พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 625


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๒๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่า "วิปาก หรือวิบาก" เมื่อไรไม่ใช่รูปธรรมแต่เป็นนามธรรม เพราะว่านามธรรมที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดนามที่เป็นผลที่ใช้คำว่า "วิบาก" แม้ว่ากรรมจะทำให้รูปเกิดได้ แต่รูปไม่รู้ จะไปเป็นวิบากได้อย่างไร ต้องเป็นสภาพที่รู้จึงเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำไว้ ให้รู้

    รู้สิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจเพราะกรรม ที่น่าพอใจ หรือกรรมที่ดี หรือกรรมที่ไม่ดีเป็นปัจจัย ด้วยเหตุนี้เวลาที่กรรมได้กระทำแล้ว ดับไปแล้ว สะสมอยู่ในจิต ถึงกาลที่จะทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมเกิด ใช้คำว่า "วิปาก" แล้วผลของกรรมคืออะไร ข้อสำคัญที่สุดต้องรู้ว่าคืออะไร จิตขณะแรกของชาตินี้เป็นผลของกรรมหนึ่ง ทำกรรมมามากมาย ทุกคนในชาตินี้ เวลาจากโลกนี้ไปแล้วกรรมไหนให้ผลก็ไม่รู้ จะเป็นกรรมในชาตินี้ หรือกรรมก่อน ก่อน ที่ยังสามารถจะให้ผลทำให้ปฏิสนธิก็ได้ ด้วยเหตุนี้กรรมจึงเป็นสภาพที่ปกปิด ขณะที่ทำกรรมก็ไม่รู้ว่าจะให้ผลเมื่อไร หรือว่ากรรมนั้นเป็นกรรมประเภทไหนก็ไม่รู้ ใช่ไหม แต่ว่ามีผลแน่นอนเพราะว่าเหตุมีแล้ว เวลาที่กรรมทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมเกิด จิตที่เป็นผลของกรรม ชื่อว่า "วิปาก"

    เพราะฉะนั้นจิตไหนก็ตามที่เป็นวิบากต้องเป็นผลของกรรม เมื่อกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ดับไป กรรมเดียวกันนั้นเองก็ทำให้ภวังค์เกิดสืบต่อจิตประเภทเดียวกัน ดำรงภพชาติ ไม่มีการเห็น การได้ยินใดๆ เลยทั้งสิ้น จนกว่าถึงกาลที่กรรมใดจะให้ผลเห็น หรือให้ผลได้ยิน หรือให้ผลได้กลิ่น หรือให้ผลลิ้มรส หรือให้ผลรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ว่า หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิด และดับ ภวังคจิตเกิดคั่นสืบต่อ จิตที่ไม่ใช่ภวังคจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกที่เกิดทุกภพชาติจะต้องเป็นทางใจ ยังไม่มีทางอื่นพอทันที่จะเกิดได้เลยแต่ว่าไม่สามารถจะบอกได้ว่าเกิดมานานเท่าไร จิตที่รู้อารมณ์ทางใจโดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่ภวังค์ คิดดูจากภวังค์ซึ่งไม่มีอะไรปรากฏเลยก็มีอารมณ์อื่น ปรากฏ เพราะจิตรู้อารมณ์นั้น สำหรับทุกภพภูมิวิถีจิตแรกจะเป็นทางใจ

    เพราะฉะนั้นวิถีจิตแรกจำได้ไหม ได้แก่จิตประเภทไหน วิถีจิตแรก วิถีจิตแรกจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากมโนทวาราวัชชนซึ่งเกิดเป็นวิถีจิตแรกทางใจ ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่มโนทวาราวัชชน เกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบ รูปที่สามารถกระทบปสาทเป็นปัจจัยให้ทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรก รวม ๕ ทวารเรียกเป็นปัญจทวาราวัชชน แต่ไม่ได้เกิดพร้อมกัน ต้องเกิดทีละ ๑ ถ้าทางตา ก็เป็นจักขุ อาศัยจักขุเป็นทวาร เป็นจักขุทวาร อาวัชชนคือจิตแรกที่รู้อารมณ์ที่กระทบ แต่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน เพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบ แค่นี้ก็เปลี่ยนจากภวังค์แล้ว จากการที่ไม่รู้อะไรเลยเป็นการเริ่มรู้สิ่งที่ต่างจากภวังค์ โดยอาวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก แต่ทุกภพทุกชาติมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน หลังจากนั้นอะไรตามมา พอมโนทวาราวัชชนจิตดับต้องเป็นกุศล หรืออกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้นอย่างเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ปฏิสนธิของพระองค์เป็นมหาวิบาก

    ไม่ใช่รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบากเพราะเกิดในกามภูมิ ไม่ได้เกิดในสวรรค์แต่เกิดในมนุษย์ก็ยังคงเป็นกามภูมิซึ่งเต็มไปด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าใช้กามภูมิก็คือเป็นภูมิที่มีรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะครบ เพราะฉะนั้น เจ้าชายสิทธัตถะประสูติด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ แน่นอนใช่ไหม มีปัญญาเกิดร่วมด้วยโสมนัสเป็นกุศลชั้นเลิศ ที่ทำให้วิบากนี้เกิดขึ้นประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยเมตตาเป็นบาท อันนี้ก็คือการกล่าวถึงสภาพของปฏิสนธิจิตซึ่งไม่มีใครรู้ เกิดแล้ว ดับแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปหาที่จะมารู้ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย แต่สามารถที่จะรู้ได้ว่าจิตต้องมีอารมณ์ และอารมณ์ก็เป็นไปตามปัจจัย และปัจจัยก็ต่างกันตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งถึงจุติ

    เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วแต่ว่าเป็นจิตประเภทไหน เป็นผลของกุศลกรรม เป็นมหาวิบาก จะเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขา จะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีปัญญาตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว คนอื่นจะมาหยิบยื่น มาช่วยไม่ได้เลยทั้งสิ้น ถึงแม้บุคคลนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงขอกรรมอื่นมาให้ผลก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าคนในโลกนี้หลากหลายต่างกันตามกรรม และธรรมที่ได้สะสมมา ที่ประมวลกรรมทั้งหลายที่จะเกิดได้ในภพภูมินั้นๆ ด้วยเหตุนี้ก็มีคนที่เกิดมาพิการก็มี ใช่ไหม ไม่พิการก็มี ถึงแม้ไม่พิการรูปร่างหน้าตาน่าดูก็มี ไม่น่าดูก็มี บางคนอาจตาสวย ปากไม่สวยก็ได้ นี่คือความละเอียดปลีกย่อยของกรรมที่ได้สะสมมา ที่จะเป็นปัจจัยประมวลมาที่จะให้เป็นอย่างนั้น แล้วแต่ว่ากรรมไหนจะให้ผลอย่างไร ก็สามารถที่จะเป็นไปได้เพียงเท่าที่กรรมนั้นๆ จะให้ผลได้

    มีคำถามว่า แม้วาระแรกของวิถีจิตของพระโพธิสัตว์คือเจ้าชายสิทธัตถะเป็นอะไร ก็ต้องตอบว่าเป็นโลภะ ตามการสะสม ตามเชื้อปัจจัยที่ยังมีอยู่ แสดงให้เห็นกำลังของอกุศลซึ่งถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ จะเอาอะไรละจนกระทั่งดับหมด ไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้น ปัญญาก็คือความเข้าใจไม่ต้องไปคิดถึงสติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ หรืออะไร สะสมความเข้าใจ ขณะใดที่เข้าใจสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามกำลังตามระดับขั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้นๆ การที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้เป็นไปได้ แต่เห็นความต่างของการที่กว่าปัญญาจะถึงขณะนั้นได้ ก็ต้องเป็นความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น จากการที่ได้ฟังทีละเล็ก ทีละน้อยโดยไม่ประมาท ต้นไม้ใหญ่รากลึกใหญ่โตมโหฬารเท่าเขาพระสุเมรุ หรือว่าน้ำตาของแต่ละคนมากกว่าน้ำในมหาสมุทร แต่วันนี้ก็ยังไม่มีน้ำตาเลย และกว่าจะถึงมากกว่าในมหาสมุทรจะ กี่ชาติ กี่ภพยาวนานมาก และการที่จะให้ต้นไม้ใหญ่ที่มีรากลึกล้ม ไม่มีการที่จะเจริญเติบโตต่อไปอีกได้ ก็ต้องอาศัยสิ่งเดียวคือปัญญา ที่จะละพิษของอกุศลทั้งหลายที่เหมือนยาพิษ ค่อยๆ ซึมจากการฟัง เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้นจนกว่าจะถึงสิ่งที่อยู่ลึกที่สุด ที่สะสมที่จะดับไปแต่ละประเภท แต่ละประเภทจนถึงความเป็นพระอริยบุคคล

    เพราะฉะนั้น ไม่ประมาทกิเลส ไม่ประมาทอกุศล แล้วก็ไม่ประมาทปัญญาด้วย เพราะเหตุว่าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นอกุศลจิตเกิด แล้ววันหนึ่งๆ ถ้าอุศลจิตเกิดไปเรื่อยๆ มากๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจโดยไม่รู้ และกุศลก็ชั่วขณะที่ฟัง และเริ่มเข้าใจบ้าง ก็ต้องอาศัยกาลเวลากว่าจะสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ แต่กุศลก็เกิดได้ตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสม จะน้อย จะมากก็คือว่าสะสมไว้แค่ไหน

    เพราะนั้นให้เห็นได้อย่างที่คุณแก้วตาสงสัย ถึงกาลที่เป็นภวังค์ วิบากที่เป็นภวังค์ดำรงภพชาติ จะให้เห็นได้ยินไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลา แต่พอมีอะไรกระทบเช่น เช่นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นมีจริงๆ ต้องเกิด และกระทบกับจักขุปสาทรูปแล้วเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น ๑ ขณะเป็นผลของกรรม ถ้าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่น่าพอใจต้องเป็นผลของกุศลกรรม ขณะเดียว หรือ ถ้าเห็นแล้วดับก็ไม่มีอะไร แต่แม้เห็นดับจิตที่เกิดต่อ ยังไม่เรียกชื่อเลย ต้องมีจิตเกิดต่อ แล้วรู้อะไรในเมื่อจิตขณะก่อนเห็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จิตขณะต่อไปก็รู้สิ่งที่ปรากฏให้จิตเห็นนั้น เพราะสิ่งที่ปรากฏให้จิตเห็นยังไม่ดับ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้น หลังจากที่จักขุทวาราวัชชนะซึ่งป็นวิถีจิตแรกดับ เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นดับ แต่ละขณะแสนสั้น พอจักขุวิญญาณดับ จิตที่เกิดต่อก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกันกับจักขุวิญญาณที่เห็น จะเรียกจิตนี้ หรือไม่เรียกก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีจิตอื่นที่จะเกิดต่อไปอีก ก็ต้องเรียกจิตนี้ให้รู้ว่าไม่ใช่จิตขณะที่จะเกิดต่อไป

    เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า " สัมปฏิจฉันนจิต " หมายความว่าจิตที่รู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ ด้วยดี สัมปฏิจฉันนะรู้ต่อ เป็นวิบากจิตไม่มีใครไปทำ แต่ว่ากรรมทำให้เมื่อเห็นดับไปแล้วก็จริง ก็ยังมีวิบากซึ่งต้องรู้ต่อ ในรูปที่ยังไม่ดับขณะเดียว น้อยมาก สั้นมากแค่ไหนเพราะว่ามีขณะต่อไปเกิด ต้องมีชื่ออีกแล้วใช่ไหม ไม่เช่นนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าจะหมายความว่าต่างกับขณะที่หลังจากจิตขณะต่อไปเกิดก็ยังมีขณะต่อๆ ๆ ไปเกิดอีก

    หลังจากที่สัมปฏิจฉันนะดับ จิตที่เกิดต่อชื่อ "สันตีรณะ" ไม่เรียกวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันหฤหัส วันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์แล้วจะรู้ไหม ว่าหมายความถึงวันไหน แค่ ๗ ชื่อ อาวัชชนะ คือปัญจทวาราวัชชนะ หรือมโนทวาราวัชชนะ ๑ จักขุวิญญาณแทบจะไม่ต้องนับเพราะว่าเป็นปกติที่ใช้กันอยู่ใช่ไหม จักขุวิญญาณเห็น โสตวิญญาณได้ยิน ฆานวิญญาณได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณลิ้มรส กายวิญญาณรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏที่กาย กี่ชื่อแล้ว นับเฉพาะวิถีจิต เพราะว่าที่ไม่ใช่วิถีจิตก็มีเพียงปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ชื่ออื่นจากนี้เป็นวิถีจิตหมด เริ่มจากอาวัชชนะ ถ้าเป็นทางใจ มโน ถ้าเป็นทาง ๕ ทวาร ก็ปัญจ

    เพราะฉะนั้นมโนทวาราวัชชนะ ปัญจทวาราวัชชนะเป็นวิถีจิตที่ ๑ สองชื่อรวม ๑ เลยเพราะว่าคล้ายๆ กัน จักขุวิญญาณจะนับเป็นชื่อที่ ๒ ก็ได้ หรือจะไม่นับก็ได้ หลังจากนั้นก็สัมปฏิจฉันนะ วันจันทร์แล้ววันอะไร วันจันทร์แล้วก็วันอังคาร เพราะฉะนั้นหลังจากจักขุวิญญาณก็เป็นสัมปฏิจฉันนะ พอวันอังคารหมดไปแล้ว ต่อจากวันอังคารเป็นวันอะไร ก็เป็นวันพุธ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะดับไปแล้วก็สันตีรณะ แค่นี้ ชื่อแค่นี้ ต่อไปอีกก็ไม่ยากเลยเหมือนชื่อใหม่ๆ ยุคนี้ที่มีวิชาการต่างๆ ทำไมเราจำได้ แต่ชื่อแค่นี้ หลังจากที่สันตีรณะดับไปแล้ว ก็เป็นจิตที่เกิดต่อ ไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ หรือสันตรีณกิจแต่ทำโวฏฐัพพนกิจ โวฏฐัพพนะทำกิจเป็นบาทของชวนะ เป็นบาทเฉพาะว่าเมื่อจิตนี้ดับลงไปแล้วจิตอื่นเกิดไม่ได้นอกจากกุศลจิต หรือกุศลจิต หรือกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศลแต่ต้องรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับด้วย แต่เมื่อปราศจากกิเลสก็ไม่ใช่โลภมูลจิต ติดข้อง ไม่ใช่โทสมูลจิต แต่เป็นกิริยาจิต

    เพราะฉะนั้น นี่คือความต่าง เมื่อจิตที่เป็นกุศล อกุศลดับไปแล้วทำชวนกิจ แต่โดยชาติเป็นกุศล หรืออกุศลนั่นเอง เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงชวนะหมายความถึงกิจ เวลาพูดถึงกุศล อกุศลหมายความถึงชาติ แต่ก็จิตนั้นเองไม่ใช่จิตอื่น จิตนั้นเป็นชาติอะไร ทำกิจอะไร แล้วก็เกิดที่ไหน อะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปเป็นบาทเฉพาะให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดต่อ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ดับไปเหลือชื่อแปลกอีกชื่อเดียว ตทาลัมพนะ รับรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ เมื่ออารมณ์นั้นดับก็เป็นภวังค์ กลับไปไม่รู้อะไรอีกเลย สิ่งที่รู้มาตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนะ หรือว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ กุศล อกุศลจนถึง ตทาลัมพนะไม่เหลือเลย สักอย่าง ทั้งนามธรรมที่รู้อารมณ์นั้น และอารมณ์นั้นก็ไม่เหลือ เป็นภวังค์คือไม่มีอะไรเหลือ ดำรงภพชาติต่อไป ยังไม่ตายจนกว่าจะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดอีกอย่างเร็ว และก็ไม่เหลือเลย และก็เหมือนเดิมเป็นภวังค์

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีการเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏชั่วคราว เพราะว่าทรงแสดงวิถีจิตไว้โดยละเอียด

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ตอบ

    ท่านอาจารย์ ตอบว่า กรรมทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะฉะนั้นจิตเห็นเป็นวิบาก แต่กรรมไม่ได้ทำเพียงแค่เห็นแล้วดับ เห็นแล้วดับก็ไม่ต้องมีอะไร แต่จิตขณะต่อไปรับรู้อารมณ์เดียวกันต่อโดยกรรมเป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อ คือสัมปฏิจฉันนจิตซึ่งทำสัมปฏิจฉันนกิจ และเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว ก็ต้องมีจิตที่รู้อารมณ์นั้นต่อกว่าจะถึงถึงกุศล และอกุศลได้ ก็จะต้องมีวิบากจิตซึ่งกรรมทำให้หลังจากที่สัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว วิบากจิตเกิดต่ออีก ๑ ขณะ ทำสันตีรณกิจ เริ่มรู้มากขึ้นไม่ใช่เพียงแค่รับอย่างสัมปฏิจฉันนะ แต่ก็เป็นไปอย่างเร็วมากเพื่อเวลาที่จิตต่อไปเกิดขึ้นทำโวฏฐัพพนกิจ ซึ่งต่อจากนั้นก็จะเป็นกุศลจิต และอกุศลจิต เพราะฉะนั้น แทนที่วิบากจิตจะดับไป และกุศลจิตอกุศลจิตจะเกิดได้ทันทีก็มีจิตที่เป็นกิริยา ๑ ขณะเกิดขึ้น ทำกิจ ภาษาบาลีถ้าแปลตรง ใช้คำตัดสินอารมณ์ก็คงจะเป็นอย่างนั้น แต่ความหมายไม่ใช่ตัดสินตามใจชอบ ตามการสะสม ว่าสะสมมาที่กุศลจิตจะเกิด หรือว่าอกุศลจิตจะเกิด พอถึงกุศลจิตอกุศลจิตก็ไม่ใช่วิบาก พอเป็นโวฏฐัพพนะก็ไม่ใช่วิบาก เป็นกิริยา

    เพราะฉะนั้น กรรมเป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดได้ไหม ปัญจทวาราวัชชนจิต หรืออาวัชชนกิจเป็นวิถีจิตแรกเป็นกิริยาจิต นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องเรียนรู้ทั้งกิจ และชาติของจิต จะได้ไม่สับสน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์อย่างนี้แก้วเข้าใจถูก หรือไม่ว่า ทุกๆ วิบากจิต ถ้ายกจิตขึ้นมาเป็น พูดถึงปัจจัย

    ท่านอาจารย์ วิบากจิตเป็นจิต เพราะฉะนั้น กรรมทำให้วิบากจิต และเจตสิก ซึ่งเป็นวิบากจิตด้วยเป็นผลของกรรมนั้นด้วยเกิด เพราะฉะนั้น จิตเป็นปัจจัยแก่เจตสิก เมื่อจิตเป็นวิบาก วิปากจิตเป็นปัจจัยแก่วิปากเจตสิก จะเป็นปัจจัยแก่กุศลเจตสิกไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงเจตสิกก็เป็นวิปากปัจจัยให้วิบากจิตเกิด เพราะอาศัยกันโดยชาติที่เป็นวิบาก โดยเป็นผลของกรรมเดียวกันด้วย

    ผู้ฟัง กราบเท้าท่านอาจารย์ เพราะว่าทุกครั้งที่ฟังส่วนมากจะเป็น ๕ ทาง พอดีวันนั้นฟังมาถึงตรงนี้ ก็เลยสงสัยว่าน่าจะใช่ แต่จะขอคำรับรอง

    ท่านอาจารย์ ธรรม ต้องเข้าใจ

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ เรียน ผู้ศึกษาจะทราบได้อย่างไรว่าเราจะสามารถรู้ตรงนี้ไม่ได้ สามารถรู้เฉพาะอย่างรูปที่เห็นในชีวิตประจำวัน ๗ รูป แต่เราไม่สามารถไปรู้วิถีจิตแต่ละขณะ เพราะว่าเกิดดับเร็ว หรือว่าแต่ละวาระเร็วมาก ดูเหมือนผู้ศึกษาจะเข้าใจตรงนี้ยาก คำถามคือหมายความว่าจะแยกได้อย่างไรว่า ศึกษาแล้วอะไรที่รู้ได้ตามที่ศึกษาที่เป็นพยัญชนะ กับอะไรที่รู้ไม่ได้ และรู้ได้เฉพาะสิ่งที่รู้ได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีอะไรที่ปรากฏบ้าง

    ผู้ฟัง มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ มีเห็นใช่ไหม แล้วจิตอะไร

    ผู้ฟัง จิตเห็น ทำหน้าที่เห็น

    ท่านอาจารย์ เห็น รูปยังไม่ดับ ก่อนเห็นต้องมีจักขุทวาราวัชชนจิต รู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็รู้ได้ด้วยตัวของเราเอง เราไม่สามารถที่จะไปรู้จักขุทวาราวัชชนจิต และหลังจากที่จิตเห็นดับไปแล้ว วิบากที่เกิดต่อเพราะกรรมเป็นปัจจัยให้จิตนั้นต้องรู้อารมณ์เดียวกับจิตเห็น ไม่ใช้ชื่อก็ได้ ใช้ชื่อก็คือสัมปฏิจฉันนจิต รู้ได้ไหมว่าเดี๋ยวนี้มี

    ผู้ฟัง รู้ได้ว่ามีแต่ไม่สามารถรู้แบบเห็นได้

    ท่านอาจารย์ เข้าใจได้ แต่ไม่ใช่รู้ เพราะฉะนั้น เราก็รู้ด้วยตัวเองว่าฟังธรรมมาทั้งหมดสามารถจะรู้อะไรได้บ้าง แต่ทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่เรา ตั้งแต่เกิดจนตายเราจะฟังธรรมมากน้อยสักแค่ไหน พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก เพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรม เพราะว่าฟังแล้วก็ไม่ใช่ธรรม เป็นเราไปบ่อยๆ เดี๋ยวก็เป็นเรา เดี๋ยวก็เป็นเรา แล้วเมื่อไหร่จะรู้ว่าเป็นธรรมไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น กว่าจะระลึกได้ คิดขึ้นมาได้แม้เพียงคำ ก็ยังไม่ได้คิดเลย คิดเรื่องอื่นหมดใช่ไหม แม้แต่ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ซึมลงไปถึงใจแค่ไหน ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏไม่ใช่ให้ไปนั่งรู้ จักขุทวาราวัชชน หรือสัมปฏิจฉันนะ สันตรีณะแต่เข้าใจถูกว่าสิ่งที่กำลังทางตาความจริงคือเพียงปรากฏให้เห็นได้ เท่านั้นเอง นี่คือธรรมรู้อย่างนี้บ่อยๆ ไม่ต้องไปคิดถึงชื่อต่างๆ เลย แต่ชื่อที่ทรงแสดงโดยละเอียดก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ว่าที่เราไม่รู้แค่ไหน แล้วที่จะรู้ได้ แม้ฟังแล้ว ฟังอีกเพียงจะคิดขึ้นมาด้วยความเข้าใจระดับไหน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ นั่นหมายถึงว่า ในการศึกษาก็ กล่าวมากมาย แต่ก็เห็นก็มีอยู่ เห็นก็เห็น เกิดมามีตาก็เห็น มีหูก็ได้ยิน รู้ได้แต่ไม่รู้ความจริงของเขา เมื่อไม่ได้ฟังคำสอน..

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปริยัติ ความรอบรู้ในสิ่งที่ได้ฟังในความเป็นอนัตตา เพื่อรู้ลักษณะที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีแข็ง กำลังฟังนี่ใครรู้ กำลังมีเสียง เกิดแล้ว ดับแล้วใครรู้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้ไปนึกถึงชื่อแล้วก็จำชื่อ แต่ฟังเพื่อที่จะรู้ธรรม กว่าจะสามารถมารู้ที่ลักษณะของธรรม อุปนิสยโคจร อารักขโคจร อุปนิพันธโคจร อันดับสุดท้าย ที่จะรู้ลักษณะที่มีจริงๆ อย่างพูดเรื่องเห็น ไม่คิดเรื่องอื่น ไม่ไปที่ไหนเลยเพราะกำลังค่อยๆ เข้าใจเห็น นี่คือการที่จะเริ่มรู้ว่าเป็นธรรม เริ่มจากการที่ฟังบ่อยๆ จนกระทั่งกำลังเห็นก็เริ่มเข้าใจว่าเป็นสภาพที่กำลังเห็นเท่านั้นเองเดี๋ยวนี้มีธาตุชนิดหนึ่ง เห็น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ นั่นหมายความว่าในผู้ศึกษาความเข้าใจก็คือว่า ก็รู้สิ่งที่สามารถรู้ได้ เช่นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง ก็รู้ได้ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ได้ยินเสียง คือก็รู้ในชีวิตประจำวัน ๗ รูป แล้วก็ยังไม่รู้เลย

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ยังไม่รู้เลย จนกว่าจะรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้

    ผู้ฟัง ในเวลาศึกษา ยกตัวอย่างวิถีจิต ใหม่ๆ ก็จะเป็นความยุ่งยากมากที่จะทำความเข้าใจ แต่เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ก็พอจะเข้าใจได้ ผู้ศึกษาก็ต้องเข้าใจว่าการที่ รู้ตรงนั้นเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาของจิต

    ท่านอาจารย์ เท่านั้น

    ผู้ฟัง เท่านั้นว่าเขาเป็นธรรมอย่างนี้ ว่าไม่ใช่เราจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ว่าไม่ใช่เราจริงๆ ไม่ใช่เรา ยิ่งฟังละเอียดขึ้นก็ยิ่งไม่ใช่เรา ยิ่งฟังเรื่องปัจจัย เรื่องอะไรๆ ก็ยิ่งไม่ใช่เรา เพื่อเกื้อกูลให้เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดสามารถเข้าใจถูกในความเป็นธรรม เพราะว่าศึกษาพื้นฐานมาพอที่จะรู้ได้ว่าเป็นธรรมเท่านั้นเอง เพราะว่าจะต้องละ ไม่ใช่ไปมีตัวตนพยายามจดจ้อง ที่จะรู้การเกิดดับ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงกล่าว่าธรรมมีลักษณะเฉพาะ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็ต้องศึกษารายละเอียด เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาเช่นนี้ เช่นที่พระองค์ทรงตรัสรู้

    ท่านอาจารย์ ๔๕ พรรษา

    ผู้ฟัง ซึ่งถ้าไม่ศึกษา พูดง่าย เห็นเป็นอนัตตา แต่แล้วเกิดอย่างไรเราไม่ทราบ ไม่รู้เลย

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นอนัตตา แล้วใครกำลังเห็น แล้วใครกำลังพูด ไม่ได้รู้ความจริงเลยว่าเป็นธรรม แค่จำแล้วก็พูด แต่ส่องถึงความเข้าใจว่าถ้ากล่าวอย่างนี้ หมายความว่าไม่รู้ความเป็นธรรม อย่างที่กล่าวถึงเมื่อวานนี้ ถีงเรื่องว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ฟังแล้วเห็นด้วยไหม แค่เห็นด้วย ไม่ได้ให้ไปรู้อะไรมากกว่านั้น ฟังแล้วเห็นด้วยไหม

    ผู้ฟัง ฟังแล้วเห็นด้วย แต่ฟังใหม่ๆ ยังไม่เห็นด้วยเลย

    ท่านอาจารย์ ถามว่าเดี๋ยวนี้ ฟังแล้วเห็นด้วยไหม

    ผู้ฟัง เห็นด้วยตามความเข้าใจขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ เห็นด้วยไหม

    ผู้ฟัง เห็นด้วย

    ท่านอาจารย์ เห็นด้วย แต่อกุศลมากเลยใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า คำพูด พูดได้ จำได้ พูดตามได้ แต่ถ้าเห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ จะเห็นไหมว่ากุศลใด เป็นกุศลใด อกุศลใด เป็นอกุศลใด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    11 มิ.ย. 2567