พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 624


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๒๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓


    อ.วิชัย เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องทำกิจหน้าที่ ขณะแรกทางตาทำอาวัชชนกิจ ขณะที่ ๒ ทำกิจคือทัสสนกิจ คือกิจเห็น ดังนั้น จิตที่เกิดขึ้นทำกิจเห็น และกล่าวถึงจิตนั้นเป็นจักขุวิญญานคือเป็นจิตรู้แจ้งทางตา คือรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ดังนั้น จิตแต่ละขณะก็คือเกิดขึ้นทำกิจแต่ละขณะ แต่ละขณะ และการที่จะกล่าวว่าจิตนั้นคือจิตอะไรก็ต้องมีการใช้คำที่จะกล่าวว่าจิตขณะนั้นเป็นจิตอะไร เกิดขึ้นทำกิจอะไร ประกอบกับเจตสิกอะไร เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นก็มีหลายประเภท มีถึง ๘๙ ประเภท ตามอารมณ์ ตามสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมด้วย และจิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของจิตแต่ละประเภท

    ผู้ฟัง อันนี้พอจะเข้าใจถึงความแตกต่างว่าถ้าจิตเห็น ก็คือต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าจิตได้ยินก็คือต้องได้ยินเสียง ที่นี้ก็ทราบถึงความแตกต่างของจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส แต่ว่าเมื่อเป็นธาตุรู้ ก็คือเกิดขึ้นมาเพื่อรู้อย่างเดียว ก็ไม่มีความต่างระหว่างรู้สิ่งที่ปรากฏทางทางตา หรือว่ารู้เสียง หรือว่ารู้แข็ง ก็เลยมีความสับสนเล็กน้อยกับธาตุรู้กับความต่างบนความเหมือน

    อ.วิชัย จิตก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ว่าถ้าจะรู้อะไร ก็บัญญัติคำนั้นเป็นจิตอะไร แต่ก็คือเป็นจิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ถ้าเป็นจิตเห็น บัญญัติว่าจิตเห็นก็หมายถึงไม่ใช่จิตอื่น แต่ต้องหมายถึงจิตที่กำลัง เห็นเกิดที่จักขุปสาทคือจิตประเภทนี้ แต่นั้นก็คือเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตก็เป็นจิต แต่ว่าไม่ใช่จิตอื่นแต่ต้องหมายถึงจิตที่รู้เสียงทำสวนกิจ ขณะนั้น เฉพาะจิตนั้นเท่านั้น จึงจะใช้คำว่าโสตวิญญาณ หรือว่าจิตเห็นเท่านั้นที่จะใช้คำว่าจักขุวิญญาณ แต่ก็คือเป็นจิตนั่นแหละ คือเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์

    แต่ว่าจิตอย่างที่กล่าวแล้วคือมีหลายประเภท การที่จะกล่าวว่าเป็นจิตประเภทใดก็ต้องกล่าวใช้คำว่ามุ่งหมายถึงจิตอะไร ถ้าไม่ต้องใช้คำคือเห็นอยู่จะเรียกธาตุรู้ที่กำลังเห็นว่าอย่างไร ที่จะให้เข้าใจว่าหมายถึงธาตุรู้ประเภทใด ก็ต้องใช้คำว่าจักขุวิญญาณ หรือว่าจิตได้ยินต้องใช้คำว่าโสตวิญญาณ เพื่อให้รู้ว่าหมายถึงสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือว่าทางใจ หรือว่าเป็นโลภมูลจิต จิตที่เป็นไปด้วยความติดข้อง พอใจ ขณะนั้นก็ต้องใช้คำที่จะให้หมายถึงว่าเป็นจิตประเภทใด

    ผู้ฟัง อย่างสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของเสียงที่ปรากฏ หรือลักษณะของแข็งที่ปรากฏ โดยไม่ต้องพูดถึงสัตว์ บุคคล ตัวตน เมื่อมีแข็งปรากฏก็ต้องมีรู้แข็ง ในขณะที่ความพอใจปรากฏก็ต้องมีลักษณะของธาตุรู้ ที่รู้ลักษณะของความพอใจนั้นที่ปรากฏ ก็เรียนถามท่านอาจารย์ว่า สิ่งเหล่านี้ท่านอาจารย์อธิบายมาเมื่อเช้า ก็มีความเข้าใจว่าเป็นธาตุรู้อย่างเดียวกันหมด แต่ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี จึงกราบเรียนถามท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ไม่เรียกชื่อเลย ไม่เรียกชื่อเลยเดี๋ยวนี้มีเห็นไหม ได้ยินไหม ไม่ต้องเรียกว่าเป็นจิตอะไร ถ้าไม่มีสภาพที่สามารถรู้ คือเห็น ได้ยินฯ จะมีอะไรปรากฏ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องเรียกอะไร ก็มีธาตุนั้นแหละ ที่ต้องรู้ เกิดขึ้นเมื่อไรก็ต้องรู้ และทำให้มีสิ่งต่างๆ ปรากฎในขณะนี้ได้ ถ้าไม่มีสภาพรู้เลย อะไรก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นสภาพที่สามารถที่จะมีสิ่งที่ปรากฏว่ามีจริงๆ ได้ เพราะเหตุว่ามีธาตุนั้นเกิดขึ้นรู้ ไม่ต้องเรียกชื่อเลยทั้งหมด มีธาตุที่เกิดขึ้นรู้

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ในชีวิตประจำวัน รูปที่ปรากฏได้ในชีวิตประจำวันก็มีเพียง ๗ รูป นอกนั้นก็จะเป็นไม่ใช่รูป สิ่งที่ไม่ใช่รูปจะปรากฏมากในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงความรู้สึก พูดถึงธรรมอย่างหนึ่ง (ใช่) ที่เป็นความรู้สึก เพราะฉะนั้นต่างกับขณะที่เห็น (ต่าง) เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ธรรมเดียวกัน (ไม่ใช่) เพราะฉะนั้น ธรรมก็หลากหลายมาก ส่วนที่เป็นสภาพรู้ก็มาก ส่วนที่ไม่ใช่สภาพรู้ก็มาก เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งเกิดปรากฏ สั้นมากแล้วหมดไปแล้วไม่กลับมาอีก ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่รู้ หรือสภาพที่ไม่รู้ นี่คือสิ่งที่มีจริงๆ เราไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลยก็ได้ แต่เริ่มเข้าใจความจริงอย่างนี้หรือไม่ ว่าเป็นจริงอย่างนี้

    ผู้ฟัง แล้วธาตุรู้อยู่ตรงไหนในขณะที่ ...

    ท่านอาจารย์ อยู่ตรงไหน..ใช่ไหม เห็นมี หรือไม่

    ผู้ฟัง เห็นมี

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจักขุประสาทเห็นจะเกิดมีได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เห็นเกิดที่จักขุปสาท แต่ว่า คือทางทวารทั้ง ๕ ไม่ได้สงสัย สงสัยความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จบเรื่องสภาพรู้ มาถึงสภาพรู้สึก พูดถึงเรื่องธรรมอีกอย่างหนึ่งแล้ว ปนกันไม่ได้ ความรู้สึก มีจริงๆ มีอะไรบ้างที่รู้สึก วันหนึ่งๆ

    ผู้ฟัง มีความรู้สึกสุขทุกข์ทางกายแล้วมีความรู้สึกสุขทุกข์ทางใจความรู้สึกเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ความรู้สึกในสิ่งที่เห็น ที่ได้ยินจะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกไม่ใช่จิตที่เป็นเพียงธาตุที่รู้ แต่เป็นความรู้สึกมีในขณะที่จิตเห็น ความรู้สึกมีในขณะที่จิตได้ยิน ความรู้สึกมีในขณะที่จิตคิดนึก เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่ความรู้สึกเกิดในขณะที่จิตนั้นรู้อารมณ์อะไร ความรู้สึกอย่างนั้นๆ ก็เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่นจิตที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง เวลานี้เรากำลังมีแข็งกำลังปรากฎ และสภาพที่รู้แข็ง มีแน่ๆ ความรู้สึกมีไหมขณะนี้

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง รู้สึกเจ็บ

    ท่านอาจารย์ รู้สึกเจ็บ เพราะฉะนั้น เจ็บไม่ใช่รู้แข็ง รู้แข็ง..รู้แข็งอย่างเดียวแต่ไม่เจ็บ เพราะฉะนั้นสภาพที่เจ็บต่างจากสภาพที่รู้แข็ง เพราะฉะนั้น เราพูดถึงสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเกิดพร้อมจิต ไม่ว่าจิตรู้อะไร สภาพความรู้สึกก็รู้สึกในสิ่งที่กำลังปรากฎให้รู้ด้วย

    ผู้ฟัง ไม่ว่าธรรมใดจะเกิดก็ต้องมีธาตุรู้ รู้สิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ มีธาตุรู้ที่ต่างกันสองประเภทใหญ่ๆ คือธาตุหนึ่งเป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง ไม่ต้องใช้คำอธิบายเลยอย่างแข็ง ไม่ต้องพูดอะไรเลย เพราะจิตรู้แจ้งแข็ง พอสิ่งนั้นไม่แข็ง นิ่ม นุ่ม ก็ไม่ต้องใช้คำอธิบายใดๆ เพราะจิตกำลังรู้ลักษณะที่นุ่ม หรือนิ่ม โดยไม่ต้องใช้คำ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ ในขณะนั้นรู้สึกอย่างไร เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเมื่อกายกระทบสิ่งหนึ่ง สิ่งใด เพราะฉะนั้น ความรู้สึกนั้นอีกอย่างหนึ่งแล้ว และยังมีสภาพที่จำ อีกอย่างหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ก็เป็นธรรมหลากหลาย แต่ก็แบ่งประเภทเป็น นามธรรมประเภทหนึ่ง และสภาพที่ไม่รู้ก็เป็นรูปธรรม ส่วนสภาพที่รู้ ชอบ จำ พวกนี้ก็เป็นนามธรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดพร้อมจิต ไม่แยกกันเลย ดับพร้อมจิต และรู้อารมณ์เดียวกัน เป็นธาตุรู้ แต่ไม่ใช่จิตที่รู้แจ้ง

    ผู้ฟัง ในขณะที่นามธรรมนั้นปรากฎ ก็ต้องมีธาตุรู้แจ้งในลักษณะนั้นปรากฎ

    ท่านอาจารย์ ต้องมี ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จิตรู้แจ้งได้อย่างเดียว แต่เจตสิกหมายความถึงธรรมที่เกิดกับจิตเป็นนามธรรมมีหลายประเภท

    ผู้ฟัง ลักษณะของจิตที่ดีกับจิตที่ไม่ดี ธาตุรู้แจ้งจิตที่ดีกับจิตไม่ดีก็คือไม่ต่างกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ปนกัน จิตไม่ใช่ดี หรือไม่ดี จิตเป็นธาตุที่เกิดรู้สิ่งที่ปรากฎให้รู้เท่านั้น แต่ว่าเมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องมีนามธาตุอีกชนิดหนึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต เกิดที่เดียวกับจิตด้วย จิตเกิดที่ไหน เจตสิกคือสภาพที่เกิดกับจิตก็เกิดที่นั่น ดับที่นั่นด้วย เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เพื่อให้ชัดเจนลงไปอีกคือ เกิดที่เดียวกันด้วย เพราะจิตหนึ่งขณะที่เกิด แล้วแต่จะเกิดที่ไหน จิตเกิดที่จักขุปสาทก็ได้ จิตเกิดที่โสตปสาทก็ได้ กำลังรู้เสียง จิตเกิดที่ฆานปสาทก็ได้ ที่กายปสาทก็ได้ ที่ชิวหาปสาทก็ได้ ที่ลิ้น

    ขณะที่เกิดครั้งแรกจิตเกิดที่ไหน ไม่ได้เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น หรือแม้กาย แต่ว่ามีรูปที่เป็นที่เกิดของจิตโดยกรรมทำให้กลุ่มของรูปนั้นเกิด พร้อมจิต อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ในขณะเกิด นี่ก็เป็นความละเอียดที่เราจะรู้ความเป็นอนัตตา ว่าเป็นธรรม ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา เป็นเพียงชั่วครู่ ชั่วคราว ที่มีปัจจัยทำให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดแล้วก็ดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย

    ย้ำบ่อยๆ เพื่อให้รู้ว่าไม่เหลืออะไรเลย แม้เมื่อกี้ก็ดับหมด เพราะฉะนั้น เวลาที่สภาพธรรมเกิด จิตเป็นจิต แต่เจตสิกหลากหลายเป็น ๕๒ ประเภท ความรู้สึกก็เป็นอย่างหนึ่ง ความจำก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ให้ทราบว่าจิตไม่ใช่เจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานคือเป็นการที่รู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฎ โดยจะใช้คำอะไรอธิบายก็อธิบายไม่ได้เพราะว่าเป็นอย่างนี้แหละ ใช่ไหม เป็นตามที่จิตรู้ ขณะนี้เป็นอย่างนี้ ทั้งนั้นเลย กำลังเป็นอย่างนี้ด้วย ฟังเพื่อให้เข้าใจ แต่ละลักษณะว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง โดยปกติแล้วจิต เวลาเกิดก็ต้องมีชาติ เคยได้ยินท่านอาจารย์กล่าวถามในห้องนี้ว่า "ขณะที่รู้ จิตเห็นที่เป็นชาติวิบากต่างกันอย่างไรกับชาติอื่น"

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดโดยไม่มีสภาพธรรมที่ปรุงแต่งเป็นปัจจัยให้เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน อาศัยกัน แล้วแต่ว่า ถ้ากล่าวว่าจิตเป็นปัจจัย เจตสิกเป็นปัจจยุบบัน หมายความถึงธรรมที่เป็นผล หรือว่าเป็นสิ่งที่เกิดพร้อมปัจจัยนั้นคือจิต เพราะฉะนั้น ทั้งสองอย่างนี้ถ้ายกจิตขึ้นเป็นปัจจัย สภาพธรรมที่อาศัยจิตนั้นทั้งหมดเจตสิกทุกประเภทก็เป็นปัจจยุบบัน เวลาที่กล่าวถึงเจตสิกอีกหนึ่ง จิต และ เจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกันก็เป็นปัจจยุบบันของเจตสิกซึ่งเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ต่างอาศัยกัน และกันอย่างนี้ ให้เข้าใจก่อน

    จิตที่เกิดกับเจตสิก รู้จักเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยไหม และเจตสิกแต่ละเจตสิกก็รู้จักจิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันไหม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่รู้อย่างนั้น อย่างที่ (คุณแก้ว) สงสัย การที่จะกล่าวถึงจิตที่เกิด กล่าวได้โดยหลายนัย ซึ่งแสดงให้เห็นความหลากหลายของจิตประเภทต่างๆ ไม่ได้มีจิตประเภทเดียวเลย ใช่ไหม เป็นธาตุรู้ ก็จริง แต่เกิดกับเจตสิก เพราะฉะนั้น จิตต่างกันโดยเจตสิกที่เกิดขึ้นร่วมด้วย จำแนกให้จิต ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง จิตต่างกันโดยอารมณ์ มีสิ่งที่ปรากฎเป็นสีบ้าง เป็นเสียงบ้าง เป็นกลิ่นบ้าง

    เพราะฉะนั้น จิตจะหลากหลายไปอีกหลายนัย จากความไม่รู้ มีความรู้เกิดร่วมด้วย จากการไม่เข้าใจ มีความเข้าใจเกิดร่วมด้วย จากการเป็นโลกียะถึงความเป็นโลกุตตระ ธาตุรู้ไม่เปลี่ยนแต่ว่าหลากหลายตามธรรมที่อาศัยเกิดร่วมด้วย หรือว่าเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันมาก

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงจิต จิตก็เป็นอย่างนี้ และจะกล่าวอย่างไร นอกจากจะแสดงความจริง โดยคำให้เห็นความต่างเช่นถ้าพูดถึงชาติ การเกิด ภาษาไทยเรา เกิดเป็นคนไทย เกิดเป็นญี่ปุ่น ใช่ไหม ได้หลายอย่าง แต่ว่าจิตเป็นไทยหรือไม่ เป็นญี่ปุ่น หรือไม่ เป็นธรรมซึ่งสาธารณะทั่วไป ไม่เป็นของใครเลย สากลจริงๆ ไม่มีเชื้อชาติแบบนั้น แต่ความหลากหลายของจิต จิตเกิดแล้วเป็นอะไร เป็นจิตนั้นแน่ๆ แต่มีเจตสิกหลากหลายประเภทเกิดร่วมด้วย ทำให้จิตนั้นเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น จิตนั้นต่างกันโดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย โดยกิจการงาน โดยอะไรๆ หลายอย่าง แต่จิตก็ยังคงเป็นจิต เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเกิดแล้ว มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นเจตสิกที่ดี ก็เป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ดีงาม จะบอกว่าไม่ดีได้ไหม ในเมื่อจิตนั้นมีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย ถึงไม่เรียก ก็เป็นใช่ไหม แต่เมื่อเป็นจะเรียกว่าอะไรให้เข้าใจความต่างกัน เวลาที่ธรรมที่เป็นเจตสิก ที่เป็นอกุศลเกิดกับจิต จิตนั้นก็ต้องไม่ดี ใช่ไหม ไม่ต้องเรียกอีกเหมือนกัน ถึงจะเรียก หรือไม่เรียก จิตก็เป็นอย่างนั้น แต่ความต่างของเจตสิกที่เกิดกับจิต ประเภทที่เจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วยก็เป็นโสภณจิต เพราะเจตสิกที่เป็นโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวลาที่มีอกุศลเจตสิกเกิดกับจิตจะให้เหมือนเดิมได้ไหม ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จิตที่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นเวลาใช้คำว่า "ชาติ" หรือ "ชา-ติ" หมายความถึงว่าจิตเกิดเป็นอะไร เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ที่ใช้คำว่า "อกุศลชาติ กุศลชาติ" ก็คือคำซ้ำ เกิดเป็นอะไร เกิดเป็นกุศล หรือว่าเกิดเป็นอกุศล ซึ่งเป็นเหตุ เมื่อเหตุมี ใครทำให้ผลเกิดขึ้น คนอื่น หรือว่า จิต และเจตสิกซึ่งเกิดเป็นปัจจัยที่จะให้จิตต่อไปข้างหน้าพร้อมเจตสิกซึ่งเป็นผลของการกระทำอันนั้นเกิด เพราะฉะนั้น เมื่อจิตที่เกิดหลังจากที่จิตที่ไม่ดีกระทำกรรมที่ไม่ดีดับไปแล้ว จิตที่เป็นผลก็ใช้คำว่า "วิบาก" หรือภาษาบาลีก็ใช้คำว่า "วิปาก" เพราะฉะนั้น การเกิดของจิตประมวลแล้วทั้งหมด ไม่ว่าในภพไหน ภูมิไหน โลกไหน จักรวาลไหน ทั้งสิ้น การเกิดของจิตต่างเป็น ๔ ประเภท คือจิตที่เป็นกุศล ก็มี จิตที่เป็นอกุศล ก็มี ทั้งสองอย่างเป็นเหตุ เมื่อได้กระทำกรรมสำเร็จลงไปแล้ว ก็เป็นกรรมปัจจัย ถ้าคิดถึงสภาพของจิต ไม่มีรูปร่างเลย แต่เก็บทุกอย่างทั้งกิเลส ทั้งกรรม วิบากที่จะเกิดข้างหน้าก็มาจากขณะที่จิตสะสมทั้งกุศล และอกุศลไว้ นั่นเอง ถ้าไม่มีกุศล อกุศลเลย ดับไปหมด วิบากต่อไปก็มีไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เวลาที่กุศลจิตเกิด และอกุศลจิตเกิด ก็ตามแต่ดับ โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรืออิสสา หรือมัจฉริยะ หรือมานะ ใดๆ ก็ตามทั้งสิ้นที่เกิดแล้ว ไปไหน หมดไปหรือ ก็สบายดีไม่ต้องไปดับ แต่เกิดแล้ว แม้จิตนั้นดับไปแล้วก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตขณะต่อไปที่เกิด เหมือนกับขณะที่ผ่านมา เพิ่มไหม ในสังสารวัฏ

    เพราะฉะนั้น แต่ละคน บางคนก็เป็นคนโกรธง่าย บางคนก็ริษยาเร็วมากเลย บางคนก็เมตตา หรือกรุณาก่อนที่คนอื่นจะมีความเมตตากรุณาอย่างเขา เขาก็เกิดแล้ว และทำกุศลกรรมจบไปแล้วด้วย คนอื่นก็อาจยังไม่ทันที่จะเกิดกุศลประเภทนั้นเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น กล่าวถึงธรรมก็คือสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมด แต่ความหลากหลายเพื่อที่จะให้รู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของใคร และก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย อย่าคิดว่ามีจิตก่อน เกิดเมื่อมีปัจจัยเท่านั้น ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเกิดขึ้นโดยชาติการเกิดก็จำแนกเป็น ๔ คือถ้ามีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นเหตุก็เป็นกุศล ถ้ามีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นก็เรียกไม่เรียกก็ตามใจ แต่เปลี่ยนไม่ได้ว่าจิตนั้นก็เป็นอกุศลจิต เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เมื่อถึงการกระทำกรรมสำเร็จก็เป็นปัจจัยที่จะให้จิตประเภทที่เป็นผลของกรรมนั้นเกิดขึ้น แลกผลของกรรมกันได้ไหม แลกกรรมกันก็ไม่ได้ กรรมนี้ทำแล้ว ดับไปแล้ว เป็นกรรมปัจจัย เมื่อวิบากจิตเกิดเพราะกรรมนั้นเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นวิบาก ไม่ใช่กุศล หรืออกุศล แต่เป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก ตามประเภทของกรรมที่ทำให้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นเราก็มี ๓ ชาติแล้ว กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และจิตที่ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต ก็ยังมีอีกเป็นกิริยาจิต นี่คือการตรัสรู้ของผู้ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี รู้มากกว่านี้อีกมาก จนกระทั่งสิ่งที่ได้ทรงแสดงก็เพียง ใบไม้สองสามใบในกำมือ เท่าที่คนสามารถจะเข้าใจได้ รู้ได้ และเป็นประโยชน์ที่จะทำให้สะสมความเห็นที่ถูกต้อง และไม่เดือดร้อนใช่ไหม เข้าใจอย่างนี้ หวังอะไรหรือไม่

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงวิบาก วันก่อนฟังเรื่อง วิปากปัจจัย ท่านอาจารย์แสดงถึงตรงที่..สมมติจิตเห็นเป็นวิบาก เจตสิกที่เหลือก็เป็นปัจจยุบบันใช่ไหม พอมาถึงสัมปฏิจฉันนะ ก็งงว่าเป็นวิบากเหมือนกันจะมีวิปากปัจจัยด้วยหรือไม่ เพราะทุกครั้งที่ฟังคือ..แต่จิตเห็นจิตได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราฟังแล้วเราไม่เข้าใจแต่ละคำเราจะสับสน เพราะฉะนั้น แต่ละคำต้องเข้าใจจริงๆ มิฉะนั้นเราจะเกิดความเข้าใจผิดได้ หรืออาจสับสนคลาดเคลื่อนได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เข้าใจว่าจิตเกิดดับทีละหนึ่งขณะเมื่อจิตขณะนี้ดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ทุกอย่างที่มีในจิตขณะก่อน ก็อยู่ในจิตขณะต่อไปเพราะจิตนั้นเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด นี่คือการสะสม กิเลส และกรรมไม่ว่าจะเป็นกิเลสใดๆ ไม่ได้หายไปไหนเลย เกิดแล้วดับไป ก็สะสมอยู่ในจิตขณะต่อๆ ไป ทำให้อุปนิสัยต่างกัน แล้วเวลากรรมให้ผลก็ต้องต่างกันด้วย ตามกำลังของกรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นให้เข้าใจว่า กรรมที่มีอยู่ในจิตที่สะสมไว้นั้นแหละ เป็นปัจจัยเมื่อถึงกาลที่มีปัจจัยอื่นด้วย ไม่ใช่มีเฉพาะกรรมปัจจัย ปัจจัยเดียว ก็ถึงกาลที่กรรมนั้นสามารถให้ผลได้ ให้ผลคือทำให้จิตประเภทหนึ่ง ชื่อว่า หรือจะใช้คำว่าเป็นผลก็ได้ ของกรรม ใช้คำว่า "วิปาก" คำว่า "วิปาก" แปลว่าสุกงอม หมายความว่าถึงกาลที่จะให้ผลเกิด ใครยับยั้งไม่ได้เลย เมื่อมีปัจจัยพร้อมที่จะให้เกิดก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้น ได้ยินคำว่า "วิปาก หรือวิบาก " เมื่อไร ไม่ใช่รูปธรรม แต่เป็นนามธรรม เพราะว่านามธรรมที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดนามธรรมที่เป็นผลที่ใช้คำว่า "วิบาก"แม้ว่ากรรมจะทำให้รูปเกิดได้แต่รูปไม่รู้จะไปเป็นวิบากได้อย่างไร ต้องเป็นสภาพที่รู้ จึงเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำไว้ ให้รู้ รู้สิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจเพราะกรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    11 มิ.ย. 2567