พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 602


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตมากสักแค่ไหน ประมาณไม่ได้เลย เมื่อเห็นก็รู้เลยว่าเป็นอะไร เหมือนกับสิ่งที่ปรากฏพร้อมกับรูปร่างสัณฐาน เป็นนิมิตต่างๆ ให้จำได้ว่าหมายความถึงอะไร แต่ความจริงจิตเกิดดับสืบต่อมาก

    ผู้ฟัง อารมณ์ที่ปรากฏสำคัญไหม

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาชอบอะไร

    ผู้ฟัง ขณะนี้ก็ชอบถามท่านอาจารย์ มาทีไรก็ถามทุกที

    ท่านอาจารย์ ถามต้องเป็นจิตที่คิดใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็ชอบสิ่งที่มีที่ปรากฏ กำลังหลับสนิท ชอบถามไหม

    ผู้ฟัง ไม่ถาม

    ท่านอาจารย์ แต่พอเกิดขึ้น เห็นแล้วก็คิด แล้วก็ถาม ถ้าไม่คิดจะถามไหม เพียงแค่เห็น

    ผู้ฟัง อย่างนั้นแสดงว่า ต้องเป็นจิตเกิดก่อนหรือ แล้วถึงมีอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่มีก่อนเลย ขณะนี้ถ้าไม่มีปัจจัยให้จิตเกิด จิตเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง เกิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าจิตขณะก่อน เกิดแล้วยังไม่ดับ จิตนี้เกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็เกิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แล้วจะเอาอะไร ขณะไหนก่อน ขณะนี้ก็ก่อนขณะหน้า ขณะล่วงไปแล้วก็ก่อนขณะนี้ แล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง แต่ว่าส่วนใหญ่จะรู้จักอารมณ์ที่ปรากฏ หมายถึงเมื่อก่อนไม่เคยทราบเลยว่า จิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และมีอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ แต่พอศึกษาไปก็เริ่มเข้าใจว่า จะต้องมีอย่างนี้ แต่ว่าจิต ๑ ขณะเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่มีจิตอย่างเดียว ต้องมีนามธรรมอื่นๆ ประกอบด้วยถึงจะรู้อารมณ์เหล่านั้น แต่สภาพของการรู้อารมณ์ก็ยังไม่เข้าใจว่าเป็นอย่างไร แต่เมื่ออารมณ์เกิด จะรู้ว่าอารมณ์เหล่านั้นเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสภาพที่รู้อารมณ์นั้น อารมณ์นั้นจะปรากฏให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้นได้ไหม

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แม้มีก็ไม่รู้ จึงต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจขึ้น ไม่ต้องไปทำอะไรให้เสียเวลาเลย เพียงแต่ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ด้วยการฟัง และเข้าใจ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นอารมณ์ที่ปรากฏจริงๆ อย่างอารมณ์โกรธ

    ท่านอาจารย์ โกรธมีจริงๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ทำไมรู้ว่าโกรธ

    ผู้ฟัง มีจิตที่เกิดขึ้นแล้วรู้อารมณ์นั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะโกรธเกิดขึ้นปรากฏ มีสภาพที่ต่างกับขณะที่ไม่โกรธ

    ผู้ฟัง จะทราบได้อย่างไรว่า โกรธเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกชื่อเลย ไม่ต้องเรียกโกรธว่าธรรมก็ได้ แต่โกรธก็มีจริงๆ แล้วเป็นใครโกรธ หรือไม่ หรือเป็นธรรมชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดแล้วต้องมีลักษณะอย่างนั้น ประทุษร้าย ไม่สบายใจเลยในขณะนั้น มีจริงๆ ใช่ไหม วันหนึ่งๆ ซึ่งไม่สบายใจ ขณะนั้นให้ทราบว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดแล้วประทุษร้าย จึงไม่สบาย ลักษณะนั้นคือโทสเจตสิก เป็นสภาพที่ประทุษร้าย เวลาที่ประทุษร้าย สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น ความรู้สึกขณะนั้นก็เป็นโทมนัส หรือเป็นทุกข์ จะเป็นสุข หรือโสมนัส หรืออุเบกขาไม่ได้เลย มีจริงๆ หรือไม่

    ธรรมคือสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ไปเขียนตำราอีกเล่มหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่มีจริงๆ แล้วไปเรียกชื่อต่างๆ แต่ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ โดยไม่เคยรู้เลย ลักษณะของชีวิตเป็นสภาพธรรมที่ต่างๆ ๆ ๆ กันแต่ละขณะ ไม่เคยซ้ำกันเลยสักขณะเดียว ก็ไม่เคยรู้

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริง และทรงแสดงความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วทั้งหมดก็เป็นลักษณะของธรรม หรือธาตุแต่ละชนิด แต่ละประเภท ซึ่งต่างๆ กันหลากหลายมาก ไม่จบสิ้น และไม่ซ้ำกันด้วย เกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยแล้วก็ดับไป แล้วมีปัจจัยทำให้เกิดดับสืบต่อไม่ขาดสาย ตั้งแต่เกิดจนตาย และทรงแสดงความละเอียดว่า สภาพธรรมที่มีจริงมีอะไรบ้าง

    เพราะฉะนั้น โกรธมีจริงๆ ไหม ก่อนที่จะได้ฟังธรรม โกรธก็มีจริงๆ ฟังธรรมแล้ว โกรธก็มีจริงๆ แล้วต่างกันตรงไหน

    ผู้ฟัง ต่างกันตรงที่เมื่อก่อนเป็นเราโกรธ แต่พอศึกษาธรรมก็รู้ว่า โกรธเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่ลืม ฟังบ่อยๆ เมื่อโกรธเกิดขึ้นก็รู้ลักษณะของธาตุนั้นที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย

    ผู้ฟัง ก็เป็นลักษณะเดียวกับความรู้สึกชอบ และพอใจ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม

    ผู้ฟัง แต่ส่วนใหญ่เมื่อรู้สึกพอใจ หรือชอบ จะคิดถึงเวทนาขึ้นมาทันที

    ท่านอาจารย์ คิดถึง หรือ คิดถึงอย่างไร

    ผู้ฟัง คิดว่าเป็นความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกเกิดแล้ว ต้องไปคิดถึงความรู้สึกนั้นไหม

    ผู้ฟัง คือจะแปลสิ่งที่ปรากฏนั้นออกมาเป็นสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมา

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า หลังจากได้ฟังธรรมแล้ว ไม่ว่าความรู้สึกประเภทใดเกิดก็นึกถึงธรรม แล้วก็เรียกชื่อด้วยว่า ชื่ออะไร ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ทีนี้เวทนาเจตสิกจะเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ก็สงสัยว่า เมื่อเวทนาเจตสิกเกิดขึ้นมาเป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น แล้วเวทนาที่เกิดร่วมด้วยไปรู้เวทนาของจิตขณะไหน

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีเห็นกับได้ยินพร้อมกัน หรือไม่พร้อมกัน

    ผู้ฟัง ไม่พร้อม

    ท่านอาจารย์ รู้ได้อย่างไรว่าไม่พร้อม

    ผู้ฟัง จากการศึกษาธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวทนาเก่ากับเวทนาใหม่พร้อมกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่พร้อม ก็หมายถึงเป็นคนละขณะกัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และขณะนี้ที่กำลังเห็น หรือกำลังได้ยินก็ตาม ความจริงสั้นมาก มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ละรูป แต่ก่อนที่รูปนั้นจะดับ ถึงวาระที่อกุศลจิตจะเกิด หรือกุศลจิตเกิดก็แล้วแต่การสะสมในรูปที่ปรากฏที่ยังไม่ดับ ซึ่งสั้นมาก

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้รู้ไหมว่า กำลังมีกุศล หรืออกุศลในรูปที่ปรากฏ คนละขณะแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นกุศล อกุศล เป็นปัญญาได้ไหม ก็ย่อมได้ เพราะฉะนั้น ที่คุณสุกัญญาถามว่า อะไรรู้อะไร ก็คือจิตเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก แล้วขณะใดที่มีความเข้าใจแทนความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นไปได้ แต่ว่าต้องต่างขณะ

    เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงจิตประเภทต่างๆ มากมาย โดยประมวลก็เป็นลักษณะของจิตที่ต่างกันเป็น ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ โดยพิเศษ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมโดยไม่เผิน คือ ศึกษาทุกคำ ต้องเข้าใจจริงๆ ในคำนั้นๆ ด้วย มิฉะนั้นพอได้ยินคำหนึ่ง เราคิดของเราเองไปอีกหลายเรื่อง และไม่ตรงตามที่ได้ยินได้ฟังด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำหนึ่งคำใดก็ต้องทราบว่า เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจความจริง แล้วลองคิดถึง “พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” ทรงแสดงสิ่งที่มีจริงด้วยคำที่ทำให้สามารถเข้าใจความจริงนั้นได้ เช่น ปรมัตถ์กับบัญญัติ ๒ คำต้องต่างกัน ปรมัตถธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริงที่เป็นแก่นแท้ ไม่มีอะไรที่จะจริงยิ่งกว่านี้ เช่น เราบอกว่า โต๊ะจริง คนจริง ภูเขาจริง ต้นไม้จริง เป็นปรมัตถ์จริงแท้ เป็นแก่นที่แท้จริงของสิ่งนั้น หรือไม่ เป็นความจริงแท้ของสิ่งนั้น หรือไม่

    เพราะฉะนั้น ความจริงแท้ต้องเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และมีจริงๆ และใครก็ไม่สามารถจะบังคับบัญชา หรือทำให้เกิดขึ้นมาได้เลย เช่น ขณะนี้เห็นมีจริง ไม่ต้องเรียกว่าอะไรเลย ได้ยินก็มีจริง ทั้งหมดที่มีจริงมีลักษณะที่ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นได้เลย แต่ปรากฏในลักษณะแท้จริงของสิ่งนั้น เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาจะไม่เป็นอื่น ปรากฏทางหูไม่ได้ กำลังฝันสิ่งนี้ก็ไม่ได้ปรากฏ แต่จะปรากฏต่อเมื่อมีธรรมที่กำลังรู้จริงๆ คือ เห็นว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอย่างนี้

    นี่คือฟังธรรม เป็นสิ่งที่มีกำลังมีเดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้โดยถูกต้อง สิ่งที่มีจริง คือเราจะว่าเราเห็นคน หรือจะว่าเห็นโต๊ะก็ตามแต่ แต่ลักษณะที่มีจริงๆ ไม่ใช่คน ไม่ใช่โต๊ะ แต่ต้องเป็นสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ เพราะมีคำว่า “เห็น” แล้วก็ “คน” ถ้าไม่มีเห็น จะมีคนต่างๆ ชื่อต่างๆ ที่เรารู้จักขณะนี้ได้ไหม ที่เราจำไว้ได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เห็นเป็นเห็น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เป็นอื่นไม่ได้ สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเป็นเสียงต่างๆ หรือไม่ เป็นกลิ่นต่างๆ หรือไม่ แต่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เพียงเห็นเท่านั้นเอง คำว่า “เพียงเห็น” คือ ไม่ใช่สิ่งอื่นนอกจากนี้ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เพียงปรากฏให้เห็น

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมต้องพิจารณาจึงจะเป็นความเข้าใจที่จะไม่ลืม จริง หรือไม่ ฟังแล้ว คำนี้ถูกต้อง หรือไม่ พูดถึงเรื่องอะไร พูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ขณะนี้ให้เข้าใจถูกขึ้นว่า ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอย่างนี้จริงๆ คือ เพียงปรากฏให้เห็น นี่คือเห็น มีจริงๆ เรื่องนามธรรม รูปธรรมก็ได้กล่าวไปแล้วมากมาย ก็รู้ว่า เห็น แม้มีจริงเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย ไม่ใช่รูปธรรม เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่รู้ เกิดขึ้นเมื่อไรต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดมาไม่ใช่ต้นไม้ ใบหญ้า ต้องมีสภาพรู้

    เพราะฉะนั้น สภาพรู้ใช้คำว่า “นามธรรม” ซึ่งมี ๒ อย่าง ได้แก่ จิต และเจตสิก เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน สภาพรู้ ที่เป็นจิตเพราะเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดก็ได้ เสียงหลากหลายเสียง กลิ่นก็หลากหลายกลิ่น รสก็หลากหลายรส จิตเป็นสภาพที่เพียงรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ถูกจิตรู้ ที่ปรากฏให้รู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า “อารัมมณะ” หรือ “อาลัมพนณะ” แต่ภาษาไทยก็ใช้คำว่า “อารมณ์” ถ้าไม่ศึกษาธรรมก็ไม่เข้าใจคำนี้เลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีจิตเห็น เข้าใจจิตเห็น เห็นไหม การศึกษาธรรมไม่ใช่ให้ไปคิดเรื่องอื่นเอง แต่กำลังพูดเรื่องจิตเห็น แล้วก็รู้ว่า ขณะนี้มีเห็น ที่เห็นคือจิต และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งยังไม่กล่าวถึง เพราะขณะที่กำลังเห็น มีอะไรปรากฏให้รู้ได้ เจตสิกอะไรจะมาปรากฏให้รู้ได้ ทั้งๆ ที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต กำลังรู้สิ่งที่จิตรู้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จะมีเจตสิกปรากฏให้รู้ได้ แต่ขณะนั้นก็มีเข้าใจหน้าที่ของนามธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน และดับพร้อมกัน กำลังรู้สิ่งเดียวกันว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ แค่นี้เอง แต่จะทำให้เริ่มเข้าใจจิต หรือไม่ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่นอีกมากมาย โลกความจริง ความไม่จริง เพียงแต่ขณะนี้มีจิตกำลังรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องเรียกว่า “จิต” ก็มีธาตุที่กำลังเห็น เห็นอย่างแจ้ง คือ ไม่เปลี่ยน สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าออกไปนอกห้อง จิตเห็นแจ้งสิ่งที่ปรากฏ ไม่เหมือนในนี้เลย นี่คือลักษณะของจิต

    เพราะฉะนั้น กล่าวถึงจิตรวมเจตสิกด้วย เพราะเหตุว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน แม้ไม่กล่าวถึงเจตสิก ก็ต้องมีเจตสิก จึงใช้คำว่า "จิตตุปปาทะ" จิตขณะหนึ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิต แต่จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน ก็ใช้คำว่า จิต เสมอ จำแนกจิตประเภทต่างๆ ก็โดยกล่าวถึงความละเอียดที่ว่า จิตนั้นๆ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างไรบ้าง แต่กล่าวถึงจิตประเภทต่างๆ ก่อนจะกล่าวถึงเจตสิกแต่ละอย่างเป็นแต่ละประเภท

    การศึกษาธรรมต้องเริ่มตามลำดับ และเป็นการเข้าใจจริงๆ มีสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ให้เข้าใจว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องไหม

    เพราะฉะนั้น เพียงแค่จิตเห็น ยังไม่ไปที่ไหนเลย ยังไม่มีคำว่า “บัญญัติ” แต่มีคำว่าจิตเห็น หรือว่าเห็นขณะนี้ก็คือธรรมซึ่งสามารถเกิดเป็นสภาพรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้น ขณะ "เห็น "ก็เป็นธรรม ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นได้เลย และสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ใครก็ไปทำให้เกิดขึ้นไม่ได้ด้วย ทั้งหมดเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา

    ตอนนี้แค่จิตเห็น ยังไม่พูดถึงบัญญัติเลย มีจริงๆ นี่เป็นการเริ่มเข้าใจตัวจริงของธรรม ซึ่งในขณะที่กำลังเห็น ถ้าสามารถเริ่มเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย ต่อไปสามารถเข้าใจความจริงของเห็นซึ่งกำลังเห็นในขณะนี้ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เห็นไหมคะ แม้แต่คำเดียวจะค่อยๆ ต่อไปๆ ถึงความลึกซึ้งของสิ่งที่เหมือนเผินมากเลย พอจิตเห็นก็ข้ามไปถึงเห็นอะไร เพราะความไม่รู้ แต่ความจริงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างลึกซึ้ง ที่รู้ยากก็เพราะเหตุว่าเกิดแล้วดับเร็วสุดจะประมาณได้

    เพราะฉะนั้น ขณะที่บอกว่าเห็น ไม่รู้ความจริงของเห็น แต่เพราะเห็นเกิดขึ้นบ่อยๆ เราจะไม่กล่าวถึงวิถีจิตแต่ละขณะซึ่งละเอียดกว่านี้อีกมาก แต่จะกล่าวเพียงพอจะเข้าใจได้ว่า เห็นขณะนี้ดับ หรือไม่ ยังไม่ได้ฟังธรรมเลย เห็นดับ หรือไม่ ตามความเป็นจริง พูดเรื่องจริง ก็ตอบตามความเป็นจริง จะต้องไปปะปนกับตอนที่ศึกษาแล้วได้อย่างไร ถามถึงก่อนจะได้ฟังธรรม เห็นดับ หรือไม่ ไม่ดับเลย นี่คือความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่าง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับคนที่ไม่รู้แม้สิ่งนั้นกำลังปรากฏ ก็ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมเลย เห็นไม่ได้ดับ อะไรก็ไม่ได้ดับสักอย่างเดียว แต่ตามความจริงสภาพธรรมเกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณ จึงไม่สามารถจะรู้ว่าดับ เหมือนปรากฏสืบต่ออยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น จิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับตั้งแต่ขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิตของชาตินี้เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน อยู่ที่ไหนถ้าไม่ดับ แต่ละขณะต้องดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย แสนโกฏิกัปป์เป็นใครอยู่ที่ไหน เห็นอะไรบ้าง ไม่มีทางจะเหลือมาถึงขณะไหนได้เลย แต่ก็ผ่านๆ ไปเรื่อยๆ แม้ขณะนี้ตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ เห็นอะไรบ้าง ได้ยินอะไรบ้าง ก็ไปเก็บสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไว้ไม่ได้เลย หมดไปๆ ไม่มีอะไรที่เหลือเลย ไปตลอดเวลาโดยมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดแล้วก็ไปด้วยความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงธรรมใด ขอให้ฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินว่าเป็นความจริง หรือไม่ สามารถเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังทีละเล็กทีละน้อย คือ ขณะนี้ที่กำลังเห็นรู้ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นรู้ โดยอาศัยตา จักขุปสาทกระทบกับรูปที่สามารถกระทบได้ รูปอื่นเช่นเสียง กระทบรูปนี้ไม่ได้เลย รูปนี้เป็นรูปที่สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงใช้คำว่า จักขุปสาท เพราะว่าธรรมดาเวลาที่พูดถึงตา ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า จักขุ ภาษาไทยก็ใช้คำว่า ตา

    เพราะฉะนั้น จักขุมีจริงๆ เป็นรูปพิเศษที่ใครก็มองไม่เห็นเลย อยู่ตรงไหน เห็นตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น ไม่ได้เห็นข้างหลัง ไม่ได้เห็นที่แขน ไม่ได้เห็นที่เท้า แต่เห็นสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า เพราะฉะนั้น รูปนี้มี ให้รู้ได้ว่ามีเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น

    เพราะฉะนั้น นี่แค่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ซึ่งเกิดดับเร็วมาก ไม่มีใครรู้ว่า ขณะที่คิด หรือขณะที่เสียงปรากฏไม่ใช่จิตเห็น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จิตเห็นเกิดดับแน่นอน และเร็วจนปรากฏเสมือนว่า ทั้งๆ ที่ได้ยินก็เห็นด้วย เห็นไหมว่าความรวดเร็วของสภาพธรรมปานใด สุดที่จะประมาณได้ เพราะฉะนั้น การเกิดดับสืบต่อแม้แต่ของนามธรรม และรูปธรรมก็ปรากฏเป็น"นิมิต" พอที่จะปรากฏให้รู้ได้ อย่างจิตเห็นขณะนี้นับไม่ถ้วน นับไม่ได้เลย แต่ให้รู้ว่า เห็นกำลังมี กำลังเห็นในขณะนี้ เห็นมีจริงๆ โดยเป็น "วิญญาณนิมิต" การเกิดดับของจิตสืบต่อทีละ ๑ ขณะ ใครจะรู้ แต่พอเกิดมากๆ กำลังเห็นก็ยังสามารถรู้ได้ว่า เห็นไม่ใช่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ก็เป็นวิญญาณนิมิต การเกิดดับสืบต่อแม้ในขณะนี้ แต่ก็ปรากฏว่ามีธาตุที่กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏที่จิตกำลังเห็นเกิดดับเร็วมากเหมือนกัน แต่ว่าช้ากว่าจิต เพราะว่ารูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะแล้วรูปๆ หนึ่งที่เป็นสภาวรูป คือ รูปที่มีจริงก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ใครรู้บ้างถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เกิดดับเร็วมาก ปรากฏเป็น " รูปนิมิต " เพราะเหตุว่าเกิดดับสืบต่อซ้ำในสิ่งที่กำลังปรากฏที่กระทบกับจักขุปสาท ทำให้ปรากฏเป็นนิมิต สีต่างๆ ตัดกันไปมาเป็นรูปร่าง เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ แต่ถ้าไม่มี "ปรมัตถ" คือไม่มีสิ่งที่มีจริงๆ นิมิตจะมีได้ไหม ไม่ได้ แต่เมื่อนิมิตปรากฏ เช่น รูปนิมิตของสิ่งที่ปรากฏทางตา มีรูปร่างสัณฐานต่างๆ จำ เป็นเจตสิกที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง จริงหรือไม่ จำมีจริงๆ หรือไม่ ใครทำให้จำเกิดขึ้น จำเกิดแล้วดับไหม เมื่อไร พร้อมจิตทุกขณะ

    เพราะฉะนั้น จิตทุกขณะจะมีนามธรรมที่ได้กล่าวแล้วว่า เกิดร่วมกัน ขณะที่กำลังจำก็ไม่รู้ว่า กำลังจำเป็นธรรมเลย มีแต่จำ เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเห็นสิ่งใด สภาพที่เป็นสัญญาเจตสิก ภาษาบาลี สัญญาหมายถึงสภาพที่จำ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ไม่เว้นเลย จะไม่มีจิตซึ่งปราศจากสัญญาเจตสิก จิตเกิดขึ้นเมื่อไรต้องมีสภาพที่จำเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดดับๆ ซ้ำ ปรากฏเป็นนิมิตสัณฐาน สภาพที่จำก็จำว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร นั่นคือบัญญัติ หมายความว่าถ้าไม่มีปรมัตถธรรม บัญญัติมีไม่ได้ แต่เมื่อมีปรมัตถธรรม แต่ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นรู้เฉพาะธาตุที่เห็นว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็มีวิญญาณนิมิตแล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ ก็จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะไม่ปรากฏเลยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้เกิดแล้วดับอย่างเร็วมาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    6 มี.ค. 2567