พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 549


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ อย่างคุณหมอ เวลาโกรธ บางครั้งก็โกรธมาก บางครั้งก็โกรธน้อย ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนี้ คำตอบ ทุกคนตอบได้ใช่ไหมคะ เพราะต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และเขาก็อยากอีกประโยคหนึ่งซึ่งเขาก็สนใจว่า ทำไมต้องเป็นเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ คำตอบก็คือว่า ก็ต้องเป็นเดี๋ยวนี้ เป็นขณะนี้ จะเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น นี่ก็คงเป็นคำตอบของคุณหมอได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทำไมเป็นอย่างนี้ ก็มีเหตุให้เป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร จะโกรธมาก จะโกรธน้อย จะอยากพ้นภาระหน้าที่ หรืออย่างไร ก็เป็นขณะนั้นที่เกิดขึ้นคิดอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น อยากอย่างนั้น ต้องการอย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ลืมว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ทุกคนชีวิตมีปัญหา แล้วก็อยากจะแก้ปัญหา อยากจะหมดปัญหา ปัญหาจะหมดได้ไหม ในเมื่อปัญหามาทุกวัน วันนี้เป็นปัญหาเรื่องนี้ วันต่อไปก็เป็นปัญหาเรื่องอื่น เมื่อไรจะหมดปัญหา เป็นไปได้ไหมที่ปัญหาจะหมดไปได้ โดยไม่รู้ว่า ปัญหาคืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร และเพราะเหตุใดจึงเป็นปัญหา เพียงคำว่า เป็นธรรมคำเดียว ก็ยังไม่เป็นธรรม ฟังแล้วก็ลืม ฟังแล้วก็ลืม ฟังแล้วก็ไม่รู้ เพราะทั้งๆ ที่ธรรมกำลังมีปรากฏ เผชิญหน้าเลยขณะนี้ หนีไปไหนก็ไม่พ้น จะหนีไปทางซ้าย ทางขวา ก็เป็นธรรมหมด เดี๋ยวเสียงก็ปรากฏ เดี๋ยวอะไรๆ ก็ปรากฏเกิดแล้ว เป็นธรรมทั้งหมด แต่เมื่อไรจะไม่ลืม สามารถเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมจริงๆ เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จะหวั่นไหวไหมคะ เพราะว่าธรรมทุกธรรมที่เกิดดับ ไม่เหลือเลย ขณะนี้เหมือนมีเรา มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เที่ยง แต่ถ้าเป็นความจริงก็จะรู้ได้ว่า ไม่มีอะไรเหลือสักอย่างเดียว เพราะว่าธรรมปรากฏทีละอย่าง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดับแล้วไม่เหลือ ไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้นชั่วขณะที่ดับ ไม่มีอะไรเหลือ แต่ก็มีธรรมเกิดอีกแล้วก็ดับอีก เพราะฉะนั้นทุกขณะว่างเปล่า คือเกิดดับ ไม่มีอะไรเหลือ แล้วคุณหมอจะโกรธใคร โกรธความไม่รู้ หรือโกรธที่ต้องเกิดมาแล้วต้องมีปัญหา จะพ้นปัญหาได้ด้วยปัญญาที่รู้ความจริง ไม่มีคุณหมอแต่มีธรรมที่เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง แต่ว่าเวลาเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ ระลึกไม่ได้ แล้วเป็นลักษณะที่ระอุใจอยู่ตรงนั้นมากๆ เลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟังธรรมจนกว่าจะไม่ลืม

    ผู้ฟัง ก็ฟังจนกว่าจะมีปัญญาพอที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เราจริงๆ เป็นธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ คุณหมอก็ฟังธรรมมานาน พวกเราก็ฟังธรรมมานาน ทั้งพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรมด้วย หลากหลายด้วยคำสอนด้วยพระมหากรุณาที่จะให้รู้จักธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ฟังไป ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ รู้จักขึ้น จนกว่าเมื่อไรรู้จักธรรมจริงๆ ก็จะสามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เมื่อรู้จักว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ฟังมานาน แต่รู้สึกว่าไม่เข้าไปข้างในเลย

    ท่านอาจารย์ ฟังนานเท่าไร กับความไม่รู้ที่สะสมมาเท่าไร เปรียบเทียบกันได้ไหม

    ผู้ฟัง เปรียบเทียบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้หายไปไหน อยู่ที่จะเจริญเติบโต หรือไม่มีปุ๋ย ไม่มีอาหารที่จะทำให้ธรรมนั้นเจริญขึ้น มีความประมาท และขาดความสนใจ และศรัทธาก็ไม่เจริญขึ้น ต้นไม้นั้นก็เล็ก แกร็น โตไม่ได้ แต่ถ้าสามารถให้อาหารทะนุบำรุงต่อไป ปัญญาก็เจริญขึ้นได้

    ผู้ฟัง อยากจะสนทนาตรงนี้ด้วย เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ แก้วก็ต้องดูแลคุณย่า ซึ่งควรจะมีหลายคนที่ผลัดกัน แต่แก้วดูแลอยู่คนเดียว บางครั้งมองดูคุณย่าแล้วเห็นท่านทุกข์กายอยู่ ก็รู้สึกเห็นใจ และเต็มใจที่จะดูแล แต่เวลาที่รู้สึกรักตัวขึ้นมา มีความรู้สึกตอนนั้นเลยว่า จะทิ้งหมดทุกอย่าง อยากจะเดินออกจากที่นั่นแล้ว ไม่ไหวแล้ว เกิดสลับกันหลายๆ ครั้ง ก็ผ่านไปได้ บางทีก็บ่นกับสามี อย่างที่ท่านอาจารย์สอนอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่บางครั้งความที่ยังรักตัว ก็ยังเป็นแบบนี้

    ท่านอาจารย์ ก็เพราะว่าต้องเป็นอย่างนี้ ใช่ไหมคะ เวลาอะไรเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนไม่ได้ มีปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ว่า เป็นธรรมก็ต้องนานมาก

    เมื่อวานนี้เราพูดถึงเรื่องความอดทน คุณหมออดทนใช่ไหม คุณแก้วก็อดทน เวลาที่กระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ความอดทนถึงเจริญขึ้น ก็เป็นความต่างกัน เพราะฉะนั้น ก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมประเภทไหน แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็เพียงเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนั้นเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ช่วยขยายความคำพูดของท่านอาจารย์จากเทปที่ฟังเช้านี้ที่ว่า การยกย่องตนเอง คนดีไม่เคยบำเพ็ญมาแล้ว และเทปก็จบ อยากให้ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างหรือขยายความ

    ท่านอาจารย์ กำลังยกย่องตัวเอง หรือพูดถึงความดีของตัวเอง เป็นจิตประเภทไหน

    ผู้ฟัง ใช่มานะไหมคะ

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรืออกุศล

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนดีไม่เคยทำ ถ้าเป็นคนดีจริงๆ หมายความว่าที่ดีๆ ๆ ก็มีหลายกรณี ดีประการหนึ่งก็คือว่า ไม่ยกย่องตัวเอง หรือไม่พูดถึงความดีของตัวเอง

    ผู้ฟัง ที่ว่า การยกย่องตัวเอง คนดีไม่เคยบำเพ็ญมาแล้ว รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่คนทั่วไปใช้อยู่ แต่เขาไม่รู้ว่า คนดีไม่บำเพ็ญ เดี๋ยวนี้คนทั่วไปก็ต้องยกตัวเองขึ้นมาก่อน ถ้าไม่ยกตัวเองขึ้นมา การพูดตรงนั้นก็คงไม่เป็นเรื่องเป็นราว ไม่สำเร็จ ที่จะบอกว่า เป็นธรรม ก็คงหลงลืมหายไปหมดแล้ว

    ท่านอาจารย์ คิดว่า ความดีคนอื่นจะไม่เห็นหรือ หรือว่าทำความดีเพื่อให้คนอื่นเห็น เห็นไหม เรื่องของสภาพธรรม เรื่องของจิตใจละเอียดมาก ความดี จะไม่มีใครเห็นหรือ ต้องมีคนเห็นความดี และทำความดีเพื่อให้คนอื่นเห็นหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือ ทำดีเพื่อจะพูดถึงความดีของตัวเองหรือ

    ผู้ฟัง สรุปความก็คือ ไม่สมควร เป็นมานะ เป็นอะไรที่ไม่ถูกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือเราจะชินกับชื่อต่างๆ พยายามจะค้นหาว่า ขณะนั้นเป็นอะไร เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ประการแรกที่สุด คือ เป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นอะไรก็เป็น กุศลหรืออกุศลหรืออะไรก็ตามแต่ เป็นธรรม ถ้ายังไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม ก็จะไม่รู้ว่า ไม่มีเรา แล้วก็เป็นธรรมจริงๆ เมื่อความจริงเป็นธรรม ทำไมไม่เริ่มจะรู้เพียงขั้นต้นว่า เป็นธรรม ดีก็เป็นธรรม โกรธก็เป็นธรรม เสียใจก็เป็นธรรม คิดนึกก็เป็นธรรม ทั้งหมดก็เป็นธรรม ให้รู้ความจริงอย่างนี้

    ผู้ฟัง ทีนี้ความดี แต่ละคนก็เข้าใจเองว่า นั่นเป็นความดี แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ดีก็ได้ แต่เขาก็คุยว่า นั่นเป็นความดี ก็คือมานะอย่างหนึ่งใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ เราก็อยากจะรู้ชื่อ อยากรู้ว่าเขาทำอะไร แต่ถ้าเราเริ่มด้วยว่า เป็นธรรม แม้ขณะนั้นก็เป็นธรรม ตัดปัญหาหมดเลย

    กล่าวถึงความอดทน แค่นี้ ก่อนศึกษาธรรม รู้จักไหม รู้จัก พอฟังธรรม ความอดทนเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ ความอดทนเป็นธรรมแน่นอน แต่ก็อยากจะรู้ว่า ความอดทนนั้นเป็นธรรมอะไร เป็นเจตสิกชนิดไหน เกิดร่วมกับอะไร ขณะไหน ถ้ากล่าวว่าเป็นความเพียร ทำไมบางครั้งพูดว่าเพียร ทำไมบางครั้งพูดว่าอดทน ใช่ไหม ซึ่งเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท แต่เวลาเกิดขึ้นมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันปรุงแต่งให้หลากหลาย และเป็นแต่ละขณะด้วย ถ้าไม่มีสิ่งที่ไม่น่าพอใจมากระทบ เราจะใช้คำว่า “เพียร” หรือจะใช้คำว่า “อดทน” ถ้าเราสามารถที่จะอดทนที่จะไม่โต้ตอบ ที่จะไม่กระทำกาย วาจาที่เป็นอกุศล ที่จะทำให้คนนั้นยิ่งโกรธมาก และเป็นอกุศลเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น คนที่คิดถึงประโยชน์จริงๆ เป็นผู้อดทนที่จะไม่ให้คนอื่นเสียประโยชน์ ยากไหม (ยาก) ก็ยากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้ายังมีกิเลสอยู่ตราบใด ก็จะสะสมแต่กิเลส และกิเลสก็จะเกิดง่าย สำหรับคนที่ไม่เห็นประโยชน์ของตนเอง และคนอื่น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาธรรมแล้ว แค่รู้ว่าเป็นธรรม จะมีประโยชน์กว่าเป็นจิต เจตสิกอะไร เกิดขึ้นเมื่อไร และเวลาที่ไม่มีอะไรมากระทบ แต่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะนั้นเพียรที่จะเข้าใจ ก็ใช้คำว่า “เพียร” และอาจจะขณะที่กำลังเพียรก็มีอย่างอื่นมากระทบกระทั่ง ขณะนั้นก็อดทน ก็เป็นสภาพธรรมตามธรรมดา อย่างปกติธรรมดา ถ้าเราเพียรทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่เสร็จ ขณะที่กำลังทำก็เพียรเพื่อให้เสร็จ แต่ในระหว่างเพียรก็มีอย่างอื่น คนโน้นอาจจะทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือมีอุปสรรคขัดขวาง ขณะนั้นอดทนที่จะทำต่อไปได้ไหม ทั้งๆ ที่มีอุปสรรค

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพียรก็เพียร อดทนก็อดทน แต่ก็คือสภาพธรรมนั่นเอง เมื่อเหตุการณ์ต่างกัน จะให้ใช้คำเดียวกันก็ไม่ได้ แต่หมายความก็คือขณะนั้นสามารถมีกาย วาจาซึ่งไม่น่ารังเกียจหรือไม่ เพราะเมื่อวานนี้เราก็พูดถึงทั้งขันติ และโสรัจจะ โสรัจจะ โดยคำแปล คือ ความสงบเสงี่ยม แต่ความหมายคือสงบเสงี่ยมอะไร กาย วาจาไม่ก้าวร้าว ไม่หยาบคาย ซึ่งความจริงขณะนั้นก็คือธรรมซึ่งเกิดขึ้นด้วยความอดทนนั่นเอง ถ้าอดทนน้อย กายวาจาเป็นอย่างไรคะ ถ้าอดทนมากขึ้น ก็สงบเสงี่ยมได้ ก็คือชีวิตประจำวันทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ต้องไปรู้หรือไม่ว่า ชื่ออะไร เพียงแค่เป็นธรรม ก็ขอให้ระลึกได้ว่า ขณะนี้ลักษณะของธรรมกำลังปรากฏจริงๆ แต่ละทาง ถ้ากำลังรู้ตรงลักษณะ และเข้าใจว่าเป็นธรรม นั่นก็คือจุดประสงค์ที่ทรงแสดงเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจว่า ไม่มีเรา แต่มีธรรมลักษณะต่างๆ

    อ.กุลวิไล ก็กลับมาถึงที่คำถามเรื่องปัญหา ท่านอาจารย์ก็สรุปว่า ทั้งหมดเป็นธรรม ถึงแม้ปัญหาเองก็ต้องเป็นธรรมด้วย การจะพ้นจากปัญหาได้ก็ด้วยปัญญา ท่านอาจารย์ช่วยขยายความด้วยว่า การพ้นปัญหาด้วยปัญญานั้นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดงมากมาย แต่จะพ้นจากปัญหาได้จริง ก็เมื่อปัญญาสามารถเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม

    อ.กุลวิไล ก็เหมือนที่ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างของธรรมชื่อว่า ขันติ นั่นเอง ก็คือความอดทน เพราะว่าขันติมีความอดทนในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา และน่าปรารถนาเป็นลักษณะ เพราะฉะนั้น การที่เรามีความเห็นถูกในปัญญาที่เป็นจริง นั่นคือปัญญานั่นเอง ก็เป็นปัจจัยให้กุศลเจริญได้ในชีวิตประจำวัน ปัญหาที่มีอยู่มากก็เนื่องจากความไม่รู้ คืออวิชชา

    ผู้ฟัง การที่เอาความดีของตัวเองมาพูด ก็คุยกันว่า เป็นโลภะที่ประกอบด้วยมานะ จะเห็นวิธีศึกษาที่ไปใส่ชื่อให้ธรรม โดยที่แม้มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ แต่ไม่ได้สนใจใส่ใจ ไปใส่ชื่อถูกๆ ผิดๆ ทำให้ดูเหมือนว่า ไม่ได้สนใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนั้น ตรงนี้สังขารขันธ์ที่จะฟังเข้าใจจนปรุงแต่งให้สนใจ ใส่ใจในลักษณะ ไม่ใช่สนใจ ใส่ใจชื่อ ก็ต้องฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ และเข้าใจพอที่จะระลึก อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ทำอย่างไรดี เพราะพูดก็แล้ว อะไรก็แล้ว ก็คือมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ลืมแล้วใช่ไหมในขณะที่กำลังถาม ลืมลักษณะแต่จำชื่อ อย่างแข็งมีลักษณะ เห็นมีลักษณะ ได้ยินมีลักษณะ เสียงมีลักษณะ คิดนึกมีลักษณะ ทุกอย่างต้องมีลักษณะ ซึ่งลืม ไม่สนใจที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นมีจริงชั่วขณะที่ปรากฏ แล้วก็เป็นธรรมซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ต้องเข้าใจสภาพธรรมตามลำดับขั้น คือ ขณะใดที่กุศลจิตเกิดต้องมีสติเจตสิก ไม่ใช่สติชาวบ้านที่คิดว่า เดินไปไม่หกล้มก็เป็นสติ แต่สตินั้นต้องเป็นไปในกุศล อย่างมีสิ่งที่จะให้คนอื่นแล้วลืมไม่ได้ให้ แต่ขณะที่ระลึกได้แล้วให้ก็ต่างกันใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น ขณะที่ทานเกิดขึ้นเพราะสติเกิด จึงระลึกเป็นไปในทาน กาย วาจาก็เหมือนกันที่จะไม่โอ้อวด หรือที่จะไม่เป็นอกุศลต่างๆ เพราะเหตุว่าขณะนี้สติเกิดระลึกได้ ก็เป็นไปในสิ่งที่ควรเว้น และสิ่งที่ควรทำ เพราะกายวาจามี ๒ อย่าง วาริตศีล ศีลทางกายวาจาที่ควรเว้น จาริตศีล กายวาจาที่ควรกระทำ เป็นชีวิตประจำวันในวันหนึ่งที่ตื่นมา มีคนที่เราพบเห็นเกี่ยวข้องตลอดเวลา ถ้าสติสามารถระลึกเป็นไปความเหมาะควรทางกายวาจา ซึ่งเป็นกุศล เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก แม้แต่คำพูด จะพูดด้วยเสียงอย่างไร การขอร้องกับการสั่งก็ต่างกัน แม้คำบอกเล่า แต่ถ้าเสียงน่าฟังก็ยังดีกว่าเสียงที่ไม่น่าฟัง ขณะนั้นวิรตีเจตสิกเกิดขึ้นเป็นวาริตศีลที่ควรเว้นทางกาย ทางวาจาหรือไม่ เป็นชีวิตประจำวันทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดจริงๆ แต่ขณะใดก็ตามที่เว้นสิ่งที่ไม่ดีทางกาย วาจา เพราะสติเกิด

    เพราะฉะนั้น นอกจากสติเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล ก็ยังไม่พอ บางคนฟังธรรม แล้ววันหนึ่งๆ ก็ประสบเหตุการณ์ที่ไม่น่าพอใจตามสถานที่ต่างๆ โกรธ ระลึกได้ว่าขณะนั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง หรืออาจจะระลึกอย่างอื่นก็ได้ ขณะนั้นจิตสงบ สติขณะนั้นก็เป็นไปในความสงบของจิตที่ไม่เกี่ยวกับกายวาจา แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ฟังธรรมเข้าใจ ก็เป็นสติที่เกิดพร้อมกับปัญญาในขั้นฟังว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพียงแค่นี้ มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็เริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้เป็นธรรม ขณะนั้นก็มีสติเกิดร่วมด้วย เป็นสติที่เกิดกับความเข้าใจในขั้นของการฟัง ยังไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ที่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน ที่ตั้งของความรู้ความเข้าใจถูก คือตัวลักษณะของธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ถ้ากำลังรู้ตรงลักษณะนั้น ขณะนั้นเป็นสภาพของสติที่เกิดขึ้น แล้วก็รู้ลักษณะที่มีจริงๆ ไม่ใช่เพียงพูดเรื่องเห็นก็ผ่านไป ได้ยินก็ผ่านไป แข็งก็ผ่านไป แต่ขณะที่สติกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏให้สติรู้เป็นปัฏฐาน เป็นที่ตั้ง เป็นสิ่งที่มีจริง ปัญญาสามารถเข้าถึงลักษณะที่เป็นธรรม คือ เป็นลักษณะของสิ่งนั้นซึ่งไม่เป็นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้น โดยคำแปล ก็จะแปลว่าสภาพที่ระลึกได้ สติสัมปชัญญะ แต่ระลึกในภาษาหนึ่ง ก็อาจจะหมายถึงระลึกยาวมากเลย ระลึกถึงอดีตกี่เรื่อง เมื่อวานนี้ทำอะไรบ้าง แต่นั่นไม่ใช่สติ สติปัฏฐานก็คือสภาพธรรมนั้นกำลังมีอยู่ แล้วสติที่ระลึกได้คือรู้ตรงลักษณะนั้นทันที เกิดทันที รู้ตรงลักษณะที่เป็นธรรมหนึ่งทันที นั่นคือสติสัมปชัญญะ เป็นสติปัฏฐาน เป็นอีกขั้นหนึ่งที่ไม่ใช่ขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นความสงบของจิต

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้จะไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็ฟังไป เข้าใจไป มีชื่อต่างๆ เป็นขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอายตนะ แต่ตราบใดที่ยังไม่เริ่มรู้จักธรรม โดยสติกำลังรู้ตรงลักษณะของธรรมนั้น ก็ไม่มีทางรู้จักธรรม เพียงแต่มีชื่อที่จำไว้เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ตรงนี้อยู่ในพระสูตรเมื่อวานนี้ที่ว่า ผู้ใดรู้ว่า ผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ คือ ไม่โกรธตอบ

    ท่านอาจารย์ สตินั้นขั้นไหน

    ผู้ฟัง ต้องขั้นสติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่ขั้นสติปัฏฐานก็ระงับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้เราพูดถึงสติหลายขั้น ขั้นความสงบของจิตก็มี โกรธทำไม ประโยชน์อยู่ที่ไหน คนถูกโกรธสบายมาก สนุกมาก กำลังรับประทานอาหารอร่อย กำลังเพลิดเพลิน แล้วคนโกรธได้ประโยชน์อะไร ลองคิดดูจากโกรธในขณะนั้น ถ้าระลึกได้อย่างนี้แล้วไม่โกรธ เป็นสติหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น แต่ไม่ใช่ขั้นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้พูดถึงสติปัฏฐาน พูดถึงระงับค่ะ แล้วแต่ว่าขณะนั้นกุศลจิตเกิด แล้วขณะนั้นไม่โกรธก็เป็นสติขั้นหนึ่ง แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐานก็คือสามารถมีปัญญาเกิดรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ในขณะที่มีสติระงับก็ต้องมีปัญญาด้วย หรือไม่มีปัญญาขณะนั้น สิ่งนี้คือดิฉันสงสัย เขาโกรธ เราระงับได้

    ท่านอาจารย์ ระงับโดยวิธีไหน ทำไมระงับไปได้

    ผู้ฟัง ด้วยสติสัมปชัญญะ

    ท่านอาจารย์ สติสัมปชัญญะรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ลักษณะของโกรธ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่โกรธ และสติสัมปชัญญะเกิดหรือ ไม่ใช่ พูดถึงการระงับ ที่ไหน เมื่อไร คัมภีร์ไหนก็ตามแต่ ถ้าพูดถึงระงับ ขณะนั้นรู้อะไรจึงระงับ อยู่ดีๆ ระงับได้อย่างไร ต้องมีเหตุที่ระงับ และเหตุที่ระงับนั้นคืออะไร

    ผู้ฟัง ปัญญาเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ปัญญาขณะนั้นรู้อะไร เห็นโทษของโทสะหรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    10 ก.ย. 2567