พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 619


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    อ.นิภัทร ปฏิบัติจะเกิดได้โดยไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น เพราะว่าปฏิบัติก็คือธรรมที่เราเข้าใจนั่นเเหละจะเกิดขึ้นทำหน้าที่ การที่ธรรมเกิดทำหน้าที่ภาษาที่ใช้เรียกว่ากันว่าปฏิบัติ คนก็หลงคำว่าปฏิบัติ ก็คิดว่าต้องไปทำต่างหาก เดี๋ยวนี้พุทธศาสนิกชนสับสนคำว่าปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ที่ผมสงสัยคือ ความเข้าใจขั้นฟังจะปฏิบัติตามได้ หรือไม่

    อ.นิภัทร เมื่อเข้าใจขั้นฟังแล้ว ต้องเข้าใจขณะที่สภาพธรรมปรากฏด้วย เพราะว่าจากการฟังเรารู้ทั่วๆ ไปว่า ธรรมมีจริงแน่นอน ทางทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่ามีเมื่อไร เป็นความรู้อีกขั้นหนึ่งซึ่งต่อจากความเข้าใจ มีเมื่อไรก็ในขณะเห็น ธรรมมีแล้ว ขณะได้ยิน ธรรมก็มีแล้ว ขณะได้กลิ่น ธรรมก็มีแล้ว ขณะลิ้มรสก็มีแล้ว ขณะถูกต้องสัมผัสก็มีแล้ว ขณะที่คิดนึกก็มีแล้ว ขณะที่ธรรมมีนั้นเป็นขณะที่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า นี่เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ที่เข้าใจผิดว่าเป็นเรา เป็นการคิดนึกต่อจากธรรมจริงๆ ธรรมจริงๆ ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ บุคคล แต่มีเราต่อจากนั้นไปอีกที่เป็นความคิด ซึ่งห้ามไม่ได้ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ แต่ถึงแม้เป็นพระอริยบุคคลท่านก็ต้องรู้ภาษาทางโลก จะทิ้งสมมติบัญญัติไม่ได้

    ผู้ฟัง ขณะที่กล่าวว่า ฟังธรรมเข้าใจ ขณะนั้นเรียกว่า “ปฏิบัติ” หรือไม่ เวลาฟังเข้าใจ ขณะนั้นปฏิบัติไปในตัวใช่ไหม

    อ.นิภัทร ต้องเข้าใจขณะที่ธรรมเกิดปรากฏ แล้วก็รู้ว่า นี่ธรรมกำลังปรากฏ ถ้าระลึกรู้อย่างนี้ ปฏิบัติก็มี

    ผู้ฟัง อันนั้นเรียกว่า ปฏิบัติธรรม

    อ.นิภัทร ปฏิบัติต้องต่อจากปริยัติใช่ไหม ปริยัติ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะที่ธรรมกำลังปรากฏแล้วระลึกรู้ นั่นคือปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ฟังจากเทปที่บรรยายว่า คนมีกิเลส แต่ไม่รู้ตัวว่ามีกิเลสก็พอเข้าใจ แล้วคนมีกิเลส แล้วรู้ตัวว่ามีกิเลส นี่พอเข้าใจ แต่คนไม่มีกิเลส ไม่รู้ตัวว่าไม่มีกิเลส ขอให้ท่านอาจารย์ขยายความให้เข้าใจด้วย

    อ.คำปั่น คำว่า อังคณะ คือ กิเลสเพียงดังเนิน ท่านเปรียบว่า กิเลสเพียงดังว่าเนินเพราะเป็นความประพฤติที่เป็นบาปอกุศลที่มีมากด้วย บุคคลนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังมีอังคณกิเลสอยู่ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า เรายังมีอังคณกิเลสในภายใน ข้อที่บุคคลนั้นพึงหวังได้คือ เขาจักไม่ยังความพอใจให้เกิดขึ้น จักไม่พยายาม จักไม่ปรารภความเพียรเพื่อละกิเลสนั้นเสีย เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีอังคณกิเลส มีจิตเศร้าหมองกระทำกาละ อันนี้คือบุคคลประเภทแรก

    ท่านอาจารย์ บุคคลแรกคือบุคคลที่มีกิเลสก็ไม่รู้ว่ามีกิเลส มีมากไหม อุปมาเหมือนถาดทองสำริดที่เก็บไว้ที่สกปรก และอยู่ในที่มีฝุ่น นับวันก็เพิ่มขึ้นไม่มีวันขัดออกได้เลย ไม่มีทางไปสู่สุคติ

    อ.คำปั่น ท่านกล่าวว่า เป็นผู้หลง ตายไปพร้อมกิเลส เป็นผู้ตายอย่างไม่มีที่พึ่ง

    ท่านอาจารย์ สมมติว่า ทุกคนตายเมื่อวานนี้ขณะที่มีกิเลสได้ไหม ได้ วันนี้ก็ได้ ถ้ายังไม่มีปัญญาที่จะสามารถทำให้กุศลจิตมีปัจจัยเกิด ก็เป็นอกุศลจิตที่สะสมมาที่ทำให้เกิดบ่อยๆ แล้วจะตายขณะไหน ใครก็ไม่รู้ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นของที่เป็นไปได้

    อ.คำปั่น บุคคลประเภทที่ ๒ ก็เป็นความต่างกันของผู้ที่รู้ กับผู้ที่ไม่รู้ ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ท่านครับ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดยังมีอังคณกิเลสอยู่ ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า เรามีอังคณกิเลสในภายใน ข้อที่ อันบุคคลอันพึงหวังได้ คือ เขาจักยังความพอใจให้เกิด จักพยายาม จักปรารภความเพียร เพื่อละกิเลสนั้นเสีย. เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมอง กระทำกาล เปรียบเหมือนถาดทองสัมฤทธิ์ ที่บุคคลนำมาแต่ร้านตลาด หรือแต่สกุลช่างทอง อันละออง และสนิมจับอยู่โดยรอบ เจ้าของได้ใช้ขัดสีภาชนะสัมฤทธิ์นั้น และไม่เก็บมันไว้ในที่ๆ มีละออง เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์จะเป็นของหมดจดผ่องใสฉันใด.

    ท่านพระโมคคัลลานกล่าวว่า อย่างนั้นหรือ ท่านขอรับ

    ท่านพระสารีบุตรกล่าว. อย่างนั้นแหละ ท่านครับ บุคคลนี้ก็ฉันนั้น ยังมีอังคณกิเลส อยู่ ก็รู้ตามเป็นจริงว่า เรายังมีอังคณกิเลสในภายใน ข้อนี้ อันบุคคลนั้นพึงหวังได้คือ เขาจักยังความพอใจให้เกิด จักพยายาม จักปรารภความเพียร เพื่อละกิเลสนั้นเสีย. เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมอง กระทำกาล อันนี้คือบุคลประเภทที่ ๒

    ท่านอาจารย์ ก็ชัดเจน ทุกคนที่นี่หรือไม่ เพราะรู้ว่ามีกิเลสจึงศึกษาธรรมเพื่อที่จะได้ขัดเกลา

    อ.คำปั่น ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ของผู้มีกิเลส เมื่อรู้ตามความเป็นจริงก็ต้องศึกษาเพื่อละกิเลสเหล่านั้น

    บุคคลประเภทที่ ๓ ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ท่านครับ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดไม่มีอังคณกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่าเราไม่มีอังคณกิเลสในภายใน ข้อที่บุคคลนั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักมนสิการสุภนิมิต เพราะมนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักครอบงำจิตเขา เขาจักยังเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ ยังมีอังคณกิเลส ยังมีจิตเศร้าหมอง กระทำกาล เปรียบเหมือนถาดสัมฤทธิ์ ที่บุคคลนำมาแต่ร้านตลาด หรือแต่สกุลช่างทอง เป็นของสะอาดหมดจด แต่เจ้าของไม่ใช้ และไม่ขัดถาดนั้น ซ้ำเก็บมันไว้ในที่ๆ มีละออง เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยอื่นถาดทองสัมฤทธิ์นั้น จะพึงเป็นของเศร้าหมองสนิมจับ ฉันใด.

    ท่านพระโมคคัลลานะกล่าวว่า อย่างนั้นหรือ ท่านขอรับ

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า. อย่างนั้นแหละ ท่านครับ บุคคลนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีอังคณกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีอังคณกิเลสในภายใน ข้อนี้ อันบุคคลนั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักมนสิการสุภนิมิต เพราะมนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักครอบงำจิตเขา เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ ยังมีอังคณกิเลส มีจิตเศร้าหมอง กระทำกาล

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นกุศลหรือไม่ รู้ไหมว่าเป็นกุศล ไม่รู้ ทั้งๆ ที่ขณะนั้นเป็นกุศลก็ไม่รู้ว่าเป็นกุศล เพราะฉะนั้นจึงยังมีการพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส หรือว่ายึดมั่นในความเป็นตัวตน แล้วแต่บุคคลว่า มุ่งหมายถึงบุคคลไหน แต่ให้ทราบตามความเป็นจริงว่า วันหนึ่งๆ มีทั้งกุศล และอกุศล แล้วแต่ว่าอะไรจะมีมาก ขณะที่กำลังฟังธรรมแล้วเข้าใจเป็นกุศล หรืออกุศล รู้ไหมว่าไม่ใช่เรา ก็ยังคงเป็นเรา

    ฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า กำลังจะถูกจับด้วยฝุ่นละออง และยังคงยินดีในเรา แม้ขณะที่กำลังฟังธรรม เป็นเราฟังธรรมก็ได้ ต่อไปข้างหน้าฝุ่นละออง และสิ่งที่ทำให้เป็นสนิมก็เพิ่มขึ้นได้ เพราะเหตุว่าแม้ขณะนี้เป็นกุศล ไม่มีกิเลส แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นกุศล และไม่รู้ว่า ไม่ใช่เราด้วย

    อ.กุลวิไล บุคคลประเภทที่ ๓ จะเป็นบุคคลที่คุณขจรสงสัย เพราะไม่รู้ว่าไม่มีกิเลส แต่นัยที่ท่านแสดงไว้หมายความว่า ขณะที่เป็นกุศลนั่นเอง ไม่ใช่บุคคลที่ขัดเกลากิเลสได้หมด ถึงแม้ว่ากุศลจิตเกิดขึ้น และมีความติดข้องในกุศลจิต เขาก็ไม่สามารถขัดเกลากิเลสได้ ก็ไม่ได้เป็นบุคคลผู้ประเสริฐ

    ท่านอาจารย์ ขอขอบคุณคุณขจรที่ทำให้ได้ฟังพระสูตร และอรรถกถา

    อ.คำปั่น ต่อไปเป็นบุคคลประเภทที่ ๔ ซึ่งเป็นประเภทสุดท้าย ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านครับ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดไม่มีอังคณกิเลส ก็รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีอังคณกิเลสในภายใน ข้อที่อันบุคคลนั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักไม่มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักไม่ครอบงำจิตเขา เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีอังคณกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมอง กระทำกาล เปรียบเหมือนถาดทองสัมฤทธิ์ที่บุคคลนำมาแต่ร้านตลาด หรือแต่สกุลช่างทอง เป็นของสะอาดหมดจด เจ้าของใช้ ขัดสีภาชนะสัมฤทธิ์นั้น และไม่เก็บมันไว้ในที่มีละออง เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยอื่นถาดทองสัมฤทธิ์นั้น ก็พึงเป็นของสะอาดหมดจดยิ่งขึ้น ฉันใด.

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กล่าวว่า อย่างนั้นหรือ ท่านขอรับ

    ท่านพระสารีบุตร กล่าวว่า อย่างนั้นแหละ ท่านครับ บุคคลนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีอังคณกิเลส ก็รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีอังคณกิเลสในภายใน ข้อที่อันบุคคลนั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักไม่มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักครอบงำจิตเขาไม่ได้. เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีอังคณกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมอง กระทำกาล

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เหตุนี้แล ปัจจัยนี้แล ที่เป็นเหตุทำให้บุคคล ๒ จำพวกที่มีกิเลสเหมือนกันนี้ คนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทรามอีกคนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ

    อนึ่ง เหตุนี้แล ปัจจัยนี้แล ที่เป็นเหตุทำให้บุคคล ๒ จำพวก ที่ไม่มีอังคณกิเลสเหมือนกันนี้ คนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม อีกคนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่าเป็นบุรุษประเสริฐ.

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชีวิตประจำวัน ทุกคนมีทั้งกุศล และอกุศล ขึ้นอยู่กับว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลก็ไม่รู้ว่า เป็นอกุศล หรือขณะที่เป็นกุศลก็ไม่รู้ว่า เป็นกุศล เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วแต่ว่าขณะนั้นกุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด เวลาที่อกุศลจิตเกิดแล้วไม่รู้ ประเสริฐไหม (ไม่ประเสริฐ) เวลาที่อกุศลจิตเกิดแล้วสามารถจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ก็ประเสริฐ เวลาที่กุศลจิตเกิดแล้วไม่รู้ว่า เป็นกุศล ประเสริฐไหม ทั้งๆ ที่กุศลจิตเกิดแต่ไม่รู้ว่าเป็นกุศล ก็ไม่ประเสริฐ เวลาที่กุศลจิตเกิดแล้วรู้ว่าเป็นกุศล คือไม่ใช่เรา ประเสริฐ ก็ตรงกับที่เราศึกษาธรรมมาโดยตลอด

    อ.กุลวิไล การรู้ตามความเป็นจริงเป็นเรื่องการอบรมเจริญปัญญาที่จะเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง บางครั้งหลายท่านคิดว่าดีแล้ว แล้วไม่ศึกษาพระธรรม ถึงแม้ว่ามีกิเลส แต่ก็ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่ามีกิเลส

    ท่านอาจารย์ ถึงไม่มาฟัง ไม่ศึกษา ไม่สนใจธรรมเลย

    อ.กุลวิไล แล้วผู้ที่ไม่มีกิเลส คือกุศลอาจเจริญขึ้นในชีวิตประจำวันบ้าง แต่ไม่สามารถขัดเกลากิเลสได้ ก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ก็มีคนดีหลายคนที่เขาคิดว่า เขาดีแล้ว ใช่ไหม

    อ.กุลวิไล เขาให้ทาน รักษาศีลเป็นประจำ แต่เขาไม่รู้ว่า ปัญญาที่จะรู้ธรรมตามความเป็นจริง ที่จะรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนนั้นอย่างไร

    ผู้ฟัง เมื่อกุศลจิตเกิดบ่อยๆ มากๆ ขึ้น ก็รู้ว่า เป็นกุศลจิต แต่ไม่รู้ตรงลักษณะที่กุศลจิตเกิด

    ท่านอาจารย์ ก็อบรมไปจนกว่าจะรู้

    ผู้ฟัง แล้วการอบรมให้รู้ตรงลักษณะว่า กุศลจิตขณะที่กำลังเกิดไม่ใช่เรา เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่ค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจ สามารถจะรู้อย่างนั้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ประเภทที่ ๓ ที่ว่า กุศลจิตเกิดก็ไม่มีปัญญารู้ว่า เป็นกุศลจิต แต่ขณะที่เป็นอกุศลแล้วมีปัญญารู้ว่าเป็นอกุศล ซึ่งขัดแย้ง เพราะมีกำลังของปัญญาก็สามารถเจริญกุศลในทาน ในศีล ทำให้จิตสงบ หรือเข้าใจรู้ความจริงมากขึ้น ตรงนี้เหมือนขัดแย้งกัน

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยจะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น หวังปัจจัยอะไรที่จะให้อะไรเกิดมากๆ หรือไม่ โดยไม่รู้เลยว่า สะสมอะไรมามากน้อยแค่ไหน ตอนนี้เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ สะสมอะไรมาแค่ไหน แล้วหวังอย่างไรหรือไม่ หรือคิดว่า กุศลเกิดไม่ได้ หรืออย่างไร

    ผู้ฟัง คือฟังแล้ว เหมือนกับว่า ถ้ามีปัญญา

    ท่านอาจารย์ มีปัญญาแค่ไหน

    ผู้ฟัง ก็หลายระดับ ถ้าปัญญาขั้นที่ทำให้กุศลเจริญก็ต้องเป็นขั้นพระอริยบุคคลเลย หรือ

    ท่านอาจารย์ คือเราคิดเรื่องอื่นมาก คาดคะเน แต่ว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็หวัง แล้วก็คิดว่า ถ้าเป็นพระอริยบุคคลแล้วจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ก็คิดตามพระสูตร

    ท่านอาจารย์ คือเดี๋ยวนี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แล้วรู้ หรือไม่รู้ คือคิดตาม นี่คิดเกินไปถึงไหน

    ผู้ฟัง เพราะคิดว่า กุศลเจริญตามกำลังของปัญญา

    ท่านอาจารย์ คิดเลยล่วงหน้า จะเจริญตามกำลังของปัญญา แต่ขณะนี้รู้อะไร หรือไม่ เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ หรือยัง เพราะฉะนั้น เป็นบุคคลไหนใน ๔ บุคคล ถ้าอ่านเข้าใจพระสูตรนี้สามารถเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า แต่ละคนหลากหลายมาก ขณะใดก็ตามที่เป็นกุศลแล้วไม่รู้ เป็นผู้ประเสริฐ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แม้ขณะนั้นเป็นอกุศล แต่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนั้นประเสริฐที่รู้ ขณะที่เข้าใจถูกต้อง แล้วหวังอะไร หวังว่าผู้นั้นต่อไปจะไม่มีกิเลส จะเจริญในกุศลทุกประการ นั่นคือเรื่องเราคิด แต่ตามความเป็นจริงคนที่มีกิเลสมากๆ แล้วกิเลสลดน้อยลงด้วยอะไร หรือกิเลสที่มีมากสามารถดับไม่เกิดอีกได้ ดับเป็นสมุจเฉท ด้วยอะไร หรือเพราะอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่า วันนี้ที่ฟัง ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วเราไปคิดถึงกุศลอื่นที่จะเจริญทุกประการ คิดล่วงหน้า แต่ความจริงไม่ว่าขณะนี้เป็นอย่างไร ก็คือไม่ใช่ขณะข้างหน้าที่ยังไม่มาถึง

    เพราะฉะนั้น ปัญญาระดับนี้ แค่นี้ ก็ต่างกับปัญญาที่สะสมมามาก แต่ปัญญาแต่ละขณะที่เกิดใครจะรู้ว่า กำลังทำกิจของปัญญา ที่จะมีปัญญามากได้ ไม่ใช่เพียงฟังวันนี้ แล้วหวังว่าจะมีปัญญาข้างหน้ามาก แต่ปัญญาข้างหน้าที่จะมีมากๆ ได้ คือ ขณะนี้เป็นปัญญาที่จะน้อมไปสู่การมีปัญญาเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าขณะนี้มีปัญญาที่รู้ความจริงในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องของเราเลยว่า ปัญญาที่มีมากจะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญ อย่างพระอรหันต์ไม่มีกิเลสใดๆ เลย เป็นโสภณธรรม แต่ไม่เป็นกุศล และอกุศล ตลอดชีวิตของพระอรหันต์จะไม่มีอกุศลธรรมเลย แม้กุศลธรรมที่เคยเป็นเหตุให้เกิดเป็นโสภณธรรม ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดอีกต่อไป จึงเป็นกิริยา หรืออัพพยากตธรรม

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นการน้อมไปสู่แต่ละขณะข้างหน้า ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่า กุศลจะเกิดมากกว่าขณะนี้แค่ไหน และทางไหนบ้าง

    ผู้ฟัง นั่นหมายถึงว่า ถ้าเป็นปัญญาขั้นพระอรหันต์ก็จะมีโสภณจิต วิบากจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และก่อนเป็นพระอรหันต์ก็ไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นได้อย่างไร ดับหมดเป็นสมุจเฉท ก็ค่อยๆ น้อมไป ไม่ใช่หวังว่า จะถึงเมื่อไรที่กุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้นพร้อมกัน ประการนั้น ประการนี้ แต่หมายความว่า ขณะนี้สิ่งที่ยังไม่เกิด แต่จะเกิด ถ้าเป็นฝ่ายกุศลก็คือกำลังน้อมไปสู่ด้วยการภาวนา ภาวนาคือการอบรม การจะถึงอย่างนั้นได้มีหนทางเดียว คือน้อมไปตามการอบรม ถ้าไม่มีการภาวนา คืออบรมทีละเล็กทีละน้อยก็จะไม่ถึง

    ผู้ฟัง ฟังจากเทป ท่านอาจารย์จะบอกว่า ขณะนี้ไม่บ่ายหน้ามาสู่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ บ่ายไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลาจะบ่ายหน้าแม้สภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ว่าความเข้าใจเดี๋ยวนี้ทีละเล็กทีละน้อยไม่ไปไหนเลย น้อมไป คือบ่ายหน้าไปสู่การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ เมื่ออบรมมากขึ้นๆ ก็เป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ น้อมไป บ่ายหน้าไปสู่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ผู้ฟัง ถ้าฟังอย่างนี้ก็ต้องมีพื้นฐานเข้าใจว่า เป็นธรรม และเป็นอนัตตาที่เป็นเหตุที่เกิดจากการอบรมไปสู่ตรงนั้นได้ ไม่ใช่เมื่อฟังแล้วก็จะบ่ายหน้า จะน้อม ก็เป็นตัวตนที่ไปทำ

    ท่านอาจารย์ นี่คือความมั่นคงที่จะเข้าใจธรรมว่า เป็นอนัตตา ๒ คำนี้ทิ้งไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล เป็นสมถภาวนา เป็นรูปฌาน อรูปฌานทั้งหมดเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา มิฉะนั้นก็เป็นเรา จะไม่บ่ายหน้าไปสู่การรู้ลักษณะที่เป็นธรรม เพราะไม่มั่นคง

    ตอนนี้คุณอรวรรณทำอะไรไม่ได้เลย บ่ายหน้าก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นการสะสมความเข้าใจจนกว่าจะค่อยๆ น้อมไปด้วยการอบรม คือ ภาวนาจริงๆ

    ผู้ฟัง ศึกษาธรรมแล้วประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อนๆ หลายคนถามคำถามนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คุณสุกัญญาไม่ลืม ธรรมไม่ใช่คุณสุกัญญาปฏิบัติ ศึกษาธรรม เพราะฉะนั้น เป็นธรรมทั้งหมด แม้แต่การประพฤติปฏิบัติตามก็เป็นธรรม การรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เวลานี้ไม่มี เพราะยังไม่ถึงเวลา การอบรมยังไม่พอ เพราะฉะนั้น จะปฏิบัติด้วยอะไร ด้วยความเป็นเรา ก็ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อเข้าใจขึ้น สภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ก็ค่อยๆ บ่ายหน้าไปทางที่จะรู้สภาพธรรม แทนที่จะไปสู่การหลงลืมสติเหมือนเดิม

    ผู้ฟัง คือฟังธรรมแล้วก็เข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ กำลังค่อยๆ บ่ายหน้าไปสู่การรู้ธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    11 มิ.ย. 2567