พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 610


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ เมื่อไรที่เกิดสงสัยคิดว่า ใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือไม่ นั่นคือไม่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง แต่ถ้าเข้าใจ เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ แค่นี้ ก็ต้องรู้ว่า กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้หรือไม่ แม้ยังไม่ได้เข้าใจว่าเป็นอะไร เรียกว่าอะไรเลย แต่ก็มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงแล้วไม่รู้ หรือรู้ ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า คิดเองไม่ได้เลย มีจริงก็จริง แต่เป็นคนนั้นบ้าง เป็นคนนี้บ้าง แล้วจริงหรือไม่ที่ว่า สิ่งที่มีจริงเป็นคนนั้นหรือ หรือเป็นสิ่งนี้จริงๆ หรือ หรือเป็นเพียงแต่สิ่งที่มีจริงแต่ละอย่างซึ่งจริงเฉพาะตนเอง เฉพาะสภาพธรรมนั้นๆ เช่น แข็ง แข็งมีจริง ฟังเรื่องแข็ง สามารถเข้าใจจนสามารถถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ ในสิ่งที่มีจริงทุกอย่างที่มีจริง

    เพราะเหตุว่าก่อนศึกษาธรรมก็รู้แข็ง แต่ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ของใคร แล้วก็เกิดแล้วก็ดับสืบต่อเร็วมาก ไม่เคยเข้าใจอย่างนี้เลย แล้วจะไปรู้ความจริงของแข็งได้ไหม ในเมื่อไม่เข้าใจอย่างนี้ และเพียงเข้าใจอย่างนี้จะไปประจักษ์การเกิดดับของแข็งได้ไหม ก็ไม่ได้ ต้องหมายความว่าเข้าใจความจริงในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมั่นคงขึ้นว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้อง ขณะที่ฟัง และเข้าใจว่าถูกต้อง ขณะนั้นเป็นปัญญาของตนเอง ใครจะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม และ.พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ เลย ใครเข้าใจอย่างนั้นบ้าง แต่ความจริงสิ่งที่มีจริงทั้งหมดนั้นเเหละ ทรงแสดงตามความเป็นความจริงของสิ่งนั้นให้เห็นถูก เข้าใจถูกว่า เป็นธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ของใคร ค่อยๆ เข้าใจความจริงแค่นี้ไปตามลำดับทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ไปมุ่งหวังว่า จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม เมื่อไหร่ปัญญาจะเจริญ นั่นคือไม่ได้เริ่มเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงทีละเล็กทีละน้อย ใครบังคับอะไรได้บ้างขณะนี้ ใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง ก็เริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” ไม่ใช่เป็นชื่อ แต่ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา ตัวธรรมมีจริงๆ และเป็นอนัตตาจริงๆ และทรงแสดงความละเอียดของสภาพธรรมต่างๆ เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้นจนสามารถประจักษ์ความเป็นอนัตตาได้

    อ.ธิดารัตน์ ลักษณะของความเป็นเรา ที่เป็นเราด้วยทิฏฐิ กับเป็นเราด้วยโลภะ หรือเป็นเราด้วยมานะ ขอท่านอาจารย์อธิบายเพิ่มว่า ขณะไหนเป็นเราด้วยความยึดมั่น

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวตามเรื่อง เข้าใจง่ายเลย

    อ.ธิดารัตน์ แต่ไม่ได้เข้าใจลักษณะจริงๆ

    ท่านอาจารย์ กล่าวตามเรื่องก็คือ ขณะใดที่โลภะ ความติดข้องในสิ่งที่มีจริงปรากฏ แล้วไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเป็นแต่เพียงโลภะซึ่งไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แค่นี้คือจำ แต่ว่าถามถึงการรู้จักธรรมจริงๆ ไม่ใช่เพียงจำเรื่องราวแล้วมาคิดว่า ขณะนี้เป็นอย่างนั้น ขณะนั้นเป็นอย่างนี้ ก็คือต้องเริ่มรู้จักธรรมก่อน รู้จักธรรมคือรู้จักลักษณะที่กำลังมีขณะนี้แต่ละอย่าง เวลาที่เราพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากมาย เดี๋ยวโน่นเดี๋ยวนี่ เราไม่สามารถเข้าใจแต่ละอย่างชัดเจน

    เพราะฉะนั้น การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมใดได้ก็คือ พูดเฉพาะสิ่งนั้น จนกระทั่งมีความเข้าใจในสิ่งนั้น และสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งก็พูดเฉพาะความจริงของสภาพนั้น จนกระทั่งเข้าใจในสภาพนั้นก็รู้ความต่างของ ๒ อย่าง แต่ไม่ใช่ปนเปรวมกัน แล้วไม่เข้าใจอะไรเลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงโลภะ เข้าใจเรื่องโลภะ แล้วพูดถึงทิฏฐิ ก็เข้าใจเรื่องของทิฏฐิ แต่ยังไม่รู้จักทั้งโลภะ และทิฏฐิที่เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น คำถามก็คือทำอย่างไร วิธีไหน โดยตำราเพียงกล่าวได้ แต่ไม่ใช่รู้ขณะที่กำลังเป็นขณะนั้นจริงๆ ถ้าเป็นขณะนั้นจริงๆ ต้องเริ่มจากความเข้าใจถูกว่า ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ไม่เว้นเลย แล้วก็ฟังเรื่องราวของธรรม โดยไม่รู้ลักษณะที่เป็นธรรมสักอย่างเดียว ในขณะที่กำลังฟังเรื่อง ถูกต้องไหม อย่างขณะที่กำลังเห็น เห็นกำลังมี และก็ฟังเรื่องเห็น ขณะที่กำลังฟังเรื่องเห็น เข้าใจสภาพที่กำลังเห็นหรือไม่ ต่างกันแล้วใช่ไหม ฟังเพียงเรื่องของเห็น แต่ไม่ใช่ที่กำลังรู้สภาพที่กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้น การฟังเรื่องเห็น และเข้าใจจะค่อยๆ นำไปสู่การเข้าใจเห็นที่กำลังเห็น ไม่ใช่เห็นไป ฟังไป แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจธรรมแต่ละลักษณะที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ก็ต้องอบรมโดยเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น แน่นอน มั่นคงว่า ทุกอย่างเป็นธรรม พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรม ทรงแสดงธรรม เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดให้เกิดความเห็นถูกในธรรมที่มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังเป็นอุปนิสยโคจร โคจร คือ อารมณ์ของจิต ฟังเรื่องอะไร ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงขณะนี้ ถ้าขณะใดที่ไม่ได้ฟังเรื่องธรรมที่กำลังมีจริงขณะนี้ ฟังเรื่องอื่นแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นการสะสมอุปนิสัยที่สนใจเรื่องอื่น

    เพราะฉะนั้น อุปนิสัย หมายถึงที่อาศัยที่มีกำลัง เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ แต่ถ้ากล่าวถึงการที่สามารถรู้จักธรรมจริงๆ ได้ ต้องหมายความถึงขณะที่กำลังฟังธรรม ไม่ได้หมายความถึงขณะที่กำลังฟังเรื่องอื่น แม้ขณะที่กำลังฟังธรรมมีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น ก็ยังไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้เห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ว่า เป็นธรรม เพราะถ้ารู้อย่างนั้นจริงๆ ไม่มีอะไรเลยทั้งโลก ต้องมีเฉพาะลักษณะนั้นที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ จึงชื่อว่า เป็นการรู้ลักษณะที่เป็นธรรมเฉพาะอย่างทีละอย่างตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลานั้น แต่จากการเริ่มเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยก็จะเห็นความเป็นอนัตตาของธรรม ทุกขณะถ้าปัญญาอบรมเจริญขึ้น คำสั้นๆ รู้ความเป็นอนัตตาแล้วใช่ไหม คำ สั้นๆ คำเกิด ไม่มีใครบังคับ แต่ถ้าเป็นเสียงที่เกิดจากจิต จิตเป็นปัจจัยให้เกิดเสียงนี้ ในขณะที่จิตเป็นปัจจัยไม่มีเราไปบังคับจิตทำให้เกิดเสียง แต่ขณะนั้นจิตเป็นปัจจัยให้เกิดเสียง คือ คำ ก่อนที่จะมีเสียงที่ทำให้เข้าใจว่า หมายความถึงคำ มีจิตคิดถึงคำ หรือไม่ เห็นไหม การเกิดดับรวดเร็ว แล้วเราจะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่ในขณะที่สภาพธรรมกำลังเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว โดยไม่ปรากฏลักษณะใดให้รู้ได้เลยว่า เกิดแล้วดับไป

    เพราะฉะนั้น ปัญญาก็ต้องละเอียดขึ้นๆ ก่อนจะมีเสียงว่า “คำ” ก็ต้องมีจิตที่คิดคำนี้ และทันทีที่จิตคิดเสียงออกมาแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิดเสียง เพราะฉะนั้น เห็นความเป็นอนัตตาไหมว่า ใครบังคับให้จิตคิดคำว่า “คำ” ถ้าไม่สะสม ไม่มีการสนทนา ไม่คิดถึงคำนี้ ก็ไม่มีเสียงของคำนี้ได้เลย แต่จิตก็เกิดเพราะสะสมทำให้นึกถึงคำนี้ และเป็นปัจจัยให้เกิดเสียงนี้ ซึ่งเมื่อได้ยินเสียงแล้ว เป็นอนัตตา หรือไม่ แม้แต่จะได้ยินเสียงนี้ ใครบังคับได้ คนที่กำลังคิดได้ยินเสียงนี้ หรือไม่ จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ กำลังคิดจะไม่ได้ยินเสียงนี้เลย จนต้องถามว่า เมื่อครู่นี้พูดอะไร เพื่อจะได้ยินคำที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นคำนี้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ความเป็นอนัตตา ทุกอย่างที่มีจริง แต่กว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้จริงๆ ในความเป็นอนัตตาตรงกับคำแรกที่ได้ยินว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” กว่าจะรู้จริงๆ ในความเป็นอนัตตาก็ต้องฟัง และเข้าใจเพิ่มขึ้น โดยไม่ประมาทว่า ทั้งหมดเป็นอนัตตาจริงๆ แต่เมื่อปัญญายังไม่ถึงการที่จะสามารถรู้ได้ในความเป็นอนัตตา ก็รู้ไม่ได้ เพราะว่าปัญญาระดับนั้นยังไม่เกิด เกิดแต่เพียงว่า ฟังรู้เรื่องว่า หมายความถึงอะไร

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินเสียงแล้วดับไป จิตก็คิดถึงคำ ใครบังคับให้จิตนั้นคิดถึงความหมายของเสียง ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาสภาพธรรมใดๆ ได้เลย จุติจิตอาจจะเกิดทันทีที่ได้ยินเสียงแล้วก็ดับไปได้แล้ว ไม่ได้รู้ความหมายของคำว่า เสียงนั้นมีความหมายว่า “คำ” เลย

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นอนัตตาจริงๆ แต่กว่าปัญญาสามารถจะเห็นความเป็นอนัตตาของธรรม แม้เป็นจริงในชีวิตประจำวันทุกขณะก็ต้องอาศัยความเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม แม้บางคนอยากจะเข้าใจคำว่า “โลภะ” กับคำว่า “ทิฏฐิ” เข้าใจได้ ในเรื่องราวที่ทรงแสดงไว้ แต่เมื่อสภาพธรรมยังไม่ได้ปรากฏแต่ละอย่าง ไม่มีอะไรปะปนเลย สามารถรู้ได้ไหมว่า ขณะนั้นอะไรเป็นอะไร เพราะว่าปนกันแล้ว สืบต่อกันเร็วมาก แต่ถ้าปรากฏจริงๆ ทีละอย่าง โดยไม่มีอะไรในที่นั้นเลยทั้งสิ้น โลกทั้งโลกก็ไม่มี แต่มีธรรมนั้น เช่น สภาพที่เป็นธาตุรู้กับสิ่งที่เป็นรูปธรรม ปนกันไม่ได้เลย แม้แต่ลักษณะของความติดข้องกับลักษณะของทิฏฐิก็ปรากฏคนละขณะ ซึ่งไม่ใช่อย่างเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้จริงๆ ว่า โลภะต่างกับทิฏฐิอย่างไร ก็เมื่อสภาพนั้นปรากฏกับปัญญาที่อบรม จนกระทั่งสภาพนั้นปรากฏให้เห็นถึงความเป็นจริงทีละอย่าง ขณะนั้นก็แน่นอน จะไม่สงสัยว่า ทิฏฐิคืออย่างนี้ และโลภะคืออย่างนี้ หรือแม้ทิฏฐิ และโลภะเกิดพร้อมกัน แต่การปรากฏให้รู้ความจริงก็ต้องทีละอย่าง ถึงจะรู้รอบในสิ่งที่ปรากฏเพียงอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นปะปนเลย

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่กล่าวว่า ทิฏฐิกับโลภะเกิดร่วมกัน แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ ใครคะ คุณบุษกร ไม่ใช่ปัญญา ปัญญาเท่านั้นที่สามารถฟังเข้าใจ แล้วก็อบรมจนสามารถประจักษ์แจ้งความจริง จากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคล หมดความสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏ รู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ ดับกิเลส ไม่เกิดอีกเลย ลองคิดถึง กิเลสที่สะสมมานานแสนนาน ลึกมาก เหนียวแน่นมาก และอยู่ที่ไหน อยู่ที่จิต ใครจะไปเอาออกได้ อยู่ในจิตทุกขณะซึ่งกิเลสที่สะสมมายังไม่ได้ดับไป ก็ต้องยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเป็นโอกาส หรือปัจจัยให้กิเลสชนิดใดเกิดขึ้น กิเลสนั้นก็ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงประเสริฐสุด สามารถเห็นความจริง เข้าใจความจริงแทงตลอดความจริง ซึ่งเป็นความจริงตามที่ได้ยินได้ฟังนั่นเอง ไม่ต่างกันเลย ไม่ผิดไปเลยสักคำเดียว

    ผู้ฟัง ทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดบ่อย เมื่อความเห็นผิดไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่ที่มั่นคงขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏได้เท่านั้น เพราะเพียงขณะที่รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เห็นไหม ขณะนั้นเกิดแล้ว ถ้าบ่อยๆ ก็สามารถมั่นคงขึ้นว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ต่อจากนั้นก็คือคิดเป็นของธรรมดา แต่ความเห็นถูกเริ่มเกิดแล้วว่า เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏ นี่คือความจริง แล้วก็ดับไปแล้วด้วยก่อน การคิดถึงรูปร่างนิมิต นานแสนนานมาแล้ว โดยปัญญาไม่ได้รู้เลยว่า เป็นแต่เพียงสภาพจำ จำรูปร่างสัณฐานนี้ แต่ถ้าเกิดจำผิด ก็อีกเรื่องหนึ่งแล้ว

    ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นจริงอย่างนั้น ก็ต้องเข้าใจตามความเป็นจริงอย่างนั้น และเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วเพิ่งเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ จำว่าเป็นโต๊ะ เป็นอะไรก็นานแสนนาน แต่เพิ่งเข้าใจใหม่ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น จริง หรือไม่

    นี่คือความรู้ความเข้าใจที่ต้องเริ่มมั่นคงขึ้น เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ และเกิดคิดเข้าใจได้บ่อยๆ เข้าใจอีกๆ ๆ ได้บ่อยๆ ขณะนี้ก็คลายการยึดถือสภาพนั้นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง

    เพราะฉะนั้น กว่าจะคลายจนกระทั่งปัญญาสามารถรู้ลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ทีละอย่างจริงๆ เพราะเริ่มใส่ใจในสภาพที่มีจริงแต่ละอย่างๆ ไม่สับสน ไม่ปะปนกัน คือ ในขณะที่เห็น ก็เริ่มเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ จะเข้าใจความหมายของ “ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ” ที่มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก

    เพราะเหตุว่า ต้องอบรมเจริญปัญญา และต้องรู้ว่า เพิ่งจะเริ่มสะสมการรู้ความจริง จะให้เหมือนผู้ที่สะสมมานานมาก พอได้ฟังคำว่า “ธรรม” ทางตามี รู้เลยว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เกิดแล้วดับ

    เพราะฉะนั้น ปัญญาสามารถถึงกาลที่สมบูรณ์ขณะไหน เมื่อไร คาดหมายไม่ได้เลย เพราะเป็นอนัตตา ขณะนี้อยู่ที่นี่ มีสิ่งนี้ปรากฏ แต่พอไม่ใช่ที่นี่ อะไรจะปรากฏ แต่เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง โดยสภาพที่เป็นจริง หลังจากนั้นก็คิดแน่นอน ถึงสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ก็สามารถเข้าใจความต่างของขณะเห็นกับขณะคิด ค่อยๆ เข้าใจความต่างจนกระทั่งปัญญาสามารถคลายความติดข้อง และสภาพธรรมจึงจะปรากฏตามความเป็นจริงกับปัญญาที่สมบูรณ์ในขณะนั้นตามลำดับ แล้วแต่ว่าจะเป็นขั้นไหน แต่เพียงเท่านี้ยังไม่ประจักษ์การเกิดดับ เพียงแต่สามารถจะรู้ลักษณะที่เป็นสภาพธรรม ซึ่งตรง สภาพรู้ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น และสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ก็มีความเป็นรูปนั้นๆ เท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ลืม หรือยังว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ ยัง เก่งมากเลย เมื่อไรที่เห็นแล้วไม่ลืมว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง จะมีคนได้อย่างไร ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า เฉพาะในขณะที่เห็น เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แล้วหลังจากนั้นก็คิดถึงรูปร่างสัณฐาน และจำได้ว่าเป็นใคร

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น แต่ให้เข้าใจถูก ไม่ใช่ให้ไปเปลี่ยนแปลง แต่ต้องมั่นคงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ถ้าตาบอด สิ่งนี้ไม่สามารถปรากฏได้เลยว่า มี แล้วจะไปติดในสิ่งที่ปรากฏโดยไม่เห็นได้ไหม

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบถึงความละเอียด เมื่อมีสิ่งใดปรากฏก็ติดข้องในสิ่งนั้นอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงต้องละเอียด และต้องรู้ถึงสภาพธรรมที่กำลังกล่าวถึง แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง มีคำถามเรียนถามอาจารย์วิชัย ๒ ประเด็น ๑. ฟังธรรมแล้วรู้เรื่อง มีสภาวธรรมอย่างไร ๒. ฟังธรรมแล้วเข้าใจ มีสภาวะอย่างไร

    ทั้งสองอย่างนี้ จะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้เราเพียงรู้เรื่อง หรือฟังแล้วเข้าใจ ช่วยกรุณาอธิบายด้วย

    อ.วิชัย ศึกษาธรรมก็ต้องเข้าใจว่า ธรรมคืออะไรก่อน ธรรมก็คือสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ ขณะนี้มีสิ่งที่เป็นธรรม เพราะกำลังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส คิดนึกเป็นธรรมที่มีจริง ที่เข้าใจได้ว่า ขณะนี้กำลังมี แต่จะเข้าใจถึงลักษณะของสิ่งเหล่านี้ได้ อันนี้ก็เพียงเข้าใจว่ามีจริงขณะนี้ แต่ว่าลักษณะของสิ่งต่างๆ เป็นอย่างไร อย่างเช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็รู้ว่าขณะนี้ก็กำลังปรากฏทางตา แต่ลักษณะจริงๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล จริงๆ ลักษณะของวัณณรูปคือสามารถกระทบจักขุปสาทรูป หรือตาได้ เพียงแค่นั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังรู้ เข้าใจว่า ขณะนี้กำลังเห็น ไม่ใช่เห็นบุคคล ไม่ใช่เห็นสิ่งของต่างๆ แต่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏได้ทางตา เพราะลักษณะของวัณณรูป คือ สามารถกระทบกับจักขุปสาทรูปเป็นลักษณะ ฉะนั้นก่อนฟังก็รู้ว่า กำลังเห็น แต่เห็นเป็นบุคคลต่างๆ สิ่งของต่างๆ แต่ถ้าเริ่มฟังเข้าใจว่า ลักษณะสิ่งที่ปรากฏทางตาคืออะไร ซึ่งก็ทรงแสดงว่า วัณณรูปกระทบกับจักขุปสาทรูปเป็นลักษณะ รูปที่เพียงกระทบกับจักขุปสาทรูปที่ปรากฏได้เท่านั้น ขณะที่กำลังเห็นก็คือเห็นสิ่งที่มากระทบกับจักขุปสาทรูป เป็นสีสันวัณณะต่างๆ ขณะนี้เริ่มเข้าใจถูกว่า กำลังเห็นจริงๆ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นเพียงสิ่งที่เพียงปรากฏกระทบกับจักขุปสาทรูป แล้วจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น แต่ที่รู้ว่าเป็นบุคคล ก็เป็นความคิดนึกจากสัญญา ความจำต่างๆ แล้วก็คิดว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ บุคคลโน้นบุคคลนี้ ขณะที่ฟังเรื่องราวต่างๆ ซึ่งธรรมที่ทรงแสดงคือเเสดงถึงลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ จนกว่าเมื่อเราฟัง สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และเหตุปัจจัยปรุงแต่ง สังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจะน้อมไปรู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพราะเหตุว่าต้องตรงกันกับสิ่งที่ทรงแสดงต้องตรงกับสิ่งที่มีจริงๆ เพราะเป็นธรรมที่ทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาของพระองค์เอง เมื่อฟังสิ่งที่มีจริง ความรู้ความเข้าใจเมื่อเจริญขึ้น ก็รู้ตรงกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ความเข้าใจจึงต้องเป็นของเฉพาะของแต่ละบุคคลที่จะรู้ว่า เพียงฟังแล้วเข้าใจเรื่องราว หรือเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ก็เริ่มทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ สั่งสมในการค่อยๆ รู้ขึ้นถึงเรื่องราวที่แสดงลักษณะ และปรุงแต่งให้เข้าใจในลักษณะจริงๆ ของธรรม

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจเพิ่มขึ้นไหม ทีละเล็กทีละน้อย แต่ก็ฟังซ้ำๆ อย่างนี้ แต่ที่จะมั่นคง คือ ขณะนี้มีสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ แล้วสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้เกิดไม่ได้เลย

    นี่ลึกลงไปอีกที่จะแสดงให้เห็นว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่จะเกิดได้ ต้องมีปัจจัย สภาพธรรมที่เกื้อกูล สภาพธรรมจึงเกิดขึ้นเป็นไปตามสภาพที่เกื้อกูลให้เกิดขึ้นนั้น มิฉะนั้นก็จะคิดว่า เราสามารถทำได้ มีเรา แล้วก็คิดว่า ขณะที่กำลังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ก็เป็นเรา หรือเป็นของเราทั้งนั้นเลย เพราะไม่รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมไม่ได้มุ่งหวังที่จะประจักษ์การเกิดดับทันที หรือให้ละการยึดถือสภาพธรรมว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะกว่าปัญญาจะค่อยๆ อบรมจนกระทั่งรู้จริงๆ อย่างนั้นได้ ก็ต้องอาศัยการค่อยๆ เข้าใจทั้งหมดที่ได้ฟังมา จะเป็นเมื่อครู่นี้ หรือหลายๆ วันก่อน ก็คือเพื่อให้มั่นคงว่า สิ่งที่มีจริงเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    8 มิ.ย. 2567