พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 617


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ แล้วพอปฏิสนธิจิตดับแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด แต่ก่อนจะดับ เพียงปฏิสนธิจิตขณะแรกเกิดก็มีนามธรรมเกิดพร้อมกัน เกิดร่วมกันพร้อมกับรูปแล้ว

    ได้ยินเมื่อครู่นี้ดับหรือยัง อยู่ไหน เป็นใคร เป็นของใคร ก็เป็นธรรม ดับหมดแล้ว และไม่กลับมาอีกด้วย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ฃ่วยแสดงธรรมโดยละเอียดว่า การเห็นเป็นธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สงสัยไหมว่า ธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง จากการฟัง ธรรมคือสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ เราจะสนทนาเรื่องสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจขึ้น ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นมีจริง หรือไม่

    ผู้ฟัง สภาพเห็นมีจริง

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจขั้นฟังมาก่อน เป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง แต่ยังเป็นหนูอยู่

    ท่านอาจารย์ ยัง ยังไม่ไปถึงไหน แค่ให้เข้าใจจากการฟัง แล้วเพียงได้ยินอย่างนี้แล้วฟังอย่างนี้ เข้าใจตามที่ได้ฟังไหมว่า เห็นมีจริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าท่านอาจารย์ถาม ขณะที่ถามเข้าใจ แต่ในชีวิตประจำวันจะเป็นเราเห็นอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เป็นไร แต่เวลานี้กำลังฟังธรรม ไม่ใช่ต่อไปข้างหน้าไม่มีคุณกนกวรรณเห็น มีแต่ธรรมที่เห็น ไม่ใช่อย่างนั้น เพียงในขณะนี้กำลังฟังให้เข้าใจความจริง ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ยังไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ อย่างนี้ แต่เริ่มรู้ว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ย่อมสามารถรู้ได้ แต่ไม่ใช่เรารู้ ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้วเข้าใจยิ่งขึ้น จึงค่อยๆ ถอน ค่อยๆ คลายการติดข้อง ยึดถือว่าเห็นเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น เราจะพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ กำลังเห็น มี ใครทำให้เห็นเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นเป็นได้ยิน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นขณะนี้เป็นธรรมอย่างหนึ่ง คือ สิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีปฏิสนธิจิต ไม่มีการเกิด จะมีเห็นไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ถ้าไม่มีวิญญาณปฏิสนธิ นามธรรมคือเจตสิก และรูปก็เกิดไม่ได้ แม้ว่ามีกรรมเป็นปัจจัยทำให้ทั้งจิต และเจตสิก และรูปเกิด แต่เจตสิกก็ต้องอาศัยจิต เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นที่อาศัยของเจตสิก คือนามธรรมที่เกิดกับจิต และรูป เมื่อมีนามรูปแล้ว ต่อไปมีอะไรคะ คนที่คล่องปฏิจจสมุปบาท นึกถึงชื่อได้เลย นามรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะ ถามว่าอายตนะ ๖ มีอะไรบ้าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ มนายตนะ เวลานี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะมีปฏิสนธิ หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะมีปฏิสนธิดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อ แล้วรูปก็เจริญเติบโตจนถึงกาลที่ตาจะเกิด ตาก็เป็นตาเกิดขึ้น หู จมูก ลิ้น แต่กายมีพร้อมกับปฏิสนธิ

    นี่คือความละเอียดของธรรมซึ่งพระมหากรุณาคุณทำให้รู้ตามความเป็นจริง แล้วจะเป็นทุกข์ไหม ไม่มีใครทำอะไรได้ แต่เข้าใจถูกต้องได้ว่าเป็นธรรมซึ่งเป็นอย่างนี้ จนกว่าจะสามารถละคลายความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    ถ้าถามตามตำรา คุณกนกวรรณจะตอบได้ว่า ตาเป็นอายตนะ แต่ตาเป็นตา เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเดี๋ยวนี้ นี่คือลักษณะของรูปนั้นซึ่งมองไม่เห็นเลย ขณะใดก็ตามที่มีตาเป็นเพียงตา ถ้ารูปไม่กระทบตา จะไม่มีผัสสเจตสิกเกิดพร้อมจิตที่กระทบกับรูป และจิตเห็นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีรูปที่สามารถกับจักขุปสาทได้ ยังไม่พอ แต่ต้องมีผัสสเจตสิกเป็นอายตนะหรือไม่ เป็นธัมมายตนะ เป็นสิ่งที่มีจริง และขณะนั้นต้องมีการกระทบด้วย ถ้าไม่กระทบ ไม่มีผัสสเจตสิก จิตจะเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังกระทบจักขุปสาทได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นต้องมีทั้งจักขุปสาทเป็นจักขายตนะ มีสิ่งที่สามารถกระทบตาได้ เป็นรูปายตนะ และมีจิตเป็นมนายตนะ เจตสิกที่เกิดร่วมกันก็เป็นธัมมายตนะ ถ้ามีความเข้าใจว่าเพราะมีการเกิดขึ้น เมื่อมีปฏิสนธิแล้วก็จะต้องมีนามธรรมรูปธรรม ต่อจากนั้นก็มีอายตนะ แล้วต้องมีผัสสะ คือแสดงตามสิ่งที่สามารถปรากฏให้เข้าใจได้ โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี แต่ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนั้นก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะกล่าวถึงโดยอีกนัยหนึ่ง ในทางออกจากสังสารวัฏก็คือ เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนั้นก็ไม่มี แต่เมื่อยังไม่ถึงอย่างนั้น เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

    นี่คือการพูดภาษาไทยให้เข้าใจ พอพบคำนี้ในภาษาบาลี ก็รู้ว่าหมายความถึงธรรมหัวข้อไหน

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังสงสัยเรื่องจิตเห็น แล้วได้ยินว่าจิตเห็นเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีจักขุปสาท แม้มีจักขุปสาทถ้าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ไม่กระทบจักขุปสาท ก็ไม่เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เลย และนี่เป็นคุณกนกวรรณ หรือเป็นธรรม ยังไม่ละคลายการยึดถือแน่นอน เพราะปัญญาแค่นี้ทำอะไรการสะสมความไม่รู้มามากมาย รวมทั้งความติดข้องในสังสารวัฏที่ยาวนานไม่ได้เลย จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น ใครหวังจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมบ้าง โดยไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แค่นี้คลายอะไรบ้างหรือยัง บ่อยๆ เข้า จะเริ่มระลึกได้ว่า แค่ปรากฏให้เห็นได้ ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องจำหมดเลย เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นบัญญัติ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจึงต้องละเอียด ที่จะต้องค่อยๆ ศึกษาแม้แต่คำว่า “ธรรม” ถ้ารู้จริงๆ ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ ดับกิเลสหมดได้ แล้วแต่กำลังของปัญญาว่า ณ ขณะนี้สามารถรู้ได้แค่ไหน แต่เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด เพราะ “พุทธะ” คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หมายความถึงปัญญานั่นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ต้องสื่อสารกับใคร ก็ไม่ต้องเรียก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นรู้ลักษณะที่เคยจำได้ว่า เป็นสิ่งนั้นโดยไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่อย่างนั้นวันนี้ต้องเรียกชื่อมากมาย เรียกไปหมดเลย แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เห็นแล้วก็จำสิ่งที่ปรากฏสืบต่อจนเป็นนิมิต เหมือนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แล้วจำว่ามีสิ่งนั้นแน่นอน ความจริงรูปดับแล้วนับไม่ถ้วน แต่สัญญาก็จำสัณฐานของรูปซึ่งปรากฏสืบต่อว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแม้ไม่ต้องเรียกเลย สุนัขไม่มีคำเรียกชื่ออาหารต่างๆ เลย แต่ก็จำได้ จำรสได้ จำกลิ่นได้ จำรูปร่างสัณฐานได้ นกก็เหมือนกัน ก็มีสัญญาที่เป็นสภาพจำ ไม่ทำอย่างอื่น นอกจากจำ

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็เป็นธรรมที่ฟังเข้าใจจนรอบรู้ ไม่สงสัย จึงจะเป็นปัจจัยทำให้รู้ตรงลักษณะ และเข้าใจแล้วจากการฟัง ก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏได้ทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง แก้วน้ำก็คือบัญญัติที่เป็นจริงในความคิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เรียกว่า “บัญญัติ” หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง สิ่งที่ไม่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ก็ตอบ แต่เห็น

    ผู้ฟัง เห็นมีจริง

    ท่านอาจารย์ มีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น และเห็นก็เป็นธาตุที่กำลังเห็นสิ่งที่มีลักษณะปรากฏให้เห็นได้ ทางตา ต้องอาศัยตา และเวลาที่ไม่ได้รู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ สามารถรู้ไหมว่า ขณะที่จำไม่ใช่สิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้ แต่เป็นสภาพที่จำสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่สภาพธรรมที่ปรากฏให้เห็นได้จริงๆ เพียงแค่ปรากฏให้รู้ว่า มีสิ่งนี้จริงๆ

    เพราะฉะนั้น ยังไม่ได้แยกปรมัตถ์กับบัญญัติ แต่เมื่อไรฟังเข้าใจ ไม่ใช่จำชื่อบัญญัติกับปรมัตถ์ แต่รู้ว่าขณะไหนเป็นบัญญัติ ขณะไหนเป็นปรมัตถ์

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีเห็น เร็วแสนเร็ว ดับ สิ่งที่มีจริงที่ปรากฏให้เห็นได้มีจริงๆ ก็ดับ เป็นปรมัตถ์ แต่เหลือจากนั้นก็คือบัญญัติทั้งนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีความเข้าใจ เริ่มเข้าใจว่า เป็นเพียงแต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ยังไม่ถึงภาวะของรูปที่ปรากฏให้เห็นได้ เพราะมีแต่ความจำ นึกทีไรก็เป็นจำเรื่องรูปร่างสัณฐาน จำคำ ไม่ได้จำว่าเสียงเป็นเพียงธาตุที่ปรากฏให้ได้ยินว่า เสียงเป็นอย่างนี้ มีจริงอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เสียงจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็จะเป็นเสียงไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง การอบรมก็ต้องเข้าใจทีละอย่างว่า เป็นธรรมไปเรื่อยๆ จนครบทุกอย่างใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นั่นคือศึกษาธรรม

    ผู้ฟัง คำว่า “ไม่พัก ไม่เพียร” หมายถึงอะไร

    อ.อรรณพ ไม่พัก ไม่เพียร เป็นข้อความในโอฆกรณสูตร ในสคาถวรรค ในเทวตาสังยุตต์ ที่ทรงแสดงกับเทวดาที่มาทูลถามว่า จะข้ามห้วงน้ำใหญ่ได้อย่างไร ทรงตรัสตอบว่า ไม่พัก ไม่เพียรจึงข้ามห้วงน้ำใหญ่ได้ ถ้าไม่ได้เป็นผู้ศึกษาธรรมก็ไม่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคสนทนาอะไรกับเทวดา ก็ไม่เข้าใจ ห้วงน้ำใหญ่คือกิเลสประดุจห้วงน้ำ ได้แก่ ความยินดีพอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเราจมอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึก ก็เป็นไปด้วยความติดข้อง ไม่พ้นไปได้เลย จมอยู่ในห้วงของความติดข้อง จมอยู่ในความเห็นผิด จมอยู่ในห้วงน้ำคือกิเลสต่างๆ เหล่านี้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่พัก ไม่เพียร หมายความว่าอย่างไร พัก หมายความว่าย่อหย่อน เกียจคร้าน ไม่เห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม ในการฟัง ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเพียร ไม่มีการปรุงแต่งทางฝ่ายดีที่จะฟัง ที่จะศึกษา หรือจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือโดยนัยของความเห็นผิดก็คือ เป็นตัวตนที่คิดว่าขาดสูญไป จึงไม่ต้องขวนขวายฟังธรรม ตายแล้วก็จไป ส่วนเพียรหมายความว่า มีตัวตนจดจ้องคิดจะทำ ไม่เข้าใจว่า เป็นสังขารขันธ์ สภาพธรรมที่ปรุงแต่ง แต่พอฟังธรรมก็มีตัวตนที่จะละคลายกิเลส ถ้าพักก็คือย่อหย่อน ไม่ศึกษา เพียรก็คือมีตัวตนที่จะศึกษา บางคนสนใจศึกษามาก แต่เป็นความฟุ้งซ่าน ศึกษาคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์

    ถ้าไม่พัก ไม่เพียร ก็คือมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง สภาพธรรม ๘ อย่าง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นสภาพของเจตสิกฝ่ายดี เมื่อปรุงแต่งเป็นทางดับกิเลส นี่เป็นเพียงโดยสังเขป

    อ.วิชัย ตอนนี้คุณแก้วตาพัก หรือเพียรอยู่ หรืออบรมความรู้ความเข้าใจอยู่ เพราะบุคคลที่จะข้ามโอฆะ กามโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ เป็นห้วงน้ำ ถ้าไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจเลย ก็ไม่สามารถข้ามได้ แต่บางบุคคลที่หมกมุ่นอยู่ในกาม ไม่มีความขวนขวาย ไม่มีความเพียร ไม่พิจารณาหนทางข้ามโอฆะเลย หรือไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย ถ้าพิจารณาบุคคลในยุคนี้ หรือในยุคก่อน ก็มีบุคคลเหล่านี้ที่ไม่ความสนใจศึกษาพระธรรมเลย ก็มีการแสวงหาขวนขวายในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ บุคคลเหล่านี้จะข้ามโอฆะได้ไหม เพราะยังไม่มีวามเข้าใจแม้ว่าอะไรเป็นธรรมเลย แต่ก็พยายามขวนขวาย การแสวงหาต่างๆ ก็ไม่ใช่หนทางข้ามโอฆะ หรือบางคนไม่เข้าใจเลย แต่คิดว่านี่เป็นหนทาง ก็เป็นการขวนขวายความพยายามที่ไม่ถูก ก็พยายาม ด้วยความเห็นผิดต่างๆ แม้ในครั้งโน้นอันนั้นก็ไม่ใช่หนทางข้ามโอฆะได้ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการเห็นถูก เข้าใจถูก อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ จะเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ได้อย่างไร ขณะนี้เห็น ได้ยิน หรือคิดนึก ก็มีสภาพธรรมที่เกิดดับตามเหตุปัจจัยอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีปัจจัยที่จะเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังมีขณะนี้เลย เพราะธรรมมีอยู่ตลอดเวลา แม้เราก็วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏมาเนิ่นนานจนถึงบัดนี้ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้ธรรมมีอยู่ ความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เกิดดับสืบต่อ แต่ความเข้าใจถูกมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย และไม่เข้าใจเลยว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นคืออะไร ธรรมคืออะไร สิ่งเหล่านี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าไม่เข้าใจธรรมเลย จะรู้ จะเข้าใจความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้อย่างไร แม้ขั้นเริ่มเข้าใจถูกว่า ธรรมคืออะไร อาจจะคิดนึกถึงเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง แต่รู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นสภาพคิดนึกถึงเรื่องราวที่เคยได้ยินได้ฟัง แต่ไม่รู้ว่าเป็นสภาพที่กำลังคิด แม้ขณะนี้ก็มีสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย พร้อมให้ศึกษาลักษณะให้เข้าใจถูกในลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ขณะนั้นบังคับให้ความรู้ความเข้าใจเกิดไม่ได้ แต่รู้ได้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ก็ยังไม่รู้ ก็เข้าใจถูกว่ายังไม่รู้ตามความเป็นจริง แต่เมื่อเริ่มเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร มีสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะจริงๆ ที่สามารถเข้าใจได้ ขณะนั้นก็รู้อีกว่า เริ่มเข้าใจขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่ปัญญาเกิดรู้ลักษณะ เพราะปัญญายังไม่เกิด แต่รู้ว่าเหล่านี้แหละเป็นหนทางให้ความรู้ความเข้าใจสามารถรู้ลักษณะของธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้ได้ ฉะนั้นความเข้าใจต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    อ.อรรณพ อาจารย์วิชัยถามว่า ขณะนี้พัก หรือเพียร ตอบแทนว่า ทั้งพักทั้งเพียรอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวก็เพลิดเพลินไป จมอยู่ในกองกิเลส ห้วงน้ำทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะฟังธรรมก็กระตุ้น ขวนขวายด้วยความเป็นตัวตนว่า ต้องฟังมากๆ ต้องจดจ้องแข็งปรากฏเเล้ว ตรงนี้เเข็ง อะไรต่ออะไร เพราะฉะนั้น พักก็จมอยู่ เพียรก็ลอยอยู่ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกธรรมที่ทรงแสดง เหมือนห้วงน้ำใหญ่ทะเลมหาสมุทร ถ้าจมลงไปก็ข้ามไม่ได้ หนักด้วยกิเลส ความติดข้องก็จมลงในห้วงน้ำ หรือลอยด้วยลมที่พัดไปทางโน้นทางนี้ ข้ามไม่ได้ แต่ไม่พักไม่เพียรมีอรรถที่ลึกซึ้ง

    ผู้ฟัง ชีวิตปกติเวลามีความสุขก็ไม่เคยคิดถึงธรรมเลย เพลิดเพลินไปเรื่อยๆ วันหนึ่งๆ ก็มีแต่บัญญัติเป็นอารมณ์ จนกระทั่งกลับไปบ้านเห็นไอพอตก็นึกได้ว่า ตายจริง หมดไปแล้ว ๑ วันไม่ได้ฟังธรรม มีแต่อกุศลทั้งนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องตายจริงก็ได้ ความเป็นตัวตนทำให้ขณะนั้น ตายจริง

    ผู้ฟัง เวลามีความทุกข์ ก็รีบไปหาไอพอต เพราะคิดว่า เมื่อฟังแล้วทุกข์จะคลาย ก็ไม่ใช่อีก ที่บอกว่า ธรรมเป็นเกาะ หมายความว่าต้องรู้ลักษณะในขณะนั้น เมื่อพิจารณาจริงๆ แล้ว ตลอดเวลาที่ทุกข์มาจากโลภะทั้งนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจถูกเท่านั้นเอง แล้วแต่ชีวิตจะเป็นอะไร ทุกข์เกิดขึ้นใครบังคับ แต่ละชีวิตไม่เหมือนกัน ทำไมคนนั้นไม่เป็นทุกข์ คนนั้นเป็นทุกข์ เพราะเหตุนานาประการที่ต่างกัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    10 มิ.ย. 2567