลยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ชีวิตจริงๆ ก็คือเมื่อสะสมมาที่จะต้องเห็น ที่จะต้องคิด ใครจะยับยั้งให้จิตที่รู้อารมณ์อื่นไม่เกิด ให้เป็นแต่ภวังค์ไปตลอดไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ตอนจะหลับ รู้ไหมคะ ก็ไม่รู้ ตื่นรู้ไหม ถ้าไม่มีอารมณ์ปรากฏ จะไม่รู้ว่าตื่น และขณะที่กำลังหลับก็ไม่รู้ว่าหลับ แต่ว่าจิตเกิดแล้วทำหน้าที่ของจิตเกิดดับสืบต่อ
เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตจะไม่มีอารมณ์ของภวังค์ คือหลับสนิทต่อไป แต่จะต้องตื่นขึ้นเปลี่ยนสภาพจากการหลับเป็นการตื่น ก็จะต้องมีทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เพราะเหตุว่าทางตา เฉพาะสีสันวัณณะเท่านั้นที่ปรากฏ ทางหู อย่างอื่นปรากฏไม่ได้นอกจากเสียง ทางจมูก อย่างอื่นปรากฏได้ไหม ไม่ได้ นอกจากกลิ่น ทางลิ้นก็เฉพาะรสต่างๆ ปรากฏ ทางกายก็เฉพาะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่ปรากฏ แต่ชีวิตไม่ได้เป็นอย่างนี้เท่านั้น ไม่มีแต่เห็น ยังมีคิดอีก ยังมีแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ก็คิด เพราะฉะนั้น จากภวังค์ที่จะไปสู่ความคิดได้ เปลี่ยนจากภวังค์เป็นคิด จิตที่เป็นภวังค์ขณะสุดท้ายนั่นเป็นทวาร เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นคิดโดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย
เพราะฉะนั้น เมื่ออาศัยภวังคุปัจเฉทะดับ ถ้าภวังคุปัจเฉทะไม่เกิดแล้วดับไป จิตคิดก็เกิดไม่ได้ นี่คือชีวิตตามความเป็นจริงให้เห็นความเป็นอนัตตา ทุกวันเป็นอย่างนี้ เวลาหลับแล้วก็ตื่น ตื่นก็คือรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เช่น ถ้าไม่ใช่อารมณ์ที่เป็นสีสันวัณณะหรือเสียง ขณะนั้นจิตก็เกิดขึ้นคิดได้
เพราะฉะนั้น ภวังค์สุดท้ายที่จะไม่ทำหน้าที่ภวังค์อีกต่อไป จึงเป็นทวารของจิตเรียกว่า “มโนทวาร” เมื่อไม่ได้อาศัยสิ่งที่เกิดกระทบจักขุปสาท แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบจักขุปสาท ก็ต้องมีภวังค์ดวงสุดท้ายเหมือนกัน คือ ภวังคุปัจเฉทะ แต่ไม่เรียกว่ามโนทวาร เพราะเหตุว่าจิตนั้นเห็น จึงต้องอาศัยจักขุปสาท เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุนี้จักขุปสาทจึงเป็นทวารของสิ่งที่กำลังปรากฏ และจิตเห็น ไม่ใช่ภวังคุปัจเฉทะ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นภวังคุปัจเฉทะคือไม่มีปสาทหรือรูปอื่นที่เป็นทางให้รูปอื่นปรากฏ ด้วยเหตุนี้ภวังค์ขณะสุดท้ายก่อนจะรู้อารมณ์อื่น จึงต้องเป็นภวังคุปัจเฉทะ แต่เมื่อมีทาง ๖ ทาง ถ้ารูปนั้นกระทบจักขุปสาท ภวังคุปัจเฉทะดับ แต่ว่าจิตขณะต่อไปอาศัยตา เพราะฉะนั้น จึงเป็นจักขุทวารวิถี แต่เมื่อไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงเป็นมโนทวารวิถี เดี๋ยวนี้มีหรือไม่
ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้มี
ท่านอาจารย์ แล้วมีภวังค์ด้วยหรือไม่
ผู้ฟัง มีด้วยครับ
ท่านอาจารย์ แล้วเป็นคุณแสงธรรมด้วยหรือไม่
ผู้ฟัง ความจริงไม่ใช่
ท่านอาจารย์ และหลังจากที่เห็นแล้ว เป็นกุศลหรืออกุศล
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณแสงธรรมไม่รู้ คนอื่นรู้ไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่รู้
ท่านอาจารย์ ตัวเองไม่รู้หรือว่า เห็นแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล
ผู้ฟัง ก็รู้บ้าง
ท่านอาจารย์ ชอบไหมคะ
ผู้ฟัง ถ้าเห็นรูปที่ดีๆ
ท่านอาจารย์ ชอบแล้วจะเป็นกุศลได้ไหม ติดข้อง
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น หลังเห็นแล้วก็คือสะสมอกุศล ถ้าเข้าใจก็คือสะสมกุศล และชาติต่อไปเป็นคนมีปัญญาหรือไม่มีปัญญา ถ้าเป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา ปฏิสนธิจิตของคนนั้นมีพื้นของจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ก็สามารถฟัง และเข้าใจธรรมได้ สามารถอบรมเจริญปัญญาได้ แต่ถ้าเป็นผลของกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีโอกาสได้ฟังธรรมไหม ฟังแล้วจะเข้าใจจนกระทั่งเข้าใจธรรม และสามารถรู้แจ้งความจริงของธรรม เป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะฉะนั้น จากอันธปุถุชนผู้มืดสนิทเหมือนบอดกับกัลยาณปุถุชนก็ต่างกันแล้ว จากการสะสม จากศรัทธา จากสติ จากโสภณเจตสิกอื่นๆ กำลังสะสมเพื่อให้เกิดสภาพธรรมที่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ ใหม่ทุกขณะ เพราะเหตุว่าสิ่งใดที่เกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีก
เป็นคุณแสงธรรมอีกนานไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่นานครับ
ท่านอาจารย์ แล้วเป็นใครต่อไป
ผู้ฟัง ไม่ทราบครับ
อ.กุลวิไล จะเป็นคนเก่งทางวิชาการทางโลกมากมายแค่ไหน ก็มีวันต้องแพ้ได้ แต่เป็นผู้ชนะกิเลสของตนเอง ไม่มีวันกลับมาแพ้เลย
ท่านอาจารย์มีอะไรเพิ่มเติมไหมคะ
ท่านอาจารย์ เห็นกิเลสหรืออกุศลของคนอื่น เห็นยากไหมคะ ไม่ยากเลย เห็นทุกวัน คนโน้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดี แต่ลืมว่า อกุศลเป็นอกุศล ขณะนั้นอกุศลที่เห็นได้ถูกต้องชัดเจนกว่า คืออกุศลอะไร ที่ตัวเองใช่ไหมคะ เวลาที่เห็นอกุศลของคนอื่น คิด แต่ไม่รู้อกุศลที่เกิดกับบุคคลนั้น แต่เวลาที่อกุศลนั้นเกิดกับตนเอง ย่อมรู้ชัดในสภาพที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เห็นอกุศลของคนอื่นไม่ยาก แต่ว่าเห็นอกุศลของตนเองต้องยาก เพราะขณะที่กำลังคิดถึงอกุศลของคนอื่น จิตขณะนั้นเป็นอะไร และยิ่งคิดยาวๆ อกุศลของคนนั้น คนนี้ เรื่องนั้น เรื่องนี้ทั้งวัน จิตที่กำลังคิดอกุศลนั้นเป็นอะไร
เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า อะไรเป็นประโยชน์แท้จริง เราไม่สามารถจะทำอะไรกับอกุศลของใครได้เลยทั้งสิ้น ไม่ว่าเขาจะไม่ดีปานใดก็ตาม ก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้น ซึ่งใครก็ไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ผู้ที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยความเห็นถูกก็คือ ขณะใดที่สภาพธรรมใดเกิดขึ้นกับตน แม้กำลังคิดถึงอกุศลของคนอื่น จะรู้ได้ว่า จิตขณะนั้นที่คิดเป็นจิตประเภทไหน เป็นจิตที่เมตตา สงสารคนที่มีอกุศลมากๆ อย่างนี้ ตายแล้วไปไหน ทุกข์ทรมาน แล้วเราก็ไปสงสารตอนที่เขาได้รับผลซึ่งช้ามาก ถ้าสงสารในขณะนั้น เราก็เป็นเพื่อนเขา มีไมตรีต่อเขา ทำอะไรก็ได้ที่จะเป็นประโยชน์ ขณะนั้นเป็นกุศลของตนเองด้วย
เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วก็ควรเห็นประโยชน์ว่า การที่เห็นอกุศลของคนอื่นแล้วเป็นอกุศลตามไปด้วย สมควรหรือไม่ โกรธตอบคนที่โกรธ ชวนกันโกรธ ไม่จบ ตอบกันไปตอบกันมา แต่ถ้ารู้ว่าเป็นอกุศล แล้วของเราเอง ขณะนั้นปัญญาสามารถเป็นกุศลได้ เปลี่ยนจากโทสะ เป็นการอภัย เป็นเมตตา และรู้ว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่เกิดแล้วก็เป็นของบุคคลนั้นๆ ที่กำลังเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ชาติต่อไปก็จะเป็นคนดี ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ก็ไม่สนใจ จะไปสนใจความไม่ดีของคนอื่นทำไม ประโยชน์อยู่ตรงไหน เสียเวลาหรือไม่ แต่การเป็นคนดี ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราก็มีเมตตา และอบรมจิตใจให้มั่นคงในฝ่ายกุศล วันหนึ่งจะเป็นผู้ชนะจริงๆ และสบายใจด้วย ไปคิดถึงอกุศลของคนอื่นแล้วโกรธ ก็น่าเสียใจ
อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น มีความเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จิตขณะเป็นกุศลหรืออกุศล ล้วนแต่เป็นธรรม มีจริง
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 541
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 542
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 543
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 544
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 545
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 546
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 547
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 548
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 549
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 550
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 551
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 552
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 553
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 554
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 555
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 556
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 557
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 558
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 559
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 560
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 561
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 562
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 563
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 564
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 565
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 566
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 567
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 568
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 569
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 570
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 571
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 572
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 573
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 574
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 575
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 576
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 577
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 578
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 579
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 580
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 581
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 582
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 583
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 584
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 585
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 586
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 587
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 588
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 589
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 590
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 591
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 592
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 593
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 594
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 595
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 596
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 597
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 598
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 599
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 600